ข้ามไปเนื้อหา

สโมสรฟุตบอลยูเวนตุส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยูเวนตุส
ชื่อเต็มJuventus Football Club
ฉายาLa Vecchia Signora (หญิงชรา)
La Fidanzata d'Italia (แฟนสาวแห่งอิตาลี)
Bianconeri (ขาว-ดำ)
Juve
Le Zebre (ม้าลาย)
ก่อตั้ง1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1897
สนามสนามกีฬายูเวนตุส
ความจุ42,000
ประธานอันเดรอา อันเจลนี
ผู้จัดการตีอาโก มอตตา
ลีกเซเรียอา
2023–24อันดับที่ 3
เว็บไซต์เว็บไซต์สโมสร
สีชุดทีมเยือน
สีชุดที่สาม
ฤดูกาลปัจจุบัน

สโมสรฟุตบอลยูเวนตุส (อิตาลี: Juventus Football Club) หรือที่เรียกอย่างย่อว่า "ยูเว (Juve)" เป็นทีมฟุตบอลอาชีพของประเทศอิตาลี ปัจจุบันเล่นอยู่ในเซเรียอาลีกสูงสุดของฟุตบอลอิตาลี สโมสรก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1897 โดยกลุ่มนักเรียนในเมืองตูริน และสโมสรใช้ชุดแข่งสีขาวและสีดำเป็นหลักมาตั้งแต่ ค.ศ. 1903 ยูเวนตุสเคยใช้สนามเหย้ามาหลายแห่งตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร สนามปัจจุบันคือสนามกีฬายูเวนตุส มีความจุ 41,507 ที่นั่ง

สโมสรมีชื่อเรียกในภาษาอิตาลีว่า "la Vecchia Signora" หมายถึง "หญิงชรา" ถือเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในอิตาลี โดยชนะเลิศลีกลีกสูงสุด 36 สมัย, โกปปาอีตาเลีย 15 สมัย, ซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา 9 สมัยซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในทุกรายการ และสำหรับการแข่งขันระดับทวีป ยูเวนตุสชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรยุโรปและอเมริกาใต้ 2 สมัย, ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 2 สมัย, ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ 1 สมัย, ยูฟ่าคัพ 3 สมัย (สถิติของสโมสรอิตาลี), ยูฟ่าซูเปอร์คัพ 2 สมัย และเป็นหนึ่งในสามสโมสรอิตาลีที่ชนะเลิศยูฟ่าอินเตอร์โตโตคัพ[1] ยูเวนตุสจึงถือเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตามการจัดอันดับของสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี รวมทั้งอยู่ในอันดับ 6 ในทวีปยุโรป และอันดับ 12 ของโลกในแง่การชนะเลิศถ้วยรางวัลระดับทวีป และอันดับ 4 จากการจัดอันดับโดยสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป ยูเวนตุสเป็นสโมสรฟุตบอลยุโรปที่มีค่าสัมประสิทธิ์สูงที่สุดในช่วง 7 ฤดูกาลแรกนับตั้งแต่เริ่มนำระบบดังกล่าวมาคำนวณใน ค.ศ. 1979

เริ่มก่อตั้งในชื่อ สปอร์ต คลับ ยูเวนตุส พวกเขาเป็นสโมสรอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับสองของอิตาลี โดยเป็นรองเพียงสโมสรเจนัว (ก่อตั้งใน ค.ศ. 1893) ยูเวนตุสลงแข่งขันในอิตาเลียนฟุตบอลแชมเปียนส์ชิพ (ปัจจุบันคือเซเรียอา) ทุกฤดูกาลนับตั้งแต่ก่อตั้งฟุตบอลลีกใน ค.ศ. 1900 ยกเว้นในฤดูกาล 2006–07 ซึ่งสโมสรต้องตกชั้น นับตั้งแต่ ค.ศ. 1923 ยูเวนตุสอยู่ภายใต้การบริหารโดยตระกูลอันเญลลี หนึ่งในตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก สโมสรยังมีความสัมพันธ์อันดีกับราชวงศ์อิตาลี ส่งผลให้พวกเขากลายเป็นสโมสรกีฬาอาชีพสโมสรแรก ๆ ของอิตาลี โดยสถาปนาตนเองขึ้นมาเป็นสโมสรชั้นนำของประเทศตั้งแต่ทศวรรษ 1930 และกลายเป็นหนึ่งในทีมชั้นนำของฟุตบอลยุโรปตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ก่อนจะกลายเป็นหนึ่งในสิบสโมสรที่มีมูลค่าทีมและผลกำไรสูงสุดของโลกตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 สโมสรได้จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์อิตาลีตั้งแต่ ค.ศ. 2001[2]

สโมสรชนะเลิศถ้วยรางวัล 13 รายการภายใต้การคุมทีมของ โจวันนี ตราปัตโตนี ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 จนถึงกลางทศวรรษ 1980 ซึ่งรวมถึงการชนะเลิศเซเรียอาหกสมัย และรายการระดับทวีปอีกห้ารายการ และกลายเป็นสโมสรแรกของทวีปที่ชนะการแข่งขันสามรายการหลักของยูฟ่าครบทั้งสามรายการ ได้แก่: ยูฟ่าคัพ ฤดูกาล 1976–77 (เป็นสโมสรแรกจากยุโรปใต้ที่ชนะเลิศ), ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ ฤดูกาล 1983–84 และยูโรเปียนคัพ (ปัจจุบันคือยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก) ฤดูกาล 1984–85 และยังชนะเลิศยูโรเปียนคัพซูเปอร์คัพใน ค.ศ. 1984 และ อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ ค.ศ. 1985 ส่งผลให้ยูเวนตุสเป็นสโมสรเดียวที่ชนะเลิศถ้วยรางวัลห้ารายการดังกล่าว[3] ต่อมาใน ค.ศ. 1999 ภายใต้การคุมทีมโดยมาร์เชลโล ลิปปี ยูเวนตุสชนะเลิศยูฟ่าอินเตอร์โตโตคัพ ส่งผลให้พวกเขาเป็นสโมสรเดียวในอิตาลีที่ชนะเลิศการแข่งขันทุกรายการที่จัดแข่งขันโดยคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลระหว่างประเทศในนามทีมชุดใหญ่ ยูเวนตุสได้รับการจัดอันดับโดยสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2000 ในอันดับ 7 ของสโมสรฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งศตวรรษ และการจัดอันดับโดยสหพันธ์ประวัติศาสตร์และสถิติฟุตบอลนานาชาติ ค.ศ. 2009 ให้เป็นสโมสรฟุตบอลที่ดีที่สุดอันดับสองในยุโรป ซึ่งถือเป็นอันดับที่ดีที่สุดของสโมสรอิตาลีในการจัดอันดับทั้งสองประเภท

ยูเวนตุสเป็นสโมสรที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในประเทศ และหนึ่งในสโมสรที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในโลก[4] และสิ่งที่แตกต่างจากสโมสรกีฬาอื่น ๆ ในยุโรปคือ กลุ่มผู้สนับสนุนของยูเวนตุสกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ มิได้กระจุกตัวอยู่เพียงแต่ในเมืองที่ตั้งเท่านั้น ส่งผลให้สโมสรเป็นสัญลักษณ์ตรงข้ามของ กัมปานีลิสโม (campanilismo)[5] ซึ่งหมายถึง ลัทธิจังหวัดนิยม และยังมีการเปรียบเปรยว่ายูเวนตุสเป็นสโมสรที่สะท้อนความเป็นอิตาลี (Italianness) มากที่สุด ผู้เล่นยูเวนตุสแปดคนได้รับรางวัลบาลงดอร์ โดยเป็นการชนะรางวัลสี่ครั้งติดต่อกันตั้งแต่ ค.ศ. 1982–85 โดยปาโอโล รอสซี และมีแชล ปลาตีนี นอกจากนี้ โอมาร์ ซิโบริ ยังถือเป็นผู้เล่นสัญชาติอิตาลี และผู้เล่นจากเซเรียอาคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ใน ค.ศ. 1961 สองนักเตะตำนานอย่างโรแบร์โต บัจโจ และ ซีเนดีน ซีดาน ได้รับรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของโลกแห่งปี ยูเวนตุสเป็นสโมสรที่มีผู้เล่นทีมชาติอิตาลีมากกว่าสโมสรอื่น นักเตะหลายรายเป็นกำลังหลักในการคว้าแชมป์รายการสำคัญของทีมชาติ อาทิ ฟุตบอลโลก 1934, ฟุตบอลโลก 1982 และ ฟุตบอลโลก 2006 รวมทั้งฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป

ประวัติ

[แก้]

ช่วงก่อตั้ง (ค.ศ. 1897–1918)

[แก้]
ภาพถ่ายครั้งแรกของผู้เล่นยูเวนตุสในช่วงการก่อตั้งสโมสร ค.ศ. 1897

ยูเวนตุสก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1897 ในชื่อ สปอร์ต คลับ ยูเวนตุส โดยกลุ่มนักเรียนจากโรงเรียน มัสซิโม เด อาเซกีโล ในเมืองตูริน หนึ่งในนั้นได้แก่ ยูเจนีโอ กันฟารี และ เอนริโก กันฟารี[6] ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นเป็น สโมสรฟุตบอลยูเวนตุส ในเวลาอีกสองปีถัดมา[7] สโมสรได้เข้าร่วมการแข่งขัน อิตาเลียนฟุตบอลแชมเปียนส์ชิพ (ปัจจุบันคือเซเรียอา) ครั้งแรกใน ค.ศ. 1900 การแข่งขันนัดแรกของสโมสรเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม และจบลงด้วยความปราชัยต่อสโมสรโตริเนเซด้วยผลประตู 0–1[8] ต่อมาใน ค.ศ. 1904 มาร์โก อัจโมเน มาร์ซัน นักธุรกิจได้เข้ามาฟื้นฟูฐานะทางการเงินของสโมสร ส่งผลให้ยูเวนตุสย้ายสนามฝึกซ้อมจาก ปิอัสซา ดี อาร์มี ไปยังสนามเวโลโดรโมอัมเบรโต I ในช่วงเวลสนั้น ยูเวนตุสใช้สีชมพูและสีดำเป็นสีหลักของชุดแข่ง พวกเขาชนะการแข่งขันอิตาเลียนฟุตบอลแชมเปียนส์ชิพเป็นครั้งแรกใน ค.ศ 1905 และเปลี่ยนสีประจำทีมเป็นสีขาวและสีดำลายทาง และกางเกงสีดำ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากสโมสรฟุตบอลในประเทศอังกฤษอย่าง สโมสรฟุตบอลนอตส์เคาน์ตี[9]

ผู้เล่นยูเวนตุสชุดที่ชนะการแข่งขันฟุตบอลลีกครั้งแรก ใน ค.ศ. 1905

ใน ค.ศ. 1906 สโมสรได้มีการแยกทางกับพนักงาน และนักเตะบางส่วนออกไปเนื่องจากต้องการออกไปจากเมืองตูริน[7] ประธานสโมสรชาวสวิสในขณะนั้นอย่าง อัลเฟรท ดิก จึงไม่พอใจและตัดสินใจแยกตัวออกไปพร้อมนักเตะแกนหลักบางราย เพื่อไปก่อตั้งสโมสรฟุตบอลโตรีโนซึ่งได้กลายมาเป็นคู่แข่งของยูเวนตุสในเวลาต่อมา และเป็นที่มาของแดร์บีเดลลาโมเล[10] ยูเวนตุสต้องใช้เวลาในการสร้างทีมขึ้นมาใหม่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[11]

เจ้าแห่งวงการลูกหนังอิตาลี (ค.ศ. 1923–1980)

[แก้]

หลังจากนั้นเจ้าขององค์กรธุรกิจรถยนต์ (เฟียต)ในเมืองตูรินอย่าง เอโดอาร์โด อเกลลี ได้เข้ามาควบคุมกิจการของสโมสรในช่วง ค.ศ. 1923 และได้มีการสร้างสนามเหย้าใหม่ขึ้น (เนื่องจากสนามเดิมได้มีการพังทลายจากเหตุสงครามโลก)[7] พวกเขาได้ช่วยให้สโมสรคว้าแชมป์ลีกได้อีกครั้งใน ค.ศ. 1926 ด้วยการชนะ อัลบา โรมา ไปถึง 12–1 ด้วยการทำประตูของ อันโตนีโอ โวจาค ซึ่งเป็นนักเตะยอดเยี่ยมของฤดูกาล 1925–26[9] หลังจากนั้นสโมสรได้เป็นกำลังสำคัญในวงการฟุตบอลอิตาลีตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 เป็นต้นมาและได้กลายเป็นสโมสรมืออาชีพครั้งแรกของประเทศและเป็นสโมสรแรกที่มีแฟนคลับกระจายอยู่หลายประเทศ[12][13] ในขณะนั้นสโมสรอยู่ภายใต้การคุมทีมของ การ์โล การ์ซาโน อดีตผู้จัดการทีมชาตอิตาลี ซึ่งเขาสามารถนำยูเวนตุสได้แชมป์ลีกในระดับประเทศได้ถึง 4 สมัยติดต่อกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 ถึง ค.ศ. 1934 และในช่วงนั้นมีนักเตะระดับสตาร์ชื่อดังมากมายของสโมสรอาทิเช่น ไรมุนโด ออร์ซิ, ลูอิกี เบอร์โทลินี, จิโอวานนี เฟอร์รารี, ลุยส์ มอนตี และอื่น ๆ อีกมากมาย

ซีโบรี, คาร์เรส และ โบนีเปอร์ตี สามนักเตะหลักของสโมสรในทศวรรษ 1950

สโมสรได้ย้ายไปใช้สนามเหย้าใหม่คือ สตาดีโอโอลิมปิกโกดิโทริโน เป็นสนามเหย้าในช่วง ค.ศ. 1933.แต่หลังจากนั้นในช่วงทศวรรษที่ 1940 เป็นต้นมา สโมสรไม่สามารถคว้าแชมป์รายการใหญ่มาได้เลย หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง กีอันนี อักเนลลี ได้เขามารับตำแหน่งประธานสโมสร[7]ต่อมา สโมสรก็สามารถคว้าแชมป์ลีกมาได้อีก 2 สมัยในช่วงฤดูกาล 1949–50 และ 1951–52 โดยในช่วงนั้นสโมสรได้อยู่ภายใต้การคุมทีมของ เจสเซ คาร์เวอร์ ผู้จัดการทีมชาวอังกฤษ ในฤดูกาล 1957–58 สโมสรได้เซ็นสัญญากับสองกองหน้าชื่อดังอย่าง โอมาร์ ซีโบรี นักเตะลูกครึ่งอิตาลี-อาร์เจนตินา และ จอห์น คาร์เลส นักเตะชาวเวลส์ โดยพวกเขาได้เล่นรวมกับ กีอัมปีเอโร โบนีเปอร์ตี นักเตะชื่อดังของสโมสรในเวลานั้น โดยทั้งสามคนเป็นกำลังสำคัญของยูเวนตุสมาโดยตลอด ต่อมา นักเตะใหม่อย่างซีโบรีก็เป็นนักเตะคนแรกของสโมสรที่ได้รับรางวัล นักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งปีของทวีปยุโรป ใน ค.ศ. 1961 ในปีเดียวกันนั้นพวกเขาชนะฟีออเรนตีนา คว้าแชมป์เซเรียอามาครองได้เป็นสมัยที่ 11 และคว้าแชมป์โกปปาอีตาเลียได้ในฤดูกาลเดียวกัน ประวัติศาสตร์คว้าแชมป์สองรายการหลักพร้อมกันเป็นครั้งแรกของสโมสร และโบนีเปอร์ตี ผู้ทำประตูสูงสุดของสโมสร ณ เวลานั้น ตัดสินใจเกษียณตนเองจากการเป็นนักฟุตบอล เขาจากไปพร้อมสร้างสถิติทำประตูสูงสุดทั้งหมด 182 ประตู[14]

