สากลที่สี่
สากลที่สี่ Fourth International | |
---|---|
ก่อตั้ง | 1938 |
ก่อนหน้า | สากลที่สาม (ไม่ใช่ทางกฎหมาย) |
หนังสือพิมพ์ | สากลที่สี่ |
อุดมการณ์ | ลัทธิทรอตสกี |
จุดยืน | ซ้ายจัด |
สี | สีแดง |
สากลที่สี่ (อังกฤษ: Fourth International, FI) เป็นองค์การระหว่างประเทศสังคมนิยมปฏิวัติอันประกอบด้วยสาวกของเลออน ทรอตสกี (หรือเรียก Trotskyist) ซึ่งมีเป้าหมายที่เปิดเผยได้แก่การล้มล้างทุนนิยมโลกและการสถาปนาสังคมนิยมโลกผ่านการปฏิวัติโลก สากลที่สี่ก่อตั้งขึ้นในประเทศฝรั่งเศสในปี 1938 เมื่อหลังถูกขับออกจากสหภาพโซเวียต ทรอตสกีและสาวกมองว่าสากลที่สามหรือโคมินเทิร์น (Comintern) เป็นหุ่นเชิดของลัทธิสตาลิน จึงไม่อาจนำชนชั้นกรรมกรทั่วโลกให้มีอำนาจทางการเมืองได้ นักลัทธิทรอตสกีจึงตั้งองค์การของพวกตนขึ้นเพื่อแข่งขัน[1]
ในปัจจุบัน ไม่มีสากลที่สี่ที่เป็นองค์การหนึ่งเดียวที่เชื่อมแน่นรวมเข้าด้วยกัน ตลอดการมีอยู่และประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ขององค์การ สากลที่สี่ถูกตามล่าโดยเจ้าหน้าที่ของพลาธิการกิจการภายในประชาชน (NKVD) ถูกปราบปรามทางการเมืองในประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศสและสหรัฐ และถูกผู้สนับสนุนสหภาพโซเวียตปฏิเสธโดยมองว่าเป็น "ผู้เรียกร้องที่ไม่มีความชอบธรรม" สากลที่สี่ดิ้นรนเพื่อคงรักษาการติดต่อภายใต้ภาวะการถูกสลายและปราบปรามระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากข้อเท็จจริงว่าการก่อการกำเริบของชนกรรมาชีพหลังจากนั้นมักอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักลัทธิสตาลินและกลุ่มชาตินิยมสายก่อสงครามที่เข้ากับสหภาพโซเวียต นำไปสู่ความปราชัยสำหรับสากลที่สี่และนักลัทธิทรอตสกี ซึ่งหลังจากนั้นไม่มีอิทธิพลที่มีความหมายมากนักอีกต่อไป[2]
กระนั้นในหลายส่วนของโลกรวมทั้งลาตินอเมริกา ยุโรป และเอเชียยังมีการรวมกลุ่มนักลัทธิทรอตสกีขนาดใหญ่ซึ่งดีงดูดผู้มีจุดยืนต่อต้านลัทธิสตาลินและการคุ้มครองลัทธิสากลนิยมของชนกรรมาชีพ ในกลุ่มเหล่านี้จำนวนหลายกลุ่มยังคงใช้ชื่อว่า "สากลที่สี่" โดยรวมอยู่ในชื่อองค์กร หรือเอกสารจุดยืนทางการเมืองที่สำคัญ หรือทั้งสองอย่าง สากลที่สี่มักมองโคมินเทิร์นว่าเป็นรัฐกรรมกรเสื่อมสภาพตามแนวของทฤษฎีและความคิดลัทธิทรอตสกี อย่างไรก็ดี ถึงแม้องค์การฯ มักมองว่าความคิดของตนก้าวหน้ากว่าและสูงส่งกว่าของสากลที่สาม แต่ก็มิได้ผลักดันให้เกิดการทำลายโคมินเทิร์น การกลับมาในปัจจุบันของสากลที่สี่ไม่ได้ดำเนินการเป็นหน่วยเชื่อมแน่นอย่างองค์การก่อนหน้านี้
สากลที่สี่มีการแตกแยกรุนแรงในปี 1940 และมีสามัคคีเภทที่สำคัญยิ่งขึ้นในปี 1953 มีการกลับมารวมกันบางส่วนของกลุ่มแยกต่าง ๆ ในปี 1963 แต่องค์การไม่เคยฟื้นตัวอย่างเพียงพอ และไม่อาจถือกำเนิดขึ้นใหม่เป็นการรวมกลุ่มระหว่างประเทศหนึ่งเดียว การตอบสนองของนักลัทธิทรอตสกีปรากฏในรูปของการก่อตั้งองค์การสากลหลายองค์การทั่วโลก โดยบางองค์การเห็นไม่ตรงกันว่าองค์การใดองค์การหนึ่งเป็นตัวแทนของมรดกและความต่อเนื่องทางการเมืองของสากลที่สี่ดั้งเดิมที่แท้จริง
ลัทธิทรอตสกี
[แก้]นักลัทธิทรอตสกีมองว่าพวกตนกำลังดำเนินการเพื่อต่อสู้ทั้งลัทธิทุนนิยมและลัทธิสตาลิน ทรอตสกีสนับสนุนการปฏิวัติของชนกรรมาชีพดังที่ได้กล่าวในทฤษฎี "การปฏิวัติถาวร" ของเขา และเชื่อว่ารัฐกรรมกรจะไม่สามารถยื้อแรงกดดันจากโลกทุนนิยมที่เป็นปรปักษ์ได้ เว้นแต่การปฏิวัติสังคมนิยมจะกำเนิดขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศเหล่านั้นด้วย ทฤษฎีนี้ได้รับการเสนอเพื่อต่อต้านมุมมองที่นักลัทธิสตาลินถือกันว่า "สังคมนิยมในประเทศเดียว" สามารถตั้งขึ้นในสหภาพโซเวียตประเทศเดียว[3] ยิ่งไปกว่านั้น ทรอตสกีและสาวกยังวิจารณ์อย่างรุนแรงต่อสภาพรวบอำนาจเบ็ดเสร็จที่เพิ่มขึ้นทุกที ๆ ของระบอบโจเซฟ สตาลิน พวกเขาให้เหตุผลว่าสังคมนิยมที่ปราศจากประชาธิปไตยเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อเผชิญกับการขาดประชาธิปไตยที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในสหภาพโซเวียต จึงสรุปได้ว่ามันไม่ใช่รัฐกรรมกรสังคมนิยมอีกต่อไป แต่เป็นรัฐกรรมกรเสื่อมสภาพ[1]
ทรอตสกีและสาวกจัดระเบียบตั้งแต่ปี 1923 เป็นฝ่ายค้านซ้าย พวกเขาต่อต้านการสร้างระบบข้าราชการประจำของสหภาพโซเวียต ซึ่งพวกเขาวิเคราะห์ว่าบางส่วนเกิดจากความยากจนและการแยกอยู่โดดเดี่ยวของเศรษฐกิจโซเวียต[4] ทฤษฎีสังคมนิยมในประเทศเดียวของสตาลินได้รับการพัฒนาขึ้นในปี 1924 เพื่อตอบโต้ทฤษฎีการปฏิวัติถาวรของทรอตสกี ซึ่งให้เหตุผลว่าทุนนิยมเป็นระบบโลกและต้องอาศัยการปฏิวัติโลกเพื่อแทนที่มันด้วยสังคมนิยม ก่อนหน้าปี 1924 ทัศนะระหว่างประเทศของพรรคบอลเชวิคได้รับการชี้นำจากจุดยืนของทรอตสกี ทรอตสกีให้เหตุผลว่าทฤษฎีของสตาลินเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มข้าราชการประจำซึ่งตรงกันข้ามกับชนชั้นกรรมกร
สุดท้ายทรอตสกีถูกเนรเทศในประเทศและผู้สนับสนุนเขาถูกจำคุก อย่างไรก็ดี ฝ่ายค้านซ้ายยังดำเนินการในทางลับในสหภาพโซเวียต[5] ทรอตสกีถูกเนรเทศไปยังประเทศตุรกีในปี 1928 จากนั้นเขาย้ายไปประเทศฝรั่งเศส นอร์เวย์ และเม็กซิโกตามลำดับ[6] เขาถูกลอบสังหารในประเทศเม็กซิโกในเดือนสิงหาคม 1940 ตามคำสั่งของสตาลิน[7]
