อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ | |
---|---|
ภาพถ่ายของไอน์สไตน์ขณะมีอายุ 42 ปี | |
เกิด | 14 มีนาคม พ.ศ. 2422 อุล์ม ราชอาณาจักรเวือร์ทเทิมแบร์ค จักรวรรดิเยอรมัน |
เสียชีวิต | 18 เมษายน พ.ศ. 2498 (76 ปี) พรินสตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐ |
สัญชาติ | เวือร์ทเทิมแบร์ค (พ.ศ. 2422–2439) ไร้สัญชาติ (พ.ศ. 2439–2444) |
อาชีพ | นักฟิสิกส์ทฤษฎี |
มีชื่อเสียงจาก | ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ ปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก การเคลื่อนที่ของบราวน์ สมการสนามของไอน์สไตน์ ทฤษฎีแรงเอกภาพ |
ลายมือชื่อ | |
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (อังกฤษ: Albert Einstein, ออกเสียง: /ˈaɪnstaɪn/)[1] หรือ อัลแบร์ท ไอน์ชไตน์ (เสียงอ่านภาษาเยอรมัน: [ˈalbɛʁt ˈʔaɪnʃtaɪn]; 14 มีนาคม ค.ศ. 1879 – 18 เมษายน ค.ศ. 1955) เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวเยอรมันมาแต่โดยกำเนิด[2] ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในนักฟิสิกส์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ไอน์สไตน์ได้เป็นที่รู้จักกันในการพัฒนาทฤษฎีสัมพัทธภาพ แต่เขายังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม ทฤษฎีสัมพัทธภาพและทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัมเป็นสองเสาหลักของฟิสิกส์สมัยใหม่ สูตรความสมมูลมวล–พลังงานของเขา E = mc2 ซึ่งเกิดจากทฤษฎีสัมพัทธภาพจึงได้รับการขนานนามว่า เป็น "สมการที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก"[3] ผลงานของเขาได้เป็นที่รู้จักจากอิทธิพลที่มีต่อปรัชญาทางวิทยาศาสตร์[4][5] เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี ค.ศ. 1921 "สำหรับทำหน้าที่ทางด้านฟิสิกส์ทฤษฏี" โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการค้นพบปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก[6] ขั้นตอนสำคัญในการพัฒนาทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม ความสำเร็จทางปัญญาและความคิดริเริ่มของเขาส่งผลให้ "ไอน์สไตน์" กลายเป็นคำพ้องที่มีความหมายตรงกับคำว่า "จีเนียส"(อัจฉริยะ)[7]
ในปี ค.ศ. 1905 ปีนั้นได้ถูกเรียกกันเป็นบางครั้งว่า annus mirabilis (ปีที่มหัศจรรย์) ไอน์สไตน์ได้ตีพิมพ์บทความถึงการค้นพบครั้งใหม่ถึงสี่ฉบับ[8] สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงทฤษฏีปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก ซึ่งได้อธิบายถึงการเคลื่อนที่แบบบราวน์ เป็นการนำเสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษและแสดงให้เห็นถึงความสมมูลมวล–พลังงาน ไอน์สไตน์คิดว่ากฏของกลศาสตร์คลาสสิคไม่อาจสอดคล้องกับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าได้อีกต่อไป ซึ่งทำให้เขาพัฒนาทฤษฏีสัมพันธภาพพิเศษ จากนั้นเขาได้ขยายทฤษฏีสนามแรงโน้มถ่วง เขาได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปในปี ค.ศ. 1916 เป็นการนำเสนอทฤษฏีแรงโน้มถ่วง ในปี ค.ศ. 1917 เขาได้ใช้ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปเพื่อสร้างแบบจำลองโครงสร้างของจักรวาล[9][10] เขายังคงจัดการกับปัญหาของกลศาสตร์เชิงสถิติและทฤษฎีควอนตัม ซึ่งนำไปสู่การอธิบายทฤษฎีอนุภาคและการเคลื่อนที่ของโมเลกุล นอกจากนี้เขายังตรวจสอบคุณสมบัติทางความร้อนของแสงและทฤษฎีควอนตัมของการแผ่รังสี ซึ่งเป็นรากฐานของทฤษฎีโฟตอนของแสง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาต่อมาของอาชีพการงานของเขา เขาคิดค้นงานวิจัยอยู่สองอย่าง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จเลย งานแรก แม้ว่าเขาจะมีส่วนอย่างมากในกลศาสตร์ควอนตัม เขาไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีของกลศาสตร์ควอนตัมที่พัฒนามาในภายหลังโดยปฏิเสธว่า ธรรมชาติ "จะไม่ทอยลูกเต๋า"[11] งานที่สอง เขาได้พยายามคิดค้นทฤษฎีสนามรวม โดยสรุปทฤษฎีความโน้มถ่วงทางเรขาคณิตเพื่อรวมเข้ากับทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นผลทำให้เขาตีตัวออกห่างจากกระแสหลักของฟิสิกส์สมัยใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ
ไอน์สไตน์เกิดในจักรวรรดิเยอรมัน แต่ย้ายไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1895 ได้ละทิ้งสัญชาติเยอรมัน (เป็นเรื่องของราชอาณาจักรเวือร์ทเทิมแบร์ค)[note 1] ภายหลังปีต่อมา ในปี ค.ศ. 1897 เมื่อมีอายุได้ 17 ปี เขาได้สมัครเรียนหลักสูตรการสอนคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ระดับอนุปริญญาที่โรงเรียนสารพัดช่างแห่งสหพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส ซือริช) ในเมืองซือริช ซึ่งจบการศึกษาในปี ค.ศ. 1900 ในปี ค.ศ. 1901 เขาได้รับสัญชาติสวิส ซึ่งเขาได้เก็บเอาไว้ตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ และในปี ค.ศ. 1903 เขาได้ดำรงตำแหน่งอย่างถาวรที่สำนักงานสิทธิบัตรสวิสในกรุงเบิร์น ในปี ค.ศ. 1905 เขาได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยซือริช ในปี ค.ศ. 1914 ไอน์สไตน์ได้ย้ายไปยังกรุงเบอร์ลินตามคำสั่งในการเข้าร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งปรัสเซียและมหาวิทยาลัยฮุมบ็อลท์แห่งเบอร์ลิน ในปี ค.ศ. 1917 ไอน์สไตน์ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันฟิสิกส์ไคเซอร์วิลเฮล์ม เขายังได้กลายเป็นพลเมืองชาวเยอรมันอีกครั้ง - ปรัสเซียในช่วงเวลานั้น ในปี ค.