ข้ามไปเนื้อหา

การปิดกั้นเบอร์ลิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การปิดกั้นเบอร์ลิน
ส่วนหนึ่งของ สงครามเย็น

ชาวเบอร์ลินกำลังดูเครื่องบิน Douglas C-54 Skymaster ลงจอดที่ท่าอากาศยานเบอร์ลินเท็มเพิลโฮฟ ในปี 1948
วันที่24 มิถุนายน ค.ศ.1948 - 12 พฤษภาคม ค.ศ.1949 (323 วัน)
สถานที่
ผล

ยกเลิกการปิดกั้น

  • รวมประเทศเยอรมัน
คู่สงคราม
 สหภาพโซเวียต  สหรัฐ
 สหราชอาณาจักร
สนับสนุนโดย
 ฝรั่งเศส
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
สหภาพโซเวียต วาซีลี โซโคลอฟสกี ลูเซียส ดี. เคลย์
ไบรอัน โรเบิร์ตสัน
ความสูญเสีย
ไม่มี อุบัติเหตุทางอากาศ:
ชาวอังกฤษ 39 คน และชาวอเมริกัน 31 คนเสียชีวิต
ประชาชนชาวเยอรมัน 15 คนเสียชีวิต
รูปแสดงพื้นที่ในเยอรมนีที่ถูกครอบครองเมื่อ ค.ศ. 1945 เบอร์ลินตะวันตก ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส อยู่ในเยอรมนีส่วนที่ปกครองโดยสหภาพโซเวียต

การปิดกั้นเบอร์ลิน (อังกฤษ: Berlin Blockade) เป็นหนึ่งในวิกฤตการณ์หลักของสงครามเย็น ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1948- 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1949 ประเทศมหาอำนาจที่ชนะสงครามโลกครั้งที่สองได้เข้ายึดครองประเทศเยอรมนี สหภาพโซเวียตซึ่งยึดครองกรุงเบอร์ลินอยู่ในเวลานั้นตั้งด่านปิดกั้นถนนไม่ให้สามมหาอำนาจฝ่ายตะวันตก (สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส) เข้าถึงกรุงเบอร์ลินได้ วิกฤตการณ์นี้คลี่คลายลงหลังจากมหาอำนาจฝ่ายตะวันตกร่วมกันจัดตั้ง การขนส่งทางอากาศที่เบอร์ลิน (Berlin Airlift) โดยเป็นการส่งเสบียงอาหารและถ่านหินให้ในตัวเมืองเบอร์ลินตะวันตก การขนส่งทางอากาศในครั้งนั้น ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการขนส่งเสบียงสู่พื้นที่ของฝ่ายตะวันตก และยังเป็นการแสดงแสนยานุภาพทางอากาศของฝ่ายตะวันตกอีกด้วย

เบื้องหลัง

[แก้]

การแบ่งประเทศเยอรมนี

[แก้]

หลังสงครามโลกครั้งที่สองในฝั่งทวีปสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 ทหารโซเวียตและทหารฝ่ายพันธมิตรตะวันตกต่างก็ขยายพื้นที่ของตนไปตามแนวแม่น้ำเอลเบอ (Elbe) ในขณะที่ทหารของฝรั่งเศสบางส่วนยังปักหลักอยู่ในเยอรมนีตะวันตกเฉียงใต้

ระหว่างวันที่ 17 มิถุนายน - 2 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ฝ่ายสัมพันธมิตรบรรลุข้อตกลงพ็อทซ์ดัม (Potsdam Agreement) ซึ่งกำหนดให้แบ่งเยอรมนีออกเป็น 4 ส่วนโดยแต่ละส่วนจะถูกปกครองโดยชาติที่ครอบครองดินแดนในส่วนนั้นอยู่ก่อนหน้าสงครามจะยุติ กรุงเบอร์ลินซึ่งเป็นเมืองหลวงของเยอรมนีก็จะถูกแบ่งออกเป็นสี่ส่วนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การที่กรุงเบอร์ลินตั้งอยู่ในพื้นที่ของสหภาพโซเวียตทำให้กรุงเบอร์ลินส่วนที่เป็นของสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษ ถูกล้อมรอบด้วยทหารโซเวียต

ฝ่ายพันธมิตรดำเนินแผนมอร์เกนเทา (Morgenthau Plan) ที่กำหนดให้ฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของเยอรมนีเพียง 50% ของสภาพเศรษฐกิจเมื่อปี 1938 เพื่อป้องกันไม่ให้เยอรมนีกลายเป็นรัฐทหารอันก้าวร้าวได้อีก สหภาพโซเวียตเห็นด้วยกับแผนนี้เพราะไม่ต้องการให้เยอรมนีโจมตีรัสเซีย วียาเชสลาฟ โมโลตอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหภาพโซเวียต กล่าวกับ เจมส์ เอฟ. เบิร์นส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ว่าสหภาพโซเวียตต้องการเห็นเยอรมนีที่ไร้พิษภัย แผน JCS 1067 ของสหรัฐอเมริกาสะท้อนข้อตกลงนี้โดยกล่าวว่าสหรัฐอเมริกาจะ "ไม่ดำเนินการฟื้นฟูเยอรมนีในด้านเศรษฐกิจ" ดังนั้น โรงงานในเยอรมนีส่วนที่สหรัฐอเมริกาครอบครองอยู่จึงถูกรื้อถอนและส่งมอบให้กับเยอรมนีส่วนที่โซเวียตยึดครองเพื่อเป็นการลดศักยภาพทางอุตสาหกรรมของเยอรมนี และให้สหภาพโซเวียตทำตามแผนการฟื้นฟูของตน

มุมมองที่แตกต่าง

[แก้]

ผลลัพธ์ของแผนมอร์เก็นเธานั้นรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างสุดขีดของเยอรมนีส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจทั้งทวีปยุโรปถดถอยลง วิลเลียม แอล. เคลย์ตัน ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประนาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน ในการประชุมพ็อทซ์ดัมรายงานกลับไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ว่า "ประชาชนหลายล้านคนกำลังอดตายอย่างช้า ๆ "

ในตอนแรก สหรัฐอเมริกายังคงไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายต่อเยอรมนี แต่หลังจากที่นายพลลูเชียส ดี. เคลย์ และบรรดาเหล่าเสนาธิการเริ่มแสดงความกังวลต่อการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในเยอรมนีและเศรษฐกิจของยุโรปที่เริ่มพังพินาศ ฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1947 นายพลจอร์จ มาร์แชล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้โน้มน้าวให้ประธานาธิบดีทรูแมนยกเลิกแผน JCS 1067 ในที่สุด แผนการ JCS 1779 ก็ถูกนำมาแทนที่แผนการเดิมโดยมีใจความตอนหนึ่งว่า "การที่ยุโรปจะเป็นระเบียบและมั่งคั่งได้ จะต้องได้รับการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจจากเยอรมนีที่มีเสถียรภาพและอุดมสมบูรณ์" แผนการใหม่นี้สวนทางกับการแผนเดิมอย่างสิ้นเชิง