องค์การสากลทางการเมือง
[แก้]องค์การสากลทางการเมืองเป็นองค์การของพรรคการเมืองหรือนักกิจกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อประสานกิจกรรมกันเพื่อเป้าหมายร่วมกัน มีประเพณีที่นักสังคมนิยมจัดระเบียบในระดับระหว่างประเทศมาช้านานแล้ว และคาร์ล มากซ์ เป็นผู้เริ่มสมาคมกรรมกรระหว่างประเทศ (International Workingmen's Association) ซึ่งต่อมาเรียก "สากลที่หนึ่ง"
หลังการยุบสมาคมฯ ในปี 1876 มีกความพยายามรื้อฟื้นองค์การอีกหลายครั้ง จนลงเอยด้วยการก่อตั้งสังคมนิยมสากล (สากลที่สอง) ในปี 1889 แต่ก็มายุบไปอีกในปี 1916 เนื่องจากความไม่ลงรอยกันในเรื่องสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แม้ว่าจะมีการปฏิรูปองค์การในปี 1923 เป็นกรรมกรสากลและสังคมนิยมสากล แต่ผู้สนับสนุนการปฏิวัติเดือนตุลาคมและพรรคบอลเชวิคได้ก่อตั้งคอมมิวนิสต์สากล (โคมินเทิร์น) ที่ถือกันว่าเป็นสากลที่สามแล้ว[8] องค์การดังกล่าวมีการจัดระเบียบแบบระบบศูนย์รวมอำนาจปกครองประชาธิปไตย (democratic centralism) โดยพรรคการเมืองที่เป็นสมาชิกถูกกำหนดให้ต่อสู้เพื่อนโยบายที่องค์การทั้งหมดรับรอง
โดยการประกาศตนเป็นสากลที่สี่ "พรรคการปฏิวัติสังคมนิยมโลก" นักลัทธิทรอตสกีประกาศตนต่อสาธารณะว่าตนสานต่อโคมินเทิร์นและองค์การก่อนหน้านี้ การตระหนักถึงความสำคัญขององค์การสากลก่อนหน้านี้เหล่านี้เกิดขึ้นร่วมกับความเชื่อว่าองค์การเหล่านั้นได้เสื่อมสภาพลง แม้ว่าสังคมนิยมสากลและโคมินเทิร์นยังคงมีอยู่ในเวลานั้น นักลัทธิทรอตสกียังไม่เชื่อว่าองค์การทั้งสองสามารถสนับสนุนสังคมนิยมปฏิวัติและสากลนิยมได้[4]
ฉะนั้นรากฐานของสากลที่สี่บางส่วนจึงถูกกระตุ้นขึ้นบางส่วนจากความปรารถนาตั้งกระแสการเมืองที่เข้มแข็งมากขึ้น มากกว่าถูกมองว่าเป็นการต่อต้านของนักลัทธิคอมมิวนิสต์ต่อโคมินเทิร์นและสหภาพโซเวียต ทรอตสกีเชื่อว่าการก่อตั้งองค์การมีความเร่งด่วนมากกว่าสำหรับบทบาทที่องค์การมีในสงครามโลกที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงนั้น[1]
การตัดสินใจก่อตั้ง
[แก้]ในต้นคริสต์ทศวรรษ 1930 ทรอตสกีและสาวกเชื่อว่าอิทธิพลของสตาลินเหนือสากลที่สามยังสามารถต่อสู้จากภายในประเทศและถูกย้อนกลับได้อย่างช้า ๆ พวกเขาจัดระเบียบเป็นฝ่ายค้านซ้ายสากลในปี 1930 ซึ่งตั้งใจให้เป็นกลุ่มผู้มีความเห็นต่อต้านลัทธิสตาลินในสากลที่สาม ผู้สนับสนุนสตาลินซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของสากลที่สามไม่ยอมรับการต่อต้าน นักลัทธิทรอตสกีและผู้ต้องสงสัยถูกเนรเทศทั้งหมด[9] ทรอตสกีอ้างว่านโยบายช่วงที่สามของโคมินเทิร์นมีส่วนช่วยให้อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เถลิงอำนาจในประเทศเยอรมนี และการเปลี่ยนไปสู่นโยบายแนวรบประชาชน (ซึ่งมุ่งสร้างเอกภาพกำลังต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ภายนอกทั้งหมด) ได้หว่านภาพลวงในปฏิรูปนิยมและสันตินิยมและ "กวาดถนนสำหรับการพลิกผันสู่ลัทธิฟาสซิสต์"
เมื่อถึงปี 1935 เขาอ้างว่าโคมินเทิร์นได้ตกสู่เงื้อมมือของระบบข้าราชการลัทธิสตาลินไปอย่างกู้คืนไม่ได้แล้ว[10] หลังเขาและผู้สนับสนุนถูกขับออกจากสากลที่สาม ได้เข้าร่วมการประชุมของกรมพรรคสังคมนิยมกรุงลอนดอนที่อยู่นอกสังคมนิยมสากลและโคมินเทิร์น มีพรรคการเมืองสามพรรคในจำนวนนี้เข้ากับฝ่ายค้านซ้ายในการลงนามเอกสารที่ทรอตสกีเขียนขึ้นเรียกร้องให้มีสากลที่สี่ ซึ่งจะได้ชื่อว่า "ปฏิญญาสี่" (Declaration of Four)[11] ต่อมา พรรคการเมืองสองพรรคได้พยายามถอยออกจากความตกลงนี้ แต่พรรคสังคมนิยมปฏิวัติดัตช์ได้ร่วมกับฝ่ายค้านซ้ายสากลประกาศสันนิบาตคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศ[12] จุดยืนนี้ถูกค้านโดยอันเดร็ว นิน (Andreu Nin) และสมาชิกสันนิบาตบางคนที่ไม่สนับสนุนข้อเรียกร้องให้มีองค์การสากลใหม่ กลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการจัดกลุ่มใหม่กับฝ่ายค้านคอมมิวนิสต์อื่น หลัก ๆ คือฝ่ายค้านคอมมิวนิสต์สากล (International Communist Opposition, ICO) ที่เชื่อมโยงกับฝ่ายค้านขวาในพรรคโซเวียต ซึ่งเป็นการจัดกลุ่มที่สุดท้ายนำไปสู่การก่อตั้งสำนักระหว่างประเทศเพื่อเอกภาพสังคมนิยมปฏิวัติ (International Bureau for Revolutionary Socialist Unity) ทรอตสกีถือว่าองค์การเหล่านั้นเป็นองค์การสายกลาง สุดท้ายส่วนสเปนได้รวมเข้ากับส่วนสเปนของ ICO ก่อตั้งเป็นพรรคกรรมกรการสร้างเอกภาพลัทธิมากซ์ (Workers' Party of Marxist Unification) ทรอตสกีอ้างว่าการรวมตัวดังกล่าวเป็นการยอมจำนนต่อการเมืองสายกลาง[13] พรรคกรรมกรสังคมนิยมเยอรมนีซึ่งเป็นฝ่ายซ้ายที่แยกตัวออกจากพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมเยอรมนีในปี 1931 ร่วมมือกับฝ่ายค้านซ้ายสากลช่วงหนึ่งในปี 1933 แต่ไม่นานก็ยกเลิกการเรียกร้ององค์การสากลใหม่