ศ. 1933 ในขณะที่ไอน์สไตน์ได้ไปเยือนที่สหรัฐอเมริกา อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ก็ก้าวขึ้นสู่อำนาจ ไอน์สไตน์ไม่ได้เดินทางกลับเยอรมนีเพราะเขาคัดค้านนโยบายของรัฐบาลที่นำโดยนาซีซึ่งได้รับเลือกตั้งขึ้นมาใหม่[12] เขาได้ตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกาและกลายเป็นพลเมืองอเมริกันในปี ค.ศ. 1940[13] ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เขาได้เขียนจดหมายไปถึงประธานาธิบดีสหรัฐแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ เพื่อย้ำเตือนเขาถึงโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของเยอรมนีที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และแนะนำให้สหรัฐเริ่มทำการวิจัยโครงการแบบเดียวกัน ไอน์สไตน์ได้ให้การสนับสนุนแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรแต่ส่วนใหญ่ก็ประณามแนวคิดเรื่องอาวุธนิวเคลียร์
ประวัติ
วัยเด็กและในวิทยาลัย
ไอน์สไตน์เกิดในเมืองอุล์ม ราชอาณาจักรเวือร์ทเทิมแบร์ค สมัยจักรวรรดิเยอรมัน ห่างจากเมืองชตุทการ์ทไปทางตะวันออกประมาณ 100 กิโลเมตร ซึ่งในปัจจุบันคือรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์ค ประเทศเยอรมนี บิดาของเขาชื่อว่า แฮร์มานน์ ไอน์สไตน์ เป็นพนักงานขายทั่วไปซึ่งกำลังทำการทดลองเกี่ยวกับเคมีไฟฟ้า มารดาชื่อว่า พอลลีน โดยมีคนรับใช้หนึ่งคนชื่อ คอช ทั้งคู่แต่งงานกันในโบสถ์ในสตุ๊ทการ์ท (เยอรมัน: Stuttgart-Bad Cannstatt) ครอบครัวของเขาเป็นชาวยิว (แต่ไม่เคร่งครัดนัก) อัลเบิร์ตเข้าเรียนในโรงเรียนประถมคาธอลิก และเข้าเรียนไวโอลิน ตามความต้องการของแม่ของเขาที่ยืนยันให้เขาได้เรียน
เมื่อเขาอายุได้ห้าขวบ พ่อของเขานำเข็มทิศพกพามาให้เล่น และทำให้ไอน์สไตน์รู้ว่ามีบางสิ่งบางอย่างในพื้นที่ที่ว่างเปล่า ซึ่งส่งแรงผลักเข็มทิศให้เปลี่ยนทิศไป เขาได้อธิบายในภายหลังว่าประสบการณ์เหล่านี้คือหนึ่งในส่วนที่เป็นแรงบันดาลใจให้แก่เขาในชีวิต แม้ว่าเขาชอบที่จะสร้างแบบจำลองและอุปกรณ์กลได้ในเวลาว่าง เขาถือเป็นผู้ที่เรียนรู้ได้ช้า สาเหตุอาจเกิดจากการที่เขามีความพิการทางการอ่านหรือเขียน (dyslexia) ความเขินอายซึ่งพบได้ทั่วไป หรือการที่เขามีโครงสร้างสมองที่ไม่ปกติและหาได้ยากมาก (จากการชันสูตรสมองของเขาหลังจากที่ไอน์สไตน์เสียชีวิต) เขายกความดีความชอบในการพัฒนาทฤษฎีของเขาว่าเป็นผลมาจากความเชื่องช้าของเขาเอง โดยกล่าวว่าเขามีเวลาครุ่นคิดถึงอวกาศและเวลามากกว่าเด็กคนอื่น ๆ เขาจึงสามารถสามารถพัฒนาทฤษฎีเหล่านี้ได้ โดยการที่เขาสามารถรับความรู้เชิงปัญญาได้มากกว่าและนานกว่าคนอื่น ๆ
ไอน์สไตน์เริ่มเรียนคณิตศาสตร์เมื่อประมาณอายุ 12 ปี โดยที่ลุงของเขาทั้งสองคนเป็นผู้อุปถัมถ์ความสนใจเชิงปัญญาของเขาในช่วงย่างเข้าวัยรุ่นและวัยรุ่น โดยการแนะนำและให้ยืมหนังสือซึ่งเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
ใน พ.ศ. 2437 เนื่องมาจากความล้มเหลวในธุรกิจเคมีไฟฟ้าของพ่อของเขา ทำให้ครอบครัวไอน์สไตน์ย้ายจากเมืองมิวนิก ไปยังเมืองพาเวีย (ใกล้กับเมืองมิลาน) ประเทศอิตาลี ในปีเดียวกัน เขาได้เขียนผลงานทางวิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่งขึ้นมา (คือ "การศึกษาสถานะของอีเธอร์ในสนามแม่เหล็ก") โดยที่ไอน์สไตน์ยังอาศัยอยู่ในบ้านพักในมิวนิกอยู่จนเรียนจบจากโรงเรียน โดยเรียนเสร็จไปแค่ภาคเรียนเดียวก่อนจะลาออกจากโรงเรียนมัธยมศึกษา กลางฤดูใบไม้ผลิ ในปี พ.ศ. 2438 แล้วจึงตามครอบครัวของเขาไปอาศัยอยู่ในเมืองพาเวีย เขาลาออกโดยไม่บอกพ่อแม่ของเขา และโดยไม่ผ่านการเรียนหนึ่งปีครึ่งรวมถึงการสอบไล่ ไอน์สไตน์เกลี้ยกล่อมโรงเรียนให้ปล่อยตัวเขาออกมา โดยกล่าวว่าจะไปศึกษาเป็นนักศึกษาแพทย์ฝึกหัดตามคำเชิญจากเพื่อนผู้เป็นแพทย์ของเขาเอง โรงเรียนยินยอมให้เขาลาออก แต่นี่หมายถึงเขาจะไม่ได้รับใบรับรองการศึกษาชั้นเรียนมัธยม
แม้ว่าเขาจะมีความสามารถชั้นเลิศในสาขาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่การที่เขาไร้ความรู้ใด ๆ ทางด้านศิลปศาสตร์ ทำให้เขาไม่ผ่านการสอบคัดเลือกเข้าสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสในเมืองซือริช (เยอรมัน: Eidgenössische Technische Hochschule หรือ ETH) ทำให้ครอบครัวเขาต้องส่งเขากลับไปเรียนมัธยมศึกษาให้จบที่อารอในสวิตเซอร์แลนด์ เขาสำเร็จการศึกษาและได้รับใบอนุปริญญาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2439 และสอบเข้า ETH ได้ในเดือนตุลาคม แล้วจึงย้ายมาอาศัยอยู่ในเมืองซือริช ในปีเดียวกัน เขากลับมาที่บ้านเกิดของเขาเพื่อเพิกถอนภาวะการเป็นพลเมืองของเขาในเวอร์เทมบูรก์ ทำให้เขากลายเป็นผู้ไร้สัญชาติ
ใน พ.ศ. 2443 เขาได้รับประกาศนียบัตรสำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสมาพันธรัฐสวิส ได้รับสิทธิ์พลเมืองสวิสในปี พ.ศ. 2444 และ พ.ศ. 2448 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เรียนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยซือริช[14]
งานในสำนักงานสิทธิบัตร
หลังจากจบการศึกษา ไอน์สไตน์ไม่สามารถหางานสอนหนังสือได้ หลังจากเพียรพยายามอยู่เกือบสองปี พ่อของอดีตเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งก็ช่วยให้เขาได้งานทำที่สำนักงานสิทธิบัตรในกรุงแบร์น[15] ในตำแหน่งผู้ช่วยตรวจสอบเอกสาร หน้าที่ของเขาคือการตรวจประเมินใบสมัครของสิทธิบัตรในหมวดหมู่อุปกรณ์แม่เหล็กไฟฟ้า ในปี พ.ศ. 2446 ไอน์สไตน์ก็ได้บรรจุเข้าเป็นพนักงานประจำ หลังจากถูกมองข้ามมานานจนกระทั่งกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจักรกล[16]