ทศวรรษต่อมา สโมสรคว้าแชมป์ลีกได้เพียงครั้งเดียวในฤดูกาล 1966–67[9] ต่อมา ในทศวรรษ 1970 ยูเวนตุสกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้ง พวกเขาได้เพิ่มความแข็งแกร็งในแต่ละตำแหน่งให้มากขึ้น รวมถึงการเซ็นสัญญากับ เซสเมียรฺ์ เวียฟซาปาเลก ผู้จัดการทีมชาวเช็ก ซึ่งนำยูเวนตุสคว้าแชมป์เซเรียอาได้อีกในฤดูกาล 1971–72 และ 1972–73[9] โดยมีนักเตะชื่อดัง อาทิ โรแบร์โต เบตเตกา, ฟรานโก กาอูซีโอ และ โชเซ อัลตาฟีนี ในช่วงที่เหลือของทศวรรษที่ 70 สโมสรได้แชมป์ลีกเพิ่มอีกถึว 5 สมัย โดยมีกองหลังตัวหลักอย่าง เกเอตาโน ซีซ์เรีย ผู้จัดการทีม ณ ขณะนั้นคือ จีโอวานนี ตราปัตโตนี เป็นคนที่ช่วยนำสโมสรใหก้าวสู่ความยิ่งใหญ่อย่างต่อเนื่องจนถึงทศวรรษที่ 80[15] ยูเวนตุสยังชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลยุโรปเป็นครั้งแรกในยูฟ่าคัพฤดูกาล 1976–77 โดยเอาชนะอัตเลติกเดบิลบาโอด้วยกฎการยิงประตูทีมเยือน หลังจากเสมอกันสองนัดด้วยผลประตู 2–2

ความยิ่งใหญ่ในเวทียุโรป (ค.ศ. 1980–1993)

[แก้]
มีแชล ปลาตีนี นักฟุตบอลคนแรกของสโมสรที่ได้รับรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งปีของทวีปยุโรป 3 สมัยติดต่อกัน

ในยุคของตราปาตโตนีเป็นยุคที่สโมสรประสบความสำเร็จมากที่สุด ซึ่งอยู่ในช่วงยุค ค.ศ. 1980 สโมสรเริ่มต้นได้ดีในช่วงทศวรรษใหม่ด้วยการคว้าแชมป์ลีก 3 สมัย โดยใน ค.ศ. 1984[9] สโมสรสามารถคว้าแชมป์ลีกสมัยที่ 20 และได้รับอนุญาตจากสมาพันธ์ฟุตบอลอิตาลีให้เพิ่มสัญลักษณ์ดาวสีทองดวงที่สองบนเสื้อแข่ง[15] ต่อมา เปาโล รอสซี ได้รับรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งปีของทวีปยุโรป จากการการนำอิตาลีคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 1982 ซึ่งเขาทำผลงานโดดเด่นจนได้รับรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมประจำการแข่งขัน[16]

นักเตะชาวฝรั่งเศสของสโมสรอีกคนอย่าง มีแชล ปลาตีนี ก็ถูกเสนอชื่อเป็นนักเตะยอดเยี่ยมอีกคน ซึ่งเขาคว้ารางวัลได้ถึง 3 สมัยติดต่อกันในปี 1983, 1984 และ 1985[17] โดยยูเวนตุสเป็นสโมสรเดียวที่มีนักเตะจากสโมสรคว้ารางวัลดังกล่าว 4 ปีติดต่อกัน[17] การแข่งขันนัดสำคัญของปลาตีนีคือรอบชิงชนะเลิศ ยูโรเปียนส์คัพ ฤดูกาล 1985 ซึ่งเขาช่วยให้สโมสรเอาชนะลิเวอร์พูล 1–0 ทำให้ยูเวนตุสคว้าแชมป์สมัยแรก อย่างไรก็ตาม การแข่งขันดังกล่าวถือเป็นโศกนาฏกรรมสำคัญมาถึงทุกวันนี้[18] จากเหตุการณ์ภัยพิบัติเฮย์เซล โดยแฟนบอลทั้งสองฝ่ายทะเลาะกันส่งผลให้อัฒจันทร์พังลงมาและมีผู้เสียชีวิต 39 คน ในปีนี้เป็นปีที่ยูเวนตุสกลายเป็นสโมสรแรกในประวัติศาสตร์ของฟุตบอลยุโรปที่ได้รับรางวัลทั้งสามที่สำคัญการแข่งขันของยูฟ่า[19][20] และหลังจากที่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันอินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ ค.ศ. 1985 ส่งผลให้ยูเวนตุสเป็นสโมสรเดียวที่ชนะเลิศถ้วยรางวัลสำคัญทั้งห้ารายการที่จัดโดยสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป[3][21] ต่อมา สโมสรยังชนะการแข่งขันที่จัดโดยยูฟ่าเป็นรายการที่หก หลังจากคว้าแชมป์ยูฟ่าอินเตอร์โตโตคัพ

สโมสรคว้าแชมป์เซเรียอาเพิ่มได้ในฤดูกาล 1985–86 ซึ่งเป็นแชมป์สมัยที่ 22 และเป็นแชมป์สุดท้ายในการคุมทีมของตราปาตโตนี โดยในช่วงที่เหลือของทศวรรษ 1980 ยูเวนตุสไม่ประสบความเร็จเท่าไรนัก เนื่องจากถูกท้าชิงโดยคู่อริอย่างนาโปลีนำโดยดิเอโก มาราโดนา รวมทั้งสองสโมสรใหญ่จากเมืองมิลานทั้ง เอซี มิลาน และอินเตอร์ แต่ยูเวนตุสยังคว้าแชมป์ฟุตบอลถ้วยได้สองรายการด้วยแชมป์โกปปาอิาตาเลียฤดูกาล 1989–90 ต่อด้วยแชมป์ยูฟ่าคัพ 1990 ซึ่งเอาชนะฟีออเรนตีนาด้วยผลประตู 3–1 โดยผู้จัดการในขณะนั้นคือดีโน ซอฟฟ์ หนึ่งในตำนานของยูเวนตุสและทีมชาติอิตาลี[22] ใน ค.ศ. 1990 ยูเวนตุสได้ย้ายสนามเหย้าแห่งใหม่ไปที่สตาดีโอเดลเลอัลปีซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลก 1990[23] แม้สโมสรจะเซ็นสัญญากับนักเตะชื่อดังอย่าง โรแบร์โต บัจโจ ซึ่งเป็นค่าตัวสถิติโลกในขณะนั้น แต่ยูเวนตุสภายใต้การคุมทีมของลุยจิ ไมเฟรดี ไม่ประสบความสำเร็จในช่วงต้นทศวรรษ 1990 โดยคว้าแชมป์ได้เพียงรายการเดียวจากการเอาชนะโบรุสซีอาดอร์ทมุนท์ด้วยผลประตูรวมสองนัด 6–1 ในรอบชิงชนะเลิศยูฟ่าคัพ 1993 ซึ่งบัจโจทำไปถึง 4 ประตูจากการลงเล่นทั้งสองนัด

ลิปปีผู้นำความสำเร็จ

[แก้]