สหรัฐอเมริกาเริ่มดำเนินนโยบายตามแผนมาร์แชลล์ โดยส่งเงินจำนวนมากให้กับประเทศในยุโรปที่ต้องการเงิน โจเซฟ สตาลิน ผู้นำโซเวียต เริ่มสงสัยในแผนการของสหรัฐอเมริกา เขารู้สึกว่าสหรัฐอเมริกากำลังใช้เงินซื้อประเทศในยุโรปเพื่อขยายอิทธิพลของตนให้เป็นจักรวรรดิ เขากล่าวว่า "นี่คืออุบายของทรูแมน มันต่างจากการช่วยให้ประเทศอื่นตั้งตัวได้ สหรัฐอเมริกาไม่ต้องการช่วยเรา สิ่งที่สหรัฐอเมริกาต้องการคือการแทรกซึมประเทศในยุโรป"[1] ในตอนต้น โมโลตอฟมีความสนใจแผนการดังกล่าวและยังได้เข้าร่วมการประชุมด้วย แต่เขาเปลี่ยนใจในภายหลังโดยกล่าวว่ามันเป็น "ลัทธิจักรวรรดินิยมดอลลาร์" ในที่สุด สตาลินจึงสั่งห้ามไม่ให้ประเทศในเครือข่ายคอมมิวนิสต์รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา

นโยบายของสหรัฐอเมริกาต่อเยอรมนีในด้านเศรษฐกิจเริ่มไม่ลงรอยกับนโยบายของสหภาพโซเวียต สตาลินต้องการลดศักยภาพของเยอรมนีลงเพื่อไม่ให้ทำสงครามได้อีก แต่สหรัฐอเมริกาต้องการฟื้นฟูเยอรมนีให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของยุโรป ความพยายามที่จะดำเนินนโยบายให้เป็นหนึ่งเดียวนั้นสิ้นสุดลง ค.ศ. 1946 สหภาพโซเวียตเลิกส่งออกผลผลิตทางการเกษตรจากเยอรมนีส่วนยึดครองของโซเวียต นายพลเคลย์ตอบโต้ด้วยการเลิกส่งโรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกรื้อถอนให้กับเยอรมนีส่วนโซเวียต ในที่สุด สหภาพโซเวียตจึงเริ่มใช้นโยบายประชาสัมพันธ์ต่อต้านอเมริกาและเริ่มขัดขวางการดำเนินการในพื้นที่ทั้งสี่ส่วน

สหรัฐอเมริกามีจุดยืนว่า หากสหภาพโซเวียตไม่ให้ความร่วมมือในการรวมเยอรมนีให้เป็นหนึ่งเดียว สหรัฐอเมริกาและมหาอำนาจตะวันตกจะพัฒนาระบบอุตสาหกรรมแบบตะวันตกขึ้นในเยอรมนีและจะรวมเยอรมนีส่วนตะวันตกเข้ากับประเทศยุโรปตะวันตกใหม่ มหาอำนาจฝ่ายตะวันตกทั้งสามบรรลุข้อตกลงนี้ในการประชุมที่ลอนดอนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1948 และประกาศในวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1948 ว่าจะให้เยอรมนีฝั่งตะวันตกมีรัฐบาลที่เป็นอิสระ ปกครองในระบอบสาธารณรัฐ และฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจตามแบบสหรัฐอเมริกา

กรุงเบอร์ลิน

[แก้]

ไม่นานนัก กรุงเบอร์ลินก็กลายเป็นจุดสนใจของทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในการที่จะปกครองยุโรปให้เป็นไปตามแผนของตนดังที่โมโลตอฟกล่าวว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นกับเบอร์ลินก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเยอรมนี และสิ่งที่เกิดขึ้นกับเยอรมนีก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับยุโรป"[2] ค.ศ. 1946 ประชาชนชาวเบอร์ลินเลือกผู้สมัครเลือกตั้งที่สนับสนุนประชาธิปไตยเข้าสู่สภาเทศบาลเมืองถึง 86% ชนะผู้สมัครจากพรรคคอมมิวนิสต์อย่างถล่มทลาย ดูเหมือนว่าการที่จะรวมประเทศเยอรมนีให้เป็นหนึ่งเดียวได้นั้นจำเป็นจะต้องกำจัดโซเวียตออกไปให้ได้ก่อน[ต้องการอ้างอิง] ชาวเบอร์ลินต่างเต็มใจสนับสนุนนโยบายของชาติตะวันตก

สภาปกครองฝ่ายพันธมิตรเรียกประชุมอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1948 วาซีลี โซโคลอฟสกี ประธานสภา กล่าวถามถึงรายละเอียดในการประชุมที่ลอนดอน แต่หลังจากที่เขาไม่ได้รับคำตอบในทันที เขาจึงกล่าวว่า "ผมไม่เห็นว่าการประชุมครั้งนี้จะได้ประโยชน์อีกต่อไป ผมขอยกเลิกการประชุม"[ต้องการอ้างอิง] หลังจากนั้น ตัวแทนจากสหภาพโซเวียตทั้งหมดได้ลุกขึ้นและเดินออกจากห้องประชุม โซโคลอฟสกี ผู้ซึ่งรับผิดชอบการประชุมสภาไม่ได้กำหนดให้มีการประชุมอีกครั้ง นั่นจึงหมายความว่าสภาปกครองฝ่ายพันธมิตรได้ล่มสลายลง ทรูแมนได้ให้ข้อสังเกตในภายหลังว่า "สำหรับชาวเยอรมันส่วนใหญ่ นี่คงเป็นเพียงแค่การทำให้ข้อเท็จจริงที่ว่าการปกครองโดยประเทศสี่ประเทศนั้นเป็นไปไม่ได้ดูชัดเจนขึ้น แต่สำหรับชาวเบอร์ลิน มันเผยให้เห็นถึงปัญหาหลัก"[ต้องการอ้างอิง]

วันที่ 31 มีนาคม สหภาพโซเวียตกดดันมหาอำนาจฝ่ายตะวันตกด้วยการสั่งให้รถไฟทุกขบวนที่จะเข้าสู่กรุงเบอร์ลินจากเยอรมนีตะวันตกจะต้องถูกตรวจสอบ นายพลลูเชียส ดี. เคลย์ ผู้บัญชาการของเยอรมนีส่วนยึดครองสหรัฐอเมริกา จึงสั่งให้รถไฟทางทหารทุกขบวนยกเลิกการขนส่ง เขาสั่งให้ใช้เครื่องบินทำการขนส่งอาหารและอาวุธยุทธภัณฑ์ให้กับทหารอเมริกันในกรุงเบอร์ลินแทน การขนส่งทางอากาศครั้งนี้ดำเนินไปได้ประมาณ 10 วัน รวมน้ำหนักอาหารและอาวุธที่ถูกขนส่งทั้งหมดรวม 300 ตัน สหภาพโซเวียตได้คลายข้อบังคับนี้ลงเมื่อวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1948 แต่ยังคงขัดขวางการจราจรทางรถไฟและทางถนนเป็นระยะ ๆ อีกต่อไปถึง 75 วัน

