ข้ามไปเนื้อหา

ศาสนาพุทธในประเทศพม่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ထေရဝါဒဗုဒ္ဓသာသနာ
เถรวาทพุทธศาสนา
သာသနာ့အလံတော်
ธงศาสนา
เจดีย์ชเวดากองที่มีชื่อเสียงในย่างกุ้ง ประเทศพม่า
ศาสนิกชนรวม
ประมาณ48 ล้านคน (90%) ใน พ.ศ. 2559[1]
ภูมิภาคที่มีศาสนิกชนจำนวนมาก
ทั่วประเทศพม่า
ศาสนา
พุทธศาสนานิกายเถรวาท
ภาษา
พม่าและภาษาอื่น ๆ

ศาสนาพุทธ (พม่า: ဗုဒ္ဓဘာသာ) นิกายเถรวาท (พม่า: ထေရဝါဒဗုဒ္ဓဘာသာ) เป็นศาสนาประจำชาติพม่าตั้งแต่ พ.ศ. 2504[2] มีผู้นับถือโดยประมาณ 90% ของประชากรภายในประเทศ[3][4] เป็นประเทศที่นับถือศาสนาพุทธมากที่สุดในแง่ของสัดส่วนพระสงฆ์ต่อประชากรและสัดส่วนของรายได้ที่ใช้ในศาสนา[5] พบการนับถือมากในหมู่ชาวพม่า, ฉาน, ยะไข่, มอญ, กะเหรี่ยง, และชาวจีนในพม่า พระภิกษุเป็นที่เคารพบูชาทั่วไปของสังคมพม่า ในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศพม่า ได้แก่ ชาวพม่า และ ฉาน พุทธศาสนาเถรวาทมักเกี่ยวข้องกับการนับถือ นะ (วิญญาณ) และสามารถเข้าแทรกแซงกิจการทางโลกได้

พุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศพม่าเมื่อคราวที่พระเจ้าอโศกมหาราชอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 236 ได้ส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่ศาสนาพุทธในแถบสุวรรณภูมิ ประเทศต่าง ๆ รวม 9 สายด้วยกัน พม่าก็อยู่ในส่วนของสุวรรณภูมิด้วย และชาวพม่ายังเชื่อว่า สุวรรณภูมิ มีศูนย์กลางอยู่ที่ เมืองสะเทิม อาณาจักรมอญทางตอนใต้ของพม่า จากประวัติศาสตร์ทราบได้ว่า พุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในพม่าราวพุทธศตวรรษที่ 6 เพราะได้พบหลักฐานเป็นคำจารึกภาษาบาลี และจารึกเกี่ยวกับศาสนาพุทธ

ประวัติ

[แก้]
เจดีย์ชเวดากอง ถูกสร้างขึ้นในสมัยมอญเรืองอำนาจ

ศาสนาพุทธที่เผยแผ่เข้าสู่ดินแดนประเทศพม่าในระยะแรก คือศาสนาพุทธลัทธิเถรวาทหรือนิกายหินยาน ได้เข้าไปประดิษฐานที่เมืองสุธรรมบุรีหรือเมืองสะเทิม ซึ่งเป็นเมืองของชาวมอญทางตอนใต้ของประเทศ ส่วนชาวพม่าตอนเหนือมีเมืองพุกามเป็นเมืองหลวง

ศาสนาพุทธเถรวาทในพม่ากล่าวว่า พ่อค้าชาวมอญสองนายจากบริเวณพม่าตอนล่างได้เส้นพระเกศาของพระพุทธเจ้านำมาประดิษฐานไว้ในวัดเล็ก ๆ วัดหนึ่ง ต่อมาเป็นที่สร้างเจดีย์พระเกศาธาตุหรือเจดีย์ชเวดากอง[6]

