ข้ามไปเนื้อหา

วิว-มาสเตอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิว-มาสเตอร์
(View-Master)

กล้องวิว-มาสเตอร์ โมเดล แอล (L) สีแดง ปุ่มทรงกลม ก้านโลหะ
ผลิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 (1977) โดย กาฟ (GAF)
อักษรย่อVM
ชื่ออื่นกล้องดูภาพสามมิติ, กล้องดูภาพสเตอริโอแยกซ้าย-ขวา
การใช้งานใส่แผ่นรีลวงกลมลงในกล้อง เพื่อดูสไลด์ซ้าย-ขวา สองตาพร้อมกัน สมองจะรวมเป็นภาพสามมิติ กดปุ่มหรือโยกคันสับเพื่อเลื่อนเปลี่ยนภาพได้ 7 ภาพ
ผู้ประดิษฐ์วิลเลี่ยม บี. กรูเบอร์ (William B. Gruber)
และ บริษัทซอว์เยอร์ส
ผู้ผลิตซอว์เยอร์ส
กาฟ
VMI
ไอดีล ทอย
ไทโค
ฟิชเชอร์-ไพรซ์
แมทเทล
รุ่นรุ่นแรก โมเดล เอ(A) พ.ศ. 2482(1939)
รุ่นล่าสุด เวอร์ชวล รีอาลลิตี้ พ.ศ. 2558(2015)
ปีพ.ศ. 2482 - ปัจจุบัน
อุปกรณ์อ้างอิงระบบภาพสามมิติ

วิว-มาสเตอร์ (อังกฤษ: View-Master) เป็นชื่อการค้าผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่เกี่ยวกับระบบภาพสามมิติ มีจุดกำเนิดจาก กล้องดูภาพสามมิติ ซึ่งมีรูปลักษณ์เหมือน กล้องส่องทางไกลแบบสองตา ต้องใส่แผ่นรีล (Reel) เพื่อส่องดูฟิล์มสไลด์ (slides) พร้อมกัน 2 ภาพแยกสำหรับตาซ้าย-ขวา แล้วสมองจะแปรผลรวมเป็นภาพเดียวที่มีมิติตื้นลึกสมจริง กดเปลี่ยนภาพต่อเนื่องได้ 7 ภาพ

แผ่นรีลของวิว-มาสเตอร์ มีลักษณะเป็นกระดาษแข็งตัดเป็นรูปวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 9 ซม. หรือ 3.5 นิ้ว ฉลุช่องสี่เหลี่ยม ผนึกประกบฟิล์มสไลด์ 14 สไลด์ หรือ 7 คู่ภาพ โดยใช้สไลด์ โกด้าโครม (Kodachrome พ.ศ. 2478-2550 (1935-2007)) ของ อีสต์แมนโกดัก (Eastman Kodak พ.ศ. 2431-2555 (1888-2012))

ผู้ประดิษฐ์วิว-มาสเตอร์คือ วิลเลี่ยม บี. กรูเบอร์ (William B. Gruber) หลังจากที่ได้พบปะพูดคุยกับ ฮาโรลด์ เจ. เกรฟ (Harold J. Graves) ในปี พ.ศ. 2481 (1938) จึงชักชวนให้มาทำงานร่วมกันใน ซอว์เยอร์ส (Sawyer’s Inc.) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตโปสการ์ดที่ระลึก ตั้งอยู่ในพอร์ตแลนด์ โอเรกอน สหรัฐอเมริกา และแล้ว กล้องดูสไลด์สามมิติวิว-มาสเตอร์ก็ได้เปิดตัวครั้งแรกช่วงปลายปี พ.ศ. 2482 (1939) ในงานนิวยอร์กเวิร์ลสแฟร์ (1939 New York World’s Fair)

ยุคเริ่มต้น กล้องวิวมาสเตอร์ มีสีดำ หรือน้ำตาลเข้ม เน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายผู้ใหญ่ ใช้เพื่อการศึกษา และใช้ดูภาพสถานที่ท่องเที่ยว แต่ก็ปรับปรุงพัฒนาต่อมาอีกหลายสิบรุ่น ถูกเปลี่ยนมือเจ้าของกิจการหลายบริษัท ปัจจุบันเป็นของแมทเทล (Mattel) และถูกวางตัวเป็นสินค้าเพื่อความบันเทิง ของเล่น-ของที่ระลึกสำหรับเด็ก

ผลิตภัณฑ์ล่าสุดคือ View-Master Virtual Reality พ.ศ. 2558 (ค.ศ.2015) เป็นกล้องดูภาพสามมิติจากจอภาพสมาร์ตโฟน ร่วมกับ app เห็นภาพแบบเวอร์ชวล รีอาลลิตี้ (Virtual Reality (VR), สภาพสามมิติรอบตัวเสมือนจริง) และดูแอนิเมชัน 3 มิติ แบบ อ๊อกเมนเต็ด รีอาลลิตี้ (Augmented Reality (AR) แอนิเมชันผสานสภาพสามมิติรอบตัวเสมือนจริง) โดยการส่องกล้องไปที่ แผ่นพรีวิวรีล (Preview Reel) ซี่งทำรูปลักษณ์ให้คล้ายรีลแบบเดิม-แต่ไม่มีการใช้สไลด์อีกแล้ว (ตัวอย่าง อ๊อกเมนเต็ด รีอาลลิตี้ เช่น ภาพในเกมโปเกมอน โก ตอนที่ ม็อนสเตอร์โผล่มาให้จับบนสถานที่จริง)

วิวมาสเตอร์ 3 รุ่น คุ้นตา (จากซ้ายไปขวา) โมเดล อี E, แอล L, ซี C และพวงกุญแจ

วิวมาสเตอร์ เริ่มแพร่หลายในประเทศไทย ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนมีทีวีช่อง 3, (สถานีโทรทัศน์ แห่งที่ 4) และทีวียังเป็นภาพขาว-ดำ, หนังโรงเป็นเรื่องไกลตัว หนังกลางแปลงและงานวัดเป็นสถานบันเทิงที่ชุมนุมของคนทั่วไป ภาพจากภาพยนตร์ สถานที่ท่องเที่ยวสีสันสวยงาม หรือการ์ตูน ยังหาดูได้ยาก ในขณะที่ วิวมาสเตอร์ สามารถนำเสนอภาพสวยงามเหล่านั้นแถมยังเห็นมิติตื้นลึกได้ เป็นของเล่นที่พอจะมีเด็กๆ พกมาโรงเรียน แต่ก็ไม่มาก นอกจากนี้มีพ่อค้าทำแผงเร่-รถเร่ จัดเอา กล้องวิวมาสเตอร์ หลายๆ ตัว ยึดติดเรียงแถวกับแผง (มีหลอดไฟเปิดให้ความสว่างด้านหลัง) พร้อมเอาหน้าซองแผ่นรีลซึ่งพิมพ์ภาพสีสวยงาม ติดแขวนโชว์เป็นชั้นๆ ด้านบน อย่างกับรถเข็นขายปลาหมึกปิ้ง[1] แล้วรถเร่ก็จะตระเวณไปตามโรงเรียน, งานวัด สถานชุมชน ฯลฯ เด็กๆ จำนวนมาก รวมถึงผู้ใหญ่ จะมาเช่าดูในราคาถูก ไม่กี่บาท (ดูภาพจำลองอดีตจากภาพยนตร์ "ตุ๊กแกรักแป้งมาก") ทำให้กล้องวิวมาสเตอร์และรถเร่เป็นสิ่งติดตาฝังใจของเด็ก-ผู้ใหญ่ มาถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะ กล้องวิว-มาสเตอร์ โมเดล แอล (L) สีแดง ปุ่มกลมก้านอลูฯ สีสดสะดุดตาเด็กๆ มาก, โมเดล จี (G) ทูโทนแดง-ขาว[2] และสีเบจ, ส่วนโมเดลอื่น เช่น โมเดล ซี (C) สีดำ, โมเดล อี (E) สีน้ำตาลเข้ม แม้จะเป็นรุ่นที่ผลิตแรกๆ เก่ามาก สีเข้มทึบไม่สะดุดตา แต่ก็ด้วยความทนทาน(วัสดุเป็นแบ๊กกะไลต์) จึงถูกนำมาใช้งานอย่างยาวนานมาก ผ่านตาเด็กๆ หลายยุคหลายสมัย

กล้องวิว-มาสเตอร์ โมเดล อี(E) พ.ศ. 2499(1956) ช่องใส่แผ่นรีล ตัดเฉียงเป็นรูปตัว วี วัสดุแบ็กกะไลต์ (เบคิไลต์)

กล้องวิวมาสเตอร์ ถูกเรียกด้วยหลากหลายชื่อ เช่น หนังวง, หนังแผ่น, ภาพลอย, ถ้ำมอง, ตู้มอง ฯลฯ [3]

จากนั้นก็เริ่มมีกล้องแนว พ็อคเก็ต ฟลิกซ์ (มูฟวี่-วิวเวอร์, movie viewer) แบบพกพา ซึ่งสามารถดูฟิล์มภาพยนตร์หรือการ์ตูนเห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวแต่ไม่มีเสียง และไม่สามมิติ เข้ามาร่วมแผงเร่ ฮิตด้วยกันอยู่สักพัก ก็ค่อยๆ หมดความนิยม ทั้งนี้ ทีวีสีมีบทบาทมากขึ้น หนังสือ-สื่อต่างๆ มีให้เลือกเยอะขึ้น, รถเร่-แผงเร่วิวมาสเตอร์จึงเลือนหายไป, กล้องวิว-มาสเตอร์เคยหาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้า ก็ค่อยๆ ลดจำนวนจนเลิกขายไปในที่สุด ฟิล์มสไลด์ของโกดักที่เคยใช้ทำรีลก็เลิกผลิตแล้ว, สื่อบันทึกภาพทยอยเปลี่ยนไปเป็นระบบดิจิตอล, การส่องดูภาพนิ่งสามมิติไม่ดึงดูดใจอย่างแต่ก่อน เทคโนโลยีสามมิติพัฒนาไปมาก สามารถเปิดดูได้ง่ายๆ จากทีวี และสมาร์ตโฟน

วิว-มาสเตอร์ กับ แผ่นรีล

ประวัติ

[แก้]

เอ็ดวิน เมเยอร์ ซื้อ ซอว์เยอร์ส

[แก้]

บริษัทซอว์เยอร์ส (Sawyer's) ก่อตั้งโดย คาร์ลตัน ซอว์เยอร์ (Carleton Sawyer) และ เอ อาร์ สเปคต์ (A. R. Specht) ช่วงปี พ.ศ. 2457(1914) โดยให้บริการหลังการถ่ายภาพ (Photo finishing)

เอ็ดวิน ยูจีน เมเยอร์ (Edwin Eugene Mayer) จบการศึกษาด้านเภสัชกรรม หลังกลับจากการเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914-1918) ก็มาทำงานเป็นเภสัชกรในร้าน Owl Drug มีความชื่นชอบเรื่องกล้องเป็นพิเศษ ตามที่เขาเล่าไว้ในจดหมาย เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2497(1954) ว่า เขารวบรวมเงินจากญาติพี่น้อง และภรรยาเพื่อซื้อหุ้นจาก ซอว์เยอร์ และ สเปคต์ ได้ทั้งหมดในปี พ.ศ. 2462(1919) แล้วสานต่อธุรกิจเกี่ยวกับภาพถ่าย ผลิตโปสการ์ดภาพวิว และอัลบั้มภาพที่ระลึก กิจการของซอว์เยอร์ส ได้รับความนิยมเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนต้องเพิ่มผู้ร่วมลงทุน

