ข้ามไปเนื้อหา

สิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย
ประเทศไทย
กิจกรรมของบุคคลเพศเดียวกันชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ พ.ศ. 2500[1]
อายุที่รับรู้ยินยอมคือ 15 ปี[2]
อัตลักษณ์ทางเพศ/การแสดงออกบุคคลข้ามเพศไม่สามารถเปลี่ยนเพศในทางกฎหมาย
รับราชการทหารเกย์และเลสเบียนสามารถรับราชการทหารได้อย่างเปิดเผย
บุคคลข้ามเพศได้รับการยกเว้น
ความคุ้มครองจากการถูกเลือกปฏิบัติมีการคุ้มครอง (แต่จะมีผลบังคับใช้ในอนาคต)
สิทธิในครอบครัว
การรับรอง
ความสัมพันธ์
มีการสมรสเพศเดียวกัน เริ่ม 22 มกราคม พ.ศ. 2568[3]
การรับบุตรบุญธรรมมี เริ่ม 22 มกราคม พ.ศ. 2568[4]

ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่อดกลั้นและเป็นมิตรต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมากที่สุดประเทศหนึ่งในทวีปเอเชีย[5] โดยที่กิจกรรมทางเพศของเพศเดียวกันนั้นชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ พ.ศ. 2500[1] รัฐบาลไทยยังส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติท่องเที่ยวในประเทศไทยเพราะเป็นประเทศที่ต้อนรับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างดี[6] ทว่า การเลือกปฏิบัติและการดูถูกเหยียดหยามกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศก็ยังปรากฏอยู่กว้างขวางในสังคมไทย[7]

ปัจจุบันสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้มีการรับรองและคุ้มครองในทางกฎหมายเทียบเท่ากับบุคคลต่างเพศ หลังจากที่มีความพยายามจากนักวิชาการและกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อรณรงค์การออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิดังกล่าว[8][9][10][11][12]

สถานะทางกฎหมาย

[แก้]

กิจกรรมทางเพศของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นกำหนดให้เป็นความผิดมาอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2451 เนื่องจากได้มีการประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ขึ้น โดยในมาตรา 242 บัญญัติไว้ว่า[13]

"ผู้ใดทำชำเรา ผิดธรรมดามนุษย์ ด้วยชายก็ดี หญิงก็ดี หรือทำชำเราด้วยสัตว์เดียรฉานก็ดี ท่านว่ามันมีความผิด ต้องรวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนขึ้นไปจนถึงสามปี แลให้ปรับตั้งแต่ห้าสิบบาทขึ้นไป จนถึงห้าร้อยบาท ด้วยอีกโสดหนึ่ง"

เหตุผลสำคัญในการตรากฎหมายลักษณะอาญาฯ และบัญญัติโทษดังกล่าวสืบเนื่องมาจากความพยายามของรัฐไทยที่ต้องการให้ระบบกฎหมายของไทยสอดคล้องกับธรรมเนียมปฏิบัติของมหาอำนาจยุโรปในสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหราชอาณาจักรสมัยวิคตอเรีย แต่กระนั้น จากหลักฐานก็ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินคดีทางศาลอันเกี่ยวเนื่องกับความผิดนี้แต่อย่างใด และตำรวจไทยเองก็มองข้ามกิจกรรมทางเพศของบุคคลเพศเดียวกัน ตราบเท่าที่เป็นกิจกรรมที่ได้รับความยินยอมจากทั้งคู่[1]

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาแทนที่กฎหมายลักษณะอาญาฉบับเดิม โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2500 เป็นต้นไป[14] และไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับมาตรา 242 ของกฎหมายลักษณะอาญาในประมวลกฎหมายฉบับใหม่ ส่งผลให้กิจกรรมทางเพศของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นชอบด้วยกฎหมายไปโดยปริยายตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นไป[1]

เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2545 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกหนังสือที่ สธ 0605/375 รับรองว่าบุคคลรักเพศเดียวกันมิได้ถือเป็นผู้มีความผิดปกติทางจิตหรือป่วยเป็นโรคแต่อย่างใด โดยอ้างอิงถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) และตามบัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ ICD-10 ฉบับแก้ไข ครั้งที่ 1 ไทย-อังกฤษ เล่มที่ 1 (ก) ตารางการจัดกลุ่มโรค องค์การอนามัยโลก ซึ่งได้เอาลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างคนรักเพศเดียวกันออกจากกลุ่มคนที่มีความผิดปกติทางจิต[15]