วิกฤตการณ์สกุลเงิน

[แก้]

เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1948 สหรัฐอเมริกาและอังกฤษยื่นข้อเสนอต่อสภาปกครองฝ่ายพันธมิตรให้สร้างสกุลเงินเยอรมนีใหม่เพื่อแทนที่สกุลเงินไรช์มาร์ค (Reichsmark) ที่มีปริมาณล้นอยู่ในระบบและขาดมูลค่าอย่างแท้จริง สหภาพโซเวียตปฏิเสธข้อเสนอนี้เพราะต้องการให้เยอรมนีคงสภาพอ่อนแอ ประเทศมหาอำนาจตะวันตกทั้งสามจึงร่วมมือกันสร้างสกุลเงินใหม่ขึ้นมาอย่างลับ ๆ และประกาศใช้ในพื้นที่ของตนเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1948 ในชื่อสกุลเงินดอยช์มาร์ค (Deutsche Mark) สหภาพโซเวียตไม่ยอมรับสกุลเงินนี้ แต่ฝ่ายตะวันตกได้แอบลักลอบเอาเงินสกุลใหม่นี้เข้าไปในเบอร์ลินเป็นจำนวนถึง 250,000,000 ดอยช์มาร์คแล้ว ไม่นานนัก ดอยช์มาร์คก็กลายเป็นสกุลเงินมาตรฐานในทุกพื้นที่ของเยอรมนี

สกุลเงินใหม่ดูจะช่วยทำให้เยอรมนีสามารถกลับมามีเสถียรภาพได้อีกครั้ง นอกจากนี้ มันยังเป็นการข่มขวัญสหภาพโซเวียตด้วยการสร้างฐานที่มั่นทางเศรษฐกิจของฝ่ายตะวันตกขึ้นมาท่ามกลางพื้นที่ยึดครองของโซเวียต ในตอนนี้ สตาลินจึงต้องการให้มหาอำนาจฝ่ายตะวันตกทั้งหมดออกไปจากกรุงเบอร์ลิน

การขนส่งทางอากาศที่เบอร์ลิน

[แก้]

การปิดกั้น

[แก้]

วันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1948 สหภาพโซเวียตประกาศ "ปิดปรับปรุง" ถนนเอาโทบาน ซึ่งเป็นถนนจากเยอรมนีตะวันตกที่มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเบอร์ลิน อีกสามวันถัดมา การจราจรทางบกระหว่างเยอรมนีในส่วนยึดครองของโซเวียตกับส่วนอื่น ๆ ถูกตัดขาด และในวันที่ 21 มิถุนายน การจราจรทางน้ำสู่กรุงเบอร์ลินถูกตัดขาด วันที่ 24 มิถุนายน สหภาพโซเวียตประกาศว่าจะไม่มีรถไฟเข้าสู่กรุงเบอร์ลินอีกต่อไปเนื่องจาก "ปัญหาทางเทคนิค" วันถัดมา สหภาพโซเวียตประกาศเลิกจัดส่งอาหารให้กรุงเบอร์ลินส่วนของประเทศมหาอำนาจตะวันตก แต่ฝ่ายตะวันตกก็ไม่ได้เจรจาต่อรองใด ๆ กับสหภาพโซเวียต

ในเวลานั้น กรุงเบอร์ลินมีอาหารที่จะทำให้ทั้งเมืองอยู่ได้อีก 35 วัน และมีถ่านหินที่จะใช้ได้อีก 45 วัน ทหารอเมริกันและทหารอังกฤษมีจำนวนน้อยกว่าทหารโซเวียตมาก เพราะการลดขนาดกองทัพหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หากสงครามเกิดขึ้น ฝ่ายตะวันตกจะต้องสูญเสียกรุงเบอร์ลินให้โซเวียตอย่างแน่นอน นายพลลูเชียส ดี. เคลย์ ผู้บัญชาการเยอรมนีส่วนยึดครองของสหรัฐอเมริกา กล่าวเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1948 ว่าจะไม่ยอมถอยออกจากเยอรมนีเด็ดขาด "แม้จะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรักษาตำแหน่งของเราในเบอร์ลินไว้ได้ แต่มันจะต้องไม่ถูกประเมินด้วยเหตุผลนั้น... เรามั่นใจว่าการอยู่ในเบอร์ลินของเรานั้นสำคัญต่อเกียรติยศของเราในเยอรมนีและในยุโรป ไม่ว่ามันจะดีหรือร้าย สิ่งนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความมุ่งหมายของอเมริกาไปแล้ว"[3]

นายพลเคลย์รู้สึกว่าโซเวียตทำเป็นเสแสร้งว่าไม่ต้องการให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สาม เขายื่นข้อเสนอให้ส่งกลุ่มรถติดอาวุธจำนวนมากไปตามถนนออโทบาห์นมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเบอร์ลินตะวันตกอย่างสันติ แต่อาจใช้อาวุธได้หากถูกขัดขวางหรือถูกโจมตี อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรูแมนเห็นว่าการกระทำนี้ "เสี่ยงเกินไปที่อาจจะทำให้ผลลัพธ์ที่รุนแรงตามมา"

การตัดสินใจขนส่งทางอากาศ

[แก้]
เส้นทางทางอากาศสู่กรุงเบอร์ลิน

แม้ว่าฝ่ายตะวันตกจะไม่ได้เจรจาใด ๆ กับสหภาพโซเวียตเพื่อขอให้เปิดการจราจรทางบก แต่พวกเขาได้เจรจาขอให้เปิดการจราจรทางอากาศแทน วันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1945 ฝ่ายตะวันตกและโซเวียตบรรลุข้อตกลงเปิดเส้นทางจราจรทางอากาศสู่กรุงเบอร์ลิน 3 เส้นทาง แต่ละเส้นทางมีความกว้าง 20 ไมล์ โซเวียตไม่สามารถอ้างว่าเครื่องบินขนส่งเหล่านี้เป็นการข่มขู่ทางทหารได้ หนทางเดียวที่จะปิดกั้นเครื่องบินเหล่านี้คือต้องยิงมันให้ตกลงมาและนั่นก็จะทำให้โซเวียตต้องถูกประณามที่ละเมิดข้อตกลง