ปี พ.ศ. 2469(1926) ฮาโรลด์ เจ เกรฟ (Harold J. Graves) ซึ่งเคยทำงานเป็นช่างภาพให้กับกองทัพสหรัฐ ได้เข้ามาร่วมหุ้นกับซอว์เยอร์ส โดยเกรฟ ดูแลทำตลาด ส่วน เมเยอร์ บริหารธุรกิจ มีการเปลี่ยนชื่อกิจการเป็น Sawyer Service, Inc. ต่อมาซอว์เยอร์สได้เริ่มผลิตการ์ดอวยพร และวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ขายดีมากจนกระทั่ง ซอว์เยอร์ส ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตโปสการ์ดภาพวิวทิวทัศน์รายใหญ่อันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ในทศวรรษ 1920 (ช่วงพ.ศ. 2463-2473)

ช่วงทศวรรษเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2467 (1924) วิลเลียม บี กรูเบอร์ (William B. Gruber / 1 June 1903 - 16 October 1965)[4] อพยพมาอยู่ พอร์ตแลนด์ โอเรกอน, อเมริกา[5] เดิมเขาชื่อ วิลเฮล์ม กรูเบอร์ (Wilhelm Gruber) ชาวเยอรมัน มีถิ่นกำเนิดในเมืองมิวนิก เป็นช่างซ่อม-ตั้งเสียงเปียโน ชอบคิดประดิษฐ์สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ และหลงใหลการถ่ายภาพมาก

วิลเลียม กรูเบอร์ พบกับ ฮาโรลด์ เกรฟ

[แก้]

23 เมษายน พ.ศ. 2481 (April 23,1938) กรูเบอร์ สมรสกับ นอร์มา (Norma)[6] แล้วไปเที่ยวที่ โรงแรมโอเรกอนเคฟ (the Lodge at Oregon Cave)[7]

ขณะที่กรูเบอร์ ถ่ายรูปสามมิติที่ถ้ำโอเรกอน (Oregon Caves)[8] ด้วยกล้องถ่ายภาพนิ่งที่เขาดัดแปลงเองจาก กล้องแบนทัม สเปเชียล ของโกดัก [9] สองตัวยึดกับขาตั้งกล้อง (tripod) และได้เจอกับ ฮาโรลด์ เกรฟ โดยบังเอิญ ซึ่งก็สนใจสิ่งประดิษฐ์ของกรูเบอร์ ทั้งสองพบปะพูดคุยกันอย่างถูกคอ เกรฟจึงชักชวนกรูเบอร์ให้มาร่วมงานกันใน ซอว์เยอร์ส เพื่อผลิตอุปกรณ์ดูภาพสามมิติในเชิงพาณิชย์ [10]

ตัวอย่าง กล้องดูภาพสามมิติโบราณ ใช้ดูภาพคู่

กรูเบอร์ ออกแบบเครื่องสำหรับวางตำแหน่งแผ่นฟิล์มสไลด์ขนาดจิ๋ว (ซอว์เยอร์ส เรียกว่า ชิพ chips) ประกบด้วยกระดาษแข็งวงกลม2แผ่น ผนึกติดกันโดยใช้ความร้อน ออกมาเป็นแผ่นเรียกว่า "รีล (Reel)" วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ 3.5 นิ้ว หรือ 9 ซม. [11] รวมทั้งออกแบบและผลิตกล้องดูภาพชนิดพิเศษ (special viewer) ด้วยการปรับกล้องสเตอริโอสโคป Stereoscope (กล้องดูภาพสามมิติ)ทรงโบราณ โดยเปลี่ยนจากภาพนิ่งไปใช้ฟิล์มสไลด์ โกดาโครม ขนาด 16 มม. ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกใหม่ได้ไม่นาน, ด้วยแผ่นรีลแบบวงกลมของกรูเบอร์ สามารถบรรจุฟิล์มสไลด์ได้ 14 แผ่น หรือ 7 คู่ภาพ ทำให้ดูภาพสามมิติต่อเนื่องได้ 7 ภาพ หรือดูวนซ้ำไปได้เรื่อยๆ , ฟิล์มสไลด์ 2 ภาพสำหรับ ตาซ้าย-ตาขวา จะคล้ายกัน ต่างมุมมองเพียงเล็กน้อย เมื่อมองผ่านกล้องจะเห็นภาพมีมิติตื้นลึก

แผ่นรีลวิว-มาสเตอร์ เส้นผ่าศูนย์กลางยาว 3.5 นิ้ว หรือ 9 ซม. บรรจุสไลด์ได้ 7 คู่ภาพ ไม่เคยเปลี่ยนแปลงรูปแบบเลยตั้งแต่เริ่มผลิต

ซอว์เยอร์ส วิว-มาสเตอร์

[แก้]

จากเอกสารในศาล ปี พ.ศ. 2503 (1960) บันทึกว่า กิจการร่วมค้า กรูเบอร์-ซอว์เยอร์ส (Gruber-Sawyer partner venture) ถือกำเนิดหลังการประชุมครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2481 (1938) โดยระหว่างนี้ เอ็ด เมเยอร์ ยังคงเจรจาในรายละเอียดกับ กรูเบอร์

สามปีต่อมา ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 (1942) จึงบรรลุข้อตกลงอย่างเป็นทางการ ว่าให้ออกผลิตภัณฑ์กล้องดูภาพสามมิติภายใต้ บริษัทซอว์เยอร์ส

เอ็ด เมเยอร์ และ ซอว์เยอร์ส ตกลงตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ว่า วิว-มาสเตอร์ (View-Master) ซึ่งจริงๆ แล้ว กรูเบอร์ ไม่ชอบชื่อนี้เลย เพราะฟังดูเหมือนเครื่องใช้ในครัว หรือ เครื่องปิ้งขนมปัง (โทสต์มาสเตอร์, Toast-Master) หรือ เครื่องผสมอาหาร (มิกซ์ มาสเตอร์, Mix-Master) ทว่าจากผลการสำรวจภายหลังในปัจจุบัน แบรนด์ "วิว-มาสเตอร์" เป็นชื่อที่คนจำนวนกว่า 65% จากทั่วโลก จดจำได้เป็นอย่างดี

กล้องวิว-มาสเตอร์ เปิดตัวครั้งแรกในงาน นิวยอร์กเวิร์ลสแฟร์ ปี พ.ศ. 2482 (1939 New York World's Fair) มีข้อความบนตัวกล้องว่า "Patent Applied For" (อยู่ระหว่างรอสิทธิบัตร), วิว-มาสเตอร์วางจำหน่ายตามร้านอุปกรณ์ถ่ายภาพ, ร้านเครื่องเขียน และร้านขายของที่ระลึกในแหล่งท่องเที่ยว โดยถูกเสนอเป็นสินค้าทางเลือกใหม่ในกลุ่มโปสการ์ดภาพวิวที่ระลึก, วิวมาสเตอร์ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ทำยอดขายดีมาก

แผ่นรีลแรกๆ ที่ผลิตขายเป็นภาพสถานที่ท่องเที่ยวเลื่องชื่อ เช่น อุทยานแห่งชาติถ้ำคาร์ลสแบด (Carlsbad Caverns) ในรัฐนิวเม็กซิโก และ แกรนด์แคนยอน (Grand Canyon) ในรัฐอริโซนา ฯลฯ

สิทธิบัตรสำหรับกล้องดูภาพสามมิติของกรูเบอร์ ออกอย่างเป็นทางการวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2483(1940)[12]

ชื่อรุ่นของกล้องวิว-มาสเตอร์ ใช้อักษรอังกฤษเป็นรหัสชื่อรุ่น เรียงไปเรื่อยๆ เช่น โมเดล เอ(A), บี(B) ฯลฯ

ยุครุ่งเรืองของซอว์เยอร์ส

[แก้]

กองทัพสหรัฐ ได้ทำการสั่งซื้อ กล้องวิวมาสเตอร์ รวมแล้วนับ 100,000 เครื่อง อีกทั้งซื้อแผ่นรีลเกือบ หกล้านแผ่น เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียน-การฝึกในกองทัพ เพราะช่วยให้เห็นระยะตื้น-ลึกได้สมจริง การจัดซื้อตั้งแต่ปี พ.ศ. 2485 (1942) ไปจนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2488 (1945) และสหรัฐเป็นฝ่ายชนะสงคราม

ปี พ.ศ. 2487 (1944) ซอว์เยอร์ส ออกวิว-มาสเตอร์โมเดล บี (B) และต่อเนื่องจนถึง โมเดล เฮช (H ~1966)

ปี พ.ศ. 2494 (1951) ซอว์เยอร์ส ซื้อกิจการ ทรู-วิว (Tru-Vue ) เพื่อขจัดคู่แข่งหลัก และทำให้ได้ไลเซนส์ในการผลิตเนื้อหาจาก วอล์ทดิสนีย์สตูดิโอ (Walt Disney Studio) มาด้วย ซอว์เยอร์สจึงผลิตรีลที่เกี่ยวกับ ตัวการ์ตูนคาแร็คเตอร์ของดิสนีย์ออกมาจำหน่ายอย่างมากมาย รวมถึงภาพถ่ายสถานที่ท่องเที่ยวสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ (Disneyland) ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกตอนปี พ.ศ. 2498(1955)

ซอว์เยอร์สมีทีมฝ่ายผลิตเนื้อหาสามมิติสำหรับเด็ก เป็นของตนเองด้วย โดยว่าจ้างศิลปินช่างปั้นดินเหนียว มาปั้นตุ๊กตา และสร้างฉากจำลองเล่าเรื่องประกอบนิทาน-ตำนาน-วรรณกรรมต่างๆ ถ่ายเป็นสไลด์สามมิติ จัดเป็นชุดเซ็ท 3 แผ่นจบ พร้อมหนังสือเล่มเล็ก (storybooks, booklet) เล่าเนื้อเรื่องละเอียดขึ้น

การผลิตแผ่นรีลภาพสามมิตินอกเหนือจาก ภาพวิวทิวทัศน์, ภาพนิ่งภาพยนตร์ ภาพจากรายการทีวี การ์ตูน นิทานตุ๊กตาดินปั้น ฯลฯ กรูเบอร์ยังได้ร่วมมือกับ "เดวิด แบสเซ็ตต์ (David L. Bassett)" ถ่ายภาพสามมิติกายวิภาคของมนุษย์ "StereoScopic Atlas of Human Anatomy"[13] เพื่อใช้เป็นสื่อการศึกษาด้านการแพทย์ โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491(1948) เสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2505(1962) ได้ภาพถ่ายสามมิติราว 1,554 ภาพ ผลิตแผ่นวิวมาสเตอร์รีล ประมาณ 221 แผ่น เป็นอีกหนึ่งผลงานที่โด่งดังมากเช่นกัน (ดูภาพนิ่งเบื้องหลังการถ่ายทำ จะเห็นกรูเบอร์ ใช้เครื่องโปรเจกต์เตอร์ของวิวมาสเตอร์ เป็นไฟส่องถ่ายภาพด้วย [14])

ปี พ.ศ. 2495 (1952) ซอว์เยอร์ส เปิดสาขา และสร้างโรงงานผลิต ชื่อ Sawyer's Europe ที่ประเทศเบลเยี่ยม

