มนุษยศาสตร์ (อังกฤษ: humanities) เป็นกลุ่มของสาขาวิชาที่เกี่ยวกับการศึกษาสภาวะแห่งมนุษย์โดยส่วนใหญ่ใช้กรรมวิธีเชิงวิเคราะห์, วิจารณญาณ หรือการคาดการณ์ซึ่งแตกต่างจากการเข้าสู่ปัญหาด้วยกรรมวิธีเชิงประจักษ์ด้วยธรรมชาติ, สังคมศาสตร์ โดยธรรมเนียมทั่วไปมนุษยศาสตร์รวมถึงสาขาวิชาภาษาศาสตร์โบราณและภาษาศาสตร์สมัยใหม่, วรรณคดี ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา ทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง และดนตรี บางครั้งมีการรวมเอาสาขาวิชาอื่นเพิ่มเข้าไปด้วย ได้แก่ มานุษยวิทยา ภูมิภาคศึกษา การสื่อสารและวัฒนธรรมศึกษา แม้ว่าสาขาวิชาเหล่านี้มักถูกจัดไว้ในสาขาสังคมศาสตร์ นักวิชาการที่อยู่ในสายของสาขาวิชานี้ บางครั้งอาจเรียกตนเองว่าเป็น "นักมนุษยนิยม" อย่างไรก็ตามคำดังกล่าวก็ได้ใช้เรียกนักปรัชญาสาขามนุษยนิยมแต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ

นักปรัชญาเพลโต

สาขาวิชาของมนุษยศาสตร์

แก้

คลาสสิก

แก้

ดูบทความหลัก: คลาสสิก

 
รูปปั้นครึ่งตัวของ โฮเมอร์ นักคลาสสิกชาวกรีก

ในประเพณีนิยมด้านวิชาการตะวันตก คลาสสิกหมายถึงวัฒนธรรมแห่งคลาสสิกโบราณ ได้แก่วัฒนธรรมกรีกโบราณและวัฒนธรรมโรมันโบราณ แต่เดิมวิชาคลาสสิกศึกษาถือเป็นรากฐานของสาขาวิชามนุษยศาสตร์ แต่คลาสสิกศึกษาได้ลดความสำคัญลงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 (พ.ศ. 2344 - พ.ศ. 2443) แต่ถึงกระนั้นอิทธิพลของแนวคิดคลาสสิกก็ยังคงปรากฏในมนุษยศาสตร์ เช่นสาขาวิชาปรัชญาและวรรณคดีซึ่งยังคงอยู่อย่างมั่นคง

หากพิจารณาอย่างกว้าง ๆ ถือได้ว่า "คลาสสิก" ยังคงเป็นงานเขียนพื้นฐานดั้งเดิมในวัฒนธรรมยุคเริ่มแรกในหลายวัฒนธรรมสำคัญของโลก และในประเพณีสำคัญอื่น ๆ คลาสสิกมักอ้างไปถึง "คัมภีร์" และ "คัมภีร์อุปนิษัท" ในอินเดีย "เล่าจื๊อ" และ "จวงจื่อ" ในจีน และงานเขียนอื่นเช่น "ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี" และ "มหากาพย์กิลกาเมช" ในเมโสโปเตเมีย รวมทั้ง "คัมภีร์มรณะของอียิปต์"

ประวัติศาสตร์

แก้

ดูบทความหลัก: ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์คือศาสตร์ว่าด้วยการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับอดีตอย่างเป็นระบบ เมื่อใช้เรียกสายหรือกลุ่มสาขาวิชา ประวัติศาสตร์หมายรวมถึงการศึกษาและการแปลความหมายการบันทึกของมวลมนุษย์ ครอบครัวและสังคม มักมีการกล่าวความรู้ประวัติศาสตร์ว่าเป็นการรวมความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตและการสะสมทักษะการคิดเชิงประวัติศาสตร์

โดยประเพณีนิยม ถือว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ถือเป็นส่วนของมนุษยศาสตร์ แต่อย่างไรก็ดี ในวงการวิชาการสมัยใหม่ เริ่มมีการจำแนกประวัติศาสตร์ไว้เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มสาขาวิชาสังคมศาสตร์มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเน้นในด้าน "ลำดับเวลาวิทยา" (chronology)

