มีฮาอิล ตูฮาเชฟสกี
มีฮาอิล ตูฮาเชฟสกี Михаил Тухачевский | |
---|---|
ตูฮาเชฟสกี ป.ค.ศ. 1935 | |
ชื่อเกิด | มีฮาอิล นีโคลาเยวิช ตูฮาเชฟสกี Михаил Николаевич Тухачевский |
ชื่อเล่น | นโปเลียนแดง |
เกิด | 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1893 อะเลคซันดรอฟสโคเย มณฑลโดโรโกบุจสกี เขตผู้ว่าการสโมเลนสค์ จักรวรรดิรัสเซีย |
เสียชีวิต | 12 มิถุนายน ค.ศ. 1937 มอสโก รัสเซียโซเวียต สหภาพโซเวียต | (44 ปี)
สุสาน | สุสานดอนสโกเย |
รับใช้ | จักรวรรดิรัสเซีย (ค.ศ. 1914–1917) รัสเซียโซเวียต (ค.ศ. 1918–1922) สหภาพโซเวียต (ค.ศ. 1922–1937) |
แผนก/ | กองทัพจักรวรรดิรัสเซีย กองทัพแดง |
ประจำการ | ค.ศ. 1914–1937 |
ชั้นยศ | ร้อยโทชั้นที่สอง (กองทัพจักรวรรดิรัสเซีย) จอมพลแห่งสหภาพโซเวียต (กองทัพแดง) |
บังคับบัญชา | เสนาธิการทหารบก |
การยุทธ์ | สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามกลางเมืองรัสเซีย สงครามโปแลนด์-โซเวียต |
มีฮาอิล นีโคลาเยวิช ตูฮาเชฟสกี (รัสเซีย: Михаил Николаевич Тухачевский, อักษรโรมัน: Mikhail Nikolayevich Tukhachevskiy, สัทอักษรสากล: [tʊxɐˈtɕefskʲɪj]; 16 กุมภาพันธ์ [ตามปฎิทินเก่า: 4 กุมภาพันธ์] ค.ศ. 1893 – 12 มิถุนายน ค.ศ. 1937) หรือฉายา นโปเลียนแดง[1] เป็นผู้นำทหารและนักทฤษฎีชาวโซเวียต ผู้เป็นจอมพลแห่งสหภาพโซเวียตที่มีบทบาทสำคัญในระหว่าง ค.ศ. 1918 ถึง ค.ศ. 1937 ต่อมาเขาถูกตัดสินประหารชีวิตในการพิจารณาคดีมอสโกเมื่อ ค.ศ. 1936-1938
เขาเข้ารับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเมื่อ ค.ศ. 1914–1917 และในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซียเมื่อ ค.ศ. 1917–1923 เขาได้รับหน้าที่ในการปกป้องกรุงมอสโก (ค.ศ. 1918) จากนั้นเป็นผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 5 ในแนวรบด้านตะวันออก ซึ่งเขาได้นำกองทัพเข้าพิชิตไซบีเรียจากอะเลคซันดร์ คอลชัค และต่อมาได้นำกองกำลังคอสแซ็กเข้าต่อสู้กับอันตอน เดนีกิน (ค.ศ. 1920) ในระหว่าง ค.ศ. 1920–1921 เขาเป็นผู้บัญชาการทหารแนวรบตะวันตกในสงครามโปแลนด์–โซเวียต กองทัพโซเวียตในบัญชาการของเขาสามารถขับไล่กองทัพโปแลนด์จากยูเครนตะวันตกได้สำเร็จ แต่กองทัพแดงกลับพ่ายแพ้ศึกที่ชานกรุงวอร์ซอ และสงครามสิ้นสุดลงด้วยความปราชัยของโซเวียต ตูฮาเชฟสกีกล่าวโทษสตาลินสำหรับความพ่ายแพ้ในยุทธการที่วอร์ซอ[2][3][4]
ต่อมาเขาได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นเสนาธิการทหารบกของกองทัพแดงตั้งแต่ ค.ศ. 1925 ถึง ค.ศ. 1928 จากนั้นเป็นผู้ช่วยในกรมการราษฎรฝ่ายกลาโหมหลังจาก ค.ศ. 1934 และเป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารบกโวลกาใน ค.ศ. 1937 เขาได้รับตำแหน่งจอมพลแห่งสหภาพโซเวียตเมื่อ ค.ศ. 1935
เขามีส่วนในการพัฒนายุทโธปกรณ์และโครงสร้างกองทัพโซเวียตในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920–1930 รวมถึงยังพัฒนาเครื่องมือในการรบทั้งด้านการบิน ยานยนต์ และกำลังส่งทางอากาศ สำหรับด้านงานทฤษฎี เขาเป็นแรงผลักดันเบื้องหลังในการพัฒนาทฤษฎีปฏิบัติการทางลึกของโซเวียต ทางการโซเวียตกล่าวหาตูฮาเชว่าเป็นผู้กบฏ และหลังจากที่เขาสารภาพเนื่องจากการทรมาน เขาจึงถูกตัดสินประหารชีวิตใน ค.ศ. 1937 ในช่วงการกวาดล้างใหญ่ ค.ศ. 1936–1938