มาร์เชลโล ลิปปีได้เข้ามาเป็นผู้จัดการทีมให้กับสโมสรในฤดูกาล 1994–95[7] และฤดูกาลแรกก็นำทีมคว้าแชมป์เซเรียอาได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980[9] โดยมีผู้เล่นชื่อดัง อาทิ ซีโร เฟอร์รารา, บัจโจ, จีอันลูกา วีอัลลี และนักเตะเยาวชนชื่อดังอย่าง อาเลสซันโดร เดล ปีเอโร และยังเอาชนะปาร์มาในรอบชิงชนะเลิศโกปปาอิตาเลีย 1995 ตามด้วยแชมป์ซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา และยังนำยูเวนตุสไปถึงรอบชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกพบเอเอฟซีอาแจ็กซ์ ผลออกมาเสมอกันด้วยผลประตู 1–1 โดยยูเวนตุสได้จาก ฟาบรีซีโอ ราเวเนลลี ก่อนที่จะชนะด้วยการดวลลูกโทษ 4–2 คว้าแชมป์เป็นสมัยที่ 2[24]

มาร์เชลโล ลิปปี ผู้พายูเวนตุสคว้าแชมป์ 13 รายการ

หลังจากคว้าแชมป์ สโมสรได้เสริมทัพด้วยการซื้อผู้เล่นชื่อดังหลายคน อาทิ ฟีลิปโป อินซากี, ซีเนดีน ซีดาน, เอ็ดการ์ ดาวิดส์ ทำให้สโมสรคว้าแชมป์เซเรียอาได้ในฤดูกาล 1996–97 และ 1997–98 รวมทั้งแชมป์ระดับทวีปอีกสองรายการ ได้แก่ ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรยุโรป และ ยูฟ่าซูเปอร์คัพใน ค.ศ. 1996 ต่อมาใน ค.ศ. 1997 และ ค.ศ. 1998 สโมสรเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกได้อีกสองครั้ง แต่ก็ได้แค่รองแชมป์ทั้งสองครั้งด้วยการแพ้โบรุสซีอาดอร์ทมุนท์ และ เรอัลมาดริด ตามลำดับ[25][26] ลิปปีก็กลับมาคุมทีมอีกครั้งใน ค.ศ. 2001 และซื้อผู้เล่นใหม่มากมาย อาทิ จันลุยจี บุฟฟอน, ดาวิด เทรเซกูเอต, ปาเวล เนดเวด และ ลีเลียน ทูร์ราม ช่วยให้สโมสรคว้าแชมป์เซเรียอาในฤดูกาล 2001–02 และ 2002–03[9] ใน ค.ศ. 2003 ยูเวนตุสเข้าไปเล่นยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกรอบชิงชนะเลิศโดยพบกับคู่แข่งร่วมลีกอย่าง เอซี มิลาน ผลออกมาเสมอกันในเวลาปกติ 0–0 และยูเวนตุสแพ้การดวลจุดโทษ ทำให้ลิปปีได้ลาออกเพื่อไปคุมทีมชาติอิตาลี ผลงานโดยรวมคือพายูเวนตุสคว้าแชมป์รวม 13 รายการ และเป็นหนึ่งในผู้จัดการทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร[15]

เหตุการณ์อื้อฉาว กัลโชโปลี (2004–2007)

[แก้]
จันลุยจี บุฟฟอน ตำนานผู้รักษาประตูทีมชาติอิตาลี เขาเป็นหนึ่งในนักเตะแกนหลักที่ตัดสินใจอยู่ช่วยสโมสรต่อ แม้จะถูกปรับตกชั้นใน ค.ศ. 2006

ฟาบีโอ กาเปลโล เข้ามาเป็นผู้จัดการทีมใน ค.ศ. 2004 และพาทีมคว้าแชมป์ลีกได้อีกสองสมัย ในช่วงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2006 ยูเวนตุสกลายเป็นหนึ่งในห้าสโมสรที่เชื่อมโยงกับเรื่องอื้อฉาวในการล้มบอล ผลจากการลงโทษทำให้ยูเวนตุสได้ถูกลดชั้นลงไปเล่นเซเรียบีเป็นครั้งแรกเป็นประวัติศาสตร์ของสโมสร สโมสรปลดกาเปลโลที่นำทีมได้แชมป์ลีกใน ค.ศ. 2005 และ ค.ศ. 2006 (โดนริบแชมป์)[27] โดยแชมป์ดังกล่าวได้มอบให้แก่ทีมอันดับสามอย่างอินเตอร์แทน เหตุการณ์ดังกล่าวยังคงเป็นที่วิจารณ์กันถึงปัจจุบัน รวมถึงกรณีที่อินเตอร์ไม่ได้รับการตรวจสอบกรณีดังกล่าวในการแข่งขันในปี 2004 ผู้เล่นคนสำคัญหลายคนออกจากสโมสร อาทิ ซลาตัน อีบราฮีมอวิช, ฟาบีโอ กันนาวาโร, ปาทริก วีเยรา และ จันลูกา ซัมบรอตตา[28] แต่ผู้เล่นคนอื่นคนอื่นก็ยังตัดสินใจอยู่ร่วมช่วยสโมสรเพื่อให้กับไปเล่นในเซเรียอาต่อเช่น อาเลสซันโดร เดล ปีเอโร, เนดเวด ขณะที่ผู้เล่นเยาวชนจากพรีมาเวรา เช่น เซบัสเตียน โจวินโก และ เคลาดีโอ มาร์คีซีโอ ก็ได้เลื่อนขั้นมาช่วยช่วยทีมชุดใหญ่ สโมสรเลื่อนชั้นขึ้นมาสู่เซเรียอาได้สำเร็จ โดยเป็นสโมสรแรกที่ตกชั้นจากเซเรียเอไปสู่เซเรียบีแล้วใช้เวลาแค่ฤดูกาลเดียวสามารถเลื่อนชั้นขึ้นมาได้ กัปตันทีมอย่าง เดล ปีเอโร เป็นดาวซัลโวสูงสุดของเซเรียบีในฤดูกาล 2006–07 จำนวน 21 ประตู

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2015 ศาลฎีกาได้เผยแพร่เอกสารความยาว 150 หน้าที่อธิบายคำตัดสินขั้นสุดท้ายของคดีดังกล่าว โดยอิงตามคำตัดสินด้านกีฬาอันเป็นที่ถกเถียงใน ค.ศ. 2006 ซึ่งไม่ได้วินิจฉัยกรณีดังกล่าวกับสโมสรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาเนื่องจากหมดอายุความ และจำเป็นต้องขอและเพิกถอนคำพิพากษาตามมาตรา 39 แห่งประมวลกฎหมายความยุติธรรมกีฬา อย่างไรก็ตาม ศาลยืนยันว่าผู้บริหารของยูเวนตุสในขณะนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องในการฉ้อโกงเพื่อล็อคผลการแข่งขันให้กับยูเวนตุส จากรายงานของหนังสือพิมพ์ ลา กัสเซตา เดลโล สปอร์ต ผู้บริหารอย่าง ลูชาโน มอจจี และ อันโตนีโอ จิเราโด ถูกตัดสินให้มีความผิดฐาน "สบคบกับผู้อื่นกระทำอาชญากรรม" มีบทลงโทษจำคุก 2 ปี แต่เนื่องจากคดีหมดอายุความจึงไม่ต้องรับโทษ ยูเวนตุสหมดสิทธิ์ในการยื่นฟ้องร้องสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลีซึ่งแม้ภายหลังจะมีการตรวจสอบพบหลักฐานที่อินเตอร์มีส่วนพัวพันกับคดีนี้ เพราะมีการตรวจพบหลักฐานว่า อินเตอร์มิลานมีการติดต่อขอกำหนดตัวผู้ตัดสินในนัดที่ทีมลงแข่ง อีกทั้งประธานสโมสรอย่างมัสซิโม โมรัตติ ผู้เป็นเจ้าของทีมยังมีหุ้นส่วนใหญ่ใน บริษัทสื่อสาร TIM แต่เนื่องจากคดีหมดอายุความ ทำให้อินเตอร์ไม่ได้ถูกสอบสวนหรือริบแชมป์ย้อนหลังแต่อย่างใด

กลับสู่เซเรียอา (ค.ศ. 2007–2011)

[แก้]
ยูเวนตุสในการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2012–13 ในนัดที่พบกับ ชัคตาร์โดเนตสค์

