ข้ามไปเนื้อหา

รัฐโลกวิสัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รุ่นสำหรับพิมพ์ไม่ได้รับการสนับสนุนอีกต่อไปและอาจมีข้อผิดพลาด โปรดอัปเดตบุ๊กมาร์กและใช้ตัวเลือกสำหรับพิมพ์ที่มีมาให้ในเบราว์เซอร์แทน
  รัฐที่ไม่มีศาสนาประจำชาติ
  รัฐที่มีศาสนาประจำชาติ
  ยังคลุมเครือหรือไม่มีข้อมูล

รัฐโลกวิสัย หรือ รัฐฆราวาส (อังกฤษ: secular state) เป็นแนวคิดสืบเนื่องมาจากหลักฆราวาสนิยม (secularism) ที่ให้รัฐมีหรือแสดงความเป็นกลางในประเด็นทางศาสนา โดยไม่สนับสนุนทั้งศาสนาและการไม่มีศาสนา[1] รัฐฆราวาสยังพึงปฏิบัติกับพลเมืองทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขาเหล่านั้นถือศาสนาใด ในการนี้ รัฐพึงเลี่ยงการให้ความสำคัญแก่พลเมืองเพราะถือหรือไม่ถือศาสนาใด รัฐฆราวาสไม่พึงมีศาสนาประจำรัฐ ถึงแม้ว่าการไม่มีศาสนาประจำรัฐจะไม่ได้หมายความว่ารัฐนั้นเป็นฆราวาสเต็มตัวก็ตาม อย่างไรก็ดี รัฐที่เป็นฆราวาสอย่างแท้จริงนั้นพึงดำเนินการปกครองบ้านเมืองโดยปราศจากอิทธิพลจากศาสนา และพึงให้องค์การศาสนาปกครองตนเองโดยปราศจากอิทธิพลของรัฐ ตามหลักการแยกศาสนจักรกับอาณาจักร[2]

ประวัติ

ในทางประวัติศาสตร์แล้ว การทำให้รัฐกลายเป็นฆราวาสนั้นมักเกี่ยวข้องกับการให้เสรีภาพทางศาสนา เลิกศาสนาประจำรัฐ เลิกสนับสนุนทางการเงินแก่ศาสนา สร้างระบบกฎหมายและการศึกษาที่ปราศจากอิทธิพลของศาสนา ยอมให้พลเมืองเปลี่ยนหรือเลิกนับถือศาสนา และยอมให้มีผู้นำที่มาจากความเชื่อใดก็ได้[3]

ในทางปฏิบัติ ไม่ใช่ทุกรัฐที่เป็นฆราวาสในทางกฎหมายจะมีความเป็นฆราวาสโดยสิ้นเชิง ยกตัวอย่างในฝรั่งเศสและสเปนที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นรัฐฆราวาส แต่ก็ยังถือวันหยุดทางศาสนาคริสต์เป็นวันหยุดราชการอยู่ ทั้งรัฐก็ยังให้ค่าตอบแทนแก่ครูบาอาจารย์ในโรงเรียนแคทอลิก[4] นอกจากนี้ ในรัฐยุโรปบางรัฐ นิกายหลักบางนิกายในศาสนาคริสต์และศาสนาอื่นยังต้องอาศัยรัฐเป็นแหล่งการเงินสำหรับการกุศล[5]

ในสหรัฐที่ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นรัฐฆราวาส มีหลักการเลือกทำบุญ (charitable choice) ที่ให้องค์การศาสนาและองค์การที่ไม่เกี่ยวก้บศาสนาสามารถขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐ และรัฐสามารถสนับสนุนโดยได้ประเมินจากผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดแก่สังคม หรือแก่ผู้รับประโยชน์จากองค์การเหล่านี้ ดังนั้น ก็เหมือนรัฐยังสนับสนุนศาสนาอยู่อย่างกลาย ๆ[6]

หลายรัฐฆราวาสในปัจจุบันอาจมีร่องรอยทางศาสนาตกค้างอยู่ในระบบกฎหมาย เช่น ในสหราชอาณาจักรที่ซึ่ง พระราชบัญญัติการสาบานราชาภิเษก ค.ศ. 1688 (Coronation Oath Act 1688) กำหนดให้ประมุขแห่งรัฐต้องสาบานว่า จะบำรุงรักษาคริสตจักรแห่งอังกฤษ[7] และในสภาขุนนางยังมีที่นั่งสำหรับสมาชิกอาวุโส 26 คนจากคณะสงฆ์ในคริสต์จักรแห่งอังกฤษ ซึ่งเรียก ขุนนางจิตวิญญาณ (Lords Spiritual)[8]

นอกจากการเปลี่ยนผ่านจากรัฐศาสนาไปเป็นรัฐฆราวาสแล้ว การเปลี่ยนผ่านแบบตรงกันข้ามก็มี เช่น กรณีอิหร่านที่รัฐฆราวาสของราชวงศ์ปาห์ลาวีถูกแทนที่ด้วยสาธารณรัฐอิสลาม[9][10][11]

อ้างอิง

  1. Madeley, John T. S. and Zsolt Enyedi, Church and state in contemporary Europe: the chimera of neutrality, p. 14, 2003 Routledge
  2. "Separation Of Church And State".
  3. Jean Baubérot The secular principle เก็บถาวร กุมภาพันธ์ 22, 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. Richard Teese, Private Schools in France: Evolution of a System, Comparative Education Review, Vol. 30, No. 2 (May, 1986), pp. 247-259 (อังกฤษ)
  5. Twinch, Emily. "Religious charities: Faith, funding and the state". Article dated 22 June 2009. Third Sector - a UK Charity Periodical. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-10. สืบค้นเมื่อ 3 June 2012.
  6. "Department for Education". สืบค้นเมื่อ 18 March 2015.
  7. "Coronation Oath". สืบค้นเมื่อ 18 March 2015.
  8. "How members are appointed". UK Parliament. สืบค้นเมื่อ 18 March 2015.
  9. "Harris Interactive: Resource Not Found". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 23, 2013. สืบค้นเมื่อ 18 March 2015.
  10. "A Portrait of "Generation Next"". Pew Research Center for the People and the Press. 9 January 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-24. สืบค้นเมื่อ 18 March 2015.
  11. "Secularization and Secularism - History And Nature Of Secularization And Secularism To 1914". สืบค้นเมื่อ 18 March 2015.