ชีวิตช่วงแรก
[แก้]ตูฮาเชฟสกี เกิดที่อะเลคซันดรอฟสโคเย เขตซาโฟนอฟสกี (ปัจจุบันคือ แคว้นสโมเลนสค์ ประเทศรัสเซีย) ในครอบครัวยากจนที่มีเชื้อสายขุนนาง[5] ตามเรื่องเล่าระบุว่าครอบครัวของเขาสืบเชื้อสายมาจากเคานต์ชาวเฟลมิชซึ่งติดค้างอยู่ที่เขตตะวันออกในช่วงสงครามครูเสดและพาภรรยาชาวตุรกีเข้ามาตั้งถิ่นฐานในรัสเซีย[6][7] ปู่ทวดของเขาอะเลคซันดร์ ตูฮาเชฟสกี (ค.ศ. 1793–1831) ทำหน้าที่เป็นพันเอกในกองทัพจักรวรรดิรัสเซีย เขามีเชื้อสายรัสเซีย[8] หลังจากเรียนที่โรงเรียนทหารมอสโกใน ค.ศ. 1912 เขาย้ายไปเรียนที่โรงเรียนการทหารอะเลคซันดรอฟสโคเย และจบการศึกษาใน ค.ศ. 1914 เมื่อเริ่มสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขาเข้าร่วมกับกรมทหารเซมิออนอฟสกี (กรกฎาคม ค.ศ. 1914) โดยขณะนั้นเขาดำรงยศร้อยตรีและได้พูดว่า:
"ผมเชื่อว่าสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุสิ่งที่ผมต้องการมีเพียงความกล้าหาญและความมั่นใจในตนเองเท่านั้น แน่นอนผมมีความมั่นใจในตัวเองเพียงพอ ... ผมบอกกับตัวเองว่าผมจะเป็นนายพลตอนสามสิบหรือจนผมจะไม่มีชีวิตอยู่ถึงตอนนั้น"[9]
เมื่อถูกกองทัพจักรวรรดิเยอรมันจับเป็นเชลยในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1915 ตูฮาเชฟสกีหลบหนีออกจากค่ายเชลยศึกสี่ครั้ง ตูฮาเชฟสกีหลบหนีออกจากค่ายเชลยศึกสี่ครั้ง และที่สุดก็ถูกกุมตัวเป็นผู้พยายามหลบหนีซ้ำ ๆ ไว้ที่ป้อมอิงก็อลชตัทในบาวาเรีย[10] ณ ที่นั้น เขาอยู่ห้องขังเดียวกับชาร์ล เดอ โกลล์ ผู้บันทึกไว้ว่า ตูฮาเชฟสกีนำไวโอลินของโกลล์มาบรรเลง พล่ามความเชื่อแบบนิยมการทำลายล้าง และพูดจาต่อต้านชาวยิวซึ่งตูฮาเชฟสกีเรียกว่า เป็นสุนัขที่ "แพร่เห็บหมัดของตัวเองไปทั้งโลก"[11]
การหลบหนีครั้งที่ห้าของตูฮาเชฟสกีเป็นผลสำเร็จ เมื่อข้ามผ่านชายแดนสวิตเซอร์แลนด์–เยอรมนีแล้ว เขากลับถึงรัสเซียในเดือนกันยายน ค.ศ. 1917 และภายหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 ตูฮาเชฟสกีเข้าร่วมบอลเชวิค และได้มีบทบาทสำคัญในกองทัพแดง แม้จะมีเชื้อสายขุนนาง
ช่วงสงครามกลางเมือง
[แก้]ตูฮาเชฟสกีได้กลายเป็นทหารในกองทัพแดงที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ และได้รับการเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วด้วยศักยภาพชั้นเยี่ยม ระหว่างสงครามกลางเมืองรัสเซียเขาได้รับมอบหมายในการปกป้องกรุงมอสโก ต่อมาผู้ตรวจการกลาโหมบอลเชวิคเลออน ทรอตสกี ได้แต่งตั้งให้เขาเป็นผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 5 ใน ค.ศ. 1919 เขาได้นำกองทัพเข้ายึดครองไซบีเรีย จากกองกำลังต่อต้านคอมมิวนิสต์ฝ่ายขาวของอะเลคซันดร์ คอลชัค[12] ตูฮาเชฟสกีใช้การโจมตีแบบเข้มข้นเพื่อใช้ประโยชน์ต่อการเปิดแนวหลังของข้าศึกและข่มขวัญข้าศึกด้วยการล้อม
