สหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกา United States of America (อังกฤษ) | |
---|---|
คำขวัญ: คำขวัญอื่น ๆ:
| |
เมืองหลวง | วอชิงตัน ดี.ซี. 38°53′N 77°01′W / 38.883°N 77.017°W |
เมืองใหญ่สุด | นครนิวยอร์ก 40°43′N 74°00′W / 40.717°N 74.000°W |
ภาษาราชการ | ไม่มีในระดับสหพันธรัฐ[a] |
ภาษาประจำชาติ | อังกฤษ (โดยพฤตินัย) |
กลุ่มชาติพันธุ์ |
มิใช่ฮิสแปนิก หรือ ละติโน:[b]
ฮิสแปนิก หรือ ละติโน:
|
ศาสนา (ค.ศ. 2020)[9] |
|
เดมะนิม | ชาวอเมริกัน[c][10] |
การปกครอง | สหพันธ์สาธารณรัฐรัฐธรรมนูญ ระบบประธานาธิบดี |
โจ ไบเดิน (เดโมแครต) | |
กมลา แฮร์ริส (เดโมแครต) | |
ไมก์ จอห์นสัน (ริพับลิกัน ) | |
จอห์น รอเบิตส์ | |
สภานิติบัญญัติ | รัฐสภา |
• สภาสูง | วุฒิสภา |
• สภาล่าง | สภาผู้แทนราษฎร |
เป็นเอกราช จากบริเตนใหญ่ | |
• ประกาศ | 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 |
1 มีนาคม ค.ศ. 1781 | |
3 กันยายน ค.ศ. 1783 | |
21 มิถุนายน ค.ศ. 1788 | |
21 สิงหาคม ค.ศ. 1959 | |
พื้นที่ | |
• พื้นที่รวม | 9,833,520 ตารางกิโลเมตร (3,796,740 ตารางไมล์)[d][13] (อันดับที่ 3/4) |
4.66[14] | |
• พื้นที่ดินรวม | 3,531,905 ตารางไมล์ (9,147,590 ตารางกิโลเมตร) |
ประชากร | |
• ค.ศ. 2021 ประมาณ | 331,893,745[e][15] |
• สำมะโนประชากร ค.ศ. 2020 | 331,449,281[f][16] (อันดับที่ 3) |
87 ต่อตารางไมล์ (33.6 ต่อตารางกิโลเมตร) (อันดับที่ 185) | |
จีดีพี (อำนาจซื้อ) | ค.ศ. 2022 (ประมาณ) |
• รวม | 25.03 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[17] (อันดับที่ 2) |
• ต่อหัว | 75,179 ดอลลาร์สหรัฐ[17] (อันดับที่ 8) |
จีดีพี (ราคาตลาด) | ค.ศ. 2022 (ประมาณ) |
• รวม | 25.03 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[17] (อันดับที่ 1) |
• ต่อหัว | 75,179 ดอลลาร์สหรัฐ[17] (อันดับที่ 8) |
จีนี (ค.ศ. 2020) | 46.9[18] สูง |
เอชดีไอ (ค.ศ. 2021) | 0.921[19] สูงมาก · อันดับที่ 21 |
สกุลเงิน | ดอลลาร์สหรัฐ ($) (USD) |
เขตเวลา | UTC−4 ถึง −12, +10, +11 |
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง) | UTC−4 ถึง −10[g] |
รูปแบบวันที่ | ดด/วว/ปปปป[h] |
ไฟบ้าน | 110–120 โวลต์, 60 เฮิร์ซ[20] |
ขับรถด้าน | ขวา[i] |
รหัสโทรศัพท์ | +1 |
รหัส ISO 3166 | US |
เว็บไซต์ usa |
สหรัฐอเมริกา (อังกฤษ: United States of America; ย่อเป็น: U.S.A. หรือ USA) โดยทั่วไปเรียก สหรัฐ[21][22] หรือ สหรัฐฯ[23][24] (United States; ย่อเป็น: U.S. หรือ US) หรือ อเมริกา (America) เป็นสหพันธ์สาธารณรัฐซึ่งตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ ประกอบด้วยรัฐ 50 รัฐ เขตปกครองกลาง 1 เขต ดินแดนปกครองตนเองสำคัญ 5 ดินแดน รวมทั้งเขตสงวนอินเดียน 326 เขต และเกาะเล็กรอบนอกประเทศอีก 11 เกาะ[j] สหรัฐฯ มีพรมแดนทางทิศเหนือติดประเทศแคนาดา และทางทิศใต้ติดประเทศเม็กซิโก และยังมีพรมแดนทางทะเลติดประเทศหลายประเทศ การที่มีพื้นที่กว่า 9.8 ล้านตารางกิโลเมตร และประชากรราว 334 ล้านคน ทำให้สหรัฐมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก[k] และมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รวมทั้งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในทวีปอเมริกา เมืองหลวงของประเทศคือกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และนครใหญ่ที่สุดคือนิวยอร์กซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศ การปกครองส่วนกลางของสหรัฐฯ เป็นแบบสาธารณรัฐภายใต้รัฐธรรมนูญโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข และแบบประชาธิปไตยเสรีนิยม โดยแบ่งการปกครองเป็น 3 ฝ่ายแยกกัน คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ มีการให้อำนาจปกครองตนเองแก่รัฐต่าง ๆ ยกเว้นแต่ดินแดนทั้งหลาย และเขตปกครองเหล่านี้ได้รับการรับประกันว่าจะมีการปกครองแบบสาธารณรัฐ
อินเดียนดึกดำบรรพ์จากอียิปต์ย้ายถิ่นมาแผ่นดินใหญ่ทวีปอเมริกาเหนือเมื่อ 15,000 ปีก่อน การยึดเป็นอาณานิคมของยุโรปเริ่มในคริสต์ศตวรรษที่ 16 สหรัฐกำเนิดจากสิบสามอาณานิคมของบริเตนตามชายฝั่งตะวันออก ข้อพิพาทหลายครั้งระหว่างบริเตนใหญ่และอาณานิคมหลังสงครามเจ็ดปีนำสู่การปฏิวัติอเมริกาซึ่งเริ่มใน ค.ศ. 1775 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1776 ผู้แทนจาก 13 อาณาเขตลงมติรับคำประกาศอิสรภาพเป็นเอกฉันท์ ขณะที่อาณานิคมกำลังต่อสู้กับบริเตนใหญ่ในสงครามปฏิวัติอเมริกา สงครามยุติใน ค.ศ. 1783 โดยราชอาณาจักรบริเตนใหญ่รับรองเอกราชของสหรัฐฯ และเป็นสงครามประกาศอิสรภาพต่อจักรวรรดิอาณานิคมยุโรปที่ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกด้วย[30][31][32] มีการลงมติรับรัฐธรรมนูญของประเทศใน ค.ศ. 1788 หลังบทบัญญัติสมาพันธรัฐ (Articles of Confederation) ซึ่งมีการลงมติรับในปี 1781 รู้สึกว่าให้อำนาจแก่สหพันธรัฐไม่เพียงพอ ใน ค.ศ. 1791 มีการให้สัตยาบันการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสิบครั้งแรก ซึ่งเรียกรวมว่า รัฐบัญญัติสิทธิ ซึ่งออกแบบมาเพื่อประกันเสรีภาพพลเมืองพื้นฐานหลายข้อ
สหรัฐฯ เริ่มขยายดินแดนอย่างแข็งขันทั่วทวีปอเมริกาเหนือตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 19 ขับไล่เผ่าอเมริกันพื้นเมือง ซื้อดินแดนใหม่ และค่อย ๆ รับรัฐใหม่จนขยายทั่วทวีปใน ค.ศ. 1848[33] ระหว่างครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 สงครามกลางเมืองอเมริกานำให้ยุติความเป็นทาสตามกฎหมายในประเทศ[34][35] เมื่อถึงสิ้นศตวรรษนั้น สหรัฐฯ ขยายเข้ามหาสมุทรแปซิฟิก[36] และเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่เริ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว[37] และกลายเป็นชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกใน ค.ศ. 1900 สงครามสเปน–อเมริกาและสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยืนยันสถานภาพมหาอำนาจทางทหารโลกของสหรัฐฯ การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์โดยจักรวรรดิญี่ปุ่นนำสหรัฐเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ภายหลังสงครามยุติ สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นสองอภิมหาอำนาจโลกนำไปสู่ช่วงเวลาแห่งความขัดแย้ง เป็นผลให้เกิดสงครามเย็นซึ่งกินเวลาหลายทศวรรษ ทว่าไม่มีการสู้รบกันโดยตรง ทั้งสองชาติยังมีส่วนร่วมในการแข่งขันอวกาศนำไปสู่ต้นกำเนิดของอะพอลโล 11ของสหรัฐซึ่งนำมนุษย์เดินทางสู่ดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมืองซึ่งเริ่มต้นในทศวรรษ 1950 นำไปสู่การออกกฎหมายเพื่อล้มล้างกฎหมายของรัฐ รวมถึงขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติต่อชาวแอฟริกัน-อเมริกัน การสิ้นสุดลงของสงครามเย็นและการล่มสลายของสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. 1991 ส่งผลให้สหรัฐกลายเป็นอภิมหาอำนาจเดี่ยวของโลก[38] เหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน นำประเทศเข้าสู่สงครามต่อต้านการก่อการร้ายซึ่งรวมถึงสงครามอัฟกานิสถานและสงครามอิรัก
สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนามากที่สุดในโลก และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกตามอัตราจีดีพีมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 โดยคิดเป็นอัตราส่วนสูงถึง 15% ของเศรษฐกิจโลก และมีความมั่งคั่งสูงที่สุดในโลก สหรัฐได้รับการจัดอันดับสูงสุดในด้านดัชนีการพัฒนามนุษย์, คุณภาพชีวิต, รายได้, การศึกษา, อุตสาหกรรมการผลิต และสิทธิมนุษยชน สหรัฐเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของโลก และผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับสองของโลก เป็นผู้นำโลกทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ปัญญาประดิษฐ์, การแพทย์, การสำรวจอวกาศ และการบันเทิง[39] และเป็นมหาอำนาจทางอาวุธนิวเคลียร์และการทหารแนวหน้าของโลก โดยมีค่าใช้จ่ายทางการทหารมากถึงหนึ่งในสามของโลก[40] สหรัฐเป็นผู้ก่อตั้งสหประชาชาติ, ธนาคารโลก, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ, องค์การนานารัฐอเมริกา, เนโท, องค์การอนามัยโลก รวมทั้งเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ สหรัฐมีการทุจริตต่ำแต่มีอัตราการถูกจับสูงที่สุดในโลก สหรัฐฯ เป็นประเทศวัฒนธรรมที่โดดเด่นซึ่งขยายอิทธิพลไปทั่วโลก ถือเป็นประเทศอำนาจแข็งทางการเมือง และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้อพยพพลัดถิ่นเข้ามามากที่สุดในโลก[41][42] สหรัฐฯ มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามามากเป็นอันดับ 3 ของโลก[43]
นิรุกติศาสตร์
ในปี 1507 นักเขียนแผนที่ชาวเยอรมัน มาร์ติน วัลด์เซมึลเลอร์ ผลิตแผนที่โลกซึ่งเขาได้ตั้งชื่อดินแดนทางซีกโลกตะวันตกในแผนที่ดังกล่าวว่า "อเมริกา" ตามชื่อของนักสำรวจและนักเขียนแผนที่ชาวอิตาเลียน อเมริโก เวสปุชชี[44] หลักฐานเอกสารแรกของวลี "สหรัฐอเมริกา" มาจากจดหมายลงวันที่ 2 มกราคม 1776 ซึ่งสตีเฟน มอยแลน นายทหารผู้ช่วยของจอร์จ วอชิงตันและนายพลแห่งกองทัพภาคพื้นทวีป ส่งถึงพลโท โจเซฟ รีด มอยแลนแสดงความปรารถนาของเขาในการนำ "อำนาจเต็มและเกินพอของสหรัฐอเมริกา" ไปประเทศสเปนเพื่อสนับสนุนในความพยายามของสงครามปฏิวัติ[45] สิ่งพิมพ์เผยแพร่แรกเท่าที่ทราบของวลี "สหรัฐอเมริกา" อยู่ในความเรียงไม่ทราบผู้เขียนในหนังสือพิมพ์ เดอะเวอร์จิเนียกาเซต ในวิลเลียมสเบิร์ก เวอร์จิเนีย เมื่อวันที่ 6 เมษายน 1776[46]
เดิมอดีตอาณานิคมอังกฤษได้ใช้ชื่อเรียกสมัยใหม่ของประเทศในคำประกาศอิสรภาพ ("การประกาศอิสรภาพของสิบสามสหรัฐอเมริกาด้วยน้ำหนึ่งใจเดียวกัน") ประกาศใช้โดย "คณะผู้แทนสหรัฐอเมริกา" เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2319[47] ส่วนชื่อในปัจจุบันได้รับการสรุปเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2320 เมื่อสภานิติบัญญัติภาคพื้นทวีปที่สองได้ประกาศใช้ข้อบังคับแห่งสมาพันธรัฐ ความว่า "สมาพันธรัฐซึ่งตั้งขึ้นนี้ เรียกว่า "สหรัฐอเมริกา" ถ้อยคำมาตรฐานสั้น ๆ ซึ่งใช้เรียกสหรัฐอเมริกา คือ สหรัฐฯ (United States) และชื่อเรียกอีกหลายรูปแบบ ได้แก่ the U.S., the USA และ America คำว่า Columbia ก็เคยเป็นชื่อที่ได้รับความนิยมในการเรียกสหรัฐอเมริกา ซึ่งมาจากชื่อของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส และยังปรากฏในชื่อ "District of Columbia" อีกด้วย
สำหรับการเรียกสหรัฐอเมริกาของคนไทย ในอดีต เคยเรียกชื่อสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการว่า "สหปาลีรัฐอเมริกา"[48] ส่วนชื่ออื่นที่ใช้เรียกสหรัฐอเมริกา เช่น มะกัน ลุงแซม อินทรี พญาอินทรี เจ้าโลก หรือ ตำรวจโลก
ภาษาศาสตร์
ในภาษาอังกฤษ คำมาตรฐานซึ่งหมายถึงพลเมืองของสหรัฐอเมริกา คือ อเมริกัน (American) ถึงแม้ว่า United States จะเป็นคำคุณศัพท์อย่างเป็นทางการ แต่ทั้งคำว่า American และ U.S. เป็นคำคุณศัพท์อันเป็นที่นิยมมากกว่า ในการระบุถึงสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ อเมริกัน ยังอาจหมายถึง ทวีปอเมริกา อีกด้วย แต่มักจะถูกใช้น้อยมากในภาษาอังกฤษ เพื่อหมายความถึงประชากรซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับสหรัฐอเมริกา[49]
เดิม วลี "สหรัฐอเมริกา" ถือว่าเป็นคำพหูพจน์ (ใช้กับคำกริยา are, were, ...) — รวมทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 13 ซึ่งมีผลใช้บังคับในปี พ.ศ. 2408 อีกด้วย แต่คำดังกล่าวได้กลายมาเป็นคำเอกพจน์ (ใช้กับคำกริยา is, was, ...) — หลังจากยุคสงครามกลางเมือง และได้กลายมาเป็นรูปแบบมาตรฐานในปัจจุบัน แต่รูปแบบพหูพจน์ก็ยังคงปรากฏในสำนวน "these United States"[50]
ประวัติศาสตร์
ชนพื้นเมืองและประวัติศาสตร์ยุคก่อนโคลัมบัส
ผู้อยู่อาศัยในทวีปอเมริกาเหนือคนแรก ๆ ย้ายถิ่นจากไซบีเรียโดยทางสะพานบกเบริงและมาถึงอย่างน้อย 15,000 ปีมาแล้ว แม้มีหลักฐานเพิ่มขึ้นที่เสนอว่าอาจมาถึงก่อนหน้านั้นอีก[52] หลังข้ามสะพานบกแล้ว ชาวอเมริกันกลุ่มแรกย้ายลงใต้ โดยอาจตามชายฝั่งแปซิฟิก[53][54] หรือผ่านหิ้งปลอดน้ำแข็งในแผ่นดินระหว่างหิ้งน้ำแข็งคอร์ดิลเลอร์แรน (Cordilleran) และลอเรนไทด์ (Laurentide)[55] วัฒนธรรมโคลวิสปรากฏประมาณ 11,000 ปีก่อน และถือว่าเป็นบรรพบุรุษของวัฒนธรรมพื้นเมืองสมัยหลังของทวีปอเมริกาส่วนใหญ่[56] แม้คิดกันตลอดปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ว่าวัฒนธรรมโคลวิสเป็นตัวแทนของการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งแรกในทวีปอเมริกา[57] แต่ในช่วงปีหลัง ๆ ได้เปลี่ยนมาตระหนักถึงวัฒนธรรมก่อนโคลวิส[58]
ต่อมา วัฒนธรรมพื้นเมืองในทวีปอเมริกาเหนือเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น และบางวัฒนธรรมเช่น วัฒนธรรมมิสซิสซิปปีสมัยก่อนโคลัมบัสในทางตะวันออกเฉียงใต้ พัฒนาการกสิกรรมก้าวหน้า สถาปัตยกรรมใหญ่ และสังคมระดับรัฐ[59] ตั้งแต่ประมาณปี 800 ถึง 1600[60] วัฒนธรรมมิสซิสซิปปีเฟื่องฟู และนครใหญ่สุด คะโฮเคีย (Cahokia) ถือเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนโคลัมบัสที่ใหญ่และซับซ้อนที่สุดในสหรัฐปัจจุบัน[61] ในภูมิภาคเกรตเลกส์ทางใต้ มีการก่อตั้งสมาพันธรัฐอิระควอยในบางช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 12[62] ถึง 15[63] และอยู่มาจนสิ้นสงครามปฏิวัติ[64]
การตั้งถิ่นฐานหมู่เกาะฮาวายครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อใดนั้นยังเป็นหัวข้อการถกเถียงที่ยังดำเนินอยู่[65] หลักฐานโบราณคดีดูเหมือนบ่งชี้ว่ามีนิคมตั้งแต่ปี 124[66] ระหว่างการเดินเรือครั้งที่สามและครั้งสุดท้าย กัปตันเจมส์ คุกเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เริ่มการติดต่อกับฮาวายอยางเป็นทางการ[67] หลังการขึ้นฝั่งครั้งแรกในเดือนมกราคม 1778 ที่ท่าไวเมีย เกาะคาไว คุกตั้งชื่อกลุ่มเกาะนี้วา "หมู่เกาะแซนด์วิช" ตามเอิร์ลที่ 4 แห่งแซนด์วิช รักษาราชการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารเรือของราชนาวีบริติช[68]
นิคมยุโรป
หลังสเปนส่งโคลัมบัสในการล่องเรือเที่ยวแรกของเขาสู่โลกใหม่ ในปี 1492 ก็มีนักสำรวจอื่นตามมา ชาวยุโรปกลุ่มแรกที่มาถึงดินแดนของสหรัฐสมัยใหม่เป็นกองกิสตาดอร์สเปนอย่างควน ปอนเซ เด เลออน ซึ่งเดินทางถึงฟลอริดาครั้งแรกในปี 1513 ทว่า หากคิดดินแดนที่ไม่รวมเข้าด้วยกันของสหรัฐด้วยแล้ว ความชอบจะเป็นของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสซึ่งขึ้นฝั่งที่ปวยร์โตรีโกในการเดินทางปี 1493 ชาวสเปนตั้งนิคมแห่งแรกในฟลอริดาและนิวเม็กซิโกอย่างเซนต์ออกัสตีน[69] และแซนตาเฟ ชาวฝรั่งเศสตั้งอาณานิคมของตนเช่นกันตามแม่น้ำมิสซิสซิปปี การตั้งถิ่นฐานของชาวอังกฤษที่สำเร็จตามชายฝั่งตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือเริ่มด้วยอาณานิคมเวอร์จิเนียในปี 1607 ที่เจมส์ทาวน์ และอาณานิคมพลีมัทของพิลกริมในปี 1620 ผู้ตั้งถิ่นฐานจำนวนมากเป็นกลุ่มคริสต์ศาสนิกชนขัดแย้งที่มาแสวงเสรีภาพทางศาสนา มีการสร้างสภาเบอร์จัสซิส (House of Burgesses) แห่งเวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นสภานิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งแห่งแรกของทวีป ในปี 1619 และข้อตกลงร่วมกันเมย์ฟลาวเออร์ (Mayflower Compact) ซึ่งพิลกริมลงนามก่อนขึ้นฝั่ง และภาคีมูลฐานแห่งคอนเนกติคัด สถาปนาแบบอย่างสำหรับรูปแบบการปกครองตนเองแบบมีผู้แทนและระบอบรัฐธรรมนูญซึ่งจะพัฒนาทั่วอาณานิคมอเมริกา[70][71]
ผู้ตั้งถิ่นฐานส่วนมากในทุกอาณานิคมเป็นเกษตรกรรายย่อย แต่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นในไม่กี่ทศวรรษแตกต่างกันตามนิคม พืชเศรษฐกิจมียาสูบ ข้าวเจ้าและข้าวสาลี อุตสาหกรรมการสกัดเติบโตขึ้นในหนังสัตว์ การประมงและการทำไม้ ผู้ผลิตผลิตรัมและเรือ และเมื่อถึงสมัยอาณานิคมตอนปลาย ชาวอเมริกันก็ผลิตหนึ่งในเจ็ดของอุปสงค์เหล็กโลก[72] สุดท้ายนครต่าง ๆ ผุดขึ้นตามชายฝั่งเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นและใช้เป็นศูนย์กลางการค้า ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอังกฤษมีระลอกชาวสกอต-ไอริชและกลุ่มอื่นเข้ามาเสริม เมื่อที่ดินชายฝั่งมีราคาแพงขึ้นทำให้แรงงานสัญญา (indentured servant) ที่เป็นอิสระถูกผลักไปทางทิศตะวันตก[73]
การค้าทาสขนานใหญ่กับไพรวะเทียร์อังกฤษเริ่มต้น[74] การคาดหมายคงชีพของทาสในทวีปอเมริกาเหนือสูงกว่าทางใต้มาก เนื่องจากมีโรคน้อยกว่าและมีอาหารและการปฏิบัติที่ดีกว่า นำให้มีการเพิ่มจำนวนของทาสอย่างรวดเร็ว[75][76] สังคมอาณานิคมส่วนใหญ่แบ่งแยกกันระหว่างการส่อความทางศาสนาและศีลธรรมของความเป็นทาส และอาณานิคมผ่านรัฐบัญญัติทั้งสนับสนุนและคัดค้านทาส[77][78] แต่เมื่อย่างเข้าคริสต์ศตวรรษที่ 18 ทาสแอฟริกาก็เป็นแรงงานพืชเศรษฐกิจแทนที่แรงงานสัญญา โดยเฉพาะในภาคใต้[79]
ด้วยการทำให้จอร์เจียเป็นอาณานิคมของบริติชในปี 1732 จึงมีการสถาปนาสิบสามอาณานิคมที่จะกลายเป็นสหรัฐในเวลาต่อมา[80] ทุกอาณานิคมมีรัฐบาลท้องถิ่นและการเลือกตั้งที่เปิดแก่ชายไททุกคน โดยมีการฝักใฝ่สิทธิชนอังกฤษโบราณและสำนึกการปกครองตนเองที่กระตุ้นการสนับสนุนสาธารณรัฐนิยม[81] ด้วยอัตราการเกิดที่สูงมาก อัตราการตายที่ต่ำมากและการตั้งถิ่นฐานอย่างต่อเนื่อง ประชากรอาณานิคมจึงเติบโตอย่างรวดเร็ว ประชากรอเมริกันพื้นเมืองค่อนข้างน้อยถูกบดบัง[82] ขบวนการฟื้นฟูคริสต์ศาสนิกชน (Christian revivalist) คริสต์ทศวรรษ 1730 และ 1740 ที่เรียก การตื่นใหญ่ (Great Awakening) ช่วยเร่งความสนใจทั้งศาสนาและเสรีภาพในการนับถือศาสนา[83]
ระหว่างสงครามเจ็ดปี (หรือเรียก สงครามฝรั่งเศสและอินเดียน) กำลังบริติชยึดแคนาดาจากฝรั่งเศส แต่ประชากรที่พูดภาษาฝรั่งเศสยังโดดเดี่ยวทางการเมืองจากอาณานิคมทางใต้ 13 อาณานิคมเหล่านี้มีประชากรกว่า 2.1 ล้านคนหรือประมาณหนึ่งในสามของบริเตนในปี 1770 หากไม่นับอเมริกันพื้นเมืองซึ่งถูกพิชิตและขับไล่ แม้มีการเข้ามาใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่อัตราการเพิ่มตามธรรมชาติสูงจนเมื่อถึงคริสต์ทศวรรษ 1770 มีชาวอเมริกันน้อยมากที่เกิดโพ้นทะเล[84] ระยะห่างของอาณานิคมจากบริเตนทำให้มีการพัฒนาการปกครองตนเอง แต่ความสำเร็จของพวกเขาบันดาลให้พระมหากษัตริย์มุ่งย้ำพระราชอำนาจอยู่เป็นระยะ[85]
ในปี 1774 เรือกองทัพเรือสเปน ซานเตียโก ภายใต้ควน เปเรซเข้าและทอดสมอในทางเข้าที่นูตคาซาวน์ (Nootka Sound) แม้ชาวสเปนมิได้ขึ้นฝั่ง แต่ชนพื้นเมืองพายเรือมายังเรือสเปนเพื่อค้าหนังสัตว์แลกกับเปลือกแอบะโลนีจากแคลิฟอร์เนีย[86] ในเวลานั้น สเปนสามารถผูกขาดการค้าระหว่างทวีปเอเชียและอเมริกาเหนือได้โดยให้ใบอนุญาตจำกัดแก่โปรตุเกส เมื่อชาวรัสเซียเริ่มสถาปนาระบบการค้าหนังสัตว์ที่เติบโตขึ้นในอะแลสกา ชาวสเปนเริ่มคัดค้านรัสเซีย โดยการเดินเรือของเปเรซเป็นครั้งแรก ๆ ที่ไปแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ[87][l]
หลังมาถึงหมู่เกาะฮาวายในปี 1778 กัปตันคุกแล่นเรือขึ้นเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อสำรวจฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือซึ่งอยู่เหนือกว่านิคมสเปนในอัลตาแคลิฟอร์เนีย เขาขึ้นบกที่ฝั่งออริกอนที่ประมาณละติจูด 44°30′ เหนือ โดยตั้งชื่อจุดขึ้นบกนั้นว่า เคปเฟาล์เวเทอร์ ลมฟ้าอากาศเลวบังคับให้เรือของเขาลงใต้ไปประมาณ 43° เหนือก่อนสามารถเริ่มการสำรวจชายฝั่งไปทางเหนือ[89] ในเดือนมีนาคม 1778 คุกขึ้นบกที่เกาะไบล และตั้งชื่อทางเข้าว่า "คิงจอจส์ซาวด์" เขาบันทึกว่าชื่อชนพื้นเมือง คือ นุตคาหรือนูตคา[90]
ผลต่อและอันตรกิริยากับประชากรพื้นเมือง
ด้วยความคืบหน้าของการทำให้เป็นอาณานิคมของยุโรปในดินแดนสหรัฐฯ ร่วมสมัย อเมริกันพื้นเมืองมักถูกพิชิตและย้ายถิ่น[91] ประชากรพื้นเมืองของอเมริกาเสื่อมลงหลังชาวยุโรปมาถึง และด้วยหลายสาเหตุ จากโรคอย่างโรคฝีดาษและโรคหัดเป็นหลัก ความรุนแรงมิใช่ปัจจัยสำคัญในการเสื่อมลงโดยรวมในหมู่อเมริกันพื้นเมือง แม้มีความขัดแย้งระหว่างกันเองและกับชาวยุโรปมีผลต่อบางเผ่าและนิคมอาณานิคมต่าง ๆ[92][93][94][95][96][97]
ในช่วงแรกของการทำให้เป็นอาณานิคม ผู้ตั้งถิ่นฐานยุโรปจำนวนมากประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร โรคและการโจมตีจากอเมริกันพื้นเมือง อเมริกันพื้นเมืองยังมักก่อสงครามกับเผ่าใกล้เคียงและเป็นพันธมิตรกับชาวยุโรปในสงครามอาณานิคมของตนเอง ทว่า ในเวลาเดียวกัน ชนพื้นเมืองและผู้ตั้งถิ่นฐานจำนวนมากพึ่งพาอาศัยกัน ผู้ตั้งถิ่นฐานแลกเปลี่ยนเอาอาหารและหนังสัตว์ ส่วนชนพื้นเมืองแลกเอาปืน เครื่องกระสุนและสินค้ายุโรปอื่น[98] ชนพื้นเมืองสอนผู้ตั้งถิ่นฐานจำนวนมากว่าจะเพาะปลูกข้าวโพด ถั่วและน้ำเต้าที่ไหน เมื่อใดและอย่างไร มิชชันนารียุโรปและอื่น ๆ รู้สึกว่าเป็นสิ่งสำคัญจะ "ทำให้เจริญ" ซึ่งอเมริกันพื้นเมืองและกระตุ้นให้พวกเขารับเทคนิคเกษตรกรรมและวิถีชีวิตของยุโรป[99][100]
การเดินเรือเที่ยวสุดท้ายของกัปตันเจมส์ คุกรวมถึงการแล่นตามชายฝั่งทวีปอเมริกาเหนือและอะแลสกาเพื่อแสวงช่องทางตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเวลาประมาณเก้าเดือน เขากลับฮาวายเพื่อเติมกำลังบำรุง เดิมสำรวจชายฝั่งเมาวีและเกาะใหญ่ ค้าขายกับคนท้องถิ่นแล้วทอดสมอที่อ่าวเกียลาเคกัวในเดือนมกราคม 1779 เมื่อเรือและพวกของเขาออกจากเกาะ เสาเรือหักในลมฟ้าอากาศเลว บังคับให้พวกเขาหวนคืนในกลางเดือนกุมภาพันธ์ คุกถูกฆ่าในอีกหลายวันต่อมา[101]
เอกราชและการขยายอาณาเขต
สงครามปฏิวัติอเมริกาเป็นสงครามประกาศอิสรภาพอาณานิคมที่สำเร็จครั้งแรกต่อชาติยุโรป ชาวอเมริกันพัฒนาอุดมการณ์ "สาธารณรัฐนิยม" โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะต้องมาจากเจตจำนงของประชาชนโดยแสดงออกผ่านสภานิติบัญญัติท้องถิ่น พวกเขาเรียกร้องสิทธิเป็นชาวอังกฤษและ "ห้ามจัดเก็บภาษีหากไม่มีผู้แทน" ฝ่ายบริติชยืนยันการบริหารจักรวรรดิผ่านรัฐสภา และความขัดแย้งบานปลายเป็นสงคราม[102]
หลังการผ่านข้อมติลีเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1776 ซึ่งเป็นการออกเสียงลงมติเอกราชที่แท้จริง สภาทวีปที่สองลงมติรับคำประกาศอิสรภาพในวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งประกาศในคำปรารภยาวว่า มนุษยชาติถูกสร้างขึ้นมาเท่าเทียมกันในสิทธิที่ไม่อาจโอนกันได้และบริเตนใหญ่ไม่คุ้มครองสิทธิเหล่านี้ และประกาศในคำของข้อมติว่าสิบสามอาณานิคมเป็นรัฐเอกราชและไม่สวามิภักดิ์กับพระมหากษัตริย์บริติชในสหรัฐ มีการเฉลิมฉลองวันที่ 4 กรกฎาคมทุกปีเป็นวันประกาศอิสรภาพ[103] ในปี 1777 บทบัญญัติสมาพันธรัฐ (Articles of Confederation) สถาปนารัฐบาลอ่อนที่ดำเนินการจนปี 1789[103]
บริเตนรับรองเอกราชของสหรัฐฯ หลังปราชัยที่ยอร์กทาวน์ในปี 1781[104] ในสนธิสัญญาสันติภาพปี 1783 เอกราชของสหรัฐได้รับการรับรองจากชายฝั่งแอตแลนติกไปทางตะวันตกถึงแม่น้ำมิสซิสซิปปี นักชาตินิยมนำการประชุมฟิลาเดลเฟียปี 1787 ในการเขียนรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐฯ ให้สัตยาบันในการประชุมรัฐในปี 1788 มีการจัดระเบียบรัฐบาลกลางใหม่เป็นสามอำนาจ โดยหลักการสร้างการตรวจสอบและถ่วงดุลที่มีประโยชน์ ในปี 1789 จอร์จ วอชิงตันซึ่งนำกองทัพปฏิวัติคว้าชัย เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ในปี 1791 มีการลงมติรับบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมืองซึ่งห้ามการจำกัดเสรีภาพส่วนบุคคลของรัฐบาลกลางและรับประกันการคุ้มครองทางกฎหมายต่าง ๆ[105]
แม้รัฐบาลกลางทำให้การค้าทาสระหว่างประเทศเป็นความผิดในปี 1808 แต่หลังปี 1820 การใช้ทาสเพาะปลูกผลผลิตฝ้ายที่ได้กำไรสูงปะทุในดีปเซาท์ พร้อมกับจำนวนประชากรทาสด้วย[106][107][108] การตื่นใหญ่ที่สอง (Second Great Awakening) โดยเฉพาะอย่างยิ่งปี 1800–1840 เข้ารีตคนหลายล้านคนสู่โปรเตสแตนท์อีแวนเจลิคัล (evangelical) ในทิศเหนือ เหตุนี้ทำให้เกิดขบวนการปฏิรูปสังคมหลายขบวนการซึ่งรวมการเลิกทาส[109] ในภาคใต้ มีการชวนเข้ารีตเมทอดิสต์ (Methodist) และแบปทิสต์ในหมู่ประชากรทาส[110]
ความกระตือรือร้นของสหรัฐฯ ในการขยายดินแดนไปทางทิศตะวันตกทำให้เกิดสงครามอเมริกันอินเดียนยืดเยื้อ[111] การซื้อลุยเซียนาซึ่งดินแดนที่ฝรั่งเศสอ้างในปี 1803 ทำให้ประเทศมีพื้นที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว[112] สงครามปี 1812 ซึ่งประกาศต่อบริเตน กับความเดือดร้อนต่าง ๆ และการต่อสู้เพื่อดึงดูดและเสริมชาตินิยมสหรัฐ[113] ชุดการบุกเข้าทางทหารสู่ฟลอริดานำให้สเปนยกดินแดนดังกล่าวและดินแดนฝั่งอ่าว (Gulf Coast) ในปี 1819[114] การขยายดินแดนได้รับการช่วยเหลือจากเครื่องจักรไอน้ำ เมื่อเรือจักรไอน้ำเริ่มล่องตามระบบธารน้ำขนาดใหญ่ของอเมริกาซึ่งเชื่อมด้วยคลองสร้างใหม่ เช่น อีรีและไอแอนด์เอ็ม แล้วกระทั่งรางรถไฟที่เร็วกว่าเริ่มลากข้ามดินแดนของประเทศ[115]
ตั้งแต่ปี 1820 ถึง 1850 ประชาธิปไตยแบบแจ็กสันเริ่มชุดการปฏิรูปซึ่งรวมสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของชายผิวขาวในวงกว้างขึ้น นำสู่ความเจริญของระบบพรรคที่สองประชาธิปไตยและวิกเป็นพรรคการเมืองหลังตั้งแต่ปี 1828 ถึง 1854 เส้นทางธารน้ำตาในคริสต์ทศวรรษ 1830 เป็นตัวอย่างของนโยบายกำจัดอินเดียนซึ่งตั้งถิ่นฐานอินเดียนใหม่ทางตะวันตกในเขตสงวนอินเดียน สหรัฐผนวกสาธารณรัฐเท็กซัสในปี 1845 ระหว่างสมัยเทพลิขิตซึ่งมีลักษณะขยายดินแดน[116] สนธิสัญญาออริกอนปี 1846 กับบริเตนนำให้สหรัฐควบคุมภาคตะวันตกเฉียงเหนือปัจจุบัน[117] ชัยในสงครามเม็กซิโก–อเมริกาลงเอยด้วยการยกแคลิฟอร์เนียของเม็กซิโกและพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคตะวันตกเฉียงใต้ปัจจุบัน[118]
การตื่นทองที่แคลิฟอร์เนียปี 1848–1849 กระตุ้นการย้ายถิ่นไปทางตะวันตกและการสถาปนารัฐทางตะวันตกเพิ่ม[119] หลังสงครามกลางเมืองอเมริกา ระบบรางข้ามทวีปใหม่ทำให้การย้ายถิ่นง่ายขึ้นสำหรับผู้ตั้งถิ่นฐาน การค้าภายในขยายตัวและความขัดแย้งกับอเมริกันพื้นเมืองเพิ่มขึ้น[120] กว่าครึ่งศตวรรษ การสูญเสียอเมริกันไบซันมีผลกระทบต่อการดำรงอยู่ต่อวัฒนธรรมอินเดียนที่ราบหลายวัฒนธรรม[121] ในปี 1869 นโยบายสันติภาพใหม่มุ่งคุ้มครองอเมริกันพื้นเมืองจากการละเมิด เลี่ยงสงครามเพิ่ม และประกันความเป็นพลเมืองสหรัฐในที่สุด แม้ความขัดแย้งซึ่งรวมสงครามอินเดียนครั้งใหญ่สุดหลายครั้งยังดำเนินต่อไปทั่วตะวันตกจนล่วงเข้าคริสต์ทศวรรษ 1900[122]
สงครามกลางเมืองและสมัยการบูรณะ
ข้อแตกต่างของความเห็นและระเบียบสังคมระหว่างรัฐภาคเหนือและภาคใต้ในสังคมสหรัฐช่วงแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวข้องกับทาสผิวดำ จนสุดท้ายนำสู่สงครามกลางเมืองอเมริกา[123] เดิมทีรัฐเข้าสู่สหภาพสลับกันระหว่างรัฐทาสและรัฐเสรีเพื่อรักษาสมดุลภาคในวุฒิสภา ขณะที่รัฐเสรีมีประชากรมากกว่ารัฐทาสและมีผู้แทนในสภาผู้แทนราษฎรมากกว่า แต่ด้วยมีดินแดนตะวันตกและรัฐเสรีเพิ่มขึ้น ความตึงเครียดระหว่างรัฐทาสและรัฐเสรีสูงขึ้นด้วยการถกเถียงเกี่ยวกับระบอบสหพันธรัฐ การโอนการครอบครองดินแดน ควรขยายหรือจำกัดความเป็นทาสหรือไม่และอย่างไร[124]
อับราฮัม ลินคอล์น ผู้ชนะการเลือกตั้ง ในปี 1860 ประธานาธิบดีคนแรกจากพรรครีพับลิกันซึ่งส่วนใหญ่ต่อต้านความเป็นทาส สุดท้ายการประชุมในสิบสามรัฐทาสประกาศแยกตัวออกและตั้งสมาพันธรัฐอเมริกา ขณะที่รัฐบาลกลางยืนยันว่าการแยกตัวออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย[124] สงครามที่เกิดขึ้นให้หลังนั้นทีแรกเป็นสงครามเพื่อรักษาสหภาพ และหลังจากปี 1863 เมื่อกำลังพลสูญเสียเพิ่มขึ้นและลินคอล์นออกประกาศปลดปล่อยให้เป็นอิสระ (Emancipation Proclamation) เป้าหมายสงครามที่สองกลายเป็นการเลิกทาส สงครามนี้เป็นความขัดแย้งทางทหารที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ ทำให้มีทหารเสียชีวิตประมาณ 618,000 คนและพลเรือนอีกเป็นอันมาก[125]
หลังฝ่ายสหภาพมีชัยในปี 1865 มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ สามครั้ง การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 13 ห้ามความเป็นทาส การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 14 มอบความเป็นพลเมืองแก่แอฟริกันอเมริกันที่เคยเป็นทาสเกือบสี่ล้านคน[126] และการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 15 รับประกันว่าพวกเขามีสิทธิออกเสียงลงคะแนน สงครามและผลลัพธ์นำสู่การเพิ่มอำนาจของรัฐบาลกลางอย่างมากโดยมีเป้าหมายเพื่อบูรณาการและสร้างใหม่ซึ่งรัฐภาคใต้ขณะที่รับประกันสิทธิของทาสที่เพิ่งเป็นไท สงครามและผลนำสู่การเพิ่มอำนาจรัฐบาลกลางอย่างสำคัญ[127] โดยมีเป้าหมายเพื่อบูรณาการใหม่และสร้างใหม่ซึ่งรัฐภาคใต้พร้อมกับรับประกันสิทธิของทาสที่เพิ่งเป็นไท
นักอนุรักษนิยมผิวขาวภาคใต้ซึ่งเรียกตนว่า "ผู้ไถ่" (Redeemer) เข้าควบคุมหลังสิ้นสุดการบูรณะ เมื่อถึงช่วงปี 1890–1910 กฎหมายจิม โครว์พรากสิทธิออกเสียงลงคะแนนคนผิวดำส่วนใหญ่และคนขาวยากจนบางส่วน คนดำเผชิญการแบ่งแยกทางเชื้อชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้[128] ชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติบางครั้งเผชิญการลงประชาทัณฑ์[129]
การปรับให้เป็นอุตสาหกรรม
ในภาคเหนือ การขยายตัวของเมืองและการหลั่งไหลของคนเข้าเมืองจากยุโรปใต้และยุโรปตะวันออกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้มีแรงงานเหลือเฟือสำหรับการปรับประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม[131] โครงสร้างพื้นฐานของประเทศซึ่งมีโทรเลขและทางรถไฟข้ามทวีปกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและการตั้งถิ่นฐานยิ่งใหญ่ขึ้นและการพัฒนาโอลด์เวสต์อเมริกา การประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าและโทรศัพท์ ต่อมายังมีผลต่อการคมนาคมและชีวิตคนเมือง[132]
การสิ้นสุดของสงครามอินเดียนยิ่งขยายพื้นที่ภายใต้การเพาะปลูกโดยใช้เครื่องจักร เพิ่มส่วนเกินสำหรับตลาดระหว่างประเทศ[133] การขยายดินแดนแผ่นดินใหญ่สำเร็จด้วยการซื้ออะแลสกาจากจักรวรรดิรัสเซียในปี 1867[134] ในปี 1893 ส่วนนิยมอเมริกาในฮาวายล้มราชาธิปไตยและตั้งสาธารณรัฐฮาวาย ซึ่งสหรัฐผนวกในปี 1898 สเปนยกปวยร์โตรีโก กวมและฟิลิปปินส์ให้สหรัฐในปีเดียวกันหลังสงครามสเปน–อเมริกา[135]
การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ช่วยให้นักอุตสาหกรรมโดดเด่นจำนวนมากเฟื่องฟูขึ้น นักธุรกิจใหญ่อย่างคอร์เนเลียส แวนเดอร์บิลท์, จอห์น ดี. ร็อกเกอะเฟลเลอร์และแอนดรูว์ คาร์เนกีนำความก้าวหน้าของชาติในอุตสาหกรรมรางรถไฟ ปิโตรเลียมและเหล็กกล้า การธนาคารกลายเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ โดยเจ. พี. มอร์แกนมีบทบาทเด่น ทอมัส เอดิสันและนิโคลา เทสลาทำให้ไฟฟ้ากระจายแพร่หลายสู่อุตสาหกรรม บ้านเรือนและสำหรับการให้แสงสว่างตามถนน เฮนรี ฟอร์ดปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์ เศรษฐกิจอเมริกาเฟื่องฟูและกลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก และสหรัฐได้สถานภาพมหาอำนาจ[136] การเปลี่ยนแปลงรวดเร็วนี้กอปรกับความไม่สงบทางสังคมและความเจริญของขบวนการประชานิยม สังคมนิยมและอนาธิปไตย[137] สุดท้ายสมัยนี้สิ้นสุดลงด้วยการมาของสมัยก้าวหน้า (Progressive Era) ซึ่งมีการปฏิรูปสำคัญในสังคมหลายด้าน ซึ่งรวมทั้งสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของสตรี การห้ามแอลกอฮอล์ การกำกับสินค้าบริโภค มาตรการป้องกันการผูกขาดที่มากขึ้นเพื่อประกันการแข่งขันและความใส่ใจความเป็นอยู่ของแรงงาน[138][139][140]
สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ และสงครามโลกครั้งที่สอง
สหรัฐฯ วางตนเป็นกลางตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุในปี 1914 จนถึงปี 1917 เมื่อเข้าร่วมสงครามเป็น "ชาติสมทบ" ร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอย่างเป็นทางการ โดยช่วยเปลี่ยนทิศทางของสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลาง ในปี 1919 ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันรับบทบาทการทูตนำ ณ การประชุมสันติภาพปารีสและสนับสนุนอย่างแข็งขันให้สหรัฐเข้าร่วมสันนิบาตชาติ ทว่า วุฒิสภาปฏิเสธไม่อนุมัติและไม่ให้สัตยาบันสนธิสัญญาแวร์ซายซึ่งสถาปนาสันนิบาตชาติ[141]
ในปี 1920 ขบวนการสิทธิสตรีชนะการผ่านการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งของสตรี[142] คริสต์ทศวรรษ 1920 และ 1930 มีความเจริญเติบโตของสื่อสารมวลชนประเภทวิทยุและมีการประดิษฐ์โทรทัศน์ขึ้นในยุคแรก[143] ความเฟื่องฟูของทเวนตีร้องคำราม (Roaring Twenties) สิ้นสุดด้วยเหตุการณ์วอลล์สตรีทตกปี 1929 และการเริ่มต้นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หลังแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 1932 เขาสนองด้วยข้อตกลงใหม่ (New Deal) ซึ่งรวมการสถาปนาระบบหลักประกันสังคม[144] การย้ายถิ่นใหญ่ของแอฟริกันอเมริกันหลายล้านคนจากภาคใต้ของสหรัฐฯ เริ่มก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและกินเวลาจนถึงคริสต์ทศวรรษ 1960[145] ขณะที่ชามฝุ่น (Dust Bowl) กลางคริสต์ทศวรรษ 1930 ทำให้ชุมชนกสิกรรมจำนวนมากยากจนและทำให้เกิดการย้ายถิ่นทางตะวันตกระลอกใหม่[146]
ทีแรกสหรัฐฯ วางตนเป็นกลางระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองระหว่างที่เยอรมนีพิชิตทวีปยุโรปส่วนใหญ่ สหรัฐฯ เริ่มจัดหาปัจจัยแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรในเดือนมีนาคม 1941 ผ่านโครงการให้ยืม-เช่า วันที่ 7 ธันวาคม 1941 จักรวรรดิญี่ปุ่นเปิดฉากโจมตีอย่างจู่โจมต่อเพิร์ลฮาร์เบอร์ ทำให้สหรัฐเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรสู้รบกับฝ่ายอักษะ[147] ระหว่างสงคราม สหรัฐฯ ถูกเรียกว่าเป็นหนึ่งใน "สี่ตำรวจ"[148] แห่งฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ประชุมกันวางแผนโลกหลังสงคราม ร่วมกับบริเตน สหภาพโซเวียตและจีน[149] แม้สหรัฐเสียทหารกว่า 400,000 นาย[150] แต่แทบไม่ได้รับความเสียหายจากสงครามและยิ่งมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและทางทหารมากยิ่งขึ้นอีก[151]
สหรัฐฯ มีบทบาทนำในการประชุมเบรตตันวูดส์และยัลตากับสหราชอาณาจักร สหภาพโซเวียตและฝ่ายสัมพันธมิตรอื่นซึ่งลงนามความตกลงว่าด้วยสถาบันการเงินระหว่างประเทศใหม่และการจัดระเบียบใหม่หลังสงครามของทวีปยุโรป เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรชนะในทวีปยุโรปแล้ว การประชุมระหว่างประเทศในซานฟรานซิสโกในปี 1945 ได้ออกกฎบัตรสหประชาชาติซึ่งมีผลใช้บังคับหลังสงคราม[152] สหรัฐฯ พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรกและใช้มันกับญี่ปุ่นในนครฮิโระชิมะและนะงะซะกิ ญี่ปุ่นยอมจำนนในวันที่ 2 กันยายน ยุติสงครามโลกครั้งที่สอง[153][154]
สงครามเย็นและยุคสิทธิมนุษยชน
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตประชันชิงอำนาจระหว่างสมัยสงครามเย็น ขับเคลื่อนด้วยการแบ่งแยกอุดมการณ์ระหว่างทุนนิยมและคอมมิวนิสต์ ทั้งสองครอบงำกิจการทหารของทวีปยุโรป โดยมีสหรัฐและพันธมิตรนาโต้ฝ่ายหนึ่งและสหภาพโซเวียตและพันธมิตรสนธิสัญญาวอร์ซออีกฝ่ายหนึ่ง สหรัฐฯ พัฒนานโยบายการจำกัดการขยายตัวของลัทธิที่ไม่พึงปรารถนาต่อการขยายอิทธิพลตอมมิวนิสต์ ขณะที่สหรัฐและสหภาพโซเวียตต่อสู้ในสงครามตัวแทนและพัฒนาคลังอาวุธนิวเคลียร์ทรงพลัง และสองประเทศเลี่ยงความขัดแย้งทางทหารโดยตรง
สหรัฐฯ มักคัดค้านขบวนการโลกที่สามซึ่งมองว่าโซเวียตสนับสนุน ทหารอเมริกันต่อสู้กำลังคอมมิวนิสต์จีนและเกาหลีเหนือในสงครามเกาหลีปี 1950–1953 การปล่อยดาวเทียมดวงแรกของสหภาพโซเวียตปี 1957 และการปล่อยเที่ยวบินอวกาศที่มีมนุษย์โดยสารครั้งแรกในปี 1961 เริ่ม "การแข่งขันอวกาศ" ซึ่งสหรัฐฯ เป็นชาติแรกที่นำมนุษย์ลงจอดดวงจันทร์ในปี 1969[155] สงครามตัวแทนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สุดท้ายกลายเป็นการเข้าไปมีส่วนพัวพันเต็มตัวของอเมริกา เช่น สงครามเวียดนาม
ในประเทศ สหรัฐฯ มีการขยายทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและการเติบโตของประชากรและชนชั้นกลางอย่างรวดเร็ว การก่อสร้างระบบทางหลวงระหว่างรัฐแปรสภาพโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในเวลาหลายทศวรรษถัดมา คนหลายล้านคนผละไร่นาและนครชั้นใน (inner city) สู่การพัฒนาเคหะชานเมืองขนาดใหญ่[156][157] ในปี 1959 ฮาวายกลายเป็นรัฐที่ 50 และรัฐล่าสุดของสหรัฐที่เพิ่มเข้าประเทศ[158] ขบวนการสิทธิพลเมืองที่เติบโตขึ้นใช้สันติวิธีเผชิญกับการแบ่งแยกและการเลือกปฏิบัติ โดยมีมาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์เป็นผู้นำคนสำคัญและหัวโขน คำวินิจฉัยของศาลและกฎหมายประกอบกันลงเอยด้วยรัฐบัญญัติสิทธิพลเมืองปี 1968 ซึ่งมุ่งยุติการเลือกปฏิบัติทางเพศ[159][160][161] ขณะเดียวกัน ขบวนการวัฒนธรรมต่อต้านเติบโตขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากการค้านสงครามเวียดนาม ชาตินิยมผิวดำและการปฏิวัติทางเพศ
การเปิดฉาก "สงครามต่อความยากจน" โดยประธานาธิบดี ลินดอน บี. จอห์นสัน ขยายการให้สิทธิ์และการใช้จ่ายด้านสวัสดิการ ซึ่งรวมการสร้างเมดิแคร์และเมดิเคด สองโครงการซึ่งให้ความคุ้มครองด้านสุขภาพต่อผู้สูงอายุและผู้ยากไร้ตามลำดับ และโครงการสแตมป์อาหาร (Food Stamp Program) และช่วยเหลือครอบครัวที่มีเด็กพึ่งพิง (Aid to Families with Dependent Children)[162]
คริสต์ทศวรรษ 1970 และต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 เริ่มมีการชะงักทางเศรษฐกิจ หลังประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนได้รับเลือกตั้งในปี 1980 เขาตอบโต้ด้วยการปฏิรูปเน้นตลาดเสรี หลังการล่มสลายของการผ่อนคลายความตึงเครียด เขาเลิก "การจำกัดการขยายตัวของลัทธิที่ไม่พึงปรารถนา" และริเริ่มยุทธศาสตร์ "ม้วนกลับ" ที่ก้าวร้าวขึ้นต่อสหภาพโซเวียต[163][164][165][166][167] หลังมีการเพิ่มขึ้นของแรงงานสตรีในทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ในปี 1985 สตรีที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่มีงานทำ[168]
ปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 มีการ "ผ่อนคลาย" ความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต และการล่มลายในปี 1991 ยุติสงครามเย็นในที่สุด เหตุนี้นำมาซึ่งภาวะขั้วเดียว[169] โดยสหรัฐเป็นอภิมหาอำนาจครอบงำของโลกโดยไร้ผู้ต่อกร มโนทัศน์สันติภาพอเมริกา (Pax Americana) ซึ่งปรากฏในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นคำเรียกระเบียบโลกใหม่ยุคหลังสงครามเย็นที่ได้รับความนิยมกว้างขวาง
ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
หลังสงครามเย็น ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจุดชนวนวิกฤตการณ์ในปี 1990 เมื่อประเทศอิรักภายใต้ซัดดัม ฮุสเซนบุกครองและพยายามผนวกประเทศคูเวต กับพันธมิตรของสหรัฐ ด้วยเกรงว่าความไร้เสถียรภาพจากลามไปภูมิภาคอื่น ประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุชจึงเปิดฉากปฏิบัติการโล่ทะเลทราย การส่งกำลังป้องกันในประเทศซาอุดีอาระเบีย และปฏิบัติการพายุทะเลทรายในขั้นที่เรียก สงครามอ่าว โดยมีกำลังผสมจาก 34 ประเทศนำโดยสหรัฐฯ ต่อประเทศอิรัก ยุติด้วยการขับกำลังอิรักออกจากประเทศคูเวตได้สำเร็จ ฟื้นฟูราชาธิปไตยคูเวต[170]
อินเทอร์เน็ตซึ่งกำเนิดในเครือข่ายกลาโหมสหรัฐลามไปเครือข่ายวิชาการระหว่างประเทศ และสู่สาธารณะในปี 1990 มีผลใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมโลก[171]
เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ดอตคอม นโยบายการเงินแบบเสถียรภาพภายใต้แอลัน กรีนสแพนและการลดรายจ่ายสวัสดิการสังคม คริสต์ทศวรรษ 1990 มีการขยายทางเศรษฐกิจใหญ่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐสมัยใหม่ซึ่งสิ้นสุดในปี 2001[172] เริ่มตั้งแต่ปี 1994 สหรัฐเข้าสู่ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) เชื่อมประชากร 450 ล้านคนซึ่งผลิตสินค้าและบริการมูลค่า 17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป้าหมายของความตกลงคือเพื่อกำจัดอุปสรรคการค้าและการลงทุนในสหรัฐ ประเทศแคนาดาและเม็กซิโกในวันที่ 1 มกราคม 2008 การค้าในหมู่ไตรภาคีเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ NAFTA มีผลใช้บังคับ[173]
วันที่ 11 กันยายน 2001 ผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์โจมตีเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์กและอาคารเพนตากอนใกล้กับกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 คน[174] สหรัฐตอบโต้ด้วยการเปิดฉากสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งรวมสงครามในอัฟกานิสถานและสงครามอิรักปี 2003–2011[175][176] ในปี 2007 รัฐบาลบุชสั่งเพิ่มกำลังทหารครั้งใหญ่ในสงครามอิรัก[177] ซึ่งลดความรุนแรงและนำสู่เสถียรภาพเพิ่มขึ้นในภูมิภาคอย่างเป็นผล[178][179]
นโยบายของรัฐบาลซึ่งออกแบบเพื่อส่งเสริมการเคหะที่มีราคาไม่แพง[180] ความล้มเหลวกว้างขวางของบรรษัทภิบาลและธรรมาภิบาลในการกำกับดูแล (regulatory governance)[181] และอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ของระบบธนาคารกลาง[182] นำสู่ฟองสบู่การเคหะกลางคริสต์ทศวรรษ 2000 จนลงเอยด้วยวิกฤตการณ์การเงินปี 2008 เป็นการหดตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศนับแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่[183] บารัก โอบามา ประธานาธิบดีแอฟริกันอเมริกันและหลายเชื้อชาติคนแรก ได้รับเลือกตั้งในปี 2008 ท่ามกลางวิกฤต[184] และต่อมาผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและรัฐบัญญัติการปฏิรูปวอลล์สตรีตและคุ้มครองผู้บริโภคด็อดด์-แฟรงก์เพื่อพยายามบรรเทาผลร้าย มาตรการกระตุ้นดังกล่าวอำนวยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน[185] และการว่างงานลดลงโดยสัมพัทธ์[186] ด็อดด์-แฟรงก์พัฒนาเสถียรภาพทางการเงินและการคุ้มครองผู้บริโภค[187] แต่มีผลลบต่อการลงทุนธุรกิจและธนาคารขนาดเล็ก[188]
ในปี 2010 รัฐบาลโอบามาผ่านรัฐบัญญัติการบริบาลที่เสียได้ ซึ่งเป็นการปฏิรูปครั้งที่ครอบคลุมที่สุดต่อระบบสาธารณสุขของประเทศในเกือบห้าทศวรรษ ซึ่งรวมการมอบอำนาจ เงินอุดหนุนและการแลกเปลี่ยนประกัน กฎหมายนี้ทำให้ลดจำนวนและร้อยละของผู้ไม่มีประกันสุขภาพลงอย่างสำคัญ โดยมี 24 ล้านคนครอบคลุมระหว่างปี 2016[189] กระนั้น กฎหมายนี้เป็นที่โต้เถียงเนื่องจากผลกระทบต่อราคาสาธารณสุข เบี้ยประกันภัยและสมรรถภาพทางเศรษฐกิจ[190] แม้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำถึงจุดต่ำสุดในเดือนมิถุนายน 2009 แต่ผู้ออกเสียงลงคะแนนยังคับข้องใจกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ล่าช้า พรรครีพับลิกันซึ่งคัดค้านนโยบายของโอบามา ได้ควบคุมสภาผู้แทนราษฎรอย่างถล่มทลายในปี 2010 และควบคุมวุฒิสภาในปี 2014[191]
มีการถอนกำลังอเมริกันในประเทศอิรักในปี 2009 และ ปี 2010 และมีการประกาศให้สงครามในภูมิภาคยุติลงอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2011[192] การถอนกำลังดังกล่าวทำให้การก่อการกำเริบนิกายนิยมบานปลาย[193] นำสู่ความเจริญของรัฐอิสลามอิรักและลิแวนต์ ซึ่งเป็นผู้สืบทอดของอัลกออิดะฮ์ในภูมิภาค[194] ในปี 2014 โอบามาประกาศฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางทูตสมบูรณ์กับประเทศคิวบาเป็นครั้งแรกนับแต่ปี 1961[195] ปีต่อมา สหรัฐซึ่งเป็นสมาชิกประเทศพี5+1 ลงนามแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม ซึ่งเป็นความตกลงที่มุ่งชะลอการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของประเทศอิหร่าน[196]
ดอนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีผู้มั่งมีที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐและประธานาธิบดีคนแรกที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองและการทหารก่อนเข้าดำรงตำแหน่ง ได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 ถือเป็นการเลือกตั้งที่มีผลลัพธ์ผิดคาดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ[197] เขาเป็นผู้นำประเทศในการระบาดระลอกแรกของไวรัสโคโรนา 2019 ต่อมา ในช่วงต้นทศวรรษ 2020 สหรัฐต้องเผชิญกับความขัดแย้งในประเทศที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่ง การเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ก่อให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่รวมถึงเสียงวิจารณ์ในวงกว้างต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ[198] ความขัดแย้งยังทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จากการเสียชีวิตของประชาชนจากเหตุการณ์กราดยิงในหลายพื้นที่[199] นำไปสู่ประเด็นถกเถียงต่อความเหมาะสมของกฎหมายในการครอบครองและพกพาอาวุธปืน ใน ค.ศ. 2022 ศาลสูงสุดหรือศาลฎีกา (Supreme Court) พิพากษายกเลิกคำตัดสินคดีระหว่างโรกับเวด ที่เคยพิพากษาเมื่อปี 1973 ว่าการทำแท้งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การประท้วงในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคมเริ่มกลับมาอีกครั้ง ชาวอเมริกันส่วนมากแสดงการต่อต้านการรุกรานยูเครนของรัสเซียอย่างเปิดเผย รัฐบาลสหรัฐตอบโต้ด้วยการยุติกิจการบริษัทหลายแห่งในรัสเซียและเบลารุส รวมถึงมีการสนับสนุนจากนักการเมืองระดับสูงในการส่งมอบอาวุธช่วยเหลือยูเครน[200] การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อกว่า 100 ล้านรายและมีผู้เสียชีวิตกว่า 1 ล้านคน ณ ค.ศ. 2023[201] ถือเป็นภาวะโรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ[202]
ภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม
สหรัฐแผ่นดินใหญ่มีพื้นที่ 7,663,940.6 ตารางกิโลเมตร รัฐอะแลสกา ซึ่งมีประเทศแคนาดาคั่นสหรัฐแผ่นดินใหญ่ เป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุด มีขนาด 1,717,856.2 ตารางกิโลเมตร รัฐฮาวายซึ่งเป็นกลุ่มเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกกลาง อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปอเมริกาเหนือ มีพื้นที่ 28,311 ตารางกิโลเมตร[203] ดินแดนที่มีประชากรอาศัยของสหรัฐ ได้แก่ ปวยร์โตรีโก อเมริกันซามัว กวม หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนาและหมู่เกาะเวอร์จินรวมมีพื้นที่ 23,789 ตารางกิโลเมตร[204]
สหรัฐเป็นประเทศใหญ่สุดอันดับสามหรือสี่ของโลกเรียงตามพื้นที่ทั้งหมด (แผ่นดินและผืนน้ำ) รองจากประเทศรัสเซียและแคนาดา และมีอันดับสูงหรือต่ำกว่าจีน การจัดอันดับต่างกันขึ้นอยู่กับว่านับรวมดินแดนที่ประเทศจีนและอินเดียพิพาทหรือไม่ และวัดขนาดทั้งหมดของสหรัฐอย่างไร คือ การคำนวณมีตั้งแต่ 9,522,055.0 กม.2[205], 9,629,091.5 กม.2[206] ไปจนถึง 9,833,516.6 กม.2[207] หากวัดเฉพาะแผ่นดิน สหรัฐจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามรองจากประเทศรัสเซียและจีน สูงกว่าแคนาดา[208]
ที่ราบชายฝั่งทะเลแอตแลนติกให้ก่อให้เกิดป่าผลัดใบลึกเข้าไปในแผ่นดินและรอยคลื่นพีดมอนต์ (Piedmont)[209] เทือกเขาแอปพาเลเชียนแบ่งชายฝั่งทะเลตะวันออกจากเกรตเลกส์และทุ่งหญ้าภาคกลางตะวันตก (Midwest)[210] แม่น้ำมิสซิสซิปปี–มิสซูรี ระบบแม่น้ำยาวที่สุดอันดับสี่ของโลก ไหลส่วนใหญ่ในทิศเหนือ–ใต้ผ่านใจกลางประเทศ ที่ราบใหญ่ (Great Plains) ซึ่งเป็นทุ่งหญ้าราบอุดมสมบูรณ์แผ่ขยายไปทางทิศตะวันตก โดยมีพื้นที่สูงทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ขวาง[210]
เทือกเขาร็อกกี ณ ขอบทิศตะวันตกของที่ราบใหญ่ แผ่ขยายข้ามประเทศจากเหนือจรดใต้ มีระดับความสูงกว่า 4,300 เมตร ในรัฐโคโลราโด[211] ไปอีกทางทิศตะวันตกเป็นแอ่งใหญ่ (Great Basin) หิน และทะเลทราย เช่น ทะเลทรายชิฮัวฮวนและโมฮาวี[212] เทือกเขาเซียร์ราเนวาดาและแคสเคด (Cascade) ทอดใกล้กับชายฝั่งแปซิฟิก เทือกเขาทั้งสองนี้มีระดับความสูงกว่า 4,300 เมตร จุดต่ำสุดและสูงสุดในสหรัฐแผ่นดินใหญ่อยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย[213] และห่างกัน 135 กิโลเมตร[214] ที่ระดับความสูง 6,194 เมตร ยอดเขาเดนาลี (ยอดเขาแม็กคินเลย์) ในรัฐอะแลสกาเป็นยอดเขาสูงสุดในประเทศและในทวีปอเมริกาเหนือ[215] ภูเขาไฟที่ยังปะทุอยู่มีทั่วไปตลอดกลุ่มเกาะอะเล็กซานเดอร์และหมู่เกาะอะลูเชียนในรัฐอะแลสกา และรัฐฮาวายประกอบด้วยเกาะภูเขาไฟ ภูเขาไฟใหญ่ที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนในเทือกเขาร็อกกี เป็นลักษณะภูเขาไฟใหญ่สุดของทวีปอเมริกาเหนือ[216]
เนื่องจากสหรัฐมีขนาดใหญ่และความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ จึงมีลักษณะอากาศหลายชนิด ทางตะวันออกของเส้นเมอริเดียนที่ 100 ลักษณะอากาศมีตั้งแต่ภาคพื้นทวีปชื้นทางเหนือถึงกึ่งเขตร้อนชื้นทางใต้[217] ที่ราบใหญ่ทางตะวันตกของเส้นเมอริเดียนที่ 100 เป็นกึ่งแห้งแล้ง เขาทางตะวันตกส่วนใหญ่มีลักษณะอากาศแบบแอลป์ ลักษณะอากาศเป็นแบบแห้งแล้งในแอ่งใหญ่ ทะเลทรายในภาคตะวันตกเฉียงใต้ เมดิเตอร์เรเนียนในรัฐแคลิฟอร์เนียชายฝั่ง และภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้นภาคพื้นสมุทรในชายฝั่งรัฐออริกอนและรัฐวอชิงตัน และทางใต้ของรัฐอะแลสกา รัฐอะแลสกาส่วนใหญ่เป็นแบบกึ่งอาร์กติกหรือขั้วโลก รัฐฮาวายและปลายใต้สุดของรัฐฟลอริดามีลักษณะอากาศแบบเขตร้อน เช่นเดียวกับดินแดนที่มีประชากรอยู่อาศัยในทะเลแคริบเบียนและมหาสมุทรแปซิฟิก[218] อากาศสุดโต่งเป็นเรื่องไม่แปลก ในรัฐที่ติดอ่าวเม็กซิโกที่มีความเสี่ยงเกิดพายุเฮอร์ริเคน และทอร์เนโดส่วนใหญ่ของโลกเกิดในประเทศนี้ โดยเกิดในบริเวณตรอกทอร์เนโดแถบตะวันตกกลางและภาคใต้เป็นหลัก[219]
สัตว์ป่า
นิเวศวิทยาของสหรัฐนั้นหลากหลายมาก (megadiverse) โดยมีพืชมีท่อลำเลียงประมาณ 17,000 ชนิดในสหรัฐแผ่นดินใหญ่และรัฐอะแลสกา และพบพืชดอกกว่า 1,800 ชนิดในรัฐฮาวาย ซึ่งมีจำนวนน้อยที่พบในแผ่นดินใหญ่[220] สหรัฐเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 428 ชนิด นก 784 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 311 ชนิดและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 295 ชนิด[221] มีการพบแมลงประมาณ 91,000 ชนิด[222] อินทรีหัวขาวเป็นนกประจำชาติและสัตว์ประจำชาติของสหรัฐ และเป็นสัญลักษณ์ของประเทศเสมอมา[223]
มีอุทยานแห่งชาติ 58 แห่งและอุทยาน ป่าและพื้นที่ที่ดินในสภาพธรรมชาติอื่นที่รัฐบาลกลางจัดการอีกนับหลายร้อยแห่ง[224] เบ็ดเสร็จแล้วรัฐบาลเป็นเจ้าของพื้นที่ประมาณ 28% ของประเทศ[225] ส่วนใหญ่พื้นที่เหล่านี้มีการคุ้มครอง แม้บางส่วนให้เช่าสำหรับการขุดเจาะน้ำมันและแก๊ส การทำเหมือง การทำไม้หรือการเลี้ยงปศุสตว์ ประมาณ 0.86% ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร[226][227]
ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 1970 การโต้เถียงเรื่องสิ่งแวดล้อมรวมถึงการอภิปรายเรื่องน้ำมันและพลังงานนิวเคลียร์ การจัดการกับมลพิษทางอากาศและน้ำ ค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจในการพิทักษ์สัตว์ป่า การทำไม้ และการทำลายป่า[228][229] และการตอบสนองระหว่างประเทศเกียวกับภาวะโลกร้อน[230][231] มีหน่วยงานของรัฐบาลกลางและรัฐหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง ที่โดดเด่นที่สุดคือ สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (Environmental Protection Agency) ที่ตั้งขึ้นตามคำสั่งของประธานาธิบดีในปี 1970[232] ความคิดเรื่องที่ดินในสภาพธรรมชาติได้ก่อรูปการจัดการที่ดินสาธารณะตั้งแต่ปี 1964 ด้วยบทบัญญัติที่ดินในสภาพธรรมชาติ (Wilderness Act)[233] รัฐบัญญัติสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ปี 1973 มีเจตนาคุ้มครองชนิดที่อยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หรือใกล้การสูญพันธุ์และถิ่นที่อยู่ของพวกมัน โดยมีราชการปลาและสัตว์ป่าสหรัฐเป็นผู้ตรวจตรา[234]
ประชากรศาสตร์
ประชากร
เชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ (ประมาณของ ACS ปี 2015)[235] | |
---|---|
แบ่งตามเชื้อชาติ:[235] | |
ผิวขาว | 73.1% |
ผิวดำ | 12.7% |
เอเชีย | 5.4% |
อเมริกันอินเดียนและชนพื้นเมืองอะแลสกา | 0.8% |
ฮาวายพื้นเมืองและชาวเกาะแปซิฟิก | 0.2% |
พหุเชื้อชาติ | 3.1% |
เชื้อชาติอื่น | 4.8% |
แบ่งตามชาติพันธุ์:[235] | |
ฮิสแปนิก/ละติโน (ทุกเชื้อชาติ) | 17.6% |
มิใช่ฮิสแปนิก/ละติโน (ทุกเชื้อชาติ) | 82.4% |
สำนักงานสำมะโนสหรัฐประมาณจำนวนประชากรของประเทศเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2016 ไว้ที่ 323,425,550 คน โดยเพิ่มขึ้น 1 คน (เพิ่มสุทธิ) ทุก 13 วินาที หรือประมาณ 6,646 คนต่อวัน[236] ประชากรสหรัฐเพิ่มขึ้นเกือบสี่เท่าในคริสต์ศตวรรษที่ 20 จากประมาณ 76 ล้านคนในปี 1900[237] สหรัฐเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดอันดับสามของโลกรองจากประเทศจีนและอินเดีย สหรัฐเป็นประเทศอุตสาหกรรมหลักประเทศเดียวที่มีการทำนายการเพิ่มของประชากรขนาดใหญ่[238] ในคริสต์ทศวรรษ 1800 หญิงเฉลี่ยมีบุตร 7.04 คน เมื่อถึงคริสต์ทศวรรษ 1900 จำนวนดังกล่าวลดลงเหลือ 3.56 คน[239] นับแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา อัตราการเกิดลดต่ำกว่าอัตราทดแทน 2.1 โดยอยู่ที่บุตร 1.86 คนต่อหญิง 1 คนในปี 2014 การเข้าเมืองที่เกิดต่างด้าวทำให้ประชากรสหรัฐยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยประชากรที่เกิดต่างด้าวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากประมาณ 20 ล้านคนในปี 1990 เป็นกว่า 40 ล้านคนในปี 2010 โดยเป็นการเพิ่มของประชากรหนึ่งในสาม[240] ประชากรที่เกิดต่างด้าวถึง 45 ล้านคนในปี 2015[241]'
สหรัฐมีประชากรหลากหลายมาก โดยกลุ่มบรรพบุรุษ 37 กลุ่มมีสมาชิกกว่า 1 ล้านคน[242] ชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมันเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่สุด (กว่า 50 ล้านคน) รองลงมาได้แก่ ชาวอเมริกันเชื้อสายไอร์แลนด์ (ประมาณ 37 ล้านคน), ชาวอเมริกันเชื้อสายเม็กซิโก (ประมาณ 31 ล้านคน) และชาวอเมริกันเชื้อสายอังกฤษ (ประมาณ 28 ล้านคน)[243][244] ชาวอเมริกันผิวขาวเป็นกลุ่มเชื้อชาติใหญ่สุด ชาวอเมริกันผิวดำเป็นเชื้อชาติชนกลุ่มน้อยใหญ่สุดของประเทศ (หมายเหตุว่าในสำมะโนสหรัฐ อเมริกันฮิสแปนิกและละติโนนับเป็นกลุ่ม "ชาติพันธุ์" มิใช่กลุ่ม "เชื้อชาติ") และเป็นกลุ่มบรรพบุรุษใหญ่สุดอันดับสาม[242] ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียเป็นเชื้อชาติชนกลุ่มน้อยใหญ่สุดอันดับสอง โดยกลุ่มชาติพันธุ์ของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียใหญ่สุดสามอันดับ ได้แก่ ชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ชาวอเมริกันเชื้อสายฟิลิปปินส์ และชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย[242]
สหรัฐมีอัตราเกิด 13 คนต่อ 1,000 คน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก 5 คน[245] อัตราการเติบโตของประชากรเป็นบวก 0.7% สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ[246] ในปีงบประมาณ 2012 ผู้เข้าเมืองกว่าหนึ่งล้านคน (ส่วนมากเข้าประเทศผ่านการรวมครอบครัว) ได้รับถิ่นที่อยู่ตามกฎหมาย[247] ประเทศเม็กซิโกเป็นประเทศต้นทางของผู้อยู่อาศัยใหม่อันดับต้น ๆ ตั้งแต่รัฐบัญญัติการเข้าเมืองปี 1965 ประเทศจีน อินเดียและฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีผู้เข้าเมืองสูงสุดสี่อันดับทุกปีมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990[248][249] ในปี 2012 ผู้อยู่อาศัยประมาณ 11.4 ล้านคนเป็นผู้เข้าเมืองไม่ชอบด้วยกฎหมาย[250] ในปี 2015 47% ของผู้เข้าเมืองทั้งหมดเป็นฮิสแปนิก 26% เป็นชาวเอเชีย 18% เป็นคนขาว และ 8% เป็นคนดำ ร้อยละของผู้เข้าเมืองซึ่งเป็นชาวเอเชียเพิ่มขึ้นส่วนร้อยละของผู้เป็นฮิสแปนิกลดลง[241]
ชนกลุ่มน้อย (ซึ่งกรมสำมะโนนิยามว่าหมายถึงทุกคนยกเว้นคนผิวขาวที่มิใช่ฮิสปแปนิกและมิใช่หลายเชื้อชาติ) ประกอบเป็น 37.2% ของประชากรในปี 2012[235] และกว่า 50% ของเด็กอายุน้อยกว่าหนึ่งปี[251][252] และคาดว่าจะกลายเป็นฝ่ายข้างมากเมื่อถึงปี 2044[251]
ตามการสำรวจซึ่งดำเนินการโดยสถาบันวิลเลียมส์ ชาวอเมริกันเก้าล้านคน หรือประมาณ 3.4% ของประชากรผู้ใหญ่ระบุตนเองว่าเป็นรักร่วมเพศ รักสองเพศหรือข้ามเพศ[253][254] การสำรวจมติมหาชนปี 2016 ยังสรุปว่า 4.1% ของชาวอเมริกันผู้ใหญ่ระบุตนเป็นแอลจีบีที ร้อยละสูงสุดมาจากเขตโคลัมเบีย (10%) ส่วนรัฐที่ตัวเลขต่ำสุด คือ รัฐนอร์ทดาโกตาที่ 1.7%[255] การสำรวจในปี 2013 ศูนย์สำหรับการควบคุมและป้องกันโรคพบว่า 96.6% ระบุตนว่าตรงเพศ ส่วน 1.6% ระบุว่าเป็นเกย์หรือเลสเบียน และ 0.7% ระบุว่าเป็นรักสองเพศ[256]
ในปี 2010 ประชากรสหรัฐประมาณ 5.2 ล้านคนมีบรรพบุรุษเป็นอเมริกันอินเดียนหรือชนพื้นเมืองอลาสก้า (2.9 ล้านคนที่มีเฉพาะของบรรพบุรุษดังกล่าว) และ 1.2 ล้านคนที่มีบรรพบุรุษชนพื้นเมืองฮาวายหรือชาวเกาะแปซิฟิก (0.5 ล้านคนมีเฉพาะบรรพบุรุษดังกล่าว)[257] สำมะโนนับกว่า 19 ล้านคนอยู่ใน "เชื้อชาติอื่น" ซึ่ง "ไม่สามารถระบุได้" ว่าอยู่ในหมวดเชื้อชาติอย่างเป็นทางการห้าหมวดในปี 2010 โดยมีกว่า 18.5% (97%) ของจำนวนนี้มีชาติพันธุ์ฮิสแปนิก[257]
การเติบโตของประชากรฮิสแปนิกและละติโนอเมริกัน (คำดังกล่าวใช้แทนกันได้อย่างเป็นทางการ) เป็นแนวโน้มประชากรศาสตร์ที่สำคัญ สำนักงานสำมะโนระบุชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิก 50.5 ล้านคน[257] ว่ามี "ชาติพันธุ์" แยกต่างหาก 64% ของฮิสแปนิกอเมริกันมีเชื้อสายเม็กซิโก[258] ระหว่างปี 2000 ถึง 2010 ประชากรฮิสแปนิกของประเทศเพิ่ม 43% ขณะที่ประชากรที่มิใช่ฮิสแปนิกเพิ่มเพียง 4.9%[259] การเติบโตส่วนมากมาจากการเข้าเมือง ในปี 2007 12.7% ของประชากรสหรัฐเกิดต่างด้าว ขณะที่ 54% ในจำนวนนี้เกิดในละตินอเมริกา[260]
ชาวอเมริกันประมาณ 82% อาศัยอยู่ในเขตเมือง (รวมชานเมือง)[207] ในจำนวนนี้ประมาณกึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในนครที่มีประชากรกว่า 50,000 คน[261] สหรัฐมีหลายกลุ่มนครที่เรียก เมกะรีจัน (megaregion) เมกะรีจันขนาดใหญ่สุดคือ อภิมหานครเกรตเลกส์ (Great Lakes Megalopolis) ตามด้วยอภิมหานครตะวันออกเฉียงเหนือและแคลิฟอร์เนียใต้ ในปี 2008 มีเทศบาล 273 เทศบาลที่มีประชากรกว่า 100,000 คน มีเก้านครที่มีผู้อยู่อาศัยกว่าหนึ่งล้านคน และสี่นครโลกที่มีประชากรกว่าสองล้านคน (นิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส ชิคาโกและฮุสตัน)[236] มี 52 พื้นที่มหานครที่มีประชากรกว่าหนึ่งล้านคน[262] พื้นที่มหานครที่เติบโตเร็วที่สุด 47 จาก 50 พื้นที่อยู่ในภาคตะวันตกหรือภาคใต้[263] พื้นที่มหานครแซนเบอร์นาร์ดีโน แดลลัส ฮุสตัน แอตแลนตาและฟีนิกซ์ล้วนเติบโตกว่าหนึ่งล้านคนระหว่างปี 2000 ถึง 2008[262]
ภาษา
+ ภาษาที่คนกว่า 1 ล้านคนพูดที่บ้านในสหรัฐ (ปี 2010)[266][m] | |||
ภาษา | ร้อยละของ ประชากร |
จำนวน ผู้พูด |
จำนวนผู้พูด ภาษาอังกฤษ ได้ดีหรือดีมาก |
---|---|---|---|
อังกฤษ (เท่านั้น) | 80% | 233,780,338 | ทุกคน |
รวมทุกภาษา ที่มิใช่อังกฤษ |
20% | 57,048,617 | 43,659,301 |
สเปน (ไม่รวมปวยร์โตรีโกและผสมสเปน) |
12% | 35,437,985 | 25,561,139 |
จีน (รวมภาษากวางตุ้งมาตรฐานและภาษาจีนมาตรฐาน) |
0.9% | 2,567,779 | 1,836,263 |
ตากาล็อก | 0.5% | 1,542,118 | 1,436,767 |
เวียดนาม | 0.4% | 1,292,448 | 879,157 |
ฝรั่งเศส (รวมเคจันแต่ไม่รวมผสมเฮติ) |
0.4% | 1,288,833 | 1,200,497 |
เกาหลี | 0.4% | 1,108,408 | 800,500 |
เยอรมัน | 0.4% | 1,107,869 | 1,057,836 |
ภาษาอังกฤษ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน) เป็นภาษาประจำชาติโดยพฤตินัย แม้ไม่มีภาษาราชการในระดับสหพันธรัฐ แต่กฎหมายบางฉบับ เช่น ข้อกำหนดการแปลงสัญชาติของสหรัฐ วางมาตรฐานภาษาอังกฤษ ในปี 2010 ประมาณ 230 ล้านคนหรือ 80% ของประชากรอายุตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป พูดภาษาอังกฤษที่บ้านเท่านั้น ภาษาสเปน ซึ่งมีประชากร 12% พูดที่บ้าน เป็นภาษาที่พบมากที่สุดอันดับสองและเป็นภาษาที่สองที่สอนกันแพร่หลายที่สุด[267][268] ชาวอเมริกันบางส่วนสนับสนุนให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการของประเทศ เนื่องจากเป็นภาษาราชการแล้วใน 32 รัฐ[269]
ทั้งภาษาฮาวายและภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการในรัฐฮาวายตามกฎหมายของรัฐ[270] แม้ไม่มีภาษาราชการ แต่รัฐนิวเม็กซิโกมีกฎหมายที่กำหนดการใช้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาสเปน เช่นเดียวกับที่รัฐลุยเซียนากำหนดให้ใช้ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส[271] รัฐอื่น เช่น รัฐแคลิฟอร์เนียมีคำสั่งศาลสูงให้พิมพ์เผยแพร่เอกสารราชการบางชนิดเป็นภาษาสเปน รวมทั้งแบบของศาล[272] หลายเขตอำนาจที่มีผู้ไม่พูดภาษาอังกฤษจำนวนมากมีการผลิตเอกสารรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารสนเทศการเลือกตั้ง ในภาษาที่มีผู้พูดแพร่หลายในเขตอำนาจเหล่านั้น
หลายดินแดนเกาะให้การรับรองอย่างเป็นทางการต่อภาษาพื้นเมืองร่วมกับภาษาอังกฤษ โดยอเมริกันซามัวและกวมรับรองภาษาซามัว[273] และภาษาชามอร์โร[274] ตามลำดับ หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนารับรองภาษาแคโรไลน์และชามอร์โร[275] ชาติเชอโรคีรับรองภาษาเชอโรคีอย่างเป็นทางการในพื้นที่เขตอำนาจเผ่าเชอโรคีในรัฐโอกลาโฮมาตะวันออก ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการในปวยร์โตรีโกและมีพูดกันแพร่หลายกว่าภาษาอังกฤษที่นั่น[276]
