โรคถ้ำมอง
โรคถ้ำมอง[1] (อังกฤษ: Voyeurism) หรือ ความชอบแอบดู หรือ การแอบดู เป็นความสนใจหรือข้อประพฤติทางเพศที่จะแอบดูคนอื่นทำการในที่ลับ เช่นถอดเสื้อผ้า มีกิจกรรมทางเพศ หรือการอื่น ๆ ที่ปกติพิจารณาว่าเป็นเรื่องควรทำเป็นการส่วนตัว[2] คนแอบดูปกติจะไม่ทำอะไรโดยตรงกับบุคคลที่เป็นเป้า ผู้บ่อยครั้งจะไม่รู้ว่ากำลังถูกแอบดู จุดสำคัญของการแอบดูก็คือการเห็น แต่อาจจะรวมการแอบถ่ายรูปหรือวิดีโอ[ต้องการอ้างอิง]
คำภาษาอังกฤษมาจากคำฝรั่งเศสว่า voyeur ซึ่งหมายความว่า "บุคคลที่ดู" คนแอบดูชายมักจะเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "Peeping Tom" ซึ่งเป็นคำมาจากตำนานของ Lady Godiva ซึ่งเป็นหญิงที่ขี่ม้าเปลือยกายไปในเวลากลางคืน เพื่อขอการปลดเปลื้องหนี้ภาษีจากสามีของเธอสำหรับคนเช่าที่ดินของเขา โดยมีชายคนหนึ่งมองเห็น[3] แต่ว่า จริง ๆ แล้ว คำนี้มักจะใช้กับชายที่แอบดูคนอื่น และโดยทั่วไปไม่ใช่ในที่สาธารณะเหมือนอย่างในตำนาน
เทคนิค
[แก้]แม้ว่ากล้องจารกรรมที่เล็กขนาดนาฬิกาห้อยกระเป๋าจะมีตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1880[4] เริ่มตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1950 ความก้าวหน้าในการทำของให้เล็กลงและของอิเล็กทรอนิกส์ ได้เพิ่มสมรรถภาพกล้องขนาดเล็ก (ซึ่งบ่อยครั้งเรียกว่า "spy cameras" หรือกล้องจารกรรม) ทั้งโดยคุณภาพและราคาของกล้อง ให้ดีขึ้นมาก กล้องดิจิตัลสำหรับผู้บริโภคปัจจุบันเดี๋ยวนี้เล็กมากจนกระทั่งว่า ถ้าเป็นทศวรรษก่อน ๆ ก็จะเรียกว่า กล้องจารกรรม และกล้องมือถือดิจิตัลที่ละเอียดเกินกว่า 20 ล้านพิกเซลก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมือถือโดยมากที่ใช้ในปัจจุบันก็จะเป็นกล้องถ่ายด้วย
มีอุปกรณ์เก็บภาพบางอย่างที่สามารถถ่ายภาพผ่านวัตถุที่ปรากฏทึบในแสงปกติ เช่น เสื้อผ้า อุปกรณ์เช่นนี้ สร้างภาพโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่อยู่นอกพิสัยการเห็น ทั้งกล้องรังสีอินฟราเรดและกล้องรังสีเทราเฮิรตซ์สามารถสร้างภาพทะลุเสื้อผ้า แต่ว่า รูปเช่นนี้ต่างจากที่มองเห็นด้วยแสงปกติ[5][6]
ประเด็นการแพทย์
[แก้]นิยาม
[แก้]โรคถ้ำมอง Voyeurism | |
---|---|
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก | |
ICD-10 | F65.3 |
ICD-9 | 302.82 |