เขาช่วยนำความพ่ายแพ้มาสู่พลโท อันตอน เดนีกิน ที่ไครเมียใน ค.ศ. 1920 ขณะดำเนินปฏิบัติการสุดท้าย ในเดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1920 เขาเรื่มรุกเข้าสู่คูบาน โดยใช้ทหารม้าโจมตีจากด้านหลัง การล่าถอยทำให้กองกำลังของเดนีกินเสียขบวนและถูกกวาดล้างด้วยความรวดเร็วในโนโวรอสซีสค์[13]
ในการล้อมครั้งสุดท้ายของสงครามกลางเมือง ตูฮาเชฟสกีบัญชาการกองทัพที่ 7 ในช่วงปราบปรามกบฎโครนสตัดต์ (Kronstadt rebellion) ในเดือน มีนาคม ค.ศ. 1921 นอกจากนี้เขายังได้รับคำสั่งให้โจมตีสาธารณรัฐตามบอฟ ระหว่าง ค.ศ. 1921–22
ช่วงสงครามโปแลนด์–โซเวียต
[แก้]ตูฮาเชฟสกีนำกองกำลังโซเวียตเข้าบุกโปแลนด์ใน ค.ศ. 1920 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโปแลนด์–โซเวียต ตูฮาเชฟสกีรวมกำลังพลของเขาเข้าใกล้เมืองวีเต็บสค์ ซึ่งเขาขนานนามว่า "ประตูเมืองสู่สโมเลนสค์" เมื่อเขาออกคำสั่งกองทัพให้ข้ามพรมแดน ตูฮาเชฟสกีกล่าวว่า "ชะตากรรมของการปฏิวัติโลกกำลังถูกตัดสินในฝั่งตะวันตก จากการกวาดล้างในโปแลนด์สู่การลุกฮือแห่งสากล ... ถึงวิลนอ, มินสค์ และ วอร์ซอ เดินหน้า !"[14]
นักประวัติศาสตร์ ริชาร์ด เอ็ม. วัตต์ เขียนไว้ว่า "ความกล้าหาญของตูฮาเชฟสกีในการมุ่งหน้าไปยังตะวันตกเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของเขา กองบัญชาการทหารสูงสุดของโซเวียตส่งทหารประมาณ 60,000 คนมาเป็นกำลังเสริม แต่ตูฮาเชฟสกีไม่เคยหยุดรอให้พวกเขาตามทัน การรุกเดินหน้าต่อไปทำให้ต้องทิ้งคนที่ตามไม่ทันเป็นจำนวนมากขึ้นทุกวัน แต่ตูฮาเชฟสกีไม่สนใจการสูญเสียเหล่านี้ การส่งเสบียงและยุทโธปกรณ์ตกอยู่ในความยุ่งเหยิง ทัพหลังของเขากระจัดกระจาย แต่ตูฮาเชฟสกีก็ไม่แยแส ทำให้คนของเขาต้องหาเสบียงจากแถบนั้นแทน ในวันที่กองทัพของเขายึดเมืองมินสค์สำเร็จ ก็มีเสียงโห่ร้องใหม่ขึ้นว่า "เอาวอร์ซอมาให้เรา !" ตูฮาเชฟสกีมุ่งมั่นที่จะให้สิ่งที่พวกเขาต้องการ ทุกองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้การดำเนินงานของตูฮาเชฟสกีแสดงถึงพลังความกล้าหาญ ความมุ่งมั่น และ ความใจร้อนของเขา"[15]
แต่กองทัพของเขาพ่ายแพ้ต่อกองทัพโปแลนด์ภายใต้การนำของยูแซฟ ปิวซุดสกีนอกกรุงวอร์ซอ ในช่วงระหว่างสงคราม ตูฮาเชฟสกีเริ่มมีความขัดแย้งกับโจเซฟ สตาลิน เนื่องจากต่างฝ่ายต่างคิดว่าอีกฝ่ายเป็นเหตุให้การยึดกรุงวอร์ซอของโซเวียตไม่สำเร็จ หลังจากความพ่ายแพ้ ตูฮาเชฟสกีได้กล่าวว่า:
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าถ้าเราได้รับชัยชนะบนแม่น้ำวิสตูลา ไฟแห่งการปฏิวัติคงจะลุกโชนไปทั้งทวีป[16]
หนังสือเกี่ยวกับสงครามของเขาได้รับการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาโปแลนด์พร้อมกับหนังสือของปิวซุดสกี
การปฏิรูปกองทัพแดง
[แก้]นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ไซมอน ซีแบก มอนตีฟิโอรี (Simon Sebag Montefiore) กล่าวว่า สตาลินถือว่าตูฮาเชฟสกีเป็นคู่ปรปักษ์ขมขื่นที่สุดของเขาและขนานนามเขาว่า นโปเลียนชิก (Napoleonchik นโปเลียนน้อย)[17][18] เมื่อสตาลินเป็นผู้นำพรรคใน ค.ศ. 1929 เขาเริ่มได้รับการประณามจากนายทหารอาวุโสซึ่งไม่เห็นด้วยกับทฤษฎียุทธวิธีของตูฮาเชฟสกี จากนั้นใน ค.ศ. 1930 หน่วยอำนวยการการเมืองรัฐร่วมบังคับให้นายทหารสองนายให้การว่าตูฮาเชฟสกีกำลังคบคิดรัฐประหารโค่นโปลิตบูโร
