ข้ามไปเนื้อหา

กาแฟอาหรับ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กาแฟอาหรับ
ดะละฮ์หรือกากาแฟแบบอาหรับดั้งเดิม ถ้วยกาแฟ และเมล็ดกาแฟ
ชื่ออื่นเกาะฮ์วะฮ์อะเราะบิยะฮ์
ประเภทCoffea arabica
มื้อเครื่องดื่ม
แหล่งกำเนิดเยเมน
ภูมิภาคโลกอาหรับและตะวันออกกลาง
คิดค้นคริสต์ศตวรรษที่ 15
อุณหภูมิเสิร์ฟร้อน
ส่วนผสมหลักกาแฟและน้ำ
ส่วนผสมที่มักใช้กระวาน

กาแฟอาหรับ หรือ เกาะฮ์วะฮ์อะเราะบิยะฮ์ (อาหรับ: قهوة عربية) เป็นชื่อเรียกของกาแฟที่ได้จากการชงเมล็ดกาแฟอาราบิกา ซึ่งเป็นสายพันธ์ที่ปลูกที่ระดับความสูง 1000-2000 เมตรจากระดับน้ำทะเลและเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60-70 ของกาแฟที่ปลูกทั่วโลก[1][2] ชาติอาหรับส่วนใหญ่ในตะวันออกกลางได้พัฒนาวิธีการของตนเองในการชงและเตรียมกาแฟ และมักปรุงแต่งด้วยกระวาน[3] แต่ก็มีกาแฟอาหรับแบบที่ไม่ใส่กระวานด้วยเช่นกัน ซึ่งเรียกว่าเกาะฮ์วะฮ์ซาดะฮ์ (อาหรับ: قهوة سادة) หรือ "กาแฟเปล่า" กาแฟอาหรับที่ดื่มในฮิญาซและนัจญด์ในคาบสมุทรอาหรับจะมีสีออกเหลืองทองเนื่องจากผสมหญ้าฝรั่น กานพลู และอบเชยลงไปด้วย ในขณะที่กาแฟในแถบตอนเหนือของคาบสมุทรอาหรับและภูมิภาคลิแวนต์จะมีสีเข้มกว่า[4][5]

กากาแฟหรือดะละฮ์

ในวัฒนธรรมของชาวอาหรับจะเสิร์ฟในงานเลี้ยงภายในครอบครัวหรือต้อนรับแขก โดยตามธรรมเนียมดั้งเดิมเมล็ดกาแฟจะคั่วสดในบ้านของเจ้าบ้านหรือเจ้าภาพ ขั้นตอนการเตรียมทั้งหมดจะทำต่อหน้าแขก อุณหภูมิที่ใช้ในการคั่วกาแฟจะแตกต่างกันตามรสชาติที่ต้องการ โดยทั่วไปจะอยู่ระหว่างระหว่าง 165 ถึง 210 องศาเซลเซียส วิธีการชงจะแตกต่างกันไปตามความชอบของผู้ดื่ม บางวิธีจะชงแบบเจือจางและใส่กระวานเพิ่ม แต่บางวิธีจะชงแบบเข้ม กาแฟอาหรับมีรสขม ไม่กรอง และโดยทั่วไปจะไม่เติมน้ำตาล[6] กาแฟอาหรับจะเสิร์ฟในถ้วยขนาดเล็กมีลวดลายประดับหรือ ฟินญาน (อาหรับ: فنجان) และเสิร์ฟพร้อมกับของหวานเช่นอินทผลัมแห้ง ผลไม้แห้ง ผลไม้เชื่อม หรือถั่ว[7]เพื่อตัดรสขมของกาแฟ ตามธรรมเนียมเมื่อแขกดื่มหมดถ้วยแล้ว เจ้าภาพจะเติมกาแฟให้แขกอีกจนกว่าแขกจะขอให้หยุด[8]

กาแฟอาหรับชนิดต่าง ๆ กาแฟอาหรับแบบฮิญาซและนัจญด์อยู่ทางด้านซ้าย และกาแฟแบบลิแวนต์อยู่ทางด้านขวา

กาแฟอาหรับหยั่งรากลึกในวัฒนธรรมและประเพณีของชาวอาหรับ และเป็นกาแฟที่นิยมดื่มมากที่สุดในตะวันออกกลาง หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงกาแฟอาหรับพบในอารามของลัทธิศูฟีในประเทศเยเมนปัจจุบัน โดยชาวศูฟีใช้กาแฟเพื่อให้ตื่นตัวขณะบำเพ็ญเพียรในช่วงกลางคืน ก่อนจะแพร่หลายไปยังรัฐชะรีฟมักกะฮ์ (แคว้นฮิญาซในประเทศซาอุดีอาระเบียในปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของนครมักกะฮ์) ประเทศอียิปต์ ภูมิภาคลิแวนต์ และในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ได้แพร่หลายไปถึงจักรวรรดิออตโตมันและทวีปยุโรปในที่สุด[9] องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติได้ประกาศให้กาแฟอาหรับเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติอาหรับ[10]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Botanical Aspects". London: International Coffee Organization. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 March 2009. สืบค้นเมื่อ 4 January 2010.
  2. "1.2.5-World coffee trade-World production by type: arabica and robusta". www.intracen.org.
  3. "Ingredients Arabic Coffee". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-28. สืบค้นเมื่อ 2017-10-06.
  4. Al Asfour, Saud. "القهوة الكويتية.. أصالة وعراقة". Alqabas.
  5. Al Asfour, Saud. "القهوجي.. "صَبَّاب القهوة" في الكويت قديماً". Alqabas.
  6. "How To Make Arabic Coffee". Terrace Restaurant & Lounge (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2015-03-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-14. สืบค้นเมื่อ 2017-04-14.
  7. "Gulf Arabic coffee - qahwa arabiyyah". www.dlc.fi. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-06. สืบค้นเมื่อ 2017-04-14.
  8. "Arabic Coffee Service | GWNunn.com". gwnunn.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-15. สืบค้นเมื่อ 2017-04-14.
  9. Weinberg, Bennett Alan; Bealer, Bonnie K. (2001). The world of caffeine. Routledge. pp. 3–4. ISBN 978-0-415-92723-9.
  10. "Arabic coffee, a symbol of generosity - intangible heritage - Culture Sector - UNESCO". www.unesco.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2017-04-04.