ในปี พ.ศ. 2550 ได้มีการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาอีกครึ่งหนึ่ง โดยได้เพิ่มนิยามคำว่า "กระทำชำเรา" ในมาตรา 276 ให้ครอบคลุมถึง "การใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น" ซึ่งเป็นการคุ้มครองทั้งผู้ชายและผู้หญิงจากการถูกกระทำชำเรา เพราะความในกฎหมายฉบับเดิมคุ้มครองเฉพาะผู้หญิงที่ถูกผู้ชายกระทำเท่านั้น[16]

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554 ศาลปกครองกลางพิพากษาให้กระทรวงกลาโหมเพิกถอนคำว่า "เป็นโรคจิตถาวร" ในใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกิน (สด. 43), ใบสำคัญสำหรับคนจำพวกที่ 4 (สด.5) และใบสำคัญให้รับราชการทหาร (สด.9) ของบุคคลที่ยังไม่ผ่าตัดแปลงเพศ แต่มีการเสริมหน้าอก เนื่องจากคำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมจึงแก้ข้อความในพระราชบัญญัติราชการทหาร พ.ศ. 2497 เป็น "ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด" แทน เพื่อแสดงให้เห็นว่าบุคคลดังกล่าวไม่อาจเข้ารับราชการทหารได้ตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป[17][18]


22 สิงหาคม พ.ศ. 2562 มีความพยายามก่อตั้งคณะกรรมการธิการสามัญเรื่องคนหลากหลายทางเพศในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจะบริหารจัดการที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีปัญหาการกดทับเชิงโครงสร้างทางสังคมไทย แต่มีเสียงสนับสนุนเพียง 101 เสียง โดยที่เหลืออีก 365 เสียงคัดค้าน[19]

กฎหมายสมรสเท่าเทียม

[แก้]
ป้ายผ้ารณรงค์ "สมรสเท่าเทียม" ในงานไพรด์กรุงเทพฯ 2022

6 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ได้เกิดกระแสแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม ในทวิตเตอร์ของประเทศไทยขึ้นเป็นอันดับ 6 ภายหลังสำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดรับความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมีธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ร่วมกับคณะ เป็นผู้เสนอ สาระสำคัญประกอบด้วยการเสนอขอแก้ไขเพื่อให้บุคคลเพศเดียวกันและต่างเพศสามารถทำการหมั้นและสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้มีการเปลี่ยนตำว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา” เป็น “ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส”[20] โดยได้มีผู้ลงความคิดเห็นแล้วรวมมากกว่า 50,000 คน

โดยร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมเคยเข้าสู่สภาและได้รับหลักการวาระแรกมาเมื่อปี พ.ศ. 2565 แต่ช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ล่าช้า ทำให้ไม่สามารถหยิบมาพิจารณาต่อในวาระ 2 และ 3 ได้ เพราะพ้นกำหนด 60 วัน[21] จึงต้องมีการนำร่างเข้าสภาอีกครั้ง พร้อมกับร่างกฎหมายฉบับคณะรัฐมนตรี, ฉบับอรรณว์ ชุมาพร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 11,611 คน, และฉบับสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์[22]

27 มีนาคม พ.ศ. 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว โดยที่ประชุมสภามีมติเห็นด้วย 400 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง จากนั้นก็นำร่างกฎหมายให้วุฒิสภาพิจารณา โดยในวันที่ 18 มิถุนายน ณ ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 18 โดยก่อนหน้านี้ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของวุฒิสภา มีความเห็นว่าควรบังคับใช้หลังจาก 120 วัน นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เนื่องด้วยเป็นช่วงเวลาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยได้มีเวลาเตรียมการ เช่น เตรียมทะเบียนสมรสที่จะใช้ และออกระเบียบให้สอดคล้องกับ หลักศาสนาของเจ้าหน้าที่ที่เป็นมุสลิมเพื่อง่ายต่อการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น[23]