ตั้งแต่กลับสู่เซเรียอาในฤดูกาล 2007–08 ด้วยการนำทีมของอดีตผู้จัดการทีมเชลซีอย่าง เคลาดีโอ รานีเอรี ซึ่งมาคุมทีมสองฤดูกาล[29] สโมสจบอันดับสามหลังจากเลื่อนชั้นขึ้นมาในฤดูกาลแรก และในรอบคัดเลือกยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2008–09 สโมสรเอาชนะทีมจากสโลวาเกียได้ถึง 5–1 ต่อมา ในรอบแบ่งกลุ่มพวกเขาเอาชนะเรอัลมาดริดได้ในบ้าน และเป็นแชมป์กลุ่ม ก่อนจะแพ้เชลซีไปด้วยผลประตู 2–3 ก่อนจบฤดูกาลสองนัดสุดท้าย รานีเอรีโดนไล่ออกหลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการคว้าแชมป์ และสโมสรได้แต่งตั้ง ซิโร เฟอร์รารา เป็นผู้จัดการทีมชั่วคราวสองนัดสุดท้ายของฤดูกาล[30] และแต่งตั้งอย่างเป็นทางการในฤดูกาล 2009–10.[31]

อย่างไรก็ตาม เฟอร์ราราก็ไม่ประสบความสำเร็จ โดยนำยูเวนตุสตกรอบยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกรอบแบ่งกลุ่ม และโกปปาอีตาเลียก็แพ้ให้กับอินเตอร์มิลานในรอบ 8 ทีมสุดท้าย และสโมสรจบเพียงอันดับ 6 ในลีก ต่อมา ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2010 สโมสรได้ปลดเฟอร์รารา และแต่งตั้งอัลแบร์โต ซัคเคโรนี เป็นผู้จัดการทีมชั่วคราว แต่สโมสรก็จบอันดับ 7 ในฤดูกาล 2010–11 อันเดรอา อักเนลลี ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานสโมสรแทน จีน-คลูเด บลันซ์ โดยอักเนลลีได้แต่งตั้งให้อเลสซีโอ เซกโก กับอดีตผู้จัดการทีมของอูนีโอเนกัลโชซัมป์โดเรียอย่าง ลูอีกี เดลเนรี เป็นผู้อำนวยการกีฬาของสโมสรแทนซาดเชโรนี และแต่งตั้งให้ กีอูเซปเป มารอตตา เป็นผู้จัดการทีมของสโมสร แต่การคุมทีมของเดลเนรีก็ล้มเหลวเนื่องจากทำผลงานไม่ได้ดีอย่างที่คิดทางสโมสรจึงแต่งตั้งอดีตผู้เล่นของสโมสรอย่าง อันโตนีโอ กอนเต ซึ่งทำผลงานได้ดีในการเป็นผู้จัดการทีมด้วยการนำทีมเซียนาเลื่อนชั้นจากเซเรียบีขึ้นมาสู่เซเรียอาได้สำเร็จ ยูเวนตุสได้ย้ายสนามเหย้าไปสู่สนามแห่งใหม่อีกครั้งซึ่งก็คือสนามกีฬายูเวนตุส ใน ค.ศ. 2011 ซึ่งในเวลาต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ สนามกีฬาอลิอันซ์

ชนะเลิศสคูเด็ตโต 9 สมัยติดต่อกัน (ค.ศ. 2011–2020)

[แก้]
อันเดรอา ปีร์โล กองกลางตัวหลักของสโมสรระหว่าง ค.ศ. 2011–2015

กอนเตพาทีมชนะเลิศเซเรียอาโดยไม่แพ้ทีมใดตลอดทั้งฤดูกาล 2011–12 โดยในช่วงครึ่งฤดูกาลหลัง สโมสรผลัดกันขึ้นเป็นทีมนำในตารางกับคู่แข่งอย่างเอซี มิลาน ยูเวนตุสคว้าแชมป์เซเรียเอาในนัดที่ 37 จากการชนะคัลยารี 2–0 และมิลานแพ้อินเตอร์ด้วยผลประตู 2–4 และในนัดสุดท้ายของฤดูกาล ยูเวนตุสเอาชนะอาตาลันตา3–1 ส่งผลให้พวกเขาเป็นสโมสรแรกที่ชนะเลิศฟุตบอลลีกในประเทศโดยไม่แพ้ใครตลอด 38 นัด ต่อมาใน เซเรียอา ฤดูกาล 2013–14 ยูเวนตุสคว้าแชมป์เซเรียอาสมัยที่สามติดต่อกัน โดยทำสถิติ 102 คะแนน และชนะได้ถึง 33 จาก 38 นัด[32] และเป็นการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดเป็นสมัยที่ 30 ในฤดูกาลนี้สโมสรยังเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ยูฟ่ายูโรปาลีก แต่ตกรอบด้วยการแพ้สปอร์ลิชบัวอีไบฟีกาในนัดที่สองแม้คู่แข่งจะเหลือผู้เล่นสิบคน ทำให้ยูเวนตุสพลาดการลงแข่งรอบชิงชนะเลิศที่สนามกีฬายูเวนตุส[33]

กัปตันทีมยูเวนตุส จอร์โจ กีเอลลีนี รับถ้วยรางวัลโกปปาอีตาเลีย ฤดูกาล 2016–17 จากแซร์โจ มัตตาเรลลา ประธานาธิบดีอิตาลี

ในฤดูกาล 2014–15 สโมสรแต่งตั้งมัสซีมีเลียโน อัลเลกรี เข้ามาคุมทีมซึ่งพาสโมสรคว้าแชมป์เซเรียอาสมัยที่ 31 และเป็นแชมป์ 4 สมัยติดต่อกัน และยังคว้าแชมป์โกปปาอิตาเลียสมัยที่ 10 โดยเอาชนะลัตซีโยด้วยผลประตู 2–1[34] ยูเวนตุสยังเอาชนะเรอัลมาดริดในรอบรองชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ก่อนจะแพ้บาร์เซโลนาในรอบชิงชนะเลิศ 1–3 ต่อมา ยูเวนตุสชนะเลิศโกปปาอิตาเลีย 2016 ด้วยการเอาชนะมิลาน 1–0 ทำสถิติเป็นสโมสแรกของอิตาลีที่คว้าแชมป์สองรายการหลักในประเทศสองฤดูกาลติดต่อกัน (เซเรียอาและโกปาอิตาเลีย)[35] พวกเขาชนะเลิศโกปปาอิตาเลียอีกครั้งใน ค.ศ. 2017 เอาชนะลัตซีโยไปอีกครั้ง 2–0 ทำสถิติเป็นทีมแรกที่คว้าแชมป์รายการนี้สามสมัยติดต่อกัน[36] ต่อมา ในวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 2017 ยูเวนตุสสร้างประวัติศาสตร์เป็นทีมแรกที่คว้าแชมป์เซเรียอา 6 สมัยติดต่อกัน นอกจากนี้ พวกเขายังเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกได้เป็นครั้งที่สองในรอบสามฤดูกาล แต่แพ้เรอัลมาดริด 1–4 ยูเวนตุสชนะเลิศโกปปาอิตาเลียสมัยที่ 4 ติดต่อกัน ด้วยการเอาชนะมิลาน 4–0 ในรอบชิงชนะเลิศ ค.ศ. 2018 รวมทั้งชนะเลิศเซเรียอา 7 สมัยติดต่อกัน และเอาชนะเอซีมิลานในซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา 2018 ทำสถิติคว้าแชมป์รายการนี้มากที่สุดที่ 8 สมัย ต่อมา ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2019 สโมสรชนะเลิศเซเรียอาสมัยที่ 8 ติดต่อกัน และเมารีซีโอ ซาร์รี เข้ามาคุมทีมต่อจากอัลเลกรีซึ่งพาทีมชนะเลิศเซเรียอา 9 สมัยติดต่อกัน

ค.ศ. 2020–ปัจจุบัน

[แก้]