อย่างไรก็ตาม การที่จะดำเนินการขนส่งทางอากาศได้นั้นจะต้องมั่นใจว่าจะสามารถจัดส่งอาหารได้รวดเร็วพอ มิฉะนั้นแล้ว ชาวเบอร์ลินอาจต้องขอความช่วยเหลือจากโซเวียตในท้ายที่สุด เคลย์ได้คำบอกกล่าวให้ขอคำปรึกษาจากนายพล เคอร์ติส ลีเมย์ ผู้บัญชาการกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาในภาคพื้นยุโรป ว่าการขนส่งทางอากาศจะเป็นไปได้หรือไม่ ลีเมย์ตอบว่า "เราสามารถขนส่งอะไรก็ได้"[4]

กองทัพอเมริกันได้ปรึกษากองทัพอากาศอังกฤษถึงความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือกันขนส่งทางอากาศ และพบว่าอังกฤษได้ขนส่งทางอากาศเพื่อช่วยเหลือทหารอังกฤษในเบอร์ลินอยู่ก่อนแล้ว เซอร์ ไบรอัน โรเบิร์ตสัน ผู้บัญชาการเยอรมนีส่วนอังกฤษมีความพร้อมเป็นอย่างมาก Reginald Waite นาวาเอกพิเศษกองทัพอากาศอังกฤษได้คำนวณทรัพยากรที่จะใช้หล่อเลี้ยงเมืองทั้งเมือง เขาพบว่าประชาชนทั้งหมด 2 ล้านกว่าคนต้องการพลังงาน 1,700 แคลอรีต่อคนต่อวัน ซึ่งประกอบด้วยแป้งและข้าวสาลี 646 ตัน ธัญพืช 125 ตัน น้ำมัน 64 ตัน เนื้อสัตว์ 109 ตัน มันฝรั่ง 180 ตัน น้ำตาล 180 ตัน กาแฟ 11 ตัน นมผง 19 ตัน นมสำหรับเด็ก ๆ 5 ตัน ยีสต์สำหรับทำขนมปัง 3 ตัน ผักอบแห้ง 144 ตัน เกลือ 38 ตัน และชีส 10 ตัน รวมแล้วจะต้องส่งอาหารวันละ 1,534 ตันเพื่อเลี้ยงประชาชนมากกว่า 2 ล้านคน[4] นอกจากนี้ ยังต้องส่งถ่านหินและน้ำมัน 3,475 ตันต่อวันเพื่อทำให้ทั้งเมืองอบอุ่นและมีไฟฟ้าใช้[5]

เครื่องบินซี-47กำลังเอาเสบียงออกที่สนามบินเทมเพลโฮฟ

การขนส่งทางอากาศนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การถอนกำลังทหารหลังสิ้นสงครามทำให้กองทัพอากาศสหรัฐมีเพียงเครื่องบินซี-47 สกายเทรน 2 ฝูงบินเหลือไว้ในยุโรป เครื่องบินแต่ละลำสามารถขนส่งได้เพียง 3.5 ตันต่อเที่ยวบิน เคลย์คำนวณแล้วพบว่าฝูงบินเพียงเท่านี้จะขนส่งเสบียงได้เพียง 300 ตันต่อวัน ขณะที่กองทัพอังกฤษซึ่งมีความพร้อมกว่าสามารถส่งได้เพียง 400 ตันต่อวัน ตัวเลขนี้ห่างจากตัวเลขความต้องการทั้งหมด 5,000 ตันต่อวันอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เครื่องบินใหม่จากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษที่จะบินเข้ามาสมทบจะช่วยให้สามารถขนส่งได้มากขึ้น ตอนนี้ทางสหรัฐอเมริกายังต้องอาศัยเครื่องบินจากอังกฤษไปก่อน อังกฤษจะส่งเครื่องบินซี-47 เข้ามาสมทบอีก 150 ลำ และส่งเครื่องบิน Avro York ซึ่งมีความสามารถในการขนส่ง 10 ตันเข้ามาสมทบอีก 40 ลำ อังกฤษคาดหวังว่าจะสามารถส่งอาหารได้ทั้งหมด 750 ตันต่อวันในระยะแรก ส่วนในระยะยาวนั้น สหรัฐอเมริกาจะส่งเครื่องบินเข้ามาสมทบให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ เครื่องบินที่ปฏิบัติภารกิจนี้ได้จะต้องมีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้และจะต้องสามารถบินไปลงสนามบินที่เบอร์ลินได้ ซึ่งก็ได้แก่ เครื่องบินซี-54 สกายมาสเตอร์ และเครื่องบิน R5D ของสหรัฐอเมริกา

แผนการขนส่งเสบียงทางอากาศนั้นดูจะเป็นแผนการตอบโต้โซเวียตที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตะวันตกยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับประชาชนชาวเบอร์ลิน เคลย์โทรไปหา แอร์นสท์ รอยแทร์ นายกเทศมนตรีเบอร์ลิน และกล่าวว่า "ผมพร้อมจะทดลองแผนการขนส่งเสบียงทางอากาศแล้ว แต่ผมก็ไม่อาจให้การรับรองได้ว่ามันจะประสบความสำเร็จ ผมมั่นใจว่าถึงแม้เราจะพยายามอย่างที่สุดแล้ว แต่สุดท้ายประชาชนก็จะหนาวและประชาชนก็จะหิว และหากว่าชาวเบอร์ลินไม่อาจทนสภาพนั้นได้ ทุกอย่างก็จะพังทลาย ผมไม่ต้องการให้สิ่งนั้นเกิดจนกว่าคุณจะสัญญาว่าชาวเบอร์ลินยินดีที่จะรับสภาพนั้น" แม้ว่ารอยแทร์จะคลางแคลงใจ แต่เขาก็ตอบเคลย์ไปว่าชาวเบอร์ลินพร้อมจะเสียสละทุกอย่างเท่าที่ทำได้ และชาวเบอร์ลินก็พร้อมจะสนับสนุนแผนการของเขาแล้ว[3]

นายพล Albert Wedemeyer ผู้บังคับบัญชาด้านแผนและปฏิบัติการของกองทัพสหรัฐอเมริกา ยังคงอยู่ในยุโรปเวลานั้น เขาเป็นผู้บัญชาการในสงครามมหาสมุทรแปซิฟิก ในระหว่างปี ค.ศ. 19441945 และมีความชำนาญเรื่องการใช้การขนส่งทางอากาศเป็นอย่างมากเพราะเขาเคยขนส่งทางอากาศจากอินเดียข้ามเทือกเขาหิมาลัยในสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเห็นด้วยกับแผนการนี้เป็นอย่างมาก[3] อังกฤษและสหรัฐอเมริกาตกลงร่วมมือปฏิบัติภารกิจนี้โดยไม่รีรอ สหรัฐอเมริกาได้ตั้งชื่อให้ภารกิจนี้ว่า"ปฏิบัติการขนส่งเสบียง" (Operation Vittles)

