ข้ามไปเนื้อหา

ฌานแห่งนาวาร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฌานแห่งนาวาร์
สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ
ดำรงพระยศ7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1403 - 20 มีนาคม ค.ศ. 1413
ราชาภิเษก26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1403
ก่อนหน้าอีซาแบลแห่งวาลัว
ถัดไปกาทรีนแห่งวาลัว
ดัชเชสแห่งเบรอตาญ
ระหว่าง2 ตุลาคม 1386 – 1 พฤศจิากยน 1399
พระราชสมภพราว ค.ศ. 1370
สวรรคต10 มิถุนายน ค.ศ. 1437
พระราชสวามีจอห์นที่ 5 ดยุคแห่งเบรอตาญ
สมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษ
พระนามเต็ม
โจแอนนาแห่งนาวาร์ สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ[1]
ราชวงศ์ราชวงศ์เอเวรอ
พระราชบิดาพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งนาวาร์
พระราชมารดาฌานน์แห่งวาลัวส์ สมเด็จพระราชินีแห่งนาวาร์

โจนแห่งนาวาร์ (อังกฤษ: Joan of Navarre) หรือ ฌานแห่งนาวาร์ (ฝรั่งเศส: Jeanne de Navarre) (ราว ค.ศ. 1370 - 10 มิถุนายน ค.ศ. 1437) เป็นพระมเหสีของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษและเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งนาวาร์


เจ้าหญิงแห่งนาวาร์

[แก้]

ฌานแห่งนาวาร์เสด็จพระราชสมภพในราวปี ค.ศ. 1368 ถึง ค.ศ. 1370 ณ กรุงปัมโปลนา ราชอาณาจักรนาวาร์ (ปัจจุบันอยู่ในสเปน) โดยทรงเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งนาวาร์กับพระนางฌานแห่งฝรั่งเศส พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งนาวาร์ พระราชบิดาของฌานมีสมญานามว่าพระเจ้าชาร์ลส์ผู้เลวร้าย ส่วนฌานแห่งวาลัว พระราชมารดาของพระองค์เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าฌ็องที่ 2 แห่งฝรั่งเศสซึ่งมีสมญานามว่าฌ็องผู้ดีงาม พระราชมารดาของฌานเสด็จสวรรคตขณะฌานมีพระชนมายุได้ราว 3 พรรษา


ในวัยเยาว์ฌานกับพี่น้องอีกสองคนตกเป็นตัวประกันของผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแห่งฝรั่งเศสซึ่งเป็นพระมาตุลาของสามพี่น้อง ทั้งสามได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติและได้รับการปล่อยตัวเมื่อกษัตริย์แห่งกัสติยายื่นมือเข้ามาแทรกแซง

ดัชเชสแห่งเบรอตาญ

[แก้]

หลังเดินทางกลับนาวาร์ พระราชบิดาได้เปิดโต๊ะเจรจาเรื่องการสมรสของพระองค์กับฌ็องที่ 4 ดยุคแห่งเบรอตาญซึ่งมีอายุมากกว่าพระองค์ถึงสามสิบปีและเป็นม่ายมาแล้วสองครั้ง ภรรยาสองคนแรกของฌ็องเป็นหญิงชาวอังกฤษ คือ แมรีแห่งวอลแทม พระราชธิดาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 และโจน ฮอลแลนด์ บุตรสาวของทอมัส ฮอลแลนด์ เอิร์ลที่ 1 แห่งเคนต์ การสมรสทั้งสองครั้งไม่มีบุตรฌ็องจึงต้องการสมรสใหม่อย่างเร่งด่วน ทูตเบรอตาญเดินทางมาถึงในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1384 เพื่อมารับตัวฌานซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 16 พรรษา พระองค์ได้สมรสผ่านผู้แทนเป็นภรรยาคนที่สามของฌ็องที่ 4 ในวันที่ 2 กันยายน จากนั้นฌานขึ้นเรือไปเบรอตาญทันทีและเข้าพิธีสมรสจริงๆ กับฌ็องในวันที่ 11 กันยายน พระองค์ตั้งครรภ์อย่างรวดเร็วและได้ให้กำเนิดบุตรสาวที่มีอายุสั้นในปี ค.ศ. 1388 บุตรชายคนแรกของทั้งคู่เกิดในปี ค.ศ. 1389 ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันไม่ต่ำกว่า 8 คน คือ

