ข้ามไปเนื้อหา

คณะผู้เลือกตั้ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คณะผู้เลือกตั้ง (อังกฤษ: electoral college) คือองค์คณะผู้เลือกตั้งซึ่งได้รับเลือกมาเพื่อทำหน้าที่เลือกผู้สมัครสำหรับดำรงตำแหน่งสำคัญ ซึ่งโดยปกติแล้วมักเป็นผู้แทนองค์การ พรรคการเมือง หรือหน่วยงานต่าง ๆ โดยที่ในแต่ละองค์การ พรรคการเมือง หรือหน่วยงานนั้น ๆ จะมีคณะผู้เลือกตั้งจำนวนหนึ่งเป็นผู้แทน หรือมีคะแนนเสียงซึ่งออกเสียงลงคะแนนในทางใดทางหนึ่ง

ที่มาในอดีต

[แก้]
เจ้านครรัฐผู้คัดเลือกอันประกอบเป็นคณะผู้เลือกตั้งแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

ในกฎหมายเจอร์แมนิกยุคแรกนั้นกล่าวถึงกษัตริย์จะพึงเป็นผู้นำได้ด้วยการสนับสนุนของเหล่าขุนนาง ดังนั้น เปลายูจึงได้รับการเลือกตั้งโดยขุนนางชาววิซิกอทก่อนที่จะได้ขึ้นเสวยราชย์เป็นกษัตริย์แห่งอัสตูเรียส และกรณีเดียวกันกับพระเจ้าเปแป็งพระวรกายเตี้ยที่ได้รับเลือกโดยขุนนางชาวแฟรงก์เพื่อเป็นกษัตริย์พระองค์แรกในราชวงศ์การอแล็งเฌียง ในขณะที่เหล่าชาติเจอร์แมนิกอื่น ๆ ได้พัฒนาระบบการสืบราชสันตติวงศ์อย่างรัดกุมในช่วงก่อนสิ้นสหัสวรรษแรก อย่างไรก็ตามจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์นั้นไม่ได้เป็นเช่นนั้น และกษัตริย์แห่งชาวโรมันซึ่งมักจะได้เสวยราชย์เป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์โดยการแต่งตั้งของพระสันตะปาปานั้นจะได้รับการคัดเลือกโดยองค์คณะเจ้านครรัฐผู้คัดเลือกตั้งแต่สมัยกลางตอนปลายจนถึง ค.ศ.​ 1806 (การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นใน ค.ศ.​ 1792)

คณะผู้เลือกตั้งในปัจจุบัน

[แก้]

ประเทศต่าง ๆ ที่มีเขตการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ซับซ้อนอาจเลือกประมุขแห่งรัฐโดยวิธีการใช้คณะผู้เลือกตั้งแทนการเลือกตั้งทางตรง

สันตะสำนัก

[แก้]

ในเขตปกครองของสันตะสำนัก ซึ่งมีนครรัฐวาติกันเป็นดินแดนหลักนั้น สมาชิกในคณะพระคาร์ดินัลซึ่งประกอบด้วยพระคาร์ดินัลที่มีอายุต่ำกว่า 80 ปี ดำเนินการเลือกตั้งพระสันตะปาปาในการประชุมเลือกสันตะปาปา โดยพระสันตะปาปานั้นถือเป็นผู้นำสูงสุดของนครรัฐวาติกัน การเลือกพระสันตะปาปาจึงถือเป็นการเลือกตั้งผู้ปกครองสูงสุดเช่นในประเทศอื่น ๆ

สหรัฐ

[แก้]
คะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้งแบ่งตามแต่ละรัฐ ในการแบ่งเขตเลือกตั้งภายหลังจากการสำรวจจำนวนประชากรใน ค.ศ. 2010

คณะผู้เลือกตั้งสหรัฐเป็นตัวอย่างของระบบซึ่งประธานาธิบดีที่เป็นผู้นำฝ่ายบริหารนั้นมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม[1] โดยคณะผู้เลือกตั้งเป็นผู้แทนของทั้ง 50 รัฐ และวอชิงตัน ดี.ซี. คะแนนเสียงของประชาชนจะเป็นตัวกำหนดจำนวนผู้เลือกตั้ง ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีผ่านทางคณะผู้เลือกตั้ง โดยแต่ละรัฐจะได้รับจำนวนผู้เลือกตั้งเท่ากับจำนวนผู้แทนในสภา (รวมทั้งสองสภา) ส่วนในวอชิงตัน ดี.ซี. ให้ถือเป็นเสมือนรัฐ แต่มีจำนวนผู้เลือกตั้งได้ไม่เกินรัฐที่มีประชากรน้อยที่สุด ซึ่งในระบบนี้ผู้เลือกตั้งทั้งหมดจะออกเสียงลงคะแนนให้กับผู้ชนะคะแนนนิยมในรัฐของตน ยกเว้นในรัฐเมนและเนแบรสกา ซึ่งผู้เลือกตั้งบางคนสามารถออกเสียงลงคะแนนให้กับผู้สมัครที่ชนะคะแนนนิยมในรัฐ และบางคนออกเสียงลงคะแนนให้กับผู้ชนะคะแนนนิยมในเขตเลือกตั้งนั้น ๆ แทนก็ได้[2] อย่างไรก็ตาม ในอีกหลายรัฐนั้นไม่ได้บังคับเป็นกฎหมาย ในสหรัฐนั้น ผู้สมัครประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อย 270 เสียงจากผู้เลือกตั้งทั้งหมด 538 เสียง เพื่อจะชนะการเลือกตั้ง[3] หากไม่มีผู้สมัครรายใดได้คะแนนถึง 270 เสียง สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ (สภาล่าง) จะเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีแทนโดยผู้แทนในแต่ละรัฐจะมีคะแนนเสียงคนละหนึ่งคะแนน ส่วนวุฒิสภาสหรัฐทำหน้าที่เลือกรองประธานาธิบดี[4]

ฝรั่งเศส

[แก้]

ในประเทศฝรั่งเศส คณะผู้เลือกตั้งได้รับการจัดตั้งขึ้นเฉพาะกาล โดยเรียกว่า กร็องเซแล็กเตอร์ (ฝรั่งเศส: grands électeurs) อันประกอบด้วยผู้แทนจากท้องถิ่นที่มีที่มาจากการเลือกตั้ง (ได้แก่ ระดับจังหวัด ระดับแคว้น และเทศมนตรี) โดยตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5 เป็นต้นมานั้น กร็องเซแล็กเตอร์มีหน้าที่เลือกสมาชิกวุฒิสภา[5] ก่อนหน้าการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญใน ค.ศ. 1962 ประธานาธิบดีนั้นมาจากการเลือกตั้งโดยกร็องเซแล็กเตอร์ และก่อนหน้าการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1958 ประธานาธิบดีฝรั่งเศสมาจากการเลือกตั้งโดยรัฐสภาฝรั่งเศส

คณะผู้เลือกตั้งในอดีต

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Collin, Richard Oliver; Martin, Pamela L. (2012-01-01). An Introduction to World Politics: Conflict and Consensus on a Small Planet (ภาษาอังกฤษ). Rowman & Littlefield. ISBN 9781442218031.
  2. "About the electors". National Archives. 27 August 2019.
  3. "Frequently Asked Questions". National Archives. 19 September 2019.
  4. "Why Do We Still Have the Electoral College? — Alexander Keyssar". www.hup.harvard.edu (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-24. สืบค้นเมื่อ 2021-10-24.
  5. "Mode d'élection des Sénateurs - Sénat". www.senat.fr.