มอนเตฟิโออร์ ซึ่งวิจัยอย่างกว้างขวางในหอจดหมายเหตุโซเวียต กล่าวว่า:
ใน ค.ศ. 1930 นี้อาจเป็นเรื่องอุกอาจมากเกินแม้แต่กับบอลเชวิค สตาลินซึ่งขณะนั้นยังไม่เป็นผู้เผด็จการ สืบสวนพันธมิตรอันทรงพลังของเขา เซียร์โก โรดจอนอีคีดเซ: "เฉพาะโมโลตอฟ ตัวฉันเองและตอนนี้คุณที่รู้ ... มันเป็นไปได้ไหม? เรื่องอะไรกัน! คุยกับโมโลตอฟ ..." อย่างไรก็ตาม เซียร์โกจะไม่ไปไกลถึงเพียงนั้น จะไม่มีการจับกุมและการพิจารณาคดีตูฮาเชฟสกีใน ค.ศ. 1930: ผู้บัญชาการ "กลายเป็นว่ามือสะอาด 100%" สตาลินเขียนถึงโมโลตอฟอย่างไม่ตรงไปตรงมาในเดือนตุลาคม "นั่นดีมาก" น่าสนใจว่าเจ็ดปีก่อนการกวาดล้างใหญ่ สตาลินเคยทดสอบข้อกล่าวหาเดียวกันกับผู้ถูกกล่าวหาคนเดียวกัน - การซ้อมใหญ่สำหรับใน ค.ศ. 1937 แต่เขาไม่ได้รับการสนับสนุน จดหมายเหตุเปิดเผยผลสืบเนื่องที่น่าสนใจ: เมื่อเขาเข้าใจความทันสมัยทะเยอทะยานของยุทธศาสตร์ของตูฮาเชฟสกีแล้ว สตาลินก็ขอโทษเขาว่า "ตอนนี้ปัญหาปรากฏชัดเจนขึ้นต่อฉันแล้ว ฉันจำต้องยอมรับว่าความเห็นของฉันแรงเกินไปและข้อสรุปของฉันไม่ถูกต้องเลย"[19]
ตูฮาเชฟสกีเขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับการสงครามสมัยใหม่และใน ค.ศ. 1931 หลังสตาลินยอมรับความจำเป็นของกองทัพอุตสาหกรรม ตูฮาเชฟสกีได้รับบทบาทนำในการปฏิรูปกองทัพ เขานำความคิดก้าวหน้าว่าด้วยยุทธศาสตร์การทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้รถถังและอากาศยานในปฏิบัติการผสมเหล่า
ตูฮาเชฟสกียังมีความสนใจศิลปะ และเป็นผู้อุปถัมภ์ทางการเมืองและเพื่อนสนิทของนักแต่งเพลงดมีตรี ชอสตโกวิช ทั้งสองพบกันใน ค.ศ. 1925[20] และต่อมาร่วมเล่นดนตรีกัน ณ บ้านจอมพล (ตูฮาเชฟสกีเล่นไวโอลิน) ใน ค.ศ. 1936 ดนตรีของชอสตโกวิชถูกโจมตีหลังปราฟดาประณามอุปรากรเลดีแม็กเบธออฟมตเซนสค์ (Lady Macbeth of Mtsensk) ทว่า ตูฮาเชฟสกีแทรกแซงกับสตาลินแทนเพื่อนเขา หลังการจับกุมตูฮาเชฟสกี มีแรงกดดันต่อชอสตโกวิชให้ประณามเขา แต่เขารอดไม่ต้องทำเช่นนั้นเพราะผู้สืบสวนถูกจับกุมเสียเอง[21]
ทฤษฎีปฏิบัติการทางลึก
[แก้]ตูฮาเชฟสกีมักได้รับความชอบจาก ทฤษฎีปฏิบัติการทางลึก (deep operation) ซึ่งรูปขบวนผสมเหล่าโจมตีลึกหลังแนวรบข้าศึกเพื่อทำลายแนวหลังและลอจิสติกส์ของข้าศึก[22] แต่บทบาทแน่ชัดของเขาไม่ชัดเจน และมีข้อพิพาทเพราะขาดแหล่งที่มาปฐมภูมิ และงานจัดพิมพ์ของเขามีปริมาณทฤษฎีต่อเรื่องจำกัด อาจารย์บางคนในวิทยาลัยการทหารคัดค้านทฤษฎีนี้ กองทัพแดงมักนำทฤษฎีมาในใช้ในกลางคริสต์ทศวรรษ 1930 ซึ่งแสดงเป็นมโนทัศน์ในระเบียบสนามของกองทัพแดง ค.ศ. 1929 และพัฒนามากขึ้นในคำสั่งการยุทธ์ทางลึก ค.ศ. 1935 สุดท้ายมีการประมวลมโนทัศน์ดังกล่าวเข้าสู่กองทัพใน ค.ศ. 1936 ด้วยระเบียบสนามรบชั่วคราว ค.ศ. 1936 ตัวอย่างแรก ๆ ของศักยภาพของปฏิบัติการทางลึกพบได้จากชัยเหนือญี่ปุ่นของโซเวียตในยุทธการที่ฮาลฮินกอล ซึ่งทหารโซเวียตภายใต้บังคับบัญชาของเกออร์กี จูคอฟพิชิตกองทัพญี่ปุ่นที่ฮาลฮินกอลในเดือนสิงหาคมและกันยายน ค.ศ. 1939