ไอน์สไตน์กับเพื่อนหลายคนที่รู้จักกันในแบร์น ได้รวมกลุ่มกันเป็นชมรมเล็กๆ สำหรับคุยกันเรื่องวิทยาศาสตร์และปรัชญา ตั้งชื่อกลุ่มอย่างล้อเลียนว่า "The Olympia Academy" พวกเขาอ่านหนังสือร่วมกันเช่น งานของปวงกาเร แม็ค และฮูม ซึ่งส่งอิทธิพลต่อแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์และปรัชญาของไอน์สไตน์มาก[17]
ตลอดช่วงเวลาเหล่านี้ ไอน์สไตน์แทบจะไม่ได้เข้าไปข้องเกี่ยวใดๆ กับชุมชนทางฟิสิกส์เลย[18] งานที่สำนักงานสิทธิบัตรของเขาโดยมากจะเกี่ยวกับปัญหาเรื่องการส่งสัญญาณไฟฟ้าและการซิงโครไนซ์ทางเวลาระหว่างระบบไฟฟ้ากับระบบทางกล ซึ่งเป็นสองปัญหาหลักทางเทคนิคอันเป็นจุดสนใจของการทดลองในความคิดยุคนั้น ซึ่งในเวลาต่อมาได้ชักนำให้ไอน์สไตน์ไปสู่ผลสรุปอันลึกซึ้งเกี่ยวกับธรรมชาติของแสงและความเกี่ยวพันพื้นฐานระหว่างอวกาศกับเวลา[16][17]
ชีวิตครอบครัว
ก่อนหน้านี้ เขามีแฟนคนแรกตอนเรียนมัธยมชื่อ มารี วินเทเลอร์ แต่ต้องแยกย้ายกันไปเมื่อเขาเข้าเรียนมหาวิทยาลัย
ไอน์สไตน์มีบุตรสาวหนึ่งคนกับมิเลวา มาริค ชื่อว่า ไลแซล (Lieserl) คาดว่าเกิดในตอนต้นปี พ.ศ. 2445 ที่เมือง Novi Sad[19]
ไอน์สไตน์แต่งงานกับมิเลวาเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2446 แม้จะถูกมารดาคัดค้านเพราะนางมีอคติกับชาวเซิร์บ และคิดว่ามาริคนั้น "แก่เกินไป" ทั้งยัง "หน้าตาอัปลักษณ์"[20][21] ความสัมพันธ์ของคนทั้งสองค่อนข้างจะเป็นส่วนตัวและเป็นคู่ชีวิตที่มีสติปัญญา ในจดหมายฉบับหนึ่งถึงหล่อน ไอน์สไตน์เรียกมาริคว่า "สิ่งมีชีวิตที่เสมอกันกับผม ผู้ซึ่งแข็งแรงและมีอิสระเฉกเช่นเดียวกัน"[22] มีการถกเถียงกันอยู่เป็นบางคราวว่า มาริคมีอิทธิพลต่องานของไอน์สไตน์บ้างหรือไม่ อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ต่างลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ไม่มี[23][24][25] บุตรคนแรกของไอน์สไตน์กับมิเลวา คือ ฮันส์ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2447 ที่กรุงแบร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ บุตรคนที่สองคือ เอดูอาร์ด เกิดที่ซือริชเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2453
อัลเบิร์ตกับมาริคหย่ากันเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 หลังจากแยกกันอยู่ 5 ปี ในวันที่ 2 มิถุนายนปีเดียวกันนั้น ไอน์สไตน์แต่งงานกับ เอลซา โลเวนธาล (นี ไอน์สไตน์) นางพยาบาลที่ช่วยดูแลอภิบาลระหว่างที่เขาป่วย เอลซาเป็นญาติห่างๆ ทั้งทางฝั่งพ่อและฝั่งแม่ของไอน์สไตน์ ครอบครัวไอน์สไตน์ช่วยกันเลี้ยงดู มาร์ก็อต และ อิลเซ ลูกสาวของเอลซาจากการแต่งงานครั้งแรกของเธอ[26] แต่ทั้งสองคนไม่มีลูกด้วยกัน อยู่ด้วยกันตลอดจนเธอป่วยเสียชีวิตในปีคศ 1936
วาระสุดท้ายของชีวิต
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ในช่วงปลายทางของชีวิตไอน์สไตน์พยายามคิดค้นทฤษฎีที่จะสามารถอธิบายแรงพื้นฐานธรรมชาติทุกชนิดได้ภายในทฤษฏีเดียวเรียกว่าทฤษฎีสนามรวม (Unified field theory) แต่ไม่สำเร็จ เขาเคยถูกเทียบเชิญมารับตำแหน่งประธานาธิบดีอิสราเอลพร้อมมอบสัญชาติในปี พ.ศ. 2495 โดยเดวิด เบนกูเรียน นายกรัฐมนตรีอิสราเอลในขณะนั้น ได้ส่งจดหมายผ่านสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล แต่ไอน์สไตน์ปฏิเสธด้วยเหตุผลถึงความไม่เชี่ยวชาญในด้านการเมืองและการบริหารของตนเอง[27]
วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2498 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวาย ที่เมืองพรินซ์ตัน รัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา ด้วยวัย 76 ปี ทฤษฎีในฝันของไอน์สไตน์คงต้องรอยอดอัจฉริยะคนใหม่มาสานงานต่อให้ลุล่วง แต่ผลงานของเขานั้นมากมายและยิ่งใหญ่มากแทบไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์คนหนึ่งจะทำได้
งานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การคิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ปี พ.ศ. 2448 ขณะที่ไอน์สไตน์ทำงานอยู่ที่สำนักงานสิทธิบัตร ก็ได้ตีพิมพ์บทความ 4 เรื่องใน Annalen der Physik ซึ่งเป็นวารสารทางฟิสิกส์ชั้นนำของเยอรมนี บทความทั้งสี่นี้ในเวลาต่อมาเรียกชื่อรวมกันว่า "Annus Mirabilis Papers"
- บทความเกี่ยวกับธรรมชาติเฉพาะตัวของแสง นำไปสู่แนวคิดที่ส่งผลต่อการทดลองที่มีชื่อเสียง คือปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก หลักการง่ายๆ ก็คือ แสงมีปฏิกิริยากับสสารในรูปแบบของ "ก้อน" พลังงาน (ควอนตา) เป็นห้วงๆ แนวคิดนี้เคยนำเสนอมาก่อนหน้านี้แล้วโดย แมกซ์ พลังค์ ในปี พ.ศ. 2443 ซึ่งเป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกับทฤษฎีเกี่ยวกับคลื่นแสงที่เชื่อกันอยู่ในยุคสมัยนั้น ซึ่งเขาอธิบายได้ว่า พลังงานของโฟตอนย่อมเท่ากับฟังก์ชันงาน(พลังงานที่น้อยที่สุดของโฟตอน) รวมอยู่กับพลังงานจลน์สูงสุดของโฟโต้อิเล็กตรอน
- บทความเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของบราวน์ อธิบายถึงการเคลื่อนไหวแบบสุ่มของวัตถุขนาดเล็กมากๆ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของโมเลกุล แนวคิดนี้สนับสนุนต่อทฤษฎีอะตอม