ภาษาต่างด้าวที่สอนกันกว้างขวางที่สุดในทุกระดับในสหรัฐ (ในแง่ของจำนวนผู้ลงทะเบียน) ได้แก่ ภาษาสเปน (ผู้เรียนประมาณ 7.2 ล้านคน) ฝรั่งเศส (1.5 ล้านคน) และเยอรมัน (500,000 คน) ภาษาที่มีสอนแพร่หลายอื่น (โดยมีผู้เรียน 100,000 ถึง 250,000 คน) มีภาษาละติน ญี่ปุ่น ภาษาใบ้อเมริกัน ภาษาอิตาลีและจีน[277][278] 18% ของชาวอเมริกันอ้างว่าตนพูดได้มากกว่าหนึ่งภาษานอกจากภาษาอังกฤษ[279]
ศาสนา
ศาสนาที่นับถือในสหรัฐ (ปี 2014)[280] | ||
ศาสนา | % ของประชากรสหรัฐ | |
---|---|---|
คริสต์ | 70.6 | |
โปรเตสแตนต์ | 46.5 | |
โปรเตสแตนต์อีวานเจลิคัล | 25.4 | |
โปรเตสแตนต์สายหลัก | 14.7 | |
คริสตจักรดำ | 6.5 | |
คาทอลิก | 20.8 | |
มอรมอน | 1.6 | |
พยานพระยะโฮวา | 0.8 | |
อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ | 0.5 | |
คริสต์อื่น | 0.4 | |
ยูดาห์ | 1.9 | |
อิสลาม | 1 | |
พุทธ | 0.7 | |
ฮินดู | 0.7 | |
ศาสนาอื่น | 1.8 | |
ไม่มีศาสนา | 22.8 | |
ไม่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง | 15.8 | |
อไญยนิยม | 4.0 | |
อเทวนิยม | 3.1 | |
ไม่ทราบหรือปฏิเสธไม่ตอบ | 0.6 |
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐครั้งแรกรับประกันการนับถือศาสนาอย่างเสรีและห้ามรัฐสภาผ่านกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันศาสนา
ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในสหรัฐ ในการสำรวจปี 2013 ชาวอเมริกัน 56% กล่าวว่า ศาสนามี "บทบาทสำคัญมากในชีวิตของพวกเขา" ซึ่งเป็นตัวเลขสูงกว่าของประเทศที่ร่ำรวยอื่นมาก[281] ในการสำรวจมติมหาชนปี 2009 ชาวอเมริกัน 42% กล่าวว่า พวกเขาเข้าโบสถ์ทุกสัปดาห์หรือเกือบทุกสัปดาห์ ตัวเลขดังกล่าวแปรผันตั้งแต่ 23% ในรัฐเวอร์มอนต์ จนถึงสูง 63% ในรัฐมิสซิสซิปปี[282] ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยและผู้ประพันธ์เรียกสหรัฐว่าเป็น "ชาติโปรเตสแตนต์" หรือ "ก่อตั้งบนหลักการโปรเตสแตนต์"[283][284][285][286] โดยเน้นมรดกลัทธิคาลวินเป็นพิเศษ[287][288][289]
สหรัฐเริ่มเคร่งศาสนาน้อยลงเช่นเดียวกับประเทศตะวันตกอื่น การไม่มีศาสนาเติบโตอย่างรวดเร็วในหมู่ชาวอเมริกันอายุต่ำกว่า 30 ปี[290] การสำรวจแสดงว่า ความเชื่อมั่นในศาสนาของชาวอเมริกันโดยรวมเสื่อมลงมาตั้งแต่กลางถึงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980[291] โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอเมริกันอายุน้อยที่ไม่มีศาสนาเพิ่มขึ้น[292] การศึกษาในปี 2012 บ่งชี้ว่าสัดส่วนประชากรสหรัฐที่นับถือโปรเตสแตนต์ลดลงเหลือ 48% ทำให้ยุติสถานภาพเป็นหมวดศาสนาของฝ่ายข้างมากเป็นครั้งแรก[293][294] ชาวอเมริกันที่ไม่มีศาสนามีบุตร 1.7 คนเทียบกับคริสต์ศาสนิกชน 2.2 คน ผู้ไม่นับถือศาสนายังมีแนวโน้มสมรสน้อยกว่าคริสต์ศาสนิกชน 37% ต่อ 52%[295]
จากการสำรวจปี 2014 ผู้ใหญ่ 70.6% ระบุตัวเองเป็นคริสต์ศาสนิกชน[296] ลดลงจาก 73% ในปี 2012[297] โปรเตสแตนต์นิกายต่าง ๆ คิดเป็น 46.5% ในขณะที่นิกายโรมันคาทอลิกคิดเป็น 20.8% เป็นนิกายเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุด[298] ศาสนาอื่นนอกเหนือจากศาสนาคริสต์ที่รายงานทั้งหมดในปี 2014 มี 5.9%[298] ศาสนาอื่น ๆ ได้แก่ ศาสนายูดาห์ (1.9%), ศาสนาอิสลาม (0.9%), ศาสนาฮินดู, (0.7%) ศาสนาพุทธ (0.7%)[298] การสำรวจยังรายงานว่าชาวอเมริกัน 22.8% ระบุตัวเองว่าอไญยนิยม, อเทวนิยมหรือไม่มีศาสนา เพิ่มขึ้นจาก 8.2% ในปี 1990[298][299][300] นอกจากนี้ยังมีชุมชน ยูนิทาเรียนยูนิเวอร์แซลิสต์, ศาสนาบาไฮ, ศาสนาซิกข์, ศาสนาเชน, ลัทธิชินโต, ลัทธิขงจื๊อ, ลัทธิเต๋า, ดรูอิด, พื้นเมืองอเมริกัน, วิคะ, มนุษยนิยม, และเทวัสนิยม[301]
โปรเตสแตนต์เป็นกลุ่มศาสนาคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ มีคริสตจักรแบปทิสต์รวมกันเป็นนิกายโปรเตสแตนต์ที่ใหญ่ที่สุด และสหคริสตจักรแบปทิสต์ใต้ (Southern Baptist Convention) เป็นนิกายโปรเตสแตนต์เดี่ยวที่ใหญ่สุด ชาวอเมริกันประมาณ 26% ระบุตนเป็นโปรเตสแตนต์อีวานเจลิคัล (Evangelical Protestant) ส่วน 15% เป็นสายหลัก (Mainline) และ 7% เป็นคริสตจักรดำดั้งเดิม โรมันคาทอลิกในสหรัฐมีเหง้าในการทำให้ทวีปอเมริกาเป็นอาณานิคมของสเปนและฝรั่งเศส และต่อมาขยายตัวเนื่องจากการเข้าเมืองของชาวไอริช อิตาลี โปแลนด์ เยอรมันและสเปน รัฐโรดไอแลนด์มีร้อยละของคาทอลิกสูงสุดโดยมี 40% ของประชากร[302] นิกายลูเทอแรนในสหรัฐกำเนิดจากการเข้าเมืองจากยุโรปเหนือและประเทศเยอรมนี รัฐนอร์ทและเซาท์ดาโคตาเป็นเพียงสองรัฐที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นลูเทอร์แรนมากกว่า ผู้เข้าเมืองชาวสกอตและสกอตอัลสเตอร์เผยแผ่นิกายเพรสไบทีเรียนในทวีปอเมริกาเหนือ แม้นิกายดังกล่าวได้เผยแผ่ทั่วสหรัฐ แต่กระจุกอยู่ในชายฝั่งตะวันออกเป็นหลัก มีการก่อตั้งกลุ่มผู้นับถือศาสนาปฏิรูปดัตช์ครั้งแรกในนิวอัมสเตอร์ดัม (นครนิวยอร์ก) ก่อนเผยแผ่ไปทางทิศตะวันตก รัฐยูทาห์เป็นรัฐเดียวที่มอรมอนเป็นศาสนาของประชากรส่วนใหญ่ ฉนวนมอรมอนยังขยายไปถึงบางส่วนของรัฐไอดาโฮ เนวาดาและไวโอมิง[303]
เข็มขัดไบเบิล (Bible Belt) เป็นภาษาปากใช้เรียกภูมิภาคในภาคใต้ของสหรัฐซึ่งโปรเตสแตนต์อีวานเจลิคัลซึ่งเป็นอนุรักษนิยมทางสังคมเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมและอัตราการเข้าโบสถ์คริสต์ในนิกายต่าง ๆ ปกติสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ในทางกลับกัน ศาสนามีบทบาทสำคัญน้อยในเขตนิวอิงแลนด์และภาคตะวันตกของสหรัฐ[282]
โครงสร้างครอบครัว
ในปี 2007 ชาวอเมริกันอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป 58% สมรส 6% เป็นม่าย 10% หย่าร้าง และ 25% ไม่เคยสมรส[304] ขณะนี้หญิงส่วนใหญ่ทำงานนอกบ้าน และสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีมากกว่าชาย[305]
อัตราการตั้งครรภ์วัยรุ่นสหรัฐอยู่ที่ 26.5 คนต่อ 1,000 คน อัตราดังกล่าวลดลง 57% จากปี 1991[306] ในปี 2013 อัตราเกิดวัยรุ่นสูงสุดอยู่ในรัฐแอลาบามา และต่ำสุดในรัฐไวโอมิง[306][307] การทำแท้งชอบด้วยกฎหมายทั่วทั้งสหรัฐ เนื่องจากคดีระหว่างโรและเวด (Roe v. Wade) คำวินิจฉัยบรรทัดฐานในปี 1973 ของศาลสูงสุดแห่งสหรัฐ แม้อัตราการทำแท้งจะลดลง แต่อัตราทำแท้ง 241 ต่อ 1,000 การคลอดมีชีพและอัตราการทำแท้ง 15 คนต่อ 1,000 คนในหญิงอายุระหว่าง 15–44 ปีก็ยังสูงกว่าอัตราของชาติตะวันตกส่วนใหญ่[308] ในปี 2013 อายุเฉลี่ยของการคลอดครั้งแรกอยู่ที่ 26 ปีและ 40.6% ของการเกิดเกิดกับหญิงไม่สมรส[309]
มีการประมาณอัตราเจริญพันธุ์รวมของปี 2013 ไว้ที่ 1.86 การเกิดต่อหญิง 1 คน[310] การรับบุตรบุญธรรมในสหรัฐมีทั่วไปและค่อนข้างง่ายจากมุมมองกฎหมายเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตกอื่น[311] ในปี 2001 ด้วยการรับบุตรบุญธรรมกว่า 127,000 คน สหรัฐคิดเป็นเกืบอกึ่งหนึ่งของจำนวนการรับบุตรบุญธรรมทั้งหมดทั่วโลก[312] การสมรสเพศเดียวกันชอบด้วยกฎหมายทั่วประเทศและคู่สมรสเพศเดียวกันสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ตามกฎหมาย พหุสามีภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายทั่วทั้งสหรัฐ[313]
การเมืองการปกครอง
สหรัฐเป็นสหพันธรัฐเก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังมีอยู่มาถึงปัจจุบัน เป็นสาธารณรัฐแบบมีรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน "ซึ่งการถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์มากถูกจำกัดโดยสิทธิฝ่ายข้างน้อยที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย"[314] มีการวางระเบียบการปกครองด้วยระบบตรวจสอบและถ่วงดุลที่นิยามตามรัฐธรรมนูญสหรัฐ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ[315] สำหรับ ค.ศ. 2016 สหรัฐจัดอยู่ในอันดับที่ 21 ตามดัชนีประชาธิปไตย[316] และอันดับที่ 18 ในดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน[317]
ในระบบสหพันธรัฐนิยมอเมริกา ปกติพลเมืองอยู่ใต้บังคับแห่งการปกครองสามระดับ คือ สหพันธรัฐ รัฐและท้องถิ่น หน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นปกติแบ่งกันระหว่างรัฐบาลเทศมณฑล (county) และองค์การเทศบาล ในเกือบทุกกรณี ข้าราชการฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้งแบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่าของพลเมืองแบ่งตามเขต ไม่มีการมีผู้แทนตามสัดส่วนในระดับสหพันธรัฐ และพบน้อยในระดับล่างกว่า[318]
รัฐบาลกลางประกอบด้วยสามอำนาจ ได้แก่
- สภานิติบัญญัติ: รัฐสภาซึ่งใช้ระบบสองสภา ประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ออกกฎหมายกลาง ประกาศสงคราม รับรองสนธิสัญญา มีอำนาจผ่านงบประมาณ (power of the purse)[319] และมีอำนาจฟ้องให้ขับออกจากตำแหน่ง ซึ่งสามารถถอดถอนสมาชิกรัฐบาลปัจจุบันได้[320]
- ฝ่ายบริหาร: ประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด สามารถใช้สิทธิยับยั้งร่างกฎหมายก่อนมีผลใช้บังคับ (แต่สามารถถูกรัฐสภาแย้งได้) และแต่งตั้งสมาชิกคณะรัฐมนตรี (โดยการอนุมัติของวุฒิสภา) และข้าราชการอื่น ซึ่งปกครองและใช้บังคับกฎหมายและนโยบายกลาง[321]
- ฝ่ายตุลาการ: ศาลสูงสุดและศาลกลางระดับล่างกว่า ซึ่งผู้พิพากษามาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดีด้วยการอนุมัติของวุฒิสภา ตีความกฎหมายและยกเลิกกฎหมายที่วินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ[322]
สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกออกเสียงลงคะแนน 435 คน แต่ละคนเป็นผู้แทนของเขตรัฐสภาเป็นสมัยสองปี ที่นั่งของสภาผู้แทนราษฎรมีการจัดสัดส่วนตามรัฐแบ่งตามประชากรทุกสิบปี ในสำมะโนปี 2010 เจ็ดรัฐมีผู้แทนขั้นต่ำหนึ่งคน ส่วนรัฐแคลิฟอร์เนนีย รัฐที่มีประชากรมากที่สุด มี 53 คน[323]
วุฒิสภามีสมาชิก 100 คน โดยแต่ละรัฐมีสมาชิกวุฒิสภาสองคน ได้รับเลือกตั้งโดยไม่แบ่งเขตมีวาระละ 6 ปี ตำแหน่งวุฒิสภาหนึ่งในสามมีการเลือกตั้งปีเว้นปี ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปี และอาจได้รับเลือกตั้งได้ไม่เกินสองครั้ง ประธานาธิบดีมิได้เลือกตั้งจากคะแนนเสียงโดยตรง แต่มาจากระบบคณะผู้เลือกตั้งทางอ้อมซึ่งกำหนดคะแนนเสียงที่จัดสัดส่วนให้แก่รัฐและเขตโคลัมเบีย ศาลสูงสุด ซึ่งมีประธานศาลสูงสุดแห่งสหรัฐเป็นหัวหน้า มีสมาชิกเก้าคน ซึ่งดำรงตำแหน่งตลอดชีพ[324]
รัฐบาลรัฐมีโครงสร้างคล้าย ๆ กัน แต่รัฐเนแบรสกามีสภานิติบัญญัติที่ใช้ระบบสภาเดียวต่างจากรัฐอื่น[326] ผู้ว่าการแต่ละรัฐ (หัวหน้าฝ่ายบริหาร) มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ผู้พิพากาษาและคณะรัฐมนตรีของบางรัฐมาจากการแต่งตั้งของผู้ว่าการของรัฐนั้น ๆ แต่บางรัฐมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ข้อความดั้งเดิมของรัฐธรรมนูญกำหนดโครงสร้างและความรับผิดชอบของรัฐบาลกลางและความสัมพันธ์กับรัฐหนึ่ง ๆ มาตรา 1 คุ้มครองสิทธิหมายสั่งให้ส่งตัวผู้ถูกคุมขังมาศาล รัฐธรรมนูญมีการแก้ไขเพิ่มเติม 27 ครั้ง[327] การแก้ไขเพิ่มเติมสิบครั้งแรก ซึ่งรวมเรียว่า รัฐบัญญัติสิทธิ (Bill of Rights) และการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 14 ก่อเป็นรากฐานกลางของสิทธิปัจเจกของชาวอเมริกัน กฎหมายและวิธีดำเนินการปกครองทั้งหมดอยู่ภายใต้การพิจารณาทบทวนโดยศาลและกฎหมายที่ศาลวินิจฉัยว่าละเมิดรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะ ศาลสูงสุดสถาปนาหลักการพิจารณาทบทวนโดยศาล แม้มิได้กล่าวไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ ในคดีระหว่างมาร์บูรีกับเมดิสัน (Marbury v. Madison) ปี 1803[328]
เขตรัฐกิจ
สหรัฐเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐประกอบด้วย 50 รัฐ เขตสหพันธรัฐ ห้าดินแดนและเกาะที่ไม่มีคนอยู่อาศัยสิบเอ็ดเกาะ[330] รัฐและดินแดนเป็นเขตการปกครองหลักในประเทศ แบ่งเป็นเขตย่อยเทศมณฑลและนครอิสระ เขตโคลัมเบียเป็นเขตสหพันธรัฐซึ่งมีเมืองหลวงของสหรัฐ คือ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. รัฐและเขตโคลัมเบียเลือกประธานาธิบดีสหรัฐ แต่ละรัฐมีผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีเทียบเท่ากับผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในรัฐสภา เขตโคลัมเบียมีสามคน[331]
เขตรัฐสภามีการกำหนดจำนวนผู้แทนตามส่วนของพลเมืองใหม่ของรัฐหลังสำมะโนประชากรทุกสิบปี แล้วแต่ละรัฐเป็นเขตสมาชิกหนึ่งให้เป็นไปตามการจัดสัดส่วนสำมะโน มีจำนวนผู้แทนราษฎรทั้งหมด 435 คน และสมาชิกรัฐสภาผู้แทนเป็นตัวแทนของเขตโคลัมเบียและห้าดินแดนหลักของสหรัฐ[332]
สหรัฐยังมีอำนาจอธิปไตยชนเผ่า (tribal sovereignty) ของชาติอเมริกันอินเดียนในขอบเขตจำกัด เช่นเดียวกับอำนาจอธิปไตยของรัฐ อเมริกันอินเดียนเป็นพลเมืองสหรัฐและดินแดนชนเผ่าอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐสภาสหรัฐและศาลสหพันธรัฐ เช่นเดียวกับรัฐ ชนเผ่ามีอัตตาณัติสูง แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกาศสงคราม มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชองตนเอง หรือพิมพ์และออกเงินตรา[333]
พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง
สหรัฐใช้ระบบสองพรรคมาเกือบตลอดประวัติศาสตร์[334] สำหรับตำแหน่งเลือกตั้งแทบทุกระดับ การเลือกตั้งผู้สมัครรอบแรกที่รัฐจัดการเลือกผู้ได้รับเสนอชื่อของพรรคการเมืองหลักสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในเวลาต่อมา นับแต่การเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 1856 พรรคการเมืองหลักได้แก่ พรรคเดโมแครตซึ่งก่อตั้งใน ค.ศ. 1824 และพรรคริพับลิกันซึ่งก่อตั้งใน ค.ศ. 1854 นับแต่สงครามกลางเมือง มีผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีจากพรรคที่สามเพียงคนเดียว คือ อดีตประธานาธิบดีธีโอดอร์ โรสเวลต์ ซึ่งมาจากพรรคก้าวหน้าใน ค.ศ. 1912 ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งผ่านระบบคณะผู้เลือกตั้ง[335]
ภายในวัฒนธรรมการเมืองอเมริกา พรรครีพับลิกันฝ่ายกลางขวาถือว่าเป็น "อนุรักษนิยม" และพรรคเดโมแครตฝ่ายกลางซ้ายถือว่าเป็น "เสรีนิยม"[336][337] รัฐภาคตะวันออกเฉียงเหนือและชายฝั่งตะวันตกและรัฐเกรตเลกส์บางรัฐรู้จักกันในนาม "รัฐน้ำเงิน" ค่อนข้างเป็นเสรีนิยม "รัฐแดง" ในภาคใต้และบางส่วนของเกรตเพลนส์และเทือกเขาร็อกกีค่อนข้างเป็นอนุรักษนิยม
โจ ไบเดิน จากพรรคเดโมแครต ผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ค.ศ. 2020 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 46 ผู้นำปัจจุบันในวุฒิสภา ได้แก่ รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริสจากพรรคเดโมแครต ประธานชั่วคราวแพทริก ลีฮี (Patrick Leahy) จากพรรคเดโมแครต หัวหน้าฝ่ายข้างมาก ชัก ชูเมอร์ (Chuck Schumer) และหัวหน้าฝ่ายข้างน้อย มิตช์ แม็กคอนเนล (Mitch McConnell) ผู้นำในสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ ประธานสภาผู้แทนราษฎรแนนซี เพโลซี หัวหน้าฝ่ายข้างมาก สเตนี ฮอยเยอร์ (Steny Hoyer) และหัวหน้าฝ่ายข้างน้อย เควิน แม็กคาธี (Kevin McCarthy)
ในรัฐสภาสหรัฐสมัยที่ 117 พรรคเดโมแครตครองทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ปัจจุบันวุฒิสภามีเดโมแครต 48 คน และอิสระ 2 คนซึ่งประชุมลับกับเดโมแครต รีพับลิกัน 50 คน สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยรีพับลิกัน 221 คนและเดโมแครต 211 คน ในตำแหน่งผู้ว่าการรัฐ มีรีพับลิกัน 27 คน เดโมแครต 23 คน ในบรรดานายกเทศมนตรี ดี.ซี. และผู้ว่าการดินแดน 5 คน มีรีพับลิกัน 2 คน เดโมแครต 1 คน ก้าวหน้าใหม่ 1 คนและอิสระ 2 คน
ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
สหรัฐมีโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งได้รับการยอมรับ เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และนครนิวยอร์กเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ เป็นสมาชิกจี 7[339] จี20 และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา เกือบทุกประเทศมีสถานเอกอัครราชทูตในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และหลายประเทศมีสถานกงสุลทั่วประเทศ ในทำนองเดียวกัน เกือบทุกประเทศมีคณะทูตอเมริกันอยู่ อย่างไรก็ตาม อิหร่าน เกาหลีเหนือ ภูฏานและสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ไม่มีความสัมพันธ์ทางทูตอย่างเป็นทางการกับสหรัฐ (แม้สหรัฐยังมีความสัมพันธ์กับไต้หวันและส่งยุทธภัณฑ์ให้)[340]
สหรัฐมี "ความสัมพันธ์พิเศษ" กับสหราชอาณาจักร[341] และความสัมพันธ์เหนียวแน่นกับประเทศแคนาดา[342] ออสเตรเลีย,[343] นิวซีแลนด์[344] ฟิลิปปินส์[345] ญี่ปุ่น[346] เกาหลีใต้[347] อิสราเอล[348] และอีกหลายประเทศสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนีและสเปน สหรัฐทำงานอย่างใกล้ชิดกับสมาชิกนาโตด้วยกันในประเด็นทางทหารและความมั่นคง และกับประเทศเพื่อนบ้านโดยผ่านองค์การนานารัฐอเมริกัน และข้อตกลงการค้าเสรี เช่น ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือไตรภาคีกับประเทศแคนาดาและเม็กซิโก ในปี 2008 สหรัฐใช้งบประมาณสุทธิ 25,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการช่วยเหลือพัฒนาอย่างเป็นทางการ ซึ่งมากที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม การให้เงินช่วยเหลือของสหรัฐ 0.18% เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนของรายได้มวลรวมประชาชาติของสหรัฐ ทำให้จัดอยู่อันดับสุดท้ายในบรรดารัฐบริจาค 22 ประเทศ ในทางตรงข้าม การให้เงินต่างประเทศของเอกชนโดยชาวอเมริกันค่อนข้างเผื่อแผ่[349]
สหรัฐใช้อำนาจและความรับผิดชอบด้านการป้องกันประเทศระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์สำหรับสามรัฐเอกราชผ่านความตกลงระหว่างประเทศสมาคมอิสระ (Compact of Free Association) กับไมโครนีเซีย หมู่เกาะมาร์แชลล์และปาเลา ประเทศเหล่านี้เป็นชาติเกาะแปซิฟิก ซึ่งเคยเป็นดินแดนในภาวะทรัสตีหมู่เกาะแปซิฟิก (Trust Territory of the Pacific Islands) ที่สหรัฐบริหารหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งได้รับเอกราชในเวลาต่อมา[350]
การคลังภาครัฐ
ภาษีในสหรัฐมีการจัดเก็บในระดับรัฐบาลสหพันธรัฐ รัฐและท้องถิ่น ภาษีเหล่านี้รวมถึงภาษีรายได้, หักจากค่าจ้าง, ทรัพย์สิน, การขาย, นำเข้า, มรดกและการให้ ตลอดจนค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในปี 2010 ภาษีที่รัฐบาลกลาง รัฐ และเทศบาลจัดเก็บได้คิดเป็น 24.8% ของจีดีพี[352] ช่วงปีงบประมาณ 2012 รัฐบาลกลางจัดเก็บรายได้จากภาษีประมาณ 2.45 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ, เพิ่มขึ้น 147,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6% เมื่อเทียบกับรายได้ 2.30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของปีงบประมาณ 2011 หมวดหมู่หลักได้แก่ ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา (1,132,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 47%) ภาษีหลักประกันสังคม/การประกันสังคม (845,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 35%) และภาษีนิติบุคคล (242,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 10%)[353] ตามการประมาณของสำนักงานงบประมาณของรัฐสภา[354] ภายใต้กฎหมายภาษีปี 2013 ผู้มีรายได้สูงสุด 1% จะจ่ายอัตราภาษีเฉลี่ยสูงสุดนับแต่ปี 1979 ส่วนกลุ่มรายได้อื่นยังอยู่ในอัตราต่ำสุดเป็นประวัติการณ์[355]
โดยทั่วไปการเก็บภาษีอากรของสหรัฐเป็นแบบก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีรายได้ของรัฐบาลกลาง และเป็นแบบก้าวหน้ามากที่สุดในประเทศพัฒนาแล้ว[356][357][358][359][360] ผู้มีรายได้สูงสุด 10% จ่ายภาษีของรัฐบาลกลางส่วนใหญ่[361] และเกือบครึ่งหนึ่งของภาษีทั้งหมด[362] ภาษีหักจากค่าจ้างสำหรับหลักประกันสังคมเป็นภาษีถดถอยแนวราบ โดยไม่มีการเก็บภาษีกับรายได้เกิน 118,500 ดอลลาร์สหรัฐ (สำหรับปี 2015 และ 2016) และไม่เก็บภาษีเลยสำหรับผู้ไม่มีรายได้จากหลักทรัพย์และกำไรส่วนทุน[363][364] การให้เหตุผลเดิมสำหรับสภาพถดถอยของภาษีหักจากค่าจ้าง คือ โครงการการให้สิทธิ์ไม่ถูกมองเป็นการโอนสวัสดิการ[365][366] ทว่า ตามข้อมูลของสำนักงานงบประมาณของรัฐสภา ผลลัพธ์สุทธิของหลักประกันสังคม คือ อัตราประโยชน์ต่อภาษีมีพิสัยตั้งแต่ประมาณ 70% สำหรับ 20% ของผู้มีรายได้สูงสุดถึงประมาณ 170% สำหรับ 20% ของผู้มีรายได้ต่ำสุด ทำให้ระบบเป็นแบบก้าวหน้า[367]
ผู้มีรายได้สูงสุด 10% จ่าย 51.8% ของภาษีรัฐบาลกลางทั้งหมดในปี 2009 และผู้มีรายได้สูงสุด 1% ซึ่งมีรายได้ประชาชาติก่อนเสียภาษี 13.4% จ่ายภาษีรัฐบาลกลาง 22.3%[359] ในปี 2013 ศูนย์นโยบายภาษีพยากรณ์ว่าอัตราภาษียังผลของรัฐบาลกลาง 35.5% สำหรับผู้มีรายได้สูงสุด 1%, 29.7% สำหรับผู้มีรายได้สูงสุด 20%, 13.8% สำหรับผู้มีรายได้ปานกลางและ −2.7% สำหรับผู้มีรายได้ต่ำสุด[368][369] ภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นประเด็นกรณีโต้เถียงที่กำลังดำเนินอยู่มาหลายทศวรรษ[357][370] ภาษีรัฐและท้องถิ่นแตกต่างกันมาก แต่โดยทั่วไปเป็นแบบถดถอยน้อยกว่าภาษีรัฐบาลกลางเพราะการจัดเก็บภาษีนั้นอาศัยภาษีการขายและทรัพย์สอนแบบถดถอยซึ่งให้กระแสรายได้ที่ลบเลือนได้น้อยกว่า แม้รวมภาษีเหล่านี้ด้วยแล้ว การจัดเก็บภาษีโดยรวมก็ยังเป็นแบบก้าวหน้า[357][371]
ระหว่างปีงบประมาณ 2012 รัฐบาลกลางใชังบประมาณหรือเกณฑ์เงินสด 3.54 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.7 % เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2011 ที่ใช้ 3.60 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รายจ่ายหมวดหลักในปีงบประมาณ 2012 ได้แก่ เมดิแคร์และเมดิเคด (802,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 23% ของรายจ่าย), หลักประกันสังคม (768,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 22%), กระทรวงกลาโหม (670,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 19%) ดุลยพินิจนอกเหนือจากการกลาโหม (615,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 17%) รายจ่ายบังคับอื่น (461,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 13%) และดอกเบี้ย (223,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 6%)[353]
หนี้สินของชาติทั้งหมดของสหรัฐอยู่ที่ 18.527 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (106% ของจีดีพี) ในปี 2014[372] สหรัฐมีการจัดอันดับเครดิต AA+ จากสแตนดาร์ดแอนด์พัวส์, AAA จากฟิตช์ และ AAA จากมูดีส์[373]
กองทัพ
ประธานาธิบดีมีตำแหน่งผู้บัญชาการทหาร และแต่งตั้งหัวหน้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะเสนาธิการร่วม กระทรวงกลาโหมของสหรัฐบริหารกองทัพ รวมทั้งกองทัพบก, กองทัพเรือ, เหล่านาวิกโยธิน, และกองทัพอากาศ หน่วยยามฝั่งดำเนินการโดยกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิในยามสงบและกระทรวงทหารเรือในยามสงคราม ในปี 2008 กองทัพมีกำลังพลประจำการ 1.4 ล้านนาย หรือ 2.3 ล้านนายหากนับรวมกำลังสำรองและกำลังป้องกันชาติ กระทรวงกลาโหมว่าจ้างพลเรือนประมาณ 700,000 คน ไม่นับรวมผู้รับเหมา[374]
ราชการทหารเป็นแบบสมัครใจ แม้อาจมีการเกณฑ์ทหารในยามสงครามผ่านระบบราชการคัดเลือก (Selective Service System)[375] กำลังอเมริกาสามารถวางกำลังได้อย่างรวดเร็วโดยกลุ่มอากาศยานขนส่งขนาดใหญ่ของกองทัพอากาศ เรือบรรทุกอากาศยานประจำการ 11 ลำของกองทัพเรือ และหน่วยรบนอกประเทศนาวิกโยธินในทะเลกับกองเรือแอตแลนติกและแปซิฟิกของกองทัพเรือ กองทัพมีฐานทัพและศูนย์ 865 แห่งนอกประเทศ[376] และมีกำลังพลประจำการกว่า 100 นายใน 25 ประเทศ[377]
งบประมาณทางทหารของสหรัฐในปี 2011 อยู่ที่ 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 41% เป็นรายจ่ายทางทหารทั่วโลกและเท่ากับรายจ่ายทางทหารของ 14 ชาติที่มีรายจ่ายมากรองลงมารวมกัน อัตรางบประมาณทางทหารอยู่ที่ 4.7% ของจีดีพี ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดอันดับสองในบรรดาประเทศที่มีรายจ่ายทางทหารสูงสุด 15 ประเทศ รองจากประเทศซาอุดีอาระเบีย[378] รายจ่ายกลาโหมของสหรัฐเมื่อเทียบเป็นร้อยละของจีดีพีจัดเป็นอันดับที่ 23 ของโลกในปี 2012 ตามข้อมูลของซีไอเอ[379] สัดส่วนรายจ่ายกลาโหมของสหรัฐโดยทั่วไปลดลงในทศวรรษหลัง จากช่วงสงครามเย็นที่สูงสุดที่ 14.2% ของจีดีพีในปี 1953 และ 69.5% ของรายจ่ายรัฐบาลกลางใน 1954 ลงมาที่ 4.7 % ของจีดีพี และ 18.8 % ของรายจ่ายรัฐบาลกลางในปี 2011[380]
ฐานงบประมาณกระทรวงกลาโหมที่เสนอไว้สำหรับปี 2012 มูลค่า 553,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.2% จากปี 2011 หรือเพิ่ม 118,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับการทัพในประเทศอิรักและอัฟกานิสถาน[381] ทหารอเมริกันชุดสุดท้ายที่รับราชการในประเทศอิรักออกจากประเทศในเดือนธันวาคม 2011[382] ข้าราชการทหาร 4,484 นายถูกฆ่าระหว่างสงครามอิรัก[383] มีทหารสหรัฐประมาณ 90,000 นายกำลังรับราชการอยู่ในประเทศอัฟกานิสถานในเดือนเมษายน 2012[384] ณ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2013 มีทหารเสียชีวิต 2,285 นายในสงครามในอัฟกานิสถาน[385]
อาชญากรรมและการบังคับใช้กฎหมาย
การบังคับใช้กฎหมายในสหรัฐเป็นความรับผิดชอบหลักของตำรวจท้องที่ และหน่วยงานของนายอำเภอ (sheriff) โดยมีตำรวจของรัฐบริการกว้างกว่า กรมตำรวจนครนิวยอร์กเป็นตำรวจท้องที่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ หน่วยงานของรัฐบาลกลาง เช่น สำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) และราชการพนักงานศาลแขวง (Marshals Service) ของสหรัฐมีหน้าที่ชำนัญพิเศษ ซึ่งรวมการพิทักษ์สิทธิพลเมือง ความมั่นคงของชาติและบังคับใช้คำวินิจฉัยของศาลกลางและกฎหมายกลางของสหรัฐ[387] ในระดับรัฐบาลกลางและในเกือบทุกรัฐ ระบบกฎหมายใช้แบบคอมมอนลอว์ ศาลของรัฐตัดสินคดีอาญาส่วนใหญ่ ศาลกลางรับผิดชอบอาชญากรรมที่กำหนดบางอย่างตลอดจนคดีอุทธรณ์จากศาลอาญาของรัฐ การต่อรองคำรับสารภาพในสหรัฐพบดาษดื่น คดีอาญาส่วนใหญ่ในประเทศระงับด้วยการต่อรองคำรับสารภาพมิใช่การพิจารณาของคณะลูกขุน[388]
ในปี 2015 มีการฆ่าคน 15,696 ครั้ง ซึ่งมากกว่าปี 2014 จำนวน 1,532 ครั้ง หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับแต่ปี 1971[389] อัตราการฆ่าคนในปี 2015 อยู่ที่ 4.9 คนต่อประชากร 100,000 คน[390] ในปี 2016 อัตราการฆ่าคนเพิ่มขึ้น 8.6% โดยมีการฆ่าคน 17,250 ครั้งในปีนั้น[391] อัตราการชำระคดี (clearance rate) สำหรับการฆ่าคนของประเทศในปี 2015 อยู่ที่ร้อยละ 64.1 เมื่อเทียบกับร้อยละ 90 ในปี 1965[392] ในปี 2012 มีการฆ่าคน 4.7 คนต่อประชากร 100,000 คนในสหรัฐ ลดลงร้อยละ 54 จากยอดสูงสุด 10.2 ในปี 1980[393] ในปี 2001–2 สหรัฐมีระดับอาชญากรรมรุนแรงสูงกว่าค่าเฉลี่ย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงจากปืนสูงเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่น[394] การวิเคราะห์ตามขวางของฐานข้อมูลการตายขององค์การอนามัยโลกจากปี 2010 แสดงว่าสหรัฐ "มีอัตราการฆ่าคนสูงกว่าประเทศรายได้สูงอื่น 7.0 เท่า ซึ่งมีสาเหตุจากอัตราการฆ่าคนด้วยปืนซึ่งสูงกว่าประเทศอื่น 25.2 เท่า"[395] สิทธิความเป็นเจ้าของปืนเป็นหัวข้อการถกเถียงทางการเมืองพิพาท
ตั้งแต่ปี 1980 ถึง 2008 ชายคิดเป็นร้อยละ 77 ของผู้ถูกฆ่า และร้อยละ 90 ของผู้ก่อเหตุ ผิวดำก่อเหตุฆ่าคนร้อยละ 52.5 ของทั้งหมดในช่วงนั้น เป็นอัตราเกือบแปดเท่าของผิวขาว (ซึ่งรวมฮิสแปนิกส่วนใหญ่) และเป็นผู้เสียหายมากเป็นหกเท่าของผิวขาว การฆ่าคนส่วนใหญ่เป็นคนผิวเดียวกัน โดยผู้ถูกฆ่าผิวดำร้อยละ 93 ถูกผิวดำฆ่า และผิวขาว 84% ถูกผิวขาวฆ่า[396] ในปี 2012 รัฐลุยเซียนามีอัตราการฆ่าคนและการทำให้คนตายโดยประมาทสูงสุด และรัฐนิวแฮมพ์เชียร์มีอัตราต่ำสุด[397] รายงานอาชญากรรมเอกรูปของเอฟบีไอประมาณว่ามีอาชญากรรมรุนแรงและอาชญากรรมต่อทรัพย์สิน 3,246 ครั้งต่อผู้อยู่อาศัย 100,000 คนในปี 2012 รวมมีอาชญากรรมทั้งสิ้นกว่า 9 ล้านครั้ง[398]
มีการอนุมัติโทษประหารชีวิตในสหรัฐสำหรับอาชญากรรมรัฐบาลกลางและทหารบางอย่าง และมีใช้ใน 31 รัฐ[399] ไม่มีการประหารชีวิตระหว่างปี 1967 ถึง 1977 บางส่วนเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลสูงสุดสหรัฐวางข้อกำหนดโทษประหารชีวิตตามอำเภอใจ ในปี 1976 ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่าภายใต้พฤติการณ์ที่เหมาะสม อาจบังคับโทษประหารชีวิตได้ตามรัฐธรรมนูญ นับแต่คำวินิจฉัยนั้น มีการประหารชีวิตกว่า 1,300 ครั้ง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสามรัฐ ได้แก่ รัฐเท็กซัส เวอร์จิเนียและโอกลาโฮมา[400] ขณะเดียวกัน หลายรัฐเลิกหรือให้โทษประหารชีวิตเป็นโมฆะ ในปี 2015 สหรัฐมีจำนวนการประหารชีวิตสูงสุดในโลกเป็นอันดับห้า รองจากประเทศจีน อิหร่าน ปากีสถานและซาอุดีอาระเบีย[401]
สหรัฐมีอัตราการกักขังที่มีบันทึกและประชากรเรือนจำทั้งหมดสูงสุดในโลก[402] ตั้งแต่ต้นปี 2008 มีประชากรกว่า 2.3 ล้านคนถูกกักขัง คิดเป็นกว่า 1 คนในผู้ใหญ่ 100 คน[403] ในเดือนธันวาคม 2012 ระบบการดัดสันดานผู้ใหญ่ของสหรัฐรวมควบคุมดูแลผู้กระทำผิดประมาณ 6,937,000 คน ผู้อยู่อาศัยผู้ใหญ่ประมาณ 1 ใน 35 คนในสหรัฐอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลการดัดสันดานอย่างใดอย่างหนึ่งในเดือนธันวาคม 2012 ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดเท่าที่สังเกตมาตั้งแต่ปี 1997[404] ประชากรเรือนจำเพิ่มขึ้นสี่เท่าตั้งแต่ปี 1980[405] และรายจ่ายของรัฐและท้องถิ่นด้านเรือนจำและคุกเพิ่มขึ้นสามเท่าของรายข่ายด้านศึกษาธิการในช่วงเวลาเดียวกัน[406] อย่างไรก็ดี อัตราการจำคุกสำหรับนักโทษทุกคนที่ได้รับโทษจำคุกมากกว่าหนึ่งปีในสถานที่ของรัฐหรือรัฐบาลกลางอยู่ที่ 478 คนต่อ 100,000 คนในปี 2013[407] และอัตรานักโทษก่อนพิจารณา/ระหว่างพิจรารณาอยู่ที่ 153 คนต่อผู้อยู่อาศัย 100,000 คนในปี 2012[408] อัตราการกักขังที่สูงของประเทศนี้ส่วนใหญ่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติคำพิพากษาและนโยบายยาเสพติด[409] จากข้อมูลของกรมเรือนจำกลาง ผู้ต้องขังส่วนมากที่ถูกขังในเรือนจำกลางต้องโทษความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด[410] การโอนกิจการของรัฐเป็นของเอกชนซึ่งเรือนจำและราชการเรือนจำซึ่งเริ่มในคริสต์ทศวรรษ 1980 เป็นหัวข้อถกเถียง[411][412] ในปี 2008 รัฐลุยเซียนามีอัตราการกักขังสูงสุด[413] ส่วนรัฐเมนมีต่ำสุด[414]
เศรษฐกิจ
ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ | ||
---|---|---|
จีดีพีตามตัวเลข | $18.45 ล้านล้าน (Q2 2016) | [415] |