มักกล่าวว่าการกวาดล้างเหล่านายทหารกองทัพแดงอย่างกว้างขวางใน ค.ศ. 1937–39 ทำให้ปฏิบัติการทางลึกเสื่อมความนิยมชั่วคราว[23] อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการทางลึกเป็นส่วนสำคัญของหลักนิยมโซเวียตอย่างแน่นอนหลังมีการแสดงประสิทธิภาพในยุทธการที่ฮาลฮินกอล[24]: 5 และความสำเร็จของปฏิบัติการของเยอรมันที่คล้ายกันในโปแลนด์และฝรั่งเศส[25]: 44 มีการใช้ปฏิบัติการทางลึกอย่างประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองซึงนำมาสู่ชัยชนะในยุทธการที่สตาลินกราด[24]: 11 และปฏิบัติการบากราติออน[26]: 17
จุดจบ
[แก้]ใน ค.ศ. 1935 ตูฮาเชฟสกีได้รับเลื่อนยศเป็นจอมพลแห่งสหภาพโซเวียต ตอนที่เขาอายุ 42 ปี และในเดือนมกราคม ค.ศ. 1936 ตูฮาเชฟสกีได้มีโอกาสเยือนสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และเยอรมนี
ก่อนถูกจับ ตูฮาเชฟสกีถูกปลดออกจากหน้าที่ในฐานะผู้ช่วยแม่ทัพคลีเมนต์ โวโรชีลอฟ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารโวลกา[27] ไม่นานหลังคำสั่งใหม่ตูฮาเชฟสกีถูกจับกุมอย่างลับ ๆ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1937 และนำกลับไปยังกรุงมอสโกในรถตู้เรือนจำ[28]
การสอบปากคำและทรมานตูฮาเชฟสกี ได้รับการกำกับดูแลโดยตรงโดยหัวหน้า NKVD นีโคไล เยจอฟ โดยสตาลินสั่งเยจอฟว่า "เห็นด้วยตัวคุณเอง แต่ต้องบังคับตูฮาเชฟสกีให้บอกทุกอย่าง ... มันเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะลงมือคนเดียว"[18]
มอนเตฟิโออร์ กล่าวว่า ไม่กี่วันต่อมาขณะที่เยจอฟพึมพำออกมาจากห้องทำงานของสตาลิน ตูฮาเชฟสกีก็รับสารภาพว่า อะเวล เยนูคีดเซที่สมัครเป็นนายทหารใน ค.ศ. 1928 เป็นสายลับจากเยอรมนีซึ่งร่วมมือกับนีโคไล บูคารินเพื่อโค่นอำนาจของสตาลิน เอกสารสีน้ำตาลซึ่งเป็นคำสารภาพของตูฮาเชฟสกีตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ที่พบในภายหลังพบว่ามีรอยเลือดติดอยู่[29]
สตาลินให้ความเห็นว่า "เป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่ก็เป็นความจริงที่พวกเขายอมรับ"[29]
วันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1937 ศาลสูงสุดโซเวียตเรียกประชุมคณะตุลาการทหารพิเศษเพื่อพิจารณาตูฮาเชฟสกีและนายพลแปดคนในข้อหากบฏ การพิจารณาดังกล่าวได้ชื่อว่า คดีองค์การทหารทรอตสกีอิสต์ต่อต้านโซเวียต เมื่อตูฮาเชฟสกีฟังข้อกล่าวหาแล้ว มีผู้ได้ยินเขากล่าวว่า "รู้สึกเหมือนฝันไป"[30] ตุลาการส่วนใหญ่ก็รู้สึกตระหนก มีผู้ได้ยินตุลาการคนหนึ่งออกความเห็นว่า "พรุ่งนี้ ผมคงโดนจับไปอยู่ที่เดียวกันนั้น"[30] (นายทหารแปดคนที่เป็นตุลาการในองค์คณะดังกล่าว มีห้าคนโดนประหารในภายหลัง) มีการอธิบายให้ผู้ถูกกล่าวหาฟังว่า การพิจารณาคดีเป็นไปตามกฎหมายฉบับวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1934 จึงห้ามทนายจำเลยเข้าห้องพิจารณา และห้ามอุทธรณ์คำตัดสิน[31]
เวลา 23:35 น. ของวันนั้น จำเลยทั้งหมดถูกตัดสินว่ามีความผิดและให้ประหารชีวิต สตาลิน ซึ่งรอฟังคำตัดสินพร้อมกับโมโลตอฟ คากาโนวิช และเยจอฟ กล่าวเพียงว่า "อนุมัติ" แม้ยังไม่ได้ดูบันทึกคำตัดสิน[30]