ในปี 1935 ทรอตสกีเขียน จดหมายเปิดผนึกถึงสากลที่สี่ ยืนยัน ปฏิญญาสี่ อีกครั้ง ขณะที่จดบันทึกทิศทางล่าสุดของโคมินเทิร์นและสังคมนิยมสากล เขาเรียกร้องในจดหมายให้มีการจัดตั้งสากลที่สี่อย่างเร่งด่วน[12] "การประชุมระหว่างประเทศสำหรับสากลที่สี่" จัดขึ้นในกรุงปารีสในเดือนมิถุนายน 1936 โดยรายงานลงว่าจัดที่เจนีวาด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย[14] การประชุมนี้ยุบเลิกสันนิบาตคอมมิวนิสต์สากล และก่อตั้งขบวนการเพื่อสากลที่สี่ตามทัศนะของทรอตสกีแทน
รากฐานของสากลที่สี่ถูกมองว่าเป็นมากกว่าการเปลี่ยนชื่อของแนวโน้มระหว่างประเทศที่มีอยู่แล้ว มันให้เหตุผลว่าสากลที่สามได้เสื่อมสภาพไปแล้วอย่างสิ้นเชิง ฉะนั้นจึงต้องถูกมองว่าเป็นองค์การต่อต้านการปฏิวัติซึ่งจะปกป้องทุนนิยมในยามวิกฤต ทรอตสกีเชื่อว่าสงครามโลกที่ใกล้เข้ามาในเวลานั้นจะก่อให้เกิดคลื่นปฏิวัติของชนชั้นและการต่อสู้ของชาติ มากกว่าสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[1]
สตาลินตอบโต้กำลังที่เพิ่มขึ้นของผู้สนับสนุนทรอตสกีด้วยการสังหารหมู่ทางการเมืองครั้งใหญ่ในสหภาพโซเวียต และการลอบสังหารผู้สนับสนุนและครอบครัวของทรอตสกีในต่างประเทศ[15] เขาสั่งเจ้าหน้าที่สืบค้นเอกสารและภาพถ่ายประวัติศาสตร์เพื่อพยายามลบความทรงจำเกี่ยวกับทรอตสกีออกจากหนังสือประวัติศาสตร์[16] มารีโอ เค็สเลอร์ นักประวัติศาสตร์ ยังระบุว่า ผู้สนับสนุนของสตาลินใช้การต่อต้านยิวเพื่อปลุกเร้าอารมณ์ต่อทรอตสกีด้วย (เนื่องจากทรอตสกีเป็นยิว)[17]
คำชี้แจงเหตุผลขององค์การคือการสร้างพรรคปฏิวัติหมู่ใหม่ซึ่งสามารถนำการปฏิวัติของกรรมกรที่ประสบความสำเร็จได้ องค์การได้เล็งเห็นโอกาสจากคลื่นปฏิวัติซึ่งจะพัฒนาขึ้นควบคู่และที่เป็นผลของสงครามโลกที่จะเกิดขึ้น ผู้แทนสามสิบคนเข้าร่วมการประชุมก่อตั้งซึ่งจัดขึ้นในเดือนกันยายน 1938 นอกกรุงปารีส มีการก่อตั้งสำนักเลขาธิการสากล ซึ่งมีนักลัทธิทรอตสกีและประเทศส่วนใหญ่ที่นักลัทธิทรอตสกีดำเนินการอยู่เป็นตัวแทน[18] หนึ่งในข้อมติซึ่งที่ประชุมรับรองได้แก่โครงการเปลี่ยนผ่าน (Transitional Programme)[19] ซึ่งเป็นถ้อยแถลงโครงการกลางของการประชุมใหญ่ โดยสรุปมโนทัศน์ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีสำหรับช่วงปฏิวัติซึ่งที่ประชุมมองว่ากำลังเกิดขึ้นเนื่องจากสงครามซึ่งทรอตสกีพยากรณ์มาช่วงหนึ่งแล้ว โดยบรรจุความย่อสำหรับความเข้าใจร่วมกันของขบวนการในเวลานั้นและชุดนโยบายเปลี่ยนผ่านที่ออกแบบมาเพื่อพัฒนาการต่อสู้เพื่ออำนาจของกรรมกร[20][21]
สงครามโลกครั้งที่สอง
[แก้]เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองปะทุในปี 1939 สำนักเลขาธิการสากลย้ายไปยังนครนิวยอร์ก คณะกรรมการบริหารสากลในสหรัฐไม่สามารถจัดประชุมได้ ส่วนใหญ่เนื่องจากการต่อสู้ในพรรคกรรมกรสังคมนิยม (Socialist Workers Party, SWP) ระหว่างผู้สนับสนุนของทรอตสกีกับแนวทางของแม็กซ์ ชากต์มัน, มาร์ติน แอเบิร์น และเจมส์ เบอร์นัม สำนักเลขาธิการประกอบด้วยสมาชิกคณะกรรมการเหล่านี้ซึ่งปรากฏว่าอยู่ในนคร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ร่วมคิดของชากต์มัน[22] ความไม่ลงรอยกันนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่ความไม่เห็นด้วยของชากต์มันต่อนโยบายภายในของพรรค[23] และต่อการแก้ต่างอย่างไม่มีเงื่อนไขของ FI ต่อสหภาพโซเวียต[24]
ทรอตสกีเปิดการโต้วาทีสาธารณะกับชากต์มันและเบอร์นัม และพัฒนาจุดยืนของเขาในบทโจมตีชุดที่เขียนขึ้นระหว่างปี 1939–1940 และต่อมารวบรวมในชื่อ ในการแก้ต่างลัทธิมากซ์ (In Defense of Marxism) ผู้โน้มเอียงไปในทางของชากต์มันและเบอร์นัมลาออกจากองค์การสากลในต้นปี 1940 ร่วมกับสมาชิก SWP ประมาณร้อยละ 40[25]
การประชุมฉุกเฉิน
[แก้]ในเดือนพฤษภาคม 1940 การประชุมฉุกเฉินขององค์การสากลจัดขึ้นในสถานที่ลับ "ที่ไหนสักที่ในซีกโลกตะวันตก" ที่ประชุมรับรองคำประกาศเจตนาที่ทรอตสกีร่างขึ้นไม่นานก่อนเขาถูกลอบสังหาร และมีนโยบายต่าง ๆ ที่อยู่ในงานขององค์การสากล รวมทั้งการเรียกร้องให้สร้างเอกภาพของกลุ่มสากลที่สี่ในบริเตนที่แตกแยกกันอยู่ในเวลานั้น[26] สมาชิกสำนักเลขาธิการที่สนับสนุนชากต์มันถูกที่ประชุมฉุกเฉินขับออก ด้วยการสนับสนุนของทรอตสกีเอง[27] ขณะที่หัวหน้า SWP เจมส์ พี. แคนนอน ต่อมากล่าวว่าเขาไม่เชื่อว่าการแตกแยกจะเป็นที่สุด แต่ทั้งสองกลุ่มก็มิได้กลับมารวมกัน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสากล ซึ่งมาอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคกรรมกรสังคมนิยมที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ[27]
สากลที่สี่ได้รับผลกระทบหนักระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทรอตสกีถูกลอบสังหาร เครือข่ายยุโรปของ FI จำนวนมากถูกนาซีทำลายและเครือข่ายเอเชียจำนวนมากถูกจักรวรรดิญี่ปุ่นทำลายเช่นกัน ผู้รอดชีวิตทั้งในยุโรป เอเชีย และที่อื่น ๆ ถูกตัดขาดออกจากกันและจากสำนักเลขาธิการองค์การสากล ฌ็อง วาน แอแยนอร์ต (Jean Van Heijenoort) เลขาธิการคนใหม่ ไม่สามารถทำอะไรได้มากนักนอกจากพิมพ์เผยแพร่บทความในวารสารทฤษฎีของ SWP ชื่อ สากลที่สี่[27] แต่ถึงแม้มีการพลัดถิ่น หลายกลุ่มยังต่อสู้เพื่อรักษาความเชื่อมโยงและสายสัมพันธ์ตลอดช่วงต้นของสงครามโดยกะลาสีที่สมัครอยู่ในกองทัพเรือสหรัฐ ซึ่งมีเหตุผลให้ไปเยือนมาร์แซย์[28] การติดต่อยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ไม่มีระยะเวลาแน่นอน ระหว่าง SWP กับนักลัทธิทรอตสกีบริติช ผลลัพธ์คือชาวอเมริกันใช้อิทธิพลที่มีอยู่กระตุ้นสันนิบาตสากลกรรมกรรวมเข้ากับองค์การสากลผ่านการรวมกับสันนิบาตสังคมนิยมปฏิวัติ ซึ่งเป็นสหภาพที่การประชุมฉุกเฉินขอมา[29]