ส่วนศาสนาพุทธลัทธิอาจริยวาทหรือนิกายมหายานได้เผยแผ่มาจากแคว้นเบงกอลและโอริศาของอินเดีย พระภิกษุมอญมีส่วนในการสร้างอาณาจักรพม่าในยุคแรก ดังที่หนังสือประวัติศาสตร์พม่าบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “ในพุทธศักราช 1587 (ค.ศ. 1044) พระเจ้าอนุรุทธะ (พระเจ้าอโนรธา) ขึ้นครองราชย์ที่กรุงพุกาม ซึ่งตั้งอยู่ตรงใต้จุดบรรจบของแม่น้ำอิรวดีกับแม่น้ำซินต์ พระเจ้าอนุรุทธะไม่ทรงพอพระทัยในศาสนาที่ประชาชนนับถืออยู่ในขณะนั้น ซึ่งเป็นศาสนาที่มีส่วนผสมปนเปของหลักศาสนาพุทธนิกายมหายานกับความเกรงกลัวอำนาจธรรมชาติแบบพื้นเมือง ซึ่งพระองค์ไม่เห็นด้วย ในขณะนั้นพระภิกษุมอญรูปหนึ่งชื่อพระชินอรหันต์ได้เดินทางมายังอาณาจักรพุกาม ท่านเป็นผู้หนึ่งในหมู่ชนจำนวนน้อยที่ไม่นิยมรับความเชื่อแบบฮินดูที่เมืองสะเทิม ในเวลานั้นไม่นานนักพระชินอรหันต์ก็สามารถชักนำให้พระอนุรุทธะหันมานับถือศาสนาพุทธเถรวาทได้”[7]

เจดีย์ชเวซี่โกน ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อ

เมื่อขึ้นครองราชย์ประชาชนมีความเชื่อหลากหลาย แต่สงบได้เพราะพุทธศาสนา ดังที่อ้างไว้ตอนที่พระเจ้าอโนรธายังมิได้ขึ้นครองบัลลังก์นั้นเมืองพุกามยังมีความเชื่อถือผิด ๆ โดยเฉพาะความเชื่อแบบพวกอะยี ซึ่งกำลังครอบงำแผ่นดินพุกามอยู่ขณะนั้น เมื่อพระเจ้าอโนรธาขึ้นครองบัลลังก์และทรงปรารถนาในศาสนาอันชอบ ในเพลาเดียวกันนั้นพระชินอรหันต์ได้เดินทางจาริกจากเมืองสะเทิมมาเผยแผ่ศาสนายังเมืองพุกาม จึงทรงขอร้องให้พระชินอรหันต์เผยแผ่ศาสนาในพุกาม ด้วยความช่วยเหลือของพระชินอรหันต์ พระเจ้าอโนรธาจึงสามารถกำจัดความเชื่อของเหล่าอะยีลงได้ พวกอะยีถูกจับสึกแล้วให้คนเหล่านั้นรับใช้ในงานอันควรแก่อาณาจักรต่อไป ด้วยเหตุผลนี้ความเชื่อแบบอะยีจึงค่อย ๆ หมดไปจากพุกาม พระเจ้าอโนรธาทำให้ประชาชนทั่วแผ่นดินพุกามหันมานับถือพุทธศาสนา และยังเป็นการรวมชาติโดยผนึกความเชื่อต่าง ๆ ให้เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ หากไม่มีความเชื่อใหม่คือศาสนาพุทธก็ยากที่จะรวมชาติได้ หลังรวบรวมดินแดนของชาวพม่าให้เป็นปึกแผ่นได้สำเร็จ พระเจ้าอโนรธายังได้จัดทัพไปตีได้เมืองสะเทิมของชาวมอญ พร้อมกับอันเชิญพระภิกษุสงฆ์ พระไตรปิฎก และพระเถระผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์จากเมืองสะเทิมไปยังเมืองพุกาม พระเถระชาวมอญซึ่งชำนาญในคัมภีร์ได้ช่วยพระชินอรหันต์เป็นอย่างมากในการเผยแผ่พุทธศาสนาให้เป็นที่แพร่หลาย นอกจากนี้พระเจ้าอโนรธามังช่อยังได้ทรงส่งสมณทูตไปติดต่อกับลังกา และเชิญไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์มาจากลังกามาด้วย พระเจ้าอโนรธามิได้สร้างเจดีย์เฉพาะในพุกามแต่ยังทรงสร้างเจดีย์ในทุกที่ที่เสด็จไปถึง ในบรรดาเจดีย์เหล่านี้เจดีย์ที่โดดเด่นที่สุดคือ เจดีย์ชเวซี่โกน