ภายในชั่วโมงนั้น ร้อยเอก วาซีลี โบลฮิน หัวหน้าหน่วย NKVD เรียกตูฮาเชฟสกีออกจากห้องขัง แล้วอดีตจอมพลผู้นี้ก็ถูกประหารด้วยการยิงนัดเดียวเข้าที่หลังศีรษะ โดยมีเยจอฟเป็นสักขีพยาน[32]
ทันทีหลังจากนั้นเยจอฟถูกสตาลินเรียกไปเข้าพบ สตาลินถามเยจอฟว่า "คำพูดสุดท้ายของตูฮาเชฟสกีคืออะไร"[30] เยจอฟตอบสตาลินว่า "เจ้างูบอกว่า เขาได้อุทิศตนเพื่อแผ่นดิน และ สหายสตาลิน เขาขอให้อภัยเขา แต่เห็นได้ชัดว่าเขาไม่ได้เป็นคนตรงไปตรงมา เขาไม่ยอมวางมือ"[30]
มอนเตฟิโออร์กล่าวว่า สตาลินทราบมาตลอดว่ากองทัพแดงเป็นสถาบันเดียวที่สามารถต่อต้านการแสวงอำนาจเด็ดขาดของเขาได้ ความหวาดระแวงของสตาลินเกี่ยวกับการโค่นล้มภายในและความเชื่อมั่นในความสามารถไม่มีข้อผิดพลาดในการตรวจจับผู้ทรยศของเขาก็ทำให้มันเกิดขึ้น สตาลิน เยจอฟ และโวโรชีลอฟจัดการจับกุมและประหารชีวิตนายทหารโซเวียตหลายพันคนหลังตูฮาเชฟสกีถูกยิง ในที่สุด ห้าจากแปดนายพลที่เฝ้าดู "การพิจารณาคดีตูฮาเชฟสกี " ถูก NKVD จับกุมและยิงเช่นกัน[33]
ภายหลัง
[แก้]สมาชิกครอบครัวของตูฮาเชฟสกีเดือดร้อนหลังจากการประหารชีวิตเขา ภรรยาเขา (นีนา ตูฮาเชฟสกี) และพี่เขา อะเลคซันดร์และนีโคไล (ทั้งคู่เป็นอาจารย์ในวิทยาลัยการทหารโซเวียต) ถูกยิงหมด พี่สาวน้องสาวสามคนถูกส่งไปกูลัก ลูกสาวที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของเขาถูกจับกุมเมื่อถึงวัยผู้ใหญ่และอยู่ในกูลักจนคริสต์ทศวรรษ 1950 เธออาศัยอยู่ในกรุงมอสโกหลังได้รับการปล่อยตัวและเสียชีวิตใน ค.ศ. 1982[34]
ก่อนสุนทรพจน์ลับของนิกิตา ครุสชอฟใน ค.ศ. 1956 ตูฮาเชฟสกีถูกมองว่าเป็นฟาสซิสต์และแนวที่ห้าอย่างเป็นทางการ นักการทูตโซเวียตและผู้แก้ต่างในโลกตะวันตกเผยแพร่ความเห็นนี้อย่างกระตือรือร้น แล้วในวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1957 ตูฮาเชฟสกีและจำเลยร่วมได้รับประกาศว่าบริสุทธิ์ทุกข้อกล่าวหาและได้รับการ "กู้ชื่อเสียง"
แม้แทบทุกคนถือว่าการฟ้องคดีตูฮาเชฟสกีเป็นเรื่องลวง แต่แรงจูงใจของสตาลินยังมีการถกเถียงอยู่ ในหนังสือ เดอะเกรตแทร์เรอร์ (The Great Terror) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1968 ของนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ รอเบิร์ต คอนเควสต์ (Robert Conquest) เขากล่าวหาไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์และไรน์ฮาร์ด ฮายดริช ผู้นำพรรคนาซี ว่าปลอมเอกสาร คองเควสกล่าวว่าเอกสารเหล่านี้รั่วไหลสู่ประธานาธิบดี Edvard Beneš แห่งเชโกสโลวาเกียซึ่งส่งให้โซเวียตรัสเซียผ่านทางช่องทางการทูต ทฤษฎีการสมรู้ร่วมคิดของเอสเอสเพื่อกล่าวหาตูฮาเชฟสกีของคองเควสยึดตามบันทึกความทรงจำของวัลเทอร์ เชลเลนเบิร์กและ Beneš[35]
ใน ค.ศ. 1989 โปลิตบูโรของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตประกาศว่า พบหลักฐานใหม่ในจดหมายเหตุของสตาลินบ่งชี้ว่าเจตนารมณ์ของข่าวกรองเยอรมนีในการแต่งสารสนเทศเท็จเกี่ยวกับตูฮาเชฟสกีมีเป้าหมายกำจัดเขา[36]