ในปี 1942 มีการโต้วาทีในเรื่องปัญหาชาติในทวีปยุโรประหว่างสมาชิกส่วนใหญ่ของ SWP กับขบวนการที่มีวาน แอแยนอร์ต, แอลเบิร์ต โกลด์แมน และฟีลิกซ์ มอร์โรว์ เป็นผู้นำ[30] กลุ่มส่วนน้อยกลุ่มหลังนี้คาดว่าเผด็จการนาซีจะถูกแทนที่ด้วยทุนนิยมมิใช่การปฏิวัติสังคมนิยม นำไปสู่การฟื้นตัวของลัทธิสตาลินและประชาธิปไตยสังคมนิยม ในเดือนธันวาคม 1943 พวกเขาวิจารณ์ทัศนะของ SWP ว่าประเมินเกียรติภูมิที่กำลังเพิ่มขึ้นของลัทธิสตาลินและโอกาสสำหรับนักทุนนิยมที่จะมีการยอมผ่อนปรนตามแบบประชาธิปไตยต่ำเกินไป[31] คณะกรรมการกลางของ SWP ให้เหตุผลว่าทุนนิยมประชาธิปไตยไม่อาจฟื้นตัวได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเผด็จการทหารโดยนักทุนนิยมหรือการปฏิวัติของกรรมกร[32] และมองว่าจะยิ่งส่งเสริมความจำเป็นสำหรับการสร้างสากลที่สี่ และยึดมั่นอย่างเข้มงวดต่อการตีความงานของทรอตสกีตามแบบของคณะกรรมการฯ
การประชุมยุโรป
[แก้]การโต้วาทียามสงครามเกี่ยวกับทัศนะหลังสงครามถูกเร่งด้วยข้อมติของการประชุมยุโรปในเดือนกุมภาพันธ์ 1944 ของสากลที่สี่ ที่ประชุมแต่งตั้งเลขาธิการยุโรปคนใหม่และเลือกตั้งมีคาลิส รัปติส ชาวกรีกซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่ามีเชล ปาโบล เป็นเลขาธิการองค์การในยุโรป รัปติสและสมาชิกคนอื่นเริ่มการติดต่ออีกครั้งระหว่างพรรคการเมืองสายทรอตสกี การประชุมยุโรปขยายบทเรียนของการปฏิวัติที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศอิตาลี และสรุปว่าคลื่นปฏิวัติจะกวาดทั่วทวีปยุโรปเมื่อสงครามยุติ[33] SWP มีทัศนะคล้ายกัน[34] พรรคคอมมิวนิสต์ปฏิวัติบริติชไม่เห็นด้วย และมองว่าทุนนิยมจะไม่ตกลงสู่วิกฤตใหญ่ แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกำลังเกิดขึ้นแล้ว[35] กลุ่มหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์สากลนิยมฝรั่งเศสให้เหตุผลคล้ายกันจนกระทั่งถูกขับออกจาก PCI ในปี 1948[36]
การประชุมระหว่างประเทศ
[แก้]ในเดือนเมษายน 1946 ผู้แทนจากภาคส่วนยุโรปที่สำคัญและกลุ่มอื่นมีจำนวนหนึ่งเข้าร่วม "การประชุมใหญ่สากลครั้งที่สอง" ซึ่งมีริเริ่มการตั้งสำนักเลขาธิการสากลของสากลที่สี่ใหม่โดยมี มีคาลิส รัปติส เป็นเลขาธิการ และแอร์เนสต์ มันเดล ชาวเบลเยียม มีบทบาทนำ
ปาโบลและมันเดลมุ่งตอบโต้ฝ่ายต่อต้านของฝ่ายข้างมากในพรรคคอมมิวนิสต์ปฏิวัติบริติชและพรรคคอมมิวนิสต์สากลนิยมฝรั่งเศส เดิมทีพวกเขากระตุ้นสมาชิกพรรคให้ออกเสียงขับหัวหน้าพรรคออก พวกเขาสนับสนุนฝ่ายต่อต้านของเจร์รี ฮีลี ใน RCP ส่วนในประเทศฝรั่งเศส พวกเขาสนับสนุนสมาชิกบางส่วน รวมทั้งปีแยร์ ฟร็องก์ และมาร์แซล ไบลพ์ทร็อย คัดค้านหัวหน้าพรรคคนใหม่ของ PCI แต่ด้วยเหตุผลต่างกัน[37]
การยึดครองยุโรปตะวันออกของสตาลินเป็นประเด็นความกังวลหลัก และได้ก่อให้เกิดปัญหาการตีความ ทีแรก องค์การสากลมองว่าแม้ว่าสหภาพโซเวียตเป็นรัฐกรรมกรเสื่อมสภาพ แต่รัฐยุโรปตะวันออกหลังสงครามโลกครั้งที่สองยังเป็นรัฐของกระฎุมพี เนื่องจากการปฏิวัติจากข้างบนเป็นไปไม่ได้ และทุนนิยมยังคงอยู่รอด[38]
อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องจัดการคือความเป็นไปได้ของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งทีแรกมันเดลปฏิเสธ (แต่ถูกบีบให้ทบทวนความเห็นของตนอย่างรวดเร็ว และต่อมาอุทิศดุษฎีนิพนธ์ของเขาให้กับทุนนิยมขั้นปลาย โดยวิเคราะห์ "ยุคที่สาม" ที่ไม่ได้คาดคิดของการพัฒนาทุนนิยม) ทัศนะของมันเดลสะท้อนความไม่แน่นอนในเวลานั้นเกี่ยวกับการคงอยู่ได้และการคาดการณ์ในอนาคตของทุนนิยม ไม่เพียงแต่ในกลุ่มนักลัทธิทรอตสกีต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำด้วย[39]
การประชุมใหญ่โลกครั้งที่สอง
[แก้]การประชุมใหญ่โลกครั้งที่สองในเดือนเมษายน 1948 มีผู้แทนจาก 22 ภาคส่วนเข้าร่วม ในที่ประชุมได้ถกเถียงในข้อมติหลายเรื่องทั้งปัญหายิว ลัทธิสตาลิน ประเทศอาณานิคม และสถานการณ์จำเพาะที่เผชิญกับภาคส่วนต่าง ๆ ในบางประเทศ[40] เมื่อถึงจุดนี้ FI มีเอกภาพอยู่รอบทัศนะที่ว่า "รัฐกันชน" ในยุโรปตะวันออกยังเป็นประเทศทุนนิยมอยู่[41]
ที่ประชุมมีความโดดเด่นเป็นพิเศษในการนำองค์การสากลให้มาติดต่อใกล้ชิดมากขึ้นกับกลุ่มนักลัทธิทรอตสกีทั่วโลก ซึ่งรวมกลุ่มที่สำคัญอย่างพรรคกรรมกรปฏิวัติโบลิเวียและพรรคลังกาสมสมาชะซึ่งอยู่ในซีลอนเวลานั้น[42] แต่กลุ่มนักลัทธิทรอตสกีชาวเวียดนามขนาดใหญ่ก่อนหน้านี้ได้ถูกกำจัดหรือถูกกลืนเข้ากับผู้สนับสนุนโฮจิมินห์แล้ว[43]