- บทความเกี่ยวกับอิเล็กโตรไดนามิกส์ของวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ เป็นกำเนิดของทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ แสดงให้เห็นว่าความเร็วของแสงที่กำลังสังเกตอย่างอิสระ ณ สภาวะการเคลื่อนที่ของผู้สังเกตจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงโดยพื้นฐานไปเหมือนๆ กัน ผลสืบเนื่องจากแนวคิดนี้รวมถึงกรอบของกาล-อวกาศของวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่จะช้าลงและหดสั้นลง (ตามทิศทางของการเคลื่อนที่) โดยสัมพัทธ์กับกรอบของผู้สังเกต บทความนี้ยังโต้แย้งแนวคิดเกี่ยวกับ luminiferous aether ซึ่งเป็นเสาหลักทางฟิสิกส์ทฤษฎีในยุคนั้น ว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น
- บทความว่าด้วยสมดุลของมวล-พลังงาน (ซึ่งก่อนหน้านี้เชื่อว่ามันไม่เกี่ยวข้องกันเลย) ไอน์สไตน์ปรับปรุงสมการสัมพัทธภาพพิเศษของเขาจนกลายมาเป็นสมการอันโด่งดังที่สุดแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 คือ E = mc2 ซึ่งบอกว่า มวลขนาดเล็กจิ๋วสามารถแปลงไปเป็นพลังงานปริมาณมหาศาลได้ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดการพัฒนาของพลังงานนิวเคลียร์
แสง กับทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ปี พ.ศ. 2449 สำนักงานสิทธิบัตรเลื่อนขั้นให้ไอน์สไตน์เป็น Technical Examiner Second Class แต่เขาก็ยังไม่ทิ้งงานด้านวิชาการ ปี พ.ศ. 2451 เขาได้เข้าเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแบร์น[28] พ.ศ. 2453 เขาเขียนบทความอธิบายถึงผลสะสมของแสงที่กระจายตัวโดยโมเลกุลเดี่ยวๆ ในบรรยากาศ ซึ่งเป็นการอธิบายว่า เหตุใดท้องฟ้าจึงเป็นสีน้ำเงิน[29]
ระหว่าง พ.ศ. 2452 ไอน์สไตน์ตีพิมพ์บทความ "Über die Entwicklung unserer Anschauungen über das Wesen und die Konstitution der Strahlung" (พัฒนาการของมุมมองเกี่ยวกับองค์ประกอบและหัวใจสำคัญของการแผ่รังสี) ว่าด้วยการพิจารณาแสงในเชิงปริมาณ ในบทความนี้ รวมถึงอีกบทความหนึ่งก่อนหน้านั้นในปีเดียวกัน ไอน์สไตน์ได้แสดงว่า พลังงานควอนตัมของมักซ์ พลังค์ จะต้องมีโมเมนตัมที่แน่นอนและแสดงตัวในลักษณะที่คล้ายคลึงกับอนุภาคที่เป็นจุด บทความนี้ได้พูดถึงแนวคิดเริ่มต้นเกี่ยวกับโฟตอน (แม้ในเวลานั้นจะยังไม่ได้เรียกด้วยคำนี้ ผู้ตั้งชื่อ 'โฟตอน' คือ กิลเบิร์ต เอ็น. ลิวอิส ในปี พ.ศ. 2469) และให้แรงบันดาลใจเกี่ยวกับความเกี่ยวพันกันระหว่างคลื่นกับอนุภาค ในวิชากลศาสตร์ควอนตัม
พ.ศ. 2454 ไอน์สไตน์ได้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยซือริช แต่หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ยอมรับตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเยอรมัน ชาร์ลส์-เฟอร์ดินานด์ ในกรุงปราก ที่นี่ไอน์สไตน์ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับผลกระทบของแรงโน้มถ่วงที่มีต่อแสง ซึ่งก็คือการเคลื่อนไปทางแดงเนื่องจากแรงโน้มถ่วง และการหักเหของแสงเนื่องจากแรงโน้มถ่วง บทความนี้ช่วยแนะแนวทางแก่นักดาราศาสตร์ในการตรวจสอบการหักเหของแสงระหว่างการเกิดสุริยคราส[30] นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน เออร์วิน ฟินเลย์-ฟรอนด์ลิค ได้เผยแพร่ข้อท้าทายของไอน์สไตน์นี้ไปยังนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก[31]
พ.ศ. 2455 ไอน์สไตน์กลับมายังสวิตเซอร์แลนด์และรับตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเดิมที่เขาเป็นศิษย์เก่า คือ ETH เขาได้พบกับนักคณิตศาสตร์ มาร์เซล กรอสมานน์ ซึ่งช่วยให้เขารู้จักกับเรขาคณิตของรีมานน์และเรขาคณิตเชิงอนุพันธ์ และโดยการแนะนำของทุลลิโอ เลวี-ซิวิตา นักคณิตศาสตร์ชาวอิตาลี ไอน์สไตน์จึงได้เริ่มใช้ประโยชน์จากความแปรปรวนร่วมเข้ามาประยุกต์ในทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของเขา มีช่วงหนึ่งที่ไอน์สไตน์รู้สึกว่าแนวทางนี้ไม่น่าจะใช้ได้ แต่เขาก็หันกลับมาใช้อีก และในปลายปี พ.ศ. 2458 ไอน์สไตน์จึงได้เผยแพร่ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปซึ่งยังคงใช้อยู่ตราบถึงปัจจุบัน ทฤษฎีนี้อธิบายถึงแรงโน้มถ่วงว่าเป็นการบิดเบี้ยวของโครงสร้างกาลอวกาศโดยวัตถุที่ส่งผลเป็นแรงเฉื่อยต่อวัตถุอื่น
ทฤษฎีแรงเอกภาพ
งานวิจัยของไอน์สไตน์หลังจากทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปมีหัวใจหลักอยู่ที่การพยายามทำให้ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงสามารถอธิบายคุณสมบัติของแม่เหล็กไฟฟ้าได้ ปี พ.ศ. 2493 เขาได้พูดถึงแนวคิดเรื่อง "ทฤษฎีแรงเอกภาพ" ในวารสาร Scientific American ในบทความชื่อว่า "On the Generalized Theory of Gravitation" แม้เขาจะได้รับความยกย่องอยู่พอสมควร แต่ก็ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนในการวิจัยเรื่องนี้ และความทุ่มเทส่วนใหญ่ของเขาก็ไม่ประสบความสำเร็จ
ในความพยายามของไอน์สไตน์ที่จะรวมแรงพื้นฐานทั้งหมดเข้าในกฎเดียวกัน เขาได้ละเลยการพัฒนากระแสหลักในทางฟิสิกส์ไปบางส่วน ที่สำคัญคือแรงนิวเคลียร์อย่างเข้มและแรงนิวเคลียร์อย่างอ่อน ซึ่งไม่มีใครเข้าใจมากนักตราบจนอีกหลายปีผ่านไปหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว ขณะเดียวกัน แนวทางพัฒนาฟิสิกส์กระแสหลักเองก็ละเลยแนวคิดของไอน์สไตน์เกี่ยวกับการรวมแรงเช่นเดียวกัน ครั้นต่อมาความฝันของไอน์สไตน์ในการรวมกฎฟิสิกส์ทั้งหลายเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงจึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญต่อแนวทางศึกษาฟิสิกส์ยุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อทฤษฎีแห่งสรรพสิ่งและทฤษฎีสตริง ขณะที่มีความตื่นตัวมากขึ้นในสาขากลศาสตร์ควอนตัมด้วย