ปีเดียวกันนี้ ซอว์เยอร์ส เปิดสายการผลิต กล้องถ่ายรูปสามมิติ วิว-มาสเตอร์ เพอร์ซันนอล โดยผลิตออกมา 2 รุ่น เพื่อให้ผู้ใช้สามารถถ่ายทำภาพสามมิติได้ด้วยตัวเอง แม้จะประสบความสำเร็จในช่วงแรก แต่ก็ยุติการผลิตลงในสิบปีต่อมา

กล้องถ่ายรูป 3 มิติ รุ่น เพอซันนอล สเตอริโอ

ปี พ.ศ. 2499 (1956) เอ็ดวิน เมเยอร์ เสียชีวิตจากโรคหัวใจ เขาบริหารงานที่ซอว์เยอร์สยาวนานกว่า 30 ปี [15]

ปี พ.ศ. 2501 (1958) ซอว์เยอร์ส เปิดอีก 3 สาขา ที่ ซิดนีย์ ออสเตรเลีย, โตเกียว ญี่ปุ่น และ ฝรั่งเศส (เป็นสาขาย่อยของ Sawyer's Europe) และจะขยายไปอีกหลายประเทศ

เรื่องราวความสำเร็จของ ซอว์เยอร์ส มีถ่ายทำเป็นสารคดีทีวี ชื่อ "Success Story" สัมภาษณ์ "บ็อบ บรอสต์ (Bob Brost)" ประธานบริษัทซอว์เยอร์ส(ราวปี 1959), ชมโรงงาน ดูขั้นตอนการผลิต-ประกอบชิ้นส่วน, จะเห็นภาพกล้องวิว-มาสเตอร์โมเดล อี, โมเดล เอฟ (~1952) รวมถึงสัมภาษณ์กรูเบอร์ด้วย รายการมีความยาว 30 นาที/ขาวดำ ออกอากาศทางช่อง King TV หาดูได้จาก Vimeo[16]

กาฟ วิว-มาสเตอร์

[แก้]
กาฟ วิว-มาสเตอร์ โมเดล จี(G) กับแผ่นรีล

พ.ศ. 2509 (1966) ซอว์เยอร์ส (Sawyer's) ถูกซื้อโดย General Aniline & Film (GAF) Corporation เรียกย่อว่า กาฟ แต่ยังคงใช้ตราซอว์เยอร์สกับสินค้าบางประเภท เช่น เครื่องฉายสไลด์ ฯลฯ, กาฟ ปรับทิศทางการผลิต ลดภาพทิวทัศน์ให้น้อยลง แต่เน้นไปที่เนื้อหาสำหรับเด็ก เช่น ของเล่น คาร์แรคเตอร์ตัวการ์ตูน รายการทีวี กล้องวิว-มาสเตอร์จึงเริ่มมีสีสันสดใส โดยเฉพาะสีแดง ยอดขายวิวมาสเตอร์ยังคงพุ่งแรงอยู่ แต่ต่อมาตลาดกลุ่มผู้ซื้อค่อยๆ หดตัวเล็กลง

พ.ศ. 2510 (1967) ป้ายหินอนุสรณ์เป็นเกียรติแก่กรูเบอร์ซึ่งติดอยู่ที่โรงงานฟิชเชอร์-ไพร้ซ์ แกะสลักว่าเสียชีวิตปี 1967 [17] หลังจากที่โรงงานผลิต ปิดตัวไป ฟิชเชอร์-ไพร้ซ์ได้ส่งมอบป้ายหินนี้ให้เป็นสมบัติของบุตรชายกรูเบอร์ในวอชิงตัน

ปี พ.ศ. 2511 (1968) กาฟ เปลี่ยนชื่อเป็น GAF Materials Corporation

กาฟ สานต่อ วิว-มาสเตอร์โมเดล จี(G), เฮช(H), ทอล์คกิ้ง(Talking) และออกโมเดลใหม่เช่น เจ(J), เค(K), โมเดล12 และ แอล(L)

วิว-มาสเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

[แก้]

ปลายทศวรรษ 1970 วิดีโอเกม มีบทบาท และพัฒนาการมากขึ้น จนเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของ วิดีโอเกม เลยทีเดียว บริษัทผลิตของเล่นชื่อดังหลายแห่งถึงกับต้องปิดกิจการ สินค้าวิว-มาสเตอร์ก็ประสบปัญหาเช่นกัน มีการขายเปลี่ยนมือไปหลายบริษัทภายในช่วงเวลาสั้นๆ

พ.ศ. 2524 (1981) GAF ขาย View-Master ให้กลุ่มนักลงทุนนำโดย อาร์โนลด์ แธลเลอร์ (Arnold Thaler) ในราคา $20,000,000 และเปลี่ยนชื่อเป็น View-Master International (VMI) Group

วิว-มาสเตอร์ ไอดีล

[แก้]
เครื่องเล่นเกม วิวมาสเตอร์ อินเตอร์แอคทีฟ วิชั่น ผลิตโดย วิว-มาสเตอร์ ไอดีล กรุ๊ป

ประมาณปีพ.ศ. 2527(1984)[18] หรือ พ.ศ. 2528(1985)[19] ซีบีเอส ทอยส์ (CBS Toys) ขาย ไอดีล ทอย (Ideal Toy) ให้ VM Inter และใช้ชื่อรวมกันเป็น View-Master Ideal Group (ไอดีล ทอย เป็นผู้จัดจำหน่าย รูบิค Rubik's Cube)

VM Ideal ออกวิว-มาสเตอร์รุ่นใหม่คือ โมเดล เอ็ม(M)

พ.ศ. 2531 (1988) View-Master Ideal Group, Inc ขยายไลน์ ออกผลิตภัณฑ์ เครื่องเล่นเกมคอนโซล โดยอิงชื่อแบรนด์วิว-มาสเตอร์ View-Master Interactive Vision มีเกมเกี่ยวกับ เซซามี สตรีท, หุ่นมหาสนุก (the Muppet Show), ดิสนีย์ การ์ตูน อาเขต (ไม่ได้เป็นภาพสามมิติ)

ไทโค วิว-มาสเตอร์

[แก้]

พ.ศ. 2532 (1989) View-Master Ideal ถูกซื้อโดย Tyco Toys[20] (ไทโค มีชื่อเสียงในเรื่อง รถแข่งวิทยุบังคับ)

ไทโค ผลิต เฟซ วิวเวอร์ โดยทำชิ้นส่วนเฉพาะใบหน้าคาแร็คเตอร์ต่างๆ ติดเพิ่มที่ชิ้นฝาหลัง(ช่องรับแสง)ของกล้องโดยมากใช้กล้องโมเดลแอล(L) เช่น ใบหน้ามิคกี้เม้าส์, หน้านกบิ๊กเบิร์ด, หน้าแบทแมน ฯลฯ นอกจากนี้ก็ออกผลิตภัณฑ์วิว-มาสเตอร์โปรเจกต์เตอร์ขนาดเล็กสำหรับเด็ก (ภาพไม่เป็นสามมิติ)

พ.ศ. 2535 (1992) ไทโค ออกวิว-มาสเตอร์รุ่นใหม่คือ โมเดล เอ็น (N) รุ่นฟักทอง สีส้ม รับแสงได้ทั้งจากแสงธรรมชาติ และหลอดไฟในตัวเครื่อง

  • พ.ศ. 2536 (1993) Mattel กลุ่มบริษัทที่ทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ ทารก และเด็กก่อนวัยเรียน ต้องการขยายกิจการสู่ต่างประเทศ จึงทำการซื้อ Fisher-Price

พ.ศ. 2540 (1997) ไทโค ออกวิว-มาสเตอร์ทอล์คกิ้ง รุ่นที่ 3 (Talking III) แต่ใช้ตลับฟิล์มพิเศษ ไม่ได้ใช้แผ่นรีล

ฟิชเชอร์-ไพร้ซ และ แมทเทล

[แก้]

27 มีค. พ.ศ. 2540 (1997) ไทโค ทอยส์ (Tyco Toys) ควบรวมกับ แมทเทล (Mattel) ทำให้กลายเป็นบริษัทของเล่นยักษ์ใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา

แบรนด์ ไทโค ยังคงถูกใช้ภายใต้แผนก Mattel Tyco R/C จวบจนถึงช่วงต้นทศวรรษ 2010 (ช่วง พ.ศ. 2553) ก็ปิดตำนานแบรนด์ ไทโค โดยถูกยุบย้ายสินค้า อาทิ เซซามี สตรีท, วิว-มาสเตอร์ไปอยู่ภายใต้แบรนด์ ฟิชเชอร์-ไพร้ซ์ (Fisher-Price) ของแมทเทล (ฟิชเชอร์-ไพร้ซ์ ดูแลสินค้ากลุ่มเด็กและเยาวชน)

ปัจจุบัน กล้องวิว-มาสเตอร์ วีอาร์ ใช้แบรนด์แมทเทล

ผลิตภัณฑ์ กล้องดูภาพสามมิติ

[แก้]

รุ่นโปรโตไทป์

[แก้]

สีดำหน้ากลม เปิดแบบฝาหอยเพื่อใส่แผ่นรีล บานพับอยู่ด้านล่าง วัสดุเป็นพลาสติกโกดักเทไนท์ (Kodak Tenite) ข้อเสียคือ บิดโก่งตัวได้ ไม่คงรูปเดิม[21]

โมเดล เอ (A)

[แก้]
วิว-มาสเตอร์ โมเดล เอ (A) สีดำ วัสดุ โกดัก เทไนต์
วิว-มาสเตอร์ โมเดล เอ (A) เปิดฝาเพือใส่แผ่นรีล

พ.ศ. 2481-2487 (1938-1944) [22]

หน้ากลม เปิดแบบฝาหอยเพื่อใส่แผ่นรีล (มองเห็นกลไกการหมุนรีล) บานพับอยู่ด้านล่าง[23] วัสดุเป็นพลาสติกโกดักเทไนท์ (Kodak Tenite) โดยทั่วไปมีสีดำ, ดำเจือสีอื่น และบางรุ่นเติมประกายมุก แม้จะมีการดีไซน์เสริมเส้นโครงสร้าง แต่ตัวกล้องก็ยังคงบิดโก่ง นอกจากนี้ยังพบปัญหาขณะส่องดู เห็นแสงเรืองรอบภาพสไลด์ (halo) ทั้งนี้เพราะ ผิววัสดุภายในท่อเลนส์ตาสะท้อนแสงเยอะ

โมเดล บี (B)

[แก้]

พ.ศ. 2487-2490 (1944-1947)

เปลี่ยนวัสดุไปเป็น แบ็กกะไลต์ ซึ่งทนทานมาก รูปลักษณ์ภายนอกเหมือนโมเดล เอ หน้ากลม เปิดใส่แผ่นรีลแบบฝาหอย ท่อช่องมองยืดยาวขึ้น มีสีดำ, น้ำตาล, น้ำเงิน และ สองสีดูโอโทน ดำ-น้ำเงิน (หน้ากากชิ้นรับแสง และถ้วยครอบตาเป็นสีดำ , ชิ้นส่วนด้านเลนส์ตาเป็นสีน้ำเงิน)

  • เวอร์ชันอเมริกา ถ้วยครอบตาเป็นแบบวงกลม (round eyecups)
  • เวอร์ชันอังกฤษ ออกมา 2 รุ่นย่อย คล้ายรุ่นของอเมริกา แต่ถ้วยครอบตาเป็นรูปกรวยเพื่อโอบปิดรอบเบ้าตามากขึ้น กันแสงรั่วเข้ามาจากภายนอก ผลิตในช่วงเวลาสั้นๆ โดยบริษัท Salford Electric Company