หลังการประชุม สำนักเลขาธิการสากลพยายามเปิดการสื่อสารกับระบอบของยอซีป บรอซ ตีโต ในยูโกสลาเวีย[44] ในการวิเคราะห์ของพวกเขา ยูโกสลาเวียแตกต่างจากประเทศกลุ่มตะวันออกที่เหลือเพราะก่อตั้งโดยพลพรรคในสงครามโลกครั้งที่สองที่ต่อสู้การยึดครองของนาซี RCP ของบริเตนซึ่งมีจ็อก ฮาสตัน และเท็ด แกรนต์ สนับสนุน วิจารณ์ท่าทีนี้อย่างมาก[37]
การประชุมใหญ่โลกครั้งที่สาม
[แก้]การประชุมใหญ่โลกครั้งที่สามในปี 1951 มีข้อสรุปว่าเศรษฐกิจและรัฐบาลของรัฐยุโรปตะวันออกมีความคล้ายคลึงกับสหภาพโซเวียตมากขึ้นเรื่อย ๆ รัฐเหล่านั้นจึงถูกอธิบายว่าเป็นรัฐกรรมกรวิรูปในแนวเดียวกันกับรัฐกรรมกรเสื่อมสภาพในรัสเซีย ทั้งนี้ ที่ใช้คำว่า วิรูป แทนคำว่า เสื่อมสภาพ เพราะไม่มีการปฏิวัติของกรรมกรที่นำไปสู่การก่อตั้งรัฐเหล่านั้น[45]
การประชุมใหญ่โลกครั้งที่สามเล็งเห็นว่ามีความเป็นไปได้ส่วนหนึ่งของ "สงครามกลางเมืองระหว่างประเทศ" ในอนาคตอันใกล้[46] และให้เหตุผลว่าพรรคคอมมิวนิสต์มวลชน "อาจไปไกลกว่าเป้าหมายที่ระบบข้าราชการประจำโซเวียตตั้งไว้ให้กับพรรคและวางโครงการการปรับแนวปฏิวัติ ภายใต้เงื่อนไขที่เอื้ออำนวยบางอย่าง" เมื่อคำนึงถึงโอกาสเกิดสงครามในไม่นาน FI คิดว่าพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมจะเป็นกำลังที่สำคัญเพียงอย่างเดียวที่สามารถคุ้มครองกรรมกรของโลกต่อค่ายจักรวรรดินิยมในประเทศซึ่งค่ายนั้นมีกำลังมหาศาลได้[47] โดยสอดคล้องกับทัศนะภูมิรัฐศาสตร์นี้ ปาโบลแย้งว่าทางเดียวที่นักลัทธิทรอตสกีสามารถหลีกเลี่ยงการแยกอยู่โดดเดี่ยวคือภาคส่วนต่าง ๆ ของสากลที่สี่ในระยะยาวจะต้องดำเนินการเข้าร่วม (entryism) ในพรรคการเมืองคอมมิวนิสต์หรือประชาธิปไตยสังคมนิยมมวลชน[48] ยุทธวิธีนี้เรียกว่า ลัทธิเข้าร่วมที่มีลักษณะเฉพาะตัว เพื่อแยกแยะวิธีนี้กับยุทธวิธีเข้าร่วมกับพรรคอื่นระยะสั้นที่ใช้ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ตัวอย่างเช่น หมายความว่าโครงการสร้างพรรคการเมืองนักลัทธิทรอตสกีอย่างเปิดเผยและเป็นอิสระถูกพับไปในประเทศฝรั่งเศส เพราะถูกมองว่าไม่มีความเป็นไปได้ทางการเมืองเมื่อมีพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสแล้ว
ทัศนะดังกล่าวได้รับการยอมรับภายในสากลที่สี่ แต่ก็ได้หว่านเมล็ดพันธุ์สำหรับการแตกแยกในปี 1953 ณ การประชุมใหญ่โลกครั้งที่สาม ภาคส่วนดังกล่าวตกลงกับทัศนะของสงครามกลางเมืองระหว่างประเทศ ภาคส่วนฝรั่งเศสไม่เห็นด้วยกับยุทธวิธีลัทธิเข้าร่วมที่มีลักษณะเฉพาะตัว และถือว่าปาโบลกำลังประเมินบทบาทอิสระของพรรคชนชั้นกรรมกรในสากลที่สี่ต่ำเกินไป ปีแยร์ ล็องแบร์ และมาร์แซล ไบลพ์ทร็อย หัวหน้าองค์การนักลัทธิทรอตสกีส่วนใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส ไม่ยอมรับแนวทางขององค์การสากล หัวหน้าองค์การสากลจึงเปลี่ยนตัวด้วยเสียงข้างน้อย ทำให้เกิดการแตกแยกถาวรในภาคส่วนฝรั่งเศส[49]
ในการประชุมใหญ่โลก แนวทางของหัวหน้าองค์การสากลโดยทั่วไปได้รับการยอมรับจากกลุ่มต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้ง SWP ซึ่งเจมส์ พี. แคนนอน หัวหน้าพรรค แลกเปลี่ยนสารกับฝ่ายข้างมากฝรั่งเศสเพื่อสนับสนุนยุทธวิธีลัทธิเข้าร่วมที่มีลักษณะเฉพาะตัว ทว่าในขณะเดียวกัน แคนนอน, ฮีลี และมันเดลมีความกังวลอย่างมากต่อวิวัฒนาการทางการเมืองของปาโบล แคนนอนและฮีลีก็กังวลกับการแทรกแซงของปาโบลเข้าไปในภาคส่วนฝรั่งเศส และกับนัยที่ว่าปาโบลอาจใช้อำนาจขององค์การสากลในทำนองเดียวกันกับส่วนอื่นของสากลที่สี่ที่รู้สึกว่าลัทธิเข้าร่วมที่มีลักษณะเฉพาะตัวไม่ใช่ยุทธวิธีที่เหมาะสมในประเทศของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวโน้มฝ่ายข้างน้อย เช่น จอห์น ลอว์เรนซ์ ในบริเตน และเบิร์ต ค็อกรัน ในสหรัฐ ซึ่งสนับสนุนลัทธิเข้าร่วมที่มีลักษณะเฉพาะตัวได้บอกเป็นนัยว่าการที่ปาโบลสนับสนุนทัศนะของพวกเขาหมายความว่าองค์การสากลอาจร้องขอให้นักลัทธิทรอตสกีในประเทศเหล่านั้นให้รับยุทธวิธีนี้ไปใช้ด้วย[50]
การก่อตั้งคณะกรรมการสากลของสากลที่สี่
[แก้]ในปี 1953 คณะกรรมการชาติของ SWP ออก จดหมายเปิดผนึกถึงนักลัทธิทรอตสกีทั่วโลก[51] และจัดระเบียบคณะกรรมการสากลของสากลที่สี่ (ICFI) ซึ่งเป็นกลุ่มแยกสาธารณะซึ่งทีแรกมี SWP, ส่วนเดอะคลับของเจร์รี ฮีลี ในบริเตน, พรรคคอมมิวนิสต์สากลนิยมในประเทศฝรั่งเศส (ซึ่งมีล็องแบร์ที่ขับไบลพ์ทร็อยและกลุ่มของเขาออกจากพรรคเป็นหัวหน้าในขณะนั้น), พรรคของนาอูเอล โมเรโน ในประเทศอาร์เจนตินา และส่วนออสเตรียและจีนใน FI หลายส่วนของ ICFI ถอนตัวออกจากสำนักเลขาธิการองค์การสากลซึ่งระงับสิทธิออกเสียงของพวกเขา ทั้งสองฝ่ายอ้างว่าพวกตนเป็นฝ่ายข้างมากขององค์การสากลก่อนหน้านี้[52]
พรรคลังกาสมสมาชะของศรีลังกาซึ่งเป็นพรรคกรรมกรแถวหน้าของประเทศในเวลานั้น วางตัวเป็นกลางในกรณีพิพาทนี้ พรรคยังคงร่วมดำเนินการกับ ISFI แต่ก็เรียกร้องให้ประชุมร่วมกัน เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพกับ ICFI[53]
บทคัดย่อจากจดหมายนั้นอธิบายการแตกแยกไว้ดังนี้