ภาษาศาสตร์และวรรณคดี

แก้

ดูบทความหลัก: ภาษาศาสตร์ และ วรรณคดี

 
เชคสเปียร์ ได้เขียนงานที่ยิ่งใหญ่มากในวรรณคดีอังกฤษ

การศึกษาภาษาสมัยใหม่และภาษาคลาสสิกถือเป็นโครงหลักใหญ่ของมนุษยศาสตร์ ในขณะที่การศึกษาภาษาเชิงวิทยาศาสตร์ซึ่งเรียกว่าสาขาวิชาภาษาศาสตร์ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มสาขาวิชาสังคมศาสตร์ โดยที่หลายส่วนของมนุษยศาสตร์ เช่น วรรณคดี ประวัติศาสตร์และปรัชญาเหล่านี้ ตั้งบนพื้นฐานของภาษา การเปลี่ยนแปลงของภาษาจึงมีผลกระทบอย่างมากต่อมนุษยศาสตร์กลุ่มอื่น ๆ วรรณคดีครอบคลุมถึงการใช้ภาษาที่หลากหลายรวมทั้งในรูปร้อยแก้ว (เช่น นวนิยาย) กวีนิพนธ์และบทละคร ซึ่งขึ้นอยู่กับหัวใจของหลักสูตรมนุษยศาสตร์สมัยใหม่ หลักสูตรภาษาต่างประเทศระดับมหาวิทยาลัยมักรวมการศึกษาวรรณกรรมที่เป็นงานชิ้นสำคัญในภาษานั้น ๆ รวมทั้งในภาษาของตนเอง (ไวยากรณ์ คำศัพท์ ฯลฯ)

เราอาจเทียบวรรณคดีกับการรวบรวมเรื่องนิทาน บทกวีและบทละครที่เกี่ยวพันกับเรื่องเฉพาะบางเรื่อง ในกรณีเช่นนี้ นิทาน บทกวีและบทละครอาจมีหรือไม่มีนัยที่บ่งชี้ในความเป็นชาตินิยมก็ได้ "กฎหมายศาสนาตะวันตก" (Western Canon) ก็มีรูปแบบเช่นนั้น คำว่า "วรรณคดี" จึงมีความหมายต่างกันขึ้นอยู่กับว่าผู้ใดเป็นผู้ใช้และใช้ในบริบทใด อาจนำไปใช้ได้อย่างกว้าง ๆ เพื่อหมายถึงการเก็บหรือบันทึกสัญลักษณ์ใด ๆ ที่ครอบคลุมถึงทุกอย่างจากภาพและประติมากรรมไปถึงวรรณกรรมจดหมาย คนทั่วไปอาจรับรู้ถึงความแตกต่างระหว่าง "วรรณคดี" และงานเขียนที่เป็นที่นิยมในบางรูปแบบ คำว่า "บันเทิงคดีวรรณคดี" (en:Literary fiction) และ "คุณธรรมวรรณคดี" (en:Literary merit) มักใช้ได้เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างงานเขียนแต่ละงาน

กฎหมาย

แก้

ดูบทความหลัก: กฎหมาย

 
การว่าคดีในศาลอาญา en:Old Bailey ใน ลอนดอน

โดยภาษาเฉพาะ กฎหมาย หมายถึงกฎ (ต่างจากกฎทางจรรยาบรรณ) ที่สามารถนำไปใช้บังคับได้โดยผ่านสถาบัน การศึกษากฎหมายจะครอบเกี่ยวพันขอบข่ายกับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ขึ้นอยู่กับมุมมองที่ได้จากการศึกษาของผู้มองที่มองที่วัตถุประสงค์และผลกระทบที่จะตามมา กฎหมายอาจใช้บังคับไม่ได้เสมอไป โดยเฉพาะในบริบทของนานาชาติ ได้มีการนิยามกฎหมายว่าเป็น "ระบบของกฎ" ในเชิงของแนวคิดการตีความเพื่อให้บรรลุถึงความยุติธรรม ในฐานะเป็น "ผู้มีอำนาจ" ที่จะทำการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งของประชาชน หรือในฐานะของ "พระมหากษัตริย์หรือองค์อธิปัตย์ที่มีอำนาจบังคับ" อย่างไรก็ดี บางคนอาจคิดว่ากฎหมายคือสถาบันสังคมทั้งสิ้นของส่วนกลาง นโยบายกฎหมายรวมการแสดงเจตนารมณ์ด้านความคิดเชิงปฏิบัติมาจากทุกอย่างในสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

กฎหมายคือการเมือง เนื่องจากนักการเมืองเป็นผู้สร้างกฎหมาย กฎหมายคือปรัชญาเนื่องจากศีลธรรมและจริยธรรมเป็นตัวหล่อหลอมความคิดของพวกเขา กฎหมายบอกเรื่องราวมากมายทางประวัติศาสตร์ เพราะตัวบทกฎหมาย คดีและการจัดทำประมวลกฎหมายเกิดขึ้นต่อเนื่องตามกาลเวลามายาวนาน และกฎหมายคือเศรษฐศาสตร์ เพราะกฎใด ๆ ที่ว่าด้วยสัญญา การละเมิด กฎหมายทรัพย์สิน กฎหมายแรงงาน กฎหมายบริษัทและกฎหมายอื่น ๆ อีกมากมีผลในระยะยาวต่อการกระจายรายได้และความมั่งคั่งของสังคม