  • ฌานแห่งเบรอตาญ (เกิด ค.ศ. 1387) ถึงแก่กรรมในวันเด็ก
  • ฌ็องที่ 5 ดยุคแห่งเบรอตาญ (เกิด ค.ศ. 1389) สมรสกับฌานแห่งฝรั่งเศส มีบุตร
  • มารีแห่งเบรอตาญ (เกิด ค.ศ. 1391) สมรสกับฌ็องที่ 1 แห่งอาล็องซง มีบุตร
  • มาร์เกอรีตแห่งเบรอตาญ (เกิด ค.ศ. 1392) สมรสกับอาลันที่ 9 ไวส์เคานต์แห่งโรฮานและเคานต์แห่งโปเว็ต
  • อาร์เธอร์ที่ 3 ดยุคแห่งเบรอตาญ (เกิด ค.ศ. 1393) สมรสกับ (1) มาร์เกอรีตแห่งบูร์กอญ (2) ฌานแห่งอัลเบร (3) แกเตอรีนแห่งลักเซ็มเบิร์กแซ็งต์โปล การสมรสทั้งสามครั้งไม่มีบุตร
  • ชีลแห่งเบรอตาญ (เกิด ค.ศ. 1394)
  • ริชาร์ดแห่งเบรอตาญ (เกิด ค.ศ. 1395) สมรสกับมาร์เกอรีต เดอร์ลีย็อง เคาน์เตสแห่งแวร์ตู มีบุตร
  • บล็องช์แห่งเบรอตาญ (เกิด ค.ศ. 1397) สมรสกับฌ็องที่ 4 เคานต์แห่งอามันญัค มีบุตร

สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ

[แก้]

ฌานน่าจะเจอกับเฮนรีแห่งบอลิงบรูก (ต่อมาคือพระเจ้าเฮนรีที่ 4) บุตรชายของจอห์นแห่งกอนท์กับบลานช์แห่งแลงคัสเตอร์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1396 ในพิธีอภิเษกสมรสของพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 กับอิซาแบลแห่งวาลัวในเมืองกาแล ในปี ค.ศ. 1399 เฮนรีถูกพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องเนรเทศออกจากราชสำนัก พระองค์ได้มาพำนักอยู่กับฌานและดยุคแห่งเบรอตาญ ทั้งคู่น่าจะเริ่มถูกตาต้องใจกันในตอนนั้น ในวันที่ 1 พฤศจิกายนของปีนั้นฌานเป็นม่ายเมื่อดยุคแห่งเบรอตาญผู้เป็นสามีถึงแก่กรรม พระองค์ได้ขึ้นทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินให้ฌ็องที่ 5 ดยุคแห่งเบรอตาญ บุตรชายที่ยังอยู่ในวัยเยาว์ ในปี ค.ศ. 1400 ฌานได้เขียนจดหมายถึงเฮนรีด้วยเนื้อหาที่ทำให้สันนิษฐานว่าทั้งคู่น่าจะมีความสัมพันธ์ที่พิเศษต่อกัน


ในปี ค.ศ. 1402 หลังสำเร็จราชการแผ่นดินได้สองปีบุตรชายของฌานได้บรรลุนิติภาวะ ฌานได้ส่งทูตไปอังกฤษเพื่อเจรจาขอสมรสกับเฮนรีซึ่งผ่านการสมรสมาแล้วหนึ่งครั้งกับแมรี เดอ โบฮันที่ถึงแก่กรรมไปเมื่อปี ค.ศ. 1394 หลังให้กำเนิดบุตรคนที่เจ็ดของทั้งคู่ เฮนรีเห็นด้วยกับการสมรส ทั้งคู่จึงได้ทำการสมรสผ่านผู้แทนในเดือนเมษายน ค.ศ. 1402 ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1403 หลังเสียสิทธิ์ในการสำเร็จราชการแผ่นดินและสิทธิ์ในการดูแลบุตรชาย ฌานได้ออกเดินทางจากฝรั่งเศสไปอังกฤษพร้อมกับบุตรสาวสองคนเพื่อไปใช้ชีวิตกับคู่สมรส ระหว่างเดินทางเรือของพระองค์โดนพายุพัดออกนอกเส้นทางเดิมที่ตั้งใจว่าจะขึ้นฝั่งในเซาแทมตัน เรือเทียบฝั่งที่ฟอลมัธในเมืองคอร์นวอลล์ พระองค์ได้เดินทางมาหาเฮนรีที่ขณะนั้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษได้สองปีแล้วที่เมืองวินเชสเตอร์ ทั้งคู่สมรสกันจริงๆ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่อาสนวิหารวินเชสเตอร์ จากนั้นทั้งคู่ได้เดินทางไปลอนดอนและฌานได้รับการทำพิธีราชาภิเษกในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่วิหารเวสต์มินสเตอร์