โดยสรุป: เส้นแบ่งระหว่างลัทธิแก้ของปาโบลกับลัทธิทรอตสกีดั้งเดิมอยู่ลึกเสียจนไม่มีทางประนีประนอมได้ไม่ว่าในทางการเมืองหรือองค์การ กลุ่มแยกปาโบลแสดงออกว่ากลุ่มจะไม่ยอมรับการบรรลุการตัดสินใจที่เป็นประชาธิปไตยที่สะท้อนความเห็นของฝ่ายข้างมากอย่างแท้จริง พวกเขาเรียกร้องให้ยอมจำนนอย่างเบ็ดเสร็จต่อนโยบายที่เป็นอาชญากรรมของพวกเขา พวกเขามุ่งมั่นขับนักลัทธิทรอดสกีดั้งเดิมทั้งหมดออกจากสากลที่สี่หรือปิดปากและใส่กุญแจมือพวกเขา แผนการของพวกเขาได้แก่การฉีดลัทธิการประนอม (conciliationism) แบบลัทธิสตาลินทีละน้อย และในทำนองเดียวกันแบบทีละน้อย กำจัดผู้ที่ทราบความและยกข้อคัดค้าน[51]
จากการประชุมใหญ่โลกครั้งที่สี่จนถึงการกลับมารวมกันใหม่
[แก้]ในช่วงทศวรรษถัดมา IC เรียกองค์การสากลส่วนที่เหลือว่า "สำนักเลขาธิการสากลของสากลที่สี่" เป็นการเน้นย้ำถึงทัศนะของตนว่าสำนักเลขาธิการไม่ได้เป็นตัวแทนขององค์การสากลทั้งหมด[54] สำนักเลขาธิการยังคงมองตนเองว่าเป็นผู้นำขององค์การสากล และจัดการประชุมใหญ่โลกครั้งที่สี่ในปี 1954 เพื่อจัดกลุ่มใหม่และเพื่อรับรองส่วนที่จัดระเบียบใหม่ในบริเตน ประเทศฝรั่งเศส และสหรัฐ
ส่วนต่าง ๆ ของคณะกรรมการสากลมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องการแตกแยกกับ "ลัทธิปาโบล" ว่าเป็นสิ่งถาวรหรือชั่วคราว[55] และบางทีอาจเป็นผลของลัทธิดังกล่าวที่ไม่ได้ประกาศตนเป็นสากลที่สี่ ส่วนต่าง ๆ เหล่านั้นซึ่งถือว่าการแตกแยกเป็นการถาวรได้อภิปรายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และความหมายของการแตกแยก
ส่วนต่าง ๆ ขององค์การสากลที่รับรองความเป็นผู้นำของสำนักเลขาธิการสากลยังมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของอิทธิพลทางการเมืองขององค์การสากลที่เพิ่มขึ้น และขยายลัทธิเข้าร่วมเข้าสู่พรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมที่กำลังดำเนินการอยู่ในบริเตน ออสเตรีย และที่อื่น ๆ การประชุมใหญ่ปี 1954 เน้นย้ำลัทธิเข้าร่วมเข้าสู่พรรคคอมมิวนิสต์และพรรคชาตินิยมในอาณานิคม กดดันเพื่อการปฏิรูปประชาธิปไตย โดยเห็นได้ว่าเพื่อกระตุ้นฝ่ายซ้ายที่พวกเขาเชื่อว่ามีอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์ให้เข้าร่วมด้วยกับองค์การในการปฏิวัติ[56] ความตึงเครียดที่พัฒนาขึ้นระหว่างผู้ที่รับทัศนะกระแสหลักของปาโบลกับฝ่ายข้างน้อยที่โต้แย้งไม่สำเร็จต่อการทำงานอย่างเปิดเผย ผู้แทนเหล่านี้จำนวนหนึ่งเดินออกจากที่ประชุมใหญ่โลกและในที่สุดก็ออกจากองค์การสากล ได้แก่ผู้นำส่วนบริติช จอห์น ลอว์เรนซ์, จอร์จ คลาร์ก, มีแชล แม็สทร์ (ผู้นำส่วนฝรั่งเศส) และเมอร์รี เดาสัน (ผู้นำกลุ่มแคนาดา) เป็นต้น[57]
สำนักเลขาธิการจัดระเบียบการประชุมใหญ่โลกครั้งที่ห้าในเดือนตุลาคม 1957 มันเดลและปีแยร์ ฟร็องก์ ยกย่องการปฏิวัติแอลจีเรียและสรุปว่ามีความสำคัญในการปรับแนวทางในรัฐอาณานิคมและอาณานิคมใหม่ต่อการปฏิวัติที่มีกองโจรเป็นผู้นำที่กำลังเกิดขึ้น[58] ตามข้อมูลของรอเบิร์ต อเล็กซานเดอร์ นั้น แอร์เนสต์ มันเดล ได้เขียนเกี่ยวกับพรรคอาโจมา องค์การในประเทศอินโดนีเซียซึ่งสวามิภักดิ์ต่อ FI ตั้งแต่ปี 1959 จนถึงการปฏิวัติปี 1965[59]
การประชุมใหญ่โลกครั้งที่หกในปี 1961 มีการบรรเทาการแบ่งแยกทางการเมืองระหว่างผู้สนับสนุนฝ่ายข้างมากของสำนักเลขาธิการองค์การสากลกับผู้นำ SWP ในสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ประชุมใหญ่เน้นย้ำการสนับสนุนการปฏิวัติคิวบาและเน้นย้ำการสร้างพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นในประเทศจักรวรรดินิยม การประชุมใหญ่ครั้งที่หกยังวิจารณ์พรรคลังกาสมสมาชะ ส่วนของศรีลังกา เนื่องจากดูเหมือนสนับสนุนพรรคเสรีภาพศรีลังกาซึ่งพวกเขามองว่าเป็นพวกชาตินิยมกระฎุมพี[60]
ในปี 1962 IC และ IS ก่อตั้งคณะกรรมการความเสมอภาคเพื่อจัดระเบียบการประชุมใหญ่โลกร่วมกัน ผู้สนับสนุนมีแชล ปาโบล และฆวน โปซาดัส คัดค้านการรวมเข้าด้วยกัน ผู้สนับสนุนโปซาดัสออกจากองค์การสากลในปี 1962[60] ในที่ประชุมใหญ่รวมเข้ากันใหม่ในปี 1963 ส่วนของ IC และ IS รวมเข้าด้วยกันใหม่ (มีสองข้อยกเว้น คือ ส่วนบริติชและฝรั่งเศสของ IC)[61] ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการสนับสนุนร่วมกันต่อข้อมติ พลวัตของการปฏิวัติโลกวันนี้ ของแอร์เนสต์ มันเดล และโจเซฟ แฮนเซน และต่อการปฏิวัติคิวบา เอกสารนี้แยกแยะระหว่างภารกิจปฏิวัติต่าง ๆ ในประเทศจักรวรรดินิยม "รัฐกรรมกร" และประเทศอาณานิคมและกึ่งอาณานิคม[62] ในปี 1963 องค์การสากลที่สี่ที่รวมกันใหม่เลือกตั้งสำนักเลขาธิการเอกภาพของสากลที่สี่ (USFI) ซึ่งเป็นชื่อที่องค์การทั้งหมดมักนิยมให้เรียกอยู่
ตั้งแต่การสร้างเอกภาพใหม่
[แก้]ตั้งแต่การสร้างเอกภาพใหม่ในปี 1963 ลัทธิทรอตสกีสากลมีหลายมุมมองและแนวทางต่อสากลที่สี่
- สากลที่สี่ที่สร้างเอกภาพใหม่เป็นองค์การปัจจุบันเดียวที่มีความต่อเนื่องขององค์การโดยตรงกับสากลที่สี่ดั้งเดิมในระดับนานาชาติ คณะกรรมการและสำนักเลขาธิการสากลมีการสร้างเอกภาพใหม่ในการประชุมใหญ่ปี 1963 แต่ปราศจากสันนิบาตกรรมกรสังคมนิยมและองค์การคอมมิวนิสต์สากลนิยม[61] บางทีเรียกว่า สำนักเลขาธิการรวมของสากลที่สี่ (United Secretariat of the Fourth International หรือ USFI) ตามชื่อของคณะกรรมการนำ แม้ว่าคณะกรรมการนั้นถูกเปลี่ยนแล้วในปี 2003 นอกจากนี้ยังเป็นองค์การปัจจุบันองค์การเดียวที่นำเสนอตนเองอย่างต่อเนื่องว่าเป็นสากลที่สี่ เป็นองค์การสากลใหญ่สุดในปัจจุบันและเป็นผู้นำขององค์การสากลแบบลัทธิทรอตสกีอื่น ๆ บางส่วนเรียกองค์การนี้ว่า "สากลที่สี่"[63] เช่น เจร์รี ฮีลี (เลขาธิการ ICFI) หรือองค์การแนวโน้มสังคมนิยมสากล[64]