การขนส่งทางอากาศเริ่มต้น

[แก้]
นักบินกำลังลำเลียงนมขึ้นเครื่องบิน

วันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1948 ลีเมย์แต่งตั้งนายพลจัตวาโจเซฟ สมิธ ผู้บังคับบัญชาฐานที่มั่นทางทหารวีสบาเด็น (Wiesbaden Military Post) ให้เป็นผู้บังคับบัญชาปฏิบัติการครั้งนี้ วันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1948 เคลย์สั่งให้เริ่มปฏิบัติการขนส่งเสบียง สองวันถัดมา เครื่องบินซี-47 จำนวน 2 ลำก็ไปถึงเบอร์ลินโดยนำนม แป้ง และยารักษาโรคไปทั้งหมด 80 ตัน เครื่องบินลำแรกของอังกฤษบินมาถึงเบอร์ลินเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน

วันที่ 27 มิถุนายน เคลย์ส่งโทรเลขไปหา William Draper เพื่อรายงานสถานการณ์ดังนี้

ผมได้จัดเตรียมเครื่องบินไว้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อจะปฏิบัติภารกิจในวันจันทร์นี้ [28 มิถุนายน] เราสามารถใช้เครื่องบินดาโคตา [ซี-47] ได้ทั้งหมด 70 ลำ เรายังไม่รู้ว่ากองทัพอากาศของอังกฤษจะจัดส่งเครื่องบินได้เท่าไรแม้ว่านายพลโรเบิร์ตสันจะสงสัยในขีดความสามารถของพวกเขา สนามบินของเราในเบอร์ลิน 2 สนามบินสามารถรองรับเที่ยวบินได้ 50 เที่ยวต่อวัน เครื่องบินที่ลงจอดได้นั้นจะต้องเป็นเครื่องบินซี-47, ซี-54 หรือเครื่องบินที่มีลักษณะการลงแบบเดียวกันเพราะสนามบินของเราไม่อาจรองรับเครื่องบินที่ใหญ่กว่านี้ได้ LeMay กำลังเร่งรัดให้ใช้เครื่องบินซี-54 จำนวนสองฝูง ด้วยเครื่องบินจำนวนเท่านี้ เราสามารถขนส่งเสบียงได้ 600 ถึง 700 ตันต่อวัน แม้ว่าเราจำเป็นต้องส่ง 2000 ตันต่อวัน แต่ด้วยปริมาณ 600 ตันต่อวันก็จะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวเยอรมันและเป็นการสร้างความรำคาญให้กับโซเวียตอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นจะต้องได้รับเครื่องบินเพิ่มอีกประมาณ 50 ลำที่เพื่อจะปฏิบัติภารกิจนี้ให้สำเร็จ ความล่าช้าในแต่ละวันจะทำให้ความสามารถในการรักษากรุงเบอร์ลินของเราลดน้อยลง เราต้องการลูกเรือเพื่อขับเครื่องบินให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
 
ลูเชียส ดี. เคลย์, มิถุนายน ค.ศ. 1948, [3]

ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน การขนส่งทางอากาศก็เริ่มขึ้น เครื่องบินซี-54 มาร่วมสมทบกับกองบินเป็นจำนวนมาก ฐานทัพอากาศไรน์-มายน์ (Rhein-Main Air Base) ถูกทำเป็นฐานเก็บเครื่องบินซี-54 ฐานที่มั่นทางทหารวีสบาเด็นเป็นที่เก็บเครื่องบินซี-54 และซี-47 เครื่องบินของสหรัฐอเมริกาบินไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมุ่งสู่สนามบินเทมเพลโฮฟ (Tempelhof) เพื่อขนส่งเสบียง จากนั้นจึงบินไปทางทิศตะวันตกจนเข้าพื้นที่ของอังกฤษ และเลี้ยวกลับมาทางใต้สู่ฐานของตน

ส่วนเครื่องบินของอังกฤษนั้นบินขึ้นจากสนามบินในฮัมบวร์ค มุ่งหน้าไปยังทิศตะวันออกเฉียงใต้สู่สนามบินกาโทว (Gatow) ในเบอร์ลินส่วนอังกฤษ จากนั้นจึงบินไปทางทิศตะวันตกเส้นทางเดียวกับสหรัฐอเมริกาแล้วลงจอดที่ฮันโนเฟอร์ วันที่ 5 กรกฎาคม เครื่องบิน Short Sunderlands อีก 10 ลำเข้าร่วมกับกองบิน และต่อมา เครื่องบิน Short Hythe ก็เข้ามาร่วมสมทบ การที่ลำตัวของมันมีคุณสมบัติต่อต้านการกัดกร่อนทำให้มันได้รับมอบหมายให้ขนส่งเกลือแกงเข้าสู่กรุงเบอร์ลิน นอกจากนี้ ยังมีลูกเรือจากออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ และแอฟริกาใต้ มาเข้าร่วมด้วย

สมิธได้ออกแบบตารางการบินและรูปแบบการบินที่ซับซ้อนขึ้นเพื่อจัดการกับกองบินขนาดมหึมานี้เพื่อให้มีเวลาซ่อมบำรุงเครื่องบินและเวลาขนของขึ้นเครื่อง เครื่องบินจะบินออกจากสนามบินทุก ๆ 3 นาที โดยมีระดับการบินเริ่มต้นอยู่ที่ 5,000 ฟุต เครื่องบินแต่ละลำจะบินสูงกว่าเครื่องบินที่เพิ่งออกไปก่อนหน้า 500 ฟุต และจะวนกลับมาเริ่มต้นที่ 5,000 ฟุตใหม่อีกครั้งหลังจากที่มีเครื่องบินออกไปแล้ว 5 ลำ[6]

ในช่วงสัปดาห์แรกของปฏิบัติการ ฝ่ายตะวันตกสามารถขนส่งเสบียงได้เพียง 90 ตันต่อวัน แต่พอถึงสัปดาห์ที่สอง ฝ่ายตะวันตกก็สามารถทำการขนส่งได้ถึง 1,000 ตันต่อวัน เชื่อกันว่าหากดำเนินการต่อไปอีกสักสองถึงสามสัปดาห์ก็จะทำให้เมืองอยู่รอดได้แล้ว สื่อของคอมมิวนิสต์ในเบอร์ลินตะวันออกเยาะเย้ยปฏิบัติการครั้งนี้ว่าเป็น "ความพยายามอันเปล่าประโยชน์ของอเมริกาที่จะรักษาหน้าและรักษาพื้นที่ในเบอร์ลินที่พวกเขาไม่มีวันจะครอบครองได้"[7]

วันศุกร์ทมิฬ

[แก้]

