ข้ามไปเนื้อหา

ฤๅษีโคดม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระฤๅษีโคดม)
โคดม

มหาฤๅษี
ภาพวาดมหาฤๅษีโคตมในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19
ส่วนบุคคล
ศาสนาฮินดู
คู่สมรสนางอหัลยา
บุตรShatananda กับคนอื่น ๆ
เกียรติยศหนึ่งในสัปตฤาษี (ฤๅษีที่ยิ่งใหญ่ทั้งเจ็ด)

พระฤๅษีโคดม (สันสกฤต: महर्षिः गौतम, Maharṣiḥ Gautama) หรือ ท้าวโคดมผู้ครองนครสาเกด ไม่มีธิดาและโอรส เกิดความเบื่อหน่ายราชสมบัติจึงออกผนวชเป็นดาบสบำเพ็ญพรตสองพันปี จนหนวดเครารกรุงรัง ยังมีนกกระจาบป่าสองตัวผัวเมียเวียนออกไข่ที่หนวดเคราพระฤๅษี จนบังเกิดเหตุ นกตัวผู้ออกไปหากินถึงมืดค่ำ เวลาค่ำกลีบดอกบัวหุบลงมากักตัวไว้ เช้าวันรุ่งขึ้นดอกบัวคลี่บาน จึงบินกลับรัง เล่าเรื่องราวให้นางนกฟัง แต่นางนกไม่ยอมเชื่อ หาว่าไปติดนกสาวตัวอื่น ฝ่ายนกตัวผู้จึงสาบานตนว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ขอรับเอาบาปของดาบสไว้แก่ตนเอง

พระฤๅษีจึงถามว่าตนมีบาปข้อใดจึงจะรับเอาไป นกกระจาบตัวผู้ตอบว่า มีบาปที่ไม่มีโอรสและธิดา หนีออกจากเมืองมา จึงไม่มีผู้สืบราชสมบัตินับเป็นบาปอย่างยิ่ง พระมหาดาบสตรึกตรองก็เห็นพ้องกับนก จึงโกนหนวดเครา แล้วทำพิธีกองกูณฑ์บูชาไฟ หลับตาบริกรรมคาถา บังเกิดนางขึ้นกลางไฟ งดงามยิ่งนัก ให้ชื่อว่า นางกาลอัจนา อยู่ด้วยกันต่อมาจนได้ธิดาชื่อว่า สวาหะ

เมื่อฤๅษีโคดมออกป่า พระอินทร์ต้องการแบ่งกำลังฤทธิ์ไว้คอยช่วยพระนารายณ์อวตาร ก็เลยแอบมาเกี้ยวพานางกาลอัจนา และสัมผัสกายนาง นางจึงตั้งครรภ์คลอดบุตรเป็นชาย มีกายสีเขียวอ่อนดังมรกต พระฤๅษีหลงรักยิ่งกว่า ราชบุตรีเสียอีก ต่อมานางกาลอัจนาเกิดหลงรักพระอาทิตย์ พระอาทิตย์ต้องการแบ่งกำลังฤทธิ์ไว้คอยช่วยพระนารายณ์อวตารเช่นกัน จึงลงมาหานาง ลูบหน้าลูบหลังนางด้วยความยินดี นางก็ตั้งครรภ์ คลอดบุตรเป็นชาย ผุดผ่องดั่งดวงตะวัน

วันหนึ่งพระฤๅษีโคดมพาลูกน้อยทั้งสามไปเล่นน้ำ ลูกชายคนโตขี่หลัง ลูกชายคนเล็กอุ้มไว้ ลูกสาวเดินตาม นางสวาหะคับแค้นใจจึงบ่นว่า “ทีลูกตัวเองให้เดินดิน ลูกเขาล่ะก็ทั้งอุ้มทั้งขี่หลัง” พระฤๅษีเอะใจในคำนางสวาหะ จึงซักถามจนได้ความ พระฤๅษีจึงยกมือพนม ตั้งสัตย์อฐิษฐานจะโยนเด็กทั้งสามลงกลางน้ำ ถ้าเป็นลูกตนให้ว่ายกลับมาหา ถ้าเป็นลูกชายคนอื่นให้เป็นลิงป่า อย่าว่ายคืนกลับมา นางสวาหะว่ายกลับมา บุตรชายทั้งสองว่ายน้ำขึ้นฝั่ง กลายเป็นลิงวิ่งเข้าป่าไป

พระฤๅษีจึงสาปนางกาลอัจนาให้กลายเป็นแผ่นหิน และจะต้องถูกพระรามเอาไปถมทะเลเพื่อเข้าไปกรุงลงกา นางกาลอัจนาโกรธนางสวาหะมาก จึงสาปให้อ้าปากยืนตีนเดียวเหนี่ยวกินลมกลางป่าเชิงเขาจักรวาล ต่อเมื่อมีลูกเป็นลิงที่มีอิทธิฤทธิ์เหนือลิงทั้งปวง จึงจะพ้นคำสาป

อ้างอิง

[แก้]
  • Doniger, Wendy (1999). "Indra and Ahalya, Zeus and Alcmena". Splitting the Difference: Gender and Myth in Ancient Greece and India. University of Chicago Press. ISBN 978-0-226-15641-5.