- กลุ่มสมาชิกคณะกรรมการสากลของสากลที่สี่แต่เดิมเรียกตนว่าเป็นส่วนหนึ่งของสากลที่สี่ และองค์การทั้งหมดอธิบายตนเองว่าเป็น "ผู้นำของสากลที่สี่"[65] อย่างไรก็ดี ICFI นำเสนอตนเองว่าเป็นผู้สานต่อทางการเมืองของสากลที่สี่และลัทธิทรอตสกี ไม่ใช่ FI โดยระบุวันสถาปนาเป็นปี 1953 อย่างชัดเจน ไม่ใช่ปี 1938[66]
- บางแนวโน้มให้เหตุผลว่าสากลที่สี่ได้เปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงระหว่างปีที่ทรอตสกีถูกลอบสังหารกับปีที่มีการก่อตั้ง ICFI (1953) พวกเขาจึงดำเนินการเพื่อ "บูรณะ" "จัดระเบียบใหม่" หรือ "สร้างใหม่" มุมมองนี้ถือกำเนิดขึ้นจากลูว์ตูวรีแยร์ (Lutte Ouvrière) และองค์การแนวโน้มสปาร์ตาซิสต์สากล และผู้ที่รับไปได้แก่ผู้ที่เห็นแตกต่างจาก ICFI ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการของกรรมกรสากล ซึ่งผู้ก่อตั้งถอนตัวจาก FI ที่สร้างเอกภาพใหม่ในปี 1965 เพื่อเรียกร้อง "สากลที่สี่ปฏิวัติ" ใหม่[67] โดยสากลที่สี่ (ICR) ประกาศตั้งสากลที่สี่ใหม่ในการประชุมใหญ่ที่ส่วนต่าง ๆ ของ ICR เข้าร่วมในเดือนมิถุนายน 1993[68]
- กลุ่มลัทธิทรอตสกีอื่นให้เหตุผลว่าสากลที่สี่สิ้นไปแล้ว และเรียกร้องให้ก่อตั้งองค์การสากลกรรมกรใหม่ หรือสากลที่ห้า[69]
ผลกระทบ
[แก้]สากลที่สี่สร้างประเพณีซึ่งองค์การลัทธิทรอตสกีหลายองค์การอ้างมาโดยตลอดในการสร้างเอกภาพนักลัทธิทรอตสกีส่วนใหญ่ในองค์การเดียว
โครงการเปลี่ยนผ่านสะท้อนแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ของมากซ์ โดยปิดท้ายด้วยประโยค "กรรมกร —ชายและหญิง— ของทุกประเทศ จงอยู่ภายใต้ธงของสากลที่สี่ มันเป็นธงแห่งชัยที่ใกล้เข้ามาของท่าน!" มีประกาศข้อเรียกร้องต่อนักทุนนิยม การต่อต้านระบบข้าราชการประจำในสหภาพโซเวียต และการสนับสนุนการปฏิบัติของกรรมกรต่อลัทธิฟาสซิสต์[1] ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ต่อนักลัทธิทุนนิยมยังไม่บรรลุผล การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเกิดขึ้นแล้ว แต่ผ่านการปฏิวัติทางสังคมที่นำไปสู่การฟื้นฟูลัทธิทุนนิยม มิใช่การปฏิวัติทางการเมืองแบบที่นักลัทธิทรอตสกีเสนอ กลุ่มลัทธิทรอตสกีจำนวนมากยังดำเนินการอยู่ในการรณรงค์ต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ แต่สากลที่สี่ไม่เคยมีบทบาทหลักในการโค่นระบอบใด ๆ
กลุ่มเหล่านี้ยึดถือประเพณีซึ่งออกจากสากลที่สี่ในช่วงต้น ๆ ขององค์การให้เหตุผลว่า แม้มีจุดยืนที่ถูกต้องในทีแรก แต่มีผลกระทบเพียงเล็กน้อย ลูว์ตูวรีแยร์อ้างว่ามัน "ไม่รอดจากสงครามโลกครั้งที่สอง"[70] เสรีภาพกรรมกร ซึ่งยึดถือประเพณีค่ายที่สามที่ก่อตั้งโดยพรรคกรรมกร ถือว่า "ทรอตสกีและทุกอย่างที่เขาเป็นสัญลักษณ์นั้นถูกพิชิต และ —ตามที่เราต้องยอมรับย้อนหลัง— แพ้มาตลอดช่วงประวัติศาสตร์"[71]
กลุ่มอื่นชี้ไปยังผลกระทบด้านบวก ICFI อ้างว่า "สากลที่สี่ [ุยุคต้น] ประกอบด้วยกลุ่มแกนนำที่ยังคงยึดมั่นในเป้าหมายของตน"[72] และอธิบายกิจกรรมช่วงต้นของสากลที่สี่ว่า "ถูกต้องและมีหลักการ"[73] FI ที่สร้างเอกภาพใหม่อ้างว่า "สากลที่สี่ปฏิเสธจะประนีประนอมกับทุนนิยมไม่ว่าในรูปแบบฟาสซิสต์หรือประชาธิปไตย" ในทัศนะของมัน "คำพยากรณ์จำนวนมากของทรอตสกีเมื่อเขาก่อตั้งสากลที่สี่ถูกประวัติศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าผิด แต่สิ่งที่ปลอดมลทินอย่างเบ็ดเสร็จคือคำวินิจฉัยทางการเมืองที่สำคัญของเขา"[74]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 The Transitional Program. Retrieved November 5, 2008.
- ↑ Ernest Mandel, Trotskyists and the Resistance in World War Two
- ↑ Leon Trotsky, In Defence of October
- ↑ 4.0 4.1 "Manifesto of the Fourth International on the Dissolution of the Comintern", Fourth International, July 1943.
- ↑ Serge, Victor, From Lenin to Stalin, p70 ff, Pathfinder, (1973)
- ↑ Deutscher, Isaac, Stalin, p381, Pelican (1966)
- ↑ Robert Conquest, The Great Terror: A Reassessment, Oxford University Press, 1991, ISBN 0-19-507132-8, p. 418.
- ↑ Working-class Internationalism & Organisation
- ↑ Joseph Stalin, "Industrialisation of the country and the right deviation in the C.P.S.U.(B.)", Works, Vol.11, pp. 255-302.
- ↑ Leon Trotsky, "Open Letter For The Fourth International", New Militant, August 3, 1935.
- ↑ "Declaration of the Four" เก็บถาวร 2011-07-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , The Militant, September 23, 1933.
- ↑ 12.0 12.1 George Breitman, The Rocky Road to the Fourth International, 1933–38
- ↑ John G. Wright, "Trotsky's Struggle for the Fourth International", Fourth International, August 1946.