24 กันยายน พ.ศ. 2567 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยจะบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (22 มกราคม พ.ศ. 2568)[24]

กฎหมายคุ้มครองเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ

[แก้]

ในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558 ก็ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อคุ้มครองผู้ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ โดยมีผลใช้บังคับในอีก 180 วัน หรือตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ประเทศไทยได้ตกลงเข้าเป็นประเทศภาคีสมาชิก[25][26]

กฎหมายฉบับนี้คุ้มครอง "บุคคลที่มีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด" จากการถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมอันได้แก่ การแบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม จากการกำหนดนโยบาย กฎ ระเบียบ หรือวิธีปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชนหรือบุคคลใด และเปิดโอกาสให้บุคคลผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยฯ เพื่อดำเนินการระงับและป้องกันการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งการชดเชยและเยียวยาอีกด้วย[26]

การคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

[แก้]

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550

[แก้]

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และ 2550 ได้บัญญัติคุ้มครองบุคคลจากการถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมในเรื่องเพศ สภาพทางกาย และสถานะของบุคคลไว้อย่างกว้างๆ (มาตรา 30) และสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้ เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน (มาตรา 28)

ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558

[แก้]

ในกระบวนการยกร่างร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอให้ใส่คำว่า เพศสภาพ ลงไปในมาตรา 34 ของร่างรัฐธรรมนูญเพื่อคุ้มครองเสรีภาพของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ อย่างไรก็ตามคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีความเห็นว่าควรตัดคำดังกล่าวออกไปเนื่องจาก "การกำหนดในเรื่องการเลือกปฏิบัติโดยไม่ธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ เพศ อายุ เป็นต้นนั้น ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 สามารถตีความในเชิงคุ้มครองสิทธิได้อย่างกว้างขวางอยู่แล้ว”[27] อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่เป็นที่สรุปว่าคำดังกล่าวจะถูกใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เนื่องจากการตัดสินใจอยู่ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี

ยิ่งไปกว่านั้น มาตรา 38 ของร่างรัฐธรรมนูญได้บัญญัติว่า "สิทธิของบุคคลในการสมรสและในครอบครัวย่อมได้รับการคุ้มครอง" ซึ่งได้เพิ่ม "สิทธิในการสมรส" ขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ที่ได้คุ้มครองสิทธิในครอบครัวเพียงอย่างเดียว[28] แต่ทว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานฯ ได้ตัดสิทธิในการสมรสออก ตามคำขอของคณะรัฐมนตรีที่เสนอให้ตัดออกเพราะกังวลว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสิทธิในการสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกันที่สังคมและวัฒนธรรมไทยยังไม่เป็นไปตามการให้สิทธิไว้อย่างบางประเทศ[27][29][30]

การรับรองสถานะความสัมพันธ์

[แก้]
คู่รักในชุดแต่งงานร่วมเดินรณรงค์การรับรองสถานะการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในงานไพรด์ที่กรุงเทพเมื่อปี 2565

ในปัจจุบัน การสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกันในประเทศไทยนั้นไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายรองรับ และขัดต่อมาตรา 1448 และ 1458 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า "การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว" และ "การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน" ตามลำดับ ยิ่งไปกว่านั้น การใช้คำของประมวลกฎหมายดังกล่าวในมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น ได้กำหนดใช้เฉพาะคำว่า "ชาย" และ "หญิง" ไว้โดยตลอด ส่งผลให้คู่ครองเพศเดียวกันยังไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2555 นายนที ธีระโรจนพงษ์และคู่ชีวิตได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรส ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ทางอำเภอเมืองเชียงใหม่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสให้ทั้งคู่ได้ เนื่องจากขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในหมวดเงื่อนไขแห่งการสมรส[31]

ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต

[แก้]

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้มีการรณรงค์ผลักดันร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ "ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต" เพื่อเปิดทางให้คู่ครองเพศเดียวกันทำการสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งถ้าหากมีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่มีการรับรองสถานะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน

การรณรงค์ต่างๆ ประกอบไปด้วยการจัดเสวนาหัวข้อ "ประเทศไทยจะกลายเป็นชาติแรกในเอเชีย ที่ผ่านกฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิตหรือไม่" (Could Thailand become the first Asian country to legalize same-sex civil unions?) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT)[32], เสวนาหัวข้อ “ทำไมต้องมี พ.ร.บ.คู่ชีวิต (ฉบับประชาชน) เพื่อการแต่งงานที่เท่าเทียมในสังคมไทย” เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร[33], เสวนาหัวข้อ “ร่างพรบ.คู่ชีวิต ฉบับภาคประชาชน ถึงไหน อย่างไร จะผ่านหรือไม่?” เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558[34] เป็นต้น

เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ได้มีการจัดงาน Gender&LGBTIQs in Modern Society โดยกลุ่ม Cafe Democฯ ที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้มีทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบจากมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่เข้าตรวจสอบการ​งาน และกำชับผู้จัดงานและวิทยากรในงานเสวนาห้ามพูดประเด็นทางการเมือง นายชานันท์ ยอดหงษ์ นักศึกษาระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักวิชาการด้านเพศ หนึ่งในวิทยากรงานเสวนาได้โพสต์ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กว่า การที่เจ้าหน้าที่พยายามระงับการจัดงานเสวนาทางวิชาการในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการคุกคามทางวิชาการ[35]

ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะรับรองความสัมพันธ์ของบุคคลเพศเดียวกันในรูปแบบคู่ชีวิต (Civil union) ไม่ใช่การสมรส (Same-sex marriage) แต่อย่างใด โดยมีสิทธิและหน้าที่ด้อยกว่าคู่สมรสตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์[36] โดยมีเนื้อหาในเบื้องต้นดังนี้[37]

  • บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันแสดงความยินยอมให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียน
  • บุคคลมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย
  • ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิตให้นำบทบัญญัติว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสมาใช้โดยอนุโลม
  • คู่ชีวิตมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายเสมือนคู่สมรส เช่น สิทธิในการใช้ชื่อสกุล, สิทธิตามกฎหมายเกี่ยวกับการประกันภัยหรือประกันชีวิต, สิทธิตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, สิทธิตามกฎหมายประกันสังคม, สิทธิในการลดหย่อนภาษี, สิทธิของผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และสิทธิอื่นๆ ตามกฎหมาย
  • ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิตให้นำบทบัญญัติว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างสามีภริยามาใช้โดยอนุโลม
  • คู่ชีวิตย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย, การสมัครใจเลิกกันโดยการจดทะเบียน หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน
  • สิทธิและหน้าที่ในการรับมรดกของคู่ชีวิตให้นำบทบัญญัติว่าด้วยมรดกมาใช้โดยอนุโลม

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ 2563 รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... และ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแล้ว โดยมีสาระสาระสำคัญ คือ[38]

  1. "คู่ชีวิต" หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้
  2. กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้
  3. กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย
  4. กำหนดให้ในกรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ย่อมบรรลุ นิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต
  5. กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 3 และ 5 (2) และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 29 วรรคหนึ่ง) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  6. กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกัน
  7. คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียน รับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตน ด้วยก็ได้
  8. เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่ เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
  9. กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยคู่สมรส (มาตรา 1606 1652 1563) ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม

ผลสำรวจ

[แก้]

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรได้ดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยได้ทำการสำรวจบุคคลกว่า 1,153 คนในช่วงปี พ.ศ. 2556[39] โดยมีผลสำรวจดังนี้[40]

สถานที่ทำการสำรวจ /
วันที่ทำการสำรวจ
เห็นด้วย (%) ไม่เห็นด้วย (%) ไม่มีความเห็น (%)
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556[41]
91.77 3.74 4.49
วิทยาลัยเทคนิคสงขลา จังหวัดสงขลา
1 มีนาคม พ.ศ. 2556[42]
87.68 6.60 5.72
มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กรุงเทพฯ
28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556[43]
77.56 11.42 11.02
อาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ
19 เมษายน พ.ศ. 2556[44]
71.93 13.38 14.69

การใช้ชีวิตของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย

[แก้]
ป้ายรณรงค์ใจความว่า "LGBTQ+ ไม่ใช่ตัวตลก" ในงานไพรด์ที่กรุงเทพฯ ปี 2565

การดูถูกเหยียดหยาม

[แก้]

ปัจจุบันกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้ถูกเสียดสีเหยียดหยามผ่านคำศัพท์และประโยคต่างๆ ทั้งในชีวิตประจำวันและทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น[งานค้นคว้าต้นฉบับ?]