สมาคมจิตเวชอเมริกัน (American Psychiatric Association) ได้จัดหมวดหมู่รูปแบบจินตนาการ ความอยาก และพฤติกรรมแบบถ้ำมองว่าเป็นโรคกามวิปริตในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (DSM-IV) ถ้าบุคคลนั้นประพฤติตามความอยาก หรือว่าความอยากและจินตนาการทางเพศเช่นนั้น ทำให้เกิดความทุกข์และความขัดข้องในความสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างสำคัญ[7] ในคู่มือสากลคือ ICD-10 นี้จัดเป็นความผิดปกติเกี่ยวกับความชอบใจทางเพศ (disorder of sexual preference)[8] DSM-IV นิยาม voyeurism ว่าเป็นการดู "คนที่ไม่สงสัย ปกติเป็นคนแปลกหน้า ที่เปลือย หรือกำลังถอดเสื้อผ้า หรือกำลังมีกิจกรรมทางเพศ"[9] แต่ว่าการวินิจฉัยเช่นนี้ จะไม่ให้ต่อบุคคลที่เกิดอารมณ์ทางเพศปกติ โดยเพียงแต่เห็นความเปลือยหรือกิจกรรมทางเพศเท่านั้น คือ จะได้วินิจฉัยเช่นนี้ อาการดังกล่าวต้องเกิดเป็นเวลากว่า 6 เดือน และบุคคลนั้นต้องมีอายุเกินกว่า 18 ปี[10]
มุมมองประวัติศาสตร์
[แก้]มีงานวิจัยน้อยมากเกี่ยวกับความชอบแอบดู งานปริทัศน์ทบทวนวรรณกรรมในปี 1976 พบสิ่งที่ตีพิมพ์เพียงแค่ 15 งาน[11] แม้ว่าจะมีงานวิจัยเพิ่มขึ้นหลังจากนั้น แต่ว่าก็ยังมีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับประเด็นนี้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจ ถ้าพิจารณาถึงการเพิ่มการใช้คำภาษาอังกฤษว่า voyeur (คนแอบดู) และพิจารณาขนาดกลุ่มคนที่อาจจะทำอะไรเช่นนี้ ตามประวัติแล้ว คำนี้ ใช้โดยเฉพาะต่อคนที่เข้ากับคำพรรณนาของ DSM แต่ว่าภายหลัง สังคมก็ได้ยอมรับการใช้คำนี้โดยหมายถึงใครก็ได้ที่ดูชีวิตส่วนตัวของคนอื่น แม้ว่าจะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเพศ[12] เช่น คำนี้ได้ใช้โดยเฉพาะกับรายการโทรทัศน์ประเภทเรียลลิตีโชว์และสื่ออื่น ๆ ที่ให้โอกาสดูชีวิตของคนอื่นได้ นี่เป็นการเปลี่ยนการใช้คำที่หมายถึงกลุ่มประชากรที่จำเพาะโดยมีรายละเอียดที่จำเพาะ ไปหมายถึงประชากรทั่วไปโดยมีความหมายคลุมเครือ
ทฤษฎีที่มีน้อยนิดเกี่ยวกับเหตุของความชอบแบบนี้มาจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ซึ่งเสนอว่า ความชอบแอบดูมีเหตุจากความล้มเหลวในช่วงวัยเด็กที่จะยอมรับความวิตกกังวลในการสูญเสียความเป็นชาย (castration anxiety) และดังนั้นโดยผลที่สืบเนื่องกัน จึงมีเหตุจากความล้มเหลวที่จะพยายามเป็นเหมือนกับพ่อ[9] (คือถ้าเด็ก "ยอมรับความวิตกกังวล" ก็จะพยายามเลิกความรู้สึกทางเพศที่มีต่อแม่ แล้วใช้พ่อเป็นตัวอย่างทำตามให้เป็นเหมือนพ่อ)
ความชุก
[แก้]การแอบดูมีความชุกสูงในกลุ่มประชากรที่ศึกษาโดยมาก แม้ว่าตอนแรกจะเชื่อว่า มีจำกัดเพียงแค่ชนกลุ่มน้อยในประชากรทั้งหมด แต่ความคิดนี้เปลี่ยนไปหลังจากนักเพศวิทยาคนดัง ศ.ดร.แอลเฟร็ด คินซีย์ ค้นพบว่า 30% ของชายชอบใจการร่วมเพศโดยเปิดไฟ[9] แม้ว่าพฤติกรรมนี้จะไม่ได้พิจารณาว่าเป็นการแอบดูโดยมาตรฐานการวินิจฉัยปัจจุบัน แต่ในสมัยนั้น ความประพฤติที่ปกติและที่ผิดปกติยังไม่ได้จำแนก
