วิกิพีเดีย:ใครเขียนวิกิพีเดีย
หน้านี้เป็นหน้าสารสนเทศ ซึ่งอธิบายวัตรที่ตั้งแล้วของชุมชนแก้ไขของบางแง่มุมของบรรทัดฐานและขนบธรรมเนียมของวิกิพีเดีย ทั้งนี้ ไม่ใช่นโยบายหรือแนวปฏิบัติของวิกิพีเดีย เพราะยังไม่ผ่านการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจากชุมชน |
สรุปหน้านี้: ทุกคนเป็นคนแก้ไขวิกิพีเดีย |
คนแบบคุณนั่นแหละ ทุกคนที่มีความกล้าสามารถแก้ไขบทความได้ อาสาสมัครทุกคนไม่ต้องรับการฝึกมาก่อน พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ แต่ล้วนมีความเต็มใจช่วยกันต่อเติมสารานุกรมแห่งนี้ ผู้เขียนวิกิพีเดียยังมีคำเรียกอีกอย่างว่า "ชาววิกิพีเดีย"
หรือเขียนให้เห็นภาพ...
ปัจจุบันวิกิพีเดียภาษาไทยมีผู้ใช้ลงทะเบียน 489,403 บัญชี ในจำนวนนี้มีส่วนน้อยมากที่ยังเขียนอยู่เป็นประจำ (1,295 บัญชีในรอบ 30 วันหลังสุด) ซึ่งไม่นับรวมไอพีที่ไม่ได้นับรวมอยู่ในนี้ด้วย
ผู้เขียนในวิกิพีเดียมีหลากหลาย ทั้งดีและไม่ดี จำแนกเป็นกลุ่มคร่าว ๆ ได้เป็น
- ผู้มีความสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งและอยากแบ่งปันให้คนอื่นทราบ (เช่น เป็นผู้สนใจเรื่องแมว)
- นักเรียนนักศึกษา (อาจจะโดนสั่งให้ส่งการบ้านในวิกิพีเดีย)
- คนใน (เช่น เป็นสมาชิก ลูกจ้างหรือเจ้าของขององค์การ กลุ่ม บริษัท ฯลฯ แห่งหนึ่ง)
- ขาจร (เช่น คนที่ผ่านมาแล้วเจอข้อผิดพลาดจึงแก้ให้)
- นักวิชาการ (เช่น นักวิจัยเรื่องหนึ่งที่อยากเผยแพร่เรื่องนี้ให้สาธารณชนวงกว้างรับทราบ)
- ผู้ที่มีเอกสารหรือหลักฐานเก่า ๆ (เช่น คนที่มีหนังสือเก่า ๆ ที่น่าสนใจแล้วเอาเนื้อหาในเล่มมาลงออนไลน์)
- พวกพีอาร์ (เช่น ลูกจ้าง บริษัทโฆษณา หรือเป็นเพื่อนหรือญาติของเรื่องที่กำลังเขียนถึง)
- เกรียน (เช่น วางสแปม แก้จากถูกเป็นผิด หรือแก้ตลก ๆ ในวิกิพีเดียเพื่อเอาไปอวดที่อื่น)
ดังนั้น เวลาเราโฆษณาว่าทุกคนเขียนวิกิพีเดียได้ ก็คือทุกคนเขียนได้จริง ๆ เพราะฉะนั้นหากคุณพบเห็นเนื้อหาใดผิดพลาด เนื้อหาใดขาดหาย คุณสามารถเขียนหรือแก้ไขเองได้เลย เพียงแต่ขอให้ทราบพื้นฐานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คลิกที่นี่
หรือถ้าหน้านั้นถูกล็อกทำให้แก้ไขไม่ได้ สามารถยื่นคำร้องแก้ไขผ่านป้ายที่ขึ้นเตือน หรือแจ้งอาสาสมัครคนอื่นที่ แผนกช่วยเหลือ
คุณช่วยเราได้
- คุณสามารถเขียนเกี่ยวกับเรื่องอะไรก็ได้ แต่ขอให้ทราบกฎเกณฑ์ของวิกิพีเดีย วิกิพีเดียเองก็มีขอบเขตทั้งในด้านเนื้อหาและรูปแบบการเขียน
- การเพิ่มเนื้อหาจะต้องยึดตามแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ วิกิพีเดียไม่รับหลักฐานที่เป็นคำบอกเล่า (มุขปาฐะ) หลักฐานจากต้นสังกัดหรือเจ้าตัวของเรื่องนั้น ๆ เอง (แหล่งอ้างอิงปฐมภูมิ) หรือเป็นข้อค้นพบใหม่ที่ไม่เคยเผยแพร่ที่อื่นมาก่อน (งานค้นคว้าต้นฉบับ)
- เวลาเขียนขอให้ยึดหลักมุมมองเป็นกลาง ไม่เขียนโฆษณาหรือว่าร้าย
- นอกจากนี้อย่าลืมว่าเราเองก็มีสังคมที่ตัดสินกระบวนการอย่างบรรณาธิการโดยใช้ความเห็นพ้อง และเมื่อเกิดความขัดแย้งกัน ขอให้มีมารยาทและใช้กระบวนการระงับข้อพิพาท
บทความระดับดีที่สุดในวิกิพีเดีย คือ บทความคัดสรร คุณสามารถดูบทความเหล่านี้เป็นตัวอย่างได้ ขอความกรุณาอย่าปฏิบัติตามตัวอย่างที่ไม่ดีในวิกิพีเดีย