แบบจำลองแก๊สของชเรอดิงเจอร์
ไอน์สไตน์แนะนำให้แอร์วิน ชเรอดิงเงอร์นำเอาแนวคิดของมักซ์ พลังค์ไปใช้ ที่มองระดับพลังงานของแก๊สในภาพรวมมากกว่าจะมองเป็นโมเลกุลเดี่ยวๆ ชเรอดิงเงอร์ประยุกต์แนวคิดนี้ในบทความวิจัยโดยใช้การกระจายตัวของโบลทซ์มันน์เพื่อหาคุณสมบัติทางอุณหพลศาสตร์ของแก๊สอุดมคติกึ่งคลาสสิก ชเรอดิงเงอร์ขออนุญาตใส่ชื่อไอน์สไตน์เป็นผู้เขียนบทความร่วม แต่ต่อมาไอน์สไตน์ปฏิเสธคำเชิญนั้น[32]
ตู้เย็นไอน์สไตน์
พ.ศ. 2469 ไอน์สไตน์กับลูกศิษย์เก่าคนหนึ่งคือ ลีโอ ซีลาร์ด นักฟิสิกส์ชาวฮังการีผู้ต่อมาได้ร่วมในโครงการแมนฮัตตัน และได้รับยกย่องในฐานะผู้ค้นพบห่วงโซ่ปฏิกิริยา ทั้งสองได้ร่วมกันประดิษฐ์ ตู้เย็นไอน์สไตน์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ไม่มีชิ้นส่วนเคลื่อนไหวเลย และใช้พลังงานนำเข้าเพียงอย่างเดียวคือพลังงานความร้อน สิ่งประดิษฐ์นี้ได้จดสิทธิบัตรในปี พ.ศ. 2473[33][34]
บอร์กับไอน์สไตน์
ราวคริสต์ทศวรรษ 1920 มีการพัฒนากลศาสตร์ควอนตัมให้เป็นทฤษฎีที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ไอน์สไตน์ไม่ค่อยเห็นด้วยนักกับการตีความโคเปนเฮเกนว่าด้วยทฤษฎีควอนตัม ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย นีลส์ บอร์ กับ แวร์เนอร์ ไฮเซนแบร์ก ซึ่งอธิบายปรากฏการณ์ทางควอนตัมว่าเป็นเรื่องของความน่าจะเป็น ที่จะส่งผลต่อเพียงอันตรกิริยาในระบบแบบดั้งเดิม มีการโต้วาทีสาธารณะระหว่างไอน์สไตน์กับบอร์สืบต่อมาเป็นเวลายาวนานหลายปี (รวมถึงในระหว่างการประชุมซอลเวย์ด้วย) ไอน์สไตน์สร้างการทดลองในจินตนาการขึ้นเพื่อโต้แย้งการตีความโคเปนเฮเกน แต่ภายหลังก็ถูกบอร์พิสูจน์แย้งได้ ในจดหมายฉบับหนึ่งซึ่งไอน์สไตน์เขียนถึง มักซ์ บอร์น ในปี พ.ศ. 2469 เขาบอกว่า "ผมเชื่อว่า พระเจ้าไม่ได้สร้างสรรพสิ่งด้วยการทอยเต๋า"[35]
ไอน์สไตน์ไม่เคยพอใจกับสิ่งที่เขาได้รับรู้เกี่ยวกับการอธิบายถึงธรรมชาติที่ไม่สมบูรณ์ในทฤษฎีควอนตัม ในปี พ.ศ. 2478 เขาค้นคว้าเพิ่มเติมในประเด็นเหล่านี้ร่วมกับเพื่อนร่วมงานอีก 2 คน คือ บอริส โพโดลสกี และ นาธาน โรเซน และตั้งข้อสังเกตว่า ทฤษฎีดังกล่าวดูจะต้องอาศัยอันตรกิริยาแบบไม่แบ่งแยกถิ่น ต่อมาเรียกข้อโต้แย้งนี้ว่า EPR พาราด็อกซ์ (มาจากนามสกุลของไอน์สไตน์ โพโดลสกี และโรเซน) การทดลอง EPR ได้จัดทำขึ้นในเวลาต่อมา และได้ผลลัพธ์ที่ช่วยยืนยันการคาดการณ์ตามทฤษฎีควอนตัม[36]
สิ่งที่ไอน์สไตน์ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของบอร์เกี่ยวพันกับแนวคิดพื้นฐานในการพรรณนาถึงวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุนี้การโต้วาทีระหว่างไอน์สไตน์กับบอร์จึงได้ส่งผลสืบเนื่องออกไปเป็นการวิวาทะในเชิงปรัชญาด้วย
รางวัลโนเบล
พ.ศ. 2465 ไอน์สไตน์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2464[37] ในฐานะที่ "ได้อุทิศตนแก่ฟิสิกส์ทฤษฎี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นพบกฎที่อธิบายปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก" ซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงงานเขียนของเขาในปี 2448 "โดยใช้มุมมองจากจิตสำนึกเกี่ยวกับการเกิดและการแปรรูปของแสง" แนวคิดของเขาได้รับการพิสูจน์อย่างหนักแน่นจากผลการทดลองมากมายในยุคนั้น สุนทรพจน์ในการมอบรางวัลยังระบุไว้ว่า "ทฤษฎีสัมพัทธภาพของเขาเป็นหัวข้อถกเถียงที่น่าสนใจที่สุดในวงวิชาการ (และ) มีความหมายในทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์ซึ่งประยุกต์ใช้อย่างชัดเจนในปัจจุบัน"[38]
เชื่อกันมานานว่าไอน์สไตน์มอบเงินรางวัลจากโนเบลทั้งหมดให้แก่ภรรยาคนแรก คือมิเลวา มาริค สำหรับการหย่าขาดจากกันในปี พ.ศ. 2462 แต่จดหมายส่วนตัวที่เพิ่งเปิดเผยขึ้นในปี พ.ศ. 2549[39] บ่งบอกว่าเขานำไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา และสูญเงินไปเกือบหมดจากเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
ไอน์สไตน์เดินทางไปนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นครั้งแรก เมื่อ 2 เมษายน พ.ศ. 2464 เมื่อมีผู้ถามว่า เขาได้แนวคิดทางวิทยาศาสตร์มาจากไหน ไอน์สไตน์อธิบายว่า เขาเชื่อว่างานทางวิทยาศาสตร์จะก้าวหน้าได้จากการทดลองทางกายภาพและการค้นหาความจริงที่ซ่อนเอาไว้ โดยมีคำอธิบายที่สอดคล้องกันได้ในทุกสภาวการณ์โดยไม่ขัดแย้งกันเอง ไอน์สไตน์ยังสนับสนุนทฤษฎีที่ค้นหาผลลัพธ์ในจินตนาการด้วย[40]
มรดก
ระหว่างที่เดินทางท่องเที่ยว ไอน์สไตน์ได้เขียนบันทึกประจำวันส่งให้ภรรยาของเขา คือเอลซา กับบุตรบุญธรรมอีกสองคนคือมาร์ก็อตและอิลซา จดหมายเหล่านี้รวมอยู่ในเอกสารที่ยกให้แก่มหาวิทยาลัยฮีบรู มาร์ก็อต ไอน์สไตน์ อนุญาตให้เผยแพร่จดหมายส่วนตัวแก่สาธารณชนได้ แต่จะต้องเป็นเวลา 20 ปีหลังจากเธอเสียชีวิตแล้วเท่านั้น (มาร์ก็อตเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2529[41]) บาร์บารา โวลฟ์ ผู้ดูแลรักษาเอกสารของไอน์สไตน์ที่มหาวิทยาลัยฮีบรู ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์บีบีซีว่า มีจดหมายติดต่อส่วนตัวระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2455-2498 เป็นจำนวนมากกว่า 3,500 หน้า[42]
สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา จัดสร้างรูปปั้นอนุสรณ์อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นทองแดงและหินอ่อนและสลักโดยโรเบิร์ต เบิร์คส์ ในปี พ.ศ. 2522 ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี ใกล้กับ National Mall
ไอน์สไตน์ทำพินัยกรรมยกลิขสิทธิ์การใช้งานภาพของเขาทั้งหมดให้แก่มหาวิทยาลัยฮีบรู กรุงเยรูซาเล็ม ต่อมา บริษัท คอร์บิส คอร์ปอเรชั่น ได้รับอนุญาตให้ใช้ชื่อและภาพต่างๆ ของเขา ในฐานะตัวแทนผู้มีอำนาจแทนมหาวิทยาลัยฮีบรู[43][44]
เกียรติคุณและอนุสรณ์
พ.ศ. 2542 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้รับยกย่องเป็น "บุคคลแห่งศตวรรษ" โดยนิตยสารไทม์[45][46] กัลลัพโพล ได้บันทึกว่าเขาเป็นบุคคลผู้ได้รับการยกย่องสูงที่สุดอันดับ 4 แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20[47] และจากการจัดอันดับ 100 บุคคลผู้มีอิทธิพลอย่างสูงในประวัติศาสตร์ ไอน์สไตน์เป็น "นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 และหนึ่งในสุดยอดอัจฉริยะตลอดกาล"[48]
ต่อไปนี้เป็นรายชื่ออนุสรณ์ส่วนหนึ่ง
- สหพันธ์นานาชาติฟิสิกส์บริสุทธิ์และฟิสิกส์ประยุกต์ ได้กำหนดให้ปี พ.ศ. 2548 เป็น "ปีฟิสิกส์โลก" เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง 100 ปีครบรอบการตีพิมพ์ Annus Mirabilis Papers[49]
- สถาบันอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
- อนุสรณ์สถานอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ โดย โรเบิร์ต เบิร์คส์
- หน่วยวัดในวิชาโฟโตเคมี ชื่อว่า ไอน์สไตน์
- เคมีธาตุลำดับที่ 99 ชื่อ ไอน์สไตเนียม (einsteinium)
- ดาวเคราะห์น้อย 2001 ไอน์สไตน์
- รางวัลไอน์สไตน์
- รางวัลสันติภาพไอน์สไตน์
ปี พ.ศ. 2533 ชื่อของไอน์สไตน์ถูกจารึกในวิหารวัลฮัลลา หอเกียรติยศซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำดานูบ ประเทศเยอรมนี[50]
รายชื่อผลงาน
- งานเขียนของไอน์สไตน์ที่แสดงไว้ที่นี้ คืองานเขียนที่ใช้ในการอ้างอิงภายในบทความ สำหรับรายชื่อผลงานตีพิมพ์ทั้งหมดของเขา ดูที่ รายชื่องานตีพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
- Einstein, Albert (1901), "Folgerungen aus den Capillaritätserscheinungen (Conclusions Drawn from the Phenomena of Capillarity)", Annalen der Physik, vol. 4, p. 513, doi:10.1002/andp.19013090306
- Einstein, Albert (1905a), "On a Heuristic Viewpoint Concerning the Production and Transformation of Light" (PDF), Annalen der Physik, 17: 132–148, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-06-11, สืบค้นเมื่อ 2009-05-30. เป็นงานเขียนในชุด annus mirabilis paper เกี่ยวกับปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก ซึ่งทาง Annalen der Physik ได้รับไว้เมื่อ 18 มีนาคม
- Einstein, Albert (1905b), A new determination of molecular dimensions. งานวิจัยปริญญาเอกชิ้นนี้สำเร็จสมบูรณ์เมื่อ 30 เมษายน และนำส่งตีพิมพ์เมื่อ 20 กรกฎาคม
- Einstein, Albert (1905c), "On the Motion—Required by the Molecular Kinetic Theory of Heat—of Small Particles Suspended in a Stationary Liquid", Annalen der Physik, 17: 549–560. เป็นงานเขียนในชุด annus mirabilis paper เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของบราวน์ สำนักพิมพ์รับไว้เมื่อ 11 พฤษภาคม
- Einstein, Albert (1905d), "On the Electrodynamics of Moving Bodies", Annalen der Physik, 17: 891–921. เป็นงานเขียนในชุด annus mirabilis paper เกี่ยวกับทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ สำนักพิมพ์รับไว้เมื่อ 30 มิถุนายน
- Einstein, Albert (1905e), "Does the Inertia of a Body Depend Upon Its Energy Content?", Annalen der Physik, 18: 639–641. เป็นงานเขียนในชุด annus mirabilis paper เกี่ยวกับความสมมูลระหว่างมวล-พลังงาน สำนักพิมพ์รับไว้เมื่อ 27 กันยายน
- Einstein, Albert (1915), "Die Feldgleichungen der Gravitation (The Field Equations of Gravitation)", Koniglich Preussische Akademie der Wissenschaften: 844–847
- Einstein, Albert (1917a), "Kosmologische Betrachtungen zur allgemeinen Relativitätstheorie (Cosmological Considerations in the General Theory of Relativity)", Koniglich Preussische Akademie der Wissenschaften
- Einstein, Albert (1917b), "Zur Quantentheorie der Strahlung (On the Quantum Mechanics of Radiation)", Physikalische Zeitschrift, 18: 121–128
- Einstein, Albert (11 July 1923), "Fundamental Ideas and Problems of the Theory of Relativity", Nobel Lectures, Physics 1901–1921 (PDF), Amsterdam: Elsevier Publishing Company, สืบค้นเมื่อ 2007-03-25
{{citation}}
: CS1 maint: date and year (ลิงก์) - Einstein, Albert (1924), "Quantentheorie des einatomigen idealen Gases (Quantum theory of monatomic ideal gases)", Sitzungsberichte der Preussichen Akademie der Wissenschaften Physikalisch—Mathematische Klasse: 261–267. เป็นบทความแรกในชุดงานเขียนเกี่ยวกับหัวข้อนี้
- Einstein, Albert (1926), "Die Ursache der Mäanderbildung der Flussläufe und des sogenannten Baerschen Gesetzes", Die Naturwissenschaften, 14: 223–224, doi:10.1007/BF01510300. ว่าด้วย Baer's law และ meander ของเส้นทางเดินของแม่น้ำ