หลังจากที่สหภาพโซเวียตไม่มีท่าทีว่าจะยอมแพ้ง่าย ๆ ฝ่ายตะวันตกจึงเพิ่มการขนส่งทางอากาศให้มากขึ้น วันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1948 พลโทวิลเลียม เอช. ทันเนอร์ (William H. Tunner) จากหน่วยบริการการขนส่งทางอากาศได้เข้ามาควบคุมการปฏิบัติการ ทันเนอร์มีประสบการณ์ในการสั่งงานและการขนส่งทางอากาศที่ Burma Hump มาก่อน เขาตั้งกองกำลังขนส่งทางอากาศเฉพาะกิจ (Combined Airlift Task Force) ที่เทมเพลโฮฟ

หลังจากที่เขาเพิ่งเข้ามาควบคุมได้ไม่นาน วันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1948 ทันเนอร์ตัดสินใจบินไปเบอร์ลินเพื่อมอบรางวัลให้กับร้อยโทพอล โอ. ไลคินส์ (Paul O. Lykins) นักบินผู้ปฏิบัติการขนส่งทางอากาศมากที่สุด ในเวลานั้น เมฆได้ปกคลุมกรุงเบอร์ลินและลอยต่ำลงมาจนถึงยอดตึก ฝนก็ตกหนักจนทำให้เรดาร์แทบใช้การไม่ได้ เครื่องบินซี-54 ลำหนึ่งพุ่งชนปลายรันเวย์จนไฟไหม้เครื่อง เครื่องบินลำที่สองที่กำลังจะลงจอดจึงระเบิดยางล้อเพื่อป้องกันไม่ให้มันวิ่งไปชนลำแรก เครื่องบินลำที่สามหมุนตัวเป็นวงกลมอย่างควบคุมไม่ได้ที่รันเวย์สำรอง ส่งผลให้สนามบินทั้งสนามบินใช้งานไม่ได้ ทันเนอร์สั่งให้เครื่องบินทุกลำบินกลับฐานโดยทันที เหตุการณ์นี้ต่อมาถูกเรียกว่า "วันศุกร์ทมิฬ" (Black Friday)

หลังจากเหตุการณ์นี้ ทันเนอร์ได้ออกกฎควบคุมการบินขึ้นมาใหม่ เขาสั่งให้นักบินปฏิบัติตามเครื่องมือบนเครื่องบินอย่างเคร่งครัดไม่ว่าทัศนวิสัยในขณะนั้นจะแจ่มใสหรือไม่ก็ตาม เขายังสั่งให้ฝูงบินแต่ละฝูงมีโอกาสลงจอดได้เพียงครั้งเดียว หากเกิดความผิดพลาดขึ้น นักบินต้องบินกลับฐานโดยทันที ผลก็คือ อัตราการเกิดอุบัติเหตุลดลงและการปฏิบัติภารกิจเป็นไปด้วยความรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ ทันเนอร์ได้เอาเครื่องบินซี-47 ออกจากภารกิจเพราะมันมีประสิทธิภาพต่ำกว่าเครื่องบินซี-54 มาก เวลาที่ใช้ในการเอาของ 3.5 ตันลงจากเครื่องบินซี-47 นั้นเท่ากับเวลาที่ใช้ในการเอาของ 10 ตันลงจากเครื่องบินซี-54 ทั้งนี้เป็นเพราะเครื่องบินซี-47 มีทางขนของเป็นพื้นเอียงทำให้เอาของลงได้ยาก ขณะที่เครื่องบินซี-54 มีทางขนของเป็นแบบขั้น ๆ ทำให้เอาของลงได้รวดเร็ว

นอกจากนี้ ทันเนอร์ยังพบว่านักบินแต่ละคนใช้เวลาไปหยิบของกินในช่วงพักเป็นเวลานาน เขาจึงสั่งไม่ให้นักบินออกจากเครื่องบินระหว่างอยู่ในเบอร์ลิน แต่เขาส่งรถบริการของกินมาบริการถึงที่และให้สาวเบอร์ลินน่ารัก ๆ ยื่นของกินให้ถึงห้องคนขับ เกล ฮัลเวอร์เซ็น (Gail Halvorsen) นักบินคนหนึ่ง กล่าวว่า "เขาให้สาวเยอรมันสวย ๆ ที่ยังโสดนั่งอยู่ในนั้น พวกเธอรู้ว่าเราไม่อาจขอออกเดตกับพวกเธอได้เพราะเราไม่มีเวลา ดังนั้นพวกเธอจึงเป็นมิตรกับเรามาก"[5]

ชาวเบอร์ลินยังช่วยลูกเรือเอาของลงจากเครื่องบินโดยจะได้รับอาหารเป็นการตอบแทน ต่อมา ผู้ที่ทำหน้าที่เอาของลงจากเครื่องบินก็เป็นชาวเบอร์ลินเกือบทั้งหมด พอพวกเขาชำนาญขึ้นเรื่อย ๆ เวลาที่ใช้ในการขนของออกก็ลดลงเรื่อย ๆ จนมีครั้งหนึ่งที่ใช้เวลาเอาของ 10 ตันออกจากเครื่องบินซี-45 ภายในเวลา 10 นาที แต่สถิตินี้ถูกทำลายลงเมื่อลูกเรือ 12 คนเอาของ 10 ตันออกภายในเวลา 5 นาที 45 วินาที

สิ้นเดือนกรกฎาคม ปฏิบัติการขนส่งเสบียงก็ประสบความสำเร็จ แต่ละวันมีเครื่องบินทำการขนส่งเสบียงมากกว่า 1,500 เที่ยว รวมน้ำหนักเสบียงทั้งหมด 4,500 ตันต่อวันซึ่งเพียงพอที่จะทำให้ทั้งเมืองอยู่รอด เครื่องบินซี-47 ทั้งหมดถูกปลดประจำการภายในสิ้นเดือนกันยายน เครื่องบินซี-54 จำนวน 225 ลำปฏิบัติงานแทน โดยขนส่งเสบียงได้ทั้งหมด 5,000 ตันต่อวัน

ปฏิบัติการขนส่งเสบียงเล็ก ๆ

[แก้]
เกล ฮัลเวอร์เซ็น นักบินอเมริกันผู้ริเริ่มการโปรยลูกกวาดและหมากฝรั่งที่ผูกติดกับร่มชูชีพเล็ก ๆ ลงจากเครื่องบิน ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันในนาม "ปฏิบัติการขนส่งเสบียงเล็ก ๆ "