การที่จะให้พุทธศาสนาแพร่หลาย พระเจ้าอโนรธายังทรงให้มีการศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกกันในวัด พุทธศาสนาที่พระเจ้าอโนรธาได้ทรงอุปถัมภ์นั้นยังมั่นคงมาได้จวบจนปัจจุบัน การนำพุทธศาสนาจากแผ่นดินของชาวมอญสู่พุกามนั้น พม่ายกย่องพระชินอรหันต์ภิกษุมอญเป็นดุจผู้ส่องไฟนำทาง พระเจ้าอโนรธาเป็นดุจผู้หว่านเมล็ดแห่งพุทธศาสนาบนดินแดนพม่า ส่วนเหล่าอะยีนั้นถูกตีตราให้เป็นพวกมิจฉาทิฐิ โดยประมาณว่าเป็นกลุ่มนักบวชที่แผ่อิทธิพลเหนือชาวบ้านด้วยการเอานรกมาขู่ ยกสวรรค์มาอ้าง และหากินกับลาภสักการระ การนำพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมาสู่อาณาจักรของชาวพม่านั่นจึงถือเป็นการทำลายอำนาจมืดจากความเชื่อผิด ๆ ภาพของพระเจ้าอโนรธาในแบบเรียนจึงเป็นภาพปฏิวัติทางความคิดเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมของชาวพุทธพม่า[8]

ทุกแห่งหนที่พระเจ้าอนุรทธะทรงได้ชัยชนะในการสงคราม แทนที่พระองค์จะสร้างเสาหินแห่งชัยชนะไว้ กลับสร้างอิฐจารึกบทสวดมนต์ในศาสนาพุทธเป็นภาษาบาลีหรือสันสกฤต และพระนามาภิไธยเป็นภาษาสันสกฤต และทำให้พุกามกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษานิกายเถรวาท[9]

ความมั่งคั่งในอาณาจักรพุกามทำให้มีการสร้างวัดนับไม่ถ้วนในพุกาม และยังมีปรากฏให้เห็นในปัจจุบันประมาณห้าพันวัด ส่วนเจดีย์ในพุกามมีสองประเภทใหญ่ ๆ คือแบบเจดีย์ตันและแบบกลวงหรือถ้ำจำลอง เจดีย์แรกคือเจดีย์ชเวซี่โกนของพระเจ้าอนุรทธะ มีลักษณะเป็นรูปกรวยสูง มีฉัตรทองกั้นอีกชั้นหนึ่ง ทั้งเจดีย์ปิดทองมีมณีมีค่าประดับฉัตรบนยอดเจดีย์ [10]

หลังยุคพระเจ้าอโนรธาเป็นต้นมา กษัตริย์ของพม่าองค์ต่อ ๆ มาทรงให้ความสำคัญต่อศาสนาพุทธ ดังที่หม่องอ่องกล่าวว่า “พระเจ้ามินดงทรงโปรดให้จารึกพระไตรปิฎกทั้งชุด รวมทั้งคำอธิบายลงบนแผ่นหินกว่า 5,000 แผ่น และทรงสนับสนุนพระสงฆ์ผู้เคร่งวินัยให้อพยพไปพม่าตอนล่าง”[11] พระภิกษุบางรูปเคยได้รับการคัดเลือกให้เป็นกษัตริย์ครองราชย์บัลลังก์ ดังเช่นเรื่องของ พระธรรมเจดีย์ กษัตริย์สมัยอาณาจักรหงสาวดีของชาวมอญ เมื่อพระนางเชงสอบูทรงเลือกบาตรใหญ่สองใบ ใบหนึ่งบรรจุอาหารที่จัดสรรอย่างวิเศษ และอีกใบหนึ่งใส่เครื่องราชอิสริยยศ พระนางก็ทรงนิมนต์พระภิกษุทั้งสอง คือพระธรรมเจดีย์บุตรบุญธรรมและพระธรรมปาละ มาบิณฑบาตในท้องพระโรงต่อหน้าข้าราชสำนักที่แต่งเต็มยศอย่างงดงามตระการตายิ่ง เมื่อพระทั้งสองรูปมาถึงและให้เลือกบาตรคนละใบ พระธรรมเจดีย์เลือกได้บาตรที่ใส่เครื่องราชอิสริยยศและได้รับเลือกเป็นกษัตริย์จึงต้องสึก เพื่ออภิเษกสมรสกับพระธิดาของพระนางเชงสอบูและรับราชบัลลังก์ (ค.ศ. 1472)[12]

ซุ้มจารึกพระไตรปิฎก ซึ่งจำรึกลงบนแผ่นหินอ่อน ถูกสร้างขึ้นสมัยพระเจ้ามินดง บริเวณวัดกุโสดอ