โมเดล ซี (C)

[แก้]
กล้องวิวมาสเตอร์ โมเดล ซี(C) พ.ศ. 2489(1946) ปรับโฉมและกลไกภายในใหม่หมด ดีไซน์เป็นสี่เหลี่ยมตัดมุม ชิ้นส่วนหน้า-หลังประกบติดตาย แกะดูกลไกภายในไม่ได้ วัสดุแบ็กกะไลต์ (เบคิไลต์) ทนทานมาก

พ.ศ. 2489-2498 (1946-1955)

โมเดลนี้ได้ชื่อว่า เป็นกล้องสามมิติที่ดูเลิศหรูมากในยุคนั้น (Deluxe Stereoscope) กรอบหน้าเหลี่ยมตัดมุม มีสีดำเงา กับน้ำตาลเป็นหลัก เปลี่ยนระบบการใส่และเลื่อนรีลแบบใหม่ เป็นรุ่นแรกที่สอดแผ่นรีลลงทางช่องด้านบน ไม่ต้องเปิด-ปิดฝาอีก ชิ้นส่วนด้านช่องรับแสงกับด้านเลนส์ตา ถูกยึดประกบติดตายด้วยหมุดสีเงินเปิดออกไม่ได้ เลนส์ตามีกำลังขยายภาพ 5x ไม่มีถ้วยครอบตา คันสับเป็นแผ่นโลหะสีเงินมีตุ่มเล็กๆ สำหรับกด (โมเดลนี้ จดสิทธิบัตร ผู้ประดิษฐ์คือ กรูเบอร์)[24]

  • อุปกรณ์เสริม กล่องไฟ (The light attachment) ประกบครอบปิดทับช่องรับแสงทั้งแผง มีขนาดค่อนข้างใหญ่โตมโหฬาร ออกแบบโดย Gordon N. Smith[25] ผลิตโดย ซอว์เยอร์ส
  • อุปกรณ์เสริม กล่องไฟ (View-Lite Illuminator) ผลิตโดยบริษัทร่วมค้า View-Lite Co. แคนซัส อเมริกา มีขนาดเล็กครอบปิดเฉพาะช่องหน้าต่างรับแสง น้ำหนักเบาใช้งานง่ายกว่า

โมเดล ดี (D)

[แก้]

พ.ศ. 2498-2515 (1955-1972)

รุ่นนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นสุดยอดผลงานของวิว-มาสเตอร์ เป็นรุ่นแรกที่ต้องใช้แสงจากหลอดไฟในตัวกล้อง ไม่สามารถรับแสงจากภายนอก บอดี้หน้ากากชิ้นนอก(ฝาครอบรังถ่าน)ปิดทึบ มีแผ่นป้ายเพลทพิมพ์สีเงิน (หรือสีทอง) พร้อมอักษร VIEW-MASTER คาดยาวแนวนอนตรงกลางฝาครอบรังถ่าน ซึ่งใช้เป็น ปุ่มกดเปิด-ปิดไฟด้วย, ใช้ถ่านไซส์ D สองก้อน ใส่ถ่านด้วยการหมุนเฟืองเกลียวใต้กล้องเพื่อถอดชิ้นฝาครอบรังถ่านออก, ปุ่มกดปลายคันสับเลื่อนภาพออกแบบอย่างวิจิตรบรรจงในรายละเอียด, มีแผ่นเหรียญวงกลม(medallion)สีเงินแกะสลักเป็นตราโลโก้ ทำพิเศษแยกชิ้น ติดที่มุมบนซ้ายของบอดี้กล้องด้านใกล้ใบหน้า, กระจกเลนส์ตาตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยม (เลนส์ตารุ่นอื่น เป็นวงกลมทุกรุ่น) เพิ่มกำลังขยายเป็น 7x และเป็นรุ่นเดียวที่ ปรับโฟกัสสายตาได้ (focusing viewer) ด้วยการใช้นิ้วชี้มือขวาหมุนเฟือง น้ำหนักรวมค่อนข้างหนักพอควร วัสดุแบ็กกะไลต์ (เบคิไลต์) สีหลักมีสองสี คือ สีดำ กับ สีน้ำตาล (กล้องสีน้ำตาลมีรายงานว่าพบปัญหา เกิดแสงเรืองรอบภาพสไลด์ halo ขณะส่องดูภาพ เพราะผิววัสดุภายในท่อเลนส์ตาสะท้อนแสงจากสไลด์)

โมเดล อี (E)

[แก้]
วิว-มาสเตอร์ โมเดล อี สีน้ำตาล ด้านที่เห็นเลนส์ตา

พ.ศ. 2498-2504 (1955-1961)

วัสดุแบ๊กกะไลต์ สีหลักคือสีน้ำตาลเข้ม ปรับดีไซน์ให้โมเดิร์นขึ้น ช่องใส่แผ่นรีลตัดเป็นคอวี ช่วยให้จับดึงแผ่นรีลออกง่ายขึ้น ปุ่มกดเลื่อนภาพขนาดใหญ่สีงาช้าง ก้านคันสับโลหะ รุ่นนี้มีผลิตในหลายประเทศ และรายละเอียดแตกต่างกันไปเล็กน้อย ที่ประหลาดหน่อยก็คือรุ่นผลิตในสเปน ตัวกล้องสีดำ ปุ่มกดเลื่อนภาพสีแดง และพิมพ์โลโก้ VM กลับหัว

  • มีอุปกรณ์เสริม กล่องไฟ ติดประกบตรงช่องรับแสง

โมเดล เอฟ (F)

[แก้]
วิว-มาสเตอร์ โมเดล เอฟ สีน้ำตาลเข้ม รับแสงจากภายนอกไม่ได้ สวิชเปิด-ปิดไฟเป็นแผ่นพลาสติกสีงาช้างอยู่ด้านบน

พ.ศ. 2502-2509 (1959-1966)

เป็นรุ่นสุดท้ายที่ใช้วัสดุแบ๊กกะไลต์ รูปร่างหน้าตาสีสันคล้ายๆ โมเดล อี, หน้ากากชิ้นนอก(ฝาครอบรังถ่าน)ปิดทึบ รับแสงจากภายนอกไม่ได้ ใช้แสงจากหลอดไฟในตัว ถ่านไซส์ C สองก้อน, ปุ่มเปิด-ปิดไฟเป็นพลาสติกแผ่นยาวสีงาช้างอยู่ด้านบน กดแช่ด้วยนิ้วชี้สองมือ มีเพลทป้ายชื่อสีทองคาดยาวใต้แนวใส่แผ่นรีล ปุ่มกดคันสับเลื่อนภาพทรงสามเหลี่ยมสีงาช้าง โทนสีดูกลมกลืนงดงาม ออกแบบภายใต้การนำทีมโดย ชาร์ลส ชัคค์ แฮริสัน (Charles "Chuck" Harrison) เลนส์ตามีกำลังขยาย 5.5x ผลิตในอเมริกา และเบลเยี่ยม

รุ่นคอมแพ็ค (Compact Viewer)

[แก้]

ประมาณช่วงปี พ.ศ. 2502-2504 (1959-1961)

ชิ้นส่วนทำจากพลาสติก รอยต่อบานพับติดด้วยกระดาษกาว พับเก็บแล้วแบนราบ มีหนังสติ๊กอยู่ด้านในช่วยดึงรั้งให้ชิ้นส่วนตั้งขึ้นรูปคงสภาพกล่อง การเลื่อนภาพต้องใช้นิ้วหมุนแผ่นรีลเอง [26] ออกแบบโดย เค็นเน็ธ โกลเด้น (Kenneth E Golden)[27] ผลิตโดย ซอว์เยอร์ส ปัจจุบันหาได้ยากมาก

โมเดล จี (G)

[แก้]
โมเดล จี สีขาวครึ่งแดงครึ่ง (ทูโทน) โลโก้ กาฟ
โมเดล จี รุ่นสุดท้ายภายใต้แบรนด์ ซอว์เยอร์ส

พ.ศ. 2502-2520 (1959-1977)

โมเดลนี้ ถือว่ายุคเปลี่ยนครั้งใหญ่อีกครั้ง ด้วยการปรับให้ กล้องวิว-มาสเตอร์ เป็นสินค้าประเภทของเล่น เน้นกลุ่มเป้าหมายเด็ก (จากเดิมที่กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใหญ่, ช่างภาพ, ผู้ที่ชื่นชอบดูภาพทิวทัศน์-สิ่งของ สามมิติ) ชาร์ลส แฮริสัน (Charles Harrison) [28] เป็นผู้ออกแบบปรับโฉมวิว-มาสเตอร์ใหม่ ช่วงปี พ.ศ. 2501 (ค.ศ.1958) รูปทรงกล้องกระทัดรัดเหมาะมือ น่าจับต้อง ดูเป็นมิตรใช้งานง่าย, มีการเปลี่ยนวัสดุจากเบคิไลต์ไปใช้เทอร์โมพลาสติก (Thermoplastic) ทำให้น้ำหนักเบา ทนทานขึ้น ปุ่มกดเป็นพลาสติกแต่ก้านคันสับยังเป็นโลหะ มีรุ่นย่อยมากมาย สีที่ติดตาคือ แดง-ขาว (สองสีดูโอโทน), สีเบจ, สีแดงล้วน, สีขาว (off-white) สีฟ้า และอีกสารพัดสี ในตลาดอเมริกามีการทำบรรจุภัณฑ์ใหม่ เป็นถังทรงกระบอกพิมพ์ภาพลวดลายสีสันสดใสดึงดูดใจเช่นกัน ทำให้สินค้าวิว-มาสเตอร์ โด่งดังขึ้นอีก ยอดขายถล่มทลาย โมเดลนี้จัดเป็นรุ่นมาตรฐานรุ่นหนึ่ง ผลิตจำหน่ายยาวนานกว่า 20 ปี บอดี้กล้องมีทั้งปัมป์โลโก้ซอว์เยอร์ส และโลโก้กาฟ

ปี พ.ศ. 2509 (1966) ซอว์เยอร์ส ถูกซื้อกิจการโดย กาฟ (General Aniline & Film (GAF) Corporation)

  • โมเดลจี รุ่นอัปเดต พ.ศ. 2527-2529 (1984-1986) ก้านคันสับและปุ่มกด เป็นพลาสติกเนื้อเดียวกัน ผลิตโดย VM International[29]

โมเดล เฮช (H)

[แก้]

พ.ศ. 2509-2524 (1966-1981)

เป็นรุ่นที่มีหลอดไฟในตัว (Lighted Viewer) ฝานอกปิดทึบ กล้องที่ผลิตในอเมริกากับยุโรป มีรูปทรงหน้าตาไม่เหมือนกัน แต่จัดเป็นโมเดลเดียวกัน

  • รุ่นผลิตในเบลเยี่ยม บอดี้โดยรอบเป็นทรงเหลี่ยมตรง สีเบจเป็นหลัก โลโก้กาฟ
  • รุ่นผลิตในอเมริกา บอดี้กล้องด้านล่าง โค้งกลม มีขาตั้ง สีที่พบเห็นคือ สีน้ำตาล โลโก้ซอว์เยอร์ส[30] กับสีฟ้า โลโก้ กาฟ

ทอล์คกิ้ง 1 (Talking I)

[แก้]

ช่วงปีพ.ศ. 2513-2524 (~1970-1981)