ตามความเห็นของ ลูค อีกอร์ ซึ่งทำการศึกษาเรื่องนี้ เป็นสตาลิน คากาโนวิชและเยจอฟที่กุ "กบฏ" ของตูฮาเชฟสกีเอง เยจอฟสั่งให้สายลับสองหน้า นีโคไล สโคบลิน นำแผนคบคิดรั่วไปซีเชอร์ไฮซดีนสท์ (SD) เพื่อกุสารสนเทศที่เสนอแผนคบคิดของตูฮาเชฟสกีและแม่ทัพโซเวียตคนอื่นต่อสตาลิน[35]
เมื่อสบโอกาส ฮายดริชดำเนินการเกี่ยวกับสารสนเทศดังกล่าวทันทีและลงมือปรับปรุงสารสนเทศนั้น การปลอมแปลงของฮายดริช ซึ่งต่อมามีการปล่อยปล่อยให้โซเวียตผ่าน Beneš และประเทศเป็นกลางอื่น ทำให้ซีเชอร์ไฮซดีนสท์เชื่อว่าฝ่ายตนหลอกสตาลินให้ประหารชีวิตแม่ทัพยอดเยี่ยมของเขาได้สำเร็จ แต่ความเป็นจริงเพียงถูกใช้เป็นเบี้ยของ NKVD โซเวียตอย่างไม่รู้ตัว แต่การปลอมแปลงของฮายดริชไม่ถูกใช้ในการพิจารณาคดี เพราะผู้สอบสวนของโซเวียตใช้ "คำสารภาพ" ลงลายมือชื่อที่ทุบตีเอาจากจำเลยแทน[35]
ใน ค.ศ. 1956 ผู้แปรพักตร์จาก NKVD อะเลคซันดร์ มีฮาอิโลวิช ออร์ลอฟจัดพิพม์บทความในนิตยสาร ไลฟ์ "ความลับน่าสนใจเบื้องหลังการสาปแช่งสตาลิน" เรื่องนี้เล่าว่าเจ้าหน้าที่ NKVD พบเอกสารในหอจดหมายเหตุโอฮรานา (Okhrana) สมัยซาร์ซึ่งพิสูจน์ว่าสตาลินเคยเป็นสายลับ จากความรู้นี้ เจ้าหน้าที่ NKVD วางแผนรัฐประหารกับตูฮาเชฟสกีและนายทหารอาวุโสอื่นในกองทัพแดง ตามข้อมูลของออร์ลอฟ สตาลินค้นพบการสมรู้ร่วมคิดแล้วใช้เยจอฟประหารชีวิตผู้รับผิดชอบ
มอนเตฟิโออร์ ซึ่งวิจัยอย่างกว้างขวางในหอจดหมายเหตุโซเวียต กล่าวว่า
สตาลินไม่จำเป็นต้องใช้สารสนเทศเท็จของนาซีหรือเอกสารลับโอฮรานา เพื่อชักจูงให้เขาทำลายตูฮาเชฟสกี ถึงอย่างไรเขาก็เล่นกับความคิดนี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1930 สามปีก่อนที่ฮิตเลอร์เถลิงอำนาจ นอกจากนี้สตาลินและพรรคพวกของเขายังเชื่อมั่นว่าจะต้องไม่ไว้ใจนายทหารและต้องกำจัดโดยทิ้งความสงสัยน้อยที่สุด เขาระลึกถึงโวโรชิลอฟในบันทึกไม่ลงวันที่ เกี่ยวกับนายทหารที่ถูกจับกุมในฤดูร้อน ค.ศ. 1918 "นายทหารพวกนี้" เขาว่า "เราอยากยิงทิ้งให้หมด" ไม่มีอะไรเปลี่ยน[37]
มอนเตฟิโออร์ยังกล่าวอีกว่า เพื่อนสนิทที่สตาลินไวใจ ลาซาร์ คากาโนวิช พูดติดตลกว่า "ตูฮาเชฟสกีซ่อนคทาของนโปเลียนไว้ในกระเป๋าเป้สะพายหลัง"[18]
เครื่องอิสริยาภรณ์
[แก้]- จักรวรรดิรัสเซีย
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์แอนน์[38]
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์สตานิสลาวา[38]
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์วลาดีมีร์[38]
- สหภาพโซเวียต
- เครื่องอิสริยาภรณ์เลนิน[38]
- เครื่องอิสริยาภรณ์ธงแดง[38]
- อาวุธปฏิวัติกิตติมศักดิ์[38]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Котельников, Константин (November 11, 2022). ""Красный Наполеон" Михаил Тухачевский". Diletant (Дилетант).
- ↑ Brackman, Roman (23 November 2004). The Secret File of Joseph Stalin: A Hidden Life (ภาษาอังกฤษ). Routledge. ISBN 978-1-135-75840-0.
- ↑ Grey, Ian (1979). Stalin, Man of History (ภาษาอังกฤษ). Doubleday. p. 482. ISBN 978-0-385-14333-2.
