แพนด้าแดง
แพนด้าแดง ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: Pleistocene–Present | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอตา Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม Mammalia |
อันดับ: | สัตว์กินเนื้อ Carnivora |
วงศ์: | วงศ์แพนด้าแดง |
สกุล: | Ailurus F. Cuvier, 1825 |
สปีชีส์: | Ailurus fulgens |
ชื่อทวินาม | |
Ailurus fulgens F. Cuvier, 1825 | |
ชนิดย่อย | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ |
แพนด้าแดง (อังกฤษ: Red panda, Shining cat; จีน: 小熊貓; พินอิน: Xiǎo xióngmāo) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ailurus fulgens อยู่ในวงศ์ Ailuridae จัดเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในวงศ์นี้ที่ยังสืบทอดสายพันธุ์อยู่ จึงจัดเป็นซากดึกดำบรรพ์มีชีวิตอยู่ชนิดหนึ่ง[3] และเป็นเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Ailurus[4]
มีรูปร่างหน้าตาคล้ายแรคคูนและกระรอกรวมกัน หัวมีขนาดใหญ่ จมูกแหลม ขาสั้นคล้ายหมี ขนตามลำตัวมีหลากหลาย มีทั้งสีน้ำตาลเข้ม น้ำตาลเหลืองและน้ำตาลแดง ขนบริเวณลำคอยาวและนุ่มฟู หางเป็นพวงยาวคล้ายกับหางของกระรอก มีลายปล้องสีน้ำตาลแดงสลับขาว มีความยาวของลำตัวและหัว 51-64 เซนติเมตร หางยาว 50-63 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 3-4.5 กิโลกรัม
มีการกระจายพันธุ์พบตามแนวเทือกเขาหิมาลัย ตั้งแต่ภาคเหนือของประเทศอินเดีย, ทิเบต, เนปาล, ภูฏาน, จีน, ภาคเหนือของพม่า และภาคเหนือของประเทศลาวบริเวณที่ติดกับจีน โดยอาศัยอยู่ในป่าที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 1,500-4,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล
มีพฤติกรรมออกหากินตามลำพัง มักหากินบนต้นไม้ กินอาหารเพียงไม่กี่ประเภท โดยกินเฉพาะใบไม้อ่อนเท่านั้น บางครั้งอาจกินไข่นก สัตว์ขนาดเล็กและผลไม้บางชนิดด้วย ใช้เวลาตอนกลางวันในการนอนหลับพักผ่อน แพนด้าแดงตัวผู้จะหวงอาณาเขตมากและมักเคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ แต่แพนด้าแดงตัวเมียจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ครอบครองของตัวเอง บางครั้งตัวผู้อาจเข้ามาหากินภายในอาณาเขตของตัวเมียด้วย โดยทั่วไปอาณาเขตของแพนด้าแดงตัวผู้จะกว้างประมาณ 1.1-9.6 ตารางกิโลเมตร ส่วนอาณาเขตของตัวเมียจะกว้างประมาณ 1.0-1.5 ตารางกิโลเมตร ผสมพันธุ์ในช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยตัวเมียจะยอมให้ตัวผู้ผสมพันธุ์อยู่เพียง 1-3 วันเท่านั้น แม่แพนด้าแดงใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 90-145 วัน และจะออกลูกในโพรงไม้หรือถ้ำเล็ก ๆ ออกลูกครั้งละ 4 ตัว ลูกที่เกิดใหม่จะยังมองไม่เห็น มีสีขนตามลำตัวออกสีเหลืองอ่อน และจะกินนมแม่อยู่นาน 5 เดือน หลังจากนั้นจึงหย่านมและเปลี่ยนมากินใบไผ่แทน เมื่ออายุได้ 2 ปี ก็จะแยกออกไปหากินตามลำพัง [5]
มีข้อสังเกตว่า แพนด้าแดงที่อยู่บริเวณภาคเหนือของอินเดียจะมีขนาดเล็กกว่าตัวที่อยู่ค่อนมาทางเอเชียตะวันออก และมีสีที่ใบหน้าซีดจางกว่า ซึ่งเป็นชนิดย่อยที่แยกออกไป
สำหรับในประเทศไทย สวนสัตว์พาต้าเคยนำเข้ามาเลี้ยงในสวนสัตว์ครั้งหนึ่ง โดยให้อยู่ในห้องปรับอากาศ ปัจจุบันมีแสดงที่สวนสัตว์เชียงใหม่ และสวนสัตว์เปิดเขาเขียวเท่านั้น[6][7]
ศัพทมูลวิทยา
[แก้]ชื่อ "แพนด้า" (panda) น่าจะมาจากชื่อท้องถิ่นของแพนด้าแดงในภาษาเนปาลว่า पञ्जा pajā "กรงเล็บ" หรือ पौँजा paũjā "อุ้งเท้า"[8][9] ในภาษาอังกฤษมักเรียกสั้น ๆ ว่า "panda" ต่อมามีชื่อเรียกเป็น "แพนด้าแดง" หรือ "แพนด้าน้อย" เพื่อแยกมันจากแพนด้ายักษ์ที่ได้รับการอธิบายและตั้งชื่ออย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1869[9] ชื่อสกุล Ailurus มาจากศัพท์ภาษากรีกโบราณว่า αἴλουρος (ailouros) หมายถึง "แมว"[10] ส่วนคำแสดงคุณลักษณะ fulgens เป็นศัพท์ภาษาละตินที่แปลว่า "แวววาว, สว่าง"[9][11]
รูปภาพ
[แก้]-
-
แม่แพนด้าแดงกับลูก
-
แพนด้าแดงคู่
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Glatston, A.; Wei, F.; Than Zaw & Sherpa, A. (2017) [errata version of 2015 assessment]. "Ailurus fulgens". IUCN Red List of Threatened Species. 2015: e.T714A110023718. สืบค้นเมื่อ 15 January 2022.
- ↑ Thomas, O. (1902). "On the Panda of Sze-chuen". Annals and Magazine of Natural History. 7. X (57): 251–252. doi:10.1080/00222930208678667.
- ↑ Red Panda
- ↑ ITIS
- ↑ หน้า 62-63, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน (กรุงเทพมหานคร, พ.ศ. 2543) โดย กองทุนสัตว์ป่าโลก ISBN 974-87081-5-2
- ↑ "7 มหัศจรรย์เขาดิน" แพนด้าแดง-เก้งเผือก ตัวชูโรง จากผู้จัดการออนไลน์[ลิงก์เสีย]
- ↑ "เรื่องเล่าเช้านี้". ช่อง 3. 26 December 2014. สืบค้นเมื่อ 26 December 2014.
- ↑ Turner, R. L. (1931). पञ्जा. A Comparative and Etymological Dictionary of the Nepali Language. London: K. Paul, Trench, Trübner. p. 359. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 January 2022. สืบค้นเมื่อ 27 January 2022.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 Glatston, A. R. (2021). "Introduction". ใน Glatston, A. R. (บ.ก.). Red Panda: Biology and Conservation of the First Panda (Second ed.). London: Academic Press. pp. xix–xxix. ISBN 978-0-12-823753-3.
- ↑ Liddell, H. G. & Scott, R. (1940). "αἴλουρος". A Greek-English Lexicon (Revised and augmented ed.). Oxford: Clarendon Press. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 February 2021. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ Lewis, C. T. A. & Short, C. (1879). "fulgens". Latin Dictionary (Revised, enlarged, and in great part rewritten ed.). Oxford: Clarendon Press. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 February 2021. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เครือข่ายแพนด้าแดง – a non-profit organization committed to the conservation of wild red pandas