ซาร์รีถูกปลดจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2020 หนึ่งวันภายหลังจากยูเวนตุสตกรอบยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2019–20 โดยแพ้ออแล็งปิกลียอแน[37] อันเดรอา ปีร์โล เข้ามาคุมทีมต่อด้วยสัญญาสองปี[38] ซึ่งพาทีมชนะนาโปลีได้ในซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา ฤดูกาล 2020 ด้วยผลประตู 2–0 คว้าแชมป์สมัยที่ 9 แต่สโมสรเสียแชมป์ลีกเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ฤดูกาลให้แก่อินเตอร์ โดยทำได้เพียงอันดับ 4[39] ยูเวนตุสเอาชนะอาตาลันตาในโกปปาอีตาเลีย 2021 นัดชิงชนะเลิศ ถือเป็นถ้วยรางวัลใบที่สองของปีร์โล[40] และเป็นแชมป์สมัยที่ 14 แต่เขาถูกปลดในเดือนพฤษภาคม[41] และอัลเลกรีกลับมาคุมทีมอีกครั้งด้วยสัญญา 4 ปี[42] แต่ก็ทำได้เพียงจบอันดับ 4 ในลีกอีกครั้ง[43] และยังแพ้อินเตอร์ในโกปปาอีตาเลีย 2022 นัดชิงชนะเลิศ โดยถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ฤดูกาล 2010–11 ที่สโมสรจบฤดูกาลด้วยการไม่ชนะถ้วยรางวัลรายการใด

เข้าสู่ฤดูกาล 2022–23 ยูเวนตุสมีผลงานย่ำแย่ในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก โดยชนะได้เพียงนัดเดียวและแพ้ไปถึงห้านัดในรอบแบ่งกลุ่ม ทำสถิติเก็บคะแนนและชัยชนะในรอบแบ่งกลุ่มรายการนี้ได้น้อยที่สุดนับตั้งแต่ร่วมแข่งขัน[44] แต่ยังจบด้วยอันสามของกลุ่มด้วยผลต่างประตูที่ดีกว่ามัคคาบีไฮฟา ได้ลงไปแข่งยูฟ่ายูโรปาลีกซึ่งพวกเขาเข้าถึงรอบรองชนะเลิศแต่แพ้เซบิยาในช่วงต่อเวลา 1–2 ณ สนามกีฬารามอน ซันเชซ ปิซฆวน[45] ต่อมา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 สโมสรมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อผู้บริหารหลักลาออก นำโดย อันเดรอา อักเนลลี ประธานสโมสร, ปาเวล เนดเวต รองประธาน และ เมาริซิโอ อาร์ริวาเบเน ประธานกรรมการบริหาร[46][47] อันเดรอา อักเนลลี เป็นประธานสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของทีม ด้วยการชนะเลิศถ้วยรางวัล 19 รายการในช่วงที่บริหารทีม[48] จานลูกา เฟร์เรโร เข้ามารับตำแหน่งประธานคนใหม่ในวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 2023[49]

ยูเวนตุสถูกศาลกีฬาสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี (เอฟไอซีจี) ลงโทษตัด 15 คะแนนหลังถูกตรวจพบมีการตกแต่งบัญชีเพื่อบิดเบือนข้อมูลทางการเงินซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับการซื้อขายผู้เล่นเกินจริงในระหว่างปี 2018–2020 หรือช่วงสถานการณ์โควิด-19[50] นำไปสู่การประท้วงของกลุ่มผู้สนับสนุนสโมสร[51] สโมสรยื่นเรื่องอุทธรณ์ โดยได้รับการตัดสินใหม่ให้ตัดสิบคะแนนในวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 2023 และสโมสรยินยอมเสียค่าปรับเป็นเงิน 718,240 ยูโร โดยไม่มีการลงโทษใด ๆ เพิ่มเติม[52] ยูเวนตุสจบเพียงอันดับเจ็ดในเซเรียอา ฤดูกาล 2022–23 ทำให้ได้ไปเล่นเพียงรายการยูฟ่ายูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีก อย่างไรก็ตาม สโมสรถูกลงโทษจากยูฟ่าในฐานละเมิดกฎการเงิน ไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์ และจะไม่ได้แข่งขันรายการยุโรปในฤดูกาลหน้า ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ฤดูกาล 2011–12 ที่สโมสรจะไม่ได้ลงแข่งขันในรายการของยูฟ่า สโมสรคว้าแชมป์โกปปาอีตาเลีย ฤดูกาล 2023–24 โดยเอาชนะอาตาลันตาในรอบชิงชนะเลิศ 1–0 คว้าแชมป์สมัยที่ 15 แต่สโมสรได้แยกทางกับอัลเลกรีเนื่องจากความล้มเหลวในเซเรียอาฤดูกาล 2023–24 โดยยูเวนตุสจบในอันดับสาม[53] ตีอาโก มอตตา เข้ามาคุมทีมต่อ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2024 ด้วยสัญญาสามปี มอตตาพายูเวนตุสสร้างสถิติใหม่ด้วยการไม่เสียประตูในเซเรียอา 6 นัดติดต่อกัน (540 นาที) ก่อนจะยุติลงในนัดที่พวกเขาเปิดบ้านเสมอคัลยารีกัลโช 1–1 วันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 2024

แบรนด์เสื้อและผู้สนับสนุน

[แก้]
ปีที่ใช้ แบรนด์เสื้อ ผู้สนับสนุน
1979–1989 Kappa Ariston
1989–1992 Upim
1992–1995 Danone
1995–1998 Sony
1998–1999 D+Libertà digitale / Tele+
1999–2000 CanalSatellite / D+Libertà digitale / Sony
2000–2001 Lotto Sportal.com / Tele+
2001–2002 Fastweb / Tu Mobile
2002–2003 Fastweb / Tamoil
2003–2004 Nike
2004–2005 Sky Sport / Tamoil
2005–2007 Tamoil
2007–2010 FIAT Group (New Holland)
2010–2012 BetClic / Balocco
2012–2015 FIAT S.p.A (จี๊ป)
2015- Adidas FIAT S.p.A (จี๊ป)

สนามแข่ง

[แก้]
ยูเวนตุสสเตเดียม สนามเหย้าของสโมสรในปัจจุบัน

นับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร ยูเวนตุสได้ใช้สนามเหย้ามาแล้วทั้งหมด 5 สนาม เรียงตามลำดับดังนี้

สโมสรคู่อริ

[แก้]
แดร์บีดีตาเลีย ในฤดูกาล 1973–74

ยูเวนตุสมีสโมสรคู่ปรับสำคัญในอิตาลีสองทีมหลักได้แก่ โตริโน การพบกันของทีมสองทีมมีชื่อเรียกว่า แดร์บีเดลลาโมเล ซึ่งมีประวัติสืบไปถึง ค.ศ. 1906 โดยสโมสรโตริโนก่อตั้งขึ้นจากกลุ่มนักเตะรวมถึงประธานสโมสรยูเวนตุสซึ่งแยกตัวออกไปจากสโมสร

อีกหนึ่งสโมสรที่มีความเป็นอริกับยูเวนตุสอย่างเข้มข้นคืออินเตอร์ สโมสรที่ตั้งอยู่ในเมืองมิลาน แคว้นลอมบาร์เดีย การแข่งขันมีชื่อเรียกว่า แดร์บีดีตาเลีย โดยทั้งสองทีมเป็นคู่แข่งแย่งความสำเร็จในประเทศมายาวนานหลายทศวรรษ และยังเป็นสโมสรที่มีผู้ติดตามมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งและอันดับสามในอิตาลี การเป็นอริของทั้งคู่พัฒนาขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 รวมถึงกรณีเหตุการณ์อื้อฉาวในกลางทศวรรษ 2000 ซึ่งยูเวนตุสถูกปรับให้ตกชั้น