ในตอนที่สมรสพระเจ้าเฮนรีมีพระชนมายุ 37 พรรษา ส่วนฌานมีพระชนมายุ 35 พรรษา แม้ทั้งคู่ไม่มีพระราชโอรสธิดาด้วยกันแต่พระเจ้าเฮนรีมีพระโอรสธิดาอยู่แล้ว 6 คนกับพระมเหสีคนแรก ฌานมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกเลี้ยง โดยเฉพาะกับเฮนรีแห่งมอนมัธ เจ้าชายแห่งเวลส์ (ต่อมาคือพระเจ้าเฮนรีที่ 5 แห่งอังกฤษ) แต่ชาวอังกฤษไม่ชอบพระราชินีคนใหม่ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสและไม่ไว้ใจคนโปรดชาวต่างชาติที่ฌานพาเข้ามาอยู่ในราชสำนัก ฝั่งชาวฝรั่งเศสเองก็ไม่เห็นด้วยการสมรสครั้งนี้เช่นกัน

พระราชินีม่ายแห่งอังกฤษ

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1408 พระเจ้าเฮนรีประชวรพระโรคทางพระฉวี (อาจเป็นโรคเรื้อน หรือโรคซิฟิลิส หรือโรคสะเก็ดเงิน) และสภาพพระวรกายไม่สู้ดี (อาจเป็นโรคลมบ้าหมู หรือโรคพระหทัย) พระองค์จึงปลีกวิเวกจากสังคมโดยพาฌานไปอยู่กับพระองค์ด้วย ในปี ค.ศ. 1413 ระหว่างกำลังสวดมนต์ที่แท่นบูชาพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพในวิหารเวสต์มินสเตอร์ พระเจ้าเฮนรีมีพระอาการไม่สู้ดี (อาจจะเส้นพระโลหิตในพระมัตถลุงค์แตก) พระองค์ถูกหามไปยังห้องเยรูซาเล็มซึ่งอยู่ในส่วนที่พักของพระอธิการ ทรงเสด็จสวรรคตที่นั่นด้วยพระชนมายุ 45 พรรษา ฌานเป็นม่ายอีกครั้ง ผู้ที่ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระสวามีของพระองค์ คือ พระเจ้าเฮนรีที่ 5 พระโอรสเลี้ยงของพระองค์


พระเจ้าเฮนรีที่ 5 ใส่พระทัยพระมารดาเลี้ยงของพระองค์อย่างมาก เห็นได้จากการที่ทรงแต่งตั้ง "พระมารดาที่รัก" เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในปี ค.ศ. 1415 ในช่วงที่พระองค์ไปทำศึกในฝรั่งเศสและคว้าชัยชนะครั้งใหญ่ในยุทธการที่อาแซ็งกูร์ซึ่งได้พรากชีวิตบุตรเขยคนหนึ่งของฌานที่ต่อสู้ให้ฝรั่งเศส ขณะที่อาร์เธอร์ บุตรชายของฌานถูกจับเป็นเชลยและถูกจำขังในหอคอยแห่งลอนดอนและปราสาทฟอเธอริงกายเป็นเวลาห้าปี


ในปี ค.ศ. 1418 ระหว่างพระเจ้าเฮนรีที่ 5 ไปทำศึกในฝรั่งเศสอีกครั้งโดยมีจอห์น ดยุคแห่งเบดฟอร์ด พระอนุชาทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ฌานถูกริบที่ดินในครอบครองกับเงินรายปีทั้งหมดและถูกจับกุมอย่างกระทันหันด้วยข้อหาใช้เวทมนตร์คาถา (สันนิษฐานกันว่าอาจมีเหตุผลมาจากนโยบายต่อต้านฝรั่งเศสของอังกฤษ ฌานซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสจึงถูกกำจัดออกจากการเมืองของอังกฤษ) พระองค์ถูกส่งตัวไปขังที่ปราสาทเพเวนซีย์ในซัสเซ็กซ์เป็นเวลา 4 ปี แม้จะมีสถานะต้องขังในปราสาทแต่พระองค์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่หรูหรา ในปี ค.ศ. 1422 พระเจ้าเฮนรีที่ 5 มีพระราชโองการให้ปล่อยตัวฌานและคืนสมบัติให้พระองค์ ตลอดรัชสมัยที่เหลือของพระเจ้าเฮนรีที่ 5 จนเข้าสู่รัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 พระราชโอรสของพระเจ้าเฮนรีที่ 5 ฌานใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ ในฐานะพระราชินีม่ายผู้มั่งคั่ง กระทั่งในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1437 ฌานสวรรคตที่ปราสาทแฮฟริงซึ่งเป็นบ้านหลังโปรดของพระองค์ด้วยพระชนมายุ 67 พรรษา พระบรมศพของพระองค์ถูกฝังที่อาสนวิหารแคนเทอร์บรีเคียงข้างพระเจ้าเฮนรีที่ 4 ผู้เป็นพระราชสวามีคนที่สอง

อ้างอิง

[แก้]
  1. Explore-parliament.net, Joan of Navarre (1370-1437)[1]


ดูเพิ่ม

[แก้]