ตัวกล้องขนาดใหญ่เพราะบรรจุเครื่องเล่นแผ่นเสียง, ลำโพง ไว้ในตัวเครื่อง ใส่ถ่านไซส์ C สองก้อน แผ่นเสียงมีลักษณะเป็นพลาสติกใส เกาะกับรีลภาพที่จุดศูนย์กลางแต่หมุนได้อิสระ ขั้นตอนการใช้งานค่อนข้างวุ่นวาย เมื่อใส่แผ่นรีลและกดคันสับตั้งต้นที่ภาพแรก ให้กดปุ่มรีเซ็ทที่ชิ้นฝาหลัง(อยู่ตรงกลางเหนือแผ่นรับแสง)เพื่อตั้งไฟล์เสียงไปยังแทร็คแรก จากนั้นกดปุ่ม "Sound Bar" ที่ฝาหลังด้วยสองนิ้ว เข็มของเครื่องเล่นแผ่นเสียงจึงจะเริ่มเล่นแทร็คแรกแล้วหยุด คุณภาพเสียงไม่ค่อยดีนัก เสียงรบกวนก็ค่อนข้างเยอะ[31], บรรจุภัณฑ์บางรุ่นเป็นกระป๋องทรงกระบอก Gift Pak ขายกล้องพร้อมแผ่นรีลหลายแผ่น

มี 3 รุ่นย่อย[32]

  • สีน้ำตาล (Talking View-Master Stereo Viewer)
  • สีแดง, ขาว, ฟ้า (GAF Talking View-Master Stereo Viewer)
  • สีฟ้า (GAF Talking View-Master Electronic/Lighted Stereo Viewer) ใช้แสงจากหลอดไฟ และมีปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง[33]

ชื่อ ทอล์คกิ้ง ยังถูกใช้ผลิต อีก 2 โมเดลที่ปรับปรุงพัฒนาต่อมา หน้าตากล้อง และระบบภายในแตกต่างกันค่อนข้างมาก

  • ทอล์คกิ้งรุ่น 2 (Talking II) ปี พ.ศ. 2527(1984) ผลิตโดย กาฟ ปรับปรุงระบบใหม่ ลำโพงเสียงดีขึ้น แผ่นรีลภาพและแผ่นเสียงวางต่อกันแนวดิ่งในแผ่นคาร์ทริดจ์ทรงสูงอีกที ตัวเครื่องสีขาว ปุ่มกดสีแดง (ดูรูป)[34]
  • ทอล์คกิ้งรุ่น 3 (Talking III) ปี พ.ศ. 2540(1997) ผลิตโดย ไทโค เล่นไฟล์เสียงดิจิตอล ด้วยชิป (chip) อิเล็คทรอนิคส์ บอดี้กล้องสีขาว-แดง ใช้ตลับภาพทำเฉพาะไม่สามารถใช้แผ่นรีลวงกลม

คอมแพ็ค โฟลดิ้ง วิวเวอร์

[แก้]

GAF COMPACT FOLDING VIEWER ช่วงปีพ.ศ. 2513-2517 (~1970-1974)

เป็นพลาสติกพับแบน แถมไว้ท้ายเล่มกับหนังสืออ้างอิงทางด้านการแพทย์ ตีพิมพ์โดย Mosby [35] เมื่อประกอบเป็นกล้องแล้วไม่ควรพับเก็บกลับ ใส่รีลทางด้านบน แล้วใช้นิ้วหมุนแผ่นรีลเพื่อเลื่อนภาพเอง ออกแบบโดย George H Patton[36] ผลิตโดย GAF

โมเดล เจ (J) หรือ โมเดล 10

[แก้]

พ.ศ. 2518-2537 (1975-1994)

แรกเริ่มผลิตในเบลเยี่ยม ด้วยความที่การติดต่อสื่อสารทางไกลจากอเมริกาไปฝั่งยุโรป และสำเนียงภาษาต่างกัน นำมาซึ่งความสับสนการออกเสียงระหว่าง ตัวอักษร เจ (J) กับ จี (G) รุ่นนี้จึงมักเรียกแทนด้วยหมายเลข 10 (เพราะอักษร J เป็นอักษรตัวที่ 10 ในภาษาอังกฤษ) มีชื่อเต็มว่า ยูโรเปี้ยน โมเดล 10 (European Model 10)[37] ทำออกมาสารพัดสี โดยมีสีแดงเป็นหลัก มีรุ่นพิเศษ เช่น สีม่วง ในวาระเฉลิมฉลองพิธีสมรสของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส กับ เลดี้ ไดอาน่า วันที่ 29 กรกฎาคม 2524 (1981) ประเทศอังกฤษ ผลิตโดย GAF

โมเดจ เจ รุ่นนี้มีผลิตโดย VM International ซึ่งจะเปลี่ยนโลโก้ GAF เป็นคำว่า 3D ในกรอบสี่เหลี่ยม[38]

โมเดล เค (K) หรือ โมเดล 11

[แก้]
วิว-มาสเตอร์ โมเดล เค (K) หรือ โมเดล 11 ฝาหลัง(แผ่นรับแสง)ตีโป่งโค้งเหมือนหมวกมนุษย์อวกาศ โดย กาฟ ทำในเบลเยี่ยมเท่านั้น

"กล้องอวกาศ (space viewer)", "กล้องตากลม (eyeball viewer)"

ผลิตในช่วงพ.ศ. 2518-2527 (1975-1984) โดย กาฟ ทำในเบลเยี่ยมเท่านั้น

โมเดลนี้อิงกระแสเรื่องการส่งมนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์ ชิ้นส่วนด้านนอกที่เป็นแผ่นรับแสงผิวฝ้าขุ่น ออกแบบให้มีขนาดใหญ่ บอดี้ตีโป่งโค้งทรงกลมโปนเหมือนหน้ากากนักบินอวกาศ มีสารพัดสี เช่น ดำ แดง ส้ม เขียวอ่อน สีทอง และสีเงิน ซึ่งหายากมาก, สีมาตรฐานคือ แดง คันสับสีดำและก้านเป็นพลาสติกเนื้อเดียวกับจานประกับแผ่นรีล

  • พ.ศ. 2526 (1983) ออก โมเดล เค (K) เอ็พค็อทวิวเวอร์ (EPCOT Viewer) เป็นโมเดล 11 รุ่นพิเศษ ผลิตและจำหน่ายโดย EPCOT ขายในช่วงเปิดตัว วอล์ทดิสนีย์เวิร์ล ฟลอริด้า บอดี้กล้องสีเงิน [39]

โมเดล 12

[แก้]

พ.ศ. 2519-2522 (1976-1978)

European Lighted Viewer

เป็นรุ่นที่พัฒนาต่อจากโมเดล เค แต่ฝาหลังตัดตรงปิดทึบไม่ตีโป่ง มีโลโก้ กาฟ ใช้แสงจากหลอดไฟใส่ถ่านหรือเสียบไฟจากอแดปเตอร์ ปุ่มกดเปิด-ปิดไฟอยู่ทางซ้ายมือ ผลิตจำนวนน้อยในเบลเยี่ยมเท่านั้น สีมาตรฐานคือ สีเทาปุ่มกดดำ, สีแดงปุ่มกดขาว และสีน้ำเงินปุ่มกดดำ [40]

โมเดล แอล (L)

[แก้]
กล้องวิว-มาสเตอร์ โมเดล แอล หลากรุ่น

พ.ศ. 2520-ปัจจุบัน (1977-)

เป็นรุ่นยอดนิยมมาก ผลิตต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน สีที่เป็นสัญลักษณ์ของรุ่นนี้คือสีแดง รุ่นแรกๆ ที่ผลิตโดย กาฟ ปุ่มกดเป็นลูกทรงกลมสีส้ม-ก้านคันสับโลหะ เมื่อกาฟขายวิว-มาสเตอร์ออกไปก็มีการเปลี่ยนวัสดุชิ้นส่วนภายในเป็นพลาสติกเนื้อเดียวกันหมด ตั้งแต่จานประกับแผ่นรีล-ก้านคันสับ-ปุ่มกดรูปวงกลมแบนสีส้ม และอีกจุดสังเกตคือ โลโก้ GAF ตัวนูน ที่มุมบนซ้ายของฝาหลัง (ชิ้นส่วนด้านรับแสง) ก็เปลี่ยนเป็นคำว่า "3D" ตัวนูนแทน

ช่วงยุคโมเดลนี้ วิว-มาสเตอร์ มีการเปลี่ยนบริษัทถือครองถึง 4 บริษัท จาก GAF ไปเป็น VMI (View-Master International Group) แล้วรวมกับ Ideal พ.ศ. 2529(1986) เป็น VM Ideal และปี พ.ศ. 2532(1989) ถูกซื้อกิจการไปโดย Tyco ซึ่งก็ผลิตโมเดลนี้ออกมาตลอด มีรุ่นย่อยมากมาย สารพัดสี สารพัดลาย

ปัจจุบัน ไทโค ควบรวมเป็นแผนกหนึ่งในฟิชเชอร์-ไพร้ซ์ ของ แมทเทล (Mattel ) ก็ยังคงผลิตโมเดลนี้อยู่

โทมี วิวเวอร์ (TOMY Viewer)

[แก้]

พ.ศ. 2525-2528 (1982-1985)

บริษัท โทมี่ ซื้อสิทธิ์จาก VM International ไปผลิตขายในญี่ปุ่น โดยใช้รุ่น แอล มาตรฐานสีแดง-ก้านพลาสติกสีส้ม และ กล้องสีดำ ก้านสีแดง มีโลโก้ Tomy ปัมป์นูนบนตัวกล้อง บรรจุแพ็คขายเป็นเซ็ท พร้อมรีลสามแผ่น [41]

  • ภาษาญี่ปุ่นออกเสียง วิว-มาสเตอร์ ว่า บิว มาสุต้า

ติดตราแบรนด์บริษัทอื่นๆ (Branded)

[แก้]

มีการใช้กล้องวิวมาสเตอร์สกรีนโลโก้บริษัทอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการขาย บางครั้งผลิตเป็นชุดของขวัญพร้อมแผ่นรีล เช่น คิตตี้, อีเบย์, ไอ้แมงมุม, บาร์บี้ ฯลฯ [42]

ชุดครบรอบ 65 ปี

[แก้]

พ.ศ. 2547 (2004)

ออกชุดเซ็ทเนื่องในโอกาสครบรอบ 65 ปี (65th Anniversary Collection Set) แพ็คเกจใหญ่โตโอฬาร ตัวกล้องใช้โมเดลแอล(L)สีแดงโครเมี่ยม ปุ่มกลมแบนสีน้ำเงิน (เป็นพลาสติกเนื้อเดียวกับก้านคันสับและจานประกับรีล) มาพร้อมกับแผ่นรีล 8 แผ่น รวมภาพเหตุการณ์สำคัญๆ ในแต่ละทศวรรษ ผลิตโดย ฟิชเชอร์-ไพร้ซ (แม็ทเทล) เม็กซิโก[43]

เฟซ วิวเวอร์ (Face Viewer)

[แก้]

ทำเฉพาะส่วนใบหน้าตัวคาแร็คเตอร์ ติดประกอบทับบอดี้ฝาหลัง (ชิ้นส่วนรับแสง)[44]