งานวิจัยต่อ ๆ มาแสดงว่า ชาย 65% เคยแอบดู ซึ่งแสดงนัยว่า พฤติกรรมนี้แพร่กระจายไปทั่วในกลุ่มประชากรทั่วไป[9] และโดยเข้ากับผลที่พบนี้ มีงานวิจัยที่พบว่า การแอบดูเป็นพฤติกรรมทางเพศผิดกฎหมายที่สามัญที่สุดทั้งในกลุ่มคนไข้และกลุ่มประชากรทั่วไป[13] และพบด้วยว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยชาย 42% ที่ไม่เคยถูกตัดสินว่าผิดในอาชญากรรมเคยแอบดูคนอื่นในสถานการณ์ที่เกี่ยวกับเพศ ส่วนงานวิจัยก่อนหน้านั้นแสดงว่า ชาย 54% มีจินตนาการเกี่ยวกับการแอบดู และ 42% ได้เคยแอบดูแล้วจริง ๆ[14]
งานวิจัยระดับชาติปี 2006 ของประเทศสวีเดนพบว่า กลุ่มประชากรทั้งชายหญิงในอัตรา 7.7% เคยแอบดู[15] นอกจากนั้นแล้ว ยังเชื่อกันว่า การแอบดูเกิดขึ้นประมาณ 150 เท่าของที่มีรายงานทางตำรวจ[15] งานวิจัยปี 2006 นี้ แสดงด้วยว่าการแอบดูเกิดร่วมกับการแสดงอนาจาร (exhibitionism) ในระดับสูง คือพบว่า คนที่แอบดู 63% รายงานว่าได้แสดงอนาจารด้วย[15]
ลักษณะของคนแอบดู
[แก้]เนื่องจากความชุกสูงของการแอบดูในสังคม คนที่แอบดูจึงมีความต่าง ๆ กันมาก แต่ว่า ก็ยังมีแนวโน้มว่าใครมีโอกาสที่จะแอบดูสูงกว่า แต่ว่า สถิติเหล่านี้ใช้กับคนที่ผ่านเกณฑ์ของ DSM ไม่ใช่กับคนในแนวคิดปัจจุบันที่กล่าวไว้ก่อนแล้ว
งานวิจัยเบื้องต้นแสดงว่า คนแอบดูมีสุขภาพจิตดีกว่าคนโรคกามวิปริตอื่น ๆ[11] คือเทียบกับกลุ่มอื่นที่ศึกษาแล้ว คนแอบดูมีโอกาสน้อยกว่าที่จะเป็นคนติดเหล้าหรือยาเสพติด งานวิจัยต่อจากนั้นแสดงว่า เทียบกับคนประชากรทั่วไป (ไม่ใช่คนมีโรคกามวิปริต) คนแอบดูมีโอกาสที่จะมีปัญหาทางจิต ดื่มเหล้าและใช้ยาเสพติด และมีความต้องการทางเพศสูงกว่าโดยทั่วไป[15] งานวิจัยนี้ยังแสดงด้วยว่า คนแอบดูมีคู่นอนมากกว่าเทียบต่อปี และมีโอกาสที่จะมีคู่เพศเดียวกันสูงกว่ากลุ่มประชากรทั่วไป[15]
ทั้งงานวิจัยก่อน ๆ และต่อ ๆ มาพบว่า คนแอบดูมักจะร่วมเพศเป็นครั้งแรกโดยมีอายุมากกว่า[11][15] แต่งานวิจัยอื่น ๆ กลับพบว่า คนแอบดูไม่มีประวัติทางเพศที่แตกต่างจากคนอื่น ๆ[14] คนแอบดูที่ไม่ได้เป็นผู้แสดงอนาจารด้วย มักจะมีฐานะทางสังคมเศรษฐกิจที่สูงกว่าคนที่แสดงอนาจาร[15]
งานวิจัยแสดงว่า โดยเหมือนกับโรคกามวิปริตอื่น ๆ การแอบดูสามัญในชายมากกว่าในหญิง[15] แต่ก็มีงานวิจัยที่พบว่า ทั้งชายและหญิงรายงานว่าตนมีโอกาสที่จะแอบดูพอ ๆ กัน[16] แต่ความแตกต่างระหว่างเพศจะสูงกว่าถ้าให้โอกาสการแอบดูจริง ๆ ถึงกระนั้น โดยเปรียบเทียบแล้ว มีงานวิจัยน้อยมากในเรื่องการแอบดูในผู้หญิง จึงมีข้อมูลน้อยมาก และกรณีศึกษาหนึ่งจากบรรดางานศึกษาที่น้อยนิดเป็นเรื่องเกี่ยวกับหญิงที่เป็นโรคจิตเภทด้วย ซึ่งจำกัดการแสดงนัยทั่วไปในกลุ่มประชากรทั่วไป[17]