การเติบโตของจีดีพีจริง | 1.4% (Q2 2016) | [415] |
2.6% (2015) | [416] | |
อัตราเงินเฟ้อ ซีพีไอ | 1.1% (สิงหาคม 2016) | [417] |
สัดส่วนการจ้างงานต่อประชากร | 59.7% (สิงหาคม 2016) | [418] |
การว่างงาน | 4.9% (สิงหาคม 2016) | [419] |
อัตราการมีส่วนร่วมแรงงาน | 62.8% (สิงหาคม 2016) | [420] |
หนี้สาธารณะ | $19.808 ล้านล้าน (25 ตุลาคม 2016) | [421] |
มูลค่าสุทธิครัวเรือน | $89.063 ล้านล้าน (Q2 2016) | [422] |
สหรัฐมีเศรษฐกิจแบบผสมทุนนิยม[423] ซึ่งขับเคลื่อนโดยทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และผลิตภาพที่สูง[424] จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของสหรัฐอยู่ที่ 16.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 24% ของผลิตภัณฑ์รวมของโลกที่อัตราแลกเปลี่ยนตลาด และกว่า 19% ของผลิตภัณฑ์รวมของโลกที่อำนาจซื้อเสมอภาค (PPP)[425]
จีดีพีตามตัวเลขของสหรัฐโดยประมาณอยู่ที่ 17.528 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2014[426] ตั้งแต่ปี 1983 ถึง 2008 การเติบโตของจีดีพีต่อปีแบบทบต้นแท้จริง (real compounded annual GDP growth) อยู่ที่ 3.3% เทียบกับค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก 2.3% สำหรับประเทศจี7 ที่เหลือ[427] จีดีพีต่อหัวสหรัฐจัดอยู่อันดับเก้าของโลก[428][429] และมีจีดีพีต่อหัวที่พีพีพีอันดับหก[425] ดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินตราสำรองหลักของโลก[430]
สหรัฐเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้ารายใหญ่สุดและเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับสอง แม้การส่งออกต่อหัวจะค่อนข้างต่ำ ในปี 2010 การขาดดุลการค้าทั้งหมดของสหรัฐอยู่ที่ 635,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[431] ประเทศแคนาดา จีน เม็กซิโก ญี่ปุ่น และเยอรมนีเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุด[432] ในปี 2010 น้ำมันเป็นโภคภัณฑ์นำเข้ามากที่สุด ขณะที่อุปกรณ์ขนส่งเป็นสินค้าออกใหญ่ที่สุดของประเทศ[431] ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหนี้สาธารณะต่างชาติรายใหญ่สุดของสหรัฐ[433] ผู้ถือหนี้สหรัฐสูงสุดเป็นองค์การของสหรัฐเอง รวมทั้งบัญชีของรัฐบาลกลางและระบบธนาคารกลางที่ถือหนี้ส่วนใหญ่[434][435][436][437]
ในปี 2009 ประมาณว่าภาคเอกชนประกอบเป็น 86.4% ของเศรษฐกิจ โดยกิจกรรมของรัฐบาลกลางคิดเป็น 4.3% และกิจกรรมของรัฐและรัฐบาลท้องถิ่น (รวมเงินโอนของรัฐบาลกลาง) เป็น 9.3% ที่เหลือ[438] จำนวนลูกจ้างของรัฐบาลทุกระดับมากกว่าลูกจ้างในส่วนการผลิต 1.7 ต่อ 1[439] ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐถึงระดับการพัฒนาหลังอุตสาหกรรม (postindustrial) แล้วโดยภาคบริการประกอบเป็น 67.8% ของจีดีพี แต่สหรัฐยังเป็นประเทศอุตสาหกรรม[440] สาขาธุรกิจชั้นนำตามรายการรับ (gross business receipt) ได้แก่การค้าส่งและปลีก ส่วนภาคการผลิตเป็นภาคที่มีรายรับสุทธิสูงสุด[441] ในแบบธุรกิจแฟรนไชส์ แมคโดนัลด์และซับเวย์เป็นยี่ห้อที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุดในโลกสองยี่ห้อ โคคา-โคล่าเป็นบริษัทน้ำอัดลมที่คนทั่วโลกรู้จักกันดีที่สุด[442]
เคมีภัณฑ์เป็นสาขาการผลิตชั้นนำ[443] สหรัฐเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก และเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่สุดอันดับสอง[444] สหรัฐเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าและนิวเคลียร์อันดับหนึ่ง ตลอดจนแก๊สธรรมชาติเหลว กำมะถัน ฟอสเฟต และเกลือ
แม้ว่าภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนน้อยกว่า 1% ของจีดีพี[440] แต่สหรัฐเป็นผู้ผลิตข้าวโพด[445] และถั่วเหลืองรายใหญ่สุดของโลก[446] สหรัฐเป็นผู้ผลิตและปลูกอาหารดัดแปรพันธุกรรมหลัก โดยคิดเป็นกึ่งหนึ่งของพืชไบโอเทคของโลก[447]
การใช้จ่ายของผู้บริโภคมีสัดส่วนเป็น 68% ของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2015[448] ในเดือนสิงหาคม 2010 มีแรงงานอเมริกัน 154.1 ล้านคน สาขาการจ้างงานใหญ่สุด คือ ภาครัฐบาล 21.2 ล้านคน การจ้างงานภาคเอกชนใหญ่สุดคือ สาธารณสุขและการสังคมสงเคราะห์ จำนวน 16.4 ล้านคน คนงานประมาณ 12% อยู่ในสหภาพ เทียบกับ 30% ในยุโรปตะวันตก[449] ธนาคารโลกจัดสหรัฐอยู่อันดับหนึ่งในด้านความง่ายในการจ้างและไล่คนงาน[450] สหรัฐจัดอยู่อันดับต้นหนึ่งในสามในรายงานความสามารถการแข่งขันโลก (Global Competitiveness Report) เช่นกัน สหรัฐมีรัฐสวัสดิการขนาดเล็กและกระจายรายได้ผ่านการกระทำของรัฐบาลน้อยกว่าชาติยุโรป[451]
สหรัฐเป็นประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าประเทศเดียวที่ไม่รับประกันการหยุดงานโดยจ่ายค่าจ้าง (paid vacation) แก่คนงาน[452] และเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ไม่มีการหยุดงานเลี้ยงบุตรโดยจ่ายค่าจ้าง (family leave) เป็นสิทธิตามกฎหมาย โดยมีประเทศอื่น เช่น ปาปัวนิวกินี ซูรินาม ไลบีเรีย[453] แม้ปัจจุบันกฎหมายกลางไม่รับประกันการลาป่วย แต่เป็นผลประโยชน์ทั่วไปของคนงานของรัฐบาลและพนักงานเต็มเวลาของบริษัท[454] ตามข้อมูลของกรมสถิติแรงงาน คนงานอเมริกันเต็มเวลา 74% ลาหยุดงานโดยได้รับค่าจ้าง แม้คนงานไม่เต็มเวลาเพียง 24% ได้รับผลประโยชน์เดียวกัน[454] ในปี 2009 สหรัฐมีผลิตภาพกำลังแรงงานต่อบุคคลสูงสุดเป็นอันดับสามในโลก รองจากลักเซมเบิร์กและนอร์เวย์ สหรัฐมีผลิตภาพต่อชั่วโมงสูงสุดเป็นอันดับสี่ รองจากสองประเทศดังกล่าวและเนเธอร์แลนด์[455]
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกปี 2008–2012 มีผลกระทบต่อสหรัฐย่างสำคัญ โดยมีผลผลิตต่ำกว่าศักยะตามข้อมูลของสำนักงบประมาณของรัฐสภา[456] ภาวะดังกล่าวนำมาซึ่งการว่างงานสูง (ซึ่งลดลงแล้วแต่ยังสูงกว่าระดับก่อนภาวะเศรษฐกิจถดถอย) ร่วมกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่ำ การเสื่อมของมูลค่าบ้านอย่างต่อเนื่อง และการเพิ่มการบังคับเอาทรัพย์จำนองหลุดและการล้มละลายของบุคคล วิกฤตหนี้รัฐบาลกลางบานปลาย ภาวะเงินเฟ้อ และราคาปิโตรเลียมและอาหารเพิ่มขึ้น ปัจจุบันยังมีสัดส่วนผู้ว่างงานระยะยาวเป็นสถิติ รายได้ครัวเรือนลดลงอย่างต่อเนื่องและภาษีและงบประมาณรัฐบาลกลางเพิ่มขึ้น
สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสต็อกโฮล์ม (SIPRI) พบว่า อุตสาหกรรมอาวุธของสหรัฐเป็นผู้ส่งออกอาวุธสำคัญรายใหญ่สุดของโลกตั้งแต่ปี 2005 ถึง 2009[457] และยังเป็นผู้ส่งออกอาวุธสำคัญรายใหญ่สุดในช่วงระหว่างปี 2010 ถึง 2014 นำหน้าประเทศรัสเซีย จีนและเยอรมนี[458]
รายได้ ความยากจน และความมั่งคั่ง
ชาวอเมริกันมีรายได้ครัวเรือนและจากการจ้างงานเฉลี่ยสูงสุดในบรรดาชาติองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และในปี 2007 มีรายได้ครัวเรือนมัธยฐานสูงสุดเป็นอันดับสอง[459][460][461] ตามข้อมูลของสำนักสำมะโน รายได้ครัวเรือนมัธยฐานคือ 59,039 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2016[462] แม้ประชากรอเมริกันมีเพียง 4.4% ของประชากรโลก แต่ชาวอเมริกันรวมครอบครองความมั่งคั่ง 41.6% ของโลก[463] และเศรษฐีเงินล้าน (millionaire) ประมาณกึ่งหนึ่งของโลกเป็นชาวอเมริกัน[464] ดัชนีความมั่นคงอาหารโลกจัดอันดับสหรัฐอยู่อันดับหนึ่งในด้านความสามารถมีอาหาร (food affordability) และความมั่นคงอาหารโดยรวมในเดือนมีนาคม 2013[465] ชาวอเมริกันเฉลี่ยมีพื้นที่อยู่อาศัยต่อเคหสถานและต่อบุคคลสูงกว่าผู้อยู่อาศัยในสหภาพยุโรปกว่าสองเท่า และมากกว่าประเทศสหภาพยุโรปทุกประเทศ[466] ในปี 2013 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติจัดอันดับดัชนีการพัฒนามนุษย์ของสหรัฐอยู่อันดับ 5 จาก 187 และดัชนีการพัฒนามนุษย์ที่ปรับตามความไม่เสมอภาคแล้วอยู่อันดับที่ 28[467]
หลังการเติบโตชะงักมาหลายปี ในปี 2016 ข้อมูลจากสำมะโนระบุว่า รายได้ครัวเรือนมัธยฐานแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลังการเติบโตสูงสุดสองปีติดต่อกัน แม้ว่าความไม่เสมอภาคของรายได้ยังสูงสุดโดยผู้มีรายได้สูงสุด 20% มีรายได้มากกว่าครึ่งของรายได้รวมทั้งหมด[468] มีช่องว่างระหว่างผลิตภาพและรายได้มัธยฐานกว้างขึ้นนับแต่คริสต์ทศวรรษ 1970[469] ทว่า ช่องว่างระหว่างค่าตอบแทนทั้งหมดและผลิตภาพไม่กว้างเท่าอันเนื่องมาจากมีผลประโยชน์ของลูกจ้างเพิ่มขึ้น เช่น ประกันสุขภาพ[470] ผู้มีรายได้สูงสุดร้อยละ 1 มีสัดส่วนรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากร้อยละ 9 ในปี 1976 เป็นร้อยละ 20 ในปี 2011 กระทบต่อความไม่เสมอภาคของรายได้อย่างสำคัญ[471] ทำให้สหรัฐเป็นประเทศที่มีการกระจายรายได้กว้างที่สุดในบรรดาประเทศโออีซีดีประเทศหนึ่ง[472] ผู้มีรายได้สูงสุดร้อยละ 1 คิดเป็นร้อยละ 52 ของการเพิ่มขึ้นของรายได้ตั้งแต่ปี 2009 ถึงปี 2015 ทั้งนี้ นิยามรายได้ว่าเป็นรายได้ตลาดไม่รวมเงินโอนของรัฐบาล[473]
ที่มา: การสำรวจการคลังผู้บริโภคของระบบธนาคารกลางสหรัฐ[474] | 1998 | 2013 | เปลี่ยนแปลง | |
---|---|---|---|---|
ทุกครอบครัว | $102,500 | $81,200 | -20.8% | |
รายได้ต่ำสุด 20% | $8,300 | $6,100 | -26.5% | |
รายได้ต่ำสุดรองลงมา 20% | $47,400 | $22,400 | -52.7% | |
รายได้กลาง 20% | $76,300 | $61,700 | -19.1% | |
รายได้สูงสุด 10% | $646,600 | $1,130,700 | +74.9% |
ความมั่งคั่ง รายได้และภาษี กระจุกสูง กล่าวคือ ประชากรผู้ใหญ่ที่รวยที่สุด 10% ครอบครองความมั่งคั่งครัวเรือนของประเทศ 72% ในขณะที่ผู้มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยครอบครองเพียง 2%[475] ระหว่างเดือนมิถุนายน 2007 ถึงพฤศจิกายน 2008 ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกทำให้ราคาสินทรัพย์ตกลงทั่วโลก ทรัพย์สินที่ชาวอเมริกันถือครองเสียมูลค่าประมาณหนึ่งในสี่[476] นับแต่ความมั่งคั่งครัวเรือนสูงสุดในไตรมาสที่สองของปี 2007 ความมั่งคั่งครัวเรือนลดลง 14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่นับจากนั้นเพิ่มขึ้น 14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐกว่าระดับเมื่อปี 2006[477][478] เมื่อสิ้นปี 2014 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 11.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[479] ลดลงจาก 13.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อสิ้นปี 2008[480]
มีประชากรไร้บ้านแบบมีและไม่มีที่อยู่อาศัยประมาณ 578,424 คนในสหรัฐในเดือนมกราคม 2014 โดยเกือบสองในสามอาศัยอยู่ในที่อยู่อาศัยฉุกเฉินหรือโครงการเคหะช่วงเปลี่ยนสภาพ[481] ในปี 2011 มีเด็ก 16.7 ล้านคนอาศยอยู่ในครัวเรือนที่ไม่มีความปลอดภัยทางอาหาร เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับระดับปี 2007 แม้เด็กสหรัฐเพียง 1.1% หรือ 845,000 คนกินอาหารลดลงหรือมีรูปแบบการกินถูกรบกวนในช่วงใดช่วงหนึ่งของปีนั้น และแทบทั้งสิ้นไม่เป็นแบบเรื้อรัง[482] ตามรายงานปี 2014 ของกรมสำมะโน ปัจจุบันผู้ใหญ่ตอนต้นหนึ่งในห้าคนยากจน เพิ่มขึ้นจากหนึ่งในเจ็ดในปี 1980[483]
โครงสร้างพื้นฐาน
การขนส่ง
การขนส่งส่วนบุคคลใช้รถยนต์เป็นหลัก สหรัฐมีเครือข่ายถนนสาธารณะของ 6.4 ล้านกิโลเมตร[485] มีระบบทางหลวงที่ยาวที่สุดในโลกแห่งหนึ่งซึ่งยาว 91,700 กิโลเมตร[486] สหรัฐเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่สุดอันดับสองของโลก[487] สหรัฐมีอัตราการเป็นเจ้าของยานพาหนะต่อหัวสูงสุดในโลก โดยมี 765 คันต่ออเมริกัน 1,000 คน[488] ประมาณ 40% ของยานพาหนะส่วนบุคคลเป็นรถตู้, รถอเนกประสงค์ (SUV) หรือรถบรรทุกเบา[489] ผู้ใหญ่อเมริกันโดยเฉลี่ย (นับรวมหมดทั้งผู้ขับและผู้ไม่ขับ) ใช้เวลา 55 นาทีขับรถ เดินทาง 47 กิโลเมตรต่อวัน[490]
การเดินทางไปทำงานในสหรัฐใช้ขนส่งมวลชนประมาณ 9%[491][492] มีการขนส่งสินค้าทางรางอย่างกว้างขวาง แต่มีจำนวนผู้โดยสารค่อนข้างต่ำ (ประมาณ 31 ล้านคนต่อปี) ใช้รถรางระหว่างนครเดินทาง สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะความหนาแน่นของประชากรด้านในแผ่นดินของสหรัฐส่วนใหญ่ต่ำ[493][494] อย่างไรก็ดี จำนวนผู้โดยสารแอมแทร็ก ซึ่งเป็นระบบรางโดยสารระหว่างนครแห่งชาติ เติบโตเกือบ 37% ระหว่างปี 2000 ถึง 2010[495] นอกจากนี้ มีการพัฒนารางเบาเพิ่มขึ้นในช่วงปีหลัง ๆ[496] มีการใช้จักรยานไปทำงานเป็นประจำมีน้อยมาก[497]
อุตสาหกรรมสายการบินพลเรือนมีเอกชนเป็นเจ้าของทั้งหมด และส่วนใหญ่เลิกกำกับ (deregulate) ไปตั้งแต่ปี 1978 ขณะที่ท่าอากาศยานสำคัญส่วนมากเป็นของรัฐบาล[498] สายการบินใหญ่สุดในโลกนับจากจำนวนผู้โดยสาร 3 สายเป็นของสหรัฐ; อเมริกันแอร์ไลนส์เป็นที่หนึ่งหลังจากยูเอสแอร์เวย์ซื้อในปี 2013[499] ในจำนวนท่าอากาศยานที่หนาแน่นที่สุดในโลก 50 แห่ง มี 16 แห่งอยู่ในสหรัฐ รวมทั้งที่หนาแน่นที่สุด ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติฮาร์ทสฟิลด์–แจ็คสัน แอตแลนตา และอันดับสี่ ท่าอากาศยานนานาชาติโอแฮร์ในชิคาโก[500] หลังเหตุโจมตี 11 กันยายน 2001 มีการตั้งการความปลอดภัยขนส่งเพื่อตรวจตราท่าอากาศยานและสายการบินพาณิชย์
พลังงาน
ตลาดพลังงานสหรัฐมีประมาณ 29,000 ชั่วโมงเทระวัตต์ต่อปี[501] การบริโภคพลังงานต่อหัวมี 7.8 ตันเทียบเท่าน้ำมันต่อปี คิดเป็นอัตราสูงสุดอันดับ 10 ในโลก ในปี 2005 พลังงาน 40% มาจากปิโตรเลียม 23% จากถ่านหิน และ 22% มาจากแก๊สธรรมชาติ ส่วนที่เหลือมาจากพลังงานนิวเคลียร์และแหล่งพลังงานหมุนเวียน[502] สหรัฐเป็นผู้บริโภคปิโตรเลียมรายใหญ่สุดของโลก[503] สหรัฐมีแหล่งสำรองถ่านหินทั่วโลก 27%[504] สหรัฐเป็นผู้ผลิตแก๊สธรรมชาติและน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดในโลก[505]
พลังงานนิวเคลียร์มีบทบาทจำกัดเมื่อเทียบกับหลายประเทศพัฒนาแล้วอื่นเป็นเวลาหลายทศวรรษ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการรับรู้ของประชาชนเนื่องจากอุบัติเหตุในปี 1979 ในปี 2007 มีการยื่นคำร้องขอเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่[506]
การประปาและสุขาภิบาล
ปัญหาซึ่งมีผลต่อการประปาในสหรัฐรวมถึงภัยแล้งในภาคตะวันตก การขาดแคลนน้ำ มลภาวะ การลงทุนค้าง ความกังวลเกี่ยวกับการหาน้ำได้ของผู้ยากจนที่สุด และกำลังแรงงานที่กำลังเกษียณอย่างรวดเร็ว คาดหมายว่าความแปรผันได้และความรุนแรงของฝนตกที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นผลให้เกิดทั้งภัยแล้งและอุทกภัยที่รุนแรงขึ้น โดยมีผลลัพธ์ที่อาจร้ายแรงต่อการประปาและมลภาวะที่เกิดจากท่อระบายรวมล้น[507][508]
ภัยแล้งน่าจะมีผลกระทบเป็นพิเศษต่อชาวอเมริกันร้อยละ 66 ซึ่งชุมชนอาศัยน้ำผิวโลก[509] ในด้านคุณภาพน้ำดื่ม มีความกังวลเกี่ยวกับผลพลอยได้ของการฆ่าเชื้อ ตะกั่ว เพอร์คลอเรตและสารยา แต่โดยทั่วไปน้ำดื่มในสหรัฐมีคุณภาพดี[510]
การศึกษา
การศึกษาสาธารณะของสหรัฐมีรัฐบาลรัฐและท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ กระทรวงศึกษาธิการสหรัฐวางระเบียบผ่านการจำกัดเงินอุดหนุนของรัฐบาลกลาง รัฐส่วนใหญ่บังคับให้เด็กเข้าศึกษาตั้งแต่อายุหกหรือเจ็ดขวบ (โดยทั่วไปคืออนุบาลหรือเกรด 1) จนอายุได้ 18 ปี (โดยทั่วไปถึงเกรด 12 จบไฮสกูล) บางรัฐอนุญาตให้นักเรียนออกจากโรงเรียนได้เมื่ออายุ 16 หรือ 17 ปี[511]
เด็กประมาณ 12% ลงทะเบียนในโรงเรียนเอกชนวงแคบหรือไม่นิยมนิกาย (nonsectarian) เด็กประมาณ 2% ได้รับการศึกษาที่บ้าน[512] สหรัฐมีรายจ่ายด้านศึกษาธิการต่อนักเรียนหนึ่งคนมากกว่าประเทศอื่นใดในโลก โดยมีรายจ่ายกว่า 11,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อนักเรียนประถมหนึ่งคนในปี 2010 และกว่า 12,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อนักเรียนไฮสกูลหนึ่งคน[513] นักศึกษาวิทยาลัยสหรัฐประมาณ 80% เข้ามหาวิทยาลัยรัฐ[514]
สหรัฐมีสถาบันอุดมศึกษาเอกชนและรัฐบาลแข่งขันกันจำนวนมาก มหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของโลกส่วนใหญ่ที่องค์การจัดอันดับต่าง ๆ ทำรายการไว้อยู่ในสหรัฐ[515][516][517] นอกจากนี้ ยังมีวิทยาลัยชุมชนท้องถิ่นซึ่งโดยทั่วไปมีนโยบายรับนักศึกษาที่เปิดกว้างกว่า มีโครงการวิชาการสั้นกว่าและค่าเรียนน้อยกว่า ชาวอเมริกันอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป 84.6% จบไฮสกูล 52.6% เข้าวิทยาลัย 27.2% สำเร็จปริญญาตรี และ 9.6% สำเร็จปริญญาบัณฑิต (graduate degree)[518] อัตราการรู้หนังสือขั้นพื้นฐานอยู่ประมาณ 99%[207][519] สหประชาชาติกำหนดให้สหรัฐมีดัชนีการศึกษา 0.97% อยู่อันดับที่ 12 ในโลก[520]
สำหรับรายจ่ายสาธารณะในด้านอุดมศึกษา สหรัฐยังตามหลังประเทศ OECD บางประเทศ แต่คิดเป็นรายจ่ายต่อหัวมากกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD และมากกว่าทุกประเทศในรายจ่ายภาครัฐและเอกชนรวมกัน[513][521] ในปี 2012 หนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเกิน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าชาวอเมริกันที่เป็นหนี้บัตรเครดิต[522]
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สหรัฐเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และการวิจัยวิทยาศาสตร์ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 สหรัฐพัฒนาวิธีการผลิตชิ้นส่วนสับเปลี่ยนได้โดยคลังอาวุธกลาง กระทรวงสงครามสหรัฐ ระหว่างครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 เทคโนโลยีดังกล่าว ร่วมกับการสถาปนาอุตสาหกรรมเครื่องมือกล ทำให้สหรัฐผลิตเครื่องจักรเย็บผ้า จักรยานและสินค้าอื่นขนาดใหญ่ได้ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และกลายมาเป็นระบบการผลิตแบบอเมริกา มีการติดตั้งไฟฟ้าในโรงงานในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และการริเริ่มสายการผลิตและเทคนิคประหยัดแรงงานแบบอื่นก่อให้เกิดระบบที่เรียก การผลิตขนานใหญ่ (mass production)[523]
ในปี 1876 อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ได้รับสิทธิบัตรสหรัฐครั้งแรกสำหรับโทรศัพท์ ห้องปฏิบัติการของทอมัส เอดิสันได้พัฒนาหีบเสียง หลอดไฟที่ใช้ได้นานหลอดแรกและกล้องภาพยนตร์ที่ทำงานได้ตัวแรก[524] ซึ่งการพัฒนากล้องดังกล่าวทำให้เกิดอุตสาหกรรมบันเทิงทั่วโลก ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 บริษัทรถยนต์ของแรนซัม อี. โอลส์และเฮนรี ฟอร์ดทำให้สายการผลิตเป็นที่นิยม ในปี 1903 พี่น้องตระกูลไรต์ขับเครื่องบินครั้งแรกโดยใช้เครื่องบินพลังงานที่หนักกว่าอากาศแบบคงทนและควบคุมได้[525]
ความรุ่งเรืองของฟาสซิสต์และนาซีในคริสต์ทศวรรษ 1930 ทำให้นักวิทยาศาสตร์ยุโรปจำนวนมาก รวมทั้ง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, เอนรีโก แฟร์มี และจอห์น ฟอน นอยมันน์เข้าเมืองสหรัฐ[526] ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง โครงการแมนฮัตตันพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ นำไปสู่ยุคอะตอม ขณะที่การแข่งขันด้านอวกาศสร้างความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในด้านจรวด, วัสดุศาสตร์ และวิชาการบิน[527][528]
การประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์ในคริสต์ทศวรรษ 1950 ส่วนประกอบสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ทั้งหมด นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีจำนวนมากและการขยายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐอย่างสำคัญ[529][530][531] จากนั้นนำไปสู่การก่อตั้งบริษัทและภูมิภาคเทคโนโลยีใหม่จำนวนมากรอบประเทศ อย่างเช่น ในซิลิคอนแวลลีย์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย การก้าวหน้าของบริษัทไมโครโปรเซสเซอร์อเมริกาอย่างแอดแวนซ์ไมโครดีไวซ์ (AMD) และอินเทลร่วมกับทั้งก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ซึ่งรวมอะโดบีซิสเต็มส์ บริษัทแอปเปิล ไอบีเอ็ม ไมโครซอฟท์และซันไมโครซิสเต็มส์และทำให้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นที่นิยม มีการพัฒนาอาร์ปาเน็ต (ARPANET) ในคริสต์ทศวรรษ 1960 เพื่อให้บรรลุข้อกำหนดของกระทรวงกลาโหม และกลายเป็นชุดเครือข่ายชุดแรกซึ่งพัฒนาเป็นอินเทอร์เน็ต[532]
ความก้าวหน้าดังนี้นำไปสู่การทำให้มีลักษณะบุคคลซึ่งเทคโนโลยีสำหรับการใช้ของปัจเจก[533] ในปี 2013 ครัวเรือนอเมริกัน 83.8% เป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์อย่างน้อยหนึ่งเครื่อง และ 73.3% มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง[534] ชาวอเมริกัน 91% ยังมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเดือนพฤษภาคม 2013[535]
ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ทุนวิจัยและพัฒนาประมาณสองในสามมาจากภาคเอกชน[536] สหรัฐเป็นผู้นำของโลกในด้านงานวิจัยวิทยาศาสตร์และอิมแพกแฟกเตอร์ (impact factor)[537]
สุขภาพ
สหรัฐมีความคาดหมายการคงชีพที่ 79.8 ปีเมื่อเกิด เพิ่มขึ้นจาก 75.2 ปีในปี 1990[538][539][540] อัตราภาวะการตายของทารกอยู่ที่ 6.17 คนต่อ 1,000 คน ทำให้สหรัฐอยู่ในอันดับที่ 56 นับจากต่ำสุดจากทั้งหมด 224 ประเทศ[541]
การเพิ่มขึ้นของโรคอ้วนในสหรัฐและการปรับปรุงสุขภาพในด้านอื่นมีส่วนลดอันดับการคาดหมายการคงชีพจากอันดับที่ 11 ของโลกในปี 1987 เหลือ 42 ในปี 2007[542] อัตราโรคอ้วนในสหรัฐเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สูงสุดในบรรดาประเทศอุตสาหกรรม และอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก[543][544] ประชากรผู้ใหญ่ประมาณหนึ่งในสามอ้วนและอีกหนึ่งในสามมีน้ำหนักเกิน[545] บุคลากรสาธารณสุขถือว่าเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนเป็นโรคระบาด[546]
ในปี 2010 โรคหลอดเลือดหัวใจ มะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและอุบัติเหตุจราจรเป็นสาเหตุทำให้เสียจำนวนปีของชีวิตมากที่สุดในสหรัฐ การเจ็บหลังส่วนล่าง โรคซึมเศร้า โรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูก การปวดคอและความวิตกกังวลเป็นสาเหตุทำให้เสียจำนวนปีแก่ทุพพลภาพมากที่สุด ปัจจัยเสี่ยงเป็นอันตรายร้ายแรงที่สุด ได้แก่ อาหารเลว การสูบบุหรี่ โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ภาวะน้ำตาลสูงในเลือด การขาดการออกกำลังกายและการใช้แอลกอฮอล์ โรคอัลไซเมอร์ การใช้ยาเสพติด โรคไตและมะเร็ง และการพลัดตกหกล้มเป็นสาเหตุทำให้เสียจำนวนปีของชีวิตมากที่สุดในอัตราต่อหัวปรับตามอายุปี 1990[540] อัตราการตั้งครรภ์และการแท้งในวัยรุ่นสหรัฐสูงกว่าประเทศตะวันตกอื่นอย่างสำคัญ โดยเฉพาะในหมู่คนดำและฮิสแปนิก[547]
สหรัฐเป็นผู้นำของโลกในด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ สหรัฐพัฒนาแต่ผู้เดียวหรือมีส่วนร่วมอย่างสำคัญถึง 9 ใน 10 ของนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สำคัญที่สุดนับตั้งแต่ปี 1975 ตามการสำรวจความเห็นแพทย์ปี 2001 ส่วนสหภาพยุโรปและสวิสเซอร์แลนด์ร่วมกันมีส่วนร่วม 5 นวัตกรรม[548] ตั้งแต่ปี 1966 มีชาวอเมริกันได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์มากกว่าประเทศอื่น ตั้งแต่ปี 1989 ถึงปี 2002 มีการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพเอกชนในอเมริกามากกว่าทวีปยุโรปสี่เท่า[549] ระบบสาธารณสุขของสหรัฐใช้เงินมากกว่าประเทศอื่นมากเมื่อวัดทั้งรายจ่ายต่อหัวและร้อยละของจีดีพี[550]
การคุ้มครองสาธารณสุขในสหรัฐเป็นการรวมกันของความพยายามของภาครัฐและเอกชนและไม่ถ้วนหน้า ในปี 2014 ประชากร 13.4 % ไม่มีประกันสุขภาพ[551] หัวข้อเกี่ยวกับชาวอเมริกันที่ไม่มีประกันสุขภาพและมีประกันที่ต่ำเกินไปเป็นประเด็นทางการเมืองที่สำคัญ[552][553] ในปี 2006 รัฐแมสซาชูเซตส์เป็นรัฐแรกที่จะบังคับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า[554] กฎหมายของรัฐบาลกลางที่ผ่านในช่วงต้นปี 2010 มุ่งสร้างระบบประกันสุขภาพเกือบถ้วนหน้าทั่วประเทศในปี 2014 แม้ว่ากฎหมายและผลกระทบบั้นปลายของมันยังเป็นข้อถกเถียงอยู่[555][556]
วัฒนธรรม
สหรัฐเป็นบ้านของหลายวัฒนธรรม และกลุ่มชาติพันธุ์, ประเพณี และค่านิยมต่าง ๆ[557][558] นอกเหนือจากประชากรอเมริกันพื้นเมือง ชาวฮาวายพื้นเมืองและชาวอะแลสกาพื้นเมือง อเมริกันหรือบรรพบุรุษของพวกเขาเกือบทั้งหมดตั้งรกรากหรือเข้าเมืองภายในห้าศตวรรษที่ผ่านมา[559] วัฒนธรรมอเมริกันกระแสหลักเป็นวัฒนธรรมตะวันตกที่แปลงมาจากประเพณีของผู้เข้าเมืองชาวยุโรปที่มีอิทธิพลจากแหล่งอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น ประเพณีที่ทาสจากทวีปแอฟริกานำเข้ามา[557][560] การเข้าเมืองล่าสุดจากเอเชียและโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากละตินอเมริกา เพิ่มการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่เรียกว่าเป็นทั้งหม้อหลอมเป็นเนื้อเดียวกันและชามสลัดต่างชนิดกัน ในที่ซึ่งผู้อพยพและลูกหลานของพวกเขายังคงรักษาลักษณะทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น[557]
แกนของวัฒนธรรมอเมริกันก่อตั้งขึ้นโดยชาวอาณานิคมบริติชโปรเตสแตนต์ และเป็นรูปเป็นร่างจากกระบวนการการตั้งถิ่นฐานชายแดน โดยมีลักษณะชาติพันธุ์ที่ถูกแปลงผ่านลงไปที่ลูกหลาน และส่งต่อไปยังผู้เข้าเมืองผ่านทางการผสมกลมกลืน ชาวอเมริกันแต่เดิมมีคุณสมบัติจริยธรรมการทำงานที่เข้มแข็ง ความชอบแข่งขัน และปัจเจกนิยม[561] เช่นเดียวกับความเชื่อหนึ่งเดียวใน "หลักความเชื่อถือแบบอเมริกัน" ที่เน้นเสรีภาพ ความเสมอภาค ทรัพย์สินส่วนบุคคล ประชาธิปไตย นิติธรรม และความนิยมการปกครองที่จำกัด[562] ชาวอเมริกันมีใจกุศลอย่างมากตามมาตรฐานโลก ตามการศึกษาของบริติชในปี 2006 ชาวอเมริกันอุทิศ 1.67% ของ GDP ให้การกุศล มากกว่าประเทศอื่น ๆ มากกว่าบริติชที่อยู่อันดับสองที่ 0.73 % ถึงสองเท่า และประมาณสิบสองเท่าของฝรั่งเศสที่ 0.14%[563][564]
ฝันอเมริกัน หรือการรับรู้ว่าชาวอเมริกันมีการเปลี่ยนสถานภาพทางสังคมสูง มีบทบาทสำคัญในการดึงดูดผู้เข้าเมือง[565] ไม่ว่าการรับรู้นี้เป็นจริงหรือไม่ยังเป็นหัวข้อการอภิปราย[566][567][568][569][427][570] แม้วัฒนธรรมกระแสหลักถือว่า เป็นสังคมที่ไม่มีชนชั้น[571] แต่นักวิชาการระบุความแตกต่างอย่างสำคัญระหว่างชนชั้นทางสังคมต่าง ๆ ของประเทศ มีผลต่อการขัดเกลาทางสังคม ภาษาและค่านิยม[572] ภาพลักษณ์ตนเอง มุมมองของสังคม และความคาดหวังทางวัฒนธรรมของชาวอเมริกันเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพของพวกเขาในระดับที่ใกล้ชิดผิดปกติ[573] แม้ชาวอเมริกันมีแนวโน้มอย่างมากที่จะให้คุณค่าของความสำเร็จทางเศรษฐกิจและสังคม แต่โดยทั่วไปก็มองว่าการเป็นคนสามัญหรือระดับเฉลี่ยเป็นคุณลักษณะในทางบวก[574]
อาหาร
อาหารอเมริกันกระแสหลักคล้ายกับอาหารในประเทศตะวันตกอื่น ข้าวสาลีเป็นธัญพืชหลัก โดยผลิตภัณฑ์ธัญพืชประมาณสามในสี่ทำจากแป้งข้าวสาลี[575] และอาหารหลายชนิดใช้ส่วนประกอบพื้นเมือง เช่น ไก่งวง เนื้อกวาง มันฝรั่ง มันเทศ ข้าวโพด น้ำเต้าและน้ำเชื่อมเมเปิลซึ่งอเมริกันพื้นเมืองและผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยุโรปสมัยแรกเริ่มบริโภค[576] อาหารที่ปลูกในท้องถิ่นนี้ถือเป็นเมนูของชาติร่วมกันในวันขอบคุณพระเจ้า ซึ่งเป็นวันหยุดยอดนิยมวันหนึ่งของสหรัฐ ซึ่งชาวอเมริกันบางส่วนประกอบอาหารตามประเพณีเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสนั้น[577]
อาหารอันเป็นลักษณะ เช่น พายแอปเปิล ไก่ทอด พิซซา แฮมเบอร์เกอร์และฮอตดอกมาจากตำรับของผู้เข้าเมืองต่าง ๆ มันฝรั่งทอด อาหารเม็กซิกันอย่างเบอร์ริโตและทาโก และอาหารพาสตาซึ่งรับมาจากแหล่งของอิตาลีอย่างอิสระมีการบริโภคอย่างแพร่หลาย[578] ชาวอเมริกันดื่มกาแฟมากกว่าชาสามเท่า[579] การตลาดโดยอุตสาหกรรมสหรัฐเป็นเหตุหลักให้ผลิตน้ำส้มและนม เครื่องดื่มอาหารเช้าที่พบทั่วไป[580][581]
อุตสาหกรรมอาหารจานด่วนของสหรัฐ ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก[582] นำร่องรูปแบบขับผ่าน (drive-through) ในคริสต์ทศวรรษ 1940[583] การบริโภคอาหารจานด่วนทำให้เกิดความกังวลด้านสุขภาพ ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1980 และ 1990 การบริโภคแคลอรีของชาวอเมริกันเพิ่มขึ้น 24%[578] การกินอาหารที่ร้านอาหารจานด่วนบ่อยขึ้นสัมพันธ์กับที่ข้าราชการสาธารณสุขเรียกว่า "โรคอ้วนระบาด" ของอเมริกา[584] น้ำอัดลมใส่น้ำตาลสูงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง และเครื่องดื่มใส่น้ำตาลคิดเป็นร้อยละ 9 ของการรับแคลอรีของชาวอเมริกัน[585]
ภาพยนตร์
ฮอลลีวูด ย่านตอนเหนือของลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นผู้นำในด้านการผลิตภาพยนตร์แห่งหนึ่ง[586] นิทรรศการภาพยนตร์พาณิชย์แห่งแรกของโลกจัดขึ้นในนครนิวยอร์กในปี 1894 โดยใช้ไคนีโตสโคปของทอมัส เอดิสัน[587] ปีถัดมามีการจัดแสดงพาณิชย์ครั้งแรกซึ่งภาพยนตร์ฉาย (projected film) ในนิวยอร์กเช่นกัน และสหรัฐเป็นแนวหน้าของการพัฒนาภาพยนตร์เสียงในหลายศวรรษถัดมา ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสหรัฐส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในและรอบฮอลลีวูด แม้ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 จะมีภาพยนตร์ที่มิได้ผลิตที่นี่เพิ่มขึ้น และบริษัทภาพยนตร์ต่างได้รับอิทธิพลจากแรงของโลกาภิวัฒน์[588]
ผู้กำกับ ดี. ดับเบิลยู. กริฟฟิท ผู้ผลิตภาพยนตร์อันดับหนึ่งของสหรัฐระหว่างยุคภาพยนตร์เงียบ เป็นศูนย์กลางการพัฒนาของไวยากรณ์ภาพยนตร์ และผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ วอลต์ ดิสนีย์เป็นผู้นำทั้งในภาพยนตร์แอนิเมชันและการขายภาพยนตร์[589] ผู้กำกับอย่างจอห์น ฟอร์ดขัดเกลาภาพของอเมริกันโอลด์เวสต์และประวัติศาสตร์ และเช่นเดียวกับผู้อื่นอย่างจอห์น ฮิวสตันขยายโอกาสของภาพยนตร์ด้วยการถ่ายทำสถานี โดยมีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้กำกับสมัยหลัง อุตสาหกรรมภาพยนตร์มีปีทอง เรียกกันทั่วไปว่า "ยุคทองของฮอลลีวูด" ตั้งแต่สมัยเสียงตอนต้นถึงต้นคริสต์ทศวรรษ 1960[590] โดยมีนักแสดงอย่างจอห์น เวย์นและมาริลิน มอนโรกลายเป็นบุคคลสัญรูป[591][592] ในคริสต์ทศวรรษ 1970 ผู้กำกับภาพยนตร์อย่างมาร์ติน สกอร์เซซี, ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา และรอเบิร์ต แอลท์แมนเป็นส่วนสำคัญในสิ่งที่ต่อมาเรียก "ฮอลลีวูดใหม่" หรือ "ฮอลลีวูดเรอเนซองส์"[593] ภาพยนตร์อาจหาญซึ่งได้รับอิทธิพลจากภาพสัจนิยมของฝรั่งเศสและอิตาลีของสมัยหลังสงคราม[594] นับแต่นั้น ผู้กำกับอย่างสตีเฟน สปีลเบิร์ก, จอร์จ ลูคัสและเจมส์ แคเมรอนได้รับชื่อเสียงจากภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ ซึ่งมีลักษณะค่าถ่ายทำสูง และได้รับรายได้สูงในบ็อกซ์ออฟฟิศตอบแทน โดยภาพยนตร์ อวตาร ของแคเมรอน (2009) ได้รับรายได้กว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[595]