ในรัชสมัยของพระเจ้าธรรมเจดีย์ กษัตริย์สมัยอาณาจักรหงสาวดีของชาวมอญทางตอนใต้ขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงพระราชดำริว่าศาสนาพุทธในดินแดนมอญขณะนั้นเสื่อมลงมาก จึงโปรดให้มีการชำระปฏิรูปศาสนาพุทธให้บริสุทธิ์ โดยทรงให้ภิกษุทุกรูปในดินแดนมอญลาสิกขา แล้วรับการอุปสมบทใหม่จากพระอุปัชฌาย์และพระอันดับที่ล้วนได้รับการอุปสมบทจากลังกา แต่หลังจากนั้นศาสนาพุทธในประเทศพม่าก็เสื่อมลงอีก สาเหตุทั้งเนื่องจากสงครามระว่างพม่าด้วยกันเอง และสงครามระหว่างพม่ากับมอญ กระทั่งถึงประมาณ พ.ศ. 2300 เมื่อพระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่าได้ยกทัพไปทำลายกรุงหงสาวดีอย่างราบคาบ ทำให้ชนชาติมอญสูญสิ้นอำนาจลงอย่างเด็ดขาด หลังสงครามศาสนาพุทธในพม่าได้รับการทำนุบำรุงจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในสมัยพระเจ้ามินดง (พ.ศ. 2395–2420) พระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนาพระไตรปิฎกที่พม่าระหว่าง พ.ศ. 2411–2414 ณ เมืองมัณฑะเลย์ และโปรดเกล้า ฯ ให้จารึกพระไตรปิฎกลงบนแผ่นหินอ่อนแล้วทำมณฑปครอบไว้ ซึ่งยังปรากฏอยู่ที่วัดกุโสดอ เชิงเขามัณฑะเลย์ จนถึงทุกวันนี้ ปี พ.ศ. 2429 พม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกล้มล้างลง จึงส่งผลให้ศาสนาพุทธได้รับผลกระทบตามไปด้วย แต่ถึงกระนั้นประชาชนในพม่าก็ยังคงเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาพุทธอย่างแนบแน่นตลอดมา จนเมื่อพม่าได้รับเอกราชใน พ.ศ. 2591 ฯพณฯ อู นุ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎก เมื่อ พ.ศ. 2493 และต่อมารัฐบาลได้ออกกฎหมายรับรองให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในปี พ.ศ. 2500 ปัจจุบันศาสนาพุทธที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลพม่ามีจำนวน 9 นิกาย เช่น นิกายสุธรรมมา เป็นต้น[13]

หม่องทินอ่อง นักประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า “พระเจ้าอโศกทรงส่งสมณทูตไปยังดินแดนที่ห่างไกลหลายแห่งด้วยกัน สมณทูตคณะหนึ่งไปเผยแผ่ศาสนาพุทธให้แก่ประชาชนในสุวรรณภูมิ เมืองหลวงของสุวรรณภูมิคือเมืองสะเทิม (Thaton) ในพม่าตอนล่าง ในขณะที่ประวัติศาสตร์ไทยเชื่อกันว่าจุดศูนย์กลางของสุวรรณภูมิอยู่ที่นครปฐม โดยมีโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น พระปฐมเจดีย์[14]

นักประวัติศาสตร์ไทยบางท่านมีความเชื่อสอดคล้องกับนักประวัติศาสตร์พม่าโดยได้บันทึกไว้ว่า “พระเจ้าอโศกได้ส่งสมณทูตเก้าสายไปเผยแผ่ศาสนาพุทธ พระโสณะและพระอุตระไปสุวรรณภูมิ คือบริเวณเมืองสะเทิมของมอญและเมืองไทยตลอดจนแหลมมลายู ในคัมภีร์มหาวงศ์ของลังการะบุว่าดินแดนสุวรรณภูมิอยู่ห่างจากลังกา 700 โยชน์”[15]