มุมมองปัจจุบัน
[แก้]ทฤษฎี Lovemap เสนอว่า การแอบดูมีอยู่ เพราะการดูคนอื่นเปลือยกายได้เปลี่ยนจากพฤติกรรมทางเพศขั้นทุติยภูมิ มาเป็นพฤติกรรมทางเพศแบบปฐมภูมิ[16] ซึ่งเป็นการแทนที่ความต้องการทางเพศ ทำให้การแอบดูคนอื่นกลายเป็นวิธีหลักในการได้ความพอใจทางเพศ
นอกจากนั้นแล้ว การแอบดูยังสัมพันธ์กับความผิดปกติแบบย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive disorder ตัวย่อ OCD) และเมื่อใช้วิธีการรักษาเดียวกับ OCD พฤติกรรมแอบดูจะลดลงได้อย่างสำคัญ[18]
การบำบัดรักษา
[แก้]โดยประวัติแล้ว มีการบำบัดการแอบดูหลายวิธี รวมทั้ง จิตวิเคราะห์ จิตบำบัดกลุ่ม (group psychotherapy) และ aversion therapy ซึ่งล้วนแต่มีผลสำเร็จที่จำกัด[11] มีหลักฐานด้วยว่า สื่อลามกอนาจารสามารถใช้ช่วยบำบัดการแอบดู โดยเป็นหลักฐานสำหรับไอเดียว่า ประเทศที่มีการตรวจพิจารณาสื่อลามกอนาจารมีระดับการแอบดูสูง[19] นอกจากนั้นแล้ว การเปลี่ยนการแอบดู ไปเป็นการดูสื่อลามกอนาจารที่โจ่งแจ้ง คือดูรูปเปลือยในนิตยสารเพลย์บอย ได้ใช้เป็นการบำบัดอย่างสำเร็จผลมาแล้ว[20] งานวิจัยเหล่านี้แสดงว่า สื่อลามกอนาจารสามารถใช้เป็นตัวสนองความต้องการจะแอบดูโดยไม่ต้องทำผิดกฎหมาย
การแอบดูยังบำบัดได้ด้วยยาระงับอาการทางจิตและยาแก้ซึมเศร้าแบบต่าง ๆ แต่ว่า กรณีศึกษาที่แสดงผลเช่นนี้ มีตัวอย่างเป็นคนไข้ที่มีปัญหาทางจิตอย่างอื่นหลายอย่าง และดังนั้น การรักษาด้วยการใช้ยาอย่างเข้มอาจจะไม่จำเป็นสำหรับคนแอบดูโดยมาก[21]
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีผลสำเร็จในการรักษาการชอบแอบดูโดยใช้วิธีบำบัดความผิดปกติแบบย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive disorder) และมีตัวอย่างการให้ยาฟลูอ็อกเซทีน แก่คนไข้แล้วบำบัดพฤติกรรมการแอบดูเหมือนกับพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ[12][18]
อาชญาวิทยา
[แก้]การแอบดูคนที่ไม่ยินยอมเป็นรูปแบบของทารุณกรรมทางเพศ (sexual abuse)[22][23][24][25] และเมื่อมีความสนใจในบุคคลเป้าหมายคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ พฤติกรรมอาจจะกลายเป็นการติดตามแบบก่อกวน (stalking)
สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกายืนยันโดยอาศัยข้อมูลจากผู้ทำผิดทางเพศแบบรุนแรงว่า บุคคลบางคนที่ทำอาชญากรรมแบบเป็นเหตุรำคาญ (เช่น การแอบดู) มีความโน้มเอียงที่จะทำอาชญากรรมรุนแรงประเภทอื่น ๆ[26] นักวิจัยของสำนักงานเสนอว่า คนแอบดูมีโอกาสมากกว่าที่จะมีลักษณะที่สามัญ แต่ไม่ใช่ทั่วไป ในบรรดาบุคคลผู้ทำผิดทางเพศ ที่ต้องใช้เวลาและความพยายามมากที่จะจับเหยื่อหรือสร้างรูปของเหยื่อ ผู้จะวางแผนอย่างเป็นระบบในการเลือกและเตรียมอุปกรณ์ และบ่อยครั้งให้ความใส่ใจกับรายละเอียดอย่างพิถีพิถัน[27]