  • ฮัลค์ (Hulk) พ.ศ. 2523 (1980) ใบหน้าสีเขียวทำจากพลาสติกแว็คคั่มขึ้นรูปโค้ง น้ำหนักเบา มียางยืดสำหรับคล้องศีรษะเหมือนใส่หน้ากาก ใช้กล้องโมเดล เจ(J) สีแดง โลโก้กาฟ ขายเป็นชุดเซ็ทพร้อมแผ่นรีล 3 แผ่น
  • มิกกี้เม้าส์ พ.ศ. 2532-2539 (1989-1996) Mickey Look Viewer[45]
    • รุ่นที่ผลิตในอเมริกา ใช้กล้อง โมเดล แอล(L) สีแดง มิกกี้เม้าส์ใส่แว่นสี่เหลี่ยมเส้นกรอบโค้ง ที่หลังใบหูขวาของมิกกี้เม้าส์ มีตัวอักษรนูนระบุว่า 1989 View Master ideal group inc, a Subsidiary of Tyco toys inc., Made in China[46]
    • รุ่นที่ผลิตในยุโรป ใช้กล้องโมเดล เจ(J) (โมเดล 10) สีแดง มิกกี้เม้าส์ใส่แว่นสี่เหลี่ยมเส้นกรอบตรง และแว่นใหญ่กว่า
  • บิ๊กเบิร์ด (1989) นกยักษ์ขนสีเหลือง ใส่แว่นรูปหัวใจสีชมพู จากรายการเซซามี สตรีท ตัวกล้องใช้โมเดล แอล(L) สีน้ำเงิน ผลิตโดย ไทโค เฉพาะในอเมริกาเท่านั้น
  • ผีน้อยแคสเปอร์ พ.ศ. 2536-7 (1993-94) ใบหน้าแคสเปอร์สีขาวทำจากพลาสติกแวคคั่มขึ้นรูปโค้ง ผิวค่อนข้างบาง ติดกับกล้องโมเดล แอล(L) สีม่วง พร้อมรีล 3 แผ่นใช้โปรโมทภาพยนตร์Casper the Friendly Ghost, 1995 (แคสเปอร์ผีน้อยผู้น่ารัก) ผลิตโดย ไทโค
  • แบ็ทแมน พ.ศ. 2538 (1995) มนุษย์ค้างคาว ดวงตาของแบ็ทแมนเป็นช่องรับแสง ทำเพื่อโปรโมทภาพยนตร์ Batman Forever 1995 ใช้กล้องโมเดล แอล(L) สีดำ พร้อมรีล 3 แผ่น ผลิตโดย ไทโค
  • พาวเวอร์ เรนเจอร์ (Mighty Morphin Power Rangers Viewer) (1995-96) กรอบตาของเรนเจอร์เร้ด วางตำแหน่งเดียวกับช่องรับแสง ดูสวยงามลงตัว ใช้กล้องโมเดล แอล(L) ผลิตโดย ไทโค
  • นกทวิตตี้ (Tweety) พ.ศ. 2538 (1995) สีเหลืองสดใส่แว่นตาสีแดง ผลิตเพื่อขายในสวนสนุก ซิกส์แฟล็กสธีมพาร์ค (Six Flags Theme Parks) และในเครือเท่านั้น มีจำนวนน้อย ไม่ได้วางจำหน่ายทั่วไป หายากมาก ตัวกล้องใช้โมเดล แอล(L) สีแดง ของ ไทโค

กาฟ ทอล์คกิ้ง 1984 (Talking II)

[แก้]

พ.ศ. 2527(1984) ผลิตโดย กาฟ

ชื่อรุ่นยังคงใช้คำว่า ทอล์คกิ้ง แต่ปรับปรุงระบบใหม่ไม่เหมือนรุ่นแรก แผ่นรีลภาพและแผ่นเสียงวางเรียงกันแนวดิ่งบนแผ่นคาร์ทริดจ์ เสียงออกทางลำโพงในตัว หรือเสียบหูฟัง ปรับความดังของเสียงได้ ระบบการใช้งานดีขึ้น แต่ก็มีเสียง "บี๊บ" เตือนบ่อยครั้งจนกลายเป็นรบกวน ตัวเครื่องสีขาว ปุ่มกดสีแดง ใช้ไฟ 6V ได้ทั้งจากถ่าน หรือหม้อแปลง [47]

โมเดล เอ็ม (M)

[แก้]
วิว-มาสเตอร์ โมเดล เอ็ม (M) เป็นรุ่นเดียวที่ใช้ระบบเปลี่ยนภาพด้วยการกดปุ่มสีเหลือง ฝาหลังใสมองเห็นแผ่นรีล และกลไกภายใน

พ.ศ. 2529-2533 (1986-1990)

รุ่นหน้ากากดำน้ำ เป็นรุ่นเดียวของวิวมาสเตอร์ ที่ใช้การเลื่อนเปลี่ยนภาพ ด้วยระบบปุ่มกดสีเหลือง (push-button) บอดี้ฝาหลังใส(ฝ้านิดๆ) เห็นกลไกการหมุนแผ่น และใช้ช่วยกระจายแสงเข้า บอดี้ฝาหน้ามี 2 รุ่นคือสีแดง กับรุ่นสีฟ้า ผิวฝาหน้าสลักอักษรเป็นร่องว่าออกแบบโดย Design Logic ส่วนชื่อนักประดิษฐ์บนสิทธิบัตรคือ Martin Thaler, Alan G. Lewis, David M. Gresham [48] ผลิตโดย View-Master Ideal Group

โมเดล เอ็น (N)

[แก้]
วิว-มาสเตอร์ โมเดล เอ็น(N) สีส้มสด คล้ายฟักทอง หรือหัวกระโหลก 1991 View-Master Ideal Group Inc., a subsidiary of Tyco industries, inc., Made in China

พ.ศ. 2535-2541 (1992-1998)

รุ่นฟักทอง เป็นรุ่นเดียวที่รับแสงได้ 2 ระบบ คือส่องดูกับแหล่งกำเนิดแสงภายนอกแบบปกติ หรือใช้แหล่งกำเนิดแสงจากหลอดไฟใส่ถ่านในตัวกล้อง สีหลักคือ สีส้มแดง ผลิตโดย ไทโค ทอย

ไทโค มินิ (Tyco Mini)

[แก้]

กล้องวิวมาสเตอร์มินิรุ่นนี้เป็นของแถมเมื่อซื้อ แม็คโดนัลด์ แฮปปี้มีล ในบราซิล มาพร้อมกับรีล 1 แผ่น บรรจุในถุงพลาสติก มี 4 สีให้เลือก เนื่องจากเป็นเพียงของแถมสำหรับเด็ก คุณภาพการผลิตจึงค่อนข้างต่ำ การประกอบ-ให้วางแผ่นรีล บนชิ้นส่วนที่เป็นแผ่นฝาจุก แล้วยึดประกบกับตัวกล้อง การเลื่อนภาพ-กดไปบ้างไม่ไปบ้าง, ต่อมามีการผลิตโมเดลนี้เพื่อโปรโมทภาพยนตร์ Toy Story พ.ศ. 2538(1995) ในออสเตรเลีย [49]

ไทโค ทอล์คกิ้ง 1997 (Talking III)

[แก้]

(Digital Talking View-Master 3D Viewer) พ.ศ. 2540(1997)

ผลิตโดยไทโค (แมทเทล) ใช้ชื่อว่า ทอล์คกิ้ง เป็นรุ่นที่สาม แต่ระบบไม่เหมือนกับสองรุ่นแรก เพราะมีไมโครชิปที่ฝังในกล้องเพื่อเล่นไฟล์เสียงแบบดิจิตอลแท้ ต้องใช้กับตลับคาร์ทริดจ์ทำขึ้นเฉพาะ ดูภาพสามมิติได้ 16 ภาพ (กล้องรุ่นนี้ไม่สามารถเล่นแผ่นรีลแบบปกติ) ใส่ถ่าน AA 3 ก้อน ตัวเครื่องทรงแนวนอนสีแดง-ขาว-ดำ รับแสงจากด้านบน รุ่นนี้มักผลิตเพื่อโปรโมทแอนิเมชันหรือภาพยนตร์ เช่น แบทแมน (The Adventures of Batman & Robin 1993) พ.ศ. 2536[50], จูราสสิค พาร์ค 3 เดอะ ลอสต์ เวิลด์ พ.ศ. 2544(2001) [51] (ดูภาพกล่องด้านหน้า-หลัง[52]) ด้านหน้าแพ็คพิมพ์ Tyco ส่วนด้านหลังพิมพ์ Mattel

เวอร์ชวล วิวเวอร์ (Virtual Viewer)

[แก้]
วิว-มาสเตอร์ รุ่นเวอร์ชวลวิวเวอร์ สีชมพูใส ผลิตในเม็กซิโก Mattel 1998
เวอร์ชวล วิวเวอร์ สีชมพูใส มองจากด้านบน

พ.ศ. 2541-ปัจจุบัน (1998-)

บอดี้ทรงลูกรักบี้ แผ่นรับแสงรูปรีผิวฝ้าขุ่น ตีโป่งโค้งเป็นชิ้นเดียว เลนส์ตาเพิ่มกำลังขยายสูง มองเห็นภาพใหญ่กว่าทุกรุ่น แต่ก็มีปัญหาเรื่องคุณภาพของเลนส์ที่ให้ภาพผิดเพี้ยน และมีสีเหลือบฟ้าตามขอบ ถูกนำไปจัดชุดส่งเสริมการขายติดแบรนด์อื่นมากมาย ตัวกล้องมีสีหลากหลาย และแบบ สีใส (see-through) อีก 4 สี (ในภาพตัวอย่างเป็นสีชมพูใส) ผลิตโดย ฟิชเชอร์-ไพรซ์ (Fisher-Price) ชิ้นฝาหน้าตรงร่องจมูกมีตัวนูน แมทเทล 1998 ผลิตใน เม็กซิโก

กล้องส่องทางไกล/ดูภาพสามมิติ

[แก้]

Convertible binocular/stereoscope พ.ศ. 2541-2543 (1998-2000)

ด้วยการหมุนสวิชทางซ้ายมือเพื่อพับ-ยกกระจกเงา ก็จะเลือกใช้เป็นกล้องดูภาพสามมิติ หรือกล้องส่องทางไกลแบบสองตา คุณภาพเลนส์ส่องทางไกลระดับของเด็กเล่นยังไม่ค่อยคมชัดนัก มีกำลังขยาย 4 เท่า เส้นผ่านศูนย์กลางของเลนส์วัตถุขนาด 12 มิลลิเมตร (4X12, 104.5 ม. @ 1000 ม.) ปรับเลื่อนความห่างของเลนส์ตาได้, แผ่นรีลวางตัวแนวนอนอยู่ทางด้านบน ฝาครอบเป็นแบบใส และพิมพ์ลายเส้นรูปแผนที่โลก ทำผิวบางส่วนฝ้าเพื่อช่วยกระเจิงแสงตรงช่องรับแสง การใส่แผ่นรีลต้องสอดเข้าจากด้านใกล้ตัว และหงายคำบรรยายภาพขึ้น แสงจากด้านบนจะสะท้อนกระจกเงามาที่เลนส์ตาอีกที ออกแบบโดย Jeffrey J. Miller, Peter F. Reile, Stephen D. Fantone[53] มีหลายสี และมักขายเป็นชุดเซ็ตพร้อมแผ่นรีลร่วมกับสินค้าอื่น เช่น ภาพยนตร์ ทอย สตอรี่ ภาค 3 (Toy Story 3) หรือเป็นแผ่นสารคดีร่วมกับ ดิสคัฟเวอรี่ แชนแนล ใช้ชื่อบนแพ็คเกจว่า Discovery Channel View-Master Binocular Viewer ผลิตโดยฟิชเชอร์-ไพร้ซ์