เกล ฮัลเวอร์เซ็น หนึ่งในนักบินที่ปฏิบัติภารกิจขนส่งทางอากาศ ตัดสินใจใช้เวลาว่างของเขาบินไปยังกรุงเบอร์ลินและใช้กล้องถ่ายวิดีโอของเขาถ่ายภาพยนตร์ เขามาถึงสนามบินเทมเพลโฮฟเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนหลังจากที่ติดมากับเครื่องบินซี-54 ลำหนึ่ง เขาเดินไปหาเด็ก ๆ กลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันอยู่ที่ปลายรันเวย์คอยเฝ้าดูเครื่องบิน เขาแนะนำตัวเขาให้กับเด็ก ๆ เด็ก ๆ เริ่มถามคำถามเกี่ยวกับเครื่องบินและการบิน ด้วยความใจดีของเขา เขาจึงยื่นหมากฝรั่งริกลีย์รสดับเบิลมินต์ที่เขามีติดตัวอยู่ 2 อันให้กับเด็ก ๆ และสัญญาว่าถ้าพวกเด็ก ๆ ไม่แย่งกัน คราวหน้าเขาจะเอาหมากฝรั่งมาให้อีก เด็ก ๆ รีบแบ่งหมากฝรั่งออกเป็นชิ้น ๆ ให้ที่ดีสุดเท่าที่พวกเขาทำได้ ก่อนที่เขาจะกลับ เด็กคนหนึ่งถามเขาว่าพวกเขาจะรู้ได้อย่างไรว่าเครื่องบินลำไหนเป็นของเกล เกลตอบว่าเขาจะ"กระพือปีก"[4]

วันถัดมา เกลขับเครื่องบินไปเบอร์ลินและโปรยช็อกโกแล็ตที่ผูกกับร่มชูชีพผ้าเช็ดหน้าลงมาให้เด็ก ๆ ที่รออยู่ข้างล่าง เด็ก ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน และเขาก็ปล่อยช็อกโกแล็ตลงมามากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่นานนักก็มีจดหมายกองหนึ่งจ่าหน้ามาถึง "ลุงกระพือปีก" "ลุงช็อกโกแลต" และ "นักบินช็อกโกแลต" ผู้บังคับบัญชาของเขารู้สึกกังวลเมื่อเรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าว แต่หลังจากที่พลโททันเนอร์ได้ยินเรื่องนี้ เขาก็ชมว่ายอดเยี่ยมมากพร้อมทั้งตั้งชื่อให้ว่า "ปฏิบัติการขนส่งเสบียงเล็ก ๆ " (Operation Little Vittles) นักบินคนอื่นก็ร่วมทำเช่นเดียวกัน หลังจากที่ข่าวไปถึงสหรัฐอเมริกาแล้ว เด็ก ๆ จากทั่วประเทศต่างก็ส่งลูกกวาดไปช่วย ไม่นานนัก บริษัทขนมหวานใหญ่ ๆ ในอเมริกาก็ส่งลูกกวาดไปช่วยด้วยเช่นกัน รวมแล้วมีขนมหวานกว่า 3 ตันถูกโปรยลงที่กรุงเบอร์ลิน[4]

การตอบโต้จากโซเวียต

[แก้]

วันที่ 1 สิงหาคม สหภาพโซเวียตประกาศแจกอาหารฟรีแก่ผู้ที่ข้ามมายังเบอร์ลินฝั่งตะวันออก อย่างไรก็ตาม มีแค่ไม่กี่คนที่ข้ามไปเพราะรู้ว่าเป็นแผนการหลอกล่อของโซเวียต

วันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1948 กลุ่มคอมมิวนิสต์ในเยอรมนีตะวันออกเข้ายึดสภาเทศบาลเมืองเพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ สามวันถัดมา วิทยุในเบอร์ลินตะวันตกเรียกร้องให้ชาวเบอร์ลินตะวันตกไปประท้วงการกระทำของเยอรมนีตะวันออก ประชาชนกว่า 500,000 คนรวมตัวกันที่ประตูบรันเดินบวร์ค (Brandenburg Gate) ในเวลานั้น การขนส่งเสบียงทางอากาศยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่ชาวเบอร์ลินตะวันตกหลายคนเริ่มกลัวว่าประเทศมหาอำนาจตะวันตกจะทอดทิ้งพวกเขาให้กับโซเวียต พวกเขาต้องการแน่ใจว่าการเสียสละของพวกเขาจะไม่สูญเปล่า แอร์นสท์ รอยแทร์ จับไมโครโฟนและกล่าวต่อประชาชนว่า "ชาวโลก ชาวอเมริกัน ชาวอังกฤษ ชาวฝรั่งเศส จงมองมาที่เมืองนี้ และจงจดจำเมืองนี้ ประชาชนที่นี่จะต้องไม่ถูกทอดทิ้ง -- พวกเขาไม่อาจถูกทอดทิ้ง!" ฝูงชนเคลื่อนที่ไปทางตะวันออกและมีคนคนหนึ่งฉีกธงสีแดงลงจากประตู ตำรวจโซเวียตจึงฆ่าคนไปหนึ่งคน[5]

การเลือกตั้งยังคงมีกำหนดวันที่ 5 ธันวาคม ชาวเบอร์ลินตะวันออกพยายามขัดขวาง แต่หลังจากที่ความพยายามของพวกเขาไร้ผล พวกเขาจึงถอนตัวจากการเลือกตั้งและเลือกรัฐบาลของพวกเขาเองภายใต้การนำของ วิลเฮล์ม พีเอิค (Wilhelm Pieck) รอยแทร์ชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง ทำให้กรุงเบอร์ลินถูกแบ่งเป็นฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตกไปโดยปริยาย ทหารคอมมิวนิสต์รีบส่งคนไปคุมบ้านเรือนและถนนในเยอรมนีตะวันออกอย่างรวดเร็ว

ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม ทหารโซเวียตเริ่มก่อกวนเครื่องบินของฝ่ายตะวันตกด้วยการให้นักบินขับเครื่องบินประชิดกับเครื่องบินของฝ่ายตะวันตกและสั่งให้ยิงอากาศบริเวณใกล้เคียง มีครั้งหนึ่งที่เครื่องบินของโซเวียตบินใกล้กับเครื่องบินของอังกฤษมากจนชนกัน ทำให้มีผู้สูญเสียชีวิตทั้งหมด 35 คน นอกจากนี้ยังมีการปล่อยบอลลูนขึ้นมาในบริเวณเส้นทางการบิน การยิงปืนต่อต้านอากาศยานขึ้นมาอย่างสะเปะสะปะ การใช้ไฟส่องเครื่องบิน และการสร้างคลื่นวิทยุปลอมเพื่อหลอกล่อให้นักบินบินออกเส้นทาง อย่างไรก็ตาม วิธีเหล่านี้ไม่ค่อยได้ผลนัก

พาเหรดวันอีสเตอร์

[แก้]