ภาพยนตร์สำคัญที่ติดอันดับเอเอฟไอ 100 ของสถาบันภาพยนตร์อเมริกันรวมถึง ซิติเซนเคน ของออร์สัน เวลส์ (1941) ซึ่งมักถูกกล่าวขานบ่อย ๆ ว่าเป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาล[596][597] คาซาบลังกา (1942), เดอะ ก็อดฟาเธอร์ (1972), วิมานลอย (1939), เดอะวิซาร์ดออฟออซ (1939), เดอะแกรดูเอท (1967), ออนเดอะวอเทอร์ฟรอนต์ (1952), ชะตากรรมที่โลกไม่ลืม (1993), ซิงกิงอินเดอะเรน (1952), อิตส์อะวันเดอร์ฟูลไลฟ์ (1946) และ ซันเซ็ตบูลละวาร์ด (1950)[598] สำนักศิลป์และศาสตร์ภาพยนตร์จัดรางวัลอะคาเดมี ที่นิยมเรียกว่า ออสการ์ ทุกปีตั้งแต่ปี 1929[599] และรางวัลลูกโลกทองคำจัดทุกปีนับแต่เดือนมกราคม 1944[600]
วรรณกรรม ปรัชญา และศิลปะ
ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ศิลปะและวรรณกรรมอเมริกันรับเจตนารมณ์ส่วนใหญ่จากทวีปยุโรป นักเขียนอย่างแนแธเนียล ฮอว์ธอร์น, เอดการ์ แอลลัน โพและเฮนรี เดวิด ทอโรสถาปนาเสียงวรรณกรรมอเมริกันที่โดดเด่นราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 มาร์ก ทเวนและกวี วอลท์ วิทแมน เป็นบุคคลสำคัญในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษ; เอมิลี ดิกคินสัน ซึ่งแทบไม่มีผู้ใดรู้จักเธอครั้งยังมีชีวิต ปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นกวีอเมริกันคนสำคัญ[601] งานที่ถูกมองว่าเป็นการจับภาพลักษณะพื้นฐานของประสบการณ์และคุณลักษณะของชาติ เช่น โมบิดิก ของเฮอร์แมน เมลวิลล์ (1851) การผจญภัยของฮักเคิลเบอร์รี ฟินน์ ของทเวน (1885) และรักเธอสุดที่รัก (The Great Gatsby) ของเอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (1925) อาจได้รับขนานนามว่า "นวนิยายอเมริกันยิ่งใหญ่"[602]
พลเมืองสหรัฐสิบสองคนได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ล่าสุดคือ บ็อบ ดิลลันในปี 2016 วิลเลียม ฟอล์คเนอร์, เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์และจอห์น สไตน์เบ็คมักจะมีชื่ออยู่ในหมู่นักเขียนที่มีอิทธิพลสูงสุดของคริสต์ศตวรรษที่ 20[603] ประเภทของวรรณกรรมยอดนิยม เช่น ตะวันตกและบันเทิงคดีอาชญากรรม ฮาร์ดบอยด์ ที่พัฒนาในสหรัฐ นักเขียนรุ่นบีต (Beat Generation) เปิดแนวทางวรรณกรรมใหม่ ซึ่งมีผู้ประพันธ์หลังสมัยใหม่ เช่น จอห์น บาร์ท, ทอมัส พินชอนและดอน เดอลิลโล[604]
นักคตินิยมเหนือเหตุผลซึ่งมีทอโรและราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สันเป็นผู้นำ สถาปนาขบวนการปรัชญาอเมริกันสำคัญขบวนการแรก หลังสงครามกลางเมือง ชาลส์ แซนเดอร์ เพิร์ซ และวิลเลียม เจมส์และจอห์น ดูอีในขณะนั้นเป็นหัวหน้าในการพัฒนาปฏิบัตินิยม ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 งานของดับเบิลยู. วี. โอ. ไควน์และริชาร์ด รอร์ที และต่อมา โนม ชัมสกี นำปรัชญาวิเคราะห์มาสู่ส่วนหน้าของวิชาการปรัชญาอเมริกัน จอห์น รอวส์และรอเบิร์ต โนซิกนำการรื้อฟื้นปรัชญาการเมือง คอร์เนล เวสต์และจูดิท บัตเลอร์นำประเพณีแห่งทวีปในวิชาการปรัชญาอเมริกัน นักเศรษฐศาสร์สำนักชิคาโกอย่างมิลตัน ฟรีดแมน, เจมส์ บี. บิวแคนอนและทอมัส โซลกระทบต่อสาขาต่าง ๆ ในปรัชญาสังคมและการเมือง[605][606]
ในด้านทัศนศิลป์ สกุลศิลปะลุ่มแม่น้ำฮัดสันเป็นขบวนการสมัยกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในด้านประเพณีของธรรมชาตินิยมแบบยุโรป จิตรกรรมสัจนิยมของทอมัส เอคินส์ปัจจุบันเป็นที่ยกย่องอย่างแพร่หลาย อาร์เมอรีโชว์ปี 1913 ในนครนิวยอร์ก นิทรรศการศิลปะสมัยใหม่แบบยุโรป ทำให้สาธารณะประหลาดใจและเปลี่ยนฉากศิลปะของสหรัฐ[607] จอร์เจีย โอคีฟ, มาร์สเดน ฮาร์ตลีย์และอื่น ๆ ได้ทดลองกับลีลาปัจเจกนิยมแบบใหม่ ขบวนการทางศิลปะที่สำคัญเช่น ลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมของแจ็กสัน พอลล็อกและวิลเลิม เดอ โกนิง และศิลปะประชานิยมของแอนดี วอร์ฮอลและรอย ลิกเทนสไตน์พัฒนาในสหรัฐเป็นส่วนมาก กระแสของนวนิยมและหลังยุคนวนิยมได้นำชื่อเสียงให้กับสถาปนิกอเมริกัน เช่น แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์, ฟิลิป จอห์นสันและแฟรงก์ เกห์รี[608] ชาวอเมริกันมีความสำคัญในสื่อภาพถ่ายศิลปะสมัยใหม่แต่ช้านาน โดยมีช่างภาพคนสำคัญอย่างอัลเฟรด สติกกลิซ, เอ็ดเวิร์ด สไตน์เคนและแอนเซล แอดัมส์[609]
ผู้ส่งเสริมสำคัญคนแรก ๆ ของโรงละครอเมริกัน คือ พี. ที. บาร์นัม ผู้เริ่มดำเนินงานศูนย์ความบันเทิงแมนฮัตตันตอนล่างในปี 1841 ทีมแฮร์ริแกนและฮาร์ตผลิตสุขนาฏกรรมดนตรีอันเป็นที่นิยมเป็นชุดในนิวยอร์กเริ่มตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1870 ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 รูปแบบดนตรีสมยัใหม่ถือกำเนิดขึ้นในบรอดเวย์; เพลงของคีตกวีละครเพลง เช่น เออร์วิง เบอร์ลิน, โคล พอร์เตอร์ และ สตีเฟน ซอนไฮม์กลายเป็นมาตรฐานป๊อป นักเขียนบทละคร ยูจีน โอนีลได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1936; นักเขียนบทละครสหรัฐอื่น ๆ ที่ได้รับการยกย่อง รวมถึงผู้ชนะรางวัลพูลิตเซอร์หลายสมัย เทนเนสซี วิลเลียมส์, เอ็ดเวิร์ด อัลบีและออกัส วิลสัน[611]
แม้ว่าจะเป็นที่รู้จักกันน้อยในขณะนั้น แต่งานของ ชาลส์ ไอฟส์ในคริสต์ทศวรรษ 1910 ทำให้เขากลายเป็นนักแต่งเพลงคนแรกที่สำคัญของสหรัฐในประเพณีคลาสสิก ขณะที่นักทดลอง เช่น เฮนรี เคาเอิล (Henry Cowell) และจอห์น เคจ สร้างแนวทางอเมริกันที่โดดเด่นให้กับเพลงประพันธ์คลาสสิก แอรอน โคปลันด์และจอร์จ เกิร์ชวินพัฒนาภาวะสังเคราะห์ใหม่ของดนตรีป๊อบและคลาสสิก
นักออกแบบท่าเต้น อิซาดอรา ดันแคน และมาร์ธา เกรแฮมช่วยสร้างการเต้นรำสมัยใหม่ ในขณะที่จอร์จ บาลานไชน์และเจอโรม รอบบินส์ เป็นผู้นำบัลเลต์คริสต์ศตวรรษที่ 20
กีฬา
อเมริกันฟุตบอลในด้านต่าง ๆ เป็นกีฬาที่มีผู้ชมมากที่สุด[613] เนชันแนลฟุตบอลลีก (NFL) มีผู้ชมเฉลี่ยของลีกกีฬาสูงสุดในโลกทุกชนิด และซูเปอร์โบวล์มีผู้ชมหลายล้านคนทั่วโลก เบสบอลถือเป็นกีฬาประจำชาติสหรัฐตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยที่เมเจอร์ลีกเบสบอล (MLB) เป็นลีกสูงสุด บาสเกตบอลและฮ็อกกีน้ำแข็งเป็นกีฬาทีมอาชีพอันดับต้น ๆ อีกสองชนิด โดยมีลีกสูงสุดคือ สมาคมบาสเกตบอลแห่งชาติ (NBA) และลีกฮอกกี้แห่งชาติ (NHL) ฟุตบอลวิทยาลัยและบาสเกตบอลดึงดูดผู้ชมจำนวนมาก[614] ในกีฬาฟุตบอล สหรัฐจัดฟุตบอลโลก 1994 ทีมฟุตบอลแห่งชาติประเภทชายเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลก 10 ครั้ง และทีมหญิงชนะฟุตบอลโลก 3 ครั้ง เมเจอร์ลีกซอกเกอร์เป็นลีกสูงสุดของฟุตบอลในสหรัฐ (มีทีมอเมริกัน 19 ทีม และแคนาดา 3 ทีม) ตลาดกีฬาอาชีพในสหรัฐมีมูลค่าประมาณ 69,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใหญ่กว่าตลาดทั้งทวีปยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริการวมกันประมาณ 50%[615]
มีการจัดกีฬาโอลิมปิกแปดครั้งในสหรัฐ ในปี 2014 สหรัฐได้เหรียญรางวัล 2,400 เหรียญในโอลิมปิกฤดูร้อน มากกว่าทุกประเทศ และ 281 เหรียญในโอลิมปิกฤดูหนาว มากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากประเทศนอร์เวย์[616] แม้ว่ากีฬาสำคัญของสหรัฐส่วนมากมาจากทว่ปยุโรป แต่กีฬาบาสเกตบอล วอลเลย์บอล สเกตบอร์ดและสโนว์บอร์ดเป็นประดิษฐกรรมของสหรัฐ ซึ่งบางชนิดยังได้รับความนิยมในประเทศอื่นด้วย ลาครอสและโต้คลื่นมาจากกิจกรรมของอเมริกันพื้นเมืองและฮาวายพื้นเมืองซึ่งมีมาก่อนการติดต่อของชาวตะวันตก[617] กีฬาเดี่ยวที่มีผู้ชมมากที่สุด ได้แก่ กอล์ฟและการแข่งรถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนาสคาร์[618][619] รักบี้ยูเนียนถือเป็นกีฬาที่เติบโตเร็วที่สุดในสหรัฐ โดยมีผู้เล่นลงทะเบียนกว่า 115,000 คนและมีผู้เข้าร่วมอีก 1.2 ล้านคน[620]
ดนตรี
ลีลาจังหวะและเนื้อร้องของดนตรีแอฟริกันอเมริกันมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อดนตรีอเมริกันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้มันแตกต่างจากดนตรียุโรป ดนตรีส่วนที่มาจากสำนวนชาวบ้านอย่างบลูส์และที่ปัจจุบันเรียก ดนตรีโอลด์ไทม์ (old-time) นั้นได้รับมาและแปลงเป็นประเภทที่ได้รับความนิยมกับผู้ชมทั่วโลก แจ๊สประดิษฐ์ขึ้นจากบุคคลอย่างหลุยส์ อาร์มสตรองและดุ๊ก เอลลิงตันในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ดนตรีคันทรีพัฒนาขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1920 และบลูส์ในคริสต์ทศวรรษ 1940[621]
เอลวิส เพรสลีย์และชัค เบอร์รีเป็นผู้บุกเบิกร็อกแอนด์โรลช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1950 ในคริสต์ทศวรรษ 1960 บ็อบ ดิลลันถือกำเนิดขึ้นจากการรื้อฟื้นดนตรีชาวบ้านจนกลายเป็นผู้เขียนเพลงที่ได้รับการยกย่องสูงสุดคนหนึ่งของสหรัฐ และเจมส์ บราวน์นำการพัฒนาดนตรีฟังก์ การสร้างสรรค์ของสหรัฐช่วงหลัง ๆ รวมถึงฮิปฮอปและดนตรีเฮาส์ ดาราป็อปอย่างเพรสลีย์, ไมเคิล แจ็กสันและมาดอนนากลายเป็นผู้มีชื่อเสียงทั่วโลก[621] เช่นเดียวกับศิลปินดนตรีร่วมสมัยอย่างเทย์เลอร์ สวิฟต์, บริตนีย์ สเปียส์, เคที เพร์รีและบียอนเซ่ ตลอดจนศิลปินฮิปฮอป เจย์-ซี, เอ็มมิเน็มและคานเย เวสต์[622] วงร็อกอย่างเมทัลลิกา ดิอีเกิลส์และแอโรสมิธมียอดขายทั่วโลกสูงสุดอันดับต้น ๆ[623][624][625]
สื่อ
ผู้แพร่สัญญาณสี่รายหลักในสหรัฐ ได้แก่ บริษัทแพร่สัญญาณแห่งชาติ (NBC), ระบบแพร่สัญญาณโคลัมเบีย (CBS), บริษัทแพร่สัญญาณอเมริกัน (ABC) และฟ็อกซ์ เครือข่ายโทรทัศน์แพร่สัญญาณสี่รายหลักของสหรัฐเป็นเครือข่ายพาณิชย์ทั้งสิ้น ชาวอเมริกันฟังรายการวิทยุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นราชการพาณิชย์ โดยเฉลี่ยกว่าสองชั่วโมงครึ่งต่อวัน[626]
ในปี 1998 สถานีวิทยุพาณิชย์ของสหรัฐเติบโตเป็นสถานีเอเอ็ม 4,793 สถานีและเอฟเอ็ม 5,662 สถานี นอกจากนี้ ยังมีสถานีวิทยุสาธาณะ 1,460 สถานี สถานีเหล่านี้ส่วนมากมีมหาวิทยาลัยและองค์การรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ดำเนินการเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการศึกษาและมีเงินทุนจากสาธารณะหรือเอกชน การรับสมาชิกและการรับประกันภัยของบริษัท เอ็นพีอาร์เป็นผู้แพร่สัญาณวิทยุสาธารณะจำนวนมาก (เดิมคือ วิทยุสาธารณะแห่งชาติ) เอ็นพีอาร์ถูกก่อตั้งเป็นบริษัทในเดือนกุมภาพันธ์ 1970 ภายใต้รัฐบัญญัติการแพร่สัญญาณสาธารณะปี 1967 องค์การโทรทัศน์ พีบีเอส ก็ถูกก่อตั้งขึ้นจากกฎหมายฉบับเดียวกัน ในวันที่ 30 กันยายน 2014 มีสถานีวิทยุเต็มกำลังจดทะเบียน 15,433 สถานีในสหรัฐตามข้อมูลของคณะกรรมการการสื่อสารกลางสหรัฐ (FCC)[627]
หนังสือพิมพ์ขึ้นชื่อรวมถึง เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล, เดอะนิวยอร์กไทมส์และยูเอสเอทูเดย์[628] แม้ว่าค่าใช้จ่ายของการจัดพิมพ์เพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ราคาของหนังสือพิมพ์โดยทั่วไปยังต่ำอยู่ ทำให้หนังสือพิมพ์อาศัยรายรับจากการโฆษณามากขึ้นและบทความที่บริการสายข่ายหลักจัดหาให้ เช่น แอสโซซิเอเต็ดเพรสหรือรอยเตอส์ สำหรับความครอบคลุมระดับชาติและโลก หนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับในสหรัฐเป็นของเอกชน ไม่ว่าเป็นลูกโซ่ขนาดใหญ่อย่งแกนเน็ตหรือแม็กแคลทชี ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์หลายสิบหรือหลายร้อยฉบับ ลูกโซ่ขนาดเล็กซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่ง หรือมีปัจเจกบุคคลหรือครอบครัวเป็นเจ้าของซึ่งพบได้น้อยลงทุกที นครใหญ่มักมี "รายสัปดาห์ทางเลือก" เพื่อส่งเสริมหนังสือพิมพ์รายวันกระแสหลัก ตัวอย่างเช่น เดอะวิลเลจวอยซ์ของนครนิวยอร์ก หรือแอลเอวีกลีของลอสแอนเจลิส ซึ่งเป็นสองฉบับที่ขึ้นชื่อมากที่สุด นครหลักยังสนับสนุนวารสารธุรกิจท้องถิ่น หนังสือพิมพ์การค้าซึ่งเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท้องถิ่น และหนังสือพิมพ์สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์และสังคมท้องถิ่น แถบตลกหนังสือพิมพ์อเมริกันฉบับแรก ๆ และหนังสือการ์ตูนอเมริกันเริ่มปรากฏในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในปี 1938 ซูเปอร์แมน ซูเปอร์ฮีโรหนังสือการ์ตูนของดีซีคอมิกส์ พัฒนาเป็นสัญรูปอเมริกัน[629] นอกเหนือจากเว็บพอร์ทัลและโปรแกรมค้นหา เว็บไซต์ยอดนิยมได้แก่ เฟซบุ๊ก ยูทูบ วิกิพีเดีย ยาฮู! อีเบย์ แอมะซอนและทวิตเตอร์[630]
มีสิ่งพิมพ์เผยแพร่กว่า 800 ฉบับผลิตในภาษาสเปน ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันมากที่สุดเป็นอันดับสองในสหรัฐรองจากภาษาอังกฤษ[631][632]
เชิงอรรถ
- ↑ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการของ 32 รัฐ ภาษาอังกฤษและฮาวายเป็นภาษาราชการทั้งคู่ในรัฐฮาวาย และภาษาอังกฤษและภาษาเฉพาะถิ่น 20 ภาษาเป็นภาษาราชการในรัฐอะแลสกา ภาษาแอลกองเคียน เชอโรกีและซูเป็นหนึ่งในหลายภาษาราชการในดินแดนที่ชนพื้นเมืองควบคุมทั่วประเทศ ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาโดยพฤตินัยแต่ไม่เป็นทางการในรัฐเมนและลุยเซียนา ส่วนกฎหมายรัฐนิวเม็กซิโกให้ภาษาสเปนมีสถานภาพพิเศษ ในห้าดินแดน ภาษาอังกฤษและภาษาเฉพาะถิ่นอย่างน้อยหนึ่งภาษาเป็นภาษาราชการ ได้แก่ ภาษาสเปนในปวยร์โตรีโก, ภาษาซามัวในอเมริกันซามัว, ภาษาชามอร์โรทั้งในเกาะกวมและหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา, ภาษาแคโรไลน์ยังเป็นภาษาราชการในหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา[4][5]
- ↑ อัตลักษณ์และลักษณะเชื้อชาติฮิสแปนิก/ละติโนเป็นคำถามแยกต่างหากในสำมะโนสหรัฐ ผู้ที่ระบุตนเองเป็นฮิสแปนิกหรือละติโนอาจเป็นเชื้อชาติใดก็ได้
- ↑ แยงกีเป็นคำเรียกชาวอเมริกัน, นิวอิงแลนด์ หรือผู้คนในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือในอดีตและไม่เป็นทางการตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18
- ↑ ถ้ารวมพื้นที่ชายฝั่งและบริเวณผืนน้ำ สหรัฐจะเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากแคนาดา ถ้าไม่รวม สหรัฐจะเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 รองจากจีน. รวมพื้นที่ชายฝั่งและบริเวณผืนน้ำ: 3,796,742 ตารางไมล์ (9,833,517 ตารางกิโลเมตร)[11] ไม่รวมพื้นที่ชายฝั่งและบริเวณผืนน้ำ: 3,696,100 ตารางไมล์ (9,572,900 ตารางกิโลเมตร)[12]
- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อpop clock
- ↑ ไม่รวมปวยร์โตรีโกและเกาะที่ไม่ได้ปกครองอื่น ๆ เพราะตามสถิติสำมะโนสหรัฐนับแยกต่างหาก
- ↑ ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่เวลาในสหรัฐ
- ↑ ดู Date and time notation in the United States.
- ↑ หมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐ เป็นบริเวณเดียวที่ขับฝั่งซ้าย
- ↑ ดินแดนทั้ง 5 หลักได้แก่อเมริกันซามัว กวม หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา ปวยร์โตรีโก และหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐ พื้นที่เกาะขนาดย่อมสิบเอ็ดพื้นที่ซึ่งไม่มีประชากรถาวรได้แก่เกาะเบเกอร์ เกาะฮาวแลนด์ เกาะจาร์วิส จอห์นสตันอะทอลล์ คิงแมนรีฟ มิดเวย์อะทอลล์ และแพลไมราอะทอลล์ อส่วนำนาจอธิปไตยของสหรัฐเหนือบาโฮนวยโวแบงก์, เกาะนาแวสซา, เซร์รานียาแบงก์ และเกาะเวกนั้นยังเป็นที่พิพาทอยู่[25]
- ↑ สารานุกรมบริตานิกา แสดงรายการประเทศจีนเป็นประเทศใหญ่สุดอันดับ 3 ของโลก (รองจากประเทศรัสเซียและแคนาดา) โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 9,572,900 ตารางกิโลเมตร[26] และเป็นประเทศใหญ่สุดเป็นอันดับที่ 4[27] แต่ เดอะเวิลด์แฟกต์บุ๊ก แสดงรายการสหรัฐว่าเป็นประเทศใหญ่สุดอันดับ 3 ของโลก (รองจากประเทศรัสเซียและแคนาดา) โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 9,833,517 ตารางกิโลเมตร[28] และประเทศจีนเป็นประเทศใหญ่สุดอันดับที่ 4 โดยมีพื้นที่ 9,596,960 ตารางกิโลเมตร[29] ตัวเลขของสหรัฐนี้มากกว่า สารานุกรมบริตานิกา เนื่องจากไม่นับรวมน่านน้ำชายฝั่งและน่านน้ำอาณาเขต
- ↑ สเปนส่งคณะสำรวจไปอะแลสกาหลายเที่ยวเพื่อยืนยันการอ้างสิทธิ์แต่ช้านานเหนือแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งสืบย้อนไปถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1785–1795 วาณิชบริติชซึ่งได้รับการส่งเสริมจากเซอร์โจเซฟ แบงส์และมีรัฐบาลสนับสนุน พยายามพัฒนาการค้านี้อย่างต่อเนื่องแม้การอ้างสิทธิ์ของสเปนและสิทธิ์การเดินเรือ ความอุตสาหะของวาณิชเหล่านี้อยู่ได้ไม่นานเมื่อเผชิญกับการคัดค้านของสเปน ความท้าทายยังถูกคัดค้านจากการที่ประเทศญี่ปุ่นถือมั่นในการปิดประเทศอย่างดื้อรั้น[88]
- ↑ แหล่งที่มา: การสำรวจชุมชนอเมริกา 2010 กรมสำมะโนสหรัฐ ผู้ตอบส่วนใหญ่ที่พูดภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาอังกฤษี่บ้านยังรายงานว่าพูดภาษาอังกฤษ "ดี" หรือ "ดีมาก" สำหรับกลุ่มภาษาที่แสดงรายการข้างต้น ผู้พูดภาษาเยอรมันเป็นผู้มีความสามารถภาษาอังกฤษมากที่สุด (96% รายงานว่าพูดภาษาอังกฤษ "ดี" หรือ "ดีมาก") ตามด้วยผู้พูดภาษาฝรั่งเศส (93.5%) ตากาล็อก (92.8%) สเปน (74.1%) เกาหลี (71.5%) จีน (70.4%) และเวียดนาม (66.9%)
อ้างอิง
- ↑ 36 U.S.C. § 302
- ↑ 2.0 2.1 2.2 "The Great Seal of the United States" (PDF). U.S. Department of State, Bureau of Public Affairs. 2003. สืบค้นเมื่อ February 12, 2020.
- ↑ Article 14, An Act To make The Star-Spangled Banner the national anthem of the United States of America, March 3, 1931
- ↑ Cobarrubias 1983, p. 195.
- ↑ García 2011, p. 167.
- ↑ "2020 Census Illuminates Racial and Ethnic Composition of the Country". United States Census. สืบค้นเมื่อ August 13, 2021.
- ↑ "Race and Ethnicity in the United States: 2010 Census and 2020 Census". United States Census. สืบค้นเมื่อ August 13, 2021.
- ↑ "A Breakdown of 2020 Census Demographic Data". NPR. August 13, 2021.
- ↑ "Measuring Religion in Pew Research Center's American Trends Panel". Measuring Religion in Pew Research Center’s American Trends Panel | Pew Research Center. Pew Research Center. January 14, 2021. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 8, 2021. สืบค้นเมื่อ February 9, 2021.
- ↑ Compton's Pictured Encyclopedia and Fact-index: Ohio. 1963. p. 336.
- ↑ "China". CIA World Factbook. สืบค้นเมื่อ June 10, 2016.
- ↑ "United States". Encyclopædia Britannica. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 19, 2013. สืบค้นเมื่อ January 31, 2010.
- ↑ Areas of the 50 states and the District of Columbia but not Puerto Rico nor other island territories per "State Area Measurements and Internal Point Coordinates". Census.gov. August 2010. สืบค้นเมื่อ March 31, 2020.
reflect base feature updates made in the MAF/TIGER database through August, 2010.
- ↑ "Surface water and surface water change". Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD). 2015. สืบค้นเมื่อ October 11, 2020.
- ↑ "New Vintage 2021 Population Estimates Available for the Nation, States and Puerto Rico". Census.gov. U.S. Census Bureau.
- ↑ "Census Bureau's 2020 Population Count". United States Census. สืบค้นเมื่อ April 26, 2021. The 2020 census is as of April 1, 2020.
- ↑ 17.0 17.1 17.2 17.3 "World Economic Outlook Database, October 2022". IMF.org. International Monetary Fund. October 2022. สืบค้นเมื่อ October 11, 2022.
- ↑ Bureau, US Census. "Income and Poverty in the United States: 2020, Table A-3". Census.gov. สืบค้นเมื่อ July 26, 2022.
- ↑ "Human Development Report 2021/2022" (PDF) (ภาษาอังกฤษ). United Nations Development Programme. September 8, 2022. สืบค้นเมื่อ September 8, 2022.
- ↑ "Electricity 101". United States Department of Energy. สืบค้นเมื่อ July 14, 2021.
- ↑ "เลือกตั้งล่วงหน้าสหรัฐ ต้นตอของข้ออ้างโกงที่ไม่มีมูลความจริง". prachachat.net. 2024-10-14.
- ↑ "บทสรุปทวิภาคี ไทย กับชาติมหาอำนาจ สหรัฐ จีน เกาหลีใต้ บนเวทีอาเซียน". thansettakij.com. 2024-10-11.
- ↑ "เลือกตั้งสหรัฐฯ : ทำไมอเมริกาจึงมีพรรคใหญ่เพียง 2 พรรค?". thairath.co.th. 2024-10-14.
- ↑ "เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024: ส่องความเห็นชาวจีน อยากให้ใครเป็นประธานาธิบดี". pptvhd36.com. 2024-10-14.
- ↑ U.S. State Department, Common Core Document to U.N. Committee on Human Rights, December 30, 2011, Item 22, 27, 80.— and U.S. General Accounting Office Report, U.S. Insular Areas: application of the U.S. Constitution เก็บถาวร 2020-02-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, November 1997, p. 1, 6, 39n. Both viewed April 6, 2016.
- ↑ "China". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ January 31, 2010.
- ↑ "United States". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ January 31, 2010.
- ↑ "United States". CIA World Factbook. CIA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-25. สืบค้นเมื่อ June 10, 2016.
- ↑ "China". CIA World Factbook. CIA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-13. สืบค้นเมื่อ June 10, 2016.
- ↑ Greene, Jack P.; Pole, J.R., eds. (2008). A Companion to the American Revolution. pp. 352–361.
- ↑ Bender, Thomas (2006). A Nation Among Nations: America's Place in World History. New York: Hill & Wang. p. 61. ISBN 978-0-8090-7235-4.
- ↑ Dull, Jonathan R. (2003). "Diplomacy of the Revolution, to 1783, " p. 352, chap. in A Companion to the American Revolution, ed. Jack P. Greene and J. R. Pole. Maiden, Mass.: Blackwell, pp. 352–361. ISBN 1-4051-1674-9.
- ↑ Carlisle, Rodney P.; Golson, J. Geoffrey (2007). Manifest Destiny and the Expansion of America. Turning Points in History Series. ABC-CLIO. p. 238. ISBN 978-1-85109-833-0.
- ↑ "The Civil War and emancipation 1861–1865". Africans in America. Boston, Massachusetts: WGBH Educational Foundation. 1999. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 12, 1999.
- ↑ Britannica Educational Publishing (2009). Wallenfeldt, Jeffrey H. (บ.ก.). The American Civil War and Reconstruction: People, Politics, and Power. America at War. Rosen Publishing Group. p. 264. ISBN 978-1-61530-045-7.
- ↑ White, Donald W. (1996). "1: The Frontiers". The American Century. Yale University Press. ISBN 0-300-05721-0. สืบค้นเมื่อ March 26, 2013.
- ↑ "Work in the Late 19th Century". Library of Congress. สืบค้นเมื่อ January 16, 2015.
- ↑ Cohen, Eliot A. (July/August 2004). "History and the Hyperpower". Foreign Affairs. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-23. สืบค้นเมื่อ 2006-07-14.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) "Country Profile: United States of America". BBC News. 2008-04-22. สืบค้นเมื่อ 2008-05-18. - ↑ Cohen, 2004: History and the Hyperpower
BBC, April 2008: Country Profile: United States of America
"Geographical trends of research output". Research Trends. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-17. สืบค้นเมื่อ March 16, 2014.
"The top 20 countries for scientific output". Open Access Week. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-17. สืบค้นเมื่อ March 16, 2014.
"Granted patents". European Patent Office. สืบค้นเมื่อ March 16, 2014. - ↑ Institute, Lowy. "Military expenditure, defence sector PPP data - Lowy Institute Asia Power Index". Lowy Institute Asia Power Index 2023 (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Budiman, Abby. "Key findings about U.S. immigrants". Pew Research Center (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "US Immigration by Country 2024". worldpopulationreview.com.
- ↑ Chhetri, Yam (2024-05-20). "Most Visited Countries in the World 2024: Statistics". WP Travel (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Cartographer Put 'America' on the Map 500 years Ago". USA Today. 2007-04-24. สืบค้นเมื่อ 2008-11-30.
- ↑ DeLear, Byron (July 4, 2013) Who coined 'United States of America'? Mystery might have intriguing answer. "Historians have long tried to pinpoint exactly when the name 'United States of America' was first used and by whom... ...This latest find comes in a letter that Stephen Moylan, Esq., wrote to Col. Joseph Reed from the Continental Army Headquarters in Cambridge, Mass., during the Siege of Boston. The two men lived with Washington in Cambridge, with Reed serving as Washington's favorite military secretary and Moylan fulfilling the role during Reed's absence." Christian Science Monitor (Boston, MA).
- ↑ ""To the inhabitants of Virginia," by A PLANTER. Dixon and Hunter's. April 6, 1776, Williamsburg, Virginia. Letter is also included in Peter Force's American Archives". 5 (1287). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 19, 2014.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ "The Charters of Freedom". National Archives. สืบค้นเมื่อ 2007-06-20.
- ↑ คำว่า "สหปาลีรัฐอเมริกา" ปรากฏใน: นิมิตร นามชัย. "สมเด็จย่า" ในสหปาลีรัฐอเมริกา ที่มา: สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (3qejse5510erol451x5n1v3h) /result.aspx?bib=000000000011235 หนังสือ "สมเด็จย่า" ในสหปาลีรัฐอเมริกา เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน; ปรากฏในชื่อ "สมาคมสยาม ณ สหปาลีรัฐอเมริกา" (The Siamese Alliance in the United of America) ที่มา: สถานทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประวัติสมาคมไทย ณ อเมริกา เก็บถาวร 2009-04-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน และในร่างพระราชบัญญัติที่ดินอันเกี่ยวแก่ชนต่างด้าว เลขเสร็จ 3/2467 ลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2467 ที่มา: กรมร่างกฎหมาย. ร่างพระราชบัญญัติที่ดินอันเกี่ยวแก่ชนต่างด้าว เก็บถาวร 2011-08-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เป็นต้น
- ↑ Wilson, Kenneth G. (1993). The Columbia Guide to Standard American English. New York: Columbia University Press, pp. 27–28. ISBN 0-231-06989-8.
- ↑ Zimmer, Benjamin (2005-11-24). "Life in These, Uh, This United States". University of Pennsylvania—Language Log. สืบค้นเมื่อ 2008-02-22.
- ↑ Roshen Dalal (August 2011). The Illustrated Timeline of the History of the World. The Rosen Publishing Group. p. 50. ISBN 978-1-4488-4797-6.
- ↑ Maugh II, Thomas H. (July 12, 2012). "Who was first? New info on North America's earliest residents". Los Angeles Times. Los Angeles County, California: Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ February 25, 2015.
"What is the earliest evidence of the peopling of North and South America?". Smithsonian Institution, National Museum of Natural History. June 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 28, 2007. สืบค้นเมื่อ June 19, 2007.
Kudeba, Nicolas (February 28, 2014). "Chapter 1 – The First Big Steppe – Aboriginal Canadian History". The History of Canada Podcast. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 1, 2014.
Guy Gugliotta (February 2013). "When Did Humans Come to the Americas?". Smithsonian Magazine. Washington, DC: Smithsonian Institution. สืบค้นเมื่อ June 25, 2015. - ↑ Fladmark, K.R., (1979) (2017). "Routes: alternate migration corridors for early man in North America". American Antiquity. 44: 55–69. doi:10.2307/279189. ISSN 0002-7316. JSTOR 279189.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Katz, Brigit (April 5, 2017). "Found: One of the Oldest North American Settlements". Smithsonian. สืบค้นเมื่อ August 26, 2017.
- ↑ Pinsker, Lisa (February 2004). "The Ice-Free Corridor Revisited". Geotimes.
- ↑ Waters, Michael; และคณะ (2007). "Redefining the Age of Clovis: Implications for the Peopling of the Americas". Science (315): 1122–1126. doi:10.1126/Science.1127166 (inactive 2017-09-29).
{{cite journal}}
: CS1 maint: DOI inactive as of กันยายน 2017 (ลิงก์) - ↑ Flannery, T. (2001). The Eternal Frontier: an ecological history of North America and its peoples. New York: Grove Press. pp. 173–185. ISBN 0-8021-3888-8.
- ↑ Waters, Michael; Stafford, Tom (2014-08-18). "The First Americans: A Review of the Evidence for the Late-Pleistocene Peopling of the Americas" (PDF). Paleoamerican Odyssey. Texas A&M University Press. ISBN 978-1-62349-192-5. สืบค้นเมื่อ 2015-11-21.
- ↑ Craig Lockard (2010). Societies, Networks, and Transitions, Volume B: From 600 to 1750. University of Wisconsin. p. 315. ISBN 978-1-111-79083-7.
- ↑ King, Adam (2002). "Mississippian Period: Overview". New Georgia Encyclopedia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-22. สืบค้นเมื่อ 2017-10-14.
- ↑ Hodges, Glenn (January 2011). "America's Forgotten City". National Geographic Magazine. สืบค้นเมื่อ August 26, 2017.
- ↑ Johansen, Bruce (1995). "Dating the Iroquois Confederacy". Akwesasne Notes New Series. 1 (3): 62–63. สืบค้นเมื่อ December 12, 2008.
- ↑ Dean R. Snow (1994). The Iroquois. Blackwell Publishers, Ltd. ISBN 978-1-55786-938-8. สืบค้นเมื่อ July 16, 2010.
- ↑ Richter, "Ordeals of the Longhouse", in Richter and Merrill, eds., Beyond the Covenant Chain, 11–12.
- ↑ Pearce, Charles E.M.; Pearce, F. M. (17 June 2010). Oceanic Migration: Paths, Sequence, Timing and Range of Prehistoric Migration in the Pacific and Indian Oceans. Springer Science & Business Media. p. 167. ISBN 978-90-481-3826-5.