แต่ไม่มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับสถิติทางประชากรของผู้แอบดู
สถานะทางกฎหมาย
[แก้]การแอบดูไม่ได้ผิดกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ คือในประเทศที่ใช้คอมมอนลอว์ จะผิดกฎหมายก็ต่อเมื่อออกกฎหมายโดยเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่นในประเทศแคนาดา การแอบดูยังไม่ผิดกฎหมายในคดี "Frey v. Fedoruk et al" ในปี 1947 ในคดีนั้น ศาลสูงสุดแคนาดาปี 1950 ตัดสินว่า ศาลไม่สามารถทำการแอบดูให้เป็นอาชญากรรมโดยจัดมันว่าเป็นการทำลายความสงบ และรัฐสภาจะต้องทำให้มันผิดกฎหมายอย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งรัฐสภาแคนาดาไม่ได้ทำจนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2005[28]
ในบางประเทศ การแอบดูเป็นอาชญากรรมทางเพศ ยกตัวอย่างเช่น ในสหราชอาณาจักร การแอบดูโดยไม่ยินยอมกลายเป็นความผิดอาญาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2004[29] ในคดีปี 2006 R v Turner[30] จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการศูนย์กีฬาได้ถ่ายวิดีโอหญิง 4 คนอาบน้ำในห้อง แต่ไม่มีอะไรที่จะชี้ว่าจำเลยได้ให้คนอื่นดูหรือส่งให้คนอื่น จำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิด ต่อมา ศาลอุทธรณ์ได้คงยืนการตัดสินให้จำคุก 9 เดือนเพื่อสะท้อนความร้ายแรงของการทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจ และผลเสียหายทางใจต่อเหยื่อ
อีกคดีหนึ่งในปี 2010 คือ "R v Wilkins"[31] ที่จำเลยชายได้ถ่ายวิดีโอการร่วมเพศกับคู่รัก 5 คนเพื่อดูเป็นการส่วนตัว มีการตัดสินให้จำคุก 8 เดือน และให้ลงทะเบียนผู้ทำผิดทางเพศ ซึ่งจะแสดงชื่อของจำเลยเป็นเวลา 10 ปี
ในคดีปี 2013 ชายจำเลยถูกตัดสินว่าผิดในข้อหาการแอบดู หลังจากที่ได้หลอกนักเรียนอายุ 18 ให้ไปที่หอเช่า ที่เขาได้ถ่ายวิดีโอโดยใช้กล้องที่ซ่อนไว้ 4 กล้อง โดยให้เธอแต่งตัวเป็นเด็กนักเรียน และตั้งท่าเพื่อถ่ายภาพก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์กับเธอ จำเลยถูกตัดสินจำคุก 16 เดือนซึ่งรวมข้อหาความผิดอื่น ๆ[32]
ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกา การแอบถ่ายวิดีโอเป็นความผิดในรัฐ 9 รัฐ[ต้องการอ้างอิง] และบางครั้งให้ลงทะเบียนผู้ทำผิดว่า เป็นคนทำผิดทางเพศ กฎหมายเกี่ยวกับการแอบดู สัมพันธ์กับกฎหมายละเมิดภาวะเฉพาะส่วนตัว[33] แต่จำเพาะเจาะจงในเรื่องการดูแลสอดส่องแบบซ่อนเร้น (surreptitious surveillance) แบบที่ผิดกฎหมายโดยไม่ได้รับความยินยอม และการบันทึกที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งการแพร่สัญญาณ การเผยแพร่ การตีพิมพ์ หรือการขายสิ่งที่บันทึก ในสถานที่และในเวลาที่บุคคลหนึ่ง ๆ สามารถคาดหวังอย่างสมเหตุผลเพื่อจะมีภาวะเฉพาะส่วนตัว และเข้าใจอย่างสมเหตุผลว่า ตนจะไม่ถูกถ่ายรูปหรืออัดวิดีโอโดย "อุปกรณ์ภาพเชิงกล ดิจิตัล หรืออิเล็กทรอนิกส์, กล้องหรืออุปกรณ์อย่างอื่นที่สามารถอัด เก็บ และส่งภาพที่สามารถใช้เพื่อดูบุคคลนั้น"[34]
ประเทศซาอุดีอาระเบียห้ามขายโทรศัพท์กล้องทั่วประเทศในเดือนเมษายน 2004 แต่ต่อมายกเลิกการห้ามในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ส่วนบางประเทศ เช่นเกาหลีใต้และญี่ปุ่นบังคับให้โทรศัพท์กล้องที่ขายในประเทศต้องส่งเสียงที่ฟังได้ชัดเจนเมื่อถ่ายภาพ โดยปี 2015 ประเทศสิงคโปร์ได้ตัดสินคดีแอบดูใต้กระโปรงที่ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีช่วย เป็นโทษสูงสุดคือจำขังเป็นระยะเวลา 1 ปีและปรับ ในข้อหาหมิ่นประมาทความสุภาพเรียบร้อยของหญิง[35]
ส่วนการลอบถ่ายรูปโดยเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่ถือว่าเป็นการแอบดู แม้ว่าอาจจะผิดกฎหมายหรือมีการควบคุมในบางประเทศ
ในปี 2013 รัฐสภาอินเดียปรับปรุงกฎหมายให้การแอบดูเป็นอาชญากรรม[36] ผู้ละเมิดกฎหมายแอบดูอาจถูกจำ 1-3 ปีในการทำผิดครั้งแรกและถูกปรับ ส่วนการทำผิดครั้งต่อไปอาจถูกจำ 3-7 ปีและถูกปรับ
ส่วนในประเทศไทย ไม่มีกฎหมายกำหนดโทษสำหรับการแอบดูโดยเฉพาะ[37][38] แต่มีกฎหมายประมวลอาญามาตราที่ 397 ที่กำหนดว่า
ผู้ใด ในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัล กระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการรังแกหรือข่มเหงผู้อื่น หรือกระทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
— ประมวลกฎหมายอาญาไทย มาตรา 397[39]
ส่วนในบ้านส่วนตัว ผู้ทำผิดสามารถต้องความผิดอาญาฐานบุกรุกได้[38]
ในสื่อ
[แก้]ภาพยนตร์ที่มีการแอบดูเป็นโครงเรื่องรวมทั้ง หน้าต่างชีวิต (1954) วรรณกรรมเช่นไลท์โนเวล โรงเรียนป่วน ก๊วนคนบ๊อง มีตัวละครคือนายสึจิยะ โคตะ เป็นจอมลามกชอบก้มส่องกางเกงในสาว ๆ พอเห็นแล้วเลือดกำเดาจะพุ่งออกเป็นเอกลักษณ์ พกกล้องถ่ายรูปติดตัวตลอด
ในศาสนาพุทธ
[แก้]ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงห้ามการอุปสมบทแก่บัณเฑาะก์ โดยพระบัญญัติว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันคือบัณเฑาะก์ ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย.