  • (เพศชาย) สายเหลือง, ระเบิดถังขี้, ตุ๋ย, ถั่วดำ, โบรคแบค, ฟันดาบ, สบู่ตก, ขุดทอง, คู่ขา, เหม็นขี้, เสียบตูด, ทะลวงตูด เป็นต้น
  • (เพศหญิง) นิ้วเย็น ๆ หรือจะสู้เอ็นอุ่น ๆ, เปลี่ยนทอมเป็นเธอ, รับซ่อมทอม, ตีฉิ่ง, วงดนตรีไทย, วงมโหรี, แก้ทอม, ซ่อมดี้, คืนสตรีสู่สังคมไทย เป็นต้น

ไอศกรีมวอลล์กับไอศกรีมถั่วดำ

[แก้]

เมื่อปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ในช่วงเวลาเดียวกับศาลสูงสุดสหรัฐที่ได้มีคำพิพากษาให้การสมรสเพศเดียวกันชอบด้วยกฎหมายทั่วประเทศในคดีระหว่างโอเบอร์กะเฟลกับฮ็อดจิส และเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กได้รณรงค์เฉลิมฉลองผ่านแคมเปญ Celebrate Pride โดยการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ของตนเป็นสีรุ้ง[45] ซึ่งคนไทยจำนวนมากได้เข้าร่วมโครงการนี้ ทางด้านไอศกรีมวอลล์ ประเทศไทยจึงได้เลือกใช้ภาพ "ไอศกรีมถั่วดำ" พื้นหลังสีรุ้งโพสต์ลงในหน้าหลักของตน พร้อมกับคำบรรยายภาพว่า "วอลล์สนับสนุนทุกความรักนะคร้าบ" และแฮชแท็คว่า #lovewins

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้คนไทยจำนวนมากแสดงความไม่พอใจ เนื่องจากคำว่า "ถั่วดำ" เป็นคำที่เสียดสีกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ แม้ว่าภายหลังทางไอศกรีมวอลล์จะได้ลบรูปภาพดังกล่าวและแถลงการขอโทษผ่านเครือข่ายออนไลน์ดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย แต่คนไทยจำนวนหนึ่งก็ยังคงไม่พอใจไอศกรีมวอลล์ เนื่องจากการกระทำครั้งนี้มิใช่ครั้งแรก เพราะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทางไอศกรีมวอลล์ก็ได้เคยลงภาพ "ไอศกรีมถั่วดำ" พร้อมข้อความ "เพื่อน...ตูรักมึงนะ" และ "พี่รู้มั้ย..ชั้นมารอพี่ที่สีลมทุกวันเลยนะ"[46][47] มาก่อนหน้านี้แล้ว