คำนามว่า "law" มาจากคำในภาษาอังกฤษเก่า "lagu" ซึ่งหมายถึงการวางหรือการกำหนดให้ตายตัว และคำคุณศัพท์ "legal" มาจากภาษาละติน "lex"

ศิลปะการแสดง

แก้

ดูบทความหลัก: ศิลปะการแสดง

 
การแสดงคอนเสิร์ตที่โมซาทีอุม ในซาลซ์บูร์ก

ศิลปะการแสดงแตกต่างจาก "ศิลปะปรับแต่งได้" (plastic arts) ตราบเท่าที่ศิลปะการแสดงใช้ตัว ใบหน้าของศิลปิน เองเป็นมัชชิม และศิลปะปรับแต่งได้ใช้วัสดุ เช่นดินเหนียว โลหะ หรือสีซึ่งสามารถหล่อ ปั้นหรือเปลี่ยนรูปเพื่อสร้างสรรค์ให้เป็นศิลปวัตถุ ศิลปะการแสดงรวมถึง กายกรรม การแสดงสดในที่สาธารณะ (busking) การรายรำ มายากล ดนตรี อุปรากร ภาพยนตร์ การโยนอุปกรณ์ (juggling) โยธวาทิตและละครเวที

ศิลปินที่แสดงในศิลปะเหล่านี้ต่อหน้าผู้ชมเรียกว่า "นักแสดง" ซึ่งรวมถึงนักแสดงละคร นักแสดงตลกหรือสุขนาฏกรรม (comedy) นักฟ้อนรำ นักดนตรีและนักร้อง ศิลปะการแสดงได้รับการสนับสนุนจากผู้ร่วมงานอื่นเช่น นักแต่งเพลงและนักจัดฉาก นักแสดงมักปรับหรือแต่งโฉมของตนเองอยู่เสมอด้วยเครื่องแต่งกายและการแต่งหน้าบนเวที ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีรูปแบบที่เฉพาะพิเศษในรูปของวิจิตรศิลป์ ซึ่งศิลปินแสดงงานศิลปะของตนสด ๆ ต่อหน้าผู้ชม ศิลปะต่าง ๆ ดังกล่าวนี้เรียกรวมว่าศิลปะการแสดง ศิลปะการแสดงส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับ "ศิลปะปรับแต่งได้" ในรูปใดรูปหนึ่งซึ่งอาจได้การสร้างฉาก การฟ้อนรำในบางครั้งมักหมายรวมให้เป็น ศิลปะปรับแต่งได้ โดยเฉพาะในช่วงของยุค "นวนาฏกรรม" (Modern dance)

การดนตรี

แก้

ดูบทความหลัก: ดนตรี

การดนตรี หมายถึงสาขาวิชาที่เน้นสายอาชีพสองสายได้แก่ สายการแสดงดนตรี (เน้นวงดุริยางค์และคอนเสิร์ต) และสายดนตรีศึกษา (การผลิตครูดนตรี) นักศึกษาเรียนด้านการเล่นเครื่องดนตรีต่าง ๆ และยังศึกษาทฤษฎีดนตรี และดนตรีวิทยา (musicology) ประวัติศาสตร์ดนตรีและการประพันธ์เพลง ในประเพณีของ "ศิลปศาสตร์" (วิชา 7 อย่างของผู้ดี: ไวยากรณ์ ตรรกวิทยา การพูด เลขคณิต เรขาคณิต ดนตรีและดาราศาสตร์) ดนตรีเป็นวิชาที่ใช้เพิ่มทักษะของผู้ที่มิใช่นักดนตรีเพื่อใช้ในการเน้นความจดจ่อในดนตรีและการฟังดนตรี

ละครเวที

แก้

ดูบทความหลัก: ละครเวที

 
โปสเตอร์ดั้งเดิมของละครเวทีเรื่อง Turandot ซึ่งเป็นละครที่ประสบความสำเร็จมากเรื่องหนึ่ง

ละครเวที (Theatre หรือ theater - กรีก "theatron", θέατρον) เป็นแขนงหนึ่งของสาขาวิชาศิลปะการแสดงที่เกี่ยวกับ "การแสดง" (acting) มาจากเรื่องราวหรือบทประพันธ์ต่อหน้าผู้ชม โดยใช้การพูด การแสดงท่า ดนตรี การฟ้อนรำ เสียงและภาพที่น่าตื่นเต้น นั่นคือการใช้ศิลปะการแสดงแขนงอื่น ๆ เข้ามาร่วมด้วย นอกจากการการพูดตามการบอกบททั่ว ๆ ไปแล้ว ละครเวทียังรวมรูปแบบการแสดงบนเวทีในรูปอื่น ๆ อีกด้วย เช่น อุปรากร บัลเล่ต์ ละครใบ้ (mime) คาบูกิ รำไทย งิ้ว ระบำอินเดีย ละครมัมเมอร์ (ละครปลอมตัวเล่นตลกในหมู่คน) ละครแพนโทไมม์ (ละครเล่นตามเรื่องนิทานในช่วงคริสต์มาสของชาวตะวันตก)