จากประวัติศาสตร์บางตอนพบว่า พุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในพม่าในราวพุทธศตวรรษที่ 6 เพราะได้พบหลักฐานเป็นคำจารึกภาษาบาลี นักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งชื่อว่า ตารนาถ เสนอว่าศาสนาพุทธแบบเถรวาทได้เข้ามาสู่พม่าตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ต่อมาได้มีพระสงฆ์ฝ่ายมหายานซึ่งเป็นศิษย์ของพระวสุพันธุ ได้นำเอาศาสนาพุทธแบบมหายานลัทธิตันตระ เข้าไปเผยแผ่ ในครั้งนั้นพม่ามีเมืองพุกามเป็นเมืองหลวง มีชื่อเรียกชาวพม่าว่า "มรัมมะ" ส่วนชาวมอญ ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อ "สะเทิม" และถิ่นใกล้เคียงรวม ๆ เรียกว่า รามัญประเทศ หรือ อาณาจักรสุธรรมวดี จนศาสนาพุทธทั้งแบบเถรวาทที่เข้ามาก่อน และแบบมหายานที่เข้ามาทีหลังเจริญรุ่งเรืองในพม่าเป็นเวลาหลายร้อยปี[16]

การศึกษาพระปริยัติธรรมในพม่า

[แก้]
การสอบของพระภิกษุในเมืองพะโค

การศึกษาพระปริยัติธรรมในพม่าสมัยพระเจ้ามินดงนั้นมีการสอบโดยแบ่งเป็นสี่ชั้นคือ

  • ชั้นต้น ต้องสอบท่องคัมภีร์กัจจายนไวยากรณ์ ข กัณฑ์ ด้วยปากเปล่า อภิธานนัปปทีปิกา 1203 คาถา วุตโตทัยฉันโทปกรณ์ สุโพธาลังการอภิธรรมมัตถสังคหะ 9 ปริจเฉท มาติกา ธาตุกถา 14 นัย ยมก 5
  • ชั้นกลาง สอบท่องปากเปล่าคัมภีร์ในชั้นต้นทั้งหมดโดยเพิ่มยมกเป็น 10 ยมก
  • ชั้นสูง สอบแบบชั้นกลางแต่เพิ่มคัมภีร์ปัฏฐานแต่ต้นจนจบกุสลติกะ
  • ชั้นสูงสุด จะต้องสอบแข่งขันกันทั้งหมดเพื่อให้ได้ที่หนึ่งเพียงรูปเดียว จากนั้นพระเจ้ามินดงจะทรงอุปถัมภ์เป็นพระราชบุตร บิดามารดาพร้อมทั้งญาติถึง 15 ชั้น ได้รับการงดเว้นภาษีทุกด้าน[17]

ในงานวิจัยของโรเบิร์ต เอช เทย์เลอร์ อ้างว่า “ราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทรงใช้วิธีการสอนแบบสงฆ์ที่เรียกว่า “พระธรรมพยาน” ซึ่งมีวัตถุประสงฆ์เพื่อทดสอบความสามารถของพระสงฆ์ มาทดสอบความเหมาะสมในการเข้าดำรงตำแหน่งราชการ[18] การสอบของพระสงฆ์จึงเป็นวิธีการที่น่าเชื่อถือจนพระมหากษัตริย์ต้องเอาวิธีการสอบไปใช้

การสังคายนาพระไตรปิฎกในพม่า

[แก้]
มหาวิทยาลัยปริยัติศาสนา ในมัณฑะเลย์ ดำเนินการโดยกระทรวงการศาสนาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

ประเทศพม่ามีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกสิบครั้ง ซึ่งเป็นการกระทำร่วมกันของประเทศที่นับถือศาสนาพุทธเถรวาท ดังหลักฐานบันทึกไว้ว่า “ประเทศที่นับถือศาสนาพุทธฝ่ายเถรวาทได้มีเหตุการณ์สำคัญทางศาสนาพุทธที่เกิดขึ้นในพม่าร่วมกัน คือการสังคายนาพระไตรปิฎก ณ เมืองมัณฑะเลย์ เมื่อ พ.ศ. 2414 เป็นการสังคายนาครั้งแรกในพม่า แต่พม่านับว่าเป็นครั้งที่ 5 ต่อจากจารึกลงในใบลานของลังกา สังคายนาครั้งนี้มีการจารึกพระไตรปิฎกลงในแผ่นหินอ่อน 429 แผ่น ณ เมืองมัณฑะเลย์ ด้วยการอุปถัมภ์ของพระเจ้ามินดง มีพระมหาเถระ 3 รูป คือพระชาคราภิวังสะ พระนรินทาภิธชะ และพระสุมังคลสามี ได้พลัดเปลี่ยนกันเป็นประธานโดยลำดับ มีพระสงฆ์และพระอาจารย์ผู้แตกฉานในพระปริยัติธรรมร่วมประชุม 2,400 ท่าน กระทำอยู่ 5 เดือน จึงสำเร็จ[19]