กล้องจุลทรรศน์/ดูภาพสามมิติ

[แก้]

Discovery Kids Microscope & 3D Viewer Kit

ดิสคัฟเวอรี่แชนแนล ออกชุดคิทรุ่นพิเศษ เป็นกล้องจุลทรรศน์ และสลับเป็นกล้องดูภาพสามมิติวิว-มาสเตอร์ รูปลักษณ์คล้าย VM รุ่นกล้องส่องทางไกลแล้วต่อขาวางจานใส่สิ่งของ กับตัวหมุนปรับระดับความสูงเลื่อนขึ้น-ลง บอดี้สีเขียวอ่อน-เหลือง-ม่วง เลนส์คุณภาพไม่ดีนัก กำลังขยาย 5X [54] เน้นให้เด็กเล็กคุ้นเคยกับการใช้กล้องจุลทรรศน์ ส่องแมลงตัวเล็ก หรือผีเสื้อ ชุดคิทมาพร้อมแผ่นรีล Bug Micro-Adventure 3 แผ่น ผลิตโดย ฟิชเชอร์-ไพร้ซ์ [55]

โมเดล โอ (O) ฮอไรซันทอล วิวเวอร์

[แก้]

(Horizontal Viewer) พ.ศ. 2545-ปัจจุบัน (2002-)

รูปร่างเหมือนกล้องส่องทางไกลแบบสองตา ออกแบบให้แผ่นรีลวางแนวนอนด้านบน ช่องสอดแผ่นรีลอยู่ด้านไกลตัว (ทิศตรงข้ามกับรุ่น กล้องส่องทางไกล/ดูภาพสามมิติ) และหงายคำบรรยายขึ้น แสงเข้าทางด้านบนแล้วจะสะท้อนกับกระจกหักมุมมาสู่เลนส์ตา ช่วยให้ภาพสว่างชัดเจนดี กดเปลี่ยนภาพด้วยนิ้วโป้งมือขวา มีกลไกทดเฟืองคันสับ ช่วยให้ระยะกดเลื่อนภาพสั้นลง

โมเดล โอ รุ่นแรกๆ จะมีถ้วยครอบตา (ฮู้ด) เป็นยางนิ่มๆ สีดำอีกชิ้น แต่รุ่นย่อยถัดมาก็ตัดออกแล้วเพิ่มตะขอแขวน (Hang clip) เพื่อแขวนโชว์ ณ จุดขาย (ประหยัดค่าทำแพ็คเกจกระดาษ) มีสารพัดสีสัน และมักจัดขายเป็นกิฟต์เซ็ท พร้อมแผ่นรีล ผลิตโดยฟิชเชอร์-ไพร้ซ์

ซุปเปอร์ ซาวด์ (Super Sounds)

[แก้]

พ.ศ. 2548 (2005, 2014)

คล้ายโมเดลโอ วางแผ่นรีลแนวนอนด้านบนเหมือนกัน แต่เพิ่มชิป (chip)เสียงฝังไว้ในตัวกล้องสีเงิน สล็อตสำหรับเสียบตลับคาร์ทริดจ์เสียง(และแผ่นรีล)อยู่ทางด้านไกลตัว ตลับเสียงออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งติดอยู่กับตลับเก็บรีล เสียงออกทางลำโพงสีส้มตัวเดียวทางซ้ายสัมพันธ์กับการกดเลื่อนรีลแต่ละภาพ มีปุ่มสีส้มกดเพื่อเล่นไฟล์เสียงซ้ำ มีสวิชเลื่อนเพื่อปิด-เปิด-เพิ่มความดังเสียงอยู่ด้านข้าง รุ่นนี้จะแถมแผ่นตัวอย่างมาให้ 1 แผ่น ถ่าน AAA 2 ก้อน พร้อมฝังไฟล์เสียงตัวอย่างไว้ในกล้องเลย ผลิตโดยฟิชเชอร์-ไพร้ซ์

Learning 3D Viewer with Sounds

[แก้]

พ.ศ. 2550 (2007)

รุ่นเฉพาะของ ดิสคัฟเวอรี่ แชนแนล (Discovery Channel) ตัวเครื่องเป็นทรงแนวตั้งสีม่วง ใช้ตลับเสียงเหมือนกับซุปเปอร์ ซาวด์ แต่เสียบแนวดิ่งด้านบน แผ่นรีลก็เสียบด้านบน(คล้ายรุ่นมาตรฐานทั่วไป) ผิวฝาหลังผิวกึ่งฝ้ากึ่งใส มีลายเส้นแผนที่โลก พร้อมโลโก้ Discovery Channel ปุ่มคันสับเลื่อนภาพสีเขียวอ่อน ปุ่มกดฟังเสียงซ้ำสีส้ม โดยฟิชเชอร์-ไพร้ซ์ (ฝาหน้ากล้อง มีตัวนูน คำว่า แมทเทล 2007 ผลิตในจีน) [56]

ไอแม็กซ์ เอ๊กซพีเรียนซ์ พ้อคเก็ต

[แก้]

(IMAX Experience Pocket Viewer)

ตัวกล้องจับถือดูแนวนอน ขนาดเล็กกระทัดรัด ภายในมีภาพสามมิติ 18 ภาพ ผลิตโดย ฟิชเชอร์-ไพรซ์ (Fisher-Price)

แฮรี่ พอตเตอร์ (Harry Potter)

[แก้]

พ.ศ. 2544 (2001)

ทำเฉพาะเพื่อโปรโมตภาพยนตร์แฮรี่ พอตเตอร์ ภาคแรก ไม่ได้ใช้รีลวงกลม แต่ใช้เปลี่ยนการ์ดภาพทีละแผ่น การ์ดมีทั้งหมดประมาณ 60 ใบ (ปัจจุบันก็ยังออกไม่ครบ) ด้านหลังของการ์ดเมื่อนำมาวางเรียงเข้าด้วยกันจะได้รูปภาพขนาดใหญ่ ผลิตโดย ฟิชเชอร์-ไพรซ์ (Fisher-Price)

เวอร์ชวล รีอาลลิตี้ (Virtual Reality 2015)

[แก้]

พ.ศ. 2558-ปัจจุบัน

กล้องดู สภาพสามมิติรอบตัวเสมือนจริง ต้องใช้ร่วมกับ สมาร์ตโฟน ที่มีกล้องหน้า, เซนเซอร์ตรวจจับการหมุนการเอียง และติดตั้ง app

กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558(2015) แมทเทล ประกาศความร่วมมือกับ กูเกิล (Google) ทำผลิตภัณฑ์ View-Master Viewer DLX โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเวอร์ชวลรีอาลลิตี้ ของกูเกิ้ลการ์ดบอร์ด (Google Cardboard VR) ดูภาพเคลื่อนไหวสามมิติบนสมาร์ตโฟน และส่องดูแอนิเมชันแบบอ๊อกเมนเต็ดรีอาลริตี้ โดยใช้กล้องส่องไปที่แผ่นพรีวิวรีล วางจำหน่ายช่วงปลายปี พ.ศ. 2558

ปลายปี พ.ศ. 2559(2016) กำลังจะวางจำหน่าย Mattel View-Master VR 2.0 ปรับปรุงจากรุ่นแรก ให้รองรับสมาร์ตโฟนขนาดเล็กได้เพิ่มขึ้น ปรับระยะสายตาได้ เสียบหูฟังได้ ฯลฯ

โปรเจกต์เตอร์ (Projectors)

[แก้]

เครื่องฉายสไลด์ออกจอภายนอก

[แก้]
เครื่องฉายสไลด์ รุ่นสแตนดาร์ด

เครื่องฉายสไลด์โดย ซอว์เยอร์ส และ กาฟ

[แก้]

เครื่องฉายสไลด์ของวิว-มาสเตอร์ ใส่แผ่นรีลวงกลมฉายภาพเข้าผนัง โดยเป็นภาพ 2 มิติเท่านั้น มีเพียงรุ่นเดียวที่สามารถฉายภาพ 3 มิติ คือ Stereo-matic 500 3-D Projector ผลิตโดย ซอว์เยอร์ส กับ กาฟ จำหน่ายยาวนานกว่า 10 ปี [57]

เครื่องฉายสไลด์ วิว-มาสเตอร์ สเตอริโอเมติก 500 รุ่นนี้รุ่นเดียวที่ฉายภาพ 3 มิติ จากแผ่นรีล

เป็นโปรเจกต์เตอร์รุ่นเดียวที่ฉายภาพสามมิติ โดยต้องฉายบน ฉากรับภาพผิวเมตัลลิคทำขึ้นพิเศษ และต้องสวมแว่นตาแบบโพลาไรซ์พิเศษ

  • Sawyers De Luxe Projector
  • GAF View-Master Standard Projector - 30 Watt
  • GAF View-Master Deluxe 100-Watt Projector
  • GAF View-Master Custom 300-Watt Projector
  • GAF Talking ViewMaster Projector

ออกในช่วงทศวรรษ ~1970 ตัวเครื่องสีเขียวสด ใช้เล่นแผ่น ทอล์คกิ้ง (Talking I) [58]

ไทโค โชว์บีม

[แก้]

(Tyco Show Beam Cartoon Projector 1990)

รูปร่างเหมือนกระบอกไฟฉาย ต้องใช้ตลับฟิล์มภาพยนตร์ทำขึ้นเฉพาะ มีสีแดง-ดำ, เหลือง-ฟ้า, สีแสด ชื่อนักประดิษฐ์บนสิทธิบัตรคือ Vitolds Laizans, John J. Richardson[59]

ไทโค ซุเปอร์-โชว์

[แก้]

(Tyco Super-Show Battery Projector) ผลิตในปี พ.ศ. 2535-2538(1992-1995)

รูปร่างเหมือนกระบอกไฟฉาย สีฟ้า-เหลือง ใส่แผ่นรีลวิวมาสเตอร์มาตรฐาน ภาพไม่เป็น 3 มิติ, หมุนปรับโฟกัสที่ปลายกระบอก ใส่ถ่านขนาด "D" 2 ก้อน ถ้าเป็นห้องมืดฉายภาพใหญ่ 25x25 ซม. ก็ยังดูชัด

มี บอดี้สีน้ำเงิน ปุ่มเลื่อนภาพสีเหลือง, บอดี้สีฟ้า ปุ่มเลื่อนภาพสีเหลือง และ บอดี้สีม่วง ปุ่มเลื่อนภาพสีขาว พ.ศ. 2538(1995)

Show & Tell Projector (1998-2003)

[แก้]

หน้าตาเหมือนเตารีดรีดผ้า รุ่นบอดี้สีน้ำเงิน ปุ่มเลื่อนสไลด์สีแดง ปีพ.ศ. 2541(1998) ผลิตในเม็กซิโก พิมพ์อักษร แมทเทล, บอดี้สีฟ้า ปุ่มเลื่อนสไลด์สีส้ม ปีพ.ศ. 2546(2003)

  • Show & Tell Projector with remote control ปี 2003 (ดูคู่มือการใช้งาน[60]) ผลิตโดยฟิชเชอร์-ไพร้ซ์

Telescope and Lighted Projector 1999

[แก้]

ร่วมกับ ดิสคัฟเวอรี่แชนแนล ทำกล้องดูดาวแบบตาเดียว (ลำกล้องยาว 15 นิ้ว) สีเหลือง และใช้ฉายสไลด์ได้ด้วย ใส่ถ่านไซส์ C 4 ก้อน (ภาพไม่สามมิติ)

Discovery Learning projector with sounds

[แก้]