นาฏศิลป์

แก้

ดูบทความหลัก: นาฏศิลป์

นาฏศิลป์ หรือการฟ้อนรำ (Dance จากภาษาฝรั่งเศสเก่า dancier) หมายถึงการเคลื่อนไหวร่างกายของมนุษย์ อาจทำโดยการใช้รูปการแสดงออกที่มีท้องเรื่องทางสังคม จิตวิญญาณ หรือทางการแสดง นาฏศิลป์ยังอาจนำมาใช้สำหรับพรรณาถึงกรรมวิธีสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูด ระหว่างมนุษย์หรือสัตว์ (ระบำผึ้ง ระบำเกี้ยวพาราสี) การเคลื่อนไหวของวัตถุไร้ชีวิต (เช่นใบไม้เต้นรำกับลม) และกับรูปแบบของดนตรีเฉพาะบางชนิดหรือบางประเภท "นาฏกรรมวิธี" (Choreography) หมายถึงศิลปะในการออก"นักนาฏกรรมวิธี" (choreographer)

นิยามที่กำกับความหมายของนาฏศิลป์ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดทางสังคม วัฒนธรรม สุนทรียภาพ ศิลปะและศีลธรรม และขอบข่ายของการเคลื่อนไหว (เช่นการฟ้อนรำพื้นบ้าน) ที่เป็นตัวประมวลเทคนิคชั้นครู เช่นบัลเล่ต์ ในกีฬา ยิมนาสติก การร่ายรำสเกต (Figure skating และการว่ายน้ำร่ายรำ (synchronized swimming) ถือว่าอยู่ในแขนงนาฏศิลป์ แต่ท่ารำในศิลปะการต่อสู้ต่าง ๆ เป็นเพียงการเรียกชื่อเป็นศิลปะเท่านั้น

ปรัชญา

แก้

ดูบทความหลัก: ปรัชญา

ปรัชญามาจากคำกรีกโบราณที่แปลว่า "ความรักในความรอบรู้" (The love of wisdom) เป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิต การเป็นตัวตนและการมีเหตุผลของมนุษย์ ปรัชญาเป็นวิชาที่มีการศึกษามาเก่าแก่ที่สุดในโลก และได้แตกสาขาและวิวัฒนาการแตกออกเป็นวิชาฟิสิกส์ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 (พ.ศ. 2044 - พ.ศ. 2143) และวิชาจิตวิทยาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 (พ.ศ. 2344 - พ.ศ. 2443)

ในสังคมปัจจุบัน ได้มีสายวิชา เช่น ปริชานศาสตร์ (Cognitive Science เกิดขึ้นจากความพยายามของผู้เชี่ยวชาญที่จะคลายปมเกี่ยวกับธรรมชาติของระบบสติปัญญาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับความคิด การพูดและการมีเหตุผล

ศาสนา

แก้

ดูบทความหลัก: ศาสนา และ เทววิทยา

 
เข็มทิศ ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 ในเอกสารตัวเขียนนี้คือสัญลักษณ์การสร้างโลกของพระเจ้า (creation)

นักประวัติศาสตร์เกือบทั้งหมดได้สืบย้อนความเชื่อทางศาสนาไปได้ถึงยุคหินใหม่ ความเชื่อทางศาสนาในยุคนี้ประกอบด้วยการบูชาเจ้าแม่และเจ้าพ่อแห่งท้องฟ้า รวมทั้งการบูชาพระอาทิตย์และพระจันทร์เป็นเทพเจ้า

ปรัชญาและศาสนาใหม่ ๆ ได้เกิดขึ้นทั้งในซีกตะวันออกและตะวันตกของโลก โดยเฉพาะเมื่อประมาณศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล (ประมาณสมัยพุทธกาล) เมื่อเวลาผ่านไปการแตกแขนงได้เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย มีศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธในอินเดีย ศาสนาโซโรอัสเตอร์ในเปอร์เซีย เหล่านี้นับเป็นความเชื่อหลัก ๆ ในยุคแรก ๆ

ในโลกตะวันออกมีแนวความคิด 3 สำนักคิดที่มีอทธิพลต่อความคิดของจีนจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ลัทธิเต๋า ลัทธิถือกฎหมาย? (Legalism) และลัทธิขงจื๊อ ธรรมเนียมของลัทธิขงจื๊อซึ่งยังคงแพร่หลักเป็นส่วนใหญ่อยู่นั้น ไม่เพียงมองที่พลังของกฎหมายแต่ยังมองไปถึงกำลังและตัวอย่างของประเพณีเพื่อศีลธรรมทางการเมืองอีกด้วย