- ↑ Whittaker, Elvi W. (January 1986). The Mainland Haole: The White Experience in Hawaii. Columbia University Press. p. 3. ISBN 978-0-231-05316-7.
- ↑ Fish, Shirley (2011). The Manila-Acapulco Galleons : The Treasure Ships of the Pacific: With An Annotated List of the Transpacific Galleons 1565–1815. AuthorHouse. pp. 360–. ISBN 978-1-4567-7543-8.
- ↑ Collingridge, Vanessa (2003). Captain Cook: The Life, Death and Legacy of History's Greatest Explorer. Ebury Press. p. 380. ISBN 0-09-188898-0.
- ↑ "St. Augustine Florida, The Nation's Oldest City". staugustine.com (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-05. สืบค้นเมื่อ 2017-10-14.
- ↑ Remini 2007, pp. 2–3
- ↑ Johnson 1997, pp. 26–30
- ↑ Walton, 2009, chapter 3
- ↑ Lemon, 1987
- ↑ Jackson, L. P. (1924). Elizabethan Seamen and the African Slave Trade. pp. 1–17. JSTOR 2713432.
- ↑ Tadman, 2000, p. 1534
- ↑ Schneider, 2007, p. 484
- ↑ Lien, 1913, p. 522
- ↑ Davis, 1996, p. 7
- ↑ Quirk, 2011, p. 195
- ↑ Bilhartz, Terry D.; Elliott, Alan C. (2007). Currents in American History: A Brief History of the United States. M.E. Sharpe. ISBN 978-0-7656-1817-7.
- ↑ Wood, Gordon S. (1998). The Creation of the American Republic, 1776–1787. UNC Press Books. p. 263. ISBN 978-0-8078-4723-7.
- ↑ Walton, 2009, pp. 38–39
- ↑ Foner, Eric. The Story of American Freedom, 1998 ISBN 0-393-04665-6 p.4-5.
- ↑ Walton, 2009, p. 35
- ↑ Otis, James (1763). "The Rights of the British Colonies Asserted and Proved". Online Library of Liberty. สืบค้นเมื่อ January 10, 2015.
- ↑ Pethick, Derek (1980). The Nootka Connection: Europe and the Northwest Coast 1790–1795. Vancouver: Douglas & McIntyre. pp. 8–9. ISBN 0-88894-279-6.
- ↑ Pethick, Derek (1980). The Nootka Connection: Europe and the Northwest Coast 1790–1795. Vancouver: Douglas & McIntyre. pp. 7–8. ISBN 0-88894-279-6.
- ↑ Robert J. King, "'The long wish'd for object' — Opening the trade to Japan, 1785–1795", The Northern Mariner / le marin du nord, vol.XX, no.1, January 2010, pp.1–35.
- ↑ Hayes, Derek (1999). Historical Atlas of the Pacific Northwest: Maps of exploration and Discovery. Sasquatch Books. pp. 42–43. ISBN 1-57061-215-3.
- ↑ Alexander von Humboldt, Political Essay on the Kingdom of New Spain, translated by John Black, Vol. 2, London, Longman, 1822, translator’s note, p.322.
- ↑ Paul Joseph (11 October 2016). The SAGE Encyclopedia of War: Social Science Perspectives. SAGE Publications. p. 590. ISBN 978-1-4833-5988-5.
- ↑ "The Cambridge encyclopedia of human paleopathology เก็บถาวร กุมภาพันธ์ 8, 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Arthur C. Aufderheide, Conrado Rodríguez-Martín, Odin Langsjoen (1998). Cambridge University Press. p. 205. ISBN 0-521-55203-6
- ↑ Bianchine, Russo, 1992 pp. 225–232
- ↑ Thornton 1987, p. 47
- ↑ Kessel, 2005 pp. 142–143
- ↑ Mercer Country Historical Society, 2005
- ↑ Stannard, 1993
- ↑ Ripper, 2008 p. 6
- ↑ Ripper, 2008 p. 5
- ↑ Calloway, 1998, p. 55
- ↑ Jeff Campbell (15 September 2010). Hawaii. Lonely Planet. p. 38. ISBN 978-1-74220-344-7.
- ↑ Humphrey, Carol Sue (2003). The Revolutionary Era: Primary Documents on Events from 1776 To 1800. Greenwood Publishing. pp. 8–10. ISBN 978-0-313-32083-5.
- ↑ 103.0 103.1 Fabian Young, Alfred; Nash, Gary B.; Raphael, Ray (2011). Revolutionary Founders: Rebels, Radicals, and Reformers in the Making of the Nation. Random House Digital. pp. 4–7. ISBN 978-0-307-27110-5.
- ↑ Greene and Pole, A Companion to the American Revolution p 357. Jonathan R. Dull, A Diplomatic History of the American Revolution (1987) p. 161. Lawrence S. Kaplan, "The Treaty of Paris, 1783: A Historiographical Challenge", International History Review, Sept 1983, Vol. 5 Issue 3, pp 431–442
- ↑ Boyer, 2007, pp. 192–193
- ↑ Cogliano, Francis D. (2008). Thomas Jefferson: Reputation and Legacy. University of Virginia Press. p. 219. ISBN 978-0-8139-2733-6.
- ↑ Walton, 2009, p. 43
- ↑ Gordon, 2004, pp. 27,29
- ↑ Clark, Mary Ann (May 2012). Then We'll Sing a New Song: African Influences on America's Religious Landscape. Rowman & Littlefield. p. 47. ISBN 978-1-4422-0881-0.
- ↑ Heinemann, Ronald L., et al., Old Dominion, New Commonwealth: a history of Virginia 1607–2007, 2007 ISBN 978-0-8139-2609-4, p.197
- ↑ Billington, Ray Allen; Ridge, Martin (2001). Westward Expansion: A History of the American Frontier. UNM Press. p. 22. ISBN 978-0-8263-1981-4.
- ↑ "Louisiana Purchase" (PDF). National Park Services. สืบค้นเมื่อ March 1, 2011.
- ↑ Wait, Eugene M. (1999). America and the War of 1812. Nova Publishers. p. 78. ISBN 978-1-56072-644-9.
- ↑ Klose, Nelson; Jones, Robert F. (1994). United States History to 1877. Barron's Educational Series. p. 150. ISBN 978-0-8120-1834-9.
- ↑ Winchester, pp. 198, 216, 251, 253
- ↑ Morrison, Michael A. (1999). Slavery and the American West: The Eclipse of Manifest Destiny and the Coming of the Civil War. University of North Carolina Press. pp. 13–21. ISBN 978-0-8078-4796-1.
- ↑ Kemp, Roger L. (2010). Documents of American Democracy: A Collection of Essential Works. McFarland. p. 180. ISBN 978-0-7864-4210-2. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
- ↑ McIlwraith, Thomas F.; Muller, Edward K. (2001). North America: The Historical Geography of a Changing Continent. Rowman & Littlefield. p. 61. ISBN 978-0-7425-0019-8. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
- ↑ Rawls, James J. (1999). A Golden State: Mining and Economic Development in Gold Rush California. University of California Press. p. 20. ISBN 978-0-520-21771-3.
- ↑ Black, Jeremy (2011). Fighting for America: The Struggle for Mastery in North America, 1519–1871. Indiana University Press. p. 275. ISBN 978-0-253-35660-4.
- ↑ Wishart, David J. (2004). Encyclopedia of the Great Plains. University of Nebraska Press. p. 37. ISBN 978-0-8032-4787-1.
- ↑ Smith (2001), Grant, pp. 523–526
- ↑ Stuart Murray (2004). Atlas of American Military History. Infobase Publishing. p. 76. ISBN 978-1-4381-3025-5. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
Harold T. Lewis (January 1, 2001). Christian Social Witness. Rowman & Littlefield. p. 53. ISBN 978-1-56101-188-9. - ↑ 124.0 124.1 Patrick Karl O'Brien (2002). Atlas of World History. Oxford University Press. p. 184. ISBN 978-0-19-521921-0. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
- ↑ Vinovskis, Maris (1990). Toward A Social History of the American Civil War: Exploratory Essays. Cambridge; New York: Cambridge University Press. p. 4. ISBN 0-521-39559-3.
- ↑ "1860 Census" (PDF). U.S. Census Bureau. สืบค้นเมื่อ June 10, 2007. Page 7 lists a total slave population of 3,953,760.
- ↑ De Rosa, Marshall L. (1997). The Politics of Dissolution: The Quest for a National Identity and the American Civil War. Edison, NJ: Transaction. p. 266. ISBN 1-56000-349-9.
- ↑ Shearer Davis Bowman (1993). Masters and Lords: Mid-19th-Century U.S. Planters and Prussian Junkers. Oxford UP. p. 221.
- ↑ Jason E. Pierce (2016). Making the White Man's West: Whiteness and the Creation of the American West. University Press of Colorado. p. 256.
- ↑ Marie Price; Lisa Benton-Short (2008). Migrants to the Metropolis: The Rise of Immigrant Gateway Cities. Syracuse University Press. p. 51. ISBN 978-0-8156-3186-6.
- ↑ John Powell (2009). Encyclopedia of North American Immigration. Infobase Publishing. p. 74. ISBN 978-1-4381-1012-7. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
- ↑ Winchester, pp. 351, 385
- ↑ "Toward a Market Economy". CliffsNotes. Houghton Mifflin Harcourt. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-22. สืบค้นเมื่อ December 23, 2014.
- ↑ "Purchase of Alaska, 1867". Office of the Historian. U.S. Department of State. สืบค้นเมื่อ December 23, 2014.
- ↑ "The Spanish-American War, 1898". Office of the Historian. U.S. Department of State. สืบค้นเมื่อ December 24, 2014.
- ↑ Kirkland, Edward. Industry Comes of Age: Business, Labor, and Public Policy (1961 ed.). pp. 400–405.
- ↑ Zinn, 2005
- ↑ Paige Meltzer, "The Pulse and Conscience of America" The General Federation and Women's Citizenship, 1945–1960," Frontiers: A Journal of Women Studies (2009), Vol. 30 Issue 3, pp. 52–76.
- ↑ James Timberlake, Prohibition and the Progressive Movement, 1900–1920 (Harvard UP, 1963)
- ↑ George B. Tindall, "Business Progressivism: Southern Politics in the Twenties," South Atlantic Quarterly 62 (Winter 1963) : 92–106.
- ↑ McDuffie, Jerome; Piggrem, Gary Wayne; Woodworth, Steven E. (2005). U.S. History Super Review. Piscataway, NJ: Research & Education Association. p. 418. ISBN 0-7386-0070-9.
- ↑ Voris, Jacqueline Van (1996). Carrie Chapman Catt: A Public Life. Women and Peace Series. New York City: Feminist Press at CUNY. p. vii. ISBN 1-55861-139-8.
Carrie Chapmann Catt led an army of voteless women in 1919 to pressure Congress to pass the constitutional amendment giving them the right to vote and convinced state legislatures to ratify it in 1920. ... Catt was one of the best-known women in the United States in the first half of the twentieth century and was on all lists of famous American women.
- ↑ Winchester pp. 410–411
- ↑ Axinn, June; Stern, Mark J. (2007). Social Welfare: A History of the American Response to Need (7th ed.). Boston: Allyn & Bacon. ISBN 978-0-205-52215-6.
- ↑ Lemann, Nicholas (1991). The Promised Land: The Great Black Migration and How It Changed America. New York: Alfred A. Knopf. p. 6. ISBN 0-394-56004-3.
- ↑ James Noble Gregory (1991). American Exodus: The Dust Bowl Migration and Okie Culture in California. Oxford University Press. ISBN 978-0-19-507136-8. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
"Mass Exodus From the Plains". American Experience. WGBH Educational Foundation. 2013. สืบค้นเมื่อ October 5, 2014.
Fanslow, Robin A. (April 6, 1998). "The Migrant Experience". American Folklore Center. Library of Congress. สืบค้นเมื่อ October 5, 2014.
Walter J. Stein (1973). California and the Dust Bowl Migration. Greenwood Press. ISBN 978-0-8371-6267-6. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015. - ↑ Yamasaki, Mitch. "Pearl Harbor and America's Entry into World War II: A Documentary History" (PDF). World War II Internment in Hawaii. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ December 13, 2014. สืบค้นเมื่อ January 14, 2015.
- ↑ Kelly, Brian. "The Four Policemen and. Postwar Planning, 1943–1945: The Collision of Realist and. Idealist Perspectives". สืบค้นเมื่อ June 21, 2014.
- ↑ Hoopes & Brinkley 1997, p. 100.
- ↑ Leland, Anne; Oboroceanu, Mari–Jana (February 26, 2010). "American War and Military Operations Casualties: Lists and Statistics" (PDF). Congressional Research Service. สืบค้นเมื่อ February 18, 2011. p. 2.
- ↑ Kennedy, Paul (1989). The Rise and Fall of the Great Powers. New York: Vintage. p. 358. ISBN 0-679-72019-7
- ↑ "The United States and the Founding of the United Nations, August 1941 – October 1945". U.S. Dept. of State, Bureau of Public Affairs, Office of the Historian. October 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 12, 2007. สืบค้นเมื่อ June 11, 2007.
- ↑ "Why did Japan surrender in World War II? | The Japan Times". The Japan Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ February 8, 2017.
- ↑ Pacific War Research Society (2006). Japan's Longest Day. New York: Oxford University Press. ISBN 4-7700-2887-3.
- ↑ Collins, Michael (1988). Liftoff: The Story of America's Adventure in Space. New York: Grove Press.
- ↑ Winchester, pp. 305–308
- ↑ Blas, Elisheva. "The Dwight D. Eisenhower National System of Interstate and Defense Highways" (PDF). societyforhistoryeducation.org. Society for History Education. สืบค้นเมื่อ January 19, 2015.
- ↑ Richard Lightner (January 1, 2004). Hawaiian History: An Annotated Bibliography. Greenwood Publishing Group. p. 141. ISBN 978-0-313-28233-1.
- ↑ Dallek, Robert (2004). Lyndon B. Johnson: Portrait of a President. Oxford University Press. p. 169. ISBN 978-0-19-515920-2.
- ↑ "Our Documents – Civil Rights Act (1964)". United States Department of Justice. สืบค้นเมื่อ July 28, 2010.
- ↑ "Remarks at the Signing of the Immigration Bill, Liberty Island, New York". October 3, 1965. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-16. สืบค้นเมื่อ January 1, 2012.
- ↑ "Social Security". ssa.gov. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
- ↑ Soss, 2010, p. 277
- ↑ Fraser, 1989
- ↑ Ferguson, 1986, pp. 43–53
- ↑ Williams, pp. 325–331
- ↑ Niskanen, William A. (1988). Reaganomics: an insider's account of the policies and the people. Oxford University Press. p. 363. ISBN 978-0-19-505394-4. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
- ↑ "Women in the Labor Force: A Databook" (PDF). U.S. Bureau of Labor Statistics. 2013. p. 11. สืบค้นเมื่อ March 21, 2014.
- ↑ Charles Krauthammer, "The Unipolar Moment," Foreign Affairs, 70/1, (Winter 1990/1), 23–33.
- ↑ "Persian Gulf War". Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica, Inc. 2016. สืบค้นเมื่อ January 24, 2017.
- ↑ Winchester, pp. 420–423
- ↑ Dale, Reginald (February 18, 2000). "Did Clinton Do It, or Was He Lucky?". The New York Times. สืบค้นเมื่อ March 6, 2013.
Mankiw, N. Gregory (2008). Macroeconomics. Cengage Learning. p. 559. ISBN 978-0-324-58999-3. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015. - ↑ "North American Free Trade Agreement (NAFTA)" เก็บถาวร 2013-03-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Office of the United States Trade Representative. Retrieved January 11, 2015.
Thakur; Manab Thakur Gene E Burton B N Srivastava (1997). International Management: Concepts and Cases. Tata McGraw-Hill Education. pp. 334–335. ISBN 978-0-07-463395-3. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
Akis Kalaitzidis; Gregory W. Streich (September 13, 2011). U.S. Foreign Policy: A Documentary and Reference Guide. ABC-CLIO. p. 201. ISBN 978-0-313-38376-2. - ↑ Flashback 9/11: As It Happened. Fox News. September 9, 2011. สืบค้นเมื่อ March 6, 2013.
"America remembers Sept. 11 attacks 11 years later". CBS News. Associated Press. September 11, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-17. สืบค้นเมื่อ March 6, 2013.
"Day of Terror Video Archive". CNN. 2005. สืบค้นเมื่อ March 6, 2013. - ↑ Walsh, Kenneth T. (December 9, 2008). "The 'War on Terror' Is Critical to President George W. Bush's Legacy". U.S. News & World Report. สืบค้นเมื่อ March 6, 2013.
Atkins, Stephen E. (2011). The 9/11 Encyclopedia: Second Edition. ABC-CLIO. p. 872. ISBN 978-1-59884-921-9. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015. - ↑ Wong, Edward (February 15, 2008). "Overview: The Iraq War". The New York Times. สืบค้นเมื่อ March 7, 2013.
Johnson, James Turner (2005). The War to Oust Saddam Hussein: Just War and the New Face of Conflict. Rowman & Littlefield. p. 159. ISBN 978-0-7425-4956-2. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
Durando, Jessica; Green, Shannon Rae (December 21, 2011). "Timeline: Key moments in the Iraq War". USA Today. Associated Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-04. สืบค้นเมื่อ March 7, 2013. - ↑ George W. Bush (January 10, 2007). "Fact Sheet: The New Way Forward in Iraq". Office of the Press Secretary. สืบค้นเมื่อ January 26, 2017.
After talking to some Afghan leaders, it was said that the Iran's would be revolting if more troops were to be sent to Iran.
- ↑ Feaver, Peter (August 13, 2015). "Hillary Clinton and the Inconvenient Facts About the Rise of the Islamic State". Foreign Policy.
[T]he Obama team itself, including Clinton, have repeatedly confirmed that they understand that the surge was successful. Clinton even conceded to former Defense Secretary Robert Gates: 'The surge worked.'
- ↑ "Iraqi surge exceeded expectations, Obama says". NBC News. Associated Press. September 4, 2008.
Obama said the surge of U.S. troops has 'succeeded beyond our wildest dreams.'
- ↑ Wallison, Peter (2015). Hidden in Plain Sight: What Really Caused the World's Worst Financial Crisis and Why It Could Happen Again. Encounter Books. ISBN 978-1-59403-770-2.
- ↑ Financial Crisis Inquiry Commission (2011). Financial Crisis Inquiry Report (PDF). ISBN 978-1-60796-348-6.
- ↑ Taylor, John B. (January 2009). "The Financial Crisis and the Policy Responses: An Empirical Analysis of What Went Wrong" (PDF). Hoover Institution Economics Paper Series. National Bureau of Economic Research. สืบค้นเมื่อ January 21, 2017.
- ↑ Hilsenrath, Jon; Ng, Serena; Paletta, Damian (September 18, 2008). "Worst Crisis Since '30s, With No End Yet in Sight". The Wall Street Journal. Dow Jones & Company. สืบค้นเมื่อ January 21, 2017.
- ↑ Washington, Jesse; Rugaber, Chris (September 9, 2011). "African-American Economic Gains Reversed By Great Recession". Huffington Post. Associated Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 16, 2013. สืบค้นเมื่อ March 7, 2013.
- ↑ "What the Stimulus Accomplished". The New York Times. The New York Times Company. February 22, 2014. สืบค้นเมื่อ January 21, 2017.
- ↑ "Economic Stimulus". IGM Polls. Initiative on Global Markets at the University of Chicago. February 15, 2012. สืบค้นเมื่อ January 21, 2017.
- ↑ "The Impact of the Dodd-Frank Act on Financial Stability and Economic Growth" (PDF). Brookings. October 24, 2014. สืบค้นเมื่อ August 31, 2017; Martin Neil Baily; Aaron Klein; Justin Schardin (January 2017). "The Impact of the Dodd-Frank Act on Financial Stability and Economic Growth". The Russell Sage Foundation Journal of the Social Sciences. 3 (1): 20. doi:10.7758/RSF.2017.3.1.02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-06. สืบค้นเมื่อ 2017-10-14.
- ↑ Lux, Marshall; Robert, Greene (2015). "The State and Fate of Community Banking". Harvard Mossavar-Rahmani Center for Business and Government. สืบค้นเมื่อ January 21, 2017.
- ↑ "Federal Subsidies for Health Insurance Coverage for People Under Age 65: 2016 to 2026". Congressional Budget Office. สืบค้นเมื่อ January 21, 2017.
- ↑ Bradner, Eric (January 13, 2017). "Ryan: GOP will repeal, replace Obamacare at same time". CNN. สืบค้นเมื่อ January 21, 2017.
- ↑ Jacobson, Gary C. (March 2011). "The Republican Resurgence in 2010". Political Science Quarterly. 126 (1): 27–52. doi:10.1002/j.1538-165X.2011.tb00693.x.
- ↑ Shanker, Thom; Schmidt, Michael S.; Worth, Robert F. (December 15, 2011). "In Baghdad, Panetta Leads Uneasy Closure to Conflict". The New York Times.
- ↑ "The JRTN Movement and Iraq's Next Insurgency | Combating Terrorism Center at West Point". United States Military Academy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-26. สืบค้นเมื่อ January 26, 2017.
- ↑ "Al-Qaeda's Resurgence in Iraq: A Threat to U.S. Interests". U.S Department of State. January 26, 2017. สืบค้นเมื่อ November 26, 2010.
- ↑ Peter Baker (January 26, 2017). "U.S. to Restore Full Relations With Cuba, Erasing a Last Trace of Cold War Hostility". The New York Times.
- ↑ Gordon, Michael R.; Sanger, David E. (July 15, 2015). "Deal Reached on Iran Nuclear Program; Limits on Fuel Would Lessen With Time". The New York Times. The New York Times Company. สืบค้นเมื่อ January 26, 2017.
- ↑ https://www.washingtonpost.com/lifestyle/kidspost/donald-trump-is-elected-president-of-the-united-states/2016/11/09/58046db4-a684-11e6-ba59-a7d93165c6d4_story.html
- ↑ "A Timeline of the George Floyd Protests - The New York Times". web.archive.org. 2020-06-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-02. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "How Mass Shootings Leave Emotional Scars on Society | Psychology Today". www.psychologytoday.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "The Senate has approved roughly $40 billion in aid to Ukraine". NPR.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ Ritchie, Hannah; Mathieu, Edouard; Rodés-Guirao, Lucas; Appel, Cameron; Giattino, Charlie; Ortiz-Ospina, Esteban; Hasell, Joe; Macdonald, Bobbie; Beltekian, Diana; Dattani, Saloni; Roser, Max (2020–2022). "Coronavirus Pandemic (COVID-19)". Our World in Data. Retrieved September 19, 2023.
- ↑ "COVID-19 surpasses 1918 flu as deadliest pandemic in U.S. history". History (ภาษาอังกฤษ). 2021-09-21.
- ↑ Lubowski, Ruben; Vesterby, Marlow; Bucholtz, Shawn (July 21, 2006). "AREI Chapter 1.1: Land Use". Economic Research Service. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-08-08. สืบค้นเมื่อ March 9, 2009.
{{cite web}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ "2010 Census Area" (PDF). census.gov. U.S. Census Bureau. p. 41. สืบค้นเมื่อ January 18, 2015.
- ↑ "United States". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ March 25, 2008. (area given in square miles)
- ↑ "Population by Sex, Rate of Population Increase, Surface Area and Density" (PDF). Demographic Yearbook 2005. UN Statistics Division. สืบค้นเมื่อ March 25, 2008. (area given in square kilometers)
- ↑ 207.0 207.1 207.2 "United States". The World Factbook. Central Intelligence Agency. May 23, 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-25. สืบค้นเมื่อ June 10, 2016. (area given in square kilometers)
- ↑ "Area". The World Factbook. Central Intelligence Agency. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-31. สืบค้นเมื่อ January 15, 2015.
- ↑ "Geographic Regions of Georgia". Georgia Info. Digital Library of Georgia. สืบค้นเมื่อ December 24, 2014.
- ↑ 210.0 210.1 Lew, Alan. "PHYSICAL GEOGRAPHY OF THE US". GSP 220 – Geography of the United States. North Arizona University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 9, 2016. สืบค้นเมื่อ December 24, 2014.
- ↑ Harms, Nicole. "Facts About the Rocky Mountain Range". Travel Tips. USA Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-24. สืบค้นเมื่อ December 24, 2014.
- ↑ "Great Basin". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ December 24, 2014.
- ↑ "Mount Whitney, California". Peakbagger. สืบค้นเมื่อ December 24, 2014.
- ↑ "Find Distance and Azimuths Between 2 Sets of Coordinates (Badwater 36-15-01-N, 116-49-33-W and Mount Whitney 36-34-43-N, 118-17-31-W)". Federal Communications Commission. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-07. สืบค้นเมื่อ December 24, 2014.
- ↑ Poppick, Laura. "US Tallest Mountain's Surprising Location Explained". LiveScience. สืบค้นเมื่อ May 2, 2015.
- ↑ O'Hanlon, Larry (March 14, 2005). "America's Explosive Park". Discovery Channel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 14, 2005. สืบค้นเมื่อ April 5, 2016.
- ↑ Boyden, Jennifer. "Climate Regions of the United States". Travel Tips. USA Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-25. สืบค้นเมื่อ December 24, 2014.
- ↑ "World Map of Köppen−Geiger Climate Classification" (PDF). สืบค้นเมื่อ August 19, 2015.
- ↑ Perkins, Sid (May 11, 2002). "Tornado Alley, USA". Science News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 1, 2007. สืบค้นเมื่อ September 20, 2006.
- ↑ Morin, Nancy. "Vascular Plants of the United States" (PDF). Plants. National Biological Service. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-07-24. สืบค้นเมื่อ October 27, 2008.
- ↑ "Global Significance of Selected U.S. Native Plant and Animal Species". SDI Group. February 9, 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-18. สืบค้นเมื่อ January 20, 2009.
- ↑ "Numbers of Insects (Species and Individuals)". Smithsonian Institution. สืบค้นเมื่อ January 20, 2009.
- ↑ Lawrence, E.A. (1990). "Symbol of a Nation: The Bald Eagle in American Culture". The Journal of American Culture. 13 (1): 63–69. doi:10.1111/j.1542-734X.1990.1301_63.x.
- ↑ "National Park Service Announces Addition of Two New Units" (Press release). National Park Service. February 28, 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 1, 2006. สืบค้นเมื่อ February 10, 2017.
- ↑ Lipton, Eric; Krauss, Clifford (August 23, 2012). "Giving Reins to the States Over Drilling". New York Times. สืบค้นเมื่อ January 18, 2015.
- ↑ Gorte, Ross W.; Vincent, Carol Hardy.; Hanson, Laura A.; Marc R., Rosenblum. "Federal Land Ownership: Overview and Data" (PDF). fas.org. Congressional Research Service. สืบค้นเมื่อ January 18, 2015.
- ↑ "Chapter 6: Federal Programs to Promote Resource Use, Extraction, and Development". doi.gov. U.S. Department of the Interior. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 18, 2015. สืบค้นเมื่อ January 19, 2015.
- ↑ The National Atlas of the United States of America (2013-01-14). "Forest Resources of the United States". Nationalatlas.gov. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-07. สืบค้นเมื่อ 2014-01-13.
- ↑ "Land Use Changes Involving Forestry in the United States: 1952 to 1997, With Projections to 2050" (PDF). 2003. สืบค้นเมื่อ 2014-01-13.
- ↑ Daynes & Sussman, 2010, pp. 3, 72, 74–76, 78
- ↑ Hays, Samuel P. (2000). A History of Environmental Politics since 1945.
- ↑ Rothman, Hal K. (1998).The Greening of a Nation? Environmentalism in the United States since 1945
- ↑ Turner, James Morton (2012). The Promise of Wilderness
- ↑ Endangered species Fish and Wildlife Service. General Accounting Office, DIANE Publishing. p. 1. ISBN 978-1-4289-3997-4. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
- ↑ 235.0 235.1 235.2 235.3 "ACS DEMOGRAPHIC AND HOUSING ESTIMATES, 2015 American Community Survey 1-Year Estimates, (V2015)". www.census.gov. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-12. สืบค้นเมื่อ October 15, 2016.
- ↑ 236.0 236.1 "Table 1: Annual Estimates of the Resident Population for Incorporated Places Over 100,000, Ranked by July 1, 2008 Population: April 1, 2000 to July 1, 2008" (PDF). 2008 Population Estimates. U.S. Census Bureau, Population Division. July 1, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ December 7, 2009.
- ↑ "Statistical Abstract of the United States" (PDF). United States Census Bureau. 2005.
- ↑ "Executive Summary: A Population Perspective of the United States". Population Resource Center. May 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 4, 2007. สืบค้นเมื่อ December 20, 2007.
- ↑ Alesha E. Doan (2007). Opposition and Intimidation:The abortion wars and strategies of political harassment. University of Michigan. p. 40.
- ↑ "Changing Patterns in U.S. Immigration and Population". pewtrusts.org.
- ↑ 241.0 241.1 "Modern Immigration Wave Brings 59 Million to U.S. – Pew Research Center". Pew Research Center's Hispanic Trends Project. September 28, 2015.
- ↑ 242.0 242.1 242.2 "Ancestry 2000" (PDF). U.S. Census Bureau. June 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ December 4, 2004. สืบค้นเมื่อ December 2, 2016.
- ↑ "Table 52. Population by Selected Ancestry Group and Region: 2009" (PDF). U.S. Census Bureau. 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ December 25, 2012. สืบค้นเมื่อ February 11, 2017.
- ↑ Oleaga, Michael. "Immigration Numbers Update: 13 Million Mexicans Immigrated to US in 2013, But Chinese Migrants Outnumber Other Latin Americans". Latin Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 5, 2014. สืบค้นเมื่อ December 28, 2014.
- ↑ "Field Listing: Birth Rate". Central Intelligence Agency. The World Factbook. 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 11, 2007. สืบค้นเมื่อ January 21, 2015.
- ↑ "Births: Preliminary Data for 2010" (PDF). National Vital Statistics Reports, Volume 60. National Center for Health Statistics. 2011. สืบค้นเมื่อ August 17, 2012.
- ↑ "U.S. Legal Permanent Residents: 2012". Office of Immigration Statistics Annual Flow Report.
- ↑ "Yearbook of Immigration Statistics: 2011 – Persons Obtaining Legal Permanent Resident Status by Region and Country of Birth: Fiscal Years 2002 to 2011 (Table 3)". U.S. Dept. of Homeland Security. สืบค้นเมื่อ February 4, 2013.
- ↑ "Yearbook of Immigration Statistics: 2007 – Persons Obtaining Legal Permanent Resident Status by Region and Country of Birth: Fiscal Years 1998 to 2007 (Table 3)". U.S. Dept. of Homeland Security. สืบค้นเมื่อ February 4, 2013.
- ↑ Baker, Bryan; Rytina, Nancy (March 2013). "Estimates of the Unauthorized Immigrant Population Residing in the United States: January 2012" (PDF). Office of Immigration Statistics. Department of Homeland Security. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-08-18. สืบค้นเมื่อ October 21, 2014.
- ↑ 251.0 251.1 "It's official: Minority babies are the majority among the nation's infants, but only just". Pew Research Center. June 23, 2016.
- ↑ Exner, Rich (July 3, 2012). "Americans under age one now mostly minorities, but not in Ohio: Statistical Snapshot". The Plain Dealer. Cleveland, OH.
- ↑ "What percentage of the U.S. population is gay, lesbian or bisexual?". Washington Post. สืบค้นเมื่อ December 28, 2014.
- ↑ Donaldson James, Susan (April 8, 2011). "Gay Americans Make Up 4 Percent of Population". ABC News. สืบค้นเมื่อ August 26, 2012.
- ↑ "LGBT Percentage Highest in D.C., Lowest in North Dakota". Gallup. สืบค้นเมื่อ June 14, 2014.
- ↑ Somashekher, Sandhya (July 15, 2014). "Health survey gives government its first large-scale data on gay, bisexual population". Washington Post. สืบค้นเมื่อ November 19, 2014.
Sieczkowski, Cavan (July 15, 2014). "Health Survey: About 2 Percent Of Americans Are Gay Or Lesbian". Huffington Post. สืบค้นเมื่อ November 19, 2014.
Painter, Kim (July 15, 2014). "Just over 2% tell CDC they are gay, lesbian, bisexual". USA Today. สืบค้นเมื่อ November 19, 2014. - ↑ 257.0 257.1 257.2 Humes, Karen R.; Jones, Nicholas A.; Ramirez, Roberto R. (March 2011). "Overview of Race and Hispanic Origin: 2010" (PDF). U.S. Census Bureau. สืบค้นเมื่อ March 29, 2011.
{{cite web}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ "B03001. Hispanic or Latino Origin by Specific Origin". 2007 American Community Survey. U.S. Census Bureau. สืบค้นเมื่อ September 26, 2008.
- ↑ "2010 Census Data". U.S. Census Bureau. สืบค้นเมื่อ March 29, 2011.
- ↑ "Tables 41 and 42—Native and Foreign-Born Populations" (PDF). Statistical Abstract of the United States 2009. U.S. Census Bureau. สืบค้นเมื่อ October 11, 2009.
- ↑ "United States – Urban/Rural and Inside/Outside Metropolitan Area". U.S. Census Bureau. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 17, 2010.
- ↑ 262.0 262.1 "Table 5. Estimates of Population Change for Metropolitan Statistical Areas and Rankings: July 1, 2007 to July 1, 2008" (PDF). 2008 Population Estimates. U.S. Census Bureau. March 19, 2009. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-07. สืบค้นเมื่อ 2014-04-11.
- ↑ "Raleigh and Austin are Fastest-Growing Metro Areas". U.S. Census Bureau. March 19, 2009. สืบค้นเมื่อ October 11, 2009.
- ↑ "Figure A–3. Census Regions, Census Divisions, and Their Constituent States" (PDF). U.S. Census Bureau. สืบค้นเมื่อ 2007-06-17.
- ↑ "Annual Estimates of the Population of Metropolitan and Micropolitan Statistical Areas: April 1, 2010 to July 1, 2011". U.S. Census Bureau. สืบค้นเมื่อ 2012-06-07.
- ↑ "United States". Modern Language Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-01. สืบค้นเมื่อ September 2, 2013.
- ↑ "Language Spoken at Home by the U.S. Population, 2010", American Community Survey, U.S. Census Bureau, in World Almanac and Book of Facts 2012, p. 615.
- ↑ "Foreign Language Enrollments in United States Institutions of Higher Learning" (PDF). MLA. 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ August 8, 2008. สืบค้นเมื่อ October 16, 2006.
- ↑ Feder, Jody (January 25, 2007). "English as the Official Language of the United States: Legal Background and Analysis of Legislation in the 110th Congress" (PDF). Ilw.com (Congressional Research Service). สืบค้นเมื่อ June 19, 2007.
- ↑ "The Constitution of the State of Hawaii, Article XV, Section 4". Hawaii Legislative Reference Bureau. November 7, 1978. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-24. สืบค้นเมื่อ June 19, 2007.
- ↑ Dicker, Susan J. (2003). Languages in America: A Pluralist View. Clevedon, UK: Multilingual Matters. pp. 216, 220–25. ISBN 1-85359-651-5.
- ↑ "California Code of Civil Procedure, Section 412.20 (6)". Legislative Counsel, State of California. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-22. สืบค้นเมื่อ December 17, 2007. "California Judicial Council Forms". Judicial Council, State of California. สืบค้นเมื่อ December 17, 2007.
- ↑ "Samoan". UCLA Language Materials Project. UCLA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-09-18. สืบค้นเมื่อ October 4, 2014.
Frederick T.L. Leong; Mark M. Leach (April 15, 2010). Suicide Among Racial and Ethnic Minority Groups: Theory, Research, and Practice. Routledge. p. 185. ISBN 978-1-135-91680-0.
Robert D. Craig (2002). Historical Dictionary of Polynesia. Scarecrow Press. p. 33. ISBN 978-0-8108-4237-3. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015. - ↑ Nessa Wolfson; Joan Manes (1985). Language of Inequality. Walter de Gruyter. p. 176. ISBN 978-3-11-009946-1. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
Lawrence J. Cunningham; Janice J. Beaty (January 2001). A History of Guam. Bess Press. p. 203. ISBN 978-1-57306-047-9.
Eur (2002). The Far East and Australasia 2003. Psychology Press. p. 1137. ISBN 978-1-85743-133-9. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015. - ↑ Yaron Matras; Peter Bakker (2003). The Mixed Language Debate: Theoretical and Empirical Advances. Walter de Gruyter. p. 301. ISBN 978-3-11-017776-3.
in the Northern Marianas, Chamarro, Carolinian ( = the minority language of a group of Carolinian immigrants), and English received the status of co-official languages in 1985 (Rodriguez-Ponga 1995:24–28).
- ↑ "Translation in Puerto Rico". Puerto Rico Channel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-19. สืบค้นเมื่อ December 29, 2013.
- ↑ "Foreign Language Enrollments in K–12 Public Schools" (PDF). American Council on the Teaching of Foreign Languages (ACTFL). February 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-04-08. สืบค้นเมื่อ October 17, 2015.
- ↑ Goldberg, David; Looney, Dennis; Lusin, Natalia (February 2015). "Enrollments in Languages Other Than English in United States Institutions of Higher Education, Fall 2013" (PDF). Modern Language Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-04-04. สืบค้นเมื่อ May 20, 2015.
- ↑ David Skorton & Glenn Altschuler. "America's Foreign Language Deficit". Forbes.
- ↑ "America's Changing Religious Landscape". Pew Research Center: Religion & Public Life. May 12, 2015.
- ↑ "Religion". Gallup. June 2013. สืบค้นเมื่อ January 10, 2014.
- ↑ 282.0 282.1 "Mississippians Go to Church the Most; Vermonters, Least". Gallup.com. สืบค้นเมื่อ 2014-01-13.
- ↑ Tri-Faith America: How Catholics and Jews Held Postwar America to Its Protestant Promise by Kevin M. Schultz, p. 9
- ↑ Obligations of Citizenship and Demands of Faith: Religious Accommodation in Pluralist Democracies by Nancy L. Rosenblum, Princeton University Press, 2000 – 438, p. 156
- ↑ The Protestant Voice in American Pluralism by Martin E. Marty, chapter 1
- ↑ "10 facts about religion in America". pewresearch.org. August 27, 2015. สืบค้นเมื่อ August 27, 2017.
- ↑ Barnstone, Aliki; Manson, Michael Tomasek; Singley, Carol J. (August 27, 1997). "The Calvinist Roots of the Modern Era". UPNE. สืบค้นเมื่อ August 27, 2017 – โดยทาง Google Books.
- ↑ Holmes, David L. (May 1, 2006). "The Faiths of the Founding Fathers". Oxford University Press, USA. สืบค้นเมื่อ August 27, 2017 – โดยทาง Google Books.
- ↑ "Calvinism: The Spiritual Foundation of America". Geopolitica.ru. January 20, 2016. สืบค้นเมื่อ September 18, 2017.
- ↑ Merica, Dan (June 12, 2012). "Pew Survey: Doubt of God Growing Quickly among Millennials". CNN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-13. สืบค้นเมื่อ June 14, 2012.
- ↑ "American Confidence In Organized Religion At All Time Low". Huffington Post. July 12, 2012. สืบค้นเมื่อ July 14, 2012.
- ↑ "Religion Among the Millennials". The Pew Forum on Religion & Public Life. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-26. สืบค้นเมื่อ August 29, 2012.
- ↑ ""Nones" on the Rise: One-in-Five Adults Have No Religious Affiliation" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-06-29. สืบค้นเมื่อ 2017-10-15.
- ↑ "US Protestants no longer a majority – study". BBC News.
- ↑ "Mormons more likely to marry, have more children than other U.S. religious groups". Pew Research Center. May 22, 2015.
- ↑ "Church Statistics and Religious Affiliations". Pew Research. สืบค้นเมื่อ September 23, 2014.
- ↑ ""Nones" on the Rise". Pew Forum on Religion & Public Life. 2012. สืบค้นเมื่อ January 10, 2014.
- ↑ 298.0 298.1 298.2 298.3 ""Nones" on the Rise". Pew Forum on Religion & Public Life. 2012. สืบค้นเมื่อ January 10, 2014.
- ↑ Barry A. Kosmin; Egon Mayer; Ariela Keysar (December 19, 2001). "American Religious Identification Survey 2001" (PDF). CUNY Graduate Center. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-07-16. สืบค้นเมื่อ September 16, 2011.
- ↑ "United States". สืบค้นเมื่อ May 2, 2013.