ตารางสรุป

[แก้]
กิจกรรมทางเพศของบุคคลเพศเดียวชอบด้วยกฎหมาย ใช่ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2500)
อายุที่รับรู้ยินยอมเท่ากัน ใช่ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2540)
กฎหมายป้องกันการเลือกปฏิบัติในสถานทำงาน ใช่ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2558)
กฎหมายป้องกันการเลือกปฏิบัติในการบริโภคสินค้าและบริการ ใช่ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2558)
กฎหมายป้องกันการเลือกปฏิบัติในด้านอื่น ๆ (รวมถึงการเลือกปฏิบัติโดยอ้อม, การสื่อสารความเกลียดชัง) ไม่มี (ไม่เคยระบุ)
กฎหมายป้องกันการเลือกปฏิบัติในการศึกษา ไม่มี (ไม่เคยระบุ)
การสมรสเพศเดียวกัน ใช่ (ตั้งแต่ 22 ม.ค. พ.ศ. 2568)
การยอมรับสถานะคู่ชีวิตเพศเดียวกัน ใช่ (ตั้งแต่ 22 ม.ค. พ.ศ. 2568)
การรับบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตเพศเดียวกัน ใช่ (ตั้งแต่ 22 ม.ค. พ.ศ. 2568)
การรับบุตรบุญธรรมร่วมของคู่ชีวิตเพศเดียวกัน ใช่ (ตั้งแต่ 22 ม.ค. พ.ศ. 2568)
เกย์และเลสเบียนสามารถรับราชการทหารได้โดยเปิดเผย ใช่ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2548)
สิทธิในการเปลี่ยนเพศในทางกฎหมาย ไม่มี (รอดำเนินการ)[48]
สิทธิในการผ่าตัดแปลงเพศ ใช่ (ไม่เคยระบุ)[49]
ตัวเลือกเพศที่สาม ไม่มี (รอดำเนินการ)[48]
การรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมโดยคนโสดโดยไม่คำนึงถึงรสนิยมทางเพศ ไม่มี (ยกเว้นผู้หญิงโสดสำหรับเด็กที่มี 'ความต้องการพิเศษ')
การบำบัดพฤติกรรมรักร่วมเพศในผู้เยาว์ ใช่
ผู้เยาว์ที่มีเพศกำกวมได้รับการคุ้มครองจากขั้นตอนการผ่าตัดที่รุกราน ไม่มี
การรักร่วมเพศสามารถเปิดเผยได้ ใช่ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2545)
การเข้าถึงการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (IVF) สำหรับเลสเบียน ใช่ (เป็นส่วนหนึ่งของคู่สามีภรรยา ตั้งแต่ 22 ม.ค. พ.ศ. 2568)[50]
การอุ้มบุญเชิงพาณิชย์สำหรับคู่รักชาย ไม่มี
ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) สามารถบริจาคเลือด ไม่ได้