การแข่งขันกับเอซีมิลาน ถือว่าได้รับการจับตามองจากแฟนฟุตบอลทั่วโลกเช่นกัน ทั้งสองทีมมักแย่งการเป็นแชมป์เซเรียอาตลอดหลายฤดูกาล[54] โดยเอซีมิลานเป็นทีมที่มีผู้ติดตามมากที่สุดเป็นอันดับสองในประเทศรองจากยูเวนตุส ทั้งสองทีมยังเป็นสโมสรที่มีมูลค่าการซื้อขายและมูลค่าตลาดหุ้นมากที่สุดในประเทศ สโมสรอื่น ๆ ที่เป็นอริกับยูเวนตุสได้แก่ โรมา, ฟีออเรนตีนา และนาโปลี

ผู้เล่น

[แก้]

ผู้เล่นชุดปัจจุบัน

[แก้]
ณ วันที่ 9 กันยายน 2024[55]

หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ

เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
1 GK อิตาลี มัตตีอา เปริน
3 DF บราซิล เกลย์สัน เบรเมอร์
4 DF อิตาลี เฟเดรีโก แกตติ
5 MF อิตาลี มานูเอล โลกาเตลลี
6 DF บราซิล ดานีลู
7 FW โปรตุเกส ฟรังซิชกู กงไซเซา (ยืมตัวจาก โปร์ตู)
8 MF เนเธอร์แลนด์ เติน โกปไมเนิร์ส
9 FW เซอร์เบีย ดูชัน วลาฮอวิช
10 FW ตุรกี เคนัน ยึลดึซ
11 FW อาร์เจนตินา นิโกลัส กอนซาเลซ (ยืมตัวจาก ฟีออเรนตีนา)
14 FW โปแลนด์ อาร์กาดียุช มีลิก
15 DF ฝรั่งเศส ปีแยร์ กาลูว์ลูว์ (ยืมตัวจาก เอซี มิลาน)
เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
16 MF สหรัฐ เวสตัน แมคเคนนี
19 MF ฝรั่งเศส เคเฟรน ตูรัม-ยูลีแย็ง
17 FW อังกฤษ ซามูเอล อีลิง-จูเนียร์
21 MF อิตาลี นีโกเลาะ ฟาโจลี
22 FW สหรัฐ ทิโมธี เวอาห์
23 GK อิตาลี การ์โล ปินโซโญ
26 MF บราซิล ดักลาส ลุยซ์ โซอาเรส เดอ เปาโล
27 DF อิตาลี อันเดรอา กัมเบียโซ
29 GK อิตาลี มีเกเล ดี เกรโกรีโอ
32 DF โคลอมเบีย ฆวน การ์บัล
37 DF อิตาลี นิโกโล ซาโวนา
40 DF สวีเดน โยนาส จาคอบ

สตาฟโค้ชของสโมสร

[แก้]
ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่
ผู้จัดการทีม
ผู้ช่วยผู้จัดการทีม จิโอวานนี่ มาตูส์เชียลโล่
ผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตู คลาดิโอ ฟิลลิปปี
หัวหน้าผู้ฝึกสอน มาร์โก้ เอียนนี่
หัวหน้าผู้ฝึกสอนฟิตเนส เดเนียล ตอญาคซินี่
ผู้ฝึกสอนฟิตเนส อันเดรีย เปอตูซิโอ้
ผู้ฝึกสอนฟิตเนส ดาวิด โลซี่
หัวหน้าผู้ฝึกสอนเทรนนิงเชค โรแบร์โต ซาสซี

อ้างอิง: Juventus.com

สถิติผู้เล่น

[แก้]

สถิติทำประตูสูงสุด

[แก้]
  1. อเลสซานโดร เดล ปีเอโร - 272
  2. จามปีเอโร โบนีแปร์ตี - 182
  3. โรแบร์โต เบตเตก้า - 178
  4. โอมาร์ ซิวอรี - 167
  5. เฟลีเซ ปลาซีโด โบเรล II -161

สถิติเล่นให้สโมสรสูงสุด

[แก้]
  1. อเลสซานโดร เดล ปีเอโร - 629
  2. เกตาโน ชีเรีย -552
  3. จูเซปเป ฟูรีโน -528
  4. จันลุยจี บุฟฟอน -509
  5. โรเบอร์โต เบตเตกา - 481

เกียรติประวัติ

[แก้]
ถ้วยรางวัลของยูเวนตุส ซึ่งถูกจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์สโมสร

ยูเวนตุสเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของอิตาลีตามประวัติศาสตร์ โดยคว้าแชมป์มาครองได้ถึง 70 รายการมากกว่าสโมสรอื่นในอิตาลี และยังเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีชื่อเสียง และเกียรติประวัติมากที่สุดในโลก เพราะสามารถคว้าแชมป์ในประเทศได้ 59 รายการ และในระดับนานาชาติได้ถึง 11 รายการ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในระดับนี้เป็นอันดับ 3 ในยุโรป และอันดับ 6 ของโลก

ทีมหญิงชราทีมนี้ยังได้มีดาวสีทองสำหรับความยอดเยี่ยมบนเสื้อของทีม 2 ดวง เพื่อแสดงถึงการคว้าแชมป์ลีกนับครั้งไม่ถ้วน โดยการคว้าแชมป์ 10 ครั้ง จะได้สิทธิ์ในการติดดาว 1 ดวง แชมป์ 10 ครั้งแรกนั้นอยู่ในช่วงฤดูกาล 1957-58 และครบ 20 ครั้งในฤดูกาล 1981-82 นอกจากความยิ่งใหญ่ในประเทศ ยูเวนตุสยังเป็นสโมสรเดียวที่ได้แชมป์รายการระดับนานาชาติครบทุกรายการ เบียงโคเนรีถูกจัดอันดับให้อยู่อันดับ 7 และอันดับสูงสุดของทีมจากอิตาลี ในการจัดอันดับสโมสรของฟีฟ่าในศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีขึ้นในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) พวกเขาได้รับการจัดอันดับโดยสหพันธ์ประวัติศาสตร์และสถิติฟุตบอลนานาชาติ ให้เป็นสโมสรฟุตบอลที่ดีที่สุดเป็นอันดับสองในยุโรป ซึ่งถือเป็นอันดับที่สุดของสโมสรอิตาลีในการจัดอันดับทั้งสองประเภท

อิตาลี ระดับประเทศ

[แก้]

ยุโรป ระดับทวีปยุโรป

[แก้]

โลก ระดับโลก

[แก้]

หุ้นของสโมสร

[แก้]
Juventus F.C. S.p.A
ก่อตั้ง1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2440 Edit this on Wikidata
รายได้ลดลง €172,066,450 (2010–11)
รายได้จากการดำเนินงาน
ลดลง (€92,154,792) (2010–11)
รายได้สุทธิ
ลดลง (€95,414,019) (2010–11)
สินทรัพย์เพิ่มขึ้น €334,040,001 (2010–11)
ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง (€4,951,466) (2010–11)