- ↑ Davies, Norman (31 May 2001). Heart of Europe: The Past in Poland's Present (ภาษาอังกฤษ). OUP Oxford. p. 103. ISBN 978-0-19-164713-0.
- ↑ Simon Sebag Montefiore, Stalin: Court of the Red Tsar, page 252.
- ↑ Norman Davies, White Eagle, Red Star: The Polish-Soviet War 1919-20, page 130.
- ↑ https://www.marxists.org/history/ussr/government/red-army/1937/wollenberg-red-army/ch03.htm
- ↑ "Жертвы политического террора в СССР". Lists.memo.ru. สืบค้นเมื่อ 2013-06-12.
- ↑ The Red Army - Page 111 - by Michel Berchin, Eliahu Ben-Horin - 1942
- ↑ Weintraub, Stanley. A Stillness Heard Round the World. Truman Talley Books, 1985, p. 340
- ↑ The General: Charles De Gaulle and the France He Saved by Jonathan Fenby p68
- ↑ Каппель и каппелевцы. 2-е изд., испр. и доп. — М.: НП «Посев», 2007. — С. 61. — ISBN 978-5-85824-174-4
- ↑ Гражданская война в СССР, т. 2. — С. 204.
- ↑ Richard M. Watt (1979), Bitter Glory: Poland and Its Fate, 1918-1939, Simon & Schuster, New York. Page 126.
- ↑ Watt (1979), page 128.
- ↑ A century's journey: how the great powers shape the world - Page 175 - by Robert A. Pastor, Stanley Hoffmann - Political Science - 1999.
- ↑ Stalin: The Court of the Red Tsar, pages 221-222.
- ↑ 18.0 18.1 18.2 Stalin: The Court of the Red Tsar, page 222.
- ↑ Stalin: The Court of the Red Tsar, page 59.
- ↑ Elizabeth Wilson, Shostakovich: a Life Remembered, p. 39.
- ↑ Elizabeth Wilson, pp. 124-5.
- ↑ Alexander Vasilevsky The Case of All My Life (Дело всей жизни). 3d ed. Политиздат, 1978 Chapter8 เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (รัสเซีย)
- ↑ Sebag, Simon (2005). "31". Stalin: The Court of the Red Tsar. p. 342. ISBN 978-1-4000-7678-9.
- ↑ 24.0 24.1 Vlakancic, Peter J (1992). "Marshal Tukhachevsky and the "Deep Battle" : an analysis of operational level Soviet tank and mechanized doctrine, 1935-1945" (PDF). Arlington, VA. : Association of the United States Army, 1992.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ Glantz, David M. "Chapter 6: Operational art, 1965-1991". The Evolution of Soviet Operational Art, 1927-1991. p. 44. ISBN 978-0714642291.
- ↑ Watt, Robert N. (December 2008). "Feeling the Full Force of a Four Front Offensive: Re-Interpreting the Red Army's 1944 Belorussian and L'vov-Peremshyl' Operations". The Journal of Slavic Military Studies. Routledge Taylor & Francis Group. 21 (4): 670. doi:10.1080/13518040802497564.
- ↑ Fyodor Mikhailovich Sergeyev, Tainye operatsii natsistskoi razvediki, 1933-1945 (In Russian). Moscow: Politizdat, 1991. ISBN 5-250-00797-X: p.18
- ↑ Barmine, Alexander, One Who Survived, New York: G. P. Putnam (1945), pp. 7-8
- ↑ 29.0 29.1 Stalin: Court of the Red Tsar, page 223.
- ↑ 30.0 30.1 30.2 30.3 30.4 Stalin: Court of the Red Tsar, page 225.
- ↑ Sergeyev (1991) : p. 20
- ↑ Donald Rayfield, Donald (2005). Stalin and His Hangmen: the tyrant and those who killed for him. Random House. pp. 322–325.
- ↑ Barmine, Alexander, One Who Survived, New York: G.P. Putnam (1945), p. 322
- ↑ Sergeyev (1991) : p.44
- ↑ 35.0 35.1 35.2 Lukes, Igor, Czechoslovakia Between Stalin and Hitler: The Diplomacy of Edvard Beneš in the 1930s, Oxford University Press (1996), ISBN 0-19-510267-3, ISBN 978-0-19-510267-3, p. 95
- ↑ Sergeyev (1991) : p. 3
- ↑ Montefiore, Stalin: Court of the Red Tsar, page 226.
- ↑ 38.0 38.1 38.2 38.3 38.4 38.5 Информация по дореволюционным наградам приведена в статье: Шабанов В. М. «В свой полк из плена через шесть границ»//Военно-исторический журнал, 1996, № 5. — Стр.90-92. Там же приведены ссылки на документы Российского государственного военно-исторического архива.
บรรณานุกรม
[แก้]- Agricola, Kurt. Der Rote Marschall: Tuchatschewskis Aufstieg und Fall. Vol. 5, Berlin: Die Wehrmacht, 1939.