การขนส่งทางอากาศยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เดือนเมษายน ค.ศ. 1949 นายพลทันเนอร์ต้องการทำลายความซ้ำซากจำเจ เขาต้องการสร้างเหตุการณ์ใหญ่ ๆ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับทุกคน เขาตัดสินใจว่า ในวันอีสเตอร์ เขาจะจัดการขนส่งทางอากาศที่มากที่สุด วันนั้นจึงเป็นการขนถ่านหินทั้งหมดเพื่อให้ง่ายต่อการขนส่ง และมีการเปลี่ยนแปลงเวลาซ่อมบำรุงเครื่องบินเพื่อให้มีเครื่องบินปฏิบัติงานได้มากที่สุด

ลูกเรือทำงานตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันที่ 15 เมษายน จนถึง 12.00 น. ของวันที่ 16 เมษายน ขนส่งถ่านหินทั้งหมด 12,941 ตันด้วยเที่ยวบิน 1,383 เที่ยวโดยไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว ผลจากความพยายามครั้งนี้ยังช่วยทำให้การปฏิบัติการโดยรวมดีขึ้นด้วย ปริมาณการขนส่งเสบียงเพิ่มขึ้นเป็น 6,729 ตันต่อวันและเพิ่มเป็น 8,893 ตันต่อวันในเวลาต่อมา ปริมาณการขนส่งทั้งหมดในเดือนเมษายนนั้นมากถึง 234,476 ตัน[7]

วันที่ 21 เมษายน ปริมาณการขนส่งเสบียงเพิ่มขึ้นจนถึงจุดที่มากกว่าการขนส่งด้วยรถไฟ ปฏิบัติการขนส่งทางอากาศประสบความสำเร็จในที่สุดและดูจะดำเนินต่อไปได้เรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

การปิดกั้นสิ้นสุดลง

[แก้]
อนุสรณ์รำลึกการขนส่งทางอากาศที่เบอร์ลิน ตั้งอยู่ที่เทมเพลโฮฟ จารึกชื่อนักบินอังกฤษ 39 คนและนักบินอเมริกัน 31 คนที่เสียชีวิตระหว่างทำหน้าที่
อนุสรณ์รำลึกการขนส่งทางอากาศที่เบอร์ลิน ตั้งอยู่ที่เทมเพลโฮฟ มีข้อความจารึกไว้ว่า "พวกเขาสละชีวิตเพื่อเสรีภาพของเบอร์ลินในภารกิจขนส่งทางอากาศที่เบอร์ลิน 1948/49"

ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของปฏิบัติการขนส่งทางอากาศทำให้สหภาพโซเวียตต้องอับอาย และ "พาเหรดวันอีสเตอร์" ก็เป็นเสมือนฟางเส้นสุดท้าย วันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1949 หน่วยข่าวของรัสเซียรายงานว่าโซเวียตมีความเต็มใจที่จะยกเลิกการปิดกั้น วันต่อมา กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกากล่าวว่าหนทางที่จะยกเลิกการปิดกั้นดูชัดเจน ไม่นานหลังจากนั้น ประเทศมหาอำนาจทั้งสี่ได้เผชิญหน้าเจรจากันอย่างเคร่งเครียด หลังจากนั้นจึงได้ข้อยุติ วันที่ 4 พฤษภาคม ฝ่ายพันธมิตรประกาศว่าจะยกเลิกการปิดกั้นให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 8 วัน

การปิดกั้นของโซเวียตสิ้นสุดลงภายในหนึ่งนาทีหลังเที่ยงคืนวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1949 กองทัพรถของอังกฤษเคลื่อนตัวเข้าสู่เบอร์ลินในทันที รถไฟขบวนแรกเข้ามาถึงฝั่งตะวันตกเมื่อเวลา 5.32 น. ในวันนั้น ฝูงชนขนาดมหึมาร่วมแสดงความดีใจที่การปิดกั้นสิ้นสุดลง นายพลเคลย์ผู้ซึ่งได้รับการประกาศการเกษียณจากประนาธิบดีทรูแมนเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมได้รับการสดุดีจากทหารอเมริกันจำนวน 11,000 นายและเครื่องบินอีกจำนวนมาก เมื่อเคลย์กลับถึงสหรัฐอเมริกาแล้ว เขาได้รับการเดินขบวนขนาดใหญ่ในนครนิวยอร์ก ได้รับเชิญให้กล่าวสุนทรพจน์ในรัฐสภา และได้รับการประดับเหรียญเกียรติยศจากทรูแมนอีกด้วย

การขนส่งทางอากาศยังดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อสร้างเสบียงเผื่อไว้ เพื่อว่าหากมีเหตุจำเป็นเกิดขึ้น การขนส่งทางอากาศรอบใหม่จะสามารถเริ่มต้นได้อย่างง่ายดาย วันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1949 เสบียงสำรองก็ทำให้ทั้งเมืองอยู่ต่อได้อีก 3 เดือน การขนส่งทางอากาศสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1949 หลังจากปฏิบัติงานมา 15 เดือน สหรัฐอเมริกาได้ขนส่งเสบียงทั้งหมด 1,783,573 ตัน อังกฤษขนส่งเสบียง 541,937 ตัน รวมทั้งหมด 2,326,406 ตัน ด้วยเที่ยวบินสู่กรุงเบอร์ลินทั้งหมด 278,228 เที่ยว รวมระยะทางการบินทั้งหมดกว่า 92 ล้านไมล์ซึ่งเกือบจะเท่ากับระยะทางจากโลกสู่ดวงอาทิตย์[8]

มีลูกเรือเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติภารกิจทั้งหมด 101 คน เป็นนักบินอังกฤษ 39 คน และนักบินอเมริกัน 31 คน ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการชนกัน เครื่องบินของอเมริกา 17 ลำและเครื่องบินของอังกฤษ 8 ลำชนระหว่างปฏิบัติการ

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Why Stalin Rejected Marshall Aid
  2. Airbridge to Berlin, "Background on Conflict" chapter
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Airbridge to Berlin, Chartper 11
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 The Berlin Airlift
  5. 5.0 5.1 5.2 The Berlin Airlift
  6. MAC and the Legacy of the Berlin Airlift
  7. 7.0 7.1 Fifty years ago, a massive airlift into Berlin showed the Soviets that a post-WWII blockade would not work, C.V. Glines
  8. Berlin Airlift: Logistics, Humanitarian Aid, and Strategic Success เก็บถาวร 2007-01-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Major Gregory C. Tine, Army Logisrician
  • Robert E. Griffin and D. M. Giangreco, Airbridge to Berlin : The Berlin Crisis of 1948, Its Origins and Aftermath, Presidio Press, 1988. ISBN 0-89141-329-4. อ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ที่ Airbridge to Berlin เก็บถาวร 2002-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  • Launius, Roger D. and Coy F. Cross II MAC and the Legacy of the Berlin Airlift. Scott Air Force Base IL: Office of History, Military Airlift Command, 1989.
  • Luc De Vos and Etienne Rooms, Het Belgisch buitenlands beleid: Geschiedenis en actoren, Acco, 2006. ISBN 90-334-5973-6.