ในซีกโลกตะวันตก ประเพณีของปรัชญากรีกซึ่งมีพื้นฐานจากงานของเพลโตและอริสโตเติลได้ซึมซาบและแพร่กระจายไปทั่วยุโรปและตะวันออกกลางด้วยการพิชิตของอเล็กซานเดอร์มหาราชในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล (ประมาณระหว่าง พ.ศ. 144 - พ.ศ. 244)

กลุ่มศาสนาอับราฮัม (Abrahamic religions) ได้แก่ศาสนาที่มาจากประเพณีเซมิติก (Semitic) โบราณอันเดียวกันซึ่งสืบย้อนไปถึง "อับราฮัม" (ประมาณ 1900 ปีก่อน ค.ศ. หรือ 1350 ปีก่อน พ.ศ.) ซึ่งผู้เฒ่าผู้ปกครองกลุ่มชน (patriarch) ที่มีการกล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิลฮีบรูภาคพันธสัญญาเดิม และในฐานะผู้ตั้งศาสนาในพระคัมภีร์อัลกุรอาน และยังถูกเรียกเป็นผู้ตั้งศาสนาที่ปรากฏในเจเนซิส 20:7 ด้วยเช่นกัน ความเชื่อเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดกลุ่มศาสนาขนาดใหญ่ที่สัมพันธ์กันโดยการ "ถือพระเจ้าองค์เดียวกัน" ซึ่งรวมถึงลัทธิศาสนายูดาห์ ศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามซึ่งมีผู้นับถือรวมกันประมาณครึ่งโลก

ทัศนศิลป์

แก้

ดูบทความหลัก: ทัศนศิลป์

 
โคลงบทสี่บาทว่าด้วยภูเขาในสรวงสวรรค์ โดยจักรพรรดิกัวซ่ง? (Emperor Gaozong - พ.ศ. 1650 – พ.ศ. 1730) แห่งราชวงศ์ซ้อง?

ธรรมเนียมประเพณีสำคัญทางศิลปะมีรากฐานมาจากศิลปะในอารยธรรมโบราณแห่งใดแห่งหนึ่ง ได้แก่ อียิปต์โบราณ กรีกและโรมัน จีน อินเดีย เมโสโปเตเมียและเมโสอเมริกา

ศิลปะกรีกโบราณแสดงให้เห็นการเคารพรูปกายของมนุษย์และการพัฒนาทักษะของการเขียนที่แสดงกล้ามเนื้อ ท่า ความงามและสัดส่วนที่ถูกต้องทางสรีระ ศิลปะโรมันโบราณแสดงให้เห็นเทพเจ้าในฐานะของมนุษย์ที่เป็นอุดมคติอันสูงส่ง แสดงถึงลักษณะรูปโฉมที่แตกต่างกัน (เช่น สายฟ้าของเซอุส)

ในสมัยจักรวรรดิไบแซนไทน์และกอธิคซึ่งเป็นศิลปะยุคกลาง การมีอำนาจมากของศาสนจักรบีบให้มีการแสดงออกไปในทางคัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่การแสดงออกทางวัตถุที่เป็นสัจจะ ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา จะเห็นการกลับไปสู่การประเมินโลกทางวัตถุ การเปลี่ยนในครั้งนี้แสดงให้เห็นได้ในรูปของศิลปะ ซึ่งแสดงถึงความสามารถในการแสดงร่างกายของมนุษย์และความเป็นจริงที่เป็น 3 มิติของภูมิทัศน์

งานศิลปะตะวันออกมีลักษณะคล้ายคลึงกับศิลปะตะวันตกยุคกลางโดยเฉพาะการเน้นลวดลายผิวพื้นและการใช้สีท้องถิ่น (หมายถึงการใช้สีกับวัตถุที่เรียบ ๆ เช่นการใช้สีแดงพื้นฐานสำหรับเสื้อคลุมแทนที่จะใช้ใช้สีแดงในลักษณะเหลือบแก่อ่อนตามสภาพของแสงและเงา) ลักษณะเฉพาะของกระบวนแบบนี้ สีที่ลงจะถูกกำหนดโดยเส้นขอบรอบ (เทียบเท่ากับการลงสีภาพการ์ตูนในปัจจุบัน) ตัวอย่างที่อาจแสดงให้เห็นได้ชัดเจนได้แก่ศิลปะอินเดีย ธิเบตและญี่ปุ่น