อ้างอิง

[แก้]
  1. UEFA.com (2003-06-26). "Old Lady sits pretty | UEFA Champions League". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  2. "Azioni Juventus Fc: tutti i dati completi - Borsa Italiana". www.borsaitaliana.it.
  3. 3.0 3.1 "uefa.com - European-South American Cup". web.archive.org. 2013-12-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-08. สืบค้นเมื่อ 2023-09-23.
  4. , cf. also Bilancio di sostenibilità (2016, p. 7)
  5. "Rai Storia - La diretta in streaming video su RaiPlay". RaiPlay (ภาษาอิตาลี).
  6. "La Storia della Juventus". web.archive.org. 2008-01-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-21. สืบค้นเมื่อ 2023-09-24.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 "Juventus Football Club: The History". Juventus Football Club S.p.A official website. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-29. สืบค้นเมื่อ 9 August 2008.
  8. "11/03/1900 Juventus-Torinese F.C. 0-1, Campionato Federale 1899-1900". www.juworld.net.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 9.6 Modena, Panini Edizioni (2005). Almanacco Illustrato del Calcio – La Storia 1898–2004.
  10. "FIFA.com - Injuries clouding Turin derby". web.archive.org. 2011-12-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-14. สืบค้นเมื่อ 2023-09-24.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  11. Modena, Panini Edizioni (2005). Almanacco Illustrato del Calcio – La Storia 1898–2004.
  12. Hazzard, Patrick; Gould, David (2001). Fear and loathing in world football. Berg Publishers. ISBN 1-85973-463-4.
  13. (Papa 1993, p. 271)
  14. "Juventus.com - News Eventi". web.archive.org. 2009-07-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-06. สืบค้นเมื่อ 2023-09-24.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  15. 15.0 15.1 15.2 "Albo d'oro Serie A TIM". Lega Nazionale Professionisti Serie A (ภาษาอิตาลี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-18. สืบค้นเมื่อ 21 May 2012.
  16. (Glanville 2005, p. 263)
  17. 17.0 17.1 "European Footballer of the Year ("Ballon d'Or")". The Record Sport Soccer Statistics Foundation. สืบค้นเมื่อ 8 June 2007.
  18. "Olsson urges anti-racism action". Union des Associations Européennes de Football. 13 May 2005. สืบค้นเมื่อ 22 January 2011.
  19. "Giovanni Trapattoni". Union des Associations Européennes de Football. 31 May 2010. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 July 2011. สืบค้นเมื่อ 27 December 2010.
  20. "Un dilema histórico" (ภาษาสเปน). El Mundo Deportivo. 23 September 2003. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 September 2011. สืบค้นเมื่อ 23 September 2008.
  21. (TheTechnician (UEFA) 2010:5)
  22. Modena, Panini Edizioni (2005). Almanacco Illustrato del Calcio – La Storia 1898–2004.
  23. Goldblatt, David (2007). The Ball is Round: A Global History of Football. London: Penguin. ISBN 978-0-14-101582-8.
  24. "1995/96: Juve hold their nerve". Union des Associations Européennes de Football. 22 May 1996.
  25. "UEFA Champions League 1996–97: Final". Union des Associations Européennes de Football. 28 May 1997.
  26. "UEFA Champions League 1997–98: Final". Union des Associations Européennes de Football. 20 May 1997.
  27. "Italian trio relegated to Serie B". BBC. 14 July 2006. สืบค้นเมื่อ 14 July 2006.
  28. "Calciopoli: The scandal that rocked Italy". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2023-09-24.
  29. "Ranieri appointed Juventus coach". BBC News. 4 June 2007. สืบค้นเมื่อ 4 June 2007.
  30. "Via Ranieri, ecco Ferrara" (ภาษาอิตาลี). Union des Associations Européennes de Football. สืบค้นเมื่อ 19 May 2009.
  31. "Ferrara handed Juventus reins". Union des Associations Européennes de Football. สืบค้นเมื่อ 5 June 2009.
  32. "Juventus 3-0 Cagliari". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2023-09-23.
  33. "Juventus-Benfica 0-0: batosta europea Portoghesi in finale, bianconeri eliminati Battaglia anche nel dopopartita". www.ilmessaggero.it (ภาษาอิตาลี). 2014-05-01.
  34. Campo, Carlo (2015-05-20). "Juventus win record 10th Coppa Italia title". theScore.com (ภาษาอังกฤษ).
  35. "Juventus claim back-to-back doubles after 11th Coppa Italia success". Eurosport (ภาษาอังกฤษ). 2016-05-21.
  36. Lazio, Juventus made history to become the first team to win the Coppa Italia three times in a row after a 2-0 win over. "Juventus wins historic third straight Coppa Italia". beIN SPORTS (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย).
  37. Juventus.com. "Maurizio Sarri relieved of his duties - Juventus". Juventus.com (ภาษาอังกฤษ).
  38. Juventus.com. "Andrea Pirlo is the new coach of the First Team - Juventus". Juventus.com (ภาษาอังกฤษ).
  39. Bosher, Luke. "Juventus: Pirlo's side qualify for Champions League after Napoli draw with Verona". The Athletic (ภาษาอังกฤษ).
  40. Sport, Sky (2021-05-23). "Atalanta-Juve LIVE". sport.sky.it (ภาษาอิตาลี).
  41. "Andrea Pirlo: Juventus sack head coach with Massimiliano Allegri set to replace him". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
  42. Juventus.com. "Welcome back home, Max! - Juventus". Juventus.com (ภาษาอังกฤษ).
  43. "La Juve di Allegri chiude la stagione con "zero tituli": l'ultima volta fu con Delneri". Sport Fanpage (ภาษาอิตาลี).
  44. "Juventus da incubo in Champions League: solo tre punti e diversi record negativi | Goal.com Italia". www.goal.com (ภาษาอิตาลี). 2022-11-03.
  45. "Juve, Vlahovic non basta: Suso e Lamela la ribaltano. La finale è Siviglia-Roma". La Gazzetta dello Sport (ภาษาอิตาลี). 2023-05-18.
  46. Nerozzi, Simona Lorenzetti e Massimiliano (2022-10-24). "Plusvalenze Juve, il pm aveva chiesto l'arresto per Agnelli (respinto dal gip)". Corriere della Sera (ภาษาอิตาลี).
  47. "Terremoto Juve, si dimette tutto il CdA: lascia anche il presidente Agnelli". La Gazzetta dello Sport (ภาษาอิตาลี). 2022-11-28.
  48. Juventus.com. "13 seasons of records - Juventus". Juventus.com (ภาษาอังกฤษ).
  49. "Gianluca Ferrero, chi è il nuovo presidente della Juventus". Il Sole 24 ORE (ภาษาอิตาลี). 2022-11-29.
  50. "Juve, inchiesta plusvalenze. Milan e Inter assolte nel 2008". tuttosport.com (ภาษาอิตาลี). 2021-11-26.
  51. "Il "boicottaggio" dei tifosi juventini a Sky e Dazn è solo la punta dell'iceberg: ecco perchè la pioggia di disdette può andare oltre la protesta..." Tutto Juve (ภาษาอิตาลี).
  52. Sport, Sky (2023-06-06). "Manovra stipendi, la Juve chiede il patteggiamento: le news live". sport.sky.it (ภาษาอิตาลี).
  53. Juventus.com. "Official | Massimiliano Allegri no longer Juventus coach - Juventus". Juventus.com (ภาษาอังกฤษ).
  54. "Top 10 Serie A Football Clubs with Most Fans in the World in 2023 (Updated)" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2022-01-02.
  55. "First Team Men". Juventus.com. สืบค้นเมื่อ 1 September 2021.
  56. The 2004-05 and 2005-06 Italian League championship titles were stripped as consequence of the 2006 Serie A scandal.
  57. Up until 1929, the top division of Italian football was the Federal Football Championship, since then, it has been the Lega Calcio Serie A.
  58. Up until 1992, the European football's premier club competition was the European Champion Clubs' Cup; since then, it has been the ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก.
  59. The European Inter-Cities Fairs Cup (1958–1971) was a football tournament organized by foreign trade fairs in European seven cities (London, Barcelona, Copenhagen, and others) played by professional and –in its first editions- amateur clubs. Along these lines, that's not recognized by the Union of European Football Associations. See: "History of the UEFA Cup". uefa.com. สืบค้นเมื่อ 31 August 2006..
  60. "European team profiles: Juventus F.C." uefa.com. สืบค้นเมื่อ 26 December 2006..
  61. The UEFA Super Cup 1985 final between the Old Lady and Everton, 1984-85 Cup Winners' Cup winners not played due to the Heysel Stadium disaster. See: "History of the UEFA Super Cup". uefa.com. สืบค้นเมื่อ 31 August 2006..
  62. Up until 2004, the main FIFA football club competition was the Intercontinental Champions Club' Cup (so called European / South American Cup); since then, it has been the FIFA World Club Championship.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]