- ↑ Media, Minorities, and Meaning: A Critical Introduction — Page 88, Debra L. Merskin – 2010
- ↑ "U.S. Religion Map and Religious Populations – U.S. Religious Landscape Study – Pew Forum on Religion & Public Life". Religions.pewforum.org. สืบค้นเมื่อ February 26, 2014.
- ↑ Walsh, Margaret (January 2005). The American West. Visions and Revisions. Cambridge University Press. p. 124. ISBN 978-0-521-59671-8.
- ↑ "Table 55—Marital Status of the Population by Sex, Race, and Hispanic Origin: 1990 to 2007" (PDF). Statistical Abstract of the United States 2009. U.S. Census Bureau. สืบค้นเมื่อ October 11, 2009.
- ↑ "Women's Advances in Education". Columbia University, Institute for Social and Economic Research and Policy. 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 9, 2007. สืบค้นเมื่อ June 6, 2007.
- ↑ 306.0 306.1 "Births: Final Data for 2013, tables 2, 3" (PDF). U.S. Department of Health & Human Services. สืบค้นเมื่อ July 23, 2015.
- ↑ "Trends in Teen Pregnancy and Childbearing". U.S. Department of Health & Human Services. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-03. สืบค้นเมื่อ July 23, 2015.
- ↑ Strauss, Lilo T.; และคณะ (November 24, 2006). "Abortion Surveillance—United States, 2003". MMWR. Centers for Disease Control, National Center for Chronic Disease Prevention and Health Promotion, Division of Reproductive Health. สืบค้นเมื่อ June 17, 2007.
- ↑ "FASTSTATS – Births and Natality". Centers for Disease Control and Prevention. November 21, 2013. สืบค้นเมื่อ January 13, 2014.
- ↑ Wetzstein, Cheryl (May 28, 2014). "U.S. fertility plummets to record low". The Washington Times. สืบค้นเมื่อ August 20, 2014.
- ↑ Jardine, Cassandra (October 31, 2007). "Why adoption is so easy in America". The Daily Telegraph. London.
- ↑ "Child Adoption: Trends and policies" (PDF). United Nations Department of Economic and Social Affairs. 2009. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
- ↑ Hagerty, Barbara Bradley (May 27, 2008). "Some Muslims in U.S. Quietly Engage in Polygamy". National Public Radio: All Things Considered. สืบค้นเมื่อ July 23, 2009.
- ↑ Scheb, John M.; Scheb, John M. II (2002). An Introduction to the American Legal System. Florence, KY: Delmar, p. 6. ISBN 0-7668-2759-3.
- ↑ Killian, Johnny H. "Constitution of the United States". The Office of the Secretary of the Senate. สืบค้นเมื่อ February 11, 2012.
- ↑ Democracy Index 2016 (PDF) (Report). The Economist Intelligence Unit. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ February 2, 2017. สืบค้นเมื่อ March 5, 2017.
- ↑ "Corruption Perceptions Index 2016". Transparency International. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-25. สืบค้นเมื่อ March 5, 2017.
- ↑ Mikhail Filippov; Peter C. Ordeshook; Olga Shvetsova (February 9, 2004). Designing Federalism: A Theory of Self-Sustainable Federal Institutions. Cambridge University Press. p. 242. ISBN 978-0-521-01648-3.
Barbara Bardes; Mack Shelley; Steffen Schmidt (January 1, 2013). American Government and Politics Today: Essentials 2013–2014 Edition. Cengage Learning. pp. 265–266. ISBN 1-285-60571-3. - ↑ "The Legislative Branch". United States Diplomatic Mission to Germany. สืบค้นเมื่อ August 20, 2012.
- ↑ "The Process for impeachment". ThinkQuest. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-04-08. สืบค้นเมื่อ August 20, 2012.
- ↑ "The Executive Branch". The White House. สืบค้นเมื่อ February 11, 2017.
- ↑ Kermit L. Hall; Kevin T. McGuire (September 9, 2005). Institutions of American Democracy: The Judicial Branch. Oxford University Press. ISBN 978-0-19-988374-5.
U.S. Citizenship and Immigration Services (March 18, 2013). Learn about the United States: Quick Civics Lessons for the Naturalization Test. Government Printing Office. p. 4. ISBN 978-0-16-091708-0.
Bryon Giddens-White (July 1, 2005). The Supreme Court and the Judicial Branch. Heinemann Library. ISBN 978-1-4034-6608-2.
Charles L. Zelden (2007). The Judicial Branch of Federal Government: People, Process, and Politics. ABC-CLIO. ISBN 978-1-85109-702-9. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
"Federal Courts". United States Courts. สืบค้นเมื่อ October 19, 2014. - ↑ Bloch, Matt; Ericson, Matthew; Quealy, Kevin (May 30, 2013). "Census 2010: Gains and Losses in Congress". The New York Times.
- ↑ Bloch, Matt; Ericson, Matthew; Quealy, Kevin (May 30, 2013). "Census 2010: Gains and Losses in Congress". The New York Times.
- ↑ "Statue of Liberty". World Heritage. UNESCO. สืบค้นเมื่อ October 20, 2011.
- ↑ "Nebraska (state, United States) : Agriculture". Britannica Online Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ November 11, 2012.
- ↑ Feldstein, Fabozzi, 2011, p. 9
- ↑ Schultz, 2009, pp. 164, 453, 503
- ↑ Map of the U.S. EEZ omits U.S. claimed Serranilla Bank and Bajo Nuevo Bank which are disputed.
- ↑ US State Department, Common Core Document of the United States of America "Constitutional, political and legal structure" report by the US State Department to the UN (22). December 30, 2011. viewed July 10, 2015.
- ↑ House of Representatives. History, Art & Archives. Electoral College Fast Facts, viewed August 21, 2015.
- ↑ House of Representatives. History, Art & Archives, Determining Apportionment and Reapportioning. viewed August 21, 2015.
- ↑ "Frequently Asked Questions". U.S. Department of the Interior Indian Affairs. สืบค้นเมื่อ January 16, 2016.
- ↑ Etheridge, Eric; Deleith, Asger (August 19, 2009). "A Republic or a Democracy?". New York Times blogs. สืบค้นเมื่อ November 7, 2010.
The US system seems essentially a two-party system. ...
- ↑ Avaliktos, Neal (January 1, 2004). The Election Process Revisited. Nova Publishers. p. 111. ISBN 978-1-59454-054-7.
- ↑ David Mosler; Robert Catley (1998). America and Americans in Australia. Greenwood Publishing Group. p. 83. สืบค้นเมื่อ April 11, 2016.
- ↑ Grigsby, Ellen (2008). Analyzing Politics: An Introduction to Political Science. Cengage Learning. pp. 106–7. ISBN 0-495-50112-3.
- ↑ Ambrose Akenuwa (July 1, 2015). Is the United States Still the Land of the Free and Home to the Brave?. Lulu.com. p. 79. ISBN 978-1-329-26112-9.
- ↑ "What is the G8?". University of Toronto. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-27. สืบค้นเมื่อ February 11, 2012.
- ↑ Kan, Shirley A. (August 29, 2014). "Taiwan: Major U.S. Arms Sales Since 1990" (PDF). Federation of American Scientist. สืบค้นเมื่อ October 19, 2014.
"Taiwan's Force Modernization: The American Side". Defense Industry Daily. September 11, 2014. สืบค้นเมื่อ October 19, 2014. - ↑ Dumbrell, John; Schäfer, Axel (2009). America's 'Special Relationships': Foreign and Domestic Aspects of the Politics of Alliance. p. 45. ISBN 9780203872703.
- ↑ Ek, Carl, and Ian F. Fergusson (September 3, 2010). "Canada–U.S. Relations" (PDF). Congressional Research Service. สืบค้นเมื่อ August 28, 2011.
{{cite web}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Vaughn, Bruce (August 8, 2008). "Australia: Background and U.S. Relations". Congressional Research Service. สืบค้นเมื่อ August 28, 2011.
- ↑ Vaughn, Bruce (May 27, 2011). "New Zealand: Background and Bilateral Relations with the United States" (PDF). Congressional Research Service. สืบค้นเมื่อ August 28, 2011.
- ↑ Lum, Thomas (January 3, 2011). "The Republic of the Philippines and U.S. Interests" (PDF). Congressional Research Service. สืบค้นเมื่อ August 3, 2011.
- ↑ Chanlett-Avery, Emma; และคณะ (June 8, 2011). "Japan-U.S. Relations: Issues for Congress" (PDF). Congressional Research Service. สืบค้นเมื่อ August 28, 2011.
- ↑ Manyin, Mark E., Emma Chanlett-Avery, and Mary Beth Nikitin (July 8, 2011). "U.S.–South Korea Relations: Issues for Congress" (PDF). Congressional Research Service. สืบค้นเมื่อ August 28, 2011.
{{cite web}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Addis, Casey L. (February 14, 2011). "Israel: Background and U.S. Relations" (PDF). Congressional Research Service. สืบค้นเมื่อ August 28, 2011.
- ↑ Shah, Anup (April 13, 2009). "U.S. and Foreign Aid Assistance". GlobalIssues.org. สืบค้นเมื่อ October 11, 2009.
- ↑ Charles L. Zelden (2007). The Judicial Branch of Federal Government: People, Process, and Politics. ABC-CLIO. p. 217. ISBN 978-1-85109-702-9. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
Loren Yager; Emil Friberg; Leslie Holen (July 2003). Foreign Relations: Migration from Micronesian Nations Has Had Significant Impact on Guam, Hawaii, and the Commonwealth of the Northern Mariana Islands. DIANE Publishing. p. 7. ISBN 978-0-7567-3394-0. - ↑ Budget Office, Congressional. "The Long-Term Budget Outlook 2013" (PDF). cbo.gov. Congress of the United States Congressional Budget Office. p. 10. สืบค้นเมื่อ January 21, 2016.
- ↑ Porter, Eduardo (August 14, 2012). "America's Aversion to Taxes". The New York Times. สืบค้นเมื่อ August 15, 2012.
In 1965, taxes collected by federal, state and municipal governments amounted to 24.7 percent of the nation's output. In 2010, they amounted to 24.8 percent. Excluding Chile and Mexico, the United States raises less tax revenue, as a share of the economy, than every other industrial country.
- ↑ 353.0 353.1 "CBO Historical Tables-February 2013". Congressional Budget Office. February 5, 2013. สืบค้นเมื่อ April 23, 2013.
- ↑ "The Distribution of Household Income and Federal Taxes, 2010". The US Congressional Budget Office (CBO). December 4, 2013. สืบค้นเมื่อ January 6, 2014.
- ↑ Lowrey, Annie (January 4, 2013). "Tax Code May Be the Most Progressive Since 1979". The New York Times. สืบค้นเมื่อ January 6, 2014.
- ↑ Prasad, M.; Deng, Y. (April 2, 2009). "Taxation and the worlds of welfare". Socio-Economic Review. 7 (3): 431–457. doi:10.1093/ser/mwp005. สืบค้นเมื่อ May 5, 2013.
- ↑ 357.0 357.1 357.2 Matthews, Dylan (September 19, 2012). "Other countries don't have a "47%"". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ October 29, 2013.
- ↑ "How Much Do People Pay in Federal Taxes?". Peter G. Peterson Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-02. สืบค้นเมื่อ April 3, 2013.
- ↑ 359.0 359.1 "The Distribution of Household Income and Federal Taxes, 2008 and 2009" (PDF). Congressional Budget Office. July 2012. สืบค้นเมื่อ April 3, 2013.
- ↑ "Table T12-0178 Baseline Distribution of Cash Income and Federal Taxes Under Current Law" (PDF). The Tax Policy Center. สืบค้นเมื่อ October 29, 2013.
- ↑ Jane Wells (December 11, 2013). "The rich do not pay the most taxes, they pay ALL the taxes". CNBC. สืบค้นเมื่อ January 14, 2015.
Steve Hargreaves (March 12, 2013). "The rich pay majority of U.S. income taxes". CNN. สืบค้นเมื่อ January 14, 2015.
"Top 10 Percent of Earners Paid 68 Percent of Federal Income Taxes". 2014 Federal Budget in Pictures. The Heritage Foundation. 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 6, 2015. สืบค้นเมื่อ February 25, 2017.
Stephen Dinan (July 10, 2012). "CBO: The wealthy pay 70 percent of taxes". Washington Times. สืบค้นเมื่อ January 14, 2015.
"The Tax Man Cometh! But For Whom?". NPR. April 15, 2012. สืบค้นเมื่อ January 14, 2015. - ↑ Wamhoff, Steve (April 7, 2014). "Who Pays Taxes in America in 2014?" (PDF). Institute on Taxation and Economic Policy. สืบค้นเมื่อ January 17, 2015.
- ↑ Agadoni, Laura. "Characteristics of a Regressive Tax". Houston Chronicle Small Business blog.
- ↑ "TPC Tax Topics | Payroll Taxes". Taxpolicycenter.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-04. สืบค้นเมื่อ January 13, 2014.
- ↑ "The Design of the Original Social Security Act". Social Security Online. U.S. Social Security Administration. สืบค้นเมื่อ April 3, 2013.
- ↑ Blahous, Charles (February 24, 2012). "The Dark Side of the Payroll Tax Cut". Defining Ideas. Hoover Institution. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 16, 2013. สืบค้นเมื่อ April 3, 2013.
- ↑ "Is Social SecurityProgressove? CBO" (PDF).
- ↑ Ohlemacher, Stephen (March 3, 2013). "Tax bills for rich families approach 30-year high". The Seattle Times. Associated Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 29, 2014. สืบค้นเมื่อ April 3, 2013.
- ↑ "Who will pay what in 2013 taxes?". The Seattle Times. Associated Press. March 3, 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 29, 2014. สืบค้นเมื่อ April 3, 2013.
- ↑ Tax incidence of corporate tax in the United States:
- Harris, Benjamin H. (November 2009). "Corporate Tax Incidence and Its Implications for Progressivity" (PDF). Tax Policy Center. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-10-12. สืบค้นเมื่อ October 9, 2013.
- Gentry, William M. (ธันวาคม 2007). "A Review of the Evidence on the Incidence of the Corporate Income Tax" (PDF). OTA Paper 101. Office of Tax Analysis, U.S. Department of the Treasury. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ พฤศจิกายน 1, 2013. สืบค้นเมื่อ ตุลาคม 9, 2013.
- Fullerton, Don; Metcalf, Gilbert E. (2002). "Tax Incidence". ใน A.J. Auerbach and M. Feldstein (บ.ก.). Handbook of Public Economics. Amsterdam: Elsevier Science B.V. pp. 1788–1839. สืบค้นเมื่อ October 9, 2013.
- Musgrave, R.A.; Carroll, J.J.; Cook, L.D.; Frane, L. (March 1951). "Distribution of Tax Payments by Income Groups: A Case Study for 1948" (PDF). National Tax Journal. 4 (1): 1–53. สืบค้นเมื่อ October 9, 2013.
- ↑ Malm, Elizabeth (February 20, 2013). "Comments on Who Pays? A Distributional Analysis of the Tax Systems in All 50 States". Tax Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-24. สืบค้นเมื่อ April 3, 2013.
- ↑ "IMF, United States General government gross debt". Imf.org. September 14, 2006. สืบค้นเมื่อ August 5, 2014.
- ↑ Lopez, Luciana (January 28, 2013). "Fitch backs away from downgrade of U.S. credit rating". Reuters. สืบค้นเมื่อ March 26, 2013.
- ↑ "The Air Force in Facts and Figures (Armed Forces Manpower Trends, End Strength in Thousands)" (PDF). Air Force Magazine. May 2009. สืบค้นเมื่อ October 9, 2009.
- ↑ "What does Selective Service provide for America?". Selective Service System. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 15, 2012. สืบค้นเมื่อ February 11, 2012.
- ↑ "Base Structure Report, Fiscal Year 2008 Baseline" (PDF). Department of Defense. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ February 28, 2010. สืบค้นเมื่อ October 9, 2009.
- ↑ "Active Duty Military Personnel Strengths by Regional Area and by Country (309A)" (PDF). Department of Defense. March 31, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ July 24, 2013. สืบค้นเมื่อ October 7, 2010.
- ↑ "The 15 Countries with the Highest Military Expenditure in 2011". Stockholm International Peace Research Institute. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-28. สืบค้นเมื่อ February 4, 2013.
- ↑ "Compare". CIA World Factbook. RealClearWorld. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-20. สืบค้นเมื่อ February 4, 2013.
- ↑ "Fiscal Year 2013 Historical Tables" (PDF). Budget of the U.S. Government. White House OMB. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-04-17. สืบค้นเมื่อ November 24, 2012.
- ↑ "Fiscal Year 2012 Budget Request Overview" (PDF). Department of Defense. February 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-03-04. สืบค้นเมื่อ July 25, 2011.
- ↑ Basu, Moni (December 18, 2011). "Deadly Iraq War Ends with Exit of Last U.S. Troops". CNN. สืบค้นเมื่อ February 5, 2012.
- ↑ "Operation Iraqi Freedom". Iraq Coalition Casualty Count. February 5, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-03-21. สืบค้นเมื่อ February 5, 2012.
- ↑ Cherian, John (April 7, 2012). "Turning Point". Frontline. The Hindu Group. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-23. สืบค้นเมื่อ December 2, 2012.
There are currently 90,000 U.S. troops deployed in the country.
- ↑ "Department of Defence Defence Casualty Analysis System". Department of Defense. November 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-26. สืบค้นเมื่อ November 11, 2013.
- ↑ "Local Police Departments, 2003" (PDF). U.S. Dept. of Justice, Bureau of Justice Statistics. May 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-07-16. สืบค้นเมื่อ December 7, 2011.
- ↑ "U.S. Federal LAw Enforcement Agencies, Who Governs & What They Do". chiff.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-10. สืบค้นเมื่อ August 21, 2012.
- ↑ "Plea Bargains". Findlaw. สืบค้นเมื่อ January 6, 2015.
"Interview with Judge Michael McSpadden". PBS. December 16, 2003. - ↑ Beckett, Lois; Aufrichtig, Aliza; Davis, Kenan (September 26, 2016). "Murders up 10.8% in biggest percentage increase since 1971, FBI data shows". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ December 22, 2016.
- ↑ "Murders Rose At Their Fastest Pace In A Quarter-Century Last Year". FiveThirtyEight. September 26, 2016.
- ↑ Beckett, Lois; Chalabi, Mona (September 25, 2017). "US murder rate rose in 2016 – but experts question claims of long-term trend". The Guardian. สืบค้นเมื่อ September 25, 2017.
- ↑ Kaste, Martin (March 30, 2015). "Open Cases: Why One-Third Of Murders In America Go Unresolved". NPR. สืบค้นเมื่อ May 8, 2017.
- ↑ "Uniform Crime Reporting Statistics". U.S Department of Justice Federal Bureau of Investigation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-03. สืบค้นเมื่อ November 16, 2013.
"Crime in the United States, 2011". FBI ' (Uniform Crime Statistics—Murder) '. สืบค้นเมื่อ January 23, 2013.
"UNODC Homicide Statistics". United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC). สืบค้นเมื่อ January 23, 2013. - ↑ "Eighth United Nations Survey of Crime Trends and Operations of Criminal Justice Systems (2001–2002)" (PDF). United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC). March 31, 2005. สืบค้นเมื่อ May 18, 2008.
- ↑ Grinshteyn, Erin; Hemenway, David (March 2016). (15) 01030-X/fulltext "Violent Death Rates: The US Compared with Other High-income OECD Countries, 2010". The American Journal of Medicine. 129 (3): 226–273. doi:10.1016/j.amjmed.2015.10.025. สืบค้นเมื่อ June 18, 2017.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่า|url=
(help) - ↑ Alexia Cooper; Erica L. Smith (November 2011). "Homicide Trends in the United States, 1980–2008" (PDF). U.S. Department of Justice. pp. 3, 12. สืบค้นเมื่อ November 14, 2015.
- ↑ Fuchs, Erin (October 1, 2013). "Why Louisiana Is The Murder Capital of America". Business Insider.
- ↑ Agren, David (October 19, 2014). "Mexico crime belies government claims of progress". Florida Today – USA Today. Melbourne, Florida. pp. 4B. สืบค้นเมื่อ October 19, 2014.
- ↑ Simpson, Ian (May 2, 2013). "Maryland becomes latest U.S. state to abolish death penalty". Yahoo! News. Reuters. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-24. สืบค้นเมื่อ July 4, 2013.
- ↑ "Searchable Execution Database". Death Penalty Information Center. สืบค้นเมื่อ October 10, 2012.
- ↑ "Death Sentences and Executions 2015". Amnesty International USA. 2015. สืบค้นเมื่อ June 3, 2017.
- ↑ Schmidt, Steffen W.; Shelley, Mack C.; Bardes, Barbara A. (2008). American Government & Politics Today. Cengage Learning. p. 591. ISBN 978-0-495-50228-9. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
Walmsley, Roy (2005). "World Prison Population List" (PDF). King's College London, International Centre for Prison Studies. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ June 28, 2007. For the latest data, see "Prison Brief for United States of America". King's College London, International Centre for Prison Studies. June 21, 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 4, 2007.
National Research Council. The Growth of Incarceration in the United States: Exploring Causes and Consequences. Washington, DC: The National Academies Press, 2014. Retrieved May 10, 2014.
Nation Behind Bars: A Human Rights Solution. Human Rights Watch, May 2014. Retrieved May 10, 2014. - ↑ Barkan, Steven E.; Bryjak, George J. (2011). Fundamentals of Criminal Justice: A Sociological View. Jones & Bartlett. p. 23. ISBN 978-1-4496-5439-9. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
- ↑ Glaze, Lauren E.; Herberman, Erinn J. (December 2013). "Correctional Populations in the United States, 2012" (PDF).
- ↑ Iadicola, Peter; Shupe, Anson (October 26, 2012). Violence, Inequality, and Human Freedom. Rowman & Littlefield. p. 456. ISBN 978-1-4422-0949-7.
- ↑ Emma Brown and Danielle Douglas-Gabriel (July 7, 2016). Since 1980, spending on prisons has grown three times as much as spending on public education. The Washington Post. Retrieved July 12, 2016.
- ↑ "Prisoners in 2013" (PDF). Bureau of Justice Statistics.
- ↑ "United States of America – International Centre for Prison Studies". International Centre for Prison Studies.
- ↑ Clear, Todd R.; Cole, George F.; Reisig, Michael Dean (2008). American Corrections. Cengage Learning. p. 485. ISBN 978-0-495-55323-6. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
- ↑ "Federal Bureau of Prisons: Statistics". Federal Bureau of Prisons. สืบค้นเมื่อ March 4, 2015.
- ↑ Moore, ADRIAN T. "PRIVATE PRISONS: Quality Corrections at a Lower Cost" (PDF). Reason.org. Reason Foundation. สืบค้นเมื่อ April 29, 2015.
Benefield, Nathan (October 24, 2007). "Private Prisons Increase Capacity, Save Money, Improve Service". Commonwealth Foundation.org. Commonwealth Foundation. สืบค้นเมื่อ April 29, 2015.
William G. Archambeault; Donald R. Deis, Jr. (1997–1998). "Cost Effectiveness Comparisons of Private Versus Public Prisons in Louisiana: A Comprehensive Analysis of Allen, Avoyelles, and Winn Correctional Centers" (PDF). Journal of the Oklahoma Criminal Justice Research Consortium. 4. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-06-10. สืบค้นเมื่อ April 29, 2015.
Volokh, Alexander (May 1, 2002). "A Tale of Two Systems: Cost, Quality, and Accountability in Private Prisons". Harvard Law Review. 115: 1868. สืบค้นเมื่อ April 29, 2015. - ↑ Selman, Donna and Paul Leighton (2010). Punishment for Sale: Private Prisons, Big Business, and the Incarceration Binge. Rowman & Littlefield Publishers. p. xi. ISBN 1-4422-0173-8.
Harcourt, Bernard (2012). The Illusion of Free Markets: Punishment and the Myth of Natural Order. Harvard University Press. pp. 235 & 236. ISBN 0-674-06616-2.
John L. Campbell (2010). "Neoliberalism's penal and debtor states". Theoretical Criminology. 14 (1): 59–73. doi:10.1177/1362480609352783.
Joe Davidson (August 12, 2016). Private federal prisons – less safe, less secure. The Washington Post. Retrieved August 13, 2016.
Gottschalk, Marie (2014). Caught: The Prison State and the Lockdown of American Politics. Princeton University Press. p. 70 ISBN 0-691-16405-3.
Peter Kerwin (June 10, 2015). Study finds private prisons keep inmates longer, without reducing future crime. University of Wisconsin–Madison News. Retrieved June 11, 2015. - ↑ Chang, Cindy (May 29, 2012). "Louisiana is the world's prison capital". The Times-Picayune. สืบค้นเมื่อ April 4, 2013.
- ↑ Mears, Daniel P. (2010). American Criminal Justice Policy: An Evaluation Approach to Increasing Accountability and Effectiveness. Cambridge University Press. p. 72. ISBN 978-0-521-76246-5. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
- ↑ 415.0 415.1 "GDP Estimates". Bureau of Economic Analysis. Bureau of Economic Analysis. สืบค้นเมื่อ October 3, 2016.
- ↑ "GDP Estimates 2012–2015". Bureau of Economic Analysis. Bureau of Economic Analysis. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-02. สืบค้นเมื่อ October 3, 2016.
- ↑ "CONSUMER PRICE INDEX – AUGUST 2016" (PDF). Bureau of Labor Statistics. August 2016. สืบค้นเมื่อ October 3, 2016.
- ↑ "Labor Force Statistics from the Current Population Survey". Bureau of Labor Statistics. August 2016. สืบค้นเมื่อ October 3, 2016.
- ↑ "Employment Situation Summary". Bureau of Labor Statistics. Bureau of Labor Statistics. สืบค้นเมื่อ October 3, 2016.
- ↑ "Labor Force Statistics from the Current Population Survey". Bureau of Labor Statistics. United States Department of Labor. August 2016. สืบค้นเมื่อ October 3, 2016.
- ↑ "Treasury Direct". Treasury Direct. November 9, 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-18. สืบค้นเมื่อ November 9, 2016.
- ↑ "Federal Reserve Statistical Release" (PDF). Federal Reserve. Federal Reserve. 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-11-01. สืบค้นเมื่อ October 3, 2016.
- ↑ The United States of America. PediaPress. p. 24. GGKEY:2CYQCESKTB7.
- ↑ Wright, Gavin; Czelusta, Jesse (2007). "Resource-Based Growth Past and Present", in Natural Resources: Neither Curse Nor Destiny, ed. Daniel Lederman and William Maloney. World Bank. p. 185. ISBN 0-8213-6545-2.
- ↑ 425.0 425.1 "World Economic Outlook Database: United States". International Monetary Fund. October 2014. สืบค้นเมื่อ November 2, 2014.
- ↑ "European Union GDP". International Monetary Fund. International Monetary Fund. April 2014. สืบค้นเมื่อ June 14, 2014.
- ↑ 427.0 427.1 Hagopian, Kip; Ohanian, Lee (August 1, 2012). "The Mismeasure of Inequality". Policy Review. Hoover Institution Stanford University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-12. สืบค้นเมื่อ August 22, 2013.
- ↑ International Monetary Fund (October 2016). "List of South American countries by GDP per capita". World Economic Outlook. International Monetary Fund. สืบค้นเมื่อ September 25, 2017.
- ↑ International Monetary Fund (October 2016). "List of North American countries by GDP per capita". World Economic Outlook. International Monetary Fund. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-24. สืบค้นเมื่อ February 22, 2017.
- ↑ "Currency Composition of Official Foreign Exchange Reserves" (PDF). International Monetary Fund. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ October 7, 2014. สืบค้นเมื่อ April 9, 2012.
- ↑ 431.0 431.1 "Trade Statistics". Greyhill Advisors. สืบค้นเมื่อ October 6, 2011.
- ↑ "Top Ten Countries with which the U.S. Trades". U.S. Census Bureau. August 2009. สืบค้นเมื่อ October 12, 2009.
- ↑ "Major Foreign Holders of Treasury Securities". treasury.gov. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 17, 2015. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
- ↑ "Who Holds Our Debt?".
- ↑ "The TRUTH About Who Really Owns All of America's Debt".
- ↑ "This surprising chart shows which countries own the most U.S. debt".
- ↑ "National debt: Whom does the US owe?".
- ↑ "GDP by Industry". Greyhill Advisors. สืบค้นเมื่อ October 13, 2011.
- ↑ "Table B-1. Employees on nonfarm payrolls by industry sector and selected industry detail [In thousands]". bls.gov.
- ↑ 440.0 440.1 "USA Economy in Brief". U.S. Dept. of State, International Information Programs. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 12, 2008.
- ↑ "Table 724—Number of Tax Returns, Receipts, and Net Income by Type of Business and Industry: 2005". U.S. Census Bureau. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (XLS)เมื่อ February 9, 2012. สืบค้นเมื่อ October 12, 2009.
- ↑ "Sony, LG, Wal-Mart among Most Extendible Brands". Cheskin. June 6, 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 25, 2006. สืบค้นเมื่อ June 19, 2007.
- ↑ "Table 964—Gross Domestic Product in Current and Real (2000) Dollars by Industry: 2006". U.S. Census Bureau. May 2008. สืบค้นเมื่อ October 12, 2009.
- ↑ "U.S. surges past Saudis to become world's top oil supplier -PIRA". Reuters. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-04. สืบค้นเมื่อ 2017-10-15.
- ↑ "Corn". U.S. Grains Council. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 12, 2008. สืบค้นเมื่อ March 13, 2008.
- ↑ "Soybean Demand Continues to Drive Production". Worldwatch Institute. November 6, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-16. สืบค้นเมื่อ March 13, 2008.
- ↑ "ISAAA Brief 39-2008: Executive Summary—Global Status of Commercialized Biotech/GM Crops: 2008" (PDF). International Service for the Acquisition of Agri-Biotech Applications. p. 15. สืบค้นเมื่อ July 16, 2010.
- ↑ "Personal Consumption Expenditures (PCE)/Gross Domestic Product (GDP)" FRED Graph, Federal Reserve Bank of St. Louis
- ↑ Fuller, Thomas (June 15, 2005). "In the East, many EU work rules don't apply". International Herald Tribune. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 16, 2005.
- ↑ "Doing Business in the United States". World Bank. 2006. สืบค้นเมื่อ June 28, 2007.
- ↑ Isabelle Joumard; Mauro Pisu; Debbie Bloch (2012). "Tackling income inequality The role of taxes and transfers" (PDF). OECD. สืบค้นเมื่อ May 21, 2015.
- ↑ Ray, Rebecca; Sanes, Milla; Schmitt, John (May 2013). No-Vacation Nation Revisited. Center for Economic and Policy Research. Retrieved September 8, 2013.
- ↑ Bernard. Tara Siegel (February 22, 2013). "In Paid Family Leave, U.S. Trails Most of the Globe". The New York Times. Retrieved August 27, 2013.
- ↑ 454.0 454.1 Vasel, Kathryn. "Who doesn't get paid sick leave?". CNN.
- ↑ "Total Economy Database, Summary Statistics, 1995–2010". Total Economy Database. The Conference Board. September 2010. สืบค้นเมื่อ September 20, 2009.
- ↑ "Chart Book: The Legacy of the Great Recession — Center on Budget and Policy Priorities". Cbpp.org. March 12, 2013. สืบค้นเมื่อ March 27, 2013.
- ↑ "World's Top 5 arms exporters". United Press International. สืบค้นเมื่อ March 18, 2015.
- ↑ "China becomes the world's third largest arms exporter". BBC News. March 15, 2015. สืบค้นเมื่อ March 18, 2015.Shankar, Sneha (March 17, 2015). "US Remains World's Largest Exporter of Arms While India Leaps Ahead To Become Largest Importer: Study". International Business Times. สืบค้นเมื่อ March 18, 2015.
- ↑ "Household Income". Society at a Glance 2014: OECD Social Indicators. OECD Publishing. March 18, 2014. doi:10.1787/soc_glance-2014-en. สืบค้นเมื่อ May 29, 2014.
- ↑ Organisation for Economic Co-operation and Development. "Income". OECD Better Life Index. Organisation for Economic Co-operation and Development. สืบค้นเมื่อ May 26, 2017.
In the United States, the average household net adjusted disposable income per capita is USD 41 071 a year, much higher than the OECD average of USD 29 016 and the highest figure in the OECD.
- ↑ "OECD Better Life Index". OECD. สืบค้นเมื่อ November 25, 2012.
- ↑ Long, Heather (September 12, 2017). "U.S. middle-class incomes reached highest-ever level in 2016, Census Bureau says". สืบค้นเมื่อ September 18, 2017 – โดยทาง www.WashingtonPost.com.
- ↑ Sherman, Erik. "America is the richest, and most unequal, country". Fortune. สืบค้นเมื่อ August 30, 2016.
- ↑ McCarthy, Niall. "The Countries With The Most Millionaires". Statista. สืบค้นเมื่อ August 30, 2016.
- ↑ "Global Food Security Index". London: The Economist Intelligence Unit. March 5, 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-12. สืบค้นเมื่อ April 8, 2013.
- ↑ Rector, Robert; Sheffield, Rachel (September 13, 2011). "Understanding Poverty in the United States: Surprising Facts About America's Poor". Heritage Foundation. สืบค้นเมื่อ April 8, 2013.
- ↑ "Human Development Report 2014" (PDF). United Nations Development Programme. p. 168. สืบค้นเมื่อ July 26, 2014.
- ↑ Long, Heather (September 12, 2017). "U.S. middle-class incomes reached highest-ever level in 2016, Census Bureau says". สืบค้นเมื่อ September 18, 2017 – โดยทาง www.WashingtonPost.com.
- ↑ Mishel, Lawrence (April 26, 2012). The wedges between productivity and median compensation growth. Economic Policy Institute. Retrieved October 18, 2013.
- ↑ Anderson, Richard G. (2007). "How Well Do Wages Follow Productivity Growth?" (PDF). St. Louis Federal Reserve. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
- ↑ Alvaredo, Facundo; Atkinson, Anthony B.; Piketty, Thomas; Saez, Emmanuel (2013). "The Top 1 Percent in International and Historical Perspective". Journal of Economic Perspectives. Retrieved August 16, 2013.
- ↑ Smeeding, T.M. (2005). "Public Policy: Economic Inequality and Poverty: The United States in Comparative Perspective". Social Science Quarterly. 86: 955–983. doi:10.1111/j.0038-4941.2005.00331.x.
Tcherneva, Pavlina R. (April 2015). "When a rising tide sinks most boats: trends in US income inequality" (PDF). levyinstitute.org. Levy Economics Institute of Bard College. สืบค้นเมื่อ April 10, 2015.
Saez, E. (October 2007). "Table A1: Top Fractiles Income Shares (Excluding Capital Gains) in the U.S., 1913–2005". UC Berkeley. สืบค้นเมื่อ July 24, 2008.
"Field Listing—Distribution of Family Income—Gini Index". The World Factbook. CIA. June 14, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-13. สืบค้นเมื่อ June 17, 2007.
Focus on Top Incomes and Taxation in OECD Countries: Was the crisis a game changer? OECD, May 2014. Retrieved May 1, 2014. - ↑ Saez, Emmanuel (June 30, 2016). "Striking it Richer: The Evolution of Top Incomes in the United States". University of California, Berkeley. Retrieved September 15, 2017.
- ↑ Weston, Liz (May 10, 2016). "Americans Are Pissed – This Chart Might Explain Why". nerdwallet.com.
- ↑ Piketty, Thomas (2014). Capital in the Twenty-First Century. Belknap Press. ISBN 0-674-43000-X p. 257
- ↑ Altman, Roger C. "The Great Crash, 2008". Foreign Affairs. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 23, 2008. สืบค้นเมื่อ February 27, 2009.
- ↑ "Americans' wealth drops $1.3 trillion". CNN Money. June 11, 2009.
- ↑ "Households and Nonprofit Organizations; Net Worth, Level". stlouisfed.org. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
- ↑ "Household Debt and Credit Report". Federal Reserve Bank of New York. สืบค้นเมื่อ June 26, 2015.
- ↑ "U.S. household wealth falls $11.2 trillion in 2008". Reuters. สืบค้นเมื่อ October 4, 2014.
- ↑ "The 2014 Annual Homeless Assessment Report (AHAR) to Congress" (PDF). The U.S. Department of Housing and Urban Development. 2014. สืบค้นเมื่อ August 6, 2015.
- ↑ "Household Food Security in the United States in 2011" (PDF). USDA. September 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ October 7, 2012. สืบค้นเมื่อ April 8, 2013.
- ↑ New Census Bureau Statistics Show How Young Adults Today Compare With Previous Generations in Neighborhoods Nationwide. United States Census Bureau, December 4, 2014.
- ↑ "Interstate FAQ (Question #3)". Federal Highway Administration. 2006. สืบค้นเมื่อ March 4, 2009.
- ↑ "Public Road and Street Mileage in the United States by Type of Surface". United States Department of Transportation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-01-02. สืบค้นเมื่อ January 13, 2015.
- ↑ "China Expressway System to Exceed US Interstates". New Geography (Grand Forks, ND). January 22, 2011. Retrieved September 16, 2011.
- ↑ "China overtakes US in car sales". The Guardian (London). January 8, 2010. Retrieved July 10, 2011.
- ↑ "Motor vehicles statistics – countries compared worldwide". NationMaster. Retrieved July 10, 2011.
- ↑ "Household, Individual, and Vehicle Characteristics". 2001 National Household Travel Survey. U.S. Dept. of Transportation, Bureau of Transportation Statistics. Retrieved August 15, 2007.
- ↑ "Daily Passenger Travel". 2001 National Household Travel Survey. U.S. Dept. of Transportation, Bureau of Transportation Statistics. Retrieved August 15, 2007.
- ↑ Renne, John L.; Wells, Jan S. (2003). "Emerging European-Style Planning in the United States: Transit-Oriented Development". Rutgers University. p. 2. Retrieved June 11, 2007.
- ↑ "NatGeo surveys countries' transit use: guess who comes in last". Switchboard.nrdc.org. May 18, 2009. Retrieved July 10, 2011.
- ↑ "Intercity Passenger Rail: National Policy and Strategies Needed to Maximize Public Benefits from Federal Expenditures". U.S. Government Accountability Office. November 13, 2006. สืบค้นเมื่อ June 20, 2007.
- ↑ "The Economist Explains: Why Americans Don't Ride Trains". The Economist. August 29, 2013. สืบค้นเมื่อ May 12, 2015.
- ↑ "Amtrak Ridership Records". Amtrak. June 8, 2011. สืบค้นเมื่อ February 29, 2012.
- ↑ McGill, Tracy (January 1, 2011). "3 Reasons Light Rail Is an Efficient Transportation Option for U.S. Cities". MetaEfficient. สืบค้นเมื่อ June 14, 2013.
- ↑ McKenzie, Brian (May 2014). "Modes Less Traveled—Bicycling and Walking to Work in the United States: 2008–2012" (PDF). U.S. Census Bureau. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ May 13, 2014.
- ↑ "Privatization". downsizinggovernment.org. Cato Institute. สืบค้นเมื่อ December 27, 2014.
- ↑ "Scheduled Passengers Carried". International Air Transport Association (IATA). 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 2, 2015. สืบค้นเมื่อ February 17, 2012.
- ↑ "Preliminary World Airport Traffic and Rankings 2013 – High Growth Dubai Moves Up to 7th Busiest Airport – Mar 31, 2014". Airports Council International. March 31, 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 1, 2014. สืบค้นเมื่อ May 17, 2014.
- ↑ IEA Key World Energy Statistics Statistics 2013 เก็บถาวร 2014-09-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 2012 เก็บถาวร 2013-03-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 2011 เก็บถาวร 2011-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 2010 เก็บถาวร 2010-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 2009 เก็บถาวร 2013-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 2006 เก็บถาวร 2009-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน IEA October, crude oil p.11, coal p. 13 gas p. 15
- ↑ "Diagram 1: Energy Flow, 2007" (PDF). EIA Annual Energy Review. U.S. Dept. of Energy, Energy Information Administration. 2007. สืบค้นเมื่อ June 25, 2008.
- ↑ "Country Comparison: Refined Petroleum Products — Consumption". The World Factbook. Central Intelligence Agency. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-03. สืบค้นเมื่อ May 18, 2014.
- ↑ "BP Statistical Review of World Energy" (XLS). British Petroleum. June 2007. Retrieved February 22, 2010.
- ↑ Ames, Paul (May 30, 2013). "Could fracking make the Persian Gulf irrelevant?". Salon. Retrieved May 30, 2012. "Since November, the United States has replaced Saudi Arabia as the world's biggest producer of crude oil. It had already overtaken Russia as the leading producer of natural gas."
- ↑ "Atomic Renaissance". The Economist. London. September 6, 2007. สืบค้นเมื่อ September 6, 2007.