อรรถกถานิยามบัณเฑาะก์ไว้ 5 ประเภท รวมทั้ง "อุสุยยบัณเฑาะก์" ซึ่งกล่าวไว้ว่า
ฝ่ายบัณเฑาะก์ใดเห็นอัชฌาจารของชนเหล่าอื่น เมื่อความริษยาเกิดขึ้นแล้ว ความเร่าร้อน (ทางเพศ) จึงสงบไป บัณเฑาะก์นี้ ชื่อว่า อุสุยยบัณเฑาะก์
— สมันตปาสาทิกา อรรถกถาสำหรับพระวินัยปิฎก[41]
แต่อุสุยยบัณเฑาะก์เป็นบัณเฑาะก์ที่ไม่ห้ามบรรพชาตามอรรถกถากุรุนที[41]
ดูเพิ่ม
[แก้]เชิงอรรถและอ้างอิง
[แก้]- ↑ "Voyeurism", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑ ฉบับ ๒๕๔๕,
โรคถ้ำมอง
- ↑ Hirschfeld, M. Sexual anomalies and perversions: Physical and psychological development, diagnosis and treatment (new and revised ed.). London: Encyclopaedic Press.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)[ต้องการเลขหน้า] - ↑ DNB 1890
- ↑ "Secret watch camera, c.1886". D-log.info. 2007-04-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-27. สืบค้นเมื่อ 2011-11-29.[แหล่งข้อมูลที่ตีพิมพ์เอง?]
- ↑ "New security camera can 'see' through clothes". CNN. 2008-04-16.
- ↑ Lugmayr, Luigi (2008-03-09). "ThruVision T5000 T-Ray Camera sees through Clothes". I4U. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-15. สืบค้นเมื่อ 2016-03-28.
- ↑ "BehaveNet Clinical Capsule: Voyeurism". Behavenet.com. สืบค้นเมื่อ 2011-11-29.
- ↑ "ICD-10". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-14. สืบค้นเมื่อ 2008-09-13.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 Metzl, Jonathan M. (2004). "Voyeur Nation? Changing Definitions of Voyeurism, 1950-2004". Harvard Review of Psychiatry. 12 (2): 127–31. doi:10.1080/10673220490447245. PMID 15204808.
- ↑ Staff, PsychCentral. "Voyeuristic Disorder Symptoms". PsychCentral. สืบค้นเมื่อ 2015-04-16.
- ↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 Smith, R. Spencer (1976). "Voyeurism: A review of literature". Archives of Sexual Behavior. 5 (6): 585–608. doi:10.1007/BF01541221. PMID 795401.
- ↑ 12.0 12.1 Metzl, Jonathan (2004). "From scopophilia to Survivor: A brief history of voyeurism". Textual Practice. 18 (3): 415–34. doi:10.1080/09502360410001732935.
- ↑ "The DSM Diagnostic Criteria for Exhibitionism, Voyeurism, and Frotteurism" (PDF). Niklas Langstrom. สืบค้นเมื่อ 2013-04-04.
- ↑ 14.0 14.1 Templeman, Terrel L.; Stinnett, Ray D. (1991). "Patterns of sexual arousal and history in a "normal" sample of young men". Archives of Sexual Behavior. 20 (2): 137–50. doi:10.1007/BF01541940. PMID 2064539.
- ↑ 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 15.5 15.6 15.7 Långström, Niklas; Seto, Michael C. (2006). "Exhibitionistic and Voyeuristic Behavior in a Swedish National Population Survey". Archives of Sexual Behavior. 35 (4): 427–35. doi:10.1007/s10508-006-9042-6. PMID 16900414.
- ↑ 16.0 16.1 Rye, B. J.; Meaney, Glenn J. (2007). "Voyeurism: It Is Goodas Long as We Do Not Get Caught". International Journal of Sexual Health. 19: 47–56. doi:10.1300/J514v19n01_06.
- ↑ Hurlbert, David (1992). "Voyeurism in an adult female with schizoid personality: A case report". Journal of Sex Education & Therapy.[ต้องการเลขหน้า]
- ↑ 18.0 18.1 Abouesh, Ahmed; Clayton, Anita (1999). "Compulsive voyeurism and exhibitionism: A clinical response to paroxetine". Archives of Sexual Behavior. 28 (1): 23–30. doi:10.1023/A:1018737504537. PMID 10097802.
- ↑ Rincover, Arnold (1990). "Can Pornography Be Used as Treatment for Voyeurism?". Toronto Star.[ต้องการเลขหน้า]
- ↑ Jackson, B (1969). "A case of voyeurism treated by counterconditioning". Behaviour Research and Therapy. 7 (1): 133–4. doi:10.1016/0005-7967(69)90058-8. PMID 5767619.