ปี พ.ศ. 2548(2005) จากเทคโนโลยีชิปเสียง ซุปเปอร์ซาวด์ ถูกนำมาใส่ในโปรเจกต์เตอร์ รุ่นนี้ใช้แผ่นรีลร่วมกับตลับคาร์ทริดจ์เสียง เลิร์นนิ่งซาวด์ (Learning Sounds) หรือ ซุปเปอร์ซาวด์ (Super Sounds) จึงจะมีเสียงเอฟเฟค หรือคำบรรยายประกอบภาพ (ภาพไม่สามมิติ), ตัวกระบอกเลนส์ฉายภาพมีลักษณะเป็นลูกทรงกลม หมุนได้หลายทิศทาง ปรับโฟกัสได้ ฉายภาพขึ้นบนเพดานก็ได้, ช่องใส่ถ่าน AA สี่ก้อน อยู่ใต้ล่าง ต้องใช้ไขควงไข [61] โปรเจกต์เตอร์รุ่นนี้สีม่วง-ฟ้า-เหลือง-เงิน เป็นการร่วมกับ ดิสคัฟเวอรี่ ผลิตสื่อภาพ-เสียงแนวสารคดี มีแผ่นตัวอย่างหนึ่งแผ่นมาในชุดแพ็คเกจ พร้อมมีไฟล์เสียงฝังอยู่ในตัวโดยไม่ต้องเสียบตลับคาร์ทริดจ์เสียง ผลิตโดย ฟิชเชอร์-ไพร้ซ์

  • Super Sounds FX Talking View-Master Projector with Remote Control

มีรีโมทคอนโทรล เครื่องสีส้ม-แดง-ม่วง-เงิน [62] ผลิตโดย ฟิชเชอร์-ไพร้ซ์

เครื่องฉายสไลด์ออกจอหลัง

[แก้]

ช่วงต้นทศวรรษ 1970 (~พ.ศ. 2513)

  • เครื่องฉายสไลด์ภาพออกจอหลัง (GAF Rear Screen Projector) ภาพที่ฉายออกจอเป็นเพียงภาพสองมิติ ตัวเครื่องเป็นแบบตั้งโต๊ะ [63] ผลิตโดย GAF

กล้องถ่ายรูปวิว-มาสเตอร์

[แก้]
กล้องถ่ายรูป 3 มิติ วิว-มาสเตอร์ เพอซันนอล สเตอริโอ

เป็นกล้องถ่ายรูประบบสามมิติ (Stereo Camera) เมื่อกดชัตเตอร์จะได้ภาพสองภาพ มีเลนส์รับภาพ2ชุด บันทึกลงฟิล์มสไลด์35 สำหรับคนที่ต้องการถ่ายทำภาพสามมิติด้วยตัวเอง ซอว์เยอร์สจ้าง Stereocraft Engineering Co. ผลิต มีเพียงสองรุ่น

วิว-มาสเตอร์ เพอซันนอล สเตอริโอ

[แก้]

(View-Master Personal Stereo Camera)[64] พ.ศ. 2495 (1952)

วิว-มาสเตอร์ มาร์ค ทู

[แก้]

(VM MKII camera) พ.ศ. 2505 (1962) ใช้เลนส์ของ โรเด็นสต็อก (Rodenstock Trinar 1:2.8/20mm)[65]

ซอว์เยอร์ส ฟิล์ม คัตเตอร์

[แก้]

ใช้สำหรับตัดฟิล์ม พร้อมคู่มือวิธีการสอดแผ่นสไลด์เข้าไปในรีล [66]

กล้องดูภาพเคลื่อนไหว (Movie Viewer)

[แก้]

GAF Movie Viewer

[แก้]

(Double-Vue Movie Player) ตัวเครื่องสีฟ้า พิมพ์คำว่า GAF View-master Movie Viewer ใส่ถ่าน AA หนึ่งก้อน, เล่นฟิล์มภาพเคลื่อนไหวหนังใบ้ไม่มีเสียง ด้วยการเสียบ คาร์ทริดจ์-ตลับฟิล์ม (cartridge) ตลับนึงมีสองด้าน ด้านละเรื่อง [67] ชื่อนักประดิษฐ์บนสิทธิบัตรคือ Alan G. Lewis[68] บนแพ็คเกจเวอร์ชันฝรั่งเศส มีพิมพ์คำว่า CineMaster

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • หนังสือ ของเล่น กับ ความทรงจำ Toys & Memories โดย ประยูร สงวนไทร

พิมพ์ครั้งที่ 2 – กันยา 2552 ISBN 978-616-508-008-8 สำนักพิมพ์ แสงดาว

  • หนังสือ "หยิบของเล่นมาเล่าเรื่อง" Yes'... Toys Story โดย มด ไวตามิลค์ / จุติ จันทร์คณา
  1. ภาพจำลองรถเร่วิว-มาสเตอร์ในอดีต จากภาพยนตร์ ตุ๊กแกรักแป้งมาก
  2. หนังสือ ของเล่น กับ ความทรงจำ Toys & Memories โดย ประยูร สงวนไทร พิมพ์ครั้งที่ 2 – กันยา 2552 ISBN 978-616-508-008-8 สำนักพิมพ์ แสงดาว
  3. หนังสือ "หยิบของเล่นมาเล่าเรื่อง" Yes'... Toys Story โดย มด ไวตามิลค์ / จุติ จันทร์คณา
  4. facebook Gretchen Harmon
  5. Looking Back: 75 Years of The View-Master[ลิงก์เสีย]
  6. facebook Gretchen Harmon ลูกสาวของกรูเบอร์
  7. The History of View-Master - September 20th, 2006 Mary Ann & Wolfgang Sell
  8. VIEW-MASTER HISTORICAL MARKER: OREGON INVENTORS OF THE 3D VIEWER HONORED
  9. กล้องถ่ายรูป Kodak’s Bantam Specials
  10. ประวัติคร่าวๆ viewmaster.co.uk
  11. เครื่องประกอบแผ่นรีล ระบบปัมป์ลม
  12. สิทธิบัตรกล้องดูภาพสามมิติ US2189285
  13. The Bassett Collection: Atlas of Human Anatomy
  14. The New York Times: An Atlas of the Human Body
  15. "Stereo Viewer Executive Victim of Heart Attack". The Oregonian. Portland, Oregon. April 11, 1956. p. 23.
  16. SUCCESS STORY - EPISODE: SAWYER VIEWMASTER FACTORY
  17. ภาพป้ายหินอนุสรณ์ (memorial plaque) จากเว็บ phsc.ca
  18. in 1984 the acquired the Ideal Toy Company and became known as View-Master Ideal Group.
  19. Viewmaster International bought Ideal from CBS in 1985 and changed its name to View-Master Ideal
  20. Reuters. "COMPANY NEWS; Tyco to Acquire View-Master Ideal," New York Times (May 24, 1989).
  21. Viewers รูปกล้องวิวมาสเตอร์ โปรโตไทป์ - โมเดล โอ(O)
  22. รูปกล้องวิวมาสเตอร์ ทุกรุ่น
  23. "View-Master Viewers โมเดล A - โมเดล 12". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-22. สืบค้นเมื่อ 2016-07-16.
  24. สิทธิบัตร โมเดล ซี (C) Gruber
  25. สิทธิบัตรอุปกรณ์เสริม กล่องไฟ
  26. Sawyers View-Master Compact Viewer
  27. สิทธิบัตร Folded plastic stereoscopic viewer
  28. [https://www.facebook.com/miniviewer/posts/1936503939771525 ชาร์ลส แฮริสัน (Charles Harrison) ผู้ออกแบบ วิว-มาสเตอร์โมเดล G เสียชีวิต 29 พ ย. 2561]
  29. Model G สีฟ้า คันสับพลาสติกสีส้ม โดย VM international Group
  30. วิวมาสเตอร์ โมเดล เฮช(H) สีน้ำตาล โลโก้ ซอว์เยอร์ส
  31. "รูปทอล์คกิ้ง และการใช้งาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-12. สืบค้นเมื่อ 2016-08-13.
  32. คู่มือกล้อง ทอล์คกิ้ง วิว-มาสเตอร์ 3 รุ่นย่อย 1974
  33. ภาพภายใน ทอล์คกิ้งวิวมาส-เตอร์ รุ่นใช้หลอดไฟ
  34. รูปกล้อง Talking View-Master
  35. GAF COMPACT FOLDING VIEWER
  36. สิทธิบัตร Collapsible plastic stereoscopic viewer ของ Sawyer's
  37. บันทึกของ ทิม มัวร์ (Tim Moore) พนักงานบริษัท GAF
  38. วิวมาสเตอร์ โมเดล เจ(J) โดย กาฟ และ VMI
  39. ดูรูปกล้อง โมเดล 11 EPCOT
  40. ดูรูปกล้องโมเดล 12 สีเทา และวิธีการถอดฝาครอบถ่าน
  41. "ภาพ Tomy Viewer". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-27. สืบค้นเมื่อ 2016-07-20.
  42. BRANDED VIEW-MASTER
  43. **รีวิว** Unbox กล้อง View-Master รุ่น 65th Anniversary โดย นัทกล้องฟิล์ม
  44. Face Viewers
  45. รูปเฟซวิวเวอร์ มิกกี้เม้าส์ ซ้าย=อเมริกา และ ขวา=ยุโรป
  46. ภาพหลังใบหู เฟซวิวเวอร์ มิกกี้เม้าส์[ลิงก์เสีย]
  47. รูปกล้อง GAF Talking View-Master II และการใช้งาน
  48. สิทธิบัตร โมเดล เอ็ม(M) View-Master Ideal Group Inc.
  49. รูปกล้อง Tyco Mini
  50. Talking View-Master 3 รุ่น
  51. "กล้อง Digital Talking Viewer - Lost World Jurassic Park". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-21. สืบค้นเมื่อ 2016-08-10.
  52. ภาพกล่อง ไทโค ทอล์คกิ้ง วิว-มาสเตอร์[ลิงก์เสีย]
  53. สิทธิบัตรกล้องสองตา/ดูภาพสามมิติ (Convertible binocular/stereoscope device) Fisher-Price
  54. "Microscope & 3D Viewer - Bug box, tools & 3 reel set". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-22. สืบค้นเมื่อ 2016-08-13.
  55. View-master microscope[ลิงก์เสีย]
  56. กล้อง Discovery Learning 3D with Sounds ในแพ็คเกจ
  57. ภาพเครื่องฉายสไลด์ของวิว-มาสเตอร์
  58. เครื่องฉายสไลด์ ทอล์คกิ้ง โปรเจกต์เตอร์
  59. สิทธิบัตร Hand-held transparency projector with simple advance mechanism ของ View-Master International Group, Inc.
  60. คู่มือ Show & Tell Projector with remote control 2003
  61. คู่มือ Learning projector with sounds
  62. "หน้าตา Super Sound View-Master Projector with Remote Control". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-21. สืบค้นเมื่อ 2016-08-10.
  63. คู่มือ GAF Rear Screen Projector
  64. กล้องถ่ายรูปสามมิติ วิว-มาสเตอร์ เพอซันนอล
  65. กล้องถ่ายรูปสามมิติ วิว-มาสเตอร์ มาร์ค ทู[ลิงก์เสีย]
  66. รูปตัวเครื่องฟิล์มคัตเตอร์ และคู่มือการใช้
  67. รูป GAF Movie Viewer
  68. สิทธิบัตร Hand held motion picture viewer, US 4171881 A โดย GAF

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]