- Einstein, Albert; Podolsky, Boris; Rosen, Nathan (15 May 1935), "Can Quantum-Mechanical Description of Physical Reality Be Considered Complete?", Physical Review, 47 (10): 777–780, doi:10.1103/PhysRev.47.777
{{citation}}
: CS1 maint: date and year (ลิงก์) - Einstein, Albert (1940), "On Science and Religion", Nature, 146: 605, doi:10.1038/146605a0
- Einstein, Albert (4 December 1948), "To the editors", New York Times, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-17, สืบค้นเมื่อ 2009-05-30
{{citation}}
: CS1 maint: date and year (ลิงก์) - Einstein, Albert (May 1949), "Why Socialism?", Monthly Review, สืบค้นเมื่อ 2006-01-16
{{citation}}
: CS1 maint: date and year (ลิงก์) - Einstein, Albert (1950), "On the Generalized Theory of Gravitation", Scientific American, CLXXXII (4): 13–17
- Einstein, Albert (1954), Ideas and Opinions, New York: Random House, ISBN 0-517-00393-7
- Einstein, Albert (1969), Albert Einstein, Hedwig und Max Born: Briefwechsel 1916–1955 (ภาษาเยอรมัน), Munich: Nymphenburger Verlagshandlung
- Einstein, Albert (1979), Autobiographical Notes, แปลโดย Paul Arthur Schilpp (Centennial ed.), Chicago: Open Court, ISBN 0-875-48352-6. การทดลองในความคิด เรื่อง ไล่ตามลำแสง มีบรรยายอยู่ในหน้า 48–51
- Collected Papers: Stachel, John, Martin J. Klein, a. J. Kox, Michel Janssen, R. Schulmann, Diana Komos Buchwald (1987–2006). The Collected Papers of Albert Einstein, Vol 1–10. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-17. สืบค้นเมื่อ 2009-05-30.
{{cite book}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตีพิมพ์หนังสือในชุดนี้จนถึงปัจจุบัน อ่านได้จาก Einstein Papers Project เก็บถาวร 2016-08-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน และเว็บไซต์มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน Einstein Page
หมายเหตุ
- ↑ In the German Empire, citizens were exclusively subjects of one of the 27 Bundesstaaten.
อ้างอิง
- ↑ Wells, John (3 April 2008). Longman Pronunciation Dictionary (3rd ed.). Pearson Longman. ISBN 978-1-4058-8118-0.
- ↑ "Albert Einstein – Biography". Nobel Foundation. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 March 2007. สืบค้นเมื่อ 7 March 2007.
- ↑ Bodanis, David (2000). E = mc2: A Biography of the World's Most Famous Equation. New York: Walker.
- ↑ Howard, Don A., บ.ก. (2014) [First published 11 February 2004]. "Einstein's Philosophy of Science". Stanford Encyclopedia of Philosophy. The Metaphysics Research Lab, Center for the Study of Language and Information (CSLI), Stanford University. สืบค้นเมื่อ 4 February 2015.
- ↑ Howard, Don A. (December 2005). "Albert Einstein as a Philosopher of Science" (PDF). Physics Today. 58 (12): 34–40. Bibcode:2005PhT....58l..34H. doi:10.1063/1.2169442. ISSN 0031-9228. สืบค้นเมื่อ 8 March 2015 – โดยทาง University of Notre Dame, Notre Dame, IN, author's personal webpage.
- ↑ "The Nobel Prize in Physics 1921". Nobel Prize. สืบค้นเมื่อ 11 July 2016.
- ↑ "Result of WordNet Search for Einstein". 3.1. The Trustees of Princeton University. สืบค้นเมื่อ 4 January 2015.
- ↑ Galison (2000), p. 377.
- ↑ "Scientific Background on the Nobel Prize in Physics 2011. The accelerating universe" (PDF). Nobel Media AB. p. 2. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 16 May 2012. สืบค้นเมื่อ 4 January 2015.
- ↑ Overbye, Dennis (24 November 2015). "A Century Ago, Einstein's Theory of Relativity Changed Everything". The New York Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-01. สืบค้นเมื่อ 24 November 2015.
- ↑ Robinson, Andrew (30 April 2018). "Did Einstein really say that?". Nature. 557 (30): 30. Bibcode:2018Natur.557...30R. doi:10.1038/d41586-018-05004-4. S2CID 14013938.
- ↑ Levenson, Thomas (9 June 2017). "The Scientist and the Fascist". The Atlantic.
- ↑ Paul S. Boyer; Melvyn Dubofsky (2001). The Oxford Companion to United States History. Oxford University Press. p. 218. ISBN 978-0-19-508209-8.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-16. สืบค้นเมื่อ 2018-07-11.
- ↑ ปัจจุบันคือ "Swiss Federal Institute of Intellectual Property". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 16 October 2006.. ดูเพิ่มที่ "FAQ about Einstein and the Institute". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2009-05-12.
- ↑ 16.0 16.1 Peter Galison, "Einstein's Clocks: The Question of Time" Critical Inquiry 26, no. 2 (Winter 2000) : 355–389.
- ↑ 17.0 17.1 Galison, Peter (2003). Einstein's Clocks, Poincaré's Maps: Empires of Time. New York: W.W. Norton. ISBN 0393020010.