- ↑ American Metropolitan Water Association (December 2007). "Implications of Climate Change for Urban Water Utilities – Main Report" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-08-18. สืบค้นเมื่อ February 26, 2009.
- ↑ National Academies' Water Information Center. "Drinking Water Basics". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 17, 2008. สืบค้นเมื่อ February 26, 2009.
- ↑ U.S. Environmental Protection Agency (2003). "Water on Tap: What You Need to Know" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ February 23, 2009. สืบค้นเมื่อ February 23, 2009., p. 11
- ↑ McLendon, Russell. "How polluted is U.S. drinking water?". Mother Nature Network. สืบค้นเมื่อ October 20, 2015.
- ↑ "Ages for Compulsory School Attendance ..." U.S. Dept. of Education, National Center for Education Statistics. สืบค้นเมื่อ June 10, 2007.
- ↑ "Statistics About Non-Public Education in the United States". U.S. Dept. of Education, Office of Non-Public Education. สืบค้นเมื่อ June 5, 2007.
- ↑ 513.0 513.1 AP (June 25, 2013). "U.S. education spending tops global list, study shows". CBS. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-26. สืบค้นเมื่อ October 5, 2013.
- ↑ Rosenstone, Steven J. (December 17, 2009). "Public Education for the Common Good". University of Minnesota. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 1, 2014. สืบค้นเมื่อ March 6, 2009.
- ↑ "QS World University Rankings". Topuniversities. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 17, 2011. สืบค้นเมื่อ July 10, 2011.
- ↑ "Top 200 – The Times Higher Education World University Rankings 2010–2011". Times Higher Education. สืบค้นเมื่อ July 10, 2011.
- ↑ "Academic Ranking of World Universities 2014". Shanghai Ranking Consultancy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 19, 2015. สืบค้นเมื่อ May 29, 2015.
- ↑ "Educational Attainment in the United States: 2003" (PDF). U.S. Census Bureau. สืบค้นเมื่อ August 1, 2006.
- ↑ For more detail on U.S. literacy, see A First Look at the Literacy of America's Adults in the 21st century, U.S. Department of Education (2003).
- ↑ "Human Development Indicators" (PDF). United Nations Development Programme, Human Development Reports. 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ June 20, 2007. สืบค้นเมื่อ January 14, 2008.
- ↑ "Education at a Glance 2013" (PDF). OECD. สืบค้นเมื่อ October 5, 2013.
- ↑ Student Loan Debt Exceeds One Trillion Dollars. NPR, April 4, 2012. Retrieved September 8, 2013.
- ↑ Hounshell, David A. (1984), From the American System to Mass Production, 1800-1932: The Development of Manufacturing Technology in the United States, Baltimore, Maryland: Johns Hopkins University Press, ISBN 978-0-8018-2975-8, LCCN 83016269
- ↑ "Thomas Edison's Most Famous Inventions". Thomas A Edison Innovation Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-16. สืบค้นเมื่อ January 21, 2015.
- ↑ Benedetti, François (December 17, 2003). "100 Years Ago, the Dream of Icarus Became Reality". Fédération Aéronautique Internationale (FAI). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 12, 2007. สืบค้นเมื่อ August 15, 2007.
- ↑ Fraser, Gordon (2012). The Quantum Exodus: Jewish Fugitives, the Atomic Bomb, and the Holocaust. New York: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-959215-9.
- ↑ 10 Little Americans. Google Books. ISBN 9780615140520. สืบค้นเมื่อ September 15, 2014.
- ↑ "NASA's Apollo technology has changed the history". Sharon Gaudin. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-13. สืบค้นเมื่อ September 15, 2014.
- ↑ Goodheart, Adam (July 2, 2006). "Celebrating July 2: 10 Days That Changed History". The New York Times.
- ↑ Silicon Valley: 110 Year Renaissance, McLaughlin, Weimers, Winslow 2008.
- ↑ Robert W. Price (2004). Roadmap to Entrepreneurial Success. AMACOM Div American Mgmt Assn. p. 42. ISBN 978-0-8144-7190-6.
- ↑ Sawyer, Robert Keith (2012). Explaining Creativity: The Science of Human Innovation. Oxford University Press. p. 256. ISBN 978-0-19-973757-4.
- ↑ Bennett, W. Lance; Segerberg, Alexandra (September 2011). "Digital Media and the Personalization of Collective Action". Information, Communication & Society. 14 (6): 770–799. doi:10.1080/1369118X.2011.579141.
- ↑ "Computer and Internet Use Main" (PDF). U.S. Dept. of Commerce, Census Bureau. สืบค้นเมื่อ July 22, 2015.
- ↑ "Cell phone ownership hits 91% of adults". Pew Research Center. May 19, 2013. สืบค้นเมื่อ July 22, 2015.
- ↑ "Research and Development (R&D) Expenditures by Source and Objective: 1970 to 2004". U.S. Census Bureau. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 10, 2012. สืบค้นเมื่อ June 19, 2007.
- ↑ MacLeod, Donald (March 21, 2006). "Britain Second in World Research Rankings". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ May 14, 2006.
- ↑ "WHO Life expectancy data by country". WHO. 2012. สืบค้นเมื่อ June 1, 2013.
- ↑ "Country Comparison: Life Expectancy at Birth". The World Factbook. CIA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-26. สืบค้นเมื่อ October 25, 2011.
- ↑ 540.0 540.1 Murray, Christopher J.L. (กรกฎาคม 10, 2013). "The State of US Health, 1990–2010: Burden of Diseases, Injuries, and Risk Factors" (PDF). Journal of the American Medical Association. 310 (6): 591–608. doi:10.1001/jama.2013.13805. PMC 5436627. PMID 23842577. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ July 25, 2013.
- ↑ "Country Comparison: Infant Mortality Rate". The World Factbook. Central Intelligence Agency. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 11, 2014. สืบค้นเมื่อ May 17, 2014.
- ↑ MacAskill, Ewen (August 13, 2007). "US Tumbles Down the World Ratings List for Life Expectancy". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ August 15, 2007.
- ↑ "Mexico Obesity Rate Surpasses The United States', Making It Fattest Country in the Americas". Huffington Post.
- ↑ Schlosser, Eric (2002). Fast Food Nation. New York: Perennial. p. 240. ISBN 0-06-093845-5.
- ↑ "Prevalence of Overweight and Obesity Among Adults: United States, 2003–2004". Centers for Disease Control and Prevention, National Center for Health Statistics. สืบค้นเมื่อ June 5, 2007.
- ↑ "Fast Food, Central Nervous System Insulin Resistance, and Obesity". Arteriosclerosis, Thrombosis, and Vascular Biology. American Heart Association. 2005. สืบค้นเมื่อ June 17, 2007.
- ↑ "About Teen Pregnancy". Center for Disease Control. สืบค้นเมื่อ January 24, 2015.
- ↑ Whitman, Glen; Raad, Raymond. "Bending the Productivity Curve: Why America Leads the World in Medical Innovation". The Cato Institute. สืบค้นเมื่อ October 9, 2012.
- ↑ Cowen, Tyler (October 5, 2006). "Poor U.S. Scores in Health Care Don't Measure Nobels and Innovation". The New York Times. สืบค้นเมื่อ October 9, 2012.
- ↑ "The U.S. Healthcare System: The Best in the World or Just the Most Expensive?" (PDF). University of Maine. 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ March 9, 2007. สืบค้นเมื่อ November 29, 2006.
- ↑ "In U.S., Uninsured Rate Holds at 13.4%". Gallup.
- ↑ Abelson, Reed (June 10, 2008). "Ranks of Underinsured Are Rising, Study Finds". The New York Times. สืบค้นเมื่อ October 25, 2008.
- ↑ Blewett, Lynn A.; และคณะ (December 2006). "How Much Health Insurance Is Enough? Revisiting the Concept of Underinsurance". Medical Care Research and Review. 63 (6): 663–700. doi:10.1177/1077558706293634. ISSN 1077-5587. PMID 17099121.
- ↑ Fahrenthold, David A. (April 5, 2006). "Mass. Bill Requires Health Coverage". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ June 19, 2007.
- ↑ "Health Care Law 54% Favor Repeal of Health Care Law". Rasmussen Reports. สืบค้นเมื่อ October 13, 2012.
- ↑ "Debate on ObamaCare to intensify in the wake of landmark Supreme Court ruling". Fox News. June 29, 2012. สืบค้นเมื่อ October 14, 2012.
- ↑ 557.0 557.1 557.2 Adams, J.Q., and Pearlie Strother-Adams (2001). Dealing with Diversity. Chicago: Kendall/Hunt. ISBN 0-7872-8145-X.
- ↑ Thompson, William; Hickey, Joseph (2005). Society in Focus. Boston: Pearson. ISBN 0-205-41365-X.
- ↑ Fiorina, Morris P.; Peterson, Paul E. (2000). The New American Democracy. London: Longman, p. 97. ISBN 0-321-07058-5.
- ↑ Holloway, Joseph E. (2005). Africanisms in American Culture, 2d ed. Bloomington: Indiana University Press, pp. 18–38. ISBN 0-253-34479-4. Johnson, Fern L. (1999). Speaking Culturally: Language Diversity in the United States. Thousand Oaks, Calif., London, and New Delhi: Sage, p. 116. ISBN 0-8039-5912-5.
- ↑ Richard Koch (July 10, 2013). "Is Individualism Good or Bad?". Huffington Post.
- ↑ Huntington, Samuel P. (2004). "Chapters 2–4". Who are We?: The Challenges to America's National Identity. Simon & Schuster. ISBN 0-684-87053-3. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.: also see American's Creed, written by William Tyler Page and adopted by Congress in 1918.
- ↑ AP (June 25, 2007). "Americans give record $295B to charity". USA Today. สืบค้นเมื่อ October 4, 2013.
- ↑ "International comparisons of charitable giving" (PDF). Charities Aid Foundation. November 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-12-24. สืบค้นเมื่อ October 4, 2013.
- ↑ Clifton, John (March 21, 2013). "More Than 100 Million Worldwide Dream of a Life in the U.S. More than 25% in Liberia, Sierra Leone, Dominican Republic want to move to the U.S." Gallup. สืบค้นเมื่อ 10 January 2014.
- ↑ Gould, Elise (October 10, 2012). "U.S. lags behind peer countries in mobility." Economic Policy Institute. Retrieved July 15, 2013.
- ↑ CAP: Understanding Mobility in America เก็บถาวร 2012-03-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. April 26, 2006
- ↑ Schneider, Donald (July 29, 2013). "A Guide to Understanding International Comparisons of Economic Mobility". The Heritage Foundation. สืบค้นเมื่อ August 22, 2013.
- ↑ Winship, Scott (Spring 2013). "Overstating the Costs of Inequality" (PDF). National Affairs. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-01-13. สืบค้นเมื่อ 10 January 2014.
- ↑ Gutfield, Amon (2002). American Exceptionalism: The Effects of Plenty on the American Experience. Brighton and Portland: Sussex Academic Press. p. 65. ISBN 1-903900-08-5.
- ↑ Zweig, Michael (2004). What's Class Got To Do With It, American Society in the Twenty-First Century. Ithaca, NY: Cornell University Press. ISBN 0-8014-8899-0. "Effects of Social Class and Interactive Setting on Maternal Speech". Education Resource Information Center. สืบค้นเมื่อ January 27, 2007.
- ↑ Eichar, Douglas (1989). Occupation and Class Consciousness in America. Westport, CT: Greenwood Press. ISBN 0-313-26111-3.
- ↑ O'Keefe, Kevin (2005). The Average American. New York: PublicAffairs. ISBN 1-58648-270-X.
- ↑ "Wheat Info". Wheatworld.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 11, 2009. สืบค้นเมื่อ January 15, 2015.
- ↑ "Traditional Indigenous Recipes". American Indian Health and Diet Project. สืบค้นเมื่อ September 15, 2014.
- ↑ Sidney Wilfred Mintz (1996). Tasting Food, Tasting Freedom: Excursions Into Eating, Culture, and the Past. Beacon Press. pp. 134–. ISBN 978-0-8070-4629-6. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
- ↑ 578.0 578.1 Klapthor, James N. (August 23, 2003). "What, When, and Where Americans Eat in 2003". Newswise/Institute of Food Technologists. สืบค้นเมื่อ June 19, 2007.
- ↑ H, D. "The coffee insurgency". The Economist. สืบค้นเมื่อ January 15, 2015.
- ↑ Smith, 2004, pp. 131–132
- ↑ Levenstein, 2003, pp. 154–55
- ↑ Breadsley, Eleanor. "Why McDonald's in France Doesn't Feel Like Fast Food". NPR. สืบค้นเมื่อ January 15, 2015.
- ↑ "When Was the First Drive-Thru Restaurant Created?". Wisegeek.org. สืบค้นเมื่อ January 15, 2015.
- ↑ Boslaugh, Sarah (2010). "Obesity Epidemic", in Culture Wars: An Encyclopedia of Issues, Viewpoints, and Voices, ed. Roger Chapman. Armonk, N.Y.: M. E. Sharpe, pp. 413–14. ISBN 978-0-7656-1761-3.
- ↑ "Fast Food, Central Nervous System Insulin Resistance, and Obesity". Arteriosclerosis, Thrombosis, and Vascular Biology. American Heart Association. 2005. สืบค้นเมื่อ June 9, 2007. "Let's Eat Out: Americans Weigh Taste, Convenience, and Nutrition" (PDF). U.S. Dept. of Agriculture. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ ธันวาคม 7, 2009. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 9, 2007.
- ↑ "Nigeria surpasses Hollywood as world's second-largest film producer" (Press release). United Nations. May 5, 2009. สืบค้นเมื่อ February 17, 2013.
- ↑ Billboard. Nielsen Business Media, Inc. April 29, 1944. p. 68. ISSN 0006-2510.
- ↑ "John Landis Rails Against Studios: 'They're Not in the Movie Business Anymore'". The Hollywood Reporter. สืบค้นเมื่อ January 24, 2015.
- ↑ Krasniewicz, Louise; Disney, Walt (2010). Walt Disney: A Biography. ABC-CLIO. p. 10. ISBN 978-0-313-35830-2.
- ↑ Matthews, Charles (June 3, 2011). "Book explores Hollywood 'Golden Age' of the 1960s-'70s". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ August 6, 2015.
- ↑ Banner, Lois (August 5, 2012). "Marilyn Monroe, the eternal shape shifter". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ August 6, 2015.
- ↑ Rick, Jewell (August 8, 2008). "John Wayne, an American Icon". University of Southern California. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 22, 2008. สืบค้นเมื่อ August 6, 2015.
- ↑ Greven, David (January 2, 2013). Psycho-Sexual: Male Desire in Hitchcock, De Palma, Scorsese, and Friedkin. University of Texas Press. p. 23. ISBN 978-0-292-74204-8.
- ↑ Morrison, James (September 11, 1998). Passport to Hollywood: Hollywood Films, European Directors. SUNY Press. p. 11. ISBN 978-0-7914-3938-8.
- ↑ Turow, Joseph (September 22, 2011). Media Today: An Introduction to Mass Communication. Taylor & Francis. p. 434. ISBN 978-1-136-86402-5.
- ↑ Village Voice: 100 Best Films of the 20th century (2001) เก็บถาวร มีนาคม 31, 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Filmsite.
- ↑ "Sight & Sound Top Ten Poll 2002". British Film Institute. 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 5, 2002.
- ↑ "AFI's 100 Years". American Film Institute. สืบค้นเมื่อ January 24, 2015.
- ↑ Drowne, Kathleen Morgan; Huber, Patrick (January 1, 2004). The 1920's. Greenwood Publishing Group. p. 236. ISBN 978-0-313-32013-2.
- ↑ Kroon, Richard W. (April 30, 2014). A/V A to Z: An Encyclopedic Dictionary of Media, Entertainment and Other Audiovisual Terms. McFarland. p. 338. ISBN 978-0-7864-5740-3.
- ↑ Bloom, Harold. 1999. Emily Dickinson. Broomall, PA: Chelsea House. p. 9. ISBN 0-7910-5106-4.
- ↑ Buell, Lawrence (Spring–Summer 2008). "The Unkillable Dream of the Great American Novel: Moby-Dick as Test Case". American Literary History. 20 (1–2): 132–155. doi:10.1093/alh/ajn005. ISSN 0896-7148.
- ↑ Quinn, Edward (2006). A Dictionary of Literary and Thematic Terms. Infobase, p. 361. ISBN 0-8160-6243-9. Seed, David (2009). A Companion to Twentieth-Century United States Fiction. Chichester, West Sussex: John Wiley and Sons, p. 76. ISBN 1-4051-4691-5. Meyers, Jeffrey (1999). Hemingway: A Biography. New York: Da Capo, p. 139. ISBN 0-306-80890-0.
- ↑ Lesher, Linda Parent (February 1, 2000). The Best Novels of the Nineties: A Reader's Guide. McFarland. p. 109. ISBN 978-1-4766-0389-6.
- ↑ Summers, Lawrence H. (November 19, 2006). "The Great Liberator". The New York Times. สืบค้นเมื่อ May 17, 2013.
- ↑ McFadden, Robert D. (January 9, 2013). "James M. Buchanan, Economic Scholar and Nobel Laureate, Dies at 93". The New York Times. สืบค้นเมื่อ May 17, 2013.
- ↑ Brown, Milton W. (1988 1963). The Story of the Armory Show. New York: Abbeville. ISBN 0-89659-795-4.
- ↑ Janson, Horst Woldemar; Janson, Anthony F. (2003). History of Art: The Western Tradition. Prentice Hall Professional. p. 955. ISBN 978-0-13-182895-7.
- ↑ Davenport, Alma (1991). The History of Photography: An Overview. UNM Press. p. 67. ISBN 978-0-8263-2076-6.
- ↑ Ken Bloom (2004). Broadway: Its History, People, and Places : an Encyclopedia. Taylor & Francis. pp. 322–. ISBN 978-0-415-93704-7.
- ↑ Moran, Eugene V. (January 1, 2002). A People's History of English and American Literature. Nova Publishers. p. 228. ISBN 978-1-59033-303-7.
- ↑ "Top 10 Most Popular Sports in America 2017" เก็บถาวร 2017-06-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Retrieved on June 8, 2017.
- ↑ Krane, David K. (October 30, 2002). "Professional Football Widens Its Lead Over Baseball as Nation's Favorite Sport". Harris Interactive. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 9, 2010. สืบค้นเมื่อ September 14, 2007. MacCambridge, Michael (2004). America's Game: The Epic Story of How Pro Football Captured a Nation. New York: Random House. ISBN 0-375-50454-0.
- ↑ "Passion for College Football Remains Robust". National Football Foundation. March 19, 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-07. สืบค้นเมื่อ April 1, 2014.
- ↑ Global sports market to hit $141 billion in 2012 เก็บถาวร 2013-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Reuters. Retrieved on July 24, 2013.
- ↑ Chase, Chris (February 7, 2014). "The 10 most fascinating facts about the all-time Winter Olympics medal standings". USA Today. สืบค้นเมื่อ February 28, 2014. Loumena, Dan (February 6, 2014). "With Sochi Olympics approaching, a history of Winter Olympic medals". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ February 28, 2014.
- ↑ Liss, Howard. Lacrosse (Funk & Wagnalls, 1970) pg 13.
- ↑ "As American as Mom, Apple Pie and Football? Football continues to trump baseball as America's Favorite Sport" (PDF). Harris Interactive. January 16, 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ March 9, 2014. สืบค้นเมื่อ July 2, 2014.
- ↑ Cowen, Tyler; Grier, Kevin (February 9, 2012). "What Would the End of Football Look Like?". Grantland/ESPN. สืบค้นเมื่อ February 12, 2012.
- ↑ Hodgetts, Rob. "Will U.S. learn to love rugby?".
- ↑ 621.0 621.1 Biddle, Julian (2001). What Was Hot!: Five Decades of Pop Culture in America. New York: Citadel, p. ix. ISBN 0-8065-2311-5.
- ↑ * "Taylor Swift: Teen idol to 'biggest pop artist in the world'". The Tennessean. September 24, 2015.
- Lynch, Gerald. "Britney Spears is the most searched for celebrity of the decade". Tech Digest. สืบค้นเมื่อ October 12, 2015.
- "Katy Perry: now the world's richest (famous) woman". the Guardian. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
- Rosen, Jody. "Beyoncé: The Woman on Top of the World". The New York Times.
- "BBC – Imagine – Jay-Z: He Came, He Saw, He Conquered". bbc.co.uk. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.*"Introducing the King of Hip-Hop". Rolling Stone. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-19. สืบค้นเมื่อ October 25, 2015.
- Ben Westhoff. "The enigma of Kanye West – and how the world's biggest pop star ended up being its most reviled, too". the Guardian.
- ↑ Hartman, Graham (January 5, 2012). "Metallica's 'Black album' is Top-Selling Disc of last 20 years". Loudwire. สืบค้นเมื่อ October 12, 2015.
- ↑ Vorel, Jim (September 27, 2012). "Eagles tribute band landing at Kirkland". Herald & Review. สืบค้นเมื่อ October 12, 2015.
- ↑ "Aerosmith will rock Salinas with July concert". February 2, 2015. สืบค้นเมื่อ October 12, 2015.
- ↑ "TV Fans Spill into Web Sites". eMarketer. June 7, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-24. สืบค้นเมื่อ June 10, 2007.
- ↑ Waits, Jennifer (October 17, 2014). "Number of U.S. Radio Stations on the Rise, Especially LPFM, according to New FCC Count". Radio Survivor. สืบค้นเมื่อ January 6, 2015.
- ↑ Brenda Shaffer (2006). The Limits of Culture: Islam and Foreign Policy. MIT Press. p. 116. ISBN 978-0-262-19529-4.
- ↑ Daniels, Les (1998). Superman: The Complete History (1st ed.). Titan Books. p. 11. ISBN 1-85286-988-7.
- ↑ "Top Sites in United States". Alexa. 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-09. สืบค้นเมื่อ October 20, 2014.
- ↑ "Spanish Newspapers in United States". W3newspapers. สืบค้นเมื่อ August 5, 2014.
- ↑ "Spanish Language Newspapers in the USA : Hispanic Newspapers : Periódiscos en Español en los EE.UU". Onlinenewspapers.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-06-26. สืบค้นเมื่อ August 5, 2014.
บรรณานุกรม
- Acharya, Viral V.; Cooley, Thomas F.; Richardson, Matthew P.; Walter, Ingo (2010). Regulating Wall Street: The Dodd-Frank Act and the New Architecture of Global Finance. Wiley. p. 592. ISBN 978-0-470-76877-8.
- Baptist, Edward E. (2014). The Half Has Never Been Told: Slavery and the Making of American Capitalism. Basic Books. ISBN 978-0-465-00296-2.
- Barth, James; Jahera, John (2010). "US Enacts Sweeping Financial Reform Legislation". Journal of Financial Economic Policy. 2 (3): 192–195. doi:10.1108/17576381011085412.
- Berkin, Carol; Miller, Christopher L.; Cherny, Robert W.; Gormly, James L. (2007). Making America: A History of the United States, Volume I: To 1877. Cengage Learning. p. 75. ISBN 978-0-618-99485-4.
- Bianchine, Peter J.; Russo, Thomas A. (1992). "The Role of Epidemic Infectious Diseases in the Discovery of America". Allergy and Asthma Proceedings. 13 (5): 225–232. doi:10.2500/108854192778817040. PMID 1483570.
- Blakeley, Ruth (2009). State Terrorism and Neoliberalism: The North in the South. Routledge. ISBN 978-0-415-68617-4.
- Boyer, Paul S.; Clark Jr., Clifford E.; Kett, Joseph F.; Salisbury, Neal; Sitkoff, Harvard; Woloch, Nancy (2007). The Enduring Vision: A History of the American People. Cengage Learning. p. 588. ISBN 978-0-618-80161-9.
- Brokenshire, Brad (1993). Washington State Place Names. Caxton Press. p. 49. ISBN 978-0-87004-562-2.
- Calloway, Colin G. (1998). New Worlds for All: Indians, Europeans, and the Remaking of Early America. JHU Press. p. 229. ISBN 978-0-8018-5959-5.
- Cobarrubias, Juan (1983). Progress in Language Planning: International Perspectives. Walter de Gruyter. ISBN 978-90-279-3358-4.
- Cowper, Marcus (2011). National Geographic History Book: An Interactive Journey. National Geographic Society. ISBN 978-1-4262-0679-5.
- Davis, Kenneth C. (1996). Don't know much about the Civil War. New York: William Marrow and Co. p. 518. ISBN 978-0-688-11814-3.
- Daynes, Byron W.; Sussman, Glen (2010). White House Politics and the Environment: Franklin D. Roosevelt to George W. Bush. Texas A&M University Press. p. 320. ISBN 978-1-60344-254-1. OCLC 670419432.
Presidential environmental policies, 1933–2009
- Erlandson, Jon M; Rick, Torben C; Vellanoweth, Rene L (2008). A Canyon Through Time: Archaeology, History, and Ecology of the Tecolote Canyon Area, Santa Barbara County. California: University of Utah Press. ISBN 978-0-87480-879-7.
- Fagan, Brian M. (2016). Ancient Lives: An Introduction to Archaeology and Prehistory. Routledge. ISBN 978-1-317-35027-9.
- Feldstein, Sylvan G.; Fabozzi, Frank J. (2011). The Handbook of Municipal Bonds. John Wiley & Sons. p. 1376. ISBN 978-1-118-04494-0.
- Ferguson, Thomas; Rogers, Joel (1986). "The Myth of America's Turn to the Right". The Atlantic. 257 (5): 43–53. สืบค้นเมื่อ March 11, 2013.
- Fladmark, K.R. (2017). "Routes: Alternate Migration Corridors for Early Man in North America". American Antiquity. 44 (1): 55–69. doi:10.2307/279189. ISSN 0002-7316. JSTOR 279189.
- Flannery, Tim (2015). The Eternal Frontier: An Ecological History of North America and Its Peoples. Open Road + Grove/Atlantic. ISBN 978-0-8021-9109-0.
- Fraser, Steve; Gerstle, Gary (1989). The Rise and Fall of the New Deal Order: 1930–1980. American History: Political science. Princeton University Press. p. 311. ISBN 978-0-691-00607-9.
- Gaddis, John Lewis (1972). The United States and the Origins of the Cold War, 1941–1947. Columbia University Press. ISBN 978-0-231-12239-9.
- Gelo, Daniel J. (2018). Indians of the Great Plains. Taylor & Francis. ISBN 978-1-351-71812-7.
- García, Ofelia (2011). Bilingual Education in the 21st Century: A Global Perspective. John Wiley & Sons. ISBN 978-1-4443-5978-7.
- Gold, Susan Dudley (2006). United States V. Amistad: Slave Ship Mutiny. Marshall Cavendish. p. 144. ISBN 978-0-7614-2143-6.
- Gordon, John Steele (2004). An Empire of Wealth: The Epic History of American Economic Power. HarperCollins. ISBN 978-0-06-009362-4.
- Graebner, Norman A.; Burns, Richard Dean; Siracusa, Joseph M. (2008). Reagan, Bush, Gorbachev: Revisiting the End of the Cold War. Praeger Security International Series. Greenwood Publishing Group. p. 180. ISBN 978-0-313-35241-6.
- Haines, Michael Robert; Haines, Michael R.; Steckel, Richard H. (2000). A Population History of North America. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-49666-7.
- Haymes, Stephen; Vidal de Haymes, Maria; Miller, Reuben, บ.ก. (2014). The Routledge Handbook of Poverty in the United States. Routledge. ISBN 978-0-415-67344-0.
- Haviland, William A.; Walrath, Dana; Prins, Harald E.L. (2013). Evolution and Prehistory: The Human Challenge. Cengage Learning. ISBN 978-1-285-06141-2.
- Hoopes, Townsend; Brinkley, Douglas (1997). FDR and the Creation of the U.N. Yale University Press. ISBN 978-0-300-08553-2.
- Ingersoll, Thomas N. (2016). The Loyalist Problem in Revolutionary New England. Cambridge University Press. ISBN 978-1-107-12861-3.
- Inghilleri, Moira (2016). Translation and Migration. Taylor & Francis. ISBN 978-1-315-39980-5.
- Jacobs, Lawrence R. (2010). Health Care Reform and American Politics: What Everyone Needs to Know: What Everyone Needs to Know. Oxford University Press. ISBN 978-0-19-978142-3.
- Johnson, Paul (1997). A History of the American People. HarperCollins. ISBN 978-0-06-195213-5.
- Kurian, George T., บ.ก. (2001). Encyclopedia of American studies. New York: Grolier Educational. ISBN 978-0-7172-9222-6. OCLC 46343385.
- Joseph, Paul (2016). The Sage Encyclopedia of War: Social Science Perspectives. Sage Publications. ISBN 978-1-4833-5988-5.
- Kessel, William B.; Wooster, Robert (2005). Encyclopedia of Native American Wars and Warfare. Facts on File library of American History. Infobase Publishing. p. 398. ISBN 978-0-8160-3337-9.
- Kidder, David S.; Oppenheim, Noah D. (2007). The Intellectual Devotional: American History: Revive Your Mind, Complete Your Education, and Converse Confidently about Our Nation's Past. Rodale. ISBN 978-1-59486-744-6.
- Kruse, Kevin M. (2015). One Nation Under God: How Corporate America Invented Christian America. Basic Books. ISBN 978-0-465-04949-3.
- Leckie, Robert (1990). None died in vain: The Saga of the American Civil War. New York: Harper-Collins. p. 682. ISBN 978-0-06-016280-1.
- Lockard, Craig (2010). Societies, Networks, and Transitions, Volume B: From 600 to 1750. Cengage Learning. ISBN 978-1-111-79083-7.
- Martinez, Donna; Bordeaux, Jennifer L. Williams (2016). 50 Events That Shaped American Indian History: An Encyclopedia of the American Mosaic [2 volumes]. ABC-CLIO. ISBN 978-1-4408-3577-3.
- Martinez, Donna; Sage, Grace; Ono, Azusa (2016). Urban American Indians: Reclaiming Native Space: Reclaiming Native Space. ABC-CLIO. ISBN 978-1-4408-3208-6.
- Martone, Eric (2016). Italian Americans: The History and Culture of a People. ABC-CLIO. ISBN 978-1-61069-995-2.
- Leffler, Melvyn P. (2010). "The emergence of an American grand strategy, 1945–1952". ใน Westad, Odd Arne (บ.ก.). The Cambridge History of the Cold War (ภาษาอังกฤษ). Vol. 1: Origins. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 67–89. ISBN 978-0-521-83719-4. OCLC 309835719.
- Lemon, James T. (1987). "Colonial America in the 18th Century" (PDF). ใน Mitchell, Robert D.; Groves, Paul A. (บ.ก.). North America: the historical geography of a changing continent. Rowman & Littlefield. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ January 23, 2013.
- Lien, Arnold Johnson (1913). Studies in History, Economics, and Public Law. Vol. 54. New York: Columbia University. p. 604.
- Weierman, Karen Woods (2005). One Nation, One Blood: Interracial Marriage In American Fiction, Scandal, And Law, 1820–1870. University of Massachusetts Press. p. 214. ISBN 978-1-55849-483-1.
- Levenstein, Harvey (2003). Revolution at the Table: The Transformation of the American Diet. Berkeley and Los Angeles: University of California Press. ISBN 978-0-520-23439-0.
- Mann, Kaarin (2007). "Interracial Marriage in Early America: Motivation and the Colonial Project" (PDF). Michigan Journal of History (Fall). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ May 15, 2013.
- Meltzer, David J. (2009). First Peoples in a New World: Colonizing Ice Age America. University of California Press. ISBN 978-0-520-94315-5.
- The New York Times (2007). The New York Times Guide to Essential Knowledge: A Desk Reference for the Curious Mind (2nd ed.). St. Martin's Press. ISBN 978-0-312-37659-8.
- Mostert, Mary (2005). The Threat of Anarchy Leads to the Constitution of the United States. CTR Publishing, Inc. ISBN 978-0-9753851-4-2.
- Onuf, Peter S. (2010). The Origins of the Federal Republic: Jurisdictional Controversies in the United States, 1775–1787. University of Pennsylvania Press. ISBN 978-0-8122-0038-6.
- Perdue, Theda; Green, Michael D (2005). The Columbia Guide to American Indians of the Southeast. Columbia University Press. ISBN 978-0-231-50602-1.
- Price, David A. (2003). Love and Hate in Jamestown: John Smith, Pocahontas, and the Start of a New Nation. Random House. ISBN 978-0-307-42670-3.
- Quirk, Joel (2011). The Anti-Slavery Project: From the Slave Trade to Human Trafficking. University of Pennsylvania Press. p. 344. ISBN 978-0-8122-4333-8.
- Ranlet, Philip (1999). Vaughan, Alden T. (บ.ก.). New England Encounters: Indians and Euroamericans Ca. 1600–1850. North Eastern University Press.
- Rausch, David A. (1994). Native American Voices. Grand Rapids: Baker Books. p. 180. ISBN 978-0-8010-7773-9.
- Remini, Robert V. (2007). The House: The History of the House of Representatives. HarperCollins. ISBN 978-0-06-134111-3.
- Richter, Daniel K.; Merrell, James H., บ.ก. (2003). Beyond the covenant chain : the Iroquois and their neighbors in Indian North America, 1600–1800. University Park: Pennsylvania State University Press. ISBN 978-0-271-02299-4. OCLC 51306167.
- Ripper, Jason (2008). American Stories: To 1877. M.E. Sharpe. p. 299. ISBN 978-0-7656-2903-6.
- Russell, John Henderson (1913). The Free Negro in Virginia, 1619–1865. Johns Hopkins University. p. 196.
- Safire, William (2003). No Uncertain Terms: More Writing from the Popular "On Language" Column in The New York Times Magazine. Simon and Schuster. p. 199. ISBN 978-0-7432-4955-3.
- Samuel, Bunford (1920). Secession and Constitutional Liberty: In which is Shown the Right of a Nation to Secede from a Compact of Federation and that Such Right is Necessary to Constitutional Liberty and a Surety of Union. Neale publishing Company. p. 323.
- Savage, Candace (2011). Prairie: A Natural History. Greystone Books. ISBN 978-1-55365-899-3.
- Schneider, Dorothy; Schneider, Carl J. (2007). Slavery in America. Infobase Publishing. p. 554. ISBN 978-1-4381-0813-1.
- Schultz, David Andrew (2009). Encyclopedia of the United States Constitution. Infobase Publishing. p. 904. ISBN 978-1-4381-2677-7.
- Sider, Sandra (2007). Handbook to Life in Renaissance Europe. Oxford University Press. ISBN 978-0-19-533084-7.
- Simonson, Peter (2010). Refiguring Mass Communication: A History. Urbana: University of Illinois Press. ISBN 978-0-252-07705-0.
He held high the Declaration of Independence, the Constitution, and the nation's unofficial motto, e pluribus unum, even as he was recoiling from the party system in which he had long participated.
- Smith, Andrew F. (2004). The Oxford Encyclopedia of Food and Drink in America. New York: Oxford University Press. pp. 131–132. ISBN 978-0-19-515437-5.
- Soss, Joe (2010). Hacker, Jacob S.; Mettler, Suzanne (บ.ก.). Remaking America: Democracy and Public Policy in an Age of Inequality. Russell Sage Foundation. ISBN 978-1-61044-694-5.
- Stannard, David E. (1993). American Holocaust: The Conquest of the New World. New York: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-508557-0.
- Tadman, Michael (2000). "The Demographic Cost of Sugar: Debates on Slave Societies and Natural Increase in the Americas". American Historical Review. 105 (5): 1534–1575. doi:10.2307/2652029. JSTOR 2652029.
- Taylor, Alan (2002). Eric Foner (บ.ก.). American Colonies: The Settling of North America. New York: Penguin Books. ISBN 978-0-670-87282-4.
- Thornton, Russell (1987). American Indian Holocaust and Survival: A Population History Since 1492. Civilization of the American Indian. Vol. 186. University of Oklahoma Press. p. 49. ISBN 978-0-8061-2220-5.
- Thornton, Russell (1998). Studying Native America: Problems and Prospects. Univ of Wisconsin Press. ISBN 978-0-299-16064-7.
- Vaughan, Alden T. (1999). New England Encounters: Indians and Euroamericans Ca. 1600–1850. North Eastern University Press.
- Volo, James M.; Volo, Dorothy Denneen (2007). Family Life in Native America. ABC-CLIO. ISBN 978-0-313-33795-6.
- Walton, Gary M.; Rockoff, Hugh (2009). History of the American Economy. Cengage Learning. ISBN 978-0-324-78662-0.
- Waters, M.R.; Stafford, T W. (2007). "Redefining the Age of Clovis: Implications for the Peopling of the Americas". Science. 315 (5815): 1122–1126. Bibcode:2007Sci...315.1122W. doi:10.1126/science.1137166. ISSN 0036-8075. PMID 17322060. S2CID 23205379.
- Weiss, Edith Brown; Jacobson, Harold Karan (2000). Engaging Countries: Strengthening Compliance with International Environmental Accords. MIT Press. ISBN 978-0-262-73132-4.
- Williams, Daniel K. (2012). "Questioning Conservatism's Ascendancy: A Reexamination of the Rightward Shift in Modern American Politics" (PDF). Reviews in American History. 40 (2): 325–331. doi:10.1353/rah.2012.0043. S2CID 96461510. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ March 17, 2013. สืบค้นเมื่อ March 11, 2013.
- Wilson, Wendy S.; Thompson, Lloyd M. (1997). Native Americans: An Interdisciplinary Unit on Converging Cultures. Walch Publishing. ISBN 978-0-8251-3332-9.
- Winchester, Simon (2013). The men who United the States. Harper Collins. pp. 198, 216, 251, 253. ISBN 978-0-06-207960-2.
- Zinn, Howard (2005). A People's History of the United States. Harper Perennial Modern Classics. ISBN 978-0-06-083865-2.
ข้อมูบทางอินเทอร์เน็ต
- "Country Profile: United States of America". BBC News. London. April 22, 2008. สืบค้นเมื่อ May 18, 2008.
- Cohen, Eliot A. (July–August 2004). "History and the Hyperpower". Foreign Affairs. Washington, DC. สืบค้นเมื่อ July 14, 2006.
- "Slavery and the Slave Trade in Rhode Island".
- "History of "In God We Trust"". U.S. Department of the Treasury. March 8, 2011. สืบค้นเมื่อ February 23, 2013.
- "Early History, Native Americans, and Early Settlers in Mercer County". Mercer County Historical Society. 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 10, 2005. สืบค้นเมื่อ April 6, 2016.
- Hayes, Nick (November 6, 2009). "Looking back 20 years: Who deserves credit for ending the Cold War?". MinnPost. สืบค้นเมื่อ March 11, 2013.
- "59e. The End of the Cold War". USHistory.org. Independence Hall Association. สืบค้นเมื่อ March 10, 2013.
- Levy, Peter B. (1996). Encyclopedia of the Reagan-Bush Years. ABC-CLIO. p. 442. ISBN 978-0-313-29018-3.
- "U.S. Census Bureau QuickFacts selected: United States". QuickFacts. U.S. Census Bureau. 2016. สืบค้นเมื่อ September 9, 2017.
- Wallander, Celeste A. (2003). "Western Policy and the Demise of the Soviet Union". Journal of Cold War Studies. 5 (4): 137–177. doi:10.1162/152039703322483774. S2CID 57560487.
- Gilens, Martin & Page, Benjamin I. (2014). "Testing Theories of American Politics: Elites, Interest Groups, and Average Citizens" (PDF). Perspectives on Politics. 12 (3): 564–581. doi:10.1017/S1537592714001595. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-04-06. สืบค้นเมื่อ 2022-03-03.
แหล่งข้อมูลอื่น
- United States. The World Factbook. Central Intelligence Agency.
- United States, from the BBC News
- Key Development Forecasts for the United States from International Futures
- รัฐบาล
- Official U.S. Government Web Portal Gateway to government sites
- House Official site of the United States House of Representatives
- Senate Official site of the United States Senate
- White House Official site of the president of the United States
- Supreme Court Official site of the Supreme Court of the United States
- ประวัติศาสตร์
- Historical Documents Collected by the National Center for Public Policy Research
- U.S. National Mottos: History and Constitutionality เก็บถาวร 2006-12-12 ที่ Archive-It Analysis by the Ontario Consultants on Religious Tolerance
- USA Collected links to historical data
- แผนที่
- National Atlas of the United States Official maps from the U.S. Department of the Interior
- Wikimedia Atlas of the United States
- ดูข้อมูลทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ สหรัฐอเมริกา ที่โอเพินสตรีตแมป
- Measure of America A variety of mapped information relating to health, education, income, and demographics for the U.S.
- ภาพ