ส่วนการทำสังคายนาครั้งที่ 2 ในพม่าหรือที่พม่านับว่าเป็นครั้งที่ 6 ที่เรียกว่าฉัฎฐสังคายนา เริ่มกระทำเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 จนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 เป็นอันปิดงาน ในการปิดงานได้กระทำร่วมกับการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (การนับปีเร็วกว่าไทย 1 ปี จึงเริ่มเท่ากับ พ.ศ. 2498 ปิด พ.ศ. 2500 ตามที่พม่านับ) การทำสังคายนาครั้งนี้มุ่งพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นข้อแรกแล้วจะจัดพิมพ์อรรถกถา (คำอธิบายพระไตรปิฎก) และคำแปลเป็นภาษาพม่าโดยลำดับ มีการโฆษณาเชิญชวนพุทธศาสนิกชนหลายประเทศไปร่วมพิธีด้วย โดยเฉพาะประเทศเถรวาท คือ พม่า ลังกา ไทย ลาว เขมร ทั้งห้าประเทศนี้สำคัญสำหรับการทำสังคายนาครั้งนี้มาก เพราะใช้พระไตรปิฎกภาษาบาลีอย่างเดียวกัน จึงได้มีสมัยการประชุมซึ่งประมุขหรือผู้แทนของประเทศเหล่านี้เป็นหัวหน้า เช่นเป็นสมัยของไทย สมัยของลังกา เป็นต้น ได้มีการก่อสร้างคูหาจำลองทำด้วยคอนกรีต จุคนได้หลายพันคน มีที่นั่งสำหรับพระสงฆ์ไม่น้อยกว่า 2,500 ที่ บริเวณที่ก่อสร้างประมาณ 200 ไร่เศษ เมื่อเสร็จแล้วได้แจกจ่ายพระไตรปิฎกฉบับอักษรพม่าไปให้ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย[20]

ศาสนาพุทธในพม่ามีความเกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การเจริญหรือเสื่อมของคณะสงฆ์ก็ย่อมมีส่วนกับสถาบันกษัตริย์ด้วย ดังนั้นกษัตริย์จึงมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือการปฏิรูปสถาบันสงฆ์ ดังที่มีการบรรยายถึงการปฏิรูปสถาบันสงฆ์ไว้ว่า “กษัตริย์พม่าได้ทรงริเริ่มการปฏิรูปศาสนา หรือการชำระสถาบันสงฆ์ให้บริสุทธิ์ เพื่อจะได้ยึดทรัพย์สมบัติของทางสงฆ์มาให้เป็นที่ยอมรับทั้งทางกฎหมายและสังคม คณะสงฆ์ที่ร่ำรวยย่อมหมายถึงว่าพระภิกษุไม่ได้ดำเนินชีวิตตามกฎของพระวินัย ดังนั้นการปฏิรูปจึงนับว่าถูกต้องชอบธรรมตามอุดมการณ์ เมื่อคณะสงฆ์บริสุทธิ์ขึ้นประชาชนก็จะมาทำบุญเพิ่มขึ้น เพราะบุญที่บุคคลจะได้ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ของพระภิกษุที่บุคคลนั้นนับถือ คณะสงฆ์เองก็จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณเพิ่มขึ้น เพราะโดยหลักการถือว่ากษัตริย์ต้องเป็นผู้ทรงปกป้องและอุปถัมภ์ค้ำจุนศาสนา ถ้าประชาชนและกษัตริย์ไม่ได้หันมาอุปถัมภ์ศาสนาพุทธ สุดท้ายจะนำกลับไปสู่ลัทธิการเป็นเจ้าของที่ดินของวัดและรัฐก็ต้องเข้ามาจัดการปฏิรูปคณะสงฆ์ใหม่หมุนเวียนไปไม่รู้จบ[21]