- ↑ E.g. Pais, Abraham (1982), Subtle is the Lord. The Science and the Life of Albert Einstein, Oxford University Press, p. 17, ISBN 0-19-520438-7
- ↑ ข้อสันนิษฐานนี้มาจากจดหมายที่ไอน์สไตน์เขียนติดต่อกับมาริค ไลแซลถูกเอ่ยถึงในจดหมายครั้งแรกจากจดหมายที่ไอน์สไตน์เขียนถึงมาริค (หล่อนยังอยู่กับครอบครัวที่ Novi Sad หรือเมืองใกล้กันนั้นในเวลาที่ไลแซลเกิด) ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 (Collected papers Vol. 1, document 134).
- ↑ Highfield (1993, pp. 54, 58) : "she did not seem to care that Mileva was not Jewish"
- ↑ Oregon Public Broadcasting (2003), Einstein's Wife: The Life of Mileva Maric Einstein, Public Broadcasting Service, สืบค้นเมื่อ November 8, 2006 This web site, companion to the controversial Geraldine Hilton documentary of the same name, is currently under review for historical accuracy. (See Getler, Michael (15 December 2006), "Einstein's Wife: The Relative Motion of 'Facts'", PBS Ombudsman, สืบค้นเมื่อ 2007-03-25.)
- ↑ Letter Einstein to Marić on 3 October 1900 (Collected Papers Vol. 1, document 79).
- ↑ Alberto A Martínez. "Arguing about Einstein's wife (April 2004) - Physics World — PhysicsWeb (See above)". สืบค้นเมื่อ 21 November 2005.
- ↑ Allen Esterson. "Mileva Marić: Einstein's Wife". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-07. สืบค้นเมื่อ 2007-02-23.
- ↑ John Stachel. ""Albert Einstein and Mileva Maric. A Collaboration That Failed to Develop" in: Creative Couples in the Sciences, H. M. Pycior" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2004-09-28. สืบค้นเมื่อ 2007-02-23.
- ↑ "Short life history: Elsa Einstein". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-03. สืบค้นเมื่อ 2007-06-11.
- ↑ https://www.jewishvirtuallibrary.org/offering-the-presidency-of-israel-to-albert-einstein
- ↑ Pais, Abraham (1982), Subtle is the Lord. The Science and the Life of Albert Einstein, Oxford University Press, p. 522, ISBN 0-19-520438-7
- ↑ Levenson, Thomas. "Einstein's Big Idea." Public Broadcasting Service. 2005. เก็บข้อมูลเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2006.
- ↑ Einstein, Albert (1911). "On the Influence of Gravity on the Propagation of Light". Annalen der Physik. 35: 898–908. doi:10.1002/andp.19113401005. (also in Collected Papers Vol. 3, document 23)
- ↑ Crelinsten, Jeffrey. "Einstein's Jury: The Race to Test Relativity เก็บถาวร 2014-08-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน." สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน. 2006. เก็บข้อมูลเมื่อ 13 มีนาคม 2007. ISBN 978-0-691-12310-3
- ↑ Moore, Walter (1989). Schrödinger: Life and Thought. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 0-521-43767-9.
- ↑ Goettling, Gary. Einstein's refrigerator Georgia Tech Alumni Magazine. 1998. เก็บข้อมูลเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2005.
- ↑ วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และ ลีโอ ซีลาร์ด ได้รับสิทธิบัตร U.S. Patent 1,781,541 สำหรับการประดิษฐ์เครื่องทำความเย็น
- ↑ A reprint of this book was published by Edition Erbrich in 1982, ISBN 3-88682-005-X
- ↑ Aspect, Alain; Dalibard, Jean; Roger, Gérard (1982). "Experimental test of Bell's inequalities using time-varying analyzers". Physical Review Letters. 49 (25): 1804–1807. doi:10.1103/PhysRevLett.49.1804.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) The first of many experimental tests relating to EPR. - ↑ "Albert Einstein - Frequently Asked Questions". Nobelprize.org. 1955-04-18. สืบค้นเมื่อ 2009-01-07.
- ↑ Einstein, Albert (11 July 1923), "Fundamental Ideas and Problems of the Theory of Relativity", Nobel Lectures, Physics 1901–1921, Amsterdam: Elsevier Publishing Company, http://nobelprize.org/nobel_prizes/physics/laureates/1921/einstein-lecture.pdf, retrieved on 2007-03-25
- ↑ BBC (2006), "Letters Reveal Einstein Love Life", BBC News, BBC, สืบค้นเมื่อ 2008-11-25
- ↑ Einstein, Albert (1954), Ideas and Opinions, New York: Random House, ISBN 0-517-00393-7
- ↑ New York Times obituary [1]
- ↑ BBC (2006), "Letters Reveal Einstein Love Life", BBC News, BBC, สืบค้นเมื่อ 2007-03-14
- ↑ Roger Richman Agency (2007), "Albert Einstein Licensing", สำเนาที่เก็บถาวร, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-29, สืบค้นเมื่อ 2007-03-25;
- ↑ "Einstein". Corbis Rights Representation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-19. สืบค้นเมื่อ 2008-08-08.
- ↑ Isaacson, Walter (3 January 2000), "Person of the Century: Why We Chose Einstein", Time, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-11-02, สืบค้นเมื่อ 2007-07-16
- ↑ Golden, Frederic (3 January 2000), "Person of the Century: Albert Einstein", Time, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-02-21, สืบค้นเมื่อ 2006-02-25
- ↑ "Mother Teresa Voted by American People as Most Admired Person of the Century". 1999-12-31. สืบค้นเมื่อ 2008-08-13.
- ↑ Hart, Michael H. (1978), The 100: A Ranking of the Most Influential Persons in History, Citadel Press, p. 52, ISBN 0-8065-1350-0
- ↑ "World Year of Physics 2005". สืบค้นเมื่อ 2007-10-03.
- ↑ "Walhalla Ruhmes- und Ehrenhalle" (ภาษาเยอรมัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-02. สืบค้นเมื่อ 2007-10-03.
แหล่งข้อมูลอื่น
- อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ : เหตุใดทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปจึงปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์ บีบีซีไทย
- ประวัติอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เก็บถาวร 2020-01-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- บันทึกส่วนตัวเผยอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ มีมุมมองเหยียดคนเอเชีย ข่าวสด
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2422
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2498
- อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
- ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์
- ชาวเยอรมันผู้ได้รับรางวัลโนเบล
- ชาวสวิสผู้ได้รับรางวัลโนเบล
- ชาวอเมริกันผู้ได้รับรางวัลโนเบล
- นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน
- นักฟิสิกส์ชาวยิว
- นักฟิสิกส์ชาวสวิส
- นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน
- บุคคลจากเบอร์ลิน
- บุคคลจากแบร์น
- บุคคลจากมิวนิก
- บุคคลจากซือริช
- บุคคลจากอุล์ม
- บุคคลจากรัฐนิวเจอร์ซีย์
- ชาวเยอรมันเชื้อสายยิว
- ผู้ได้รับพัวร์เลอเมรีท (ชั้นพลเรือน)
- ศิษย์เก่าจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส ซือริช
- ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยซือริช
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยแบร์น
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยซือริช
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยชาลส์
- บุคคลจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส ซือริช
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยฮุมบ็อลท์แห่งเบอร์ลิน
- บทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์