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Assessment of sexual health needs of males who have sex with males in Laos and Thailand หมายเหตุ: ในรายงานได้ระบุว่าโทษผิดธรรมดามนุษย์ (Offences against the human order) ที่ได้มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญาฯ นั้นได้ถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ. 2499 (ค.ศ. 1956) แต่ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ซึ่งเป็นกฎหมายแทนที่กฎหมายลักษณะอาญาฯ เริ่มมีผลบังคับใช้จริงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) เป็นต้นไป
  2. ราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๓๐
  3. "'Monumental step as Thai King signs same-sex marriage into law': Thailand to become first Southeast Asian nation to legalize same-sex marriage". 24 September 2024.
  4. "'Monumental step as Thai King signs same-sex marriage into law': Thailand to become first Southeast Asian nation to legalize same-sex marriage". 24 September 2024.
  5. Top gay-friendly destinations เก็บถาวร 2015-02-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Lonely Planet
  6. "Go Thai. Be Free". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-19. สืบค้นเมื่อ 2019-04-06.
  7. Rising LGBT discrimination challenges Thailand’s culture of tolerance เก็บถาวร 2014-11-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Asian Correspondent
  8. ‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่านสภาฯ แล้ว โหวตฉลุย 400 ต่อ 10 เสียง ส่งไม้ต่อให้ สว.
  9. ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.
  10. วุฒิสภาผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว ส่งไทยเป็นชาติแรกในอาเซียนมี กม. แต่งงานบุคคลเพศเดียวกัน
  11. ผ่านแล้ว! สว. ชุดพิเศษ ยกมือโหวตเห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม
  12. ‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่านแล้ว! คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันได้ตามกฎหมาย เตรียมประกาศใช้ภายใน 120 วัน
  13. ราชกิจจานุเบกษา กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗
  14. "พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-06. สืบค้นเมื่อ 2015-06-23.
  15. "การรักเพศเดียวกันกับบัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-06-23.
  16. กฎหมายข่มขืนใหม่ ทำอะไรจะผิดฐานข่มขืนบ้าง?
  17. "ศาลสั่งกห.ถอนคำ'โรคจิตถาวร'". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-04-10. สืบค้นเมื่อ 2021-11-22.
  18. ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนใบตรวจเลือกทหารกองเกิน สด.43, สด.5, และ สด.9 ของสาวประเภท 2[ลิงก์เสีย]
  19. "เปิดชื่อโหวตกรรมาธิการฯ หลากหลายทางเพศ ใครหนุนตั้ง-ใครคว่ำ". สนุก.คอม. 23 สิงหาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  20. "#สมรสเท่าเทียม สู่ปมแก้ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ". ไทยพีบีเอส. 2020-06-07. สืบค้นเมื่อ 2020-06-07.
  21. "เส้นทาง 22 ปี สู่ "สมรสเท่าเทียม" อีกขั้นสู่ความเท่าเทียม". Thai PBS.
  22. "เส้นทาง 23 ปี กว่าจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อให้ 'ทุกเพศ' เท่ากัน". plus.thairath.co.th.
  23. ""Pride Month 2567" อัปเดต "สมรสเท่าเทียม" กฎหมายถึงขั้นไหน". Thai PBS.
  24. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศแล้ว พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
  25. "พรบ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-06-26.
  26. 26.0 26.1 "พระราชบัญญัติ ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-04-17. สืบค้นเมื่อ 2015-06-26.
  27. 27.0 27.1 สรุปกม.สิทธิหลากหลายทางเพศในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เก็บถาวร 2015-07-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ
  28. เทียบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และ 2550 กับฉบับปฏิรูป สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
  29. ปรับร่างแก้ไข รธน.2 วันผ่าน 48 มาตรา ประชาไท
  30. Thai lawmakers scrap rights of LGBT to legally marry Prachathai
  31. ""เกย์นที" แห้ว! อำเภอปฏิเสธจดทะเบียนสมรส-เล็งฟ้องศาลปกครอง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-12. สืบค้นเมื่อ 2015-06-22.
  32. ประชาไท เสวนาความคืบหน้า พ.ร.บ.คู่ชีวิต #1: วิรัตน์ กัลยาศิริ - อัญชนา สุวรรณานนท์
  33. เสวนาร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต (ฉบับประชาชน) ของเพศทางเลือก[ลิงก์เสีย]
  34. คอลัมน์ สร้างสุข: ร่าง พรบ.คู่ชีวิตประตูสู่ความเท่าเทียม
  35. ทหารคุมเข้มเสวนา Gender&LGBTIQ งานเกือบล่ม เก็บถาวร 2015-07-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน VoiceTV
  36. http://www.ar.or.th/ImageData/Magazine/10046/DL_10332.pdf?t=636422760773190331
  37. "ศูนย์สิทธิมนุษยชน: ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. ..." (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-06-29.
  38. "ครม.เคาะ "ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต" เพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนได้". thansettakij.com. สืบค้นเมื่อ 2021-01-13.
  39. สรุปผลการประเมินผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ.....[ลิงก์เสีย]
  40. "ศูนยสิทธิมนุษยชน: ร่าง พรบ. การจดทะเบียนคู่ชีวิต" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-06-29.
  41. "ผลการวิเคราะห์ข้อมูล แบบสำรวจความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. ..... ครั้งที่ 2 ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-06-29.
  42. ผลการวิเคราะห์ข้อมูล แบบสำรวจความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. ..... ครั้งที่ 4 ในวันที่ 1 มีนาคม 2556 ณ จังหวัดสงขลา[ลิงก์เสีย]
  43. "ผลการวิเคราะห์ข้อมูล แบบสำรวจความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. ..... ครั้งที่ 1 ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์2556 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม จังหวัดกรุงเทพฯ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-06-29.
  44. "ผลการวิเคราะห์ข้อมูล แบบสำรวจความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. ..... ครั้งที่ 5 ในวันที่ 19 เมษายน 2556 ณ รัฐสภา กรุงเทพฯ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-06-29.
  45. CNN Gay pride: How the world turned into a rainbow this weekend
  46. VoiceTV แคมเปญออนไลน์ไอศกรีมดังเหยียดเพศผ่าน 'Celebrate Pride' เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  47. กระหน่ำดราม่า "วอลล์" ใช้ไอศกรีมถั่วดำแสดงความยินดีแด่เพศทางเลือก
  48. 48.0 48.1 Boonkong, Carla; O' Connor, Pranee (20 February 2024). "Full steam ahead on LGBTQ rights in Thailand, new gender identity law ordered by the PM at cabinet". สืบค้นเมื่อ 20 February 2024.
  49. "Gender Change". Plastic Surgery Phuket. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 May 2015. สืบค้นเมื่อ 6 November 2015.
  50. "Thailand becomes first South-East Asian country to legalise same sex marriage". ABC News (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 2024-06-18. สืบค้นเมื่อ 2024-09-28.