ศาสนาพุทธเถรวาทกับประเทศพม่ามีความผูกพันกันมาอย่างยาวนาน ต้องพานพบกับความเสื่อมและความเจริญ แต่ก็สามารถอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมพม่าเรื่อยมา มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ ตลอดจนมีการศึกษาศาสนาพุทธมาโดยตลอด แม้ว่าในปัจจุบันพม่าจะไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเหมือนในอดีต คณะสงฆ์พม่าก็ยังมีอิทธิพลสำหรับประชาชน ดังจะเห็นได้จากการเป็นผู้นำในการเดินขบวนเรียกร้องความเป็นธรรมจากอำนาจรัฐ คณะสงฆ์พม่ายังได้สร้างความสัมพันธ์กับประเทศที่นับถือศาสนาพุทธเถรวาทจากทั่วโลก ดังเช่นใน พ.ศ. 2500 ได้มีการก่อตั้งสมาคมศาสนาพุทธเถรวาทนานาชาติขึ้น และได้ประชุมครั้งแรกระหว่างช่วงวันที่ 9–11 มีนาคม พ.ศ. 2550 ที่เมืองย่างกุ้ง และประชุมที่เมืองสะกายเป็นครั้งที่สอง

อ้างอิง

[แก้]
  1. Department of Population Ministry of Labour, Immigration and Population MYANMAR (July 2016). The 2014 Myanmar Population and Housing Census Census Report Volume 2-C. Department of Population Ministry of Labour, Immigration and Population MYANMAR. pp. 12–15.
  2. "၁၉၆၁ ခုနှစ်၊ နိုင်ငံတော်ဘာသာသာသနာချီးမြှောက်ထောက်ပံ့ရေးအက်ဥပဒေ" [1961 year, State Religion Promotion Act]. Constitutional Tribunal of the Union, Law Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-25. สืบค้นเมื่อ 2022-09-02. တည်ဆဲဥပဒေဖြစ်ပါသည် [It is an existing law]
  3. "The World Factbook".
  4. "Burma—International Religious Freedom Report 2009". U.S. Department of State. 26 October 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 November 2009. สืบค้นเมื่อ 11 November 2009.
  5. Cone & Gombrich, Perfect Generosity of Prince Vessantara, Oxford University Press, 1977, page xxii
  6. (หม่องทินอ่อง,ประวัติศาสตร์พม่า,หน้า 6)
  7. (หม่องทินอ่อง,ประวัติศาสตร์พม่า, หน้า 32)
  8. (วิรัช นิยมธรรม,ประวัติศาสตร์พม่า)
  9. (หม่องทินอ่อน,ประวัติศาสตร์พม่า,หน้า 37)
  10. (หม่องทินอ่อน,ประวัติศาสตร์พม่า,หน้า 57)
  11. (หม่องทินอ่อน,ประวัติศาสตร์พม่า,หน้า 244)
  12. (หม่องทินอ่อง,หน้า 100)
  13. พระปลัดระพิน พุทธิสาโร (เขียนร่วม). พระพุทธศาสนาในประเทศพม่า : นิกาย การปกครอง และสมณศักดิ์-Buddhism in Myanmar : Sect, Controlling, and Priest’s Ranks. วารสาร มจร สังคมศาสตร์ปริทรรศน์ . ปีที่ 7 ฉบับที่ 2 (ฉบับพิเศษ) เมษายน – มิถุนายน 2561 Vol.7 No.2 (Special Issue) April- June 2017
  14. (สุชาติ หงษา ดร.,ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา,กรุงเทพ: ธรรมสภา,2549,หน้า 74)
  15. (อาทร จันทวิมล ดร., ประวัติของแผ่นดิน,กรุงเทพ : โรงพิมพ์อักษรไทย,2548,หน้า 55)
  16. (วิรัช นิยมธรรม,ประวัติพระพุทธศาสนาในพม่า )
  17. (พระธัมมานันทมหาเถระ,การศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศพม่า,กรุงเทพ ฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย : 2534 ,หน้า 264 )
  18. ( โรเบิร์ต เอช เทย์เลอร์ ( พรรณงาม เง่าธรรมสาร แปล ), รัฐในพม่า ,มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ,2550 หน้า 42)
  19. (สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน,กรุงเทพฯ : , มหามกุฎราชวิทยาลัย ,2539,หน้า 11)
  20. (สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน ,หน้า 12)
  21. (โรเบิร์ต เอช เทย์เลอร์ (พรรณงาม เง่าธรรมสาร แปล ), รัฐในพม่า ,มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย,2550,หน้า 70)

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]