- ↑ "CLR James Interview". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-02. สืบค้นเมื่อ 2020-12-15.
- ↑ "Trotskyists at Vorkuta: An Eyewitness Report", International Socialist Review, Summer 1963.
- ↑ Propaganda in the Propaganda State, PBS
- ↑ Mario Kessler, "Leon Trotsky's Position on Anti-Semitism, Zionism and the Perspectives of the Jewish Question" เก็บถาวร 2004-12-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, New Interventions, Vol. 5 No. 2, 1994 (transcript of a talk at the AGM of Revolutionary History magazine in October 1993.
- ↑ M. S., "Foreword", Founding Conference of the Fourth International]
- ↑ Socialist Workers Party, The Founding Conference of the Fourth International
- ↑ Charlie van Gelderen, Sixty years of the Fourth International เก็บถาวร 2008-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Richard Price The Transitional Programme in perspective
- ↑ "Declaration on the status of the resident International Executive Committee", in Documents of the Fourth International, Vol. 1, pp. 351–355
- ↑ Duncan Hallas, Fourth International in Decline เก็บถาวร 2008-02-20 ที่ archive.today
- ↑ Trotsky, In Defense of Marxism, New York 1942.
- ↑ James P. Cannon, "Factional Struggle And Party Leadership", Fourth International, November 1953; David Holmes, James P. Cannon: His Life and Work.
- ↑ "Emergency Conference of the Fourth International", International Bulletin, Nos. 1 & 2, 1940.
- ↑ 27.0 27.1 27.2 Michel Pablo, "Report on the Fourth International Since the Outbreak of War, 1939–48" Fourth International, December 1948 & January 1949.
- ↑ Rodolphe Prager, "The Fourth International during the Second World War" เก็บถาวร 2005-12-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , Revolutionary History, Vol. 1 No. 3, Autumn 1988.
- ↑ "Resolution On The Unification of the British Section", International Bulletin, Nos. 1 & 2, 1940.
- ↑ The Fourth International During World War II (immediately afterward).
- ↑ Felix Morrow, "The First Phase of the Coming European Revolution", Fourth International, December 1944.
- ↑ "Perspectives and Tasks of the Coming European Revolution", Fourth International, December 1943.
- ↑ "Theses on the Liquidation of World War II and the Revolutionary Upsurge", Fourth International, March & May 1945.
- ↑ "The European Revolution and the Tasks of the Revolutionary Party", Fourth International, December 1944.
- ↑ Martin Upham, The History of British Trotskyism to 1949 (PhD thesis publische online on the Revolutionary History Website).
- ↑ Peter Schwarz, "The politics of opportunism: the 'radical left' in France", World Socialist Web Site.
- ↑ 37.0 37.1 Sam Bornstein and Al Richardson, War and the International, London 1986.
- ↑ Alex Callinicos, Trotskyism, Maidenhead 1990.
- ↑ ดู: Paul Samuelson, "Full Employment after the war," in S. Harris (ed.), Post war Economic Problems, London & New York 1943. และ Joseph Schumpeter, "Capitalism in the post-war world". in S. Harris (ed.), Post war Economic Problems, London & New York 1943.
- ↑ 2nd Congress of the Fourth International
- ↑ "The USSR and Stalinism", Fourth International, June 1948.
- ↑ "The Third World Congress of the Fourth International" เก็บถาวร 2006-03-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , Fourth International, November 1951.
- ↑ "The Fourth International in Vietnam" เก็บถาวร 2006-02-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , Revolutionary History, Vol. 3 No. 2, Autumn 1990.
- ↑ International Secretariat of the Fourth International, "An Open Letter to Congress, Central Committee and Members of the Yugoslav Communist Party", Fourth International, July 1948.
- ↑ Pierre Frank, "Evolution of Eastern Europe", Fourth International, November 1951.
- ↑ "Theses on Orientation and Perspectives", Fourth International, November 1951.
- ↑ "The International Situation and Tasks in the Struggle against Imperialist War", Fourth International, November 1951.
- ↑ Michel Pablo, "World Trotskism Rearms", Fourth International, November 1951.
- ↑ Letters exchanged between Daniel Renard and James P. Cannon, February 16 and May 9, 1952
- ↑ International Committee Documents 1951–1954, Vol. 1, Section 4, (Education for Socialists)
- ↑ 51.0 51.1 SWP, "Open Letter to Trotskyists Throughout the World", Militant, November 16, 1953.
- ↑ "Resolution forming the International Committee", SWP Internal Bulletin; Michel Pablo, Pierre Frank and Ernest Germain, "Letter from the Bureau of the IS to the leaderships of all sections", November 15, 1953, Education for Socialists Bulletin.
- ↑ "David North addresses Sri Lankan Trotskyists on the 50th anniversary of the ICFI", World Socialist Web Site, November 21, 2003.
- ↑ "Resolution of the International Committee instructing publication of the documents", August 24, 1973, Workers Press, August 29, 1973.
- ↑ International Secretariat: "To all Members and All Organizations of the International Committee", Education for Socialists Bulletin.
- ↑ Michel Pablo, "The Post-Stalin 'New Course'", Fourth International, March 1953; Michel Pablo, The 4th International: What it is, What it aims at, Publications of the Fourth International, 1958.
- ↑ John McIlroy, "The Revolutionary Odyssey of John Lawrence" เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, What Next, No. 26, 2003.
- ↑ Pierre Frank, The Fourth International: The Long March of the Trotskyists, London 1979.
- ↑ Robert Alexander https://books.google.com/books?id=_eUtQjseKaIC&lpg=PA534&ots=AdRQT__QNJ&dq=%22Fourth%20International%22%20%22tan%20malaka%22&pg=PA534#v=onepage&q=%22Fourth%20International%22%20%22tan%20malaka%22&f=false
- ↑ 60.0 60.1 "Trotskyism and the Cuban Revolution: A Debate" เก็บถาวร 2004-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Intercontinental Press, May 11, 1981, on the What Next? website.
- ↑ 61.0 61.1 Farrell Dobbs and Joseph Hansen, Reunification of the Fourth International, International Socialist Review 1963.
- ↑ Ernest Mandel and Joseph Hansen, "Dynamics of World Revolution Today" เก็บถาวร 2011-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , International Socialist Review, Fall 1963.
- ↑ Gerry Healy, "Letter to the Fourth International", in Marxism vs. ultraleftism : the record of Healy’s break with Trotskyism. Edited by Joseph Hansen
- ↑ Alex Callinicos, "Regroupment, Realignment, and the Revolutionary Left" เก็บถาวร 2006-05-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , IST Discussion Bulletin, No. 1, July 2002.
- ↑ "About the International Committee of the Fourth International" เก็บถาวร 2006-05-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , World Socialist Web Site.
- ↑ Peter Schwarz, "Meetings on 50 years of the International Committee of the Fourth International", World Socialist Web Site.
- ↑ Peter Taaffe, A Socialist World is Possible: The history of the CWI เก็บถาวร 2005-07-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , Committee for a Workers' International.
- ↑ "Manifesto of the 4th World Congress", on the Socialist Organizer website.
- ↑ "Forward to the Fifth International!" เก็บถาวร 2006-05-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , on the League for the Fifth International website.
- ↑ "Les fondements programmatiques de notre politique", Lutte de classe, No. 77, December 2003. (ในภาษาฝรั่งเศส)
- ↑ Sean Matgamna, "What we are, what we do and why we do it" , Solidarity 3/72, April 28, 2005.
- ↑ Peter Schwarz, "The politics of opportunism: the 'radical left' in France", World Socialist Web Site.
- ↑ David North, "Ernest Mandel, 1923–1995: A critical assessment of his role in the history of the Fourth International" เก็บถาวร 2006-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , World Socialist Web Site.
- ↑ "The Fourth International" เก็บถาวร 2008-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , International Socialist Group website.