- ↑ Becirovic, E.; Arnautalic, A.; Softic, R.; Avdibegovic, E. (2008). "Case of Successful treatment of voyeurism". European Psychiatry. 23: S200. doi:10.1016/j.eurpsy.2008.01.317.
- ↑ "Sexual Violence: Definitions". CDC.gov. สืบค้นเมื่อ 2014-10-17.
- ↑ "Child Sexual Abuse Fact Sheet: For Parents, Teachers, and Other Caregivers" (PDF). National Child Traumatic Stress Network. สืบค้นเมื่อ 2014-10-17.
- ↑ "Sexual Assault Fact Sheet". Womenshealth.gov. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-27. สืบค้นเมื่อ 2014-10-17.
- ↑ "What Is Child Sexual Abuse?" (PDF). National Sexual Violence Resource Center. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-10-22. สืบค้นเมื่อ 2014-10-17.
- ↑ Hazelwood, R.R.; Warren, J. (1989-02). "The Serial Rapist: His Characteristics and Victims". FBI Law Enforcement Bulletin: 18–25.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ "The Criminal Sexual Sadist". FBI. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-11. สืบค้นเมื่อ 2016-03-28.
- ↑ "Criminal Code (R.S.C., 1985, c. C-46) s 162".
- ↑ "Sexual Offences Act 2003". Legislation.gov.uk. section 67.
- ↑ (2006) All ER (D) 95 (Jan)
- ↑ "BBC Radio producer jailed over sex tapes". BBC. 2010-03-04.
- ↑ Brown, Jonathan; Philby, Charlotte; Milmo, Cahal (2013-07-19). "Computer consultant Mark Lancaster jailed for 16 months for voyeurism and trafficking after using 'sex for fees' website to dupe student into having sex with him". The Independent. London.
- ↑ "Invasion of Privacy Law & Legal Definition". Definitions.uslegal.com. สืบค้นเมื่อ 2011-11-29.
- ↑ "Stephanie's Law". Criminaljustice.state.ny.us. 2003. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-30. สืบค้นเมื่อ 2011-11-29.
- ↑ Chong, Elena. "Marketing manager jailed 18 weeks for upskirt videos". Straits Times. สืบค้นเมื่อ 2015-12-01.
- ↑ "Criminal Law (Amendment) Act, 2013" (PDF). Government of India. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-04-17. สืบค้นเมื่อ 2013-04-16.
- ↑ "คดีถ้ำมอง". ปรึกษาทนายความ. 2014-10-19.[ลิงก์เสีย]
- ↑ 38.0 38.1 Pete (2009-11-10). "ถ้ำมอง". รวมมิตรกฎหมาย. ข้อความ 1.
{{cite web}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)[ลิงก์เสีย] - ↑ "ประมวลกฎหมายอาญาไทย (ฉบับปรับปรุงเป็นปัจจุบัน)/ภาค ๓". wikisource. มาตรา ๓๙๗ (ข่มเหงรังแกผู้อื่นในที่สาธารณะ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-01-17. สืบค้นเมื่อ 2016-04-10.
- ↑ "พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ 6 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 4 มหาวรรค ภาคที่ 1", E-Tipitaka 2.1.2 (2010), p. 308 (พระบาลี)
- ↑ 41.0 41.1 "พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ 6 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 4 มหาวรรค ภาคที่ 1", E-Tipitaka 2.1.2 (2010), pp. 309–310 (อรรถกถา)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- CS1 maint: uses authors parameter
- บทความวิกิพีเดียที่ต้องการอ้างอิงหมายเลขหน้าตั้งแต่2013-04
- บทความที่มีแหล่งอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่ตีพิมพ์เอง
- บทความที่มีแหล่งอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่ตีพิมพ์เองตั้งแต่2013-04
- บทความที่ขาดแหล่งอ้างอิงเฉพาะส่วนตั้งแต่2015-04
- บทความที่ขาดแหล่งอ้างอิงเฉพาะส่วนตั้งแต่2015-10
- การรับรู้ทางตา
- การวินิจฉัยจิตเวช