 
จานสีของศิลปิน

ศิลปะศาสนาอิสลามห้ามใช้รูปเคารพแต่ใช้การแสดงออกของแนวความคิดทางศาสนาด้วยลวดลายเรขาคณิตแทน ความแน่ชัดทางกายภาพและความสมเหตุผลที่แสดงให้เห็นในยุคสว่างในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ไม่เพียงถูกลบล้างโดยไอน์สไตน์และจิตวิทยาที่ไม่เคยมีมาก่อนของฟรอยด์แต่ยังยังถูกลบล้างด้วยการพัฒนาทางเทคโนโลยีใหม่อีกด้วย ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของโลกยุคใหม่ในช่วงนี้ยิ่งทำให้เห็นอิทธิพลของวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่มีต่อวัฒนธรรมตะวันตกมากพอ ๆ กับอิทธิพลตะวันตกที่มีต่อวัฒนธรรมเหล่านั้นได้มากขึ้น

ประเภทของมัชฌิม

แก้

การวาดเส้นคือตัวกลางหรือมัชฌิมที่ช่วยในการเขียนภาพโดยการใช้เครื่องมือและเทคนิคที่หลากหลายใดๆ ก็ได้ โดยทั่วไปจะวาดลงบนพื้นผิวด้วยดินสอกราไฟท์ หมึกและปากกา หมึกและพู่กัน ดินสอเทียน ถ่านแท่ง ถ่าน สีแท่งปาสเตลและปากกาปากสักหลาด เครื่องมือทางดิจิทัลสามารถนำมาใช้สร้างบรรยากาศที่ซับซ้อนแก่ภาพ เทคนิคหลักทั่วไปที่ใช้ในการวาดภาพ เทคนิคหลักที่ใช้ในการวาดภาพได้แก่ การวาดเส้น การแรเส้นเงา (hatching) การแรเส้นเงาขวาง การแรเส้นเงาแบบสุ่ม ลายเส้นหวัด ลายสักจุด (stippling) และลายเส้นกลืนกัน ศิลปินผู้ชำนาญในการวาดลายเส้นเรียกว่า "ช่างวาดลายเส้น" (draftsman หรือ draughtsman)

จิตรกรรม

แก้

ดูบทความหลัก: จิตรกรรม

 
โมนาลิซา จิตรกรรมที่มีผู้รู้จักมากที่สุดภาพหนึ่งในโลกตะวันตก

จิตรกรรม (Painting ในความหมายทั่วไปหมายถึงการประยุกต์สารสี (pigment) ที่แขวนลอยในตัวกลางและยึดเหนี่ยวติดกับผิวพื้น เช่น กระดาษ ผ้าใบหรือผนังด้วยวัสดุกาว หากใช้ในความหมายทางศิลปะจะหมายถึงการผสมผสานวิธีดังกล่าวด้วยการวาดเส้น การจัดองค์ประกอบและข้อพิจารณาเชิงศิลปะอื่น ๆ เพื่อแสดงออกถึงความตั้งใจในแนวคิดของผู้เขียนนั้น ๆ นอกจากนี้ จิตรกรรมยังเป็นที่แสดงแรงดลใจสำคัญทางจิตวิญญาณและความคิด ภาพเขียนประเภทนี้จะเห็นได้ในงานศิลปะหลายรูปแบบ ตั้งแต่ภาพเขียนรูปในเรื่องปรัมปราต่าง ๆ บนเครื่องปั้นดินเผา ไปจนถึงภาพตัวคนในจิตรกรรมฝาผนังในชาเปลซิสติน

สีคือหัวใจสำคัญของงานจิตรกรรมเช่นเดียวกับเสียงที่เป็นหัวในหลักของดนตรี สีมีความเป็นอัตวิสัยสูงแต่ก็สามารถสังเกตถึงผลทางจิตวิทยาได้ไม่ยาก แม้จะมีความแตกต่างไปตามแต่ละวัฒนธรรมบ้างก็จริง สีดำเกี่ยวพันกับความโศกเศร้าในโลกตะวันตก แต่ในซีกโลกอื่นความโศกเศร้าอาจเป็นสีขาวได้ จิตรกร นักทฤษฎี นักเขียนและนักวิทยาศาสตร์บางคน รวมทั้งเกอเท วาซีลี คันดินสกี ไอแซก นิวตันต่างได้เขียนทฤษฎีสีของตนขึ้น นอกจากนี้ การใช้ภาษาในสียังเป็นเพียงการเอ่ยหรือการบ่งบอกสีโดยทั่ว ๆ ไปเท่านั้น เช่น คำว่า "สีแดง" เป็นเพียงคำที่ใช้แทนพิสัยการแปรที่กว้างขวางทั้งหมดของสเปกตรัมของสีแดงบริสุทธิ์ ไม่มีการกำหนดตายตัวในความแตกต่างของสีอย่างเช่นเสียง ที่สามารถกำหนดความสูงต่ำหรือบันไดเสียงที่ชัดเจนแน่นอนเป็นที่ยอมรับกันได้ เช่นบันไดเสียง C หรือ C# แม้จะมีการใช้ระบบ "แพนโทน" (Pantone) อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมการพิมพ์และงานออกแบบแล้วก็ตาม

ศิลปินสมัยใหม่ได้ก้าวไปข้างหน้ามากในด้านงานเขียนภาพ เช่น ภาพปะติด (collage) ซึ่งเริ่มด้วยภาพเขียนบาศกนิยม (cubism) ตามด้วยคติที่ว่าจิตรกรรมไม่จำเป็นต้องเหมือนรูปแบบเดิม ๆ จิตรกรสมัยใหม่หลายคนได้รวมเอาวัสดุหลากหลายชนิด เช่น ทราย ซิเมนต์ ฟางหรือไม้มาสร้างลายผิว ตัวอย่างงานเช่นว่านี้ได้แก่งานของชอง ดูบูเฟต์ (Jean Dubuffet) หรือ แอนเซลม์ คีเฟอร์ (Anselm Kiefer) หรือกมล ทัศนาญชลี [1] เก็บถาวร 2010-09-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน นวศิลป์ หรือศิลปะสมัยใหม่ และศิลปะร่วมสมัยได้ก้าวไกลออกไปจากการเน้นคุณค่าประวัติศาสตร์หรือด้านฝีมือมาเน้นด้านมโนทัศน์มากขึ้น ทำให้มีผู้กล่าวว่าจิตรกรรมในฐานะของศิลปะแท้ได้ตายไปแล้ว แต่แนวโน้มก็หาได้ทำให้ศิลปินส่วนใหญ่หยุดการค้นหาจิตรกรรมแนวใหม่ ๆ ต่อไปได้

ประวัติความเป็นมาของมนุษยศาสตร์

แก้

ในโลกตะวันตก การศึกษามนุษยศาสตร์สามารถสืบย้อนไปได้ถึงกรีกโบราณซึ่งถือเป็นพื้นฐานการศึกษาเชิงกว้างสำหรับประชาชน ในยุคโรมัน แนวคิดศิลปศาสตร์ (liberal arts) 7 อย่างได้เกิดขึ้นได้แก่ ไวยากรณ์ วาทศาสตร์ (rhetoric) และตรรกศาสตร์ (logic) รวมทั้งเลขคณิต เรขาคณิต ดาราศาสตร์ (astronomia) ดนตรี (ที่เรียกรวมว่าจตุรศิลปศาสตร์ quadrivium) วิชาต่าง ๆ เหล่านี้ได้เป็นตัวก่อร่างสร้างฐานการศึกษาในยุคกลาง โดยเน้นให้มนุษยศาสตร์ให้เป็นทักษะหรือ "วิธีทำการทั้งปวง" ในชีวิต

การเลื่อนเปลี่ยนแนวได้เกิดขึ้นในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา เมื่อมนุษยศาสตร์เริ่มถูกมองว่าเป็นวิชา เพื่อการศึกษา มากกว่าวิชา เพื่อการปฏิบัติ ซึ่งเปลี่ยนจากแนวประเพณีดั้งเดิมเข้าหาสายวิชาเช่น วรรณคดีและประวัติศาสตร์ ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 (พ.ศ. 2493 - พ.ศ. 2542) มุมมองในแนวนี้ถูกท้าทายโดยขบวนการ "นักหลังสมัยใหม่นิยม" (postmodernist) ซึ่งมุ่งค้นหามนุษยศาสตร์ในเชิงของ "นักสมภาพนิยม" (egalitarian) เพื่อให้เหมาะกับสังคมประชาธิปไตยมากขึ้น

มนุษยศาสตร์ในปัจจุบัน

แก้

มนุษยศาสตร์ในสหรัฐฯ

แก้

มหาวิทยาลัยจำนวนมากในสหรัฐฯ เชื่อว่าแนวทาง "การศึกษาศิลปศาสตร์" ที่กว้างซึ่งเป็นภาคบังคับสำหรับนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยทุกสาขานั้น มีความจำเป็น ผู้บุกเบิกในด้านนี้ที่มีชื่อเสียงได้แก่ มอร์ติเมอร์ เจ แอดเลอร์ และ อี ดี เฮิร์ช

เมื่อปี พ.ศ. 2533 คณะกรรมาธิการว่าด้วยมนุษยศาสตร์แห่งสหรัฐฯ ได้กล่าวไว้ในรายงาน "มนุษยศาสตร์ในชีวิตชาวอเมริกัน" ไว้ดังนี้:


เราสะท้อนให้เห็นถึงคำถามพื้นฐานผ่านมนุษยศาสตร์ว่า: การเป็นตัวตนมนุษย์ของเราหมายความว่าอย่างไร? มนุษยศาสตร์ได้ชี้เบาะแสแต่ก็ไม่เคยให้คำตอบที่ครบถ้วนสมบูรณ์ออกมาได้ มนุษยศาสตร์แย้มให้เห็นว่ามนุษย์กำลังมีความพยายามด้านศีลธรรม จิตวิญาณและสำนึกทางปัญญาในโลกที่ไร้เหตุผล สิ้นหวัง เปล่าเปลี่ยว เต็มไปด้วยความตายเพื่อให้แลเห็นได้เด่นชัดดังเช่นการเกิด มิตรภาพและการมีเหตุผล


มีการวิพากษ์วิจารณ์หลักสูตรมนุษยศาสตร์/ศิลปศาสตร์ตามแนวประเพณีเดิมว่าสิ้นเปลือง ไม่มีประโยชน์ในตลาดงานสมัยใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งต้องการการศึกษาเฉพาะทางในทุกสาขาที่จะต้องใช้เวลานานหลายปี แนวดังกล่าวนี้ตรงข้ามกับช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีผู้มีปริญญาระดับมหาวิทยาลัยเพียง 3%-6% ผู้มีปริญญาเพียงใบเดียวก็สามารถไต่เต้าสู่ชีวิตในสายงานวิชาชีพได้ไม่ยาก

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารผ่านศึกหลายล้านคนถือโอกาสเอาประโยชน์จาก "กฎหมาย จีไอ" (GI Bill) ซึ่งขยายการศึกษาของรัฐบาลกลางโดยการให้ทุนการศึกษาจำนวนมหาศาลแก่ทหารผ่านศึกให้เข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัย จนถึงเมื่อ พ.ศ. 2546 ประมาณ 53% ของประชากรสหรัฐฯ จะได้รับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในรูปใดรูปหนึ่งและมีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี (Bachelors degree) หรือสูงกว่า 27.2% และจำนวน 8% เป็นผู้จบปริญญาโทและเอก

มนุษยศาสตร์ในประเทศไทย

แก้

อย่างไรก็ดี สถานะของมนุษยศาสตร์ในวงการอุดมศึกษาไทยปัจจุบันค่อนข้างถูกละเลยความสำคัญ สาขาวิชาทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งถูกลดสถานะลง หรือได้รับความสนใจจากนิสิตนักศึกษาน้อยลง เนื่องจากเป็นแขนงวิชาที่ถูกมองว่าไม่ตอบสนองโดยตรงต่อต่อความต้องการของตลาดแรงงาน และการนโยบายพัฒนาที่เน้นแต่ความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี[1]

ยุคดิจิทัล

แก้

ภาษาและวรรณคดีถือว่าเป็นเนื้อหากลางในมนุษยศาสตร์ที่ต้องพิจารณา ดังนั้นผลกระทบของการสื่อสารอีเล็กทรอนิกส์จึงเป็นที่น่าเฝ้ามอง เนื่องจากเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่และอินเทอร์เน็ตเป็นตัวเร่งอัตราความเร็วในการสื่อสารให้สูงขึ้นอย่างมหาศาลและทำให้ขอบเขตของการสื่อสารขยายไปทั่วทุกมุมโลก จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภาษาและสังคมอย่างรวดเร็ว แม้โดยข้อเท็จที่ว่ามนุษยศาสตร์จะต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้ แต่ก็คาดว่าเชิงของอักษรศาสตร์ในรูปแบบประเพณีจะไม่หายไปโดยสิ้นเชิง

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา. “‘มนุษยศาสตร์’ วิชาที่กำลังจะสูญหาย? จำเป็นอยู่ไหม เมื่อตลาดไม่ต้องการ.” ประชาไท (29 สิงหาคม 2561). https://prachatai.com/journal/2018/08/78480

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

แก้
  1. Robertson, Geoffrey (2006). Crimes Against Humanity. Penguin, 90. ISBN 9780141024639.
  2. Hart, H.L.A. (1961). The Concept of Law. Oxford University Press. ISBN ISBN 0-19-876122-8.
  3. Dworkin, Ronald (1986). Law's Empire. Harvard University Press. ISBN ISBN 0674518365.
  4. Raz, Joseph (1979). The Authority of Law. Oxford University Press.
  5. Austin, John (1831). The Providence of Jurisprudence Determined.
  6. see Etymonline Dictionary
  7. see Mirriam-Webster's Dictionary
  8. Levi, Albert W.; The Humanities Today, Indiana University Press, Bloomington, 1970.
  9. Walling, Donovan R.; Under Construction: The Role of the Arts and Humanities in Postmodern Schooling Phi Delta Kappa Educational Foundation, Bloomington, Indiana, 1997.
  10. Adler, Mortimer J.; "A Guidebook to Learning: For the Lifelong Pursuit of Wisdom"
  11. US Census Bureau, educational attainment in 2003